fbpx

“ความกลัวไม่อาจเปลี่ยนเป็นความรัก” รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ค่ำวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อบนเวทีการชุมนุม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ มีการอ่าน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศข้อเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ในทางสาธารณะ

ผู้อ่านข้อเรียกร้องดังกล่าวคือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติและนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พลันที่ก้าวลงจากเวทีวันนั้น ชีวิตของปนัสยาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เธอคาดไม่ถึงว่าชีวิตของหญิงสาวที่กำลังอยู่ในรั้วมหา’ลัยจะต้องเผชิญคลื่นทางการเมืองซัดกระทบอย่างรุนแรง อันเป็นผลมาจากการแสดงความเห็นในเรื่องที่ถูกทำให้กลายเป็น ‘เรื่องต้องห้าม’

ปนัสยาเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ผลของการก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามของชนชั้นปกครองผลักให้เธอถูกจับกุมเข้าเรือนจำพร้อมแกนนำคนอื่นๆ และตามมาด้วยคดีอีกยาวเหยียด

ผ่านมาหนึ่งปี ไม่มีสัญญาณของการรับฟังตอบกลับมา มีเพียงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเป็นคำตอบสำหรับผู้ต่อต้าน

‘การแสดงความเห็น’ ไม่ควรทำให้ใครต้องติดคุก แต่ในรัฐที่ ‘ความจริง’ เป็นสิ่งต้องห้าม และ ‘การตั้งคำถาม’ เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดราคาที่ต้องจ่ายสูงลิ่วสำหรับคนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องความโปร่งใสเรื่องสถาบันกษัตริย์กับการเมือง

101 พูดคุยกับปนัสยาในวาระครบรอบ 1 ปีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทบทวนความคิด ชีวิต และจิตใจของเธอช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมมองไปข้างหน้าถึงการผลักดันให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง

ก่อนจะมาเป็น 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ มีวิธีคิดและกระบวนการอย่างไร

เราวางแผนกันตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม (2563) ว่าจะจัดเวที 10 สิงหาขึ้น ตอนแรกไม่ตั้งใจจัดการชุมนุมนี้เพื่อพูดเรื่อง 10 ข้อปฏิรูป เราประชุมงานกันทุกวันและช่วงนั้นมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น มีกรุ๊ปรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 18 กรกฎาคม เราเริ่มเห็นมวลชนถือป้ายเรื่องเจ้า ตอนนั้นคิดว่าแปลกใหม่มาก มีคำถามต่างๆ นานาว่าคนกล้าหรือยัง เราพูดเรื่องนี้ได้หรือยัง เพราะเรื่องสถาบันฯ เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน แต่จะมาในเวอร์ชันข่าวลือบ้าง เรื่องที่ชาวบ้านพูดกันบ้าง แต่ในคนรุ่นเราแทบไม่เห็นเลยว่าจะมีใครพูดตรงๆ โต้งๆ ว่าตกลงคืออะไรและอยากให้ทำอะไร

ทีมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชุด ณ ตอนนั้น มีข้อโต้แย้งกันในกลุ่มว่าจะพูดเรื่องนี้หรือไม่ ก็สรุปกันว่าจะพูด ซึ่งเราคิดว่าจะพูดเฉยๆ ไม่ได้ ม็อบต้องมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย จึงมอบหมายงานให้ทางเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) และเพื่อนอีกหนึ่งคนที่เรียนรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ช่วยร่างขึ้นมา เราคุยกันในวงว่าแต่ละคนคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้างและอยากเปลี่ยนแปลงอะไร โดยเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ เช่น ทำไมรวยจัง แล้วเงินตรงนั้นหายไปไหนหมด ทำไมไม่เอามาช่วยประชาชนบ้าง อำนาจเยอะเกินไปไหม เซ็นรัฐประหารด้วยนี่ แล้วให้เพนกวินไปช่วยเกลาให้เป็นทางการมากขึ้น

นอกจากนี้ได้ทราบว่าอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เคยเสนอข้อเรียกร้องมาแล้ว ของอาจารย์สมศักดิ์มี 8 ข้อ เลยคิดว่าเอาดราฟต์นี้เป็นตัวตั้งต้น แล้วปรับเปลี่ยนแก้ไขตามที่ทางเพนกวินและเพื่อนอีกคนเห็นสมควร

ทำไมรุ้งจึงเป็นคนอ่านข้อเรียกร้องนั้น แล้วก่อนขึ้นเวทีมีคนรู้ล่วงหน้ามากแค่ไหน

ทีมงานส่วนใหญ่ของงานธรรมศาสตร์จะไม่ทนมาจากพรรคโดมปฏิวัติ แล้วตอนนั้นเราเป็นหัวหน้าพรรค เราเป็นเสมือนหัวหน้าทีม ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ และ ณ ตอนนั้นก็ไม่มีใครพร้อมขนาดนั้นด้วย ก็เลยเป็นเราเอง

วันนั้นทุกคนในทีมรู้ว่ารุ้งจะขึ้นปราศรัย แต่เรื่องข้อเสนอ 10 ข้อ รู้กันประมาณ 4-5 คน เหตุผลคืองานมันเร่ง เพิ่งมาเขียนกันคืนวันที่ 9 สิงหาคม ไม่ได้ตั้งใจปิดเพื่อนนะ แต่มันรีบเกินไปจนกูบอกมึงไม่ทัน

เพื่อนไม่ช็อกหรือ

ช็อก เพื่อนช็อกมาก หลังจบงานมีเพื่อนคนหนึ่งในทีมเดินมาเคาะประตูห้อง โวยวายและร้องไห้ บอกว่ามึงทำอย่างนี้ได้ยังไง ซึ่งตอนนี้เพื่อนคนนั้นก็ยังอยู่ในทีม เขาบอกว่า “โอเค ตอนนี้กูเข้าใจแล้ว กูขอโทษนะมึง แต่ตอนนั้นกูช็อกจริงๆ นะ” ทีมเราทำความเข้าใจกันง่าย เพราะอุดมการณ์เดียวกัน เวลามีเรื่องฉุกละหุกหรืออุบัติเหตุขึ้นมาก็ปรับความเข้าใจกันได้ง่าย ต้องยอมรับว่ามีคนที่ไม่พร้อมเช่นกัน ก็จะมีคนออกไปบ้าง เป็นส่วนน้อยมากๆ แต่ก็ยังรักษาความสัมพันธ์กันอยู่

ตอนอ่านข้อเรียกร้องรู้สึกอย่างไร และตอนลงเวทีมาคิดไหมว่าชีวิตตัวเองจะเปลี่ยนแปลงไป

จริงๆ ก็ยังมีความกลัวนะ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการพูดเรื่องนี้ใครจะไม่กลัว ตั้งแต่ตอนนั้นในทุกๆ วันเราก็ต่อสู้กับตัวเองมาตลอด เรารู้อยู่แล้วนี่ว่าเขาตั้งใจให้กลัว เพราะอย่างนั้นเราต้องไม่กลัวสิ

ก่อนขึ้นเวทีเรามือสั่นขาสั่น นั่งกุมมือเพื่อนแล้วถามว่า “มึง กูทำถูกแล้วใช่ไหมวะ” เพื่อนยืนยันกับเราหลายรอบจนมีความมั่นใจขึ้นมาว่าถึงเวลาของเรื่องนี้แล้วแหละ

วินาทีที่ขึ้นไป ถามว่ารู้ไหมว่าชีวิตจะเปลี่ยน…รู้ แต่ไม่เคยรู้ว่าจะเปลี่ยนแค่ไหน เพราะเราจินตนาการไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เราเห็นเพนกวินเป็นนักกิจกรรมมาหลายปี มันก็ไม่ได้มีอะไรมากมายนี่ ยังไม่เคยเข้าคุก อาจมีไปขึ้นศาลบ้าง บางทีเราก็ไปส่งที่ศาล แต่สิ่งที่เป็นตอนนี้เหนือจินตนาการของเรามาก เราเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมืองมาก่อน ตอนนั้นเพิ่งทำกิจกรรมมาปีเดียวเอง เราเตรียมใจมาบ้าง แต่พอทุกอย่างโหมกระหน่ำเข้ามาแล้วสถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ก็เกินความคาดหมายของเราเหมือนกัน

ย้อนมองชีวิตตัวเองช่วงปีที่ผ่านมาเห็นอะไรบ้าง เป็นชีวิตที่คาดถึงไหม

เราพูดกับตัวเองและเพื่อนทุกวันเลยว่า “มึง จริงๆ แล้วเราอายุ 22 นะ เราเป็นนักศึกษานะมึง เรายังเรียนไม่จบนะเว้ย ทำไมชีวิตเราหฤหรรษ์ขนาดนี้” อย่างวันนี้ (4 ส.ค. 2564) ตอนเรารู้ว่าตัวเองมีหมายจับ (จากการเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า) มีคำพูดผุดขึ้นมาในหัวว่า เราต้องเข้มแข็งขนาดไหนกันถึงจะอยู่ในประเทศนี้ได้

มีคนพูดกับเราว่า “หัวใจน้องทำด้วยอะไร” เราก็ไม่รู้เหมือนกัน คิดแค่ว่าถ้าเราไม่ทำแล้วจะต้องรอหรือ แล้วเมื่อไหร่ล่ะ เราไม่ชอบรอ ไม่ชอบคาดหวังกับใคร ถ้าทำเองได้ก็อยากทำไปเลย เพราะอย่างไรคนอื่นก็จะไม่ทำอย่างที่เราต้องการ เราจึงทำเอง คำพูดที่เราบอกตัวเองว่า “เรายังเป็นนักศึกษาอยู่เลย” ก็คงจะอยู่กับเราอีกหลายปี

เมื่อเทียบกันแล้ว ‘รุ้งเมื่อปีที่แล้ว’ กับ ‘รุ้งในวันนี้’ แตกต่างกันไหม

ต่างเยอะมาก แต่ยังมีมุมที่เหมือนเดิมอยู่คือเราเป็นคนง้องแง้งมาก ขี้อ้อนมากๆ เจอใครก็อ้อน เรารู้สึกว่าการอ้อนคนอื่นเป็นวิธีการที่ทำให้เราสบายใจ คลายความเครียดได้

เราเคยเป็นคนโผงผางกว่านี้ เป็นคนพูดตรงมาก บางทีก็พูดโดยไม่รักษาน้ำใจคนอื่นเลย เป็นคนขี้อาย ขี้เขิน กลัวคนแปลกหน้า เข้าสังคมไม่เก่ง แต่พอมาทำกิจกรรมเรื่อยๆ ต้องเจอคนมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ใจนิ่งขึ้น รับความเครียดได้มากขึ้น ไม่สะเอาะสะแอะเหมือนเมื่อก่อน เข้าหาสังคมได้มากขึ้น วางตัวได้ดีขึ้น

เดี๋ยวนี้เพื่อนบอกว่าเราเป็นคนใจเย็นฉิบหาย เย็นเหมือนน้ำแข็ง ไม่ว่าคนอื่นจะร้อนแค่ไหน รุ้งยังใจเย็นได้อยู่ ความใจเย็นทำให้เรามีสติ ถ้าเราร้อนไปตามสถานการณ์จะคิดไม่ออกว่าจะทำยังไง เราก็คิดว่าเราโตขึ้นเหมือนกันนะ

มองมวลชนในช่วงปีที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม

เราเห็นพัฒนาการของมวลชนเยอะมาก เมื่อก่อนจะไม่เห็นมวลชนลุกขึ้นมาทำอะไรเองสักเท่าไหร่ มวลชนไม่ค่อยออกไปประท้วงเอง แต่ปัจจุบันเราเห็นพัฒนาการเยอะมาก มวลชนรู้ว่าต้องทำอะไร เตรียมตัวอย่างไรเพื่อไปม็อบ เขาเตรียมพร็อบไปเองด้วยเพื่อประกาศให้รู้ว่าฉันมาเพื่ออะไร วันนี้จะเรียกร้องอะไร บางคนเอาป้ายมาเอง ใส่เสื้อสกรีนข้อความ บางคนก็สามารถปราศรัยได้ด้วย จะเห็นว่าในทุกพื้นที่การชุมนุมจะมีคนปราศรัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การจัดม็อบหนึ่งครั้งมีองค์ประกอบหลายอย่าง มีทีมงานหลายฝ่ายและมีคนเข้ามาทำมากขึ้น เขาอยากมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน อยากมาช่วยทีม อยากมาช่วยผู้จัด หรืออยากมาพูดเอง หรือหากเป็นม็อบที่ไม่มีแกนนำจะเห็นชัดเลยว่ามวลชนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร ไม่จำเป็นต้องมีใครบอกว่าต้องทำอะไร เขาดูแลตัวเองได้ เป็นการ์ดเองก็ได้ พวกเราใจชื้นกันมากว่ามวลชนเข้มแข็งขึ้น มีมวลชนที่พร้อมไปกับเรามากขึ้นและจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้อีก หรือหากมีวันที่แกนนำเข้าคุกหมด มวลชนก็อาจตั้งทีมใหม่กันเองได้

ในขบวนการประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่ม บางช่วงก็เห็นว่าแต่ละกลุ่มมีแนวทางขัดแย้งกัน เข้าใจว่าคงถกเถียงกันมาเยอะ ที่ผ่านมามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง แล้วทุกวันนี้มีคนตกหล่นไปเยอะไหม

ไม่คิดว่ามีใครตกหล่นไป พวกเรามีอุดมการณ์เหมือนกัน แต่ว่าแต่ละทีมอาจคิดว่าวิธีนี้ดีกว่า อีกทีมหนึ่งก็บอกว่าอีกแบบดีกว่า พวกเราเคยพยายามหาตรงกลางกัน แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่ แต่ละแนวทางมีข้อดีแตกต่างกัน และเราไม่อยากจะให้ทิ้งทางใดทางหนึ่งไป แยกกันตีร่วมกันเดินก็ได้ อย่างไรอุดมการณ์และเป้าหมายก็เป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเดียวหรือวิธีการเดียวเท่านั้น การกระจายตัวกันและทำหลายวิธีพร้อมๆ กันจะได้ผลกว่า เพราะถ้าทำแนวทางเดียว รัฐอาจรู้แกวจนจัดการได้

เราพอใจกับภาพตอนนี้มาก ทั้งแนวทางที่มีแกนนำ ไม่มีแกนนำ ลงถนน ไม่ลงถนน ทุกๆ แนวทางที่ทำมีคุณูปการเหมือนกัน แค่คนละวิธีเท่านั้นเอง

ประเด็นข้อเรียกร้องเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คิดว่าสาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางโครงสร้างหรือเป็นเรื่องตัวบุคคล

เรื่องตัวบุคคลเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเรื่องโครงสร้างมีความสำคัญลึกไปถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือกระทั่งคำพูดของเราที่ติดมาจากระบอบกษัตริย์นิยม

ตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่าทำไมคนบางกลุ่มจึงดูเหนือกว่าคนส่วนใหญ่มากๆ คนกลุ่มนี้เป็นใครกัน สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่สืบทอดมาจากสายเลือด ก็เกิดคำถามว่าวิธีการแบบนี้มาจากไหน ไม่ได้เป็นคนเหมือนกันหรือ แล้วการที่สถาบันฯ มีอำนาจ ทรัพยากร และอิทธิพลมหาศาลขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อสถาบันอื่นๆ ในสังคมอย่างไร จะเห็นว่าผลกระทบก็เกิดกับกองทัพที่ต้องแบ่งคนไปเป็นทหารรักษาพระองค์ ประเทศนี้มีสองกองทัพหรือ แล้วถ้า crash กันจะทำอย่างไร แทนที่จะเป็นตามระบบอย่างถูกต้องว่ากองทัพก็อยู่ส่วนกองทัพไปเลย ประชาชนรู้ว่าใครดูแลตรงไหนบ้าง มีระบบที่โปร่งใสตรวจสอบได้

กระทั่งในระบบการศึกษา แทนที่ครูจะทำหน้าที่สอนหนังสืออย่างเต็มที่หรือใส่เนื้อหาที่พัฒนาทักษะของนักเรียน ก็ต้องแทรกเนื้อหาหรือกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันฯ เข้ามาในระบบการเรียนการสอน แล้วเด็กได้อะไร แทนที่จะได้ใช้เวลาไปทำกิจกรรมที่เขาสนใจหรือเรียนวิชาอื่นที่ตัวเองสนใจ

ระบบราชการก็มีพิธีรีตองมากมาย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากระบอบกษัตริย์ เอาวัฒนธรรมจากระบบกษัตริย์มาใช้ อย่างพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามก็เป็นผลพวงมาจากเรื่องนี้ คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน คนทำงาน ข้าราชการเสียเวลา เสียเงินเตรียมของ ภาพแบบนี้ทำให้เข้าใจว่าเราจะเสียอะไรไปบ้างหากระบอบนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

เราควรมองว่าประเทศนี้เป็นของทุกๆ คน เราจึงต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกคนสามารถออกเสียงได้ว่าฉันอยากให้คนนี้มาบริหาร ฉันเชื่อมั่นในคนนี้ ฉันรู้สึกว่าคนนี้จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ จะสร้างประโยชน์ต่อระบบต่างๆ สาธารณสุข การศึกษา กองทัพ ตำรวจ ฯลฯ

ล่าสุดมีข่าวการพระราชทานเงิน 99.9 ล้านบาท ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไปใช้ในการบริหารสถานการณ์โควิด ตั้งโรงพยาบาลสนาม ฯลฯ เรื่องนี้ก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงระบบงบประมาณของประเทศ ซึ่งรวมถึงงบประมาณส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมปีละสามหมื่นล้านบาทด้วย ในสถานการณ์แบบนี้คนจะยิ่งเห็นชัดว่าปัญหาของประเทศนี้คืออะไร การจะอยู่ด้วยกันได้ก็ต้องมีการปรับตัว เราจึงมีข้อเสนอไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องงบประมาณ เรื่องอำนาจ เรื่องการแทรกแซงทางการเมือง

นอกจากนี้มีเรื่องผู้ถูกอุ้มหายที่ยังเป็นปริศนาอยู่ ทำไมคนที่วิจารณ์เจ้าจึงถูกอุ้มหาย ทำไมบางคนถูกฆ่า ต้องมีการให้คำตอบกับเรื่องนี้ เอาหลักฐานมากางกันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครพูดเรื่องนี้แล้วถูกดำเนินคดีจับเข้าคุก มีการดำเนินคดี 112 ไปกี่คนแล้ว ยิ่งรัฐทำแบบนี้สถาบันกษัตริย์ยิ่งอยู่ยากขึ้น เพราะเป็นการทำให้ประชาชนลำบากมากขึ้นที่จะเชื่อมั่น ลำบากมากขึ้นที่จะรัก ลำบากมากขึ้นที่จะศรัทธา ประชาชนคาดหวังว่าสถาบันจะเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรให้ประเทศนี้ เป็นประมุขบนหิ้ง เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ผดุงความยุติธรรม จึงไม่แปลกที่มีคนตาสว่างเพิ่มขึ้น ไม่แปลกที่จะมีคนเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากขึ้น

เวลาพูดถึงปัญหาทางการเมืองไม่ว่าเรื่องใดก็มีการพูดถึงสถาบันฯ จะเป็นการเหมารวมและไม่เป็นธรรมเกินไปไหม

มันเหมือนเป็นสายใยที่ผูกเกี่ยวกัน ทุกสถาบันในประเทศนี้มีความเกี่ยวข้องกันและทำงานด้วยกันเสมอ ไม่มีสถาบันไหนสามารถแยกตัวออกมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับส่วนอื่นได้ บางเรื่องสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สาเหตุ แต่ในหลายเรื่องก็มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เพราะสถาบันกษัตริย์มีอำนาจใหญ่กว่าสถาบันอื่น ถ้าทุกสถาบันมีขนาดเท่ากัน สามารถตรวจสอบได้ในระดับเดียวกัน ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องอิทธิพลต่อกันและกันและเรื่องการแทรกแซง

ต้องยอมรับว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตรวจสอบได้ยาก ขอย้ำว่าเราไม่ได้พูดว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศมีต้นตอมาจากสถาบันฯ แต่เราจะบอกว่าปัญหาใหญ่หลายปัญหาในประเทศเกี่ยวข้องกับสถานะและบทบาทของสถาบันฯ ซึ่งหากต้องการแก้ไขปัญหานั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเอาบทบาทของสถาบันฯ มาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ด้วย

เวลาคนพูดว่า “ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ดีจริงก็คงอยู่มาไม่ได้ยาวนานขนาดนี้หรอก” จะตอบอย่างไร

ถ้ามองว่าคนกลุ่มหนึ่งมีเงิน มีอำนาจ มีอาวุธ มีอิทธิพล มีทุกอย่าง แต่คนอีกฝั่งมีอำนาจในฐานะประชาชนหนึ่งคน อย่างมวลชนเราไม่มีอะไรเลย ไม่มีอาวุธ ไม่มีเงิน ประกันตัวทีนึงเงินก็แทบจะหมด มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงไม่ได้หมายความว่าหากมีคนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจแล้วจะต่อต้านสำเร็จเสมอไป จะเอาข้อนี้มาแย้งไม่ได้ เพราะอำนาจของแต่ละฝ่ายไม่เท่ากัน ต่างกันอย่างชัดเจน

ยืนยันว่าข้อเรียกร้องตลอดมาของกลุ่มเป็นข้อเรียกร้องที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีสถาบันฯ คงอยู่ต่อไป?

เราจะยังคงยืนยันว่าให้ปฏิรูปสถาบันฯ แต่เราไม่สามารถห้ามความคิดใครและพูดแทนใครได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข้อเรียกร้องที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ อยากจะชวนมองว่าทำไมจึงมีคนสนับสนุนพวกเรามากขึ้นขนาดนี้

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นข้อเสนอสำเร็จรูป ซึ่งบอกชัดว่าประเด็นใดบ้างเป็นปัญหาและต้องแก้ไขอย่างไร เรายังหวังว่าข้อเรียกร้องของเราจะถูกมองเห็นและมีการโอนอ่อนผ่อนตาม เชื่อว่าพลังของมวลชนจะมากพอให้สถาบันฯ สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ สถาบันฯ ต้องเลือกว่าอยากเป็นแบบไหน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง กระแสต่อต้านก็มีโอกาสรุนแรงมากขึ้น ถึงตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะจบลงอย่างไร ดังนั้น การปฏิรูปสถาบันฯ ตามข้อเรียกร้องนี้จะดีกับทุกคน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน คิดว่าเรื่องไหนที่ควรทำเร็วที่สุดจากข้อเรียกร้องสิบข้อ

ข้อที่ควรทำก่อนคือข้อหนึ่งกับข้อสอง คือเรื่องการยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญและการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเปิดโอกาสให้คนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันฯ ได้มากขึ้น แล้วสถานการณ์จะไม่ตึงเครียดเหมือนตอนนี้ ถ้าคนสามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี ไม่มีใครไปจับขัง ไม่มีใครไปทำร้าย คงเป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ ในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เมื่อประชาชนคนหนึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้ว่าอยากให้สถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงอย่างไร เปิดโอกาสให้ประชาชนกับสถาบันฯ สามารถเจรจาต่อรองหรือพูดคุยกันได้บ้าง

ต้องยอมรับว่าตอนนี้สถานการณ์ไม่ดี การออกมาพูดเรื่องสถาบันฯ เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากๆ แค่คนโพสต์เฟซบุ๊กก็โดน 112 ได้ แม้คำพูดจะดูไม่มีอะไร ยิ่งทำให้คนกลัวและการปกครองด้วยความกลัวมันไม่ยั่งยืนเลย ความกลัวอาจเปลี่ยนเป็นความเกลียดก็ได้ ใครจะรู้ แต่ความกลัวไม่อาจเปลี่ยนเป็นความรัก

ทำเรื่องนี้ก่อนแล้วข้ออื่นๆ ค่อยตามมาก็ได้ เรื่องต่อมาอาจเป็นเรื่องทรัพย์สิน เพราะตอนนี้ประเทศมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมากชนิดที่เราไม่รู้ว่าจะมีใครมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อีกไหม มันดูพังจนเกินจะแก้แล้ว

เรื่องที่ตัวเราอยากเติมเข้าไปคือสถาบันฯ ต้องไม่ไปแทรกแซงการเมือง อย่าใช้อำนาจในทางที่จะไม่ส่งผลดีต่อใคร ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนว่ากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ ก็ควรต้องธำรงตนเป็นประมุขจริงๆ อยู่คนละส่วนกันและต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

เวลาพูดเรื่องการเปิดพื้นที่พูดคุยกัน มีภาพในใจไหมว่าควรทำด้วยวิธีการแบบไหน

พูดตามตรงว่าเราก็นึกไม่ค่อยออก เพราะไม่เคยมีมาก่อน รูปแบบที่นึกออกคือการทำผ่านช่องทางในสภา การพูดคุยผ่านผู้แทนฯ ให้ไปสื่อสารกันเป็นวิธีที่ประนีประนอมที่สุด แต่อย่างน้อยต้องมีการสื่อสารสองทาง ในอนาคตหากกษัตริย์สามารถรับฟังประชาชนได้ สามารถยอมรับคำวิจารณ์ได้ สามารถให้คำมั่นสัญญากับประชาชนได้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน หากเป็นเช่นนี้คงเป็นภาพที่ดีสำหรับทุกคน

เชื่อใจการเมืองในสภามากแค่ไหนว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ณ ตอนนี้เราไม่เชื่อในระบบสภาชุดนี้เลยว่าจะช่วยประชาชนได้ แต่คาดหวังว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้คนจะเห็นว่าควรเลือกพรรคไหน ไม่ควรเลือกพรรคไหน จากประสบการณ์ของตัวเขาเองว่าคราวที่แล้วเขาเลือกพรรคอะไรไป แล้วพรรคนั้นได้ทำตามนโยบายตอนที่หาเสียงหรือไม่ ให้ความใส่ใจต่อประชาชนมากแค่ไหน เราคาดหวังว่าผู้คนจะเห็นและเลือกผู้แทนฯ ที่ตั้งใจทำเพื่อประชาชนและสังคมจริงๆ ไม่ใช่ผู้แทนฯ ที่ทำเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ชนิดที่เหนือจินตนาการว่าคนหนึ่งสามารถทำได้ขนาดนั้นเลยหรือ

คาดหวังว่าถ้าในการเลือกตั้งครั้งหน้าฝั่งประชาธิปไตยชนะ เราคงมีความหวังกับสภามากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น

ปัจจุบันการชุมนุมทำได้ไม่เต็มที่เพราะโควิด รัฐบาลก็ไม่มีท่าทีจะรับพิจารณาข้อเรียกร้อง จะผลักดันกันต่อไปยังไง

เราจะสู้ทุกทางเท่าที่จะทำได้ เท่าที่จะมีทางให้เราไป ไม่ว่าจะทำในระบบ ยื่นหนังสือ ผ่านสภา หรือเรียกร้องบนถนน เรียกร้องในต่างประเทศ เพื่อให้มีพลังเพียงพอให้คนที่มีอำนาจรับฟัง ตอนนี้เรารู้สึกว่าเขาประเมินพลังมวลชนต่ำไปหรือเปล่า ประชาชนเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ยิ่งคุณไม่ฟังนานเข้า ความไม่พอใจของคนจะสูงขึ้น แล้วคุณอยากรอดูถึงวันนั้นไหมที่คนไม่พอใจจนออกมาไล่รัฐบาลพร้อมกันทั้งประเทศ หรือออกมาเรียกร้องเรื่องสถาบันกษัตริย์ทั้งประเทศ

อารมณ์คนเพิ่มขึ้นทุกวัน ยิ่งสถานการณ์โควิดแบบนี้ความเดือดร้อนของประชาชนสูงมาก ทุกคนได้รับผลกระทบหมด ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ อย่ารอให้ถึงวันนั้น เปลี่ยนตั้งแต่วันนี้และอยู่ด้วยกันให้ได้จะดีกว่า จากปีที่แล้วถึงตอนนี้เราเห็นจำนวนคนที่สนใจการเมืองมากขึ้นอย่างพรวดพราด คนมาลงถนนเยอะขึ้น แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์โควิดรุนแรงทำให้คนมาม็อบน้อย แต่การต่อสู้ของเราไม่ได้มีแค่ลงถนน ตอนนี้พื้นที่สภาถูกใช้บ่อยมาก ใครเดือดร้อนเรื่องอะไรก็ไปที่สภา เหมือนเป็นความคิดแรกของเขาว่าถ้าอยากเรียกร้องเรื่องอะไรก็ไปสภา เป็นพื้นที่ที่ไปง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนเยอะ เขียนหนังสือไปยื่นแล้วคอยติดต่อเรื่อยๆ เป็นทางหนึ่งที่คนนิยมทำกันตอนนี้

เป้าหมายส่วนตัวที่วางไว้ในการต่อสู้คือเรื่องอะไร

เราพยายามขยายฐานกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น เป็นวัยที่น่าสนใจมากถ้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นวัยที่สดใหม่และเรียนรู้เร็ว ในยุคนี้เข้าถึงข้อมูลง่าย เคลื่อนไหวง่าย ไปไหนมาไหนก็ง่าย และพวกเรายังมีพลังกันอยู่ อยากเชื้อเชิญให้คนวัยหนุ่มสาวมาสนใจการเมืองและมาเคลื่อนไหวมากขึ้น มาเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องการมากขึ้น รวมไปถึงมวลชนทั้งประเทศ เราเข้าใจว่าตอนนี้การเคลื่อนไหวทำได้แต่ในออนไลน์เพราะโควิด แต่ไม่ใช่ทุกคนในประเทศที่มีสมาร์ตโฟน ไม่ใช่ทุกคนที่มีเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์

เราหวังว่าจะได้ไปพบเจอผู้คนมากขึ้นเมื่อโควิดคลี่คลายแล้ว ไปพบเจอ ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนกัน ไปฟังความคิดเห็นเขาแล้วมาปรับปรุงแนวทางหรือความคิดของตัวเอง

ตั้งแต่เคลื่อนไหวมามีผลกระทบแบบไหนที่ส่งผลรุนแรงต่อตัวเองที่สุด

การเข้าคุก ตัวเราเองก็เรื่องหนึ่ง แต่ครอบครัวเราเขาแย่ บ้านเรามีแต่สาวๆ สามคน มีความอ่อนไหวสูงและทำใจกันไม่ได้เลยว่าน้องคนเล็กมันต้องไปอยู่ในคุกนานๆ มันทำอะไร กินอยู่ยังไง มันนอนหลับไหม ในทุกๆ วันพวกเขาจะนึกถึงแต่เรื่องนี้ พ่อแม่ไม่มีจิตใจไปทำงาน อยากไปเรือนจำทุกวัน ถึงไม่เจอแต่อย่างน้อยรู้สึกว่าได้อยู่ใกล้ลูกมากขึ้น

เป็นเรื่องน่าเจ็บใจมากว่าทำไมต้องทำกันขนาดนี้ การอยู่ในประเทศนี้เราไม่สามารถพูดอะไรได้เลยหรือ เราไม่สามารถออกมาเรียกร้องอะไรได้เลยหรือ เราไม่สามารถวิจารณ์สถาบันฯ ได้หรือ ถ้าคุณไม่พอใจสิ่งที่ฉันพูดก็เอาหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากพอมากางกันให้ดูว่าคุณไม่ได้เป็นแบบนั้น พูดคุยสื่อสารกันสิ ไม่ใช่ว่าไม่พอใจใครแล้วจับขัง คนอื่นเขาก็มีครอบครัว มีคนที่เขารัก

สิ่งที่พวกเราทำนั้นก็ทำเพื่อคนอื่นทั้งนั้น ตัวเราเองคนเดียวคงไม่ได้ประโยชน์มากมายจากเรื่องนี้ แต่เราคิดว่าถ้าในชีวิตหนึ่งสามารถทำเพื่อคนส่วนรวมได้ก็คงดี เพราะในคนส่วนรวมนั้นก็รวมถึงครอบครัวเราด้วย ก็คือคนที่เรารัก ถ้าในอนาคตพวกเราสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยกันได้ก็คงดี ถ้าในอนาคตเราสามารถมีความสุขด้วยกันได้ก็คงดี นี่คือแก่นว่าทำไมเราจึงออกมาเคลื่อนไหวกัน ทุกๆ คนก็คงตอบคล้ายกันว่าเป็นเพราะเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมาทำร้ายกันขนาดนี้ วิธีการแก้ปัญหาคือการพูดคุยสื่อสารแล้วปรับแก้กันไป จะดีกว่าสำหรับทุกๆ คน

สำหรับรุ้ง คำว่า ‘คุก’ คืออะไร

เหมือนฟาร์มสัตว์ เราเข้าไปอยู่ในกรงแล้วรอคนมาให้อาหาร รอให้คนบอกว่าต้องทำอะไร รอให้คนพาไปอาบน้ำ รอให้คนบอกว่าต้องนอน ต้องตื่น เหมือนคอกสัตว์ ไม่ได้มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นเลย แม้ว่าตัวผู้คุมจะเป็นคนเหมือนกัน แม้ว่าตัวผู้คุมจะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าทำไมความเข้าใจต่อปัญหาจึงต่ำขนาดนั้น ไม่รู้ว่าทำไมต้องมาทำกันขนาดนี้

เราเรียนสังคมวิทยาก็สนใจศึกษาเรื่องคุก มีสารคดีในเน็ตฟลิกซ์ เขาไปดูคุกในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร มีทั้งที่เหมือนไทย ที่แย่กว่า ที่ดีกว่า คุกที่ดีเขาไม่ลงโทษคนซ้ำด้วยการเหยียดความเป็นมนุษย์ ไม่มีการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์กัน เข้าไปแล้วนักโทษไม่ต้องแก้ผ้าให้ดู ไม่ต้องถูกด่าทอหรือข่มขู่ ไม่มีอำนาจมากดทับ ผู้คุมก็คือเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่มีงานทำตรงนั้น มาคอยดูแลรักษาความปลอดภัย

สิ่งที่สะกิดเรามากคือเขาพูดว่า “พวกเราไม่จำเป็นต้องลงโทษคุณซ้ำ เพราะการที่คุณถูกขังในนี้ก็คือการลงโทษที่มากเกินพอแล้ว” แล้วมันก็เป็นอย่างนั้น การถูกกักขังอิสรภาพมันมากแล้ว (เน้นเสียง)

เคยคิดเรื่องลี้ภัยไหม

เราเคยศึกษา แต่รู้สึกว่าน่ากลัวมาก ไปแล้วจะไปที่ไหน ไปเจอใคร ไปทำอะไร ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา คนที่เรารักอยู่ที่นี่ ถ้าไปก็คงเป็นการไปแบบไม่กลับมา เราพร้อมแล้วหรือที่จะเสียทุกอย่างไป ไปแล้วก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะปลอดภัย ถ้าอยู่ที่นี่แล้วเราติดคุกขึ้นมา สุดท้ายก็คงมีวันที่เราได้ออกมา ออกมาจะได้สู้ต่อ มันไม่ดีกว่าหรือ อย่างน้อยสิ่งที่ทำมาไม่สูญเปล่า แต่ก็คงดีที่สุดถ้าชนะโดยไม่ต้องติดคุก

ในมุมชีวิตส่วนตัว ความฝันเกี่ยวกับชีวิตของรุ้งคืออะไร

ก็คือเรื่องนี้แหละ เรานึกย้อนไปว่าเราเลือกเรียนสังคมวิทยาเพราะอะไร คณะในดวงใจก่อนหน้านี้คือคณะวารสารฯ แล้วเราก็สนใจการทำการ์ตูนบ้าง การทำหนังบ้าง เราต้องการเลือกอะไรที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ เราคิดว่าอาชีพนักข่าวเวิร์กมาก สามารถชี้ประเด็นทางสังคมให้ผู้คนเห็นได้ ตรงไหนที่มีปัญหาก็เข้าไปทำข่าวเก็บเนื้อหามาเผยแพร่ให้คนเห็น ตอนนั้นเราคิดว่ามันคงดีถ้าได้เป็นนักข่าวแบบนั้น แต่เผอิญสอบไม่ติด (หัวเราะ) ตอนอยากทำการ์ตูนก็คิดว่าจะสามารถทำการ์ตูนแบบไหนที่เด็กดูแล้วจะเข้าใจสังคมมากขึ้น รู้ว่าต้องอยู่ในสังคมยังไง หรือมีอะไรที่น่าสนใจบนโลกนี้อีก

ที่มาเลือกสังคมวิทยาเพราะดูตรงกับตัวเรามากๆ เรียนสังคม เข้าใจมนุษย์ เข้าใจสังคม เข้าใจโครงสร้าง เพื่อไปเปลี่ยนแปลงให้มันดี แนวคิดของคณะนี้คือ เข้าใจ เคารพ และเปลี่ยนแปลง ตอนที่เรานั่งดูหลักสูตรกับพ่อแล้วก็คิดว่าดีจังเลย พ่อก็บอกว่าเหมาะกับหนูดีนะลูก หนูขี้สงสัย ไปเรียนจะได้ไม่ต้องมาถามพ่อ (ยิ้ม) คณะนี้ให้คำตอบหลายอย่างที่เราสงสัยเกี่ยวกับมนุษย์ เราเชื่อว่าถ้าอยากแก้ปัญหาในสังคมมนุษย์ก็ต้องทำความเข้าใจมนุษย์ก่อนจึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่เข้าใจแล้วจะแก้ปัญหายังไง

เราคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็คงทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เราอยากทำบ้านเป็นสวนสัตว์ (หัวเราะ)

สนใจศึกษาประเด็นอะไรก่อนเรียนจบ

เรายังไม่จบในสี่ปี แต่คุยกับอาจารย์ไว้ว่าอยากทำเรื่องคุก เพราะตอนเราออกมา มีงานที่ต้องเขียนเรื่องคุก แล้วหางานวิจัยเกี่ยวกับคุกฉบับของไทยยากมาก แบบที่ไม่ใช่งานแปลหรืองานศึกษาในต่างประเทศมีน้อยมาก แทบจะหาอะไรไม่ได้เลย เพราะสิ่งนี้ด้วยหรือเปล่าทำให้คุกไทยเหมือนไม่ได้ถูกพัฒนามานานมาก เรื่องที่พัฒนาคืออาจดูสะอาดขึ้น ห้องเยอะขึ้น แต่พอไปอยู่ข้างในแล้วเป็นคนละโลก

ที่นี่ไม่ใช่สถานที่ที่คนจะเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่ดีได้แน่ๆ ถ้าตอนเข้าไปเป็นคนไม่ดีอยู่แล้ว ออกมาก็คงเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิม เพราะกิจวัตรประจำวัน กิจกรรมต่างๆ บรรยากาศ เรื่องการใช้อำนาจ ไม่มีส่วนไหนเลยที่จะกล่อมเกลาให้คนสามารถอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น เราจึงสนใจศึกษาเรื่องนี้และคิดว่าจะเป็นประโยชน์

ในเชิงวิชาชีพอยากเป็นอะไร

อยากเป็นนักวิจัย เราเรียนสาขาวิจัยด้วย แต่หลังจากนั้นเราก็อยากเข้าสภาเหมือนกัน อยากทำงานที่ขับเคลื่อนประเทศ เราอยากเป็นหนึ่งคนนั้นที่ได้ช่วยขับเคลื่อนประเทศ จะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยก็ได้ แค่ได้ช่วยก็พอ

สังคมไทยในอนาคตแบบที่รุ้งจะอยู่แล้วมีความสุข ทำงานที่ตัวเองชอบได้ดี ไม่ว่าจะในฐานะนักวิจัยหรือนักการเมือง คิดว่าควรเป็นสังคมแบบไหน

รายละเอียดเยอะมาก ถ้าพูดในมุมมองชีวิตประจำวัน อย่างแรกคือขนส่งสาธารณะ เราชอบแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นรถสาธารณะตรงเวลามากและมีคุณภาพ ไม่เหมือนรถเมล์ร้อนในไทย รถเมล์เขามีที่นั่งที่เหมาะสม โครงสร้างแข็งแรง มีทางลาดให้ผู้ใช้รถเข็น สามารถจ่ายด้วยการ์ดได้ไม่ต้องใช้เงินสด เราเกลียดมากเวลาขึ้นรถเมล์แล้วมีแต่แบงก์ร้อยแล้วก็โดนดุ กระทั่งเรื่องโครงสร้างอำนาจตั้งแต่ในที่ทำงาน เราหวังว่าจะมีที่ทำงานที่ไม่แคร์เรื่องอาวุโส แต่แคร์เรื่องประสบการณ์ความรู้ เอาความรู้มาดีเบตกัน เราฝันว่าจะมีพื้นที่ที่ทุกคนพัฒนาตัวเองไปพร้อมกันเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนตอนนี้ที่เรารู้สึกว่ามีการใช้ความอาวุโสมากดในหลายๆ เรื่อง ทำให้การพัฒนาของคนเป็นไปอย่างลำบาก ทำไมความต้องมาเจ็บปวดกับเรื่องแบบนี้

สองเรื่องนี้ก็มองขยายไปได้อีก อย่างเรื่องอาวุโสมองไปได้ถึงเรื่องทางวัฒนธรรม คุณจะเอายังไงกับระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม เราไม่ต้องการให้มีสิ่งนั้นเกิดขึ้น เราพูดตลอดว่าคนเท่ากันและเราหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ สังคมต้องเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเพศอะไร อายุเท่าไหร่ เราหวังว่าสังคมนี้จะเป็นสังคมที่เปิดรับทุกคนได้และมีโอกาสให้กับทุกคน

ถ้าขนส่งสาธารณะเป็นแบบญี่ปุ่นได้คงดี ถ้าถนนดีกว่านี้ได้ก็คงดี ถ้าผังเมืองดีกว่านี้ได้ก็คงดี ถ้าเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดีกว่านี้ได้ก็คงดี เราไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ แต่เรารู้ว่ามันแย่

วันนี้ถ้าให้พูดคุยกับคนในขบวนการที่เดินร่วมกันมา ไม่ว่าจะเพื่อนๆ หรือมวลชน อยากบอกอะไร

เราอยากบอกทุกคนว่า ทุกคนเก่งมากที่สามารถยืนหยัดในความคิดและอุดมการณ์ของตัวเองได้ในสังคมที่กดทับเราอยู่ทุกวันแบบนี้ ทุกคนเก่งมากที่ยืนขึ้นมาได้ เราอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคน แม้ว่าตัวเราเองจะต้องการกำลังใจด้วยก็ตาม เรารู้ว่ามันไม่ง่ายและทุกคนก็รู้ว่ามันไม่ง่าย การต่อสู้นี้ยากมากเลย การจะผ่านอะไรยากๆ ไปได้ต้องมีทุกๆ คน เราไม่อยากจะเสียใครไป ไม่อยากให้ใครหายไประหว่างทาง

เราหวังว่าจะมีคนเข้ามาร่วมในขบวนการมากขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าจะมีคนที่เห็นด้วยกับขบวนการประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าจะมีคนตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นงานกลุ่มที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน ใครทำอะไรได้ก็ทำเลย เราจะไม่ตัดสินใครที่มีเงื่อนไขจนไม่สามารถทำอะไรเท่าคนอื่นได้ ไม่เป็นไร ทำเท่าที่ตัวเองทำได้ก็ดีมากๆ แล้ว เราไม่สามารถทิ้งช่องทางใดช่องทางหนึ่งในการขยายมวลชนได้

แค่คุณคุยกับครอบครัวว่าคิดอย่างไรเรื่องการเมือง คุยกับเพื่อน ทำรายงานส่งอาจารย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ใช้ทวิตเตอร์ แต่งเพลงเพื่อประชาธิปไตย วาดรูปเพื่อประชาธิปไตย มันดีมากเลยที่ทุกคนจะทำอะไรก็ตามที่ตัวเองสามารถทำได้ ไม่มีอะไรด้อยกว่าอะไร ทุกอย่างสำคัญมากในการจะเดินไปด้วยกัน การมีทุกคนอยู่มันดีที่สุดแล้ว และอยากเจอทุกคนตอนที่ถึงเส้นชัยแล้ว เราจะได้มาฉลองกัน

อยากชวนให้ทุกคนอ่านข้อเสนอสิบข้ออีกครั้งหนึ่ง โพสต์ลงโซเชียลพร้อมกัน เพื่อประกาศจุดยืนร่วมกันของพวกเราอีกครั้งว่าเราต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save