fbpx
ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม

ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

จะเป็นอย่างไรหากคุณมีคนรักที่ต้องการสร้างครอบครัวร่วมกัน แต่รัฐไม่ยอมรับว่าคู่ของคุณคือครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้จดทะเบียนสมรส ไม่ให้สิทธิสวัสดิการแบบคู่สมรส ปฏิเสธการมีอยู่ในทางกฎหมาย

เมื่อคนรักที่นอนอยู่ข้างกายคุณทุกคืนเสียชีวิตลง แต่เซ็นนำร่างออกจากโรงพยาบาลไม่ได้ เจ้าหน้าที่เรียกหาพ่อแม่พี่น้องที่แทบไม่ได้ติดต่อกันให้มาเซ็นรับแทน

คู่ของคุณฝันอยากมีลูก แต่คุณมีลูกไม่ได้ กฎหมายก็ไม่ยินยอมให้อุ้มบุญ จะรับลูกบุญธรรมร่วมกันก็ไม่ได้ สิทธิลดหย่อนภาษีหรือสวัสดิการจากคู่สมรสที่ควรจะได้ก็ถูกปิดกั้น

ทั้งหมดเพราะรัฐไม่ได้เปิดกว้างให้ความหลากหลายทางเพศ และให้การสร้างครอบครัวตามกฎหมายเป็นสิทธิเฉพาะของคู่รักชายหญิง

แม้ไทยดูจะเปิดกว้างให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งการมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะและการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ในพื้นที่ทางการ สิทธิต่างๆ อาชีพบางอาชีพ ยังเป็นพื้นที่เฉพาะของชายหญิงอยู่ดี

ที่ผ่านมามีการพยายามผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในเชิงกฎหมาย และมีสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับชายหญิง รวมถึงสิทธิในการสร้างครอบครัว โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ 70 มาตรา’ ถูกเผยแพร่ออกมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก่อนจะนำเข้า ครม. ช่วงปลายเดือนนี้

จุดที่น่าสังเกตคือ กฎหมายฉบับนี้ถูกร่างแล้วปรับแก้มาหลายปี หลายร่าง บางช่วงถูกแช่แข็งด้วยแนวคิดที่ว่า “สังคมไทยยังไม่พร้อม” แต่ล่าสุดกลับถูกเร่งให้นำเข้า ครม. ก่อนจะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปีหน้า โดยตัดสิทธิต่างๆ ออก เพื่อป้องกันการต่อต้านจากฝั่งอนุรักษนิยม และทำให้กฎหมายผ่านง่ายขึ้น จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือหนึ่งใน ‘ขนมหวาน’​ ที่ คสช. หยิบยื่นเพื่อหาเสียงหรือไม่

6 ปีกว่าจะมาถึงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ 70 มาตรา

ย้อนไปปี 2555 ที่ นที ธีระโรจนพงษ์ และ อรรถพล จันทวี พากันไปจดทะเบียนสมรสแล้วถูกปฏิเสธ เพราะไม่ใช่คู่รักชายหญิง จึงยื่นเรื่องร้องเรียนไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง นำมาสู่ความพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม

‘พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ….’ เริ่มร่างกันมาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนการรัฐประหาร ผ่านการปรับแก้หลายครั้งในรัฐบาล คสช. จนใกล้จะมีเลือกตั้งในปีหน้า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงกำชับว่าต้องเอากฎหมายนี้เข้า ครม. ให้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน

ร่างที่หนึ่ง 15 มาตรา เผยแพร่ในปี 2556 เน้นเรื่องความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต พยายามยกเรื่องสิทธิและทรัพย์สินให้เท่าเทียมกับคู่สมรส โดยยกเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาบังคับใช้ ‘โดยอนุโลม’ แต่มีข้อท้วงติงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ตีความและเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังลดทอนให้คู่ชีวิตมีสถานะไม่เท่าเทียมคู่สมรส ท้ายที่สุด เมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กฎหมายนี้ก็ตกไปก่อนจะบรรจุวาระเข้าสภา

ปี 2557 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (For-Sogi) ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตภาคประชาชน โดยมีข้อมูลจากงานวิจัยและมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ในปี 2558 คปก. หมดวาระลงและถูกระงับการสรรหาใหม่ตามคำสั่ง คสช. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศจึงแสดงจุดยืนไม่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับประชาชน ด้วยเหตุเพราะสถานการณ์ทางการเมือง

ร่างที่สอง 63 มาตรา เผยแพร่ในปี 2560 เปลี่ยนมาเป็นการจัดการเรื่องทรัพย์สินและมรดก ซึ่ง นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เคยให้เหตุผลที่จำกัดกฎหมายนี้แคบลงไปเป็นเรื่องการดูแลทรัพย์สินว่า “จากที่ยังติดขัดในเรื่องความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังยึดติดในนิยามของคำว่าครอบครัวเป็นเรื่องของชาย-หญิง ความรักนอกเหนือจากนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนและทำลายสถาบันครอบครัว ขณะที่สังคมบางส่วนยังมีอคติกับกลุ่มรักร่วมเพศ รวมถึงหลักศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลามที่มองรักร่วมเพศเป็นความผิดร้ายแรง ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับล่าสุดจึงตีกรอบให้แคบ โฟกัสลงไปที่การดูแลทรัพย์สินของคู่ชีวิตไม่ให้กระทบกว้างจนต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ” [1]

ร่างที่สาม 98 มาตรา เดือนกรกฎาคม 2561 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ประชุมร่วมกับภาคประชาสังคม ได้ ร่าง 98 มาตรา หรือ ‘อัมพวาโมเดล’ ซึ่งอุดช่องว่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฉบับก่อน ร่างฉบับนี้มีเนื้อหาเปิดกว้างในหลายมิติ เช่น การรับบุตรบุญธรรม และประเด็นว่าด้วยกฎหมายที่ขัดแย้งกัน (อาทิ การจดทะเบียนในต่างประเทศ) แต่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายระดับกรมมีความเห็นว่า สถานะของประเทศไทยยังไม่พร้อมพอจะก้าวสู่จุดนั้น

ล่าสุด 5 พ.ย. 2561 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเปิด ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ 70 มาตรา มีเนื้อหาเน้นเรื่องทรัพย์สินและมรดก โดยโครงร่างประกอบด้วย

1. คำนิยาม – คู่ชีวิตคือ “บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้”

2. ความสามารถในการจดทะเบียน – การจดทะเบียนคู่ชีวิตทำต่อเมื่อบุคคลบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายคือ 20 ปี มากกว่าการสมรสที่ทำได้เมื่ออายุ 17 ปี และมีสัญชาติไทย และจะจดทะเบียนไม่ได้หากฝ่ายหนึ่งมีปัญหาเรื่องความสามารถเช่น วิกลจริต

3. ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต – การเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน

4. การจัดการทรัพย์สิน – สามารถทำสัญญาเรื่องทรัพย์สินก่อนจดทะเบียน, สามารถจัดการทรัพย์สินคู่ชีวิตได้ร่วมกัน หรือด้วยความยินยอมจากอีกฝ่าย

5. การสิ้นสุดสถานะ – สิ้นสุดเพราะความเป็นโมฆะ หากไม่ทำตามเงื่อนไข, สิ้นสุดด้วยความตาย ความสมัครใจยกเลิก หรือศาลเพิกถอน

6. มรดก – คู่ชีวิตมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของคู่สมรส

7. อายุความ – หนึ่งปีนับแต่การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ กำหนดให้ 4 กระทรวงรักษาการ คือกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศในส่วนที่เกี่ยวข้อง

[อ่าน ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. ได้ ที่นี่ ]

 ‘ร่าง 70 มาตรา’: อะไรอยู่ อะไรหายไป

กฎหมายฉบับนี้มีโครงสร้าง ‘คล้าย’ บางส่วนของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บรรพ 5 และ บรรพ 6 ที่ว่าด้วยการสมรส สินสมรส และมรดก แต่เมื่อเทียบกับร่างแรก 15 มาตรา ที่สั้นกว่านั้น สิทธิหลายอย่างกลับถูกลดลงให้เหลือเป็นเพียงการจัดการทรัพย์สินและมรดก ขณะที่ร่าง 15 มาตรานั้น ให้สิทธิคู่ชีวิตเทียบเท่าคู่สมรสตาม ป.พ.พ. และกฎหมายอื่น เช่น สิทธิในการใช้ชื่อสกุล สิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยหรือประกันชีวิต สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม สิทธิในการลดหย่อนภาษี และสิทธิของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย

ที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศบางกลุ่ม เรียกร้องให้แก้ ป.พ.พ. ที่ระบุถึงการสมรสของชายหญิงให้ครอบคลุมเพศหลากหลาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และครอบคลุมไปถึงสิทธิต่างๆ ไม่ใช่การเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่อีกฉบับ ที่จะทำให้ได้สิทธิไม่เท่าเทียมคู่สมรสชายหญิง

เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับล่าสุด เป็นการทำให้คำว่า ‘คู่ชีวิต’ ปรากฏในกฎหมายไทย โดยกฎหมายมุ่งไปที่การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ไม่มีเรื่องการเปลี่ยนนามสกุลตามคู่ชีวิต การเปลี่ยนสัญชาติตามคู่ชีวิต การเซ็นยินยอมการรักษาพยาบาลแทน และอาจมีปัญหาต่อสิทธิต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี สิทธิสวัสดิการต่างๆ ซึ่งถูกระบุในกฎหมายอื่นๆ ที่จะกำหนดให้มีไว้สำหรับคู่สมรส และเมื่อคู่ชีวิตไม่ใช่คู่สมรส จึงไม่ถูกตีความให้ได้สิทธินั้น

นั่นหมายความว่า หากจะทำให้สิทธิเหล่านี้ครอบคลุมถึงคู่ชีวิต จะต้องตามไปแก้กฎหมายแต่ละฉบับที่ระบุถึงคู่สมรสให้ขยายมาถึงคู่ชีวิตด้วย

ที่ชัดเจนคือ ยังไปไม่ถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเพศหลากหลาย เช่นเรื่องการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ซึ่งคาดว่าเป็นการลดแรงเสียดทานจากการต่อต้านของกลุ่มอนุรักษนิยม

และหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านจนมีผลบังคับใช้ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องรณรงค์เรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่ไม่ปรากฏในกฎหมายนี้ต่อไปเป็นรายประเด็น

บางฝ่ายมองในแง่ดีว่า อย่างน้อยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ได้ปักธงให้เรื่องการสร้างครอบครัวของเพศหลากหลายปรากฏในกฎหมาย นับเป็นก้าวแรก “ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย”

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นใน 5 จังหวัดภายในวันที่ 15 พ.ย. และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทางเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไปจนถึงวันที่ 20 พ.ย. เมื่อได้ความเห็นแล้วจะนำกฎหมายมาปรับแก้และเสนอเข้า ครม. ภายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน

วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่ครอบคลุม แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป?

ในมุมหนึ่งสำหรับผู้เรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ มองว่าอย่างน้อยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการเริ่มต้นขยับขยายสิ่งที่เรียกร้องอยู่ และต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

วิทิต มันตาภรณ์[2] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ สหประชาชาติ ชี้ว่ากฎหมายนี้ยังไม่ครอบคลุมบางประเด็น เช่น เรื่องการรับบุตรบุญธรรม เรื่องภาษีและสวัสดิการสังคมที่อาจเกิดปัญหาในอนาคต รวมถึงเอกสิทธิ์และการคุ้มกันทางการทูตตามอนุสัญญาเวียนนา เช่น กรณีการเข้าเมืองและกรณีคู่ชีวิตของคณะทูต ที่หลายคนถูกกำหนดให้เป็นผู้รับใช้ทูต แทนที่จะเป็นครอบครัว

หากกฎหมายนี้บังคับใช้ วิทิตกังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติตามมา ทั้งจากกลุ่มต่อต้านและจากเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจปฏิเสธการจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะแม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่จะครอบคลุมการเลือกปฏิบัติต่อผู้จดทะเบียนคู่ชีวิตในอนาคตหรือไม่

สิ่งที่น่าคิดต่อไปหากกฎหมายคู่ชีวิตมีการพัฒนาไปสู่กฎหมายการสมรส คือความขัดแย้งด้านศาสนา หากศาสนจักรไม่เห็นด้วยหรือเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการจดทะเบียนโดยอ้างหลักศาสนาของตน

“กฎหมายคู่ชีวิตและกฎหมายสมรสไม่เหมือนกัน แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไปสำหรับสังคมไทย หลายฝ่ายต้องการ พ.ร.บ.สมรส แต่เราได้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตอนนี้คือทำอย่างไรให้ พ.ร.บ.นี้ผ่านไปได้ ขอชื่นชมหลายฝ่าย กระทรวงยุติธรรมร่างมา 2-3 ปีแล้ว ถ้าผ่านไปยังมีกลไกอื่นอีกเยอะ ทั้งสภา กฤษฎีกา และถ้าไม่ผ่านยุคนี้ พรรคการเมืองจะว่ายังไง แต่หากผ่านยุคนี้ก็ต้องเตรียมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะมหาดไทย และต้องจัดการประเด็นอื่นที่ไม่ได้พูดถึง เช่น เรื่องภาษี และกรณีเลือกปฏิบัติต่อคู่ชีวิตในอนาคต” วิทิตกล่าว

ขณะที่นักกิจกรรมบางส่วน เห็นว่าแนวทางที่ควรจะเป็นคือการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บรรพ 5 และบรรพ 6 ให้ทุกเพศเท่าเทียมกันจริงๆ

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เผยว่า กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ มีความเห็นแตกต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งต้องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้มีอะไรที่จับต้องได้ก่อน แม้ไม่เท่าเทียมกับคู่สมรส กับอีกฝ่ายต้องการแก้ ป.พ.พ. เรื่องการสมรสให้มีความเท่าเทียมกันทุกเพศ

“เราต้องแก้ ป.พ.พ. เป็นหลัก ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่าเป็นพลเมืองไม่เท่ากัน ทำให้รู้สึกถึงการเลือกปฏิบัติ ทำไมไปใช้ร่างกฎหมายนั้น แทนที่จะแก้กฎหมายดั้งเดิมแบบนานาอารยประเทศ อย่างไต้หวันที่กำลังรอศาลตัดสินเดือนนี้ ก็แก้กฎหมายสมรสเพื่อรวมคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปด้วย”

ส่วนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ไม่มีเรื่องบุตรบุญธรรม หรือการมีบุตรโดยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ฉันทลักษณ์มองว่าที่ไม่ใส่มาเพราะกลัวโดนต่อต้าน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติเช่นกันว่าทำไมคู่รักต่างเพศถึงได้สิทธิมากกว่า

“คนหลากหลายทางเพศมองว่าได้เท่านี้ก็ดีถมเถแล้ว ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เรามองว่าเป็นฐานคิดจากการที่เขามองว่าตัวเองด้อยกว่าคนที่รักต่างเพศ หรือการถูกกดมานาน ให้มาแค่นี้ เขาก็รู้สึกว่าดีจังเลย เป็นบุญคุณ เราเห็นใจคนที่เขาอยากได้มากๆ เข้าใจว่ามันจำเป็นสำหรับเขา แต่ถ้ารอหลังเลือกตั้งจะดีกว่าไหม ซึ่งก็ปีหน้าแล้ว ผ่านตอนนั้นก็ยังไม่ช้าเกินไป”

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกฎหมายฉบับนี้ มองว่าเหตุที่ต้องร่างเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยไม่แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดบัญญัติถึงคนหลากหลายทางเพศ จึงต้องการสร้างคำในกฎหมายขึ้นมา เพื่อให้กฎหมายที่จะออกมาในอนาคตต้องคำนึงว่า เพศในประเทศไทยไม่ได้มีแค่ชายหญิง แต่ถ้าแก้กฎหมายแพ่งก็จะยังไม่มีคำนิยาม

ข้อวิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ครอบคลุมความต้องการที่เรียกร้องกันนั้น เกิดโชคเปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ สิทธิอื่นๆ นั้นเป็นเหมือนดอกและผลที่จะตามมาหลังกฎหมายฉบับนี้

“ตอนนี้เรากำลังปลูกต้นไม้ เมื่อมีต้นแล้วก็ต้องมีใบ แต่บางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในฉบับนี้ อาจเป็นดอกและผลซึ่งจะตามมาหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ออก ฉะนั้นจะไม่ใช่สิทธิที่ถูกตัด แต่เรากำลังเยียวยาแก้ไขให้ตรงประเด็น ตรงจุด ความต้องการตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาให้ถูกจุดในการขาดตกบกพร่องในสิทธิของกลุ่มนี้ ส่วนที่เป็นดอกผลที่เป็นผลพลอยได้ เราค่อยเก็บหลังต้นโตแล้ว”

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ภาพจาก www.thaihealth.or.th

ขนมหวานที่เผด็จการหยิบยื่น

ข้อถกเถียงในกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ คือบางฝ่ายพยายามแยกว่าสิทธิทางเพศไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง อันเห็นได้จากความพยายามผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านในช่วงรัฐบาล คสช. เพราะมีการออกกฎหมายจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเพียงพอ ดังที่จะเห็นการยื่นแถลงการณ์ขอให้รัฐบาล คสช. สนับสนุนการออกกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต

ส่วนนักกิจกรรมฝั่งสนับสนุนประชาธิปไตย จะมองว่าสิทธิทางเพศกับสิทธิทางการเมืองแยกจากกันไม่ได้ เช่นฉันทลักษณ์ที่คัดค้านการทำให้กฎหมายนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลรัฐประหาร

“กลุ่มนักกิจกรรมก็มีคนที่เห็นด้วยว่าเอาเลย ถ้ารอรัฐบาลเลือกตั้งจะช้า เดี๋ยวจะผ่านยาก เอาให้ผ่านที่ สนช.นี่ง่ายดี เขามองกันแบบนี้ แต่คนที่ทำงานอีกส่วนหนึ่งที่ยึดในหลักการประชาธิปไตย มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้คนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ไม่ผ่านโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการออกกฎหมายที่จะเอาเข้า สนช. เพราะว่าเร่งด่วน ไม่มีการทำประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึงเท่าที่ควร และควรจะรอหลังเลือกตั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตยก่อน

“เรามองมาตลอดว่าเป็นการใช้ฟอกขาวให้คณะรัฐประหาร ที่เขายกประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ก็เพื่อฟอกว่ารัฐบาลนี้สนับสนุนสิทธิ รัฐบาลนี้ไม่ได้ละเมิดสิทธิประชาชน กฎหมายนี้ก็เช่นกัน จะได้เสริมภาพลักษณ์ให้รัฐบาลนี้ดูดี เข้าใจสิทธิมนุษยชน วันก่อน ททท. ก็บอกว่าจะจัดแคมเปญรับกฎหมายนี้ ช่วยหาเงินเข้าประเทศ มองแค่เป็นลูกค้า ไม่ได้มองเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย นี่คือสิ่งที่ประเทศเรามี” ฉันทลักษณ์กล่าว

จากการที่ ททท. ออกมาให้ข่าวก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะเผยแพร่ออกมาว่า กำลังเตรียมจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวรับโอกาสที่กฎหมายฉบับนี้จะเข้า ครม. โดยจะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าเพศหลากหลายที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก

เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงนักสิทธิความหลากหลายทางเพศ ว่านอกจาก ททท. จะลดทอนกลุ่มเพศหลากหลายให้เป็นเพียงลูกค้ากำลังซื้อสูงแล้ว ยังทำให้มองได้ว่ากฎหมายฉบับนี้มีโอกาสผ่านสูง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงาน เพื่อปูทางสู่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หลังจากไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนมาเนิ่นนาน ทำให้เกิดคำถามว่านี่เป็นหนึ่งใน ‘ขนมหวาน’ ที่ คสช. หยิบยื่นเพื่อหาเสียงหรือไม่

ต่อประเด็นนี้ เกิดโชคมองว่า เป็นเรื่องพลวัตของโลกที่ไทยต้องปรับแก้ให้รับกับพัฒนาการนี้ การที่ไทยจะรีบแก้ปัญหานี้ให้ถูกจุด และรีบออกกฎหมายนี้ เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีมาแต่เดิม ซึ่งเห็นว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว

“จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำช่วงท้ายของรัฐบาล แต่หมุนวนอยู่ในระดับปรับแก้ร่างมาหลายปีในกระทรวงยุติธรรม ไม่ขึ้นสู่ระดับนโยบาย ตั้งแต่ปี 2556-2561 เป็นเวลา 5 ปีที่พยายามผลักแล้วไม่ออกไป รัฐบาลมีหน้าที่คือเร่งรัดให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่ามาเร่งเอาปลายรัฐบาล เพราะรัฐบาลเห็นว่าจะอยู่ไม่นาน แต่เพราะเห็นว่าทำไมสิ่งที่ทำมา 5 ปียังไม่สำเร็จ ถึงได้เร่ง”

ส่วนประเด็นที่ ททท. เตรียมจัดแคมเปญรับกฎหมายนี้ ด้วยมองว่าเป็นตลาดกำลังซื้อสูง เกิดโชคบอกว่าทางกระทรวงยุติธรรมไม่เคยมองถึงความต้องการของตลาด แต่กระทรวงยุติธรรมมองถึงสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมกัน สิทธิทั้งหลายที่มนุษย์ต้องมีตั้งแต่เกิด ที่เราต้องการสร้างให้เกิดความเท่าเทียมกัน

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

แม้การเริ่มต้นให้มีก้าวแรกจะเป็นสิ่งสำคัญ และการได้รับสิทธิเสรีภาพของคู่รักเพศหลากหลาย จะถือว่าเป็น ‘ข่าวดี’ แต่สิ่งที่น่าคิดคือ การทำผ่านกระบวนการที่ไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ขาดการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง งานยากต่อไปที่รออยู่ คือการแก้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคู่สมรสที่ไม่ครอบคลุมคู่ชีวิต หรืออาจยากยิ่งขึ้น หากคิดจะหวนกลับไปแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ทุกเพศเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง


Illustrated by ภาพิมล หล่อตระกูล

[1] จากคอลัมน์ขยายปมร้อน โดย ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 24 เม.ย. 2561

[2] บางส่วนจากปาฐกถา “กฎหมายคู่ชีวิต : แนวโน้มสังคมและสังคมไทย” ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 3 พ.ย. 2561

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save