fbpx
เมื่อโพลบอกว่า..."วาเลนไทน์ 2562 วัยรุ่นรักนวลสงวนตัว"

เมื่อโพลบอกว่า…”วาเลนไทน์ 2562 วัยรุ่นรักนวลสงวนตัว”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ในช่วงเวลาสักสี่ห้าปีก่อน สถาบันต่างๆ มักไปสำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันลอยกระทง และ วันวาเลนไทน์ แม้ผู้เขียนจะยังไม่ได้ระบุว่าเป็นการสำรวจพฤติกรรมอะไร แต่เชื่อว่า แค่ได้เห็นชื่อเทศกาล ความทรงจำระยะสั้นของหลายๆ คนน่าจะทำให้ร้องอ๋อว่า เรากำลังพูดถึงการสำรวจพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์

‘เทศกาลวันเสียตัว’ หลายคนเรียกอย่างนั้นราวกับว่าการ ‘เสียตัว’ เป็นเรื่องเลวร้าย เรามีผลสำรวจว่าวัยรุ่นจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในเทศกาลเหล่านี้ มีแม้กระทั่งการจัดลำดับว่าเทศกาลไหนมีสถิติเยาวชนเสียตัวมากที่สุด จนกลายเป็นภาพจำของคนในสังคมบางส่วน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถิติในลักษณะที่ฉายภาพ ‘ปรากฏการณ์’ ให้กลายเป็น ‘ปัญหา’ ก็เริ่มซาลง ที่ใช้คำว่า ‘ซา’ เพราะไม่ได้หลีกหนีประเด็นการมีเพศสัมพันธ์เสียทีเดียว เพียงแต่ย้ายไปถามแบบอ้อมแอ้ม และดูจะให้เกียรติสิทธิบนร่างกายของผู้คนมากขึ้น ด้วยการถามเชิงเหตุผลและความคิดเห็นแทน

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าการผลิตซ้ำเพศวิถีบางอย่างในสังคมจะหายไป

ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างให้เข้ากับบรรยากาศของวันนี้เสียหน่อย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาเปิดเผยรายงานของกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสวนดุสิตโพล จากการไปสำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 7,436 คนทั่วประเทศ ในหัวข้อ ‘วันแห่งความรัก’

รายงานนี้มีเรื่องราวระหว่างบรรทัดที่น่าสนใจไม่น้อย แม้จะไม่มีการถามเพื่อโจมตีคนที่มีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง แต่แนวทางคำถาม และสิ่งที่พบเห็นจากคำตอบ ก็บ่งบอกถึงสภาพแนวคิดเรื่องเพศของประเทศเราไว้ด้วยตัวของมันเอง

หนึ่งในผลการสำรวจที่น่าสนใจคือการสอบถามความเห็นว่า การแสดงออกของวัยรุ่นยุคใหม่ในเรื่องความรัก การบอกรักที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามเป็นอย่างไร? พบว่า

ร้อยละ 59.33 ตอบว่า เยาวชนวัยเรียนที่มีความรักต้องใจแข็ง อย่าใจอ่อน ให้ใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ และรักนวลสงวนตัว

ร้อยละ 52.23 ตอบว่า คนในครอบครัวต้องรับรู้เสมอ ต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่

ร้อยละ 42.33 ตอบว่า ซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว

ร้อยละ 37.99 ตอบว่า ไม่ชิงสุกก่อนห่าม

ร้อยละ 30.97 ตอบว่า เข้าตามตรอก ออกตามประตู

และร้อยละ 29.85 ตอบว่า ห้ามใกล้ชิดจนเกินงามทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

‘รักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ห้ามใกล้ชิดเกินงามทั้งในที่ลับและที่แจ้ง’ เป็นคำตอบของเด็กและเยาวชนเมื่อได้ยินคำว่า ‘ประเพณีอันดีงาม’ ชุดคำเหล่านี้ที่โดดออกมาให้เห็น สะท้อนนัยยะที่ว่า ‘เพศสัมพันธ์คือเรื่องไม่เหมาะสม’ เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อให้เป็นไปตาม ‘ประเพณีอันดีงาม’ หรือเพศวิถีของสังคมนี้ ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วด้วยผู้ถามคำถามเอง และคำถามข้อต่อไปจากการสำรวจจะทำให้เราเห็นรหัสเพศวิถีที่ถูกกำหนดไว้แล้วชัดขึ้น

จากการสอบถามว่า หากแฟนหรือคนรัก ขอมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ จะใช้คำพูดปฏิเสธอย่างไร?

คำตอบอันดับ 1 คือปฏิเสธไปตรงๆ ว่ายังไม่พร้อม/ยังไม่ถึงเวลา

อันดับ 2 ขอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมก่อน

อันดับ 3 ควรรอให้เราแต่งงานกันก่อน

อันดับ 4 ดูกันไปก่อนนะ

อันดับ 5 ถ้าเธอรักเราเธอต้องรอได้

และอันดับ 6 ถ้ารักกันจริงอย่าทำแบบนี้

ไม่ว่าจะตอบอย่างไร แนวทางของคำถามข้างต้นนั้นไม่ได้เป็นการรวบรัดไปก่อนแล้วหรือว่า หากอยู่ในสถานการณ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจหรือต้องการมีเพศสัมพันธ์ เยาวชนจะต้องปฏิเสธ

หากคุณคิดว่าคำตอบทั้งหมดของเยาวชนดูเหมือนเรื่องน่ายินดีแล้วล่ะก็ เราลองมาพิจารณาวิธีคิดแบบ ‘หลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์’ จากรายงานการสำรวจ ควบคู่ไปกับชุดข้อมูลถัดไปก็แล้วกัน

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าในปี 2556 ไทยเคยมีปัญหาแม่วัยรุ่นสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นที่ 2 ของโลก และแม้ในปัจจุบันจะมีการแก้ปัญหามากมายจนอัตราแม่วัยรุ่นน้อยลง แต่สถิติก็ยังคงสูงเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ จากการสำรวจบ้านพักเด็กและครอบครัวใน 58 จังหวัดทั่วประเทศในปี 2561 จัดเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแม่วัยรุ่นอายุระหว่าง 10 – 20 ปี จำนวน 11,012 คน พบว่า แม่วัยรุ่นร้อยละ 53.38 มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตอนอายุ 16-18 ปี รองลงมาคือร้อยละ 32.08 มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตอนอายุ 13-15 ปี แสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในช่วงอายุที่ต่ำมาก

อีกสถิติหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้จำนวนของเด็กหรือช่วงอายุที่เด็กมีเพศสัมพันธ์คือ รายงานผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มนักเรียนประเทศไทย ปี 2560 สำรวจโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก มีวัยรุ่นที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยถึงร้อยละ 50 ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการท้องไม่พร้อม

ไม่ว่าจะเทียบเคียงอย่างไร รายงานของกระทรวงวัฒนธรรมก็ช่างสวนทางกับจำนวนปัญหาเรื่องเพศในวัยรุ่นที่สังคมเผชิญอยู่ และหากย้อนไปดูรายงานของกระทรวงวัฒนธรรมในปีก่อน สองปีก่อน หรือสามปีก่อน ดูเหมือนว่าเพศวิถีแบบรักนวลสงวนตัวตาม ‘ประเพณีอันดีงาม’ จะถูกส่งต่อโดยแอบซ่อนไว้ระหว่างบรรทัดของผลสำรวจอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันกับที่สถิติปัญหาเรื่องเพศในวัยรุ่นยังคงเรื้อรังต่อไปทุกปี

ถ้าการส่งเสริมให้เยาวชนปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ และการผลักดันค่านิยมแบบรักนวลสงวนตัว เป็นทางออกของปัญหาเรื่องเพศจริง สถิติที่เทียบเคียงกันคงไม่สวนทางกันเช่นนี้ใช่หรือไม่

และการที่เด็กและเยาวชนรู้ว่า การมีความรักให้อยู่ในกรอบของ ‘ประเพณีอันดีงาม’ ต้องทำอย่างไร ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเด็กและเยาวชนเข้าใจว่าเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเป็นอย่างไรไม่ใช่หรือ

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนคงต้องขอทิ้งท้ายบทความด้วยการยกอันดับหนึ่งของ ประโยคหรือคำพูดในวันวาเลนไทน์ ที่ตั้งใจบอกรักพ่อแม่และคนรัก จากผลการสำรวจนี้มาอวยพรแก่ผู้อ่านเสียหน่อย

ประโยคที่ว่า…“ผม/หนู รักพ่อกับแม่ จะเป็นคนดี ตั้งใจเรียน ครับ/ค่ะ”

เกี่ยวอะไรกับบทความงั้นหรือ? ระดับความเกี่ยวข้องคงพอๆ กับที่ ‘ปฏิเสธเพศสัมพันธ์ = ประเพณีอันดีงาม’ นั่นแหละ

สุขสันต์วันแห่งความรักท่านผู้อ่านทุกคน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save