fbpx
เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

 

เมื่อคนใกล้ตัวของเราอยากจากโลกนี้ไป ไม่ง่ายเลยที่จะห้ามตัวเองไม่ให้พูดว่า ‘อย่าคิดมาก’ เพราะเราไม่ต้องการให้ความคิดใดมาทำร้ายหัวใจของเขาอีก และไม่ง่ายเลยที่จะไม่ขอร้องให้เขา ‘อยู่กับเราก่อน’ เมื่อกลัวจับใจว่าโลกของเราจะไม่มีเขาอีกแล้ว

ปัจจุบัน เราอาจเห็นบทความเรื่องการรับมือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือคำต้องห้ามที่ไม่ควรกล่าวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์จริง หลายคนกลับทำตัวไม่ถูก เพราะกังวลกับข้อห้ามที่มีไม่น้อย หรือในบางครั้งข้อปฏิบัติเหล่านั้นก็ไม่สามารถอยู่ใน ‘สมอง’ ตอนที่ใช้ ‘หัวใจ’ รับฟัง

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทฤษฎี ข้อแนะนำที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์จริง ก็ไม่ควรถูกแยกออกจากกัน บทความนี้จึงยกเอาคำแนะนำจากบทความเรื่อง ‘โรคซึมเศร้าโดยละเอียด’ ของศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาบอกเล่าไปพร้อมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของบุคคลสามคน ที่คุ้นเคยกับช่วงเวลา ‘อยากตาย’ ในต่างมุม

 

เรื่องแค่นี้ = พอแค่นี้

 

สาเหตุของปัญหาและอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางครั้งปัญหาของผู้ป่วยอาจมาจากเรื่องทั่วไป ที่คนภายนอกไม่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ ซึ่งความคิดอยากตาย ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกคน แต่อารมณ์และความคิดที่เปลี่ยนแปลงจากโรคซึมเศร้า อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอยากพ้นจากปัญหา ความทุกข์ หรือสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่ จนเริ่มอยากจบชีวิตตัวเองได้

คำแนะนำสำหรับญาติและคนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ระบุไว้ว่า ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ป่วย โดยไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนา บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน ‘ไม่สู้’ ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ด้วย ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่กับตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น และทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์

หญิงสาวนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่ง ที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า แม้เธอจะได้รับยานอนหลับ และยาปรับสารเคมีในสมองจากจิตแพทย์ แต่อาการของโรคซึมเศร้าและความทุกข์ที่วนเวียนรอบๆ ไม่ได้จางหายไปรวดเร็วเหมือนการกลืนยา อาการนี้เคยนำเธอไปสู่จุดที่ต้องการจบปัญหาทั้งหมดด้วยความตาย

“เราเล่าให้เพื่อนสนิทฟังทุกอย่างว่าเรากำลังเป็นอะไร รู้สึกยังไง เพื่อนคนหนึ่งฟังแล้วถามว่า ทำไมไม่รักตัวเอง ทำไมไม่คิดถึงคนที่รักเราไว้ เรารู้นะว่าเขาพูดเพราะเป็นห่วงและรักเรา แต่เราไม่สามารถคิดอะไรดีๆ หรือคล้อยตามเขาได้เลย มันยิ่งกลายเป็นความรู้สึกกดดันว่า เรากำลังทำให้เขาเครียดและไม่พอใจ”

“ความไม่อยากอยู่ของเรามันไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ มันเป็นความคิดที่ค่อยๆ ชัดเจน และเป็นทางเลือกที่ถูกเตรียมการมาอย่างดี” คืออีกคำบอกเล่าจากครีเอทีฟหนุ่มที่มีภาวะซึมเศร้า เขาไม่ได้พูดประโยคดังกล่าวด้วยน้ำเสียงอิดโรย หรือสั่นไหว เราอาจดักจับความเศร้าจากน้ำเสียงของเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ความหมายที่ส่งผ่านประโยคข้างต้นนั้น กลับทั้งหนักแน่นและชัดเจน ยืนยันความ ‘เอาจริง’ ของเขาได้ดี

“เราเลือกที่จะพูดความคิดแบบนี้แค่กับคนที่รู้ว่า เขาจะเคารพเรามากพอ คนที่จะไม่พูดกับเราทำนองว่า ‘เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น’ ทั้งๆ ที่เราไม่มีทางเลือกอื่นให้ปัญหา หรือไม่มีทางออกให้ความทุกข์เลย”

ในมุมกลับกัน หากเราเป็นคนสนิทกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และต้องอยู่ในฐานะของผู้รับฟัง เราอาจต้องเผชิญสถานการณ์ที่บีบคั้นไม่น้อยไปกว่ากัน หญิงสาวอาชีพอาร์ตไดเร็กเตอร์ที่มีคนสนิทป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บอกความรู้สึกในด้านของคนรับฟังว่า “เวลาเราต้องฟังเขาบอกว่าอยากตายบ่อยๆ เราเคยโมโหจนพูดกับเขาว่า ‘แล้วจะให้ทำยังไง’ อารมณ์ของคนฟังมันควบคุมยากมากๆ แต่ก็ยังต้องคอยตั้งสติว่าควรจะพูดอะไร ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ดีทุกครั้งหรอก”

“จริงๆ ความโมโหเหล่านั้นก็มาจากความเป็นห่วงนั่นแหละ นอกจากโมโหเขาแล้ว ก็โมโหตัวเองที่พูดอะไรให้เขารู้สึกดีขึ้นไม่ได้เลย”

 

รับฟัง = ค่อยเป็นค่อยไป

 

ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไร ก็ดูจะกระทบกระเทือนใจของผู้ป่วยไปเสียหมด ‘การฟัง’ คือไม้ตายชั้นเยี่ยมที่จะช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยและญาติได้

ตามคำแนะนำของศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช วิธีปฏิบัติที่ฟังดูทำยากแต่ได้ผลอย่างเหลือเชื่อ คือในช่วงภาวะวิกฤต สิ่งที่ผู้ทุกข์ใจต้องการมากๆ คือผู้ที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งรีบไปให้คำแนะนำโดยที่เขายังไม่ได้พูดอะไร

การที่เขาได้พูดระบายออกมา เป็นการเปิดโอกาสให้ญาติได้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ปัญหาหรือสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่าสำคัญคืออะไร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่ญาติเคยคิดมาก่อนก็ได้ การที่ญาติมีท่าทีสบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วย ขณะเดียวกันก็ไม่กระตุ้นหรือคะยั้นคะยอเกินไป เมื่อสังเกตว่าเขายังไม่พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายลง ไม่เครียดไปตามญาติ หรือรู้สึกว่าตนเองแย่ที่ไม่สามารถทำตามที่ญาติคาดหวังได้

“เวลาเราไปหาจิตแพทย์ เขาจะไม่เร่งรัดเรา จะปล่อยให้เราพูด ถามความเห็นเราไปเรื่อยๆ เมื่อเขาสังเกตว่าเรื่องไหนที่เป็นตัวกระตุ้นความเศร้าของเรา เขาก็จะค่อยๆ ถามต่อ ไม่ด่วนให้คำแนะนำเร็วไป หมอเคยทั้งจับมือเราตอนที่เริ่มร้องไห้หนัก หรือบางครั้งก็ยื่นทิชชู่ให้ การกระทำเล็กๆ ทำให้เรารู้สึกได้รับความใส่ใจมาก

“แต่ชีวิตจริงคนรอบข้างเราไม่ใช่หมอ และไม่ควรคาดหวังว่าเขาจะทำได้อย่างหมอ แต่เรามีเพื่อนคนนึงที่เลือกวิธีปฏิบัติกับเราแบบสบายๆ พูดกับเราด้วยคำพูดง่ายๆ อย่าง ‘ไม่เอาสิ ยังไม่ได้ไปกินขนมร้านนั้นด้วยกันเลย เคยบอกว่าอยากไปไม่ใช่หรือ’ คำพูดแบบนี้ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจจะเข้าใจว่าฟังดูโลกสวยเกินไป แต่ตอนที่มีอาการซึมเศร้า มันกลับทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” นักศึกษาปริญญาโทกล่าว

“บางทีเหตุผลที่ทำให้เรายังไม่ไป ก็เป็นความคิดง่ายๆ เช่น มีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำอีก ถ้าเรายังอยู่แล้วจะได้เห็นอะไรบ้าง เช่น เรื่องเล็กๆ อย่างการรอดูซีรีส์ Game of Thrones ซีซั่นต่อไป (หัวเราะ) ก็ทำให้เรารอคอยวันพรุ่งนี้ หรืออาจจะคอยยาวๆ ไปยันปีหน้าเลยก็ได้ ส่วนวิธีที่คนรอบข้างปฏิบัติต่อเราแล้วมันเวิร์ค บางครั้งก็เป็นคำพูดง่ายๆ อย่างแค่ถามว่า ‘อยากพูดอะไรไหม’ ไม่คาดคั้นว่ากำลังรู้สึกอะไร แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้เราอยู่คนเดียว” ครีเอทีฟหนุ่มกล่าว

อาร์ตไดเร็กเตอร์ที่มีคนสนิทเป็นโรคซึมเศร้าเล่าว่า บางครั้งการที่ญาติและผู้ป่วยละทิ้งเรื่องหนักๆ ไว้ ปล่อยให้บทสนทนาเรื่องสัพเพเหระเดินหน้าไปก่อน จะทำให้ทั้งญาติและผู้ป่วยผ่อนคลายกว่า

“มันอาจดูเหมือนไม่ใส่ใจที่ไม่เลือกถามแต่แรกว่า โอเคไหม กำลังรู้สึกแย่หรือเปล่า แต่มันไม่ใช่การทิ้งเขานะ ตราบใดที่เรายังชวนเขาคุยและตอบรับกันไปเรื่อยๆ ให้ความผ่อนคลายได้ทำงาน แล้วเราก็ค่อยๆ ถามเขาในท้ายวันว่า วันนี้เป็นยังไงบ้าง ถามกว้างๆ เพื่อให้เขาได้พูดสิ่งที่เขาอยากพูด”

“บางครั้งการที่เราถามเขาว่า ‘รู้สึกดีขึ้นไหม’ หรือมุ่งตรงไปที่ประเด็นปัญหาเลย อาจเป็นการกดดัน และพาเขากลับไปยังความรู้สึกนั้นโดยไม่รู้ตัว”

เธอยังบอกอีกว่า การที่ต้องสรรหาคำพูดสวยหรู มันทำให้ทั้งเธอและคนป่วยเหนื่อย เมื่อเธอต้องพูดสิ่งเดิมซ้ำไปซ้ำมาโดยที่เขาไม่ได้ดีขึ้น พอผ่านไปนานเข้า เธอก็เริ่มรู้สึกไม่กล้าที่จะพูดว่า ‘เดี๋ยวมันจะดีขึ้นนะ’ ‘อยู่กับปัจจุบัน’ ‘พรุ่งนี้จะดีขึ้นแน่นอน’ ไปเอง

“เราจะไม่ค่อยพูดคำว่า ‘สู้ๆ นะ’ ไม่กล้าแม้แต่บอกให้เขาอดทนด้วยซ้ำ เพราะรู้ว่าโรคซึมเศร้าทำให้เขาต้องต่อสู้กับตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว เราจะไม่บอกเขาว่า เวลาหรืออนาคตจะทำให้ทุกอย่างโอเค เพราะถ้าเวลาผ่านไปจิตใจของเขายังไม่ดีขึ้น เราก็ไม่อยากเห็นเขาผิดหวัง หลังๆ เราเลยเลือกที่จะพูดแค่ว่า ‘วันนี้ทำดีแล้ว’ หรือพูดกับเขาด้วยคำชมที่ฟังดูเด็กมากๆ อย่าง ‘เก่งแล้ว’ มันอาจรู้สึกขัดๆ ที่จะพูดคำพวกนี้ในตอนแรก แต่พอได้เห็นเขาอดทนกับความเศร้า เห็นว่าบางครั้งเขาก็พยายามหาทางออกจากจุดที่เป็น เลยรู้สึกว่าเขาทำได้ดีแล้วจริงๆ แล้วก็ชมออกไปโดยไม่ฝืนเลย”

 

การกระทำ = คำบอกลา

 

บทความของศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช เขียนถึงการให้สัญญาณ ‘อยากตาย’ ของผู้ป่วยว่า ส่วนใหญ่คนป่วยมักจะบอกคนใกล้ชิดเป็นนัยๆ ญาติควรใส่ใจ หากผู้ป่วยพูดจาในทำนองสั่งเสีย ล่ำลา หรือพูดเหมือนกับไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะถ้าเขาไม่เคยมีท่าทีทำนองนี้มาก่อน

ผู้ป่วยบางคนไม่รู้ว่าจะบอกคนอื่นอย่างไรถึงเรื่องอยากตายของตน รู้สึกสองจิตสองใจ ใจหนึ่งอยากตาย ใจหนึ่งเป็นห่วงคนใกล้ตัว จะปรึกษาใครก็กลัวคนหาว่าคิดเหลวไหล การบอกเป็นนัยๆ แสดงว่าจิตใจเขาตอนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคนเข้าใจอย่างมาก

อาร์ตไดเร็กเตอร์สาวเล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอได้รับโทรศัพท์จากผู้ป่วย เมื่อสอบถามก็ได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า ‘เครียด’ เขาเริ่มร้องไห้ไปพูดไป จนเธอฟังแทบไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นเธอไม่รู้ว่าเขากำลังมีความคิดจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า เขาพูดแต่เพียงว่า ‘อยากได้ยินเสียงใครสักคน’ เธอจึงพยายามฟังทุกคำพูด และตอบกลับเท่าที่ทำได้ จนเขาหยุดร้องไห้และวางสายไป

หลายเดือนหลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เขามาสารภาพกับเธอว่า ในวันนั้น ใจของเขาคิดแต่ว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว แต่ก็ไม่กล้าบอกตรงๆ

“‘เธอหายใจแล้ว’ คือสิ่งที่เราพูดตอนที่เขาหยุดร้องไห้ เราโล่งใจมากที่ได้ยินเสียงหายใจของเขา เพราะก่อนหน้านั้นเขาเอาแต่สะอึกสะอื้น พอได้คุยกันหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป เขาก็มาบอกว่า ตอนโทรมาเขาเพียงแค่อยากได้ยินเสียงใครสักคน แต่กลับได้รับรู้ว่า ยังมีคนดีใจที่ได้ยินแค่เสียงลมหายใจของเขา ลมหายใจที่วันนั้นเขาไม่เห็นค่า”

หลังจากเหตุการณ์นี้ หญิงสาวก็เรียนรู้ว่า แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้บอกกับเราตรงๆ แต่การกระทำของเขามีความหมายบางอย่างเสมอ

 

มีชีวิต = คำขอบคุณ

 

เมื่อชวนทั้งสามพูดคุยถึงความเศร้าที่บางคนก็ผ่านมาได้ บางคนก็ยังอยู่กับมัน ครีเอทีฟหนุ่มที่ยังมีมวลความเศร้าอยู่ประปราย เล่าว่าครั้งหนึ่งตอนรับการรักษา หมอให้เขาพูดคำว่า ‘ผมสมควรได้รับความสุข’

“ตอนอยู่ในห้องหมอแล้วต้องพูดประโยคนี้มันยากมากๆ เพราะเราไม่ได้เชื่อว่าเราจะได้รับความสุขขนาดนั้น แต่ก็พยายามจะพูด ทุกวันนี้มันก็มีวันที่ดีและพูดคำนั้นได้ดีและจริงขึ้น”

เขาเสริมว่า สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นคือการปรับเปลี่ยนมุมมอง บางครั้งเขาแบกรับความรู้สึกไว้ที่ตัวเองมากเกินไป ลองเปลี่ยนมาโทษลมโทษฟ้าด่าโลก ก็ช่วยให้ใจของเขาเบาลงได้ แม้ความเศร้าจะยังแวะเวียนมาบ้าง แต่ด้วยความเชื่อที่อาจยังไม่เต็มร้อยว่าจะได้รับความสุข การตามหาสิ่งที่ตัวเองยังอยากทำ เรื่องเล็กๆ ที่ยังสนุกไปกับมัน หรือแม้แต่ความฝันที่ยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจน ก็ทำให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป

ส่วนนักศึกษาปริญญาโทที่ตอนนี้หายดีจากอาการซึมเศร้า ไม่ต้องกินยาปรับสารในสมองและยานอนหลับอีกแล้ว กำลังใช้ชีวิตทุกวินาทีอย่างเต็มที่ เธอบอกผู้เขียนว่า “ทุกวันนี้ที่เราใช้ชีวิตอยู่ มันเป็นเหมือนโบนัส เราเชื่อว่าเราเคยตายไปแล้วจริงๆ ชีวิตที่เรากำลังใช้อยู่ตอนนี้เป็นชีวิตที่คนรอบข้างและตัวเราทำให้ผ่านมาได้ เราจะใช้มันให้คุ้ม และจะมีความสุขไปกับมัน”

เมื่อถามเธอว่า หากสามารถพูดอะไรกับคนที่อยู่เคียงข้างเธอในช่วงเวลานั้นได้ จะบอกอะไรกับเขา เธอเงียบไปสักพัก ก่อนจะตอบว่า

“ก็คงจะขอโทษที่ทำให้เสียใจ และต้องมาเป็นห่วงกันขนาดนี้ ภาวะที่เราเป็นตอนนั้นมันทำให้เราไม่อยากอยู่ ถึงมันจะดูเหมือนเราใช้อารมณ์ แต่มันก็เป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลสำหรับเราที่กำลังป่วย คนข้างๆ มีผลต่ออาการมาก จะดีขึ้นหรือแย่ลงก็อยู่ที่ความเข้าใจของคนข้างๆ ในตอนนั้นเลย ขอบคุณนะที่อดทน และพยายามใช้ความเข้าใจผ่านทุกอย่างมากับเราจนวันนี้”

เมื่อถามคำถามเดียวกันนี้ในมุมมองของคนเคียงข้างผู้ป่วย อาร์ตไดเร็กเตอร์สาวตอบว่าสิ่งเดียวที่อยากให้ทั้งผู้ป่วยและคนข้างๆ มีคือ ‘ความเชื่อใจ’

“อยู่เคียงข้างกันมันก็ต้องมีทั้งวันดีวันร้าย บางครั้งเราดูเฉยชา เพราะไม่อยากให้เขาเห็นความเครียดที่มาจากความเป็นห่วง บางครั้งเราก็ไม่อยากร่าเริงเกินให้เขาต้องอึดอัด บางครั้งเราก็พูดมากไปจนน่ารำคาญ ทุกวันเราพยายามหาคำพูดที่ดีที่สุดมาให้ ซึ่งหลายครั้งมันดันกลายเป็นความเงียบ เพราะคิดไม่ออกจริงๆ ว่า คำพูดไหนจะเหมาะกับภาวะของเขาในแต่ละวัน”

“เราไม่อยากพูดอะไรที่ไม่ดีพอ เพราะเท่าที่เขารู้สึกอยู่ก็คงแย่มากแล้ว แต่ไม่ว่าเราจะเงียบหรือพูดคำไหนออกไป สิ่งที่อยากบอกกับเขาทุกเวลาก็คือ เรารู้นะว่าเขาในวันนี้แค่มีความเศร้าที่ควบคุมไม่ได้ เขาก็คงไม่อยากเป็นแบบนี้ ไม่ได้อยากให้ความเศร้ากั้นเขากับคนรอบข้างไว้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขาจะขี้หงุดหงิด จะไม่อยากอยู่ จะรู้สึกแย่ลงหรือเป็นยังไง เราก็จะคอยมองหาแต่เขาคนที่อยู่ข้างในนั้น คนที่ความเศร้ามาบังไว้ หัวใจเราจะมีความหวังอยู่เสมอว่าเขาจะไม่เป็นไร”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018