fbpx
อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต

อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต

ในบทสัมภาษณ์ มานุษยวิทยาต้องรอด! ของ The101.world ผู้เขียนเห็นด้วยกับนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์[1] ที่ชี้ว่า คำถามสำคัญของวิชามานุษยวิทยาคือ How to be human? หรือ “เราเป็นมนุษย์ได้อย่างไร”

แน่นอนว่าศาสตร์ต่างๆ ก็ให้ความสำคัญกับการตอบปัญหาดังกล่าว ทว่าวิธีการตอบปัญหาก็แตกต่างกันไป วิชาปรัชญามักจะตอบปัญหาดังกล่าวด้วยการหาคำตอบที่เป็นสากลและข้ามพ้นกาละและเทศะ ผ่านการชี้ให้เห็นว่าแก่นสารัตถะของความเป็นมนุษย์ก็คือการใช้เหตุผล หรือแม้แต่การใช้ภาษา (เช่น Noam Chomsky) หรือแม้แต่ความเห็นแก่ตัวและการคิดคำนวณผลประโยชน์สูงสุด (เช่นในงานของ Thomas Hobbes) ทว่าวิชามานุษยวิทยากลับมีวิธีการตอบปัญหาดังกล่าวแตกต่างออกไปจากวิชาปรัชญา นักมานุษยวิทยาหาได้สนใจความสามารถในการใช้เหตุผลในฐานะที่เป็นเงื่อนไขของการนิยามมนุษย์ แต่นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับปฏิบัติการ อารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อ หรือแม้แต่จินตนาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจผ่านความเฉพาะของกาละและเทศะอยู่เสมอ พูดอย่างถึงที่สุด วิชามานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับบริบทหรือฉากหลังของสิ่งต่างๆ 

นายแพทย์โกมาตรยังกล่าวในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวอีกว่า ความแตกต่างของมานุษยวิทยากับวิทยาศาสตร์ก็คือ ในขณะที่วิชาวิทยาศาสตร์สนใจ ‘สิ่งที่เราคุ้นเคยหรือรู้จักดี’ แต่วิชามานุษยวิทยากลับสนใจศึกษา ‘อะไรที่ดูไม่คุ้นเคยเลย’ พูดอย่างถึงที่สุด แรงขับดันของวิชามานุษยวิทยาก็คือการศึกษา ‘คนอื่น’ หรือ ‘สิ่งอื่น’ ในฐานะที่คนอื่นแตกต่างจากเรา การทำความเข้าใจความแตกต่างหรือสิ่งอื่นที่แตกต่างจึงเป็นหัวใจของวิชามานุษยวิทยามากกว่าศึกษาความเหมือนหรือสิ่งที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว

ความน่าสนใจของข้อเสนอดังกล่าวก็คือ ดูเสมือนว่านักมานุษยวิทยาจะเริ่มต้นในการคัดสรรหัวข้อศึกษาของตนเองจาก ‘ความแตกต่าง’ (difference) มากกว่า ‘ความเหมือน’ (identity) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งความแตกต่างและความเหมือน/อัตลักษณ์ก็เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เราไม่สามารถพูดถึงความต่างได้หากเราไม่รู้ว่าความเหมือนคืออะไร และก็เช่นเดียวกันกับที่เราไม่สามารถพูดว่าเราเป็นใครได้หากเราไม่รู้ว่าคนอื่นหรือสิ่งอื่นที่แตกต่างจากเราคืออะไร กรอบวิธีคิดเช่นนี้เองที่เป็นรากฐานให้กับปมปัญหาสำคัญของวิชามานุษยวิทยา นั่นก็คือปมปัญหาว่าด้วย ‘คนใน’ ในความหมายที่นักมานุษยวิทยาผู้ซึ่งศึกษาคนอื่นหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตนเองนั้นต้องพยายามเข้าไปเป็น ‘คนใน’ ของคนอื่นๆ หรือวัฒนธรรมอื่นให้ได้ การแยกระหว่างคนในกับคนนอกจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณค่าของงานศึกษา และความสามารถในการทำงานสนามของนักมานุษยวิทยาแต่ละคน 

อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมาก็คือ จริงหรือไม่ที่มีเส้นแบ่งที่แยกระหว่าง ‘เรา’ (ในฐานะนักมานุษยวิทยา) กับ ‘เขา’ (ในฐานะที่เป็นผู้ที่เราศึกษา) ดำรงอยู่ แน่นอนว่า หากคำตอบคือเส้นแบ่งดังกล่าวดำรงอยู่จริง แน่ละ นักมานุษยวิทยาก็จำต้องพยายามทะลุหรือข้ามเส้นแบ่งนั้นไปให้ได้ นั่นคือนักมานุษยวิทยาต้องพยายามกลายเป็นคนในให้ได้ ในทางกลับกัน หากคำตอบคือเส้นแบ่งดังกล่าวหาได้ดำรงอยู่จริงเล่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องข้ามไปให้ได้ และหากเส้นแบ่งดังกล่าวหาได้มีอยู่จริง คำว่า ‘คนใน’ กับ ‘คนนอก’ ซึ่งเคยเป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าของงานสนามก็ย่อมจะไม่มีความหมาย

นักมานุษยวิทยาหลายคนเชื่อว่า ‘ความแตกต่าง’ (ซึ่งกำกับความเหมือนและความต่าง) นั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อน (given) ก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปศึกษาสิ่งต่างๆ และการเอาชนะความต่างก็เปรียบเสมือนชัยชนะของนักมานุษยวิทยาผู้พิชิตเส้นแบ่งพรมแดนที่แบ่งแยกเขากับเราได้ ในแง่นี้ ความแตกต่างจึงเป็นจุดตั้งต้นของวิชามานุษยวิทยา ทว่ายังมีอีกคำถามหนึ่งที่เราอาจจะถามต่อมาได้ก็คือ อะไรเล่าคือเป้าหมายหรือปลายทางของวิชามานุษยวิทยา แน่นอนว่าสปิริตของวิชามานุษยวิทยาที่พยายามรื้อสร้างความคิดแบบอาณานิคมของตนเองนั้นก็มุ่งไปที่การชี้ให้เห็นว่า วิชามานุษยวิทยาจำต้องช่วยลดอคติทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมให้ได้ พูดอย่างถึงที่สุด วิชามานุษยวิทยาที่เรากำลังพูดถึงในทุกวันนี้นั้นมุ่งไปสู่การหาหนทางของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายอย่างถึงที่สุด แต่หนทางเช่นนี้ก็มิใช่เป้าหมายอันเป็นสากลของวิชามานุษยวิทยาเสียทีเดียว ในด้านกลับกัน หากความแตกต่างไม่ใช่จุดตั้งต้นของการคิดหรือการทำงานวิชาการ การหาทางอยู่ร่วมกับความแตกต่างก็คงจะไม่มีความหมายใดๆ ให้คิดถึงหรือกังวล 

นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งพยายามกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า วิชามานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยความแตกต่าง เพราะการระบุว่าสิ่งใดต่างจากสิ่งใดนั้นเป็นเพียงสิ่งสร้างมากกว่าจะเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่จริงแท้แน่นอนแบบอภิปรัชญา หากความแตกต่างไม่ใช่จุดตั้งต้น วิชามานุษยวิทยาก็ย่อมจะไม่ใช่วิชาที่ต้องพยายามแก้ไขหรือหาทางจัดการหรืออยู่ร่วมกับความแตกต่าง แต่สารัตถะของวิชามานุษยวิทยากลับหมายถึงอะไรบางอย่างที่ ‘ร่วมกัน’ (common) (มาตั้งแต่ต้นหรือค่อยๆ อยู่ร่วมกัน) มากกว่า ความร่วมกันดังกล่าวนี้เป็นทั้งจุดตั้งต้นของการศึกษาและเป็นเป้าหมายของการศึกษาในตัวมันเอง

เมื่อเราพูดถึง ‘ส่วนรวม’ หรือ ‘การร่วมกัน’ ข้างต้นมันก็แตกต่างจากวิธีคิดว่าด้วย ‘ความเหมือน’ (identity/sameness) เนื่องจากความเหมือนนั้นเน้นไปที่การที่ของสองสิ่งหรือหลายสิ่งเหมือนกันและเท่ากันพอดี แต่การร่วมกันกลับหมายถึงการที่ของหลายสิ่งมีอะไรบางอย่างร่วมกัน[2] เช่นเดียวกับที่การร่วมกันก็แตกต่างจากวิธีคิดว่าด้วยสากลภาพ (universal) ที่แฝงฝังอยู่ในวิชาปรัชญาตะวันตกซึ่งมุ่งที่จะหาแกนกลางหรือแก่นสารสารัตถะของสรรพสิ่งซึ่งเป็นแก่นสารสารัตถะอันเป็นสากล[3] ไม่ว่าจะเป็นจิตหรือจิตสำนึก แต่การมีอะไรบางอย่างร่วมกันนั้นอยู่ในระดับที่เป็นนามธรรมน้อยกว่าสากลภาพ การมีอะไรบางอย่างร่วมกันหมายถึงการที่ของสองสิ่งหรือหลายสิ่งแบ่งปันคุณสมบัติบางประการร่วมกันในระดับหนึ่งในกาละและเทศะที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งไม่ใช่สภาวะแบบข้ามพ้นกาละและเทศะแบบสากล กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า วิชามานุษยวิทยานั้นไม่ใช่วิชาที่มุ่งแสวงหาสิ่งที่เหมือนกัน/เท่ากัน และไม่ได้มีเป้าหมายที่การสร้างสากลภาพ แต่เป้าหมายและภารกิจของวิชามานุษยวิทยาคือการทำความเข้าใจ ‘ส่วนรวม’ หรือ ‘การร่วมกัน’ ของผู้คนและสรรพสิ่งต่างๆ มากกว่า

‘ส่วนรวม’ ในที่นี้จึงเป็นลักษณะหรือมโนทัศน์ที่ตัดข้ามทั้งความเหมือนและความแตกต่าง กล่าวให้เป็นรูปธรรมกว่านั้นก็คือ วิชามานุษยวิทยาวางอยู่บนการทำความเข้าใจสภาวะของการร่วมกันหรือส่วนรวมที่สรรพสิ่งมีร่วมกันในกาละและเทศะที่เฉพาะเจาะจง และเมื่อมันเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงตามเวลาและสถานที่ ก็ย่อมจะหมายความถึง ‘สภาวะของการร่วมกัน’ นั้นผันแปรไปได้ตามองค์ประกอบที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งก็ทำให้สภาวะของการร่วมกันไม่ใช่สิ่งสากลแบบอภิปรัชญา

ในที่นี้ ผู้เขียนอยากทดลองเสนอว่า เราสามารถพิจารณา ‘สภาวะของการร่วมกัน’ หรือ common ได้ใน 3 ระดับ ซึ่งทั้ง 3 ระดับนี้ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกันในระดับปรากฏการณ์ แต่เป็นเพียงการจำแนกในแง่ของเครื่องมือของการศึกษา (heuristic devices) เท่านั้น คือ 

ระดับที่หนึ่ง การอยู่ร่วมกัน (living-with หรือ common) ในฐานะที่เป็นสภาวะของการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ที่ต่างก็พึ่งพิงและแบ่งปันชีวิตซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เช่น มนุษย์เองอาศัยออกซิเจนจากการคายออกซิเจนของต้นไม้ และต้นไม้ก็อาศัยคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจออกของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นต้น กล่าวอีกอย่างก็คือ เราไม่สามารถแยกการพิจารณาการดำรงอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกจากการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นๆ ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่วิชามานุษยวิทยาสนใจการอยู่ร่วมกันและการพึ่งพิงแบ่งปันกันของสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ

ระดับที่สอง การกระทำร่วมกัน (commoning) ซึ่งหมายถึงกระบวนการของการที่สรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกันต่างก็ร่วมกันกระทำการบางอย่าง พูดอีกอย่างก็คือ สรรพสิ่งต่างก็มีสถานะเป็นผู้สร้าง (creator) ร่วมกับสิ่งอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมที่อยู่ด้วยกันเสมอ ในด้านกลับกัน หากสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้สร้าง สรรพสิ่งก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างหรือเป็นสิ่งสร้าง (creature) ของสิ่งอื่นๆ ด้วย[4] พูดอย่างถึงที่สุด สารัตถะของวิชามานุษยวิทยาก็คือการศึกษาการกระทำหรือการสร้างสรรค์ร่วมกันของสิ่งต่างๆ ในบริบทหรือเงื่อนไขกาละและเทศะที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการสร้างสรรค์หรือการกระทำร่วมกันก็ทำให้รูปแบบของการอยู่ร่วมกัน (ในระดับที่หนึ่ง) นั้นมีความเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไป 

และระดับที่สาม ในกระบวนการของการอยู่ร่วมกันและการกระทำเพื่อสร้างสรรค์ร่วมกันก็นำมาสู่การให้กำเนิด ‘โลกร่วมกัน’ (common world) วิชามานุษยวิทยาจึงมุ่งทำความเข้าใจกระบวนการของการก่อตัวของโลก (worlding ในความหมายของ Phillipe Descola[5]) ที่ซึ่งโลกหาได้ดำรงอยู่ก่อนอย่างหลุดลอยออกจากการใช้ชีวิต แต่โลกดำรงอยู่หรือก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับการอยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆ และการกระทำเพื่อสร้างสรรค์ร่วมกันของสิ่งต่างๆ เราอาจจะพูดได้ว่า การศึกษาสถาบัน โครงสร้างสังคม ความคิด และความเชื่อก็คือผลิตผลของการอยู่ร่วมกันและการกระทำร่วมกันของผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในอาณาเขตเฉพาะเดียวๆ กันในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ดังที่นักมานุษยวิทยาในกระแสที่หันกลับมาสนใจประเด็นภววิทยา (Ontological Turn) พูดถึงก็คือ กระบวนการของการก่อตัวของโลกร่วมกันดังกล่าวนั้นตัดข้ามและหาได้ตรึงยึดอยู่กับทวิภาวะระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติแบบตายตัว กล่าวอย่างถึงที่สุด ‘โลกร่วมกัน’ ดังกล่าวนี้ผสมกลืนเข้ามาด้วยกันทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติ การกระทำและการใช้ชีวิตของเราก็มีผลต่อดาวโลกในแบบที่มันมีผลต่อโลกทางสังคม และในทางกลับกันด้วย[6]

ผู้เขียนเห็นด้วยกับนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันอย่าง Agustin Fuentes[7] ที่ชี้ว่า หากเราจะระบุว่าอะไรคือธรรมชาติหรือความเป็นมนุษย์ คำตอบก็น่าจะเป็นเรื่องของ ‘การสร้างสรรค์’ หรือ creativity ซึ่ง Fuentes นิยามว่า การสร้างสรรค์หมายถึงการที่มนุษย์ใช้จินตนาการ (imagination) ของตนเองรังสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยดำรงอยู่หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้ดำรงอยู่ต่อหน้าขึ้นมาทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงความคิด หากปราศจากความสามารถในการสร้างสรรค์ที่หมายถึงการคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ (possibility) แล้ว วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Homo ก็ย่อมจะมีไม่ได้และคงจะสูญพันธุ์ไปนมนานแล้ว

นอกจากนี้ จากมุมของนักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ Fuentes ยังชี้ว่า การสร้างสรรค์ของมนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงคุณสมบัติเชิงชีวภาพเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสังคมด้วย การประดิษฐ์ขวานหินของมนุษย์ยุคแรกๆ นั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยหากมนุษย์ไม่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม นับตั้งแต่การสั่งสมประสบการณ์ การถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น และจากชุมชนหนึ่งสู่ชุมชนอื่นๆ ในกระบวนการลับขวานหินให้แหลมคมนั้นไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยพิธีกรรมของการอยู่ร่วมกัน การที่คนในฝูงหรือเผ่าเดียวกันต้องนั่งดูหรือเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่วิธีการเลือกสรรหินที่เหมาะกับการทำขวาน การสกัดหิน และการลับคมของหิน เป็นต้น กล่าวอย่างถึงที่สุด เพื่อที่ Homo จะวิวัฒนาการได้ พวกเขาต้องอาศัยการสร้างสรรค์แบบรวมหมู่ (collective creativity) 

การสร้างสรรค์แบบรวมหมู่เช่นนี้เองคือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ ซึ่งแตกต่างกับการสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลที่เป็นอัจฉริยะ ซึ่งมักจะปรากฏในวิชาปรัชญา ศิลปะ หรือแม้แต่วรรณกรรมที่เน้นความสามารถในการสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล แต่นักมานุษยวิทยากลับวางหน่วยของการศึกษาของตนเองไปที่หน่วยแบบรวมหมู่หรือหน่วยระดับสังคมมากกว่าที่จะเป็นปัจเจกบุคคล หากปราศจากการอยู่ร่วมกัน การกระทำร่วม และการสร้างโลกร่วมกันแล้ว การสร้างสรรค์ก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ และหากปราศจากการสร้างสรรค์ วิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น และวิชามานุษยวิทยาก็คงไม่มีความหมาย

มาถึงจุดนี้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความเป็นสารัตถนิยม ผู้เขียนเห็นว่า คำถามของนายแพทย์โกมาตรที่ว่า “How to be human?” ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของบทความนี้น่าจะถูกปรับเสียหน่อยให้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนอภิปรายมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด สำหรับผู้เขียน หัวใจของวิชามานุษยวิทยาก็คือคำถามที่ว่า “มนุษย์สร้างสรรค์ตัวของพวกเขาให้เป็นมนุษย์ได้อย่างไร” (How we create ourselves as human?) แน่นอนว่าคำถามเช่นนี้ก็ยังยึดอยู่กับหัวใจของวิชามานุษยวิทยาว่าด้วยการศึกษามนุษย์ หากแต่ไม่ได้มองมนุษย์ในฐานะที่เป็นแก่นสารสารัตถะที่ตายตัว แต่มนุษย์คือผู้กระทำการและผู้สร้างสรรค์ร่วมกับสิ่งอื่นๆ อยู่เสมอ และผลผลิตที่มนุษย์สร้างขึ้นก็คือตัวของพวกเขาเอง

     

สำหรับคำถามที่ว่า อนาคตของมานุษยวิทยาจะเป็นเช่นไร ผู้เขียนเห็นว่า มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่แข็งแกร่งและมีจุดได้เปรียบที่ชัดเจน นั่นคือการศึกษาวิถีทางของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับสิ่งอื่นๆ ในโลก และในการศึกษาของวิชามานุษยวิทยาก็คือ การศึกษากระบวนการสร้างสรรค์วิถีทางใหม่ๆ ให้ของมนุษย์ร่วมกับสิ่งอื่นๆ ในโลก ซึ่งสามารถจัดจำแนกอย่างคร่าวๆ ออกได้เป็น 5 มิติ คือ

มิติที่หนึ่ง การสร้างสถาบันทางสังคม (social institution) ในฐานะที่เป็นกลไกร่วมกันของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการกำกับความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีร่วมกันและความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับสิ่งอื่นๆ

มิติที่สอง ความเชื่อและบรรทัดฐาน (belief and norm) ซึ่งเป็นเรื่องของจินตนาการที่มนุษย์คาดการณ์ถึงความเป็นไปและความเป็นไปได้สารพัดสารเพเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ[8]

มิติที่สาม โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่หมายถึง วัตถุสภาวะจำนวนมากมายมหาศาลที่ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์และเป็นเงื่อนไขให้แก่การดำรงชีวิตและสืบทอด รวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่นๆ รอบตัว

มิติที่สี่ เรื่องเล่า (narrative) ผู้เขียนเห็นว่าวิชามานุษยวิทยามีจุดแข็งอันพิเศษกว่าศาสตร์สาขาอื่นตรงที่นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องของตนเองและเรื่องเล่าของผู้คนต่างๆ วิชามานุษยวิทยามีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างเรื่องเล่าที่หลากหลายให้แก่สิ่งต่างๆ และในเรื่องเล่าใหม่ๆ ก็นำมาสู่การปรับเปลี่ยนสรรค์สร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา[9]

และมิติสุดท้าย ตัวตน (self) ในฐานะที่ตัวตนเป็นสิ่งที่สืบเนื่องและรัดร้อยทั้ง 4 มิติก่อนหน้านี้เข้ามา การสร้างตัวตนก็คือหัวใจสำคัญของความเป็นมนุษย์ ในความหมายที่ว่ามนุษย์สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อประกอบสร้างตัวตนของพวกเขาในโลก และตัวตนของพวกเขาในโลกดังกล่าวเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกัน การสร้างสรรค์ร่วมกัน และโลกร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่โลกของปัจเจกบุคคล แต่เป็นตัวตนและโลกที่มีคนอื่นและสิ่งอื่นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากพูดในภาษาของ Deleuze แล้ว[10] กระบวนการของการอยู่ในโลกก็คือกระบวนการของการค้นพบคนอื่นหรือสิ่งอื่นภายในตัวเราเอง โดยที่การค้นพบสิ่งอื่นภายในตัวเราก็ทำให้เราตระหนักชัดว่า เราไม่สามารถอยู่ในโลกหรือดำรงรักษาความเป็นตัวตนของเราเองได้หากไม่อยู่ร่วมกัน กระทำการร่วมกัน สร้างโลกร่วมกันกับสิ่งอื่นๆ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า วิชามานุษยวิทยานั้นมีอนาคต และเป็นอนาคตที่สดใส ตราบใดที่เรายังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกันกับสิ่งอื่นๆ กระทำการร่วมกันกับสิ่งอื่นๆ และแบ่งปันโลกร่วมกันกับสิ่งอื่นๆ แต่คำถามของมานุษยวิทยาย่อมไม่ใช่ว่า “เราจะเป็นมนุษย์ได้อย่างไร” แบบที่นายแพทย์โกมาตรเสนอ แต่คำถามที่เป็นหัวใจของมานุษยวิทยาในอนาคตก็คือ “เราจะสร้างสรรค์ตัวเราในฐานะมนุษย์ได้อย่างไร” ต่างหาก

**หมายเหตุ เนื้อหาสำหรับเสวนาในหัวข้อ ‘อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต’ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 จัดโดย The101.world และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


[1] https://www.the101.world/anthropology-must-survive/

[2] ดู เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, “Marilyn Strathern กับความรู้ในโลกของ พหุจักรวาล’,” วารสารมานุษยวิทยา, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2564), หน้า 188-194.

[3] Francois Jullien, There Is No Such Thing as Cultural Identity (Cambridge: Polity Press, 2021)

[4] Tim Ingold, Being Alive: Essays on Movement, Knowledge and Description (London and New York: Routledge, 2011)

[5] Phillipe Descola, Beyond Nature and Culture (Chicago: University of Chicago Press, 2013)

[6] ดู เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, Perspective: ภววิทยาแบบมุมมองนิยมและความเป็นซับเจค (กรุงเทพฯ: Illumination Editions, 2563)

[7] Agustin Fuentes, Why We Believe: Evolution and the Human Way of Being (Yale University Press, 2019); The Creative Spark: How Imagination Made Humans Exceptional (New York: Dutton, 2017)

[8] ดูเพิ่มเติมในงานของกลุ่ม Laland Lab ใน F. John Odling-Smee, Kevin N. Laland and Marcus W. Feldman, Niche Construction: The Neglected Process in Evolution (Princeton University Press, 2003)

[9] ดูประเด็นนี้ใน Donna Haraway, Manifestly Haraway (Minneapolis and London: University of Minnesota Press, 2016)

[10] Gilles Deleuze, Foucault (Minneapolis and London: University of Minnesota Press, 1988)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save