fbpx

หนีจากชายขอบเพื่อปะทะกับความไม่เข้าใจ : สุขภาพจิต-เพศ ในปี 2019

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สุขภาพจิตและเรื่องเพศ เป็นสองประเด็นที่ถือว่า ‘ป๊อป’ แล้วในความนึกคิดของผู้คน ยิ่งในยุคสมัยใหม่ที่เราทราบกันดีว่าการเปลี่ยนแปลงและปรากฏการณ์ใหม่ๆ จะพุ่งเข้าหาเราไม่จบสิ้น สองประเด็นดังกล่าวยิ่งเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจ และมีนักต่อสู้มากมายคอยส่งเสียง จนสามารถขยับ ‘ชายขอบ’ ในสังคม ให้มีแนวโน้มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

กระนั้น ขณะที่เสียงจากสองประเด็นดังกล่าวได้รับการขับกล่อมและปลุกเร้าอยู่ไม่ขาด เมื่อร้อยเรียงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เราก็ยังพบกำแพงขนาดใหญ่ที่สังคมร่วมกันสร้างมาตลอดหลายปี คือกำแพงที่ชื่อว่า ‘อคติ’ และความไม่เข้าใจ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของเราอย่างชัดเจน บางครั้งมาในรูปแบบของการเลือกปฏิบัติ และบางครั้งก็เป็นการผลักให้ผู้ที่หลุดพ้นจากชายขอบ ต้องเผชิญกับขอบเขตใหม่ที่ยากจะสู้

ผลงานหลากหลายชิ้นของ The101.world ในปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนสถานการณ์และชี้ให้เห็นความหนาบางของกำแพงใหม่ที่เราต้องร่วมกันข้ามฝ่าไปให้พ้น ดังนี้

 

บทบาทสตรี-อุดมคติแม่และเมียที่หนีไม่พ้น

 

‘เปิดกว้าง’ อาจเป็นคำที่หลายคนเลือกใช้อธิบายความก้าวหน้าเรื่องเพศในปัจจุบัน มีตัวอย่างรูปธรรมที่โดดเด่น เช่น การได้เห็นสปิริตของนักการเมืองหญิงและนักการเมือง LGBTQ จากหลากพรรคในปีที่ผ่านมา การถกเถียงเรื่องความเท่าเทียมอย่างไม่ขาดสาย การติดแฮชแท็กต่อต้านการคุกคามทางเพศ #METOO ที่ยังคงถูกใช้จนติดอันดับความนิยมหลายครั้ง ถึงอย่างนั้นก็มีอีกหลายตัวอย่าง หลายแง่มุม ที่ทำให้สังคมทบทวน ‘ความเปิดกว้าง’ ที่ว่า ทั้งในด้านสิทธิ และทัศนคติของผู้คนที่มีต่อเรื่องเพศ

กลางปี 2562 ข่าว ‘ลัลลาเบล’ หรือข่าวของพริตตี้ที่ถูกมอมเหล้าจนเสียชีวิต กลายเป็นประเด็นโด่งดังที่สร้างความสะเทือนใจให้ผู้คน แต่อีกหลายเสียงกลับกล่าวโทษ ‘ลัลลาเบล’ ซึ่งเป็นภาพแทนของผู้หญิงอีกหลายคนว่า เธอนั่นแหละ ที่เป็นสาเหตุให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับตัวเอง

ในบทความเรื่อง “ก็เธอไปหาเขาเอง” เมื่อเหยื่อถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรม ได้สะท้อนมายาคติของคนในสังคมไทยว่า สังคมมีอุดมคติของ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ตามคำว่า กุลสตรี แม่ที่ดี เมียที่ดี การเป็นผู้หญิงที่ดีหมายถึงคุณต้องบริสุทธิ์ คุณต้องไม่เคยมีชะตากรรมในเรื่องเพศที่น่าชัง คุณจึงไม่ควรจะถูกข่มขืน เมื่อผู้หญิงไม่สามารถอยู่ในกรอบเหล่านั้นและถูกล่วงละเมิดทางเพศ สังคมก็พร้อมกล่าวโทษ

กระทั่งในสังคมโลก การกล่าวโทษผู้หญิงก็มีให้พบเห็นร่ำไป ในบทความเรื่อง ฉันสวมใส่สิทธิบนเรือนร่างของฉัน ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่นักร้องสาวชาวอเมริกัน Billie Eilish ถูกวิจารณ์เรือนร่างเพียงเพราะเธอสวมเสื้อกล้ามรัดรูป การสวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยเรือนร่างเล็กน้อยกลับกลายเป็นช่องโหว่หรือคำอนุญาตให้ผู้คนคุกคามเธอ และพร้อมกล่าวว่า “ฉันมีสิทธิ์จะ sexualise และพูดถึงร่างกายของเธออย่างไรก็ได้”

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ต้องรับบท ‘แม่’ ก็จำต้องเสียสละ หรือเสียสิทธิหลายอย่าง แม้เราจะอยู่ในสังคมที่มีเทรนด์แบบ working woman หรือเรียกร้องให้สิทธิของผู้หญิงเทียบเท่าผู้ชาย แต่สถานประกอบการหลายแห่งอนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดสูงสุดได้เพียง 3 เดือน ขณะที่ฝั่งผู้ชาย มีเพียงข้าราชการชายเท่านั้นที่สามารถลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน ตามที่กฎหมายรองรับ

ตัวเลขที่มองเห็นอย่างง่ายๆ นี้ สะท้อนว่าสังคมยังคงผลักบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกให้ผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่รองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเหล่านั้น ในบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา กล่าวถึงประเด็นที่ผู้หญิงหลายคนต้องลาออกเพื่อมาดูแลบุตร โดยมีงานศึกษาที่นำเสนอว่า ‘การเป็นผู้หญิงไม่ได้ทำให้คนเสียเปรียบเท่ากับการเป็นแม่’ กล่าวคือ ความต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงนั้นมีอยู่ แต่จะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อผู้หญิงกลายเป็นแม่ เพราะในหลายประเทศผู้หญิงที่ลาออกไปเลี้ยงบุตรได้เงินเดือนลดลง 7-20% เมื่อกลับไปทำงาน

ผลของมายาคติเหล่านี้ นอกจากจะสร้างบาดแผลให้ผู้หญิงแล้ว ยังสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต และในการเรียกร้องความยุติธรรมด้วย และในบางครั้ง คนที่ช่วยเหลือต่อสู้เพื่อเอาสิทธิต่างๆ กลับสู่อ้อมอกของผู้หญิง ก็ไม่ใช่ใครนอกจากผู้หญิงด้วยกันเอง

ในบทความเรื่อง ‘ลาคลอด’ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เดินหน้าสู่ครอบครัวเข้มแข็งด้วยสิทธิแรงงาน พาเราย้อนกลับไปในปี 2536 ครั้งสุดท้ายที่มีการเรียกร้องแก้กฎหมายลาคลอด จำนวนวันลาคลอด 90 วันยังหยุดนิ่ง ไม่เพิ่มขึ้นมา 26 ปีนับแต่ปี 2536 จนปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเกิดจากการทำงานของภาคประชาสังคมร่วมกับภาคแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่ม ‘สาวโรงงาน’ การลุกขึ้นสู้ของสาวโรงงานในวันนั้นเอื้อประโยชน์ไปถึงแรงงานในระบบประเภทอื่นๆ รวมถึงชนชั้นกลางที่ได้รับสิทธิวันลาคลอดอย่างเท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกัน การต่อสู้ของผู้หญิงยุคปัจจุบันที่ปรากฏในบทความเรื่อง จากชายแดนใต้ถึงเราทุกคน “ความรุนแรงต่อผู้หญิงจะต้องยุติ” ผู้หญิงในจังหวัดนราธิวาสเคยอยู่ในข้อจำกัดทางศาสนาที่ว่า หากถูกกระทำความรุนแรง พวกเธอต้องร้องเรียนต่อผู้นำศาสนาในพื้นที่ และให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดช่วยดำเนินการ ผู้หญิงหลายคนจึงเลือกไม่จัดการกับความรุนแรงที่ได้รับ เนื่องจากคณะกรรมการฯ เป็นผู้ชาย ไม่สามารถตรวจสอบร่างกายหรือร่องรอยบอบช้ำ และไม่อาจเข้าใจความรู้สึกของพวกเธอได้

จากปัญหาดังกล่าว ผู้หญิงในสามจังหวัดจำนวนหนึ่งจึงรวมตัวกันสร้าง ‘ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี’ เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง ผู้หญิงในพื้นที่จึงเริ่มออกมาส่งเสียง บางคนไกล่เกลี่ยกับสามี หลายคนดำเนินการหย่า สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ปัญหาความรุนแรงและบทบาทของผู้หญิง จนสำนักงานคณะกรรมการอิสลามในจังหวัดอื่นเริ่มดำเนินการตามโมเดลนี้

 

สิทธิที่ยังขาดไป และอคติหลังการ Come Out

 

LGBTQ เป็นอีกประเด็นที่ ‘Come Out’ แล้วในสังคมปัจจุบัน กล่าวคือผู้คนสามารถเปิดเผยตัวตนได้ ในขณะที่สาธารณะก็พร้อมที่จะถกเถียงประเด็นนี้มากขึ้น ทว่ากำแพงของอคติและการเลือกปฏิบัติก็ยังตั้งตระหง่าน ขวางทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานและการดำเนินชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศในระดับภูมิภาคเอเชียกำลังเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน ในระดับการยอมรับที่มากน้อยต่างกันไป โดยในปี 2562 สื่อและภาพยนตร์จำนวนหนึ่งเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของ LGBTQ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ ได้นำเสนอความรักของ LGBTQ ตอกย้ำถึงความรักความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างตัวละคร จนสามารถมองข้ามและก้าวผ่านความเป็นเพศหญิงหรือเพศชายไปได้ หรือ ภาพยนตร์เรื่อง Let’s Love หรือ เงารักในสายหมอก  ในบทความเรื่อง ‘LGBT ลาว’ ชีวิตเปราะบางบนความอ่อนไหว ก็พูดถึงชีวิต LGBTQ ในลาว โดยเฉพาะเลสเบี้ยน ที่ต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม ครอบครัว คนรอบข้าง ไปจนถึงอาชีพการงาน ขณะที่บทความเรื่อง Girls Like Girls : ผู้​หญิง​ก็​ชอบ​ผู้หญิง​เหมือน​ที่​ผู้ชาย​ชอบ​นั่นแหละ ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องราวของเลสเบี้ยน กับรูปแบบความรักความสัมพันธ์ที่สังคมยังให้พื้นที่เพียงน้อยนิด ทั้งที่ปรากฏในสื่อ หรือการวิพากวิจารณ์ของสังคมที่มักรู้สึก ‘เสียดาย’ ที่หญิงรักหญิงด้วยกันเอง

ความเคลื่อนไหวอีกอย่างที่เป็นก้าวสำคัญของ LGBTQ ในเอเชีย คือกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน โดยในบทความ บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride ได้แสดงให้เห็นความคึกคักตื่นตัวของผู้คนในขบวนพาเหรด Taiwan LGBTQ Pride ในห้วงเวลาที่กฎหมายสมรสเพศเดียวกันผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยการเรียกร้องของประชาชนและการเสนอร่างโดย ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงคนปัจจุบัน ทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวของเอเชียที่รองรับการแต่งงานของชาวสีรุ้ง แต่ประชาชนบางส่วนยังคงเป็นกังวลเกี่ยวกับการเปิดรับและการเลือกปฏิบัติ

ชายคนหนึ่งในขบวนพาเหรดเล่าว่า คนไต้หวันส่วนมากจะค่อนข้างเฟรนด์ลี่กับ LGBTQ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเป็นคนใกล้ชิดของพวกเขา แต่เมื่อคนในครอบครัวเป็น LGBTQ การยอมรับยังถือเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้แม้ว่ากฎหมายสมรสจะผ่านแล้ว และสิทธิต่างๆ มีการพัฒนาขึ้น แต่ในระบบการศึกษา ก็ยังมีเด็กๆ ที่โดนรังแกในโรงเรียน เพียงเพราะเป็น LGBT ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันอย่างเขาอยากรณรงค์ให้เห็นความสำคัญต่อไป

ในประเด็นเดียวกัน เมื่อตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย เค้าลางของกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ในรูปโฉมของ ‘พ.ร.บ. คู่ชีวิต’ ยังคงเดินอย่างเชื่องช้า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นแค่การทำให้คำว่า ‘คู่ชีวิต’ ปรากฏในกฎหมายไทย โดยมุ่งไปที่การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน แต่ยังไปไม่ถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเพศหลากหลาย เช่นเรื่องการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า ไม่มีเรื่องการเปลี่ยนนามสกุลตามคู่ชีวิต การเปลี่ยนสัญชาติตามคู่ชีวิต การเซ็นยินยอมการรักษาพยาบาลแทน และอาจมีปัญหาต่อสิทธิต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี สิทธิสวัสดิการต่างๆ ซึ่งถูกระบุในกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดให้มีไว้สำหรับคู่สมรส

และเมื่อคู่ชีวิตไม่ใช่คู่สมรส จึงไม่ถูกตีความให้ได้สิทธินั้น

ในบทความเรื่อง ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม  วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ สหประชาชาติ ชี้ว่ากฎหมายที่ไม่ครอบคลุมบางประเด็นอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติตามมา ทั้งจากกลุ่มต่อต้านและจากเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจปฏิเสธการจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะแม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ก็ไม่ครอบคลุมการเลือกปฏิบัติต่อผู้จดทะเบียนคู่ชีวิตในอนาคต และยังไม่มีวิธีรับมือกับการดำเนินการทางศาสนา เช่น บางศาสนาอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ และอาจปฏิเสธการจดทะเบียนโดยอ้างหลักศาสนาของตน

นอกจากประเด็นสิทธิพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ผู้คนต่างจับตามองในปีนี้คือบทบาททางการเมืองของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้จะปรากฏข่าว ส.ส.แต่งตัวตามเพศสภาพเข้าสภา เช่นเดียวกับการที่ LGBTQ มากมายออกมาเดินหน้าหาเสียง แต่เบื้องหลังภาพเหล่านั้นก็แลกมาด้วยประสบการณ์ที่ไม่ง่าย ทั้งการเลือกปฏิบัติ การดูถูกจากคนจำนวนมากในสังคม

ในบทความเรื่อง LGBTIQ ในการเลือกตั้ง 62 และการเปลี่ยนแปลงที่เรายังเฝ้ารอ ได้ถ่ายทอดน้ำเสียงของ LGBTQ บางคนในสนามการเมือง เช่น ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้รับคำวิจารณ์มากมายตั้งแต่วันรายงานตัว พร้อมกับกระแสที่มองว่า ‘ไม่เหมาะสม’ บางคนยังตั้งคำถามว่า “เป็นกะเทยก็สับสนพอแล้ว ขนาดตัวเองยังไม่ชัดเจน แล้วจะเข้ามาบริหารประเทศชาติบ้านเมืองได้ยังไง”

ด้าน พาลินี งามพริ้ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคมหาชน ที่ถูกกล่าวหาว่าจะกลายเป็น ‘ตัวตลก’ ทางการเมือง อธิบายว่าเหตุผลที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเดินหน้าแสดงบทบาททางการเมืองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ เป็นการกรุยทางเพื่อลูกหลานในอนาคต ไม่แน่ว่าการเดินหน้าก้าวเล็กๆ ในวันนี้ อาจทำให้ประเทศไทยมีแคนดิเดตนายกเป็น LGBTIQ และได้รับโอกาสจริงๆ ก็ได้

LGBTQ อีกกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนในสังคมเปิดกว้างนี้ คือ กลุ่มผู้พิการ จุดร่วมระหว่างคนพิการกับ LGBTQ คือการเป็นคนส่วนน้อยเหมือนกัน และแม้ความพิการกับเพศสภาพจะเป็นตัวตนของพวกเขา แต่สิ่งแวดล้อมในสังคมนี้กลับไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต และต้องพบเจอการเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพของพวกเขาด้วย ในบทความเรื่อง ผู้พิการ LGBT ชายขอบแห่งขอบของความแปลกแยก ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ความพิการและความหลากหลายทางเพศ ยังคงถูกหยิบมาล้อเลียนด้วยความสนุกสนานในสื่อ กระทั่งการพาดหัวข่าวที่ย้ำถึงความไม่ปกติของคนพิการ ยังไม่นับว่า LGBTQ หลายคนไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อคนพิการ ขณะที่หลายคนยังถูกมองในแง่ลบเพียงเพราะเป็น LGBT

จากหลายแง่มุมที่ปรากฏในรอบปี แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า แม้สังคมจะพร้อมถกเถียงประเด็นความหลากหลายทางเพศ และแม้ LGBTQ จะก้าวยืนอยู่ในสังคมอย่างเปิดเผย แต่ข้อจำกัดหลายอย่างยังคงขัดขวางพวกเขาจากชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ และขาดความเข้าใจจากสังคมในหลายเรื่อง

สภาวะดังกล่าว เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ที่ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์จากภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ ได้กล่าวไว้ คือปรากฏการณ์ ‘Pink Washing’ หรือการที่สังคมเชิดชูประเด็นความหลากหลายทางเพศ พร้อมกลบฝังประเด็นความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดกับ LGBTQ ดังนั้นการเดินไปข้างหน้า พร้อมๆ กับการเฝ้าจับตาประเด็นเรื่องเพศ อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราไม่ตกหลุมพรางว่าประเทศนี้ รัฐบาลนี้ สังคมนี้ เฟรนด์ลี่กับความหลากหลายทางเพศแบบเพียงผิวเผินเท่านั้น

ตราบใดที่ฐานรากของความรุนแรงยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมี LGBTIQ แม้แต่คนเดียวยังถูกรังแกอยู่ ยังมีแม้แต่หนึ่งคอมเม้นต์ในโลกออนไลน์ ที่สร้างความเกลียดชัง การ Come Out หรือเปิดกว้าง ก็ไม่อาจสง่างามได้แท้จริง

 

เพศสัมพันธ์-สุขภาวะทางเพศ ที่เรายังเข้าใจผิด

 

เมื่อพูดถึงเรื่องเพศ อีกพื้นที่ที่ต้องเข้าไปย่ำเยือนคือ ‘ความรู้ความเข้าใจ’ ต่อประเด็นต่างๆ ไม่ใช่แค่ความเข้าใจในความแตกต่างของเพศสภาพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเรื่องเพศสัมพันธ์และสุขภาวะด้วย

การพูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ทำได้มากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ผู้คนสามารถเข้าถึงซีรีส์ที่ให้ความรู้เรื่องเพศ เช่น Sex Education, ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ฯลฯ วิวัฒนาการทางการแพทย์ก็เจริญก้าวหน้า ได้รับเผยแพร่สู่สังคมอยู่ไม่ขาดสาย ถึงกระนั้นนั้นความไม่เข้าใจ รวมถึงอคติ ก็ยังแพร่สะพัดอยู่ไม่คลาย

ในบทความเรื่อง เมื่อโพลบอกว่า…”วาเลนไทน์ 2562 วัยรุ่นรักนวลสงวนตัว” ได้อ้างถึงสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นไทย จากรายงานผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มนักเรียนประเทศไทย ปี 2560 สำรวจโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก มีวัยรุ่นที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยถึงร้อยละ 50 ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการท้องไม่พร้อม

ไม่เพียงแต่เด็กและเยาวชน แต่ผู้ใหญ่และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง ก็ยังเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างผิดพลาดด้วย ในบทความเรื่อง ผู้ติดเชื้อ HIV กับอคติที่สังคมก้าวไม่พ้น : คุยกับ จารุณี ศิริพันธุ์ อนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จารุณี ศิริพันธุ์ นักกิจกรรมอิสระ และอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้เล่าภาพรวมเรื่องความเข้าใจของสังคมต่อโรคเอดส์ว่า ปัจจุบันมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ติดเชื้ออยู่มากมาย ตั้งแต่ความเข้าใจว่า คนที่ติดเชื้อคงมีพฤติกรรมทางเพศไม่ดี มีคู่หลายคน ความเข้าใจผิดนี้นำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย เช่น ในหน่วยบริการสุขภาพหลายแห่ง ผู้ให้บริการบางคนไม่กล้าหยิบจับเสื้อผ้าของผู้ติดเชื้อ ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงของโรคที่บอกว่า เสื้อผ้าไม่ได้เป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อ

ผลของความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ส่งต่อไปยังการเลือกปฏิบัติ และกระทบอีกไปถึงการทำให้ผู้ป่วยบางคนสร้างอคติต่อตัวเอง หรือที่เรียกว่า Self-stigma (การตีตราตนเอง)

“อคติที่สังคมมีมันทำงานกับจิตใจซ้ำๆ จนเขารู้สึกว่า อยู่คนเดียวดีกว่า ไม่ต้องให้ใครรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ไม่ต้องออกไปเจอผู้คน นี่แหละปลอดภัยที่สุด” จารุณีกล่าว

อคติอีกเรื่องที่ยังคงอยู่ในสังคม และให้ผลร้ายที่สุดข้อหนึ่ง คือแนวคิดที่ว่า การพูดเรื่องเซ็กซ์เป็นสิ่งลามก น่าชัง แนวคิดเช่นนี้จะยิ่งทำให้ผู้คนไม่ตระหนักในความปลอดภัย และไม่รู้วิธีป้องกันดูแลสุขภาพ ในบทความเรื่อง ‘เซ็กซ์ทอย’ ของเล่นที่จำเป็นไม่ใช่เล่น สะท้อนให้เห็นว่าการขาดความเข้าใจเรื่องเซ็กซ์ทอย ส่งผลให้ผู้หญิงบางคนบาดเจ็บ เช่นเดียวกับบทความเรื่อง Vaginismus – กายภาพของความกลัวเมื่อต้องสอดใส่ ที่เล่าปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิง ปัญหาร้อนใจที่หลายคนเก็บเอาไว้เพราะอาย และไม่กล้าบอกใคร

ในช่วงปีที่ผ่านมา สังคมไทยยังได้สัมผัสความท้าทายใหม่จากการปรากฏตัวของผู้มีรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้หลายคนต้องเอะใจว่า รสนิยมการมีเพศสสัมพันธ์เป็นอีกเรื่องที่เราต้องมองให้เห็นความหลากหลายเช่นกัน

ในผลงานเรื่อง ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ สองแอดมินจากเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ได้ร่วมกันอธิบายแก่นแท้ของรสนิยมทางเพศรูปแบบนี้ จากที่เคยถูกเข้าใจว่ามีแต่เรื่องเจ็บปวด ซาดิสม์ ทั้งคู่เปลี่ยนมันเป็นคำว่ายินยอมพร้อมใจ (Consent) และยังย้ำความหมายของการถกเถียง ให้ความรู้เรื่องเพศผ่านประสบการณ์เปิดเพจของพวกเธอว่า

“ตอนนี้ใน Community มีคนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ น้องใหม่ก็อายุลดลงไปเรื่อยๆ จาก 30 20 ก็ถอยไปถึงอายุ 18 หลายคนเข้ามาคุย มาถามว่ามันคืออะไร วันนึงเกือบ 10 คน เดือนหนึ่งก็เป็นร้อย เรารู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นเราเปิดเพจดีกว่า อยากรู้เรื่องไหนเขาจะได้เข้าไปอ่าน เราไม่อยากผลักเขาออกไปหาข้อมูลที่บางทีก็ผิด ไปเจอคนหลอกลวง หรือไปเจอข้อมูลภาษาอังกฤษที่เขาอาจจะไม่เข้าใจ”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนในสังคมต้องช่วยกันถามตัวเองดังๆ ว่า แล้วเราล่ะ ยังผลักใครให้ไปพบกับอันตรายและความเข้าใจผิดในเรื่องเพศอยู่หรือเปล่า

 

เรื่องของใจ ที่ไม่ใช่เพียงกระแส

 

ประเด็นสุขภาพจิต ไม่อาจเรียกว่าเป็นชายขอบของสังคมอีกแล้วในแง่การรับรู้ เพราะสังคมเราทั้งพูดถึง และได้เห็นตัวอย่างความสูญเสียหลายต่อหลายครั้งในปีนี้ ผ่านข่าวคราวทั้งในและต่างประเทศ เพียงแต่ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตนั้นยังไม่อาจหลุดจากความ ‘ไม่เข้าใจ’ ของคนจำนวนมาก ตั้งแต่คำถามที่ว่าสุขภาพจิต เช่นโรคซึมเศร้า เป็นเพียงกระแสหรือเปล่า หรืออาการป่วยที่ใจมันเกิดจากอะไรกัน

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ตัวเลขในบทความเรื่อง ทำไมซึมเศร้า – ซึมเศร้าทำไม: คลื่นแห่งโรคซึมเศร้ากำลังสาดซัดเข้าหามนุษยชาติ ได้ยืนยันปัญหาอย่างชัดเจนว่า คนไทยเริ่มมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังนี้ คนไทยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในปี 2560 มีมากถึง 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 36% ภายใน 3 ปี โดยมีการสำรวจทางระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทย พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีโรคซึมเศร้ารุนแรงชนิดครั้งคราว 2.4% และชนิดเรื้อรัง 0.3% ซึ่งเมื่อดูจากสถิติโดยรวมแล้ว แปลว่าในประชากรไทย 100 คน จะมี 3 คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และประชากรผู้หญิงเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า

เช่นเดียวกับในบทความเรื่อง ‘ซึมเศร้า’ หรือ ‘วิตกกังวล’ เมื่อความแตกต่างอาจไม่ได้สำคัญอีกต่อไป ที่อ้างอิงสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) ว่าประชากรโลก 4.4% (ประมาณ 300 ล้านคน) กำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้า และอีก 3.6% (ประมาณ 250 ล้านคน) มีอาการของโรควิตกกังวล

ส่วนสาเหตุของการป่วยนั้น โดยพื้นฐานแล้วขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัว สิ่งแวดล้อม และสารเคมีในสมอง ไม่อาจระบุสาเหตุได้เป็นแบบแผนที่แน่ชัดเนื่องจากความต่างในชีวิตของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม การศึกษาบางชิ้นได้ระบุว่าโรคทางสุขภาพจิต อาจเกิดจากประสบการณ์การเติบโตวัยเด็ก

ดร.โจน ลูบี (Joan Luby) ผู้อำนวยการของ Early Emotional Development Program แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์วอชิงตันในเซนต์หลุยส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องโรคซึมเศร้าในเด็กเล็ก ชี้ว่าเด็กอายุ 2-5 ขวบ มีอยู่ราว 1-2% ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า เพียงแต่เด็กเหล่านี้บอกเล่าอะไรออกมาไม่ได้ ดังนั้น เด็กเล็กที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงมักไม่ได้รับการรักษา และส่งผลสืบเนื่องมาเมื่อโตขึ้น ทำให้อาการซึมเศร้ารุนแรงมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ผลงานของ 101 ในปีที่ผ่านมา ได้นำเสนอตัวอย่างของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่มีลักษณะทางประชากรและการใช้ชีวิตที่ต่างกัน เพื่อบอกเล่าความเป็นไปได้ที่หลากหลายของสาเหตุการเกิดโรค

ในบทความเรื่อง ใจของเราก็เจ็บป่วยเป็น : สุขภาพจิตและความคิดฆ่าตัวตายของนักเรียนนักศึกษาไทย ได้ยกตัวอย่างเด็กและเยาวชนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลายกรณี และหลายคนมีความคิดฆ่าตัวตาย โดยอธิบายว่าในหมู่นักเรียนนักศึกษาหลายคน ประสบปัญหาจากการที่พ่อแม่คาดหวังให้เรียนดี ได้เกียรตินิยม อาจารย์และนักจิตวิทยาประจำหลายมหาวิทยาลัยยังบอกตรงกันว่า วัยรุ่นมักเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตโดยยกสาเหตุการเรียนขึ้นมาก่อน แต่หลังจากพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญแล้ว พบว่าปัญหาได้ผูกโยงกับครอบครัว และชีวิตส่วนตัวอีกหลายด้าน

ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เด็กหญิงวัย 14 ปี ผู้รณรงค์เรื่องการเข้าถึงการรักษาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ได้สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ผ่านการทำงานในสภาเด็กและเยาวชนว่า มีเด็กจำนวนมากที่ประสบปัญหาโรคซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ เพราะความเข้าใจของคนรอบข้าง รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎหมาย มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถเข้ารับการรักษาอาการซึมเศร้าเองได้

ขณะที่มีตัวอย่างให้พบเห็นมากมาย ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็ยังสะท้อนความไม่เข้าใจจากครอบครัวผู้ป่วยเอง หรือสังคมในภาพใหญ่ เช่นที่ นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาจาก ‘มีรักคลินิก’ ที่มีประสบการณ์ทำงานกับโรงเรียนมัธยมหลายโรงเรียน ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ถ้าเป็นความเจ็บปวดทางกาย ผู้ใหญ่อย่างพวกเราจะคอยระมัดระวังไม่ให้เขาบาดเจ็บ แต่พอเป็นความทุกข์ข้างใน เมื่อเขาเรียกร้องจากพ่อแม่แล้วไม่ได้รับการยินยอม เด็กๆ อาจยืนยันว่า สิทธิ์การตายเป็นสิทธิ์ของฉัน พ่อแม่อย่ามาแตะต้อง ผมกังวลครับว่า ถ้าวิธีคิดแบบนี้ยังคงอยู่ วิธีคิดถัดมาของเด็กๆ คือ ฉันไม่หาหมอแล้ว ฉันพร้อมจะตาย และการไม่ได้ตายคือความทรมาน เพราะฉะนั้นทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคมที่มองเรื่องการเข้าถึงการรักษาแบบเดิม จะยิ่งทำให้เขาออกห่างจากหมอหรือนักจิตวิทยาอย่างพวกเรา เพราะพ่อแม่ทำให้เขามองว่าพวกเราน่ากลัว ทั้งที่เรามีหน้าที่ช่วยเหลือเขา”

เพื่อย้ำเตือนว่าสุขภาพจิตไม่ได้เกิดแค่กับเด็กเท่านั้น บทความ ยามเจ็บไข้และอาการป่วยที่ใจของผู้สูงอายุ กับ ผศ.พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล ได้นำเสนอให้เห็นว่า ‘โรคซึมเศร้า’ กลายเป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องเจอ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปหรืออยู่ในวัยเกษียณ โดยมีปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่ปัจจัยทางพันธุกรรม, ปัจจัยทางจิตสังคม เช่น การที่ผู้ป่วยสูงอายุเริ่มมีอาการเครียด โดยความเครียดที่พบบ่อยที่สุดและอาจรุนแรงมากที่สุดคือ การเข้าสู่ช่วงวัยที่สูญเสียคู่ชีวิต รวมถึงปัจจัยเกี่ยวกับการดำรงชีวิตด้านอื่นๆ เช่น การเกษียณ ไม่ได้ทำงาน มีรายได้ลดลง และไม่ค่อยได้เข้าสังคม

ในบทความเรื่อง สุขภาพจิตนั้นสำคัญไฉน ใครว่านักกีฬาเศร้าใจไม่เป็น ก็ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘นักกีฬา’ ที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้า เช่น เนย์มาร์ นักบอลสัญชาติบราซิล เจ้าของค่าตัว 222 ล้านยูโร แห่งทีมปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาประสบปัญหาทางสุขภาพจิต มีปัญหาในการควบคุมความโกรธ โดยเขามักระเบิดอารมณ์อยู่บ่อยๆ เพราะไม่ได้สื่อสารกับคนอื่น โดยเงื่อนไขสำคัญของการประสบสภาวะเช่นนี้ เกิดจากการฝึกฝน ที่ไม่อาจย่อหย่อนต่อการฝึกซ้อมได้

ความกดดันเรื่องสุขภาพอยู่ในระดับสูงขนาดที่พวกเขาไม่สามารถรับประทานอาหารตามใจอยาก เพราะส่งผลโดยตรงต่อเรือนร่างและความแข็งแกร่ง และยิ่งประสบความสำเร็จสูงลิ่ว ราคาค่างวดที่พวกเขาต้องจ่ายก็ไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพ หากแต่ขยับไปไกลถึงจิตใจ เพราะความพ่ายแพ้ย่อมหมายถึงพาดหัวของแท็บลอยด์ยามเช้า และข่าวซุบซิบว่าฝีมือตก

หากนักกีฬามีกายภาพและจิตใจที่ต้องจ่าย ศิลปินก็มีความคิดสร้างสรรค์และอาการป่วยที่อารมณ์ได้เช่นกัน ในบทความเรื่อง ‘Kusama Infinity’ ลายจุด และจุดหมายไร้สิ้นสุด ของ ยาโยอิ คุซามะ บอกเล่าชีวิตของ ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ศิลปินชื่อดังที่ทำงานศิลปะลายจุด ผลงานของเธอโด่งดังผ่านตาผู้คนมากมาย แต่มุมหนึ่งที่หลายคนไม่ได้รับรู้คือเธอป่วย จากแรงเสียดทานของอยุติธรรมทางเพศในวงการศิลปะ จนทำให้เธอตกอยู่ในภาวะเศร้าซึมจนถึงขั้นพยายามปลิดชีวิตตัวเอง ขณะเดียวกันเธอยังค้นพบว่าตัวเองมีอาการของโรค Obsessivecompulsive disorder (OCD) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โรคย้ำคิดย้ำทำ’ เป็นเหตุผลที่ศิลปะของเธอเป็นลวดลายซ้ำๆ ไร้ที่ติและที่สิ้นสุด

นอกจากนี้ บทสัมภาษณ์เรื่อง ศิลปะ โรคจิตเภท และ ‘N01SE.JPG’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก ของ ณณฐ ธนพรรพี ก็ได้นำเสนอความเจ็บป่วยของศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ กับโรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคซึ่งก่อความผิดปกติทางความคิด พร้อมกับอาการหลงผิดและประสาทหลอน จนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของเขาไปชั่วขณะเช่นกัน

 

ทางเลือกและการรักษาที่เราเคยไม่รู้

 

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา อย่างที่กรมสุขภาพจิตระบุไว้ว่า วัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาด้านอารมณ์ กลับได้รับการคัดกรองเข้าสู่การรักษาเพียง 10% เท่านั้น ดังนั้นอีกคำถามที่ขาดไปไม่ได้ เพื่อช่วยให้ปัญหาสุขภาพจิตก้าวพ้นหลุมร่องแห่งความไม่เข้าใจก็คือ เมื่อป่วยแล้วต้องรับมืออย่างไร นอกจากการพบแพทย์ยังมีทางเลือกอะไรบ้าง ซึ่งบทความของ 101 ในปีที่ผ่านมาได้เสนอทางเลือกการรับมือปัญหาสุขภาพจิตไว้หลากหลายด้าน

ทางเลือกแรกที่ใกล้ตัวคือความเข้าใจจากคนรอบข้าง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ก็เป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอว่า ตกลงแล้วสิ่งใดควรพูดหรือไม่ควรพูดกับผู้ป่วยบ้าง ในบทความ เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป ได้ยกเอาคำแนะนำจากบทความเรื่อง ‘โรคซึมเศร้าโดยละเอียด’ ของศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาบอกเล่า พร้อมกับประสบการณ์จริงของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยระบุว่าคนรอบข้างมักจะรู้สึกห่วงผู้ป่วย และไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนา บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน ‘ไม่สู้’ แต่ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่กับตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น และทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์

ส่วนวิธีปฏิบัติที่ฟังดูทำยาก แต่ได้ผลอย่างเหลือเชื่อ คือในช่วงภาวะวิกฤต สิ่งที่ผู้ทุกข์ใจต้องการมากๆ คือผู้ที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งรีบไปให้คำแนะนำโดยที่เขายังไม่ได้พูดอะไร เพราะการได้พูดระบาย เป็นการเปิดโอกาสให้คนรอบข้างได้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ปัญหาหรือสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่าสำคัญคืออะไร

อีกทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตได้มีเครื่องมือติดตัวเพื่อแก้ปัญหา คือวิธีที่เรียกว่า CBT การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม โดย ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดแบบ CBT ได้อธิบายไว้ว่า CBT เป็นการทำจิตบำบัดที่เน้นการพูดคุย ใช้ความคิดและพฤติกรรมของเราเองเป็นเครื่องมือในการออกจากปัญหา แม้จะไม่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตานักในประเทศไทย แต่ CBT ในต่างประเทศได้รับการยอมรับ มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยมากมายที่ต่อยอดไปเป็นโครงการ นโยบาย ทำให้คนเข้าถึงการรักษาสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น โดย CBT จะให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และร่างกาย เช่น ถ้าคิดแบบนี้ ก็จะรู้สึกแบบนี้ พอรู้สึกแบบนี้ ก็จะทำแบบนี้ ดังนั้นถ้าเราปรับตรงความคิดตั้งต้นได้ ความรู้สึกและพฤติกรรมก็อาจจะเปลี่ยนตาม ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไข

อีกทางเลือกที่น่าสนใจในการรักษาสุขภาพจิต คือการใช้ ‘ศิลปะ’ บำบัดจิตใจ ในบทความเรื่อง ศิลปะบำบัด และ เสียงกระซิบจากเจตจำนง ในชีวิตของ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี อธิบายว่าเครื่องมือที่อยู่มานานในประวัติศาสตร์ของมนุษย์อย่างศิลปะ สามารถบอกอารมณ์และความรู้สึกภายในของผู้คนได้ ผ่านการใช้สี การขยับระบาย หรือแม้แต่การมองเห็นสีในชีวิตประจำวัน อย่างที่ครูมอสได้กล่าวว่า “สี คือ สติรู้ หรือ consciousness ผู้รับการบำบัดต้องรับรู้ว่าเขาใช้สีโทนไหน ใช้ยังไง และเมื่อนักบำบัดเห็นว่าสติกับกลุ่มอาการของผู้รับการบำบัดเป็นยังไง ก็ปรุง medicine ของสีไปตามนั้น”

การที่เรารับรู้ปัญหาสุขภาพจิต ทั้งสาเหตุ และทางเลือกในการบำบัดรักษา ส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเรากว่าที่คิด ตัวอย่างหนึ่งของคนที่เผชิญความเสี่ยงจากการพยายามหาทางรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง คือหญิงสาวในบทความเรื่อง ไลฟ์โค้ช หรือ ลัทธิ ? หนทางแสวงสุขที่อาจได้ผลและยังคงน่าสงสัย ที่ทดลองเข้ากลุ่มไลฟ์โค้ชกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีกระบวนการหลายอย่างที่แปลกประหลาด เช่น ให้อ้วก ให้ตะโกนด่าวิญญาณ ซ้ำร้ายไลฟ์โค้ชดังกล่าวยังพยายามขยายกลุ่ม โน้มน้าวให้คนมาเป็นสมาชิก และยังมีผู้นำที่ทุกคนเทิดทูนหลงใหล อย่างที่หญิงสาวคนนี้บรรยายว่า “เหมือนเธอหลงเข้าไปอยู่ในลัทธิ”

ในขณะที่กลุ่มไลฟ์โค้ชนี้มีผู้เลื่อมใสจำนวนมาก เธอกลับขวัญเสียอย่างหนัก และเดินออกจากการอบรมของกลุ่มด้วยความกลัวจับใจ บทความดังกล่าวได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เธอเผชิญ ควบคู่ไปกับความเห็นจาก พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น เพื่อสะท้อนมุมมองเชิงจิตวิทยา และแนะนำข้อควรระวังสำหรับการเข้าร่วมกลุ่มรูปแบบนี้ด้วย

ตัวอย่างและเหตุการณ์มากมายสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่กระแสอีกต่อไป แต่สามารถเกิดขึ้นกับใคร อายุเท่าไหร่ ประกอบอาชีพอะไรก็ได้ และเมื่อพบเข้ากับความเจ็บป่วยทางใจแล้ว การไม่ตระหนักถึงหนทางแก้ไข ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

บทเรียนในปี 2019 ได้ย้ำกับเราแล้วว่า ในอนาคตที่เราหวังให้มันทั้งสดใส เปิดกว้าง และก้าวหน้า เราไม่อาจทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะเมื่อการละทิ้งนั้นเกิดจากความไม่เข้าใจของเราเอง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save