fbpx

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

อาจโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ – มนุษย์พูดคำว่า ‘ตาย’ จนเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต ความตายที่ควรจะเศร้ากลายเป็นเรื่องเดียวกับอารมณ์ขัน “ขำตายแหละ” “เหนื่อยตายเลย” “ไม่กินข้าวเดี๋ยวก็ผอมตายหรอก” “ฉันตายแน่ถ้าไม่มีเขา” ฯลฯ

เราพูดถึงความตายได้อย่างเก่งกาจกล้าหาญ แต่เมื่อความสูญเสียมาเยือนจริงๆ เรากลับต้องใช้เวลามหาศาลเพื่อยอมรับหรือพูดถึงได้โดยไม่ต้องกลั้นน้ำตา

“มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องตาย” สัจธรรมเรียบง่ายที่พูดอีกก็ถูกอีก แต่ดูเหมือนว่าการหาคำตอบเรื่องความตายของมนุษย์ยังไม่สิ้นสุด

ในช่วงที่โรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนมหาศาลไปในเวลาไม่กี่ปี ทำให้ผู้คนตั้งคำถามและเผชิญหน้ากับความตายมากขึ้น ยิ่งข้อจำกัดของการระบาดทำให้เราไม่สามารถจัดพิธีศพเต็มรูปแบบอย่างที่เคยทำได้ และแน่นอนว่าเราไม่สามารถร่ำลาผู้ตายอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งสุดท้ายอย่างที่อยากทำ ยังไม่นับว่ามีคนไร้บ้านหลายคนที่เสียชีวิตอยู่กลางถนนไร้คนเหลียวแล ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตมีเพียงอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้ามาดูแลพวกเขา เรื่องเหล่านี้ยิ่งทำให้คำถามเรื่องความตายดังถี่ขึ้น ปรากฏตรงหน้าชัดขึ้น

เมื่อพิธีกรรมที่เคยทำได้ต้องย่นย่อขั้นตอนลงเพราะโรคระบาด คำถามต่อการมีอยู่ของพิธีกรรมทำศพจึงปรากฏ อารยธรรมมนุษย์ที่สั่งสมมายาวนานกำลังถูกท้าทายหรือจะเปลี่ยนแปลงไปไหม ความตายกับพิธีกรรมเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ อย่างไร

ในวันฟ้าเปิด 101 นัดคุยกับ ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ นักมานุษยวิทยา ที่สวนหน้าบ้านของเขา ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร และเราจะมองความตายด้วยสายตาแบบไหนได้บ้าง

 “การตายของคนคนหนึ่งไม่ใช่แค่ต้นไม้ล้มหรือใบไม้ร่วงลงมา” เสียงพูดของเขาดังฟังชัด ใบไม้หลายใบร่วงลงพื้นแผ่วเบาด้านหลัง

ทำไมมนุษย์ถึงเชื่อเรื่องความตาย ในแง่ที่ว่าพิธีกรรมส่งคนตายเป็นเรื่องสลักสำคัญสำหรับมนุษย์

คำถามนี้ตอบยาก อยู่ที่ใช้มุมมองอะไรในการตอบ นักปรัชญา นักจิตวิทยา นักศาสนา ก็ตอบคนละแบบ และที่ผมกำลังจะตอบก็ไม่แน่ใจว่าเป็นคำตอบแบบนักมานุษยวิทยาหรือเปล่า ส่วนตัวผมสนใจเรื่องผัสสะ มนุษย์ในหลายสังคมรู้สึกว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่า ก็คือธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งคุณจะเรียกว่าระบบนิเวศก็ได้ ในหลายกลุ่มมองว่าระบบนิเวศนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราเห็นทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีโลกที่เรามองไม่เห็นด้วย

ผมยกตัวอย่างชนพื้นเมืองในออสเตรเลียหรือชาวอะบอริจิน (Aborigine) เขามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของโลก มนุษย์ และสัตว์ต่างๆ ว่าบรรพบุรุษคือใคร เขาเคารพธรรมชาติที่ทำให้ชีวิตของคนพื้นเมืองอยู่รอดได้ ไม่มากก็น้อยคือมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นจิงโจ้ ต้นไม้ ภูเขา รูน้ำ ก็อาจจะศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องมีการทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อแสดงความเคารพ หรือต้องทำพิธีทั้งก่อนและหลังฆ่าสัตว์

หรืออย่างคนเมารีที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีจิตวิญญาณ แม่น้ำภูเขามีจิตวิญญาณ มนุษย์เป็นแค่ตัวกระจอกงอกง่อย มีคนที่เชื่อแบบนี้เยอะ เพราะเชื่อมโยงกับเรื่องประสาทสัมผัสของเรา เราได้กลิ่น เห็นภาพ ได้ยินเสียง มีบทความหนึ่งพูดถึงเรื่องกำยานหรือธูปต่างๆ ที่เราใช้ ซึ่งเขาย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เขาบอกว่ากลิ่นของสิ่งที่เอามาทำกำยานมีผลต่อการคิดและสมองของเรา เราจะสัมผัสได้ว่ามีอีกโลกหนึ่งอยู่รอบๆ เรา เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เราสัมผัสได้นั้นสร้างการรับรู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เรามองไม่เห็น เราเชื่อว่าคนเวลาตายก็จะไปอยู่อีกโลกหนึ่ง กลายเป็นผีบรรพบุรุษ ผีที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ผีตายโหงที่อันตราย ผีน้ำ เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่งคือมนุษย์ต้องการคำตอบว่าตายแล้วไปไหน รวมถึงทุกศาสนาด้วย อย่างอิสลามนี่ชัดเจนมาก ถ้าเป็นมุสลิมที่ดี ตายแล้วก็จะไปอยู่กับพระเจ้า หรือชาวคริสต์ที่ตายแล้วก็ไปอยู่กับพระเจ้าบนสวรรค์ ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ซึ่งคิดไม่เหมือนพุทธกับฮินดู

คนที่ไม่ได้เป็นคริสต์หรือมุสลิม เขาก็เชื่อว่ามีโลกของบรรพบุรุษอยู่ คนจีนทำกงเต๊กก็ต้องพายเรือข้ามน้ำ ต้องโยนเงินลงไป เรื่องพวกนี้เกิดจากที่เราเชื่อว่าการไปอีกโลกหนึ่งคือการเดินทาง และการเดินทางไปอีกโลกหนึ่งทำให้เราต้องทำพิธี เพราะจู่ๆ คุณจะเดินไปเลยคงไม่ได้ ต้องมีพิธีให้คนตายไปสู่โลกนั้นได้ และพิธีพวกนี้ก็จะต้องถูกต้องด้วย ถ้าไม่ถูกต้องคุณก็จะกลายเป็นผีตายโหงที่ล่องลอยไปมาและเป็นอันตราย ผมขอใช้คำว่า ‘เป็นโลกที่มองไม่เห็น แต่เราสัมผัสได้’

ในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา มีคนตายจำนวนมาก คนก็กลับมาใคร่ครวญเรื่องความตายกันเยอะ คุณมองความตายในยุคโรคระบาดอย่างไร

พอมีโควิด คนเรามีความเศร้าโศกเยอะ เพราะจู่ๆ คนที่เรารักตาย ในอเมริกาคนตายไป 5 แสนกว่าคน ในโลกตะวันตกเขาบอกว่าความเศร้าโศกเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งอารมณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปทุกชนิด โดยเฉพาะพวกไพรเมต เช่น ลิง ชิมแปนซี กอริลลา ฯลฯ สัตว์ที่ใกล้เคียงกับเรามีความเศร้าโศกหมด

แล้วถามต่อว่าทำไมมนุษย์ถึงเศร้าโศก ผมคิดว่าเรายังตอบคำถามนี้ได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ถ้าตอบแบบแนวสกุลของวิวัฒนาการนิยม (evolutionism) เขาจะบอกว่านี่เป็นผลผลิตของการที่มนุษย์วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ เกี่ยวข้องกับการอยู่รอด เป็นอารมณ์ที่ทำให้เราสามารถปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่มีคำตอบอีกแบบหนึ่งซึ่งตอนนี้นักจิตวิทยาหรือหมอพูดเรื่องนี้กันเยอะ คือพอเรามีความเศร้าโศก เราจะพบว่าเรามีความผูกพัน (attachment) สิ่งนี้เรียกว่า Attachment theory เราผูกพันกับใครบางคนหรืออะไรบางอย่าง เพราะมนุษย์ไม่ได้อยู่คนเดียว มนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม เรามีคนที่เรารัก มีครอบครัว พ่อแม่ เพื่อน เราจึงผูกพันกับใครสักคนหรือกระทั่งกับสัตว์ อย่างตอนนี้ถ้าหมาตายก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีพิธีศพให้หมา เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่มนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น ตอนนี้กว้างกว่านั้นแล้ว

ที่จริงเรื่องนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่เราเพิ่งกลับมาพูด บางทีผมคิดว่าเป็นเพราะมนุษย์มีความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งก็ถือเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง เราขับรถไปเห็นสัตว์ตายอยู่บนถนน เรายังรู้สึกเสียใจ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เพราะเราผูกพันกับบางอย่าง ถ้าจะไปไกลกว่านั้น เราอาจผูกพันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกนี้หรือเปล่า ถ้าตอบแบบนี้ก็แสดงว่าชาวเมารี อะบอริจิน ตอบถูกหมดเลย คือคุณไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ ยังมีอะไรที่กว้างกว่านั้น เพราะฉะนั้นในแง่นี้จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ของมนุษย์เป็นสากล ซึ่งจริงหรือเปล่าไม่รู้นะ เพราะนี่คือการพยายามจะเอาทฤษฎีมาตอบ แต่อย่างน้อยผมเชื่อว่ามนุษย์มีความเศร้าโศก และความเศร้าโศกก็มีผลมากต่อร่างกายตัวเอง และที่สำคัญคือมีผลต่อสังคมด้วย

ความเศร้าโศกทำให้เกิดความซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยตอนนี้ คนซึมเศร้ามากมายเพราะเศร้าโศกจากบางอย่างมา เรื่องนี้สำคัญ ที่น่าสนใจคือเขาบอกว่ามีเรื่องทางจิตวิญญาณด้วย ความเศร้าโศกทำให้คุณไม่เป็นตัวของตัวเอง เวลาคุณเศร้าโศกอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณไปเลย ล่าสุดมีงานวิจัย neuroscience เกี่ยวกับสมอง เขาบอกว่าความเศร้าโศกมีผลกระทบอย่างน้อย 3 อย่างต่อร่างกาย ต่อจิตใจคือเป็นซึมเศร้า และกระทบต่อการทำงานของสมอง โรคที่เรียกว่าเศร้าโศกมีผลกระทบมหาศาลนะ ไม่ใช่เรื่องเล็ก

ความตายไม่ใช่แค่เรื่องโลกที่มองไม่เห็น แต่เป็นเรื่องของความเศร้าโศกด้วย

ความเศร้าจากความตายเป็นเรื่องสากล แล้วเมื่อไหร่ที่พิธีกรรมส่งคนตายขยับมาเป็นรูปแบบชัดเจน และถามเจาะจงต่อไปอีกว่าศาสนาเข้ามามีส่วนในการกำหนดรูปแบบพิธีกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่

การเดินทางไปสู่โลกที่มองไม่เห็นต้องมีพิธีกรรม ผมว่าเริ่มตั้งแต่ตอนนั้นแหละ ซึ่งนานมาแล้วที่คนเริ่มคิดว่าเมื่อมีความตายก็ต้องทำพิธีกรรม และตอนนั้นก็กลายเป็นศาสนาแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่ศาสนาแบบที่เราคุ้นกัน แต่เป็นศาสนาหรือความเชื่อที่เขาเชื่อ เช่นชาวอะบอริจินที่อยู่ออสเตรเลียมาประมาณ 6 หมื่นปีก็มีพิธีกรรมส่งคนตาย

หรือมีการค้นเจอหลักฐานการทำศพอายุประมาณ 225,000 ปีในถ้ำที่เวลส์ เป็นฟันของผู้ชาย 15 คนที่เป็นนีแอนเดอร์ทัล ซึ่งเป็นมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่สาบสูญหายไปแล้ว แสดงว่านีแอนเดอร์ทัลทำพิธีศพก่อนมนุษย์ยุคปัจจุบันอีก แต่รายละเอียดของการทำพิธีกรรมยังไม่ชัดเจน ถ้าเรามองว่านี่คือพิธีศพ แสดงว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมีการรับรู้ว่าฉันรักคนนี้ เขาเสียแล้ว ฉันต้องส่งเขาไปอีกโลกหนึ่งมาสองแสนกว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเราทำพิธีศพ เราไม่สามารถแยกระหว่างพิธีกรรมทางศาสนาหรือไม่เป็นศาสนาได้ เพราะเป็นความเชื่อที่เรามองว่าเป็นศาสนาได้หมด แค่ไม่ใช่แบบศาสนาหลักที่เราเชื่อกัน

กลับไปเรื่องการส่งคนไปอีกโลกหนึ่ง คนตายเคยมีตัวตน คนตายมีคนรัก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำพิธีบางอย่างเพื่อเก็บคนที่เรารัก หรืออย่างน้อยเก็บความทรงจำอันนี้ไว้

ในเอเชียอาคเนย์ ผมไม่แน่ใจว่าพิธีกรรมเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อไหร่ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยก็หลายพันปี มีตัวอย่างที่คนชอบไปศึกษากัน อย่างกลุ่ม ‘โตราจัน’ ในทางใต้ของสุลาเวสีที่เอาศพไปไว้ตามหน้าผา เป็นพิธีศพที่แพงมากเพราะเขาต้องเจาะเข้าไปในหน้าผาแล้วเอาโลงศพเข้าไป ในฟิลิปปินส์ก็แขวนไว้กับหน้าผา พิธีศพคล้ายๆ กัน พิธีพวกนี้ยุ่งยากมากนะเพราะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการทำ

พิธีกรรมนี้ทำให้เฉพาะศพของชนชั้นสูงไหม

ไม่ได้มีแค่ชนชั้นสูง เป็นคนทั่วไปด้วย เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มคนพวกนี้ไม่ได้มีคนเยอะแยะ อย่างมากก็แค่เป็นพันๆ คน

ชาวโตราจันน่าสนใจตรงที่เขาทำพิธีมากกว่าหนึ่งครั้ง หลังจากที่ทำพิธีครั้งแรก หลายปีผ่านไป ศพไม่เหลือแล้ว ก็เอาโครงกระดูกมาแต่งตัวใหม่แล้วทำพิธีครั้งที่สอง กลุ่มโตราจันเป็นกลุ่มคนที่นักมานุษยวิทยาอยากศึกษามาก เพราะรู้สึกว่าแปลก การทำศพครั้งที่สองเราไม่ค่อยเจอ มีแค่กลุ่มโตราจัน

ถ้าเชื่อตามตัวเลขพวกนี้ การทำศพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างน้อยมาแล้ว 3-4 หมื่นปี เพียงแต่เรายังไม่แน่ใจว่าเขาทำศพกันอย่างไร ฝังหรือทิ้งให้แห้ง เพราะเราพบโครงกระดูกในสภาพไม่สมบูรณ์ บางทีก็เจอแค่ฟันหรือนิ้ว แต่แน่นอนว่ามีการทำพิธีแบบจัดการกับศพ ไม่ได้ทำแบบโยนทิ้งขว้าง

ผมคิดว่ามีพิธีศพสำหรับคนทุกฐานะ แต่เราจะรู้ว่าคนมีฐานะอะไรต้องดูสิ่งของที่มากับศพ เช่นถ้ามีแค่หม้อหนึ่งใบก็อาจจะเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าเริ่มมีอะไรแพงๆ เช่น เหล็ก ทอง สร้อย ก็อาจจะรู้ว่าเป็นคนมีฐานะ ไม่ต้องแปลกใจเพราะสังคมแบบนี้มีชนชั้นแน่นอน ไม่ใช่ชนชั้นแบบที่เราเข้าใจนะ แต่เป็นชนชั้นแบบสถานะทางสังคมในแบบของเขา

ล่าสุดมีรายงานชิ้นหนึ่งในบีบีซีที่ไปเจอในหลุมศพของคนที่เห็นเลยว่าร่ำรวย เจอทองเจอเครื่องประดับแพงๆ เขาพูดว่าสังคมแบบนี้มีความเหลื่อมล้ำมานานแล้ว แต่เขาตีความว่าสังคมแบบนี้เริ่มขึ้นเพราะมีลักษณะของการเป็นเมืองมากขึ้น คือมีการกระจายงาน มีการค้า มีช่างต่างๆ มากมาย คนพวกนี้เป็นพ่อค้าที่ร่ำรวย แต่ก็มีหลุมศพที่เราขุดไปแล้วไม่เจออะไรเหมือนกัน อาจจะเจอเศษหม้อสักใบ แถวภาคอีสานนี่เยอะเลย เป็นเศษหม้อธรรมดามาก พวกนี้อายุประมาณไม่เกิน 2,500 ปี คือสมัยยุคเหล็ก เริ่มมีลักษณะเป็นเมืองแบบหยาบๆ เมืองแบบ primary เริ่มมีคูคลอง ก็ไม่แน่ใจว่ามีการแบ่งชนชั้นชัดไหม แต่ถ้าไปเจอพวกเหล็ก สำริด ซึ่งเป็นของแพงสมัยนั้นก็ตีความได้ว่าอาจจะมีชนชั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าคุณจนแล้วจะโดนโยนให้หมากิน มันก็จะโหดร้ายกับมนุษย์มากไปหน่อย เพียงแต่พิธีศพก็จะง่ายมาก เร็วมาก ไม่หรูหรา ไม่แสดงสถานภาพมาก

พอถึงวันที่ศาสนาเข้ามามีส่วนในสังคมที่มีระบบการปกครองชัดเจน พอเป็นแบบนี้จะทำให้พิธีกรรมที่ส่งคนไปสู่อีกโลกหนึ่งเท่าเทียมกันมากขึ้นไหม เช่น สมมติเรานับถือพุทธ พิธีก็เป็นแบบพุทธ ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจนก็ทำพิธีเหมือนกัน

พิธีก็คงคล้ายๆ กัน แต่รายละเอียดในพิธีไม่เหมือนกัน ง่ายๆ เลยคือโลง โลงใครแพง โลงใครถูก ตรงนี้ชัดเจน คุณทำศพกี่วัน รวมถึงการเก็บศพไว้ 100 วัน คุณต้องมีสถานภาพที่ดีพอสมควรถึงจะมีการเก็บศพไว้ 100 วัน หรือคุณพยายามโชว์ใครว่าคุณมีสถานภาพดีพอที่จะเก็บศพไว้ 100 วัน ผมคิดว่ามีรายละเอียดแบบนี้ที่จะแสดงให้โลกรู้ว่าคุณมีสถานะที่สูงกว่าคนอื่น แต่โดยทั่วๆ ไปก็จะคล้ายกัน เช่น มีการสวดศพ 7 วันหรือ 10 วัน มีพิธีเผา

หรืออย่างพิธีศพของคริสต์ก็มีความเท่าเทียมกัน อาจจะเท่าเทียมกว่าพุทธด้วยซ้ำ แต่กลับไปที่เรื่องโลงแพงกว่า ป้ายที่อยู่บนหลุมฝังศพก็อาจจะแพงกว่า รายละเอียดต่างหากที่จะบ่งบอกว่าคนคนนั้นมีสถานภาพอะไร ไม่ใช่แค่เรื่องใครมีพิธีหรือไม่มีพิธี แต่ที่ผมคิดว่าน่าพูดถึงมากกว่าคือช่วงการระบาดโควิดในประเทศเรา มีคนที่ตายไม่มีญาติเยอะมาก คนที่ตายอยู่บนถนน ไม่มีใครรู้จักและไม่รู้จักใคร กู้ภัยต้องเก็บไปวัดแล้วเผา ไม่มีใครมางานศพ มีแต่กู้ภัยมาดูแล

ช่วงโควิดที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตกันมากมาย ซึ่งเยอะมากที่เป็นคนจน สุขภาพไม่ดี ไม่มีญาติพี่น้อง เสียชีวิตอยู่บนถนน เดินๆ มาก็ล้มตาย ผมว่าน่าเศร้า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่อาจจะไม่ได้เพิ่งเกิดกับสังคมไทย แต่เป็นเรื่องในระดับใหญ่พอสมควร ทำให้เราต้องมาตั้งคำถามว่าตกลงแล้วสังคมไทยจะเดินไปอย่างไร จะปล่อยให้คนตายอยู่บนถนนแบบไร้ชื่อไร้หน้าแบบนี้หรือ

สังคมควรรับมืออย่างไรกับการตายบนถนนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นี่เป็นช่วงที่สังคมไทยเศร้าสลดมาก ในแง่หนึ่งต้องโทษว่ารัฐบาลไม่มีความรับผิดชอบ คุณจะบอกว่า “เฮ้ย ช่วยไม่ได้” แบบนี้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นรัฐบาลทำไม สิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกาพูดได้ดีมากตอนรับตำแหน่งคือ พูดถึงคนที่ตายจากโควิด 5 แสนกว่าคน ไบเดนยอมรับว่าคนเหล่านี้มีตัวตน มีใบหน้า มีคนที่เขารัก และคนที่เขารักก็เศร้าโศก แต่รัฐบาลไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้ ไม่เคยพูดว่าขอโทษ ไม่เคยพูดว่าเสียใจ ไม่มีเลย ผมขอพูดสั้นๆ เลยว่าบัดซบมาก คุณไม่รับผิดชอบอะไรเลย ทำเหมือนกับว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คน เหมือนเขาไม่มีตัวตน ไม่มีใบหน้า ไม่มีคนรัก

สิ่งที่น่ากลัวมากคือการตายแบบโดดเดี่ยว ในสังคมไทยเรายังเชื่อว่าการตายแบบโดดเดี่ยวคือการตายโหง ช่วงสองปีที่แล้วมีผีตายโหงในเมืองไทยเยอะมาก ผมนั่งตรงนี้อาจจะมีผีเดินไปเดินมาอยู่ข้างหลังผมก็ได้ ผมคิดว่าคนไทยตอนนี้ไม่มีความเห็นอกเห็นใจแม้แต่กับผี ผมเศร้าสลดมาก อย่างน้อยคนโบราณจะดีจะชั่วเขาก็ยังมีความเห็นอกเห็นใจกับคนตายโหง เช่น ฉันกลัวเธอ ฉันเลยต้องทำบุญให้เธอ เช่น การทำบุญเลี้ยงผี พิธีเทกระจาด ถึงจะเป็นผีที่ไหนไม่รู้ ฉันไม่รู้จักเธอก็ไม่เป็นไร ก็ทำบุญให้เขามีกิน ให้เขาสงบสุข แต่ตอนนี้กลับไม่มีใครทำบุญให้คนที่ตายเพราะโควิดเลย

ผมพูดแบบนี้อาจจะโดนมองว่าเหลวไหล แต่จริงๆ ไม่เหลวไหลนะ สังคมไทยนับวันยิ่งไม่มีความเห็นอกเห็นใจ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา นับวันยิ่งน้อยลง

ย้อนกลับไปเรื่องการทำพิธีของคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยว มีกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัยเข้ามาช่วยและทำพิธีกรรมทางศาสนาให้ สิ่งนี้เราเข้าใจตรงกันว่าเป็นการให้เกียรติผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย อยากชวนคุยตรงนี้ว่าถ้าไม่มีพิธีกรรมทางศาสนาในการจัดการศพ คุณค่าความหมายของผู้ตายจะเปลี่ยนไปไหม อย่างไร

โอ้โห ไม่ได้หรอกครับ พูดตรงๆ ผมไม่เชื่อว่าเราจะไม่มีพิธีกรรม เป็นไปไม่ได้ อย่างที่บอก คุณเคยเห็นคนห่อศพคนตายด้วยหนังสือพิมพ์แล้วโยนลงไปให้หมากินไหม ไม่มี คนทุกคนไม่มากก็น้อยต้องมีคนรัก คนเห็นใจ สมมติว่าจู่ๆ มีคนตายหน้าบ้านใครสักคน ผมคิดว่าต้องมีคนออกมาเรียกให้คนมาทำศพ ต้องมีคนที่มีความเห็นอกเห็นใจหรือสงสารบ้าง การตายของคนคนหนึ่งไม่ใช่ต้นไม้ล้มหรือใบไม้ร่วงลงมา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีพิธีกรรม

ในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นโลกวิสัย (secular) อย่างนิวซีแลนด์ การทำพิธีศพเร็วและสั้นมากเพราะมันแพง แต่ถึงกระนั้นก็จะมีช่วงเวลาที่ทำเพื่อคนตาย แสดงความเศร้าโศก คนมาเจอกันที่บ้านของผู้ตาย คุยกัน เล่าเรื่องตลกโปกฮาเพื่อระลึกถึงคนตาย มีเรื่องเล่าต่างๆ เช่น ไอ้นั่นน่ะ สมัยนั้นเป็นนักบอลนะ เป็นคนแบบนั้นแบบนี้ คือต้องมีเรื่องเล่าเพื่อให้คนที่รักของคนตายนึกถึงความทรงจำที่มีต่อผู้ตาย

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องพระเจ้าก็ได้

ไม่ต้อง ไม่จำเป็น ผมคิดว่ามีในทุกสังคม แม้แต่สังคมที่เคร่งศาสนา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหลังการตายของใครสักคน ความทรงจำเป็นสิ่งสำคัญ คุณจำผู้ตายอย่างไรต่างหาก

ผมไปงานศพเยอะมาก ในฐานะนักมานุษยวิทยา ผมรู้สึกว่าคนที่อยู่ในสังคมไทยไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มไหน ชาติพันธุ์ไหน สิ่งหนึ่งคืองานศพไม่ใช่งานโศกเศร้าและไม่ใช่งานส่วนตัวด้วย อย่างของฝรั่งจะจัดแบบส่วนตัว ทุกคนมาแสดงความเสียใจกัน ผมไปดูงานศพของคนที่อยู่ในสังคมไทย เป็นงานสนุกสนานทั้งนั้น เพราะมันเป็นงานศพสำหรับคนที่ยังอยู่ที่มีความทรงจำเกี่ยวกับผู้ตาย เขาจะเล่าเรื่องตลกโปกฮา เล่าความทรงจำเกี่ยวกับผู้ตาย และความทรงจำเหล่านั้นไม่มากก็น้อยควรจะเป็นความทรงจำที่ดี เพราะคุณจะไปจำความทรงจำที่ไม่ดีทำไม ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องไปจำมันหรอก จริงไหม

ถ้าถามว่าอะไรที่สำคัญเกี่ยวกับพิธีศพ ผมคิดว่าคือการที่คนที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถรักษาความทรงจำที่ดีที่มีต่อผู้ตายไว้ได้ แล้วสำหรับคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีหน้า ไม่มีตัวตน เราควรทำอย่างไร ผมคิดว่าสังคมไม่มากก็น้อยควรจะต้องออกมาพูดว่าคนพวกนี้มีตัวตน มีใบหน้า มีคนรัก เพราะเป็นความเศร้าไม่ใช่แค่ของคนรัก แต่เป็นความเศร้าของทั้งสังคมและประเทศชาติ

ถ้าถามว่าอะไรที่สำคัญเกี่ยวกับพิธีศพ ผมคิดว่าคือการที่คนที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถรักษาความทรงจำที่ดีที่มีต่อผู้ตายไว้ได้ แล้วสำหรับคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีหน้า ไม่มีตัวตน เราควรทำอย่างไร ผมคิดว่าสังคมไม่มากก็น้อยควรจะต้องออกมาพูดว่าคนพวกนี้มีตัวตน มีใบหน้า มีคนรัก เพราะเป็นความเศร้าไม่ใช่แค่ของคนรัก แต่เป็นความเศร้าของทั้งสังคมและประเทศชาติ

อย่างที่คุณพูดว่าถ้าเป็นพิธีศพปกติในสังคมไทยคนจะรื่นเริง มารวมตัวกัน แต่พอเป็นช่วงโควิด พิธีกรรมต้องย่นทุกอย่างไปหมดเลย สิ่งนี้กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคมไหม หรือเป็นแค่ช่วงนี้ เดี๋ยวก็กลับมาเป็นปกติ

ผมคิดว่าพิธีกรรมย่นย่อไปเยอะแล้ว มันสั้นลง โควิดก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่อย่างที่ผมบอกไปว่าเราจะรักษาความทรงจำของเราเกี่ยวกับผู้ตายอย่างไร ในตะวันตกตอนนี้มีการพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะ คือคนที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วเศร้าโศก เราจะช่วยเขาอย่างไร ผมคิดว่ามีสิ่งที่เราทำได้คืออินเทอร์เน็ต มีงานวิจัยบอกว่าครอบครัวหรือเพื่อนฝูงของผู้ตายในอเมริกาจะเขียนถึงผู้ตายในทวิตเตอร์ อาลัยอาวรณ์ หรือมีคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อความสูญเสีย ทำให้อย่างน้อยเรารู้สึกว่าฉันไม่ได้เป็นคนเดียวที่สูญเสีย ยังมีคนอื่นที่เศร้าโศกเหมือนฉันและเขาเห็นอกเห็นใจฉัน ในโลกปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตช่วยได้เยอะ ทำให้คุณมีชุมชน

โครงสร้างพื้นฐานพวกนี้สำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์ตอนนี้ เราอยู่กับมือถือตลอดเวลา รัฐบาลต้องทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ให้ทั่ว เพราะพูดตามตรงว่าเรามีชุมชนเยอะแยะในต่างจังหวัดที่คนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ช่วยแค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเชื่อมคนเข้าหากัน คนที่สูญเสียใครบางคนเพราะโควิดหรืออย่างอื่น จะได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวบนโลกนี้ ยังมีคนอื่นที่เหมือนเราและพร้อมที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจเรา

ในสังคมไทยต้องมีการส่งเสริมให้ทำโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว และทำให้มีความทรงจำต่างๆ เกี่ยวกับผู้คน ดังนั้นไม่ว่าพิธีกรรมจะย่นย่อลงแค่ไหน ไม่สำคัญแล้ว เพราะพิธีกรรมก็เป็นแค่พิธีจัดการศพ แต่หลังจากนั้นเรายังคิดถึงผู้ตายได้หรือช่วยคนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ได้รับผลกระทบจากความสูญเสีย สิ่งนี้สำคัญกว่า

กลับไปที่เรื่องตายอย่างโดดเดี่ยว ผมอาจจะเป็นคนประหลาดที่ชอบเดินเข้าไปในสุสาน มีสุสานหลายที่ในอเมริกาที่ผมไป ดูเงียบ วังเวง แต่สะอาด มีหลุมศพชัดเจน คือมีคนดูแล เพราะพวกนี้ต้องจ่ายเงินอยู่แล้ว มีป้ายชื่อมีรูปต่างๆ ได้รับการดูแลอย่างดี เราไปถึงก็รู้ว่าคนคนนี้เกิดปีไหน ตายปีไหน เป็นลูกใคร เป็นพ่อแม่ใคร แต่ก็จะมีหลุมศพที่ไม่มีชื่อ ลองนึกภาพคุณเดินเข้าไปในสุสานแห่งหนึ่ง จะดูดีแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่ทุกหลุมศพไม่มีชื่อ น่าเศร้ามากนะ คนตายแล้วไม่รู้ว่าเขาคือใคร หนักกว่านั้นคือเป็นสุสานที่ไม่มีใครดูแลเลย ต้นไม้ขึ้นหญ้ารก ดูแล้วน่ากลัวมาก สกปรกมาก คือคนมุสลิมอาจจะบอกว่าไม่น่ากลัว เพราะกุโบร์ก็เป็นแบบนั้น คนมุสลิมอาจจะมีคำตอบอีกแบบหนึ่งสำหรับความตาย แต่ถ้านึกภาพว่าคุณไม่ใช่คนมุสลิมมาเห็น คุณจะรู้สึกว่าน่ากลัวไหม วังเวงไหม เอาแค่เรายังไม่ตายแต่เดินเข้าไป ยังรู้สึกเลยว่าฉันไม่อยากมาที่นี่

เดียวดาย

ใช่ เดียวดาย ตายแบบเดียวดาย ตายโดยไม่มีใครมาหา ไม่มีใครคิดถึง เหมือนผงธุลีอะไรก็ไม่รู้ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมนักประวัติศาสตร์ถึงกลับไปพูดถึงการตายของคนจำนวนมาก คนที่ตายด้วยโรค ด้วยสงคราม หรือด้วยภัยธรรมชาติ เช่นกรณีสึนามิในประเทศไทยหรือสึนามิในญี่ปุ่น ทำไมต้องเอาวันนั้นมาเพื่อระลึกถึงผู้ตาย ก็เพราะผู้ตายเหล่านั้นเคยเป็นคน เคยมีตัวตน อย่างไรมนุษย์เราก็ผูกพันกับคนที่จากไปอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นคุณไม่มีพิธีพวกนี้หรอก สุสานทั้งหลายหรือวีรบุรุษในสงครามก็คงไม่มีหรอก เราผูกพันกับคนอื่นที่จากไปเสมอ

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการตายอย่างโดดเดี่ยวน่าเศร้าสลดมาก ถึงแม้เราจะไม่รู้จักเขาก็ตาม และผมคิดว่านี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราจะต้องกลับไปพูดถึงเรื่องผู้ตายจากโควิดเหมือนที่ประธานาธิบดีไบเดนพูด ต้องมีการทำบางอย่างในบ้านเราบ้าง

แล้วคนไม่มีศาสนาที่อาจจะบอกญาติไว้ว่าถ้าเขาตายไปแล้วไม่ต้องทำพิธีกรรมทางศาสนาล่ะ

ไม่จริงหรอกครับ ผมว่าอย่างไรก็มีการทำ ผมยังไม่เห็นใครที่ไม่มีพิธี แต่อาจจะเป็นพิธีแบบไม่มีศาสนา เช่น เพื่อนฝูงมาเจอกัน รำลึกความหลังกัน เสร็จแล้วก็เอาไปฝัง แต่คุณก็ยังมีพิธี

ในชีวิตเราทุกวันก็มีพิธีกรรมหมดแหละ ในทางมานุษยวิทยา พิธีกรรมไม่ได้หมายความในเชิงศาสนาอย่างเดียว เช่น ทำไมตื่นเช้าคุณต้องกินกาแฟ ไม่ไปกินตอนกำลังจะนอนล่ะ ทำไมคุณต้องกินกาแฟสด กินกาแฟซองสำเร็จรูปไม่ได้ เรามีพิธีกรรมทั้งนั้นแหละ เพียงแต่เราไม่เรียกพิธีกรรมพวกนั้นว่าพิธีกรรม เราเรียกอย่างอื่น อย่างผมตื่นมาก็ต้องกินกาแฟ เปิดดูคอมพิวเตอร์อ่านข่าวตอนเช้า สิ่งที่คุณเรียกว่าวิถีชีวิตนี่แหละที่เป็นพิธีกรรม

พิธีกรรมนี่น่าสนใจ มีข้อเสนอว่าเราสามารถลดทอนความเศร้าโศกด้วยการทำพิธีกรรม (ritual) บางอย่าง เช่น งานวิจัยในอเมริกา เขาบอกว่ามีคนมาช่วยกันล้างรถของเพื่อนที่ตาย ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเพื่อน จะได้คิดถึงเพื่อน เข้ามาในห้องดูรูปของเพื่อน ปัดฝุ่นให้ คือทำให้ความทรงจำไม่ตายด้วยการทำพิธีกรรมในชีวิตประจำวัน แม้แต่การทำความสะอาด นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นในอเมริกา ซึ่งก็น่าสนใจ

ถ้าสังคมเราเป็นโลกวิสัยมากขึ้นเรื่อยๆ ศาสนาสำคัญน้อยลง คิดว่าพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวกับพิธีศพจะหายไปไหม

มันก็จะกลายเป็นพิธีกรรมอย่างที่บอก คือพิธีที่ไม่ใช่ทางศาสนา แต่อย่างไรก็ต้องมีพิธีกรรม กลับไปเรื่องที่คนเถียงกันเยอะคือเรื่องเป็นศาสนากับไม่เป็นศาสนา ผมคิดว่าความเชื่อของคนที่เกี่ยวกับสิ่งรอบข้างอย่างไรก็ไม่ตาย อย่างนิวซีแลนด์ออกกฎหมายรับรองสิทธิของแม่น้ำวังกานูอิว่ามีสถานะเป็นบุคคลและมีจิตวิญญาณ

ถามหน่อยว่าในทางกฎหมายคุณว่าประหลาดไหม แต่ผมว่าไม่ประหลาดหรอก เพราะนิวซีแลนด์เขายอมรับความเชื่อ ความคิด และโลกทัศน์แบบเมารี ว่ามนุษย์มีอะไรมากกว่าที่เห็น มีจิตวิญญาณที่ไม่ว่าคุณจะเรียกว่าผี โลกที่มองไม่เห็น หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันมี และรัฐบาลยอมรับ นักกฎหมายยอมรับ รัฐสภายอมรับออกมาเป็นกฎหมาย ความเชื่อพวกนี้ในที่สุดอาจจะไม่ได้เรียกว่าศาสนา แต่อยู่บนพื้นฐานของความคิดบางอย่าง

ผมขอยกตัวอย่างอีกอัน คุณคิดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นศาสนาไหม คนอื่นอาจจะบอกว่าไม่เป็น แต่ผมว่าเป็น และสำหรับผมสิทธิมนุษยชนเป็นศาสนาที่น่าเลื่อมใสด้วย เป็นศาสนาที่มนุษย์ทุกคนเท่ากันโดยไม่สนใจเลยว่าคุณสีผิวอะไร ไปไกลกว่านั้นอีกก็เรื่องเพศหลากหลาย หลายศาสนายังกีดกันเพศหลากหลาย แต่ศาสนาสิทธิมนุษยชนไม่กีดกันนะ ไปไกลกว่าศาสนาอื่นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นอย่ามาเสียเวลาบอกว่าอันนี้เป็นหรือไม่เป็นศาสนาเลย ถ้าเรายอมรับว่าหลักการนี้เหมาะสมสำหรับเราที่จะอยู่ร่วมกันได้แบบสันติสุข เคารพกัน เท่าเทียมกันอย่างน้อยในหลักการ โดยมีกฎหมายรองรับ สำหรับผมโอเคเลย

ส่วนตัวแล้ว ทำไมคุณจึงสนใจเรื่องความตาย

ผมสนใจเรื่องความตายมานานแล้ว เพราะก็เป็นส่วนหนึ่งของมานุษยวิทยา เรื่องพิธีศพและความตายเป็นเรื่องที่ผมเรียนมาด้วย แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นความสนใจส่วนตัว เพราะตอนผมเรียนโบราณคดี ออกภาคสนามครั้งแรกตอนอายุ 20 ปี ไปงานศพครั้งแรกที่บ้านเก่าที่กาญจนบุรี เขาเผาศพกันกลางแจ้งเลย เอาโลงศพมาสุมไฟ เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นการเผาศพแบบกลางแจ้ง ทั้งตกใจ แปลกใจ และอยากรู้อยากเห็นปนกันไป ตอนนั้นเห็นสัปเหร่อเมา ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสัปเหร่อถึงเมา ถ้าผมเป็นสัปเหร่อผมก็คงเมา เพราะถ้าฉันต้องทำอะไรแบบนั้นทุกวันแล้วมีสติอยู่ตลอดเวลา ฉันเป็นบ้าแน่ แต่เขาก็ไม่ได้เมาแบบทำงานไม่ได้นะ

ผมคิดว่ามนุษย์พยายามหาคำตอบมาอธิบายเกี่ยวกับความตายเพื่อให้คนเรากลัวความตายน้อยลง และคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ตอนนี้ที่ว่าร่างกายตายแล้วหมดไปมันไม่เวิร์ก ผมเคยเขียนถึงเรื่องคุณ Elaine Pagels ศาสตราจารย์ด้าน Early Christianity ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ลูกชายเขาอายุแค่ 10 กว่าขวบเสียชีวิต และจู่ๆ สามีก็เสียชีวิต เขาเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนาเลย แต่พอสามีเสียชีวิต เขาไปถามหมอว่าทำไมสามีตาย หมอก็ตอบแบบทางการแพทย์ว่าเพราะร่างกายหยุดฟังก์ชันแล้ว เขาบอกว่าเป็นคำอธิบายที่ไม่อยากได้ยิน ก็เลยกลับไปสนใจอีกโลกหนึ่งคือโลกที่มองไม่เห็น และกลับไปอ่านเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เขียนหนังสือออกมาตั้งหลายเล่ม โด่งดังมาก และเขาก็ไปนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เขาไม่ได้บอกว่าเชื่อศาสนาอะไร แต่ก็มีศาสนา และเชื่อว่ามีอีกโลกหนึ่งที่จะทำให้ตัวเองสงบได้ สามารถรับมือกับความเศร้าโศก ทั้งการสูญเสียลูกชายและสามีได้

คิดดูว่านี่ขนาดศาสตราจารย์นะ ผมเลยคิดว่าเรื่องความตายสำคัญมาก เราทุกคนต้องเจอ และมนุษย์ทุกคนก็ต้องหาคำตอบ หาคำอธิบายว่าถ้าเราตายแล้วจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวผมไม่มีคำตอบ แต่การหาคำอธิบายไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นการเดินทางเหมือนกัน ผมก็เดินทางของผมไปเรื่อยๆ

คุณเคยลองจินตนาการภาพพิธีศพของตัวเองไหม และถ้าเคยอยากทำแบบไหน

คือเราก็โตในพุทธศาสนานะ ถูกปลูกฝังมาให้เชื่อนู่นเชื่อนี่ แต่การที่ผมอยู่กับมานุษยวิทยามาตั้งแต่อายุ 19 ปีจนตอนนี้อายุ 65 ก็ 40 กว่าปีแล้ว ไม่มากก็น้อยมันกัดกร่อนสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาตลอด ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองเชื่อในคำอธิบายแบบที่คนไทยเชื่อกันหรือคำอธิบายในแบบของพุทธศาสนาไหม เพราะฉะนั้นผมก็รู้สึกว่า เออ ถ้าตายก็คงตาย ร่างกายคงจบไป ส่วนจะมีอะไรอย่างอื่นต่อไหม ผมก็ตอบไม่ได้

ง่ายที่สุดสำหรับผม ถ้าร่างกายจบไปแล้วก็คงจะบริจาคร่างกายให้ใครก็ได้ คุณจะเอาไปทำอะไรก็เอา ผมว่าดีนะ อย่างน้อยก็มีประโยชน์ ผมตายไปแล้วคุณจะเอาผมไปฝัง เผา เอาไปห่อกระดาษทิ้ง ผมจะไปรู้สึกอะไรล่ะ ถึงคนจะบอกว่าทำแบบนั้นจะไม่มีสถานภาพ ใครแคร์ ผมตายไปแล้ว ผมไม่ค่อยเชื่ออะไรแบบนั้นเท่าไหร่

ถ้าผมบอกใครได้ก็คงจะบอกว่าอย่ามาสนใจเลย อยากทำอะไรก็ทำ แต่ว่าคนที่ยังอยู่เขาไม่ทำแบบที่ผมบอกหรอก เพราะว่าเราก็มีคนรัก ยกเว้นว่ามีคนเกลียดผมเยอะ อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ (หัวเราะ) อย่างน้อยผมก็คิดว่ามีคนรักผมชอบผมแหละ เขาคงไม่ทำแบบที่ผมบอกให้ทำหรอก ยกเว้นคุณจะเป็นมนุษย์ที่คนเกลียดมากอย่างฮิตเลอร์หรือสตาลิน ที่คนอยากจะจับมาแถเนื้อสักร้อยชิ้น อันนั้นก็อีกเรื่อง

ช่วงหลังมีการพูดถึง Good death หรือการตายที่ดีกันมากขึ้น – การตายที่ดีเป็นอย่างไร

Good death ค่อนข้างเป็นคำใหม่ ถ้าเข้าไปดูในคำนิยามของตะวันตก Good death เป็นการทำให้การตายสร้างความเจ็บปวดให้น้อยที่สุดต่อคนไข้และคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่สมาชิกในครอบครัว พี่น้อง คนรู้จัก หรือคนรัก แต่ยังรวมถึงคนดูแลคนไข้ด้วย สมมติคนไข้นอนติดเตียงแล้วตาย แล้วมีพยาบาลดูแลมาเป็นเดือนๆ ไม่มากก็น้อยเขาต้องมีความผูกพันกัน เพราะฉะนั้น Good death จะต้องช่วยให้คนพวกนี้เจ็บปวดน้อยที่สุด ทุกข์ทรมานน้อยที่สุด ด้วยกระบวนการต่างๆ อย่างเช่นอินเทอร์เน็ตที่ผมพูดไป

Good death ไม่ใช่แค่คนที่เสียชีวิตจากโควิดนะ แต่รวมถึงคนไข้ติดเตียง คนไข้มะเร็ง คนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังแล้วเสียชีวิต คนที่เสียชีวิตด้วยความเจ็บปวดต่างๆ ประเด็นเรื่อง Good death ก็เข้ามาเกี่ยวด้วย ตอนนี้ในโลกตะวันตกพูดถึงเรื่องนี้เยอะ เพราะไม่ใช่แค่การพูดถึงคนที่ตายเท่านั้น แต่กำลังพูดถึงคนที่ยังอยู่ด้วย เขาพยายามทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่รู้สึกว่าการตายและการจากไปเป็น Good death อย่างเช่นอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยได้ไหม การสร้างความทรงจำต่างๆ ช่วยได้ไหม

สิ่งสำคัญคือไม่มากก็น้อยรัฐบาลต้องสร้างชุมชนให้คนที่เกี่ยวข้องกับคนตาย ให้เขารู้สึกว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ชุมชนที่ว่าอาจจะเป็นชุมชนในอินเทอร์เน็ตหรือชุมชนในชีวิตจริงก็ได้ อย่างเช่นทุกเดือนที่โรงพยาบาลนี้มีจัดนัดพบกันหรืองานระลึกถึงผู้ตาย ในรายละเอียดผมไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร แต่ในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุน อาจจะให้เอ็นจีโอทำก็ได้ ให้มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือสื่อทำก็ได้ แต่อย่างน้อยรัฐต้องสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ เช่น เรื่องการเงิน เพื่อให้คนที่ยังอยู่เจ็บปวดน้อยที่สุด อย่างคนไข้ติดเตียงหรือคนไข้ที่เป็นมะเร็ง ผมคิดว่าเมืองไทยมีเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่เฉพาะครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง แต่ยังมีคนที่ดูแลคนไข้ด้วย

ผมไม่รู้ว่ามีงานวิจัยไหม อาจจะมีในโลกตะวันตก คำถามที่น่าตกใจคือ พยาบาลหรือหมอที่ต้องอยู่กับความตายนานๆ เขามีผลกระทบไหม ผมว่ามีผลกระทบทางด้านจิตวิทยาเยอะมาก หมอกับพยาบาลจำนวนไม่น้อยเป็นซึมเศร้า แล้วจะให้เขาทำอย่างไร กินยาเหรอ ตัวผมไม่มีคำตอบ และสังคมตะวันตกซึ่งก้าวหน้ามากก็อาจยังไม่มีคำตอบ แต่เราต้องพยายามช่วยกันในเรื่องนี้

ที่สุดแล้ว พิธีกรรมของความตายเป็นเรื่องของคนอยู่มากกว่าคนตาย?

นี่คือเรื่องที่ผมอยากจะย้ำ เราอย่าไปมองว่าแค่ความตายแล้วจบ ความตายไม่จบหรอก ถ้าจะพูดเหมือนในหนังหรือวรรณกรรม ความตายเป็นแค่การเดินทางผ่านอะไรอีกอย่างเท่านั้นเอง ไม่ใช่การเดินทางแค่ของคนที่ตายนะ แต่เป็นของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย คุณจะเดินทางจากความเจ็บปวดและความโศกเศร้าไปสู่เส้นทางที่โศกเศร้าน้อยลง เจ็บปวดน้อยลง เข้าใจชีวิตในความเป็นจริงมากขึ้นอย่างไร สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ก็เป็นการเดินทางที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง


รับชมสารคดี ‘The Last Journey พิธีแห่งความตาย’ ได้ที่นี่

YouTube video

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save