fbpx

‘ลาคลอด’ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เดินหน้าสู่ครอบครัวเข้มแข็งด้วยสิทธิแรงงาน

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

สวัสดิการเพื่อแม่และเด็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีส่วนสร้างความก้าวหน้าของสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องพูดถึงเรื่องสิทธิแรงงานควบคู่กัน เมื่อสถานที่ทำงานควรมีส่วนสนับสนุนการสร้างครอบครัว เพื่อให้ชีวิตของแรงงานดำเนินต่อไปอย่างปกติโดยไม่มีปัจจัยเรื่องการมีลูกมาเป็นอุปสรรคหรือสาเหตุให้ผู้หญิงต้องออกจากงาน

เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ‘สิทธิลาคลอด’ ทั้งของหญิงและชาย จุดเริ่มต้นของกฎหมายลาคลอด 90 วัน เกิดขึ้นจากการทำงานของภาคประชาสังคมร่วมกับภาคแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มสาวโรงงานซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพที่ทำงานที่ไม่เอื้อกับการมีลูกหรือสร้างครอบครัว การลุกขึ้นสู้ของสาวโรงงานในวันนั้นเอื้อประโยชน์ไปถึงแรงงานในระบบประเภทอื่นๆ รวมถึงชนชั้นกลางที่ได้รับสิทธิวันลาคลอดอย่างเท่าเทียมกัน

การออกมาเดินขบวนประท้วงได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนจนถูกยกขึ้นเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม เป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าการลาคลอดไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่ผู้หญิงต้องแบกรับภาระเพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้งสังคมต้องร่วมกันส่งเสริมให้มีการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ

หนึ่งในผู้ที่อยู่ในขบวนการเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน คือ จะเด็จ เชาวน์วิไล ปัจจุบันเขาอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งทำงานต่อสู้เรื่องอคติทางเพศ และทำงานรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว

น่าสนใจว่าหลังจากที่มีการเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน เมื่อปี 2536 จำนวนวันลาคลอดของแรงงานหญิงก็หยุดนิ่งมา 26 ปี ทั้งที่มีผลการศึกษาว่าเด็กแรกเกิดควรได้รับนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก ระยะเวลามากกว่ากฏหมายลาคลอด 90 วันถึงเท่าตัว จึงเป็นหน้าที่ของสังคมในทุกภาคส่วนที่จะต้องผลักดันให้สิทธิของแรงงานหญิงและครอบครัวขยายเพิ่มเติมให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริง ให้การทำงานและการสร้างครอบครัวเดินควบคู่กันไปได้โดยไม่โยนภาระอยู่ที่ผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว

จะเด็จ เชาวน์วิไล
จะเด็จ เชาวน์วิไล

จุดเริ่มต้นการลุกขึ้นสู้ของผู้หญิง

การต่อสู้เรียกร้องกฎหมายลาคลอด  90 วัน ประสบความสำเร็จในปี 2536 โดยมีเส้นทางการเรียกร้องที่เข้มข้นก่อนหน้านั้นหลายปี

จะเด็จ เล่าว่าเขาเป็นอาสาสมัครมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) รุ่นที่ 7  เมื่อครบวาระอาสาสมัครจึงมาทำงานที่ มูลนิธิเพื่อนหญิง เต็มตัว โดยเริ่มศึกษาและทำงานกับผู้ใช้แรงงานหญิงตั้งแต่ปี 2528 จนนำไปสู่การรวมกลุ่มแรงงานหญิง ก่อนหน้านั้นคนทำงานด้านแรงงานยังไม่มีใครสนใจเรื่องสิทธิแรงงานหญิงอย่างจริงจัง มีแต่การเรียกร้องสิทธิแรงงานในภาพรวม ทั้งที่ขณะนั้นแรงงานหญิงเป็นผู้ใช้แรงงานกลุ่มใหญ่ในสังคมซึ่งมีผลจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม

ช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531) เศรษฐกิจไทยขยายตัว เกิดการอพยพของแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมส่งออกประเภทสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า อัญมณี เครื่องประดับ และอิเล็กทรอนิกส์ จึงเกิดการจ้างงานแรงงานหญิงจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือค่าจ้างต่ำ

จะเด็จมองว่าในเวลานั้นแรงงานหญิงเป็นกลุ่มที่ได้รับปัญหาที่สุดเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบถึง 3 ระดับ

1. ปัญหาแรงงาน แรงงานหญิงถูกกดขี่เช่นเดียวกับแรงงานชาย เช่น เรื่องค่าจ้างต่ำ การบังคับทำงานล่วงเวลา สวัสดิการแย่ แต่ผู้หญิงจะเจอปัญหาเรื่องเพศสภาพมากกว่า เช่น นายจ้างผู้ชายส่วนมากมีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ดูถูกเพศหญิง เกิดการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ปิดกั้นการเรียกร้องสวัสดิการหรือการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรมจากผู้หญิง เพราะมองว่าผู้ชายมีศักยภาพมากกว่า ไม่ต้องลาคลอด ไม่ต้องเลี้ยงลูก ทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสก้าวหน้าในการงาน เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิก็มีคำพูดจากนายจ้างว่า “เป็นผู้หญิงจะขออะไรมาก ถ้าไม่มาทำงานโรงงานอย่างมากก็เป็นผู้หญิงบริการ เดี๋ยวมีสามีแล้วก็ให้สามีเลี้ยง”

2. ปัญหาครอบครัว แม้คนงานหญิงต้องทำงานในโรงงาน 8-16 ชั่วโมง แต่ยังต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามีตามค่านิยมสังคม บางรายถูกสามีห้ามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงานหญิงเพราะคิดว่าไม่ใช่บทบาทผู้หญิง แล้วยังมีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

3. ปัญหาความยากจน คนงานหญิงเป็นกลุ่มที่รัฐไม่ได้เหลียวแลนัก เมื่อจะรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพก็ไม่มีกองทุนสนับสนุน

“ตอนลงไปทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการได้ปีที่ 2 เริ่มคิดว่าต้องหาทางให้คนงานหญิงรวมกลุ่มกัน เพราะสหภาพก็มีแต่ผู้นำชายด้วยความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทั้งที่ผู้หญิงมีความอดทนสูงและมีความมุ่งมั่นมาก คนงานหญิงไม่คิดถึงตัวเอง เพราะถูกฝึกมาว่าต้องส่งเงินกลับบ้านเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ หลายคนทำงานหนักเพื่อจะมีเงินก้อนให้พ่อแม่ทำนา ส่งเงินให้น้องชายบวช  หรือส่งเงินเป็นค่าเทอมให้น้องชายเรียนแต่ตัวเองไม่ได้เรียนเพราะเป็นผู้หญิง คนเหล่านี้มีความหวังกับอนาคตตัวเอง แต่ไม่เห็นภาพ เพราะต้องทดแทนบุญคุณ ค่าแรงน้อย เงินเก็บก็ไม่มี จึงเริ่มพูดคุยเพื่อรวมกลุ่มกัน”

ผลพวงการต่อสู้ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เกิดองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ รวมถึง สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ทำงานในพื้นที่อุตสาหกรรมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ โดยมี ทรงศักดิ์ บุญกวีนภานนท์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สุจินดา สนเจริญ เป็นแกนหลักลงพื้นที่ จัดการศึกษาสิทธิแรงงานและการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมถึงการเคลื่อนไหวกฎหมายประกันสังคมในปี 2533 และกฎหมายลาคลอด 90 วัน

จะเด็จ เล่าวว่าตอนประท้วงเรียกร้องกฎหมายประกันสังคมจะเห็นว่าคนที่ออกมาเรียกร้องส่วนมากคือคนงานหญิง เพราะส่วนใหญ่มาจากโรงงานทอผ้า แต่ผู้ชายมีบทบาทในฐานะผู้นำแรงงาน การเรียกร้องประกันสังคมคล้ายเป็นบททดสอบให้คนงานหญิงเห็นศักยภาพของตนเองในการเรียกร้องสิทธิเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง เพราะผู้นำแรงงานชายในตอนนั้นก็ไม่เห็นว่าการลาคลอดเป็นเรื่องสำคัญเท่าการเรียกร้องเรื่องค่าแรง

ประชุมวางแผนการรณรงค์กฎหมายลาคลอด 90 วัน
ประชุมวางแผนการรณรงค์กฎหมายลาคลอด 90 วัน ที่มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ม.ค. 2536 ภาพจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
ประชุมวางแผนการรณรงค์กฎหมายลาคลอด 90 วัน ที่มูลนิธิอารมณ์
ประชุมวางแผนการรณรงค์กฎหมายลาคลอด 90 วัน ที่มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ม.ค. 2536 ภาพจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

แอบแท้ง-ซ่อนท้อง คุณภาพชีวิตต่ำเตี้ย

สภาพการทำงานของผู้หญิงในปี 2533 กฎหมายระบุให้ลาคลอดได้ 60 วัน โดยได้ค่าจ้างจากนายจ้างเพียง 30 วัน บางโรงงานก็ไม่จ่ายเลย ทำให้บางคนคลอดลูกได้แค่ 15 วันก็กลับมาทำงานทั้งที่ร่างกายยังไม่ฟื้นฟูเต็มที่จากการคลอด เพราะต้องการเงินไปจุนเจือรายจ่าย บางโรงงานจะไล่ผู้หญิงออกเมื่อท้อง ทำให้บางคนปกปิดด้วยการใช้ผ้ารัดหน้าท้องไว้จนคลอด บางคนเลือกทำแท้งเพื่อตัดปัญหา บางคนแท้งลูกเพราะทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ

การมีวันลาคลอดที่น้อยนิดยังส่งผลถึงเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่และไม่ได้ใช้เวลากับแม่เต็มที่เพราะถูกส่งไปให้ตายายในต่างจังหวัดเลี้ยง

นิภาภรณ์ บำรุงรัตน์ คนงานหญิงย่านรังสิตให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ ‘บทเรียนการต่อสู้กฎหมายลาคลอด 90 วัน’ ว่าเธอคลอดลูกอย่างยากลำบาก เพราะทำงานตลอดเวลาและทำงานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน ลูกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักน้อยมาก ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

“ต้องทำงานระบบกะ โดยเฉพาะกะดึกลำบากมาก เพราะต้องอดนอน พอกลับมาทำงานก็มีปัญหา หัวหน้าให้ไปเข็นถังใหญ่หนัก ประมาณ 65 กิโลกรัม วันหนึ่งประมาณ 40-60 ถัง แผลยังไม่หายขาดเลย และคลอดลูกมาใหม่ร่างกายยังไม่เข้าที่ ดิฉันมีอาการปวดท้องและปวดมดลูกทุกวัน”

ในปี 2535 หลังเอ็นจีโอและแรงงานร่วมกันเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน ทำให้รัฐบาลอนุมัติให้ข้าราชการหญิงได้รับสิทธิลาคลอด 90 วันโดยได้ค่าจ้างเต็ม จากเดิม 45 วัน ยิ่งทำให้แรงงานเดือดดาลเมื่อรัฐบาลนิ่งเฉยไม่ขยายสิทธิมาถึงแรงงานหญิง

เงาะ นวลจันทร์ อดีตสาวโรงงานแกนนำเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน เล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า รู้สึกไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรมที่ข้าราชการลาได้ 3 เดือนแต่แรงงานหญิงไม่ได้

“แรงงานหญิงก็คนเหมือนกัน แต่ทำไมต้องมาแยกชนชั้น ภาครัฐกับภาคเอกชน เหมือนเราเป็นสาวโรงงานและเขาเป็นข้าราชการ ข้าราชการทำงานสบายได้ ลาได้ 90 วัน แต่นี่ทำงานหนัก เย็บผ้า แบกหาม แต่ลาไม่ได้ นี่มันคืออะไร ไม่ยุติธรรม”

แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นในยุคนั้นคือนายจ้างกลัวเสียประโยชน์ที่ต้องจ่ายให้แรงงานหญิงที่ลาไปคลอดแล้วไม่ได้มาทำงาน และหากให้สิทธิมากก็จะมีคนลาคลอดเยอะ ข้อมูลที่ อรุณี ศรีโต อดีตประธานสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ให้ไว้ในหนังสือบทเรียนการต่อสู้กฎหมายลาคลอด 90 วันระบุว่า ตอนนั้นมีการหาข้อมูลจำนวนแรงงานหญิงในโรงงานที่ลาคลอดต่อปี โดยไปดูที่โรงงานไทยเกรียง พบว่าลาคลอด 30 คน จากแรงงานหญิง 3,000 คน ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีการลาคลอดในแต่ละปีมากนัก แปลว่าส่งผลต่อนายจ้างน้อยมาก

การประท้วงในปี 2536
การประท้วงในปี 2536 ภาพจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
การประท้วงในปี 2536 ภาพจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
การประท้วงในปี 2536 ภาพจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

‘ลาคลอด’ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

จะเด็จ เล่าว่าตั้งแต่ปี 2533 เมื่อเกิดการรวมกลุ่มแรงงานหญิงแล้วจึงมีการสะท้อนปัญหาร่วมกันในวันสตรีสากล 8 มีนาคม โดยจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ต่อมาปี 2534 มีการจัดงานวันสตรีสากลที่ใหญ่กว่าเดิม ขณะนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารรสช. มีอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกฯ และตั้ง ดร.สายสุรี จุติกุล เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นคนที่ทำงานด้านสตรีและเยาวชนมาก่อน เครือข่ายแรงงานจึงเชิญ ดร.สายสุรี มาเปิดงานวันสตรีสากล และพูดคุยกันว่าควรมีข้อเรียกร้องไปเสนอ จนได้ข้อสรุปเรื่องปัญหาลาคลอด ซึ่ง ดร.สายสุรีเห็นด้วย แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าให้สิทธิลาคลอด 90 วันเฉพาะข้าราชการหญิง ในปี 2535 พร้อมคำตอบว่า “อย่ามักมาก” ยิ่งทำให้เครือข่ายแรงงานเดือดดาล โดย อรุณี ศรีโต ขึ้นมามีบทบาทนำร่วมกับแรงงานพื้นที่อื่นๆ เคลื่อนไหวเป็นระยะ มีการจัดเวทีอภิปราย เดินขบวนรณรงค์และยื่นหนังสือเรียกร้อง

ปี 2536 คนนับพันเดินขบวนไปบ้าน ชวน หลีกภัย นายกฯ ขณะนั้น โดยมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มารับเรื่องแทน ต่อมาวันสตรีสากลมีตัวแทนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล และวันที่ 25 เม.ย. 2536 เกิดการชุมนุมยืดเยื้อหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน แกนนำประกาศอดข้าว แต่เพียง 2 คืนก็ได้รับข้อตกลงว่าจะออกกฎหมายดังกล่าว

“ช่วงนั้นนายจ้างเริ่มออกมาพูดว่าจะเลิกจ้าง จะย้ายฐานการผลิต เดี๋ยวก็ท้องกันเต็มไปหมด พวกเราก็ทำข้อมูลวิจัยสิบกว่าโรงงานเพื่อดูว่าถ้าให้ลาคลอดโดยจ่ายค่าจ้างเต็มจะใช้ต้นทุนเท่าไหร่และแรงงานก็บอกว่าเขาจะมีลูกอย่างมากก็ 2 คน ไม่ใช่ว่าแต่งงานแล้วจะมีลูกเลยต้องดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย พอมีงานวิจัยมาโต้เขาก็พูดไม่ออก

“เรื่องคนท้อง ผมคิดว่าตอนนั้นสังคมเข้าใจ เกิดคำถามว่าทำไมเลือกปฏิบัติ เพราะข้าราชการได้สิทธิ 90 วัน แล้วคนงานมีตั้งกี่ล้านคนแต่ไม่ได้สิทธิ แล้วกฎหมายคุ้มครองไปถึงคนงานภาคเอกชนในห้างร้าน แต่คนชั้นกลางไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว มีแต่คนยากคนจนที่ออกมา สื่อก็เห็นด้วยกับเรา ไม่เคยออกมาวิจารณ์เราเลย แล้วเราทำงานกับยูนิเซฟและนักวิชาการสายสาธารณสุขออกมาหนุน ดาราบางคนก็ออกมาบอกว่ามันจำเป็น เกิดกระแสถกเถียงในสังคม แต่เสียงออกมาทางเห็นด้วยค่อนข้างเยอะ”

จะเด็จ ย้ำว่าการเรียกร้องวันลาคลอดไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แม้ว่าหากคิดแบบทุนนิยมหรือคิดแบบชายเป็นใหญ่จะมองว่างานบ้านเป็นภาระของผู้หญิงที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่สังคมต้องดูแลทรัพยากรคนรุ่นใหม่ จึงเป็นภาระของสังคมที่นายจ้างต้องช่วยกันเพื่อให้คนรุ่นใหม่มีคุณภาพ ซึ่งต้องมาจากการมีสวัสดิการที่ดี แล้ววันหนึ่งคนรุ่นนี้จะกลับมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ

“เราต่อสู้ว่า ผู้หญิงได้ลาคลอด 90 วัน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของสังคมทั้งหมด สังคมจึงต้องดูแลด้วย ดังนั้นเลยมาจบที่ว่านายจ้างจ่ายค่าแรง 45 วัน และประกันสังคมจ่าย 45 วัน”

ยื่นหนังสือเรียกร้องลาคลอด 90 วัน ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันสตรีสากล
ยื่นหนังสือเรียกร้องลาคลอด 90 วัน ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2536 ภาพจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์สยามโพสต์

หมุดหมายต่อไป ถึงเวลาเรียกร้อง ‘ลาคลอด 180 วัน’

ผ่านมา 26 ปี นับแต่กฎหมายลาคลอด 90 วันประกาศใช้ในปี 2536 จะเด็จมองว่ากฎหมายฉบับนี้กลับไม่มีพัฒนาการในทางบวกเพิ่มเติมเลย แม้ว่าเมื่อปลายปีที่แล้วจะมีการประกาศให้ลาคลอดได้เพิ่มเป็น 98 วัน แต่เป็นการเพิ่มวันลาตรวจครรภ์ก่อนคลอด ลูกจ้างยังคงได้รับเงิน 90 วันเท่าเดิม

จะเด็จยอมรับว่าเอ็นจีโอก็ไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อหลังเรียกร้องสำเร็จ เช่นที่ตอนนี้เขาหันมาทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับแม่และเด็ก ทั้งการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาเห็นด้วย

การลาคลอด 90 วันก็ยังมีปัญหาในแง่ปฏิบัติบางประการ เช่น แรงงานโรงงานหญิงที่กลัวว่าหากเจ้านายรู้ว่าท้องแล้วจะไม่ได้ทำโอทีหรือไม่ได้เบี้ยขยัน บางคนทำงานบริษัทแล้วกังวลเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพก็รับเงินเต็ม 90 วัน แต่หยุดจริงแค่ 60 วัน ซึ่งจะเด็จมองว่าปัจจุบันมีสหภาพแรงงานเหลือน้อยมาก ทำให้ไม่มีกลไกเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้คนทำงาน ขณะที่ภาคประชาสังคมก็หันไปจับงานเชิงนโยบาย ไม่ได้ทำงานกับภาคแรงงานนัก ทำให้มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งน้อยมาก

เมื่อมองในบริบทปัจจุบัน เขาเห็นว่าควรขยับวันลาคลอดให้ไปถึง 180 วัน ซึ่งมีข้อสรุปจากทั้งองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นจำนวนวันที่เหมาะสม เพราะแม่ควรให้นมลูกถึง 6 เดือนและเป็นช่วงเวลาปรับตัวที่จะให้แม่ได้อยู่กับลูกเต็มเวลา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะหากจะให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาที่เพิ่มขึ้นมา แต่เป็นหมุดหมายที่สังคมควรร่วมกันผลักดันควบคู่ไปกับการเรียกร้องสิทธิวันลาเลี้ยงดูบุตรของผู้ชาย

คนท้องประกาศกรีดเลือด-อดข้าว
คนท้อง 48 คน ร่วมเดินขบวนประท้วงและประกาศกรีดเลือด-อดข้าว เพื่อโต้ตอบ ที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทยในขณะนั้นบอกว่าคนที่มาเดินไม่ได้ท้องจริง ภาพจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 26 เม.ย. 2536

การเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ผู้หญิงฝ่ายเดียว

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ‘วันลาเลี้ยงดูบุตรของผู้ชาย’ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงข้าราชการชายที่สามารถลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน ซึ่งจะเด็จมองว่าควรมีการวัดผลว่ามีคนใช้สิทธิมากน้อยแค่ไหน และควรบังคับใช้ขยายไปถึงภาคเอกชน เพราะทัศนคติของสังคมยังไม่เข้าใจว่าการเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัวเป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ที่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียว

“ตอนปี 2541 ผมมีลูกแล้วที่ทำงานให้หยุด 1 เดือน รู้เลยว่าถ้าให้ผู้หญิงทำคนเดียวไม่ไหวแน่ ทำให้ผู้ชายได้เรียนรู้ว่างานบ้านและการดูแลเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ต้องซักผ้าอ้อมตลอดเวลา ต้องต้มขวดนมให้สุก ทำไม่ดีเดี๋ยวลูกท้องเสีย ลูกตื่นตอนดึก ภรรยาไม่ไหวคุณก็ต้องช่วย เวลาลูกร้องจะมานั่งสบายอยู่ได้ยังไง 30 วันนี้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระภรรยาได้เยอะมาก เขาจะได้ไม่ต้องเหนื่อย แล้วช่วงผู้หญิงท้องหรือหลังคลอดจะมีภาวะซึมเศร้า ต้องมีคนช่วยดูแล จะทำให้ครอบครัวเข้าใจกันมากขึ้น ทำให้ผู้ชายค่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิดได้ และการให้ผู้ชายมีวันลาทำให้ไม่ต้องพะวงเรื่องงาน”

จะเด็จมองว่าวันลาของผู้ชายในภาคราชการ 15 วันยังไม่เพียงพอ เบื้องต้นควรให้ได้สัก 2 เดือน คนอาจคิดว่าถ้าให้ผู้ชายลาได้เยอะแล้วใครจะทำงาน แต่หลายประเทศก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า การให้พ่อลาคลอดไม่ได้สร้างปัญหา และคงไม่มีใครคิดอยากมีลูกเพิ่มเป็นสิบคน เพียงเพราะได้วันลาเพิ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยอยากมีลูก

สิ่งสำคัญที่จะได้จากการให้ผู้ชายลาเลี้ยงดูบุตร คือการเปลี่ยนวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ให้ลดลง ให้รู้ว่างานบ้านเป็นงานหนัก ไม่ใช่งานที่ไม่มีมูลค่า การเลี้ยงลูกก็เป็นเรื่องที่ต้องรับภาระร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพราะหากให้สวัสดิการผู้หญิงเพื่อมาเลี้ยงลูกเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ผู้ชายต้องมาร่วมรับภาระด้วย

ม็อบคนท้อง
ภาพจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 26 เม.ย. 2536

‘ศูนย์เลี้ยงเด็ก’ ทางออกเพื่อลูกไม่ต้องห่างแม่

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกได้คือแนวคิดการตั้ง ‘ศูนย์เลี้ยงเด็ก’ ในสถานประกอบการและชุมชน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีมาตรการส่งเสริมแต่ก็ยังถือว่าไม่มากนัก

การมีศูนย์เลี้ยงเด็กจะเป็นสวัสดิการต่อเนื่องจากวันลาคลอด เพราะหลังจากแม่ใช้สิทธิลาคลอดครบตามกำหนดแล้วจะได้ไม่ต้องส่งลูกเล็กกลับไปให้ครอบครัวในต่างจังหวัดช่วยเลี้ยงดู ทำให้ลูกได้อยู่กับแม่และได้รับนมแม่ครบ 6 เดือน

“เมื่อก่อนเราทำวิจัยเพื่อเรียกร้องศูนย์เลี้ยงเด็ก พบว่าหลายที่ไม่มีคุณภาพ บางที่ใส่ยานอนหลับให้เด็ก ทุกวันนี้ส่วนมากจะเห็นศูนย์เลี้ยงเด็กในชนบทที่องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล แล้วศูนย์เลี้ยงเด็กในเมืองล่ะ บางบริษัทมีสวัสดิการดีก็สร้างศูนย์เลี้ยงเด็กได้ แต่มีน้อยมาก จึงต้องมีกฎหมายมาบังคับ ต้องมีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพและแรงงานต้องจ่ายในราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ว่าฟรีทั้งหมด แต่เขาก็ไม่ได้มีเงินมาก

“ในอดีตฝ่ายแรงงานเคยสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กนำร่องขึ้นมาเอง แต่ไปไม่รอดเพราะพึ่งพาตัวเองไม่ได้ รัฐต้องเข้ามาสนับสนุน จึงต้องมีนโยบายให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในพื้นที่อุตสาหกรรม หรือในพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ คนทำงานออฟฟิศก็ต้องการศูนย์เลี้ยงเด็ก ซึ่งต้องมีกฎหมายหรือนโยบายที่ชัดเจนมารองรับ”

จะเด็จมองว่าหากจะมีนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงต้องมีการศึกษาเชิงพื้นที่ก่อน เช่นสำรวจว่าในพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่มีคนที่มีลูกเล็กเท่าไหร่ และควรมีศูนย์เลี้ยงเด็กกี่แห่ง หรือภาครัฐอาจร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม แรงงานสามารถจ่ายได้

ม็อบคนท้อง ลาคลอด 90 วัน
ภาพจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ วันที่ 26 เม.ย. 2536

สวัสดิการดี จูงใจคนมีลูกเพิ่ม

เมื่อมองสถานการณ์ในปัจจุบันจะเห็นว่าสิทธิของแรงงานหญิงไม่ได้ขยับขึ้นมาจากเดิมมากนัก และพบว่าเด็กอายุ 0-17 ปี กว่า 3 ล้านคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และสถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกของประเทศไทยยังคงต่ำมาก

สิ่งที่จะทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขยายขึ้นได้คือการเพิ่มวันลาคลอดไปถึง 180 วัน คู่กับการตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการและชุมชน, การสนับสนุนให้ผู้ชายลาเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง, การสร้างความตระหนักรู้ แก่นายจ้างให้มีส่วนรับผิดชอบสังคม, การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานหญิงให้สอดคล้องกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และมีหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน เช่น จัดให้หญิงมีครรภ์ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ไม่ลดตำแหน่ง สิทธิประโยชน์ หรือความก้าวหน้าในตำแหน่งจากเหตุการมีครรภ์หรือลาคลอด จนถึงการส่งเสริมองค์กรแรงงานทุกระดับให้มีฝ่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานหญิงและครอบครัว

สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงได้ต้องมีนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งน่าสนใจว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายพรรคการเมืองพูดถึงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

จะเด็จฝากความหวังว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะหยิบนโยบายที่หาเสียงไว้ไปผลักดัน ไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาสังคม และเชื่อว่ามีคนพร้อมสนับสนุน โดยเริ่มจาก 1.เพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน 2. ให้เงินเด็กแรกคลอดเพิ่มขึ้นให้เพียงพอ 3. ทำเรื่องวันลาเลี้ยงดูบุตรให้ได้สัก 1 เดือน

“ผมดีใจที่อย่างน้อยพรรคการเมืองที่เข้าใจปัญหาของประชาชนเอาวิธีคิด 180 วันไปใช้ อย่างน้อยๆ ก็มีพรรคการเมืองพูดเรื่องนี้แล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันจะเป็นการกระตุ้นภาคประชาสังคมให้ออกมาขับเคลื่อนให้จริงจังสักที เพราะตอนนี้ภาคประชาสังคมไม่ได้ทำงานแบบเดิม ส่วนมากทำงานวิชาการ ฝึกอมรบ ทำอีเวนต์ งานรณรงค์ งานนโยบาย งานประสานงาน แต่เรื่อง empowerment ให้กับคนไม่ค่อยมีคนทำแล้ว เลยทำให้การต่อรองของคนยากจนไม่เข้มแข็ง

“รัฐบาลก็บอกว่าอยากให้คนมีลูกมากขึ้น แต่นโยบายที่ออกมาไม่ได้มีอะไรจูงใจ ถ้าเรามีสวัสดิการที่ชัดเจนอาจทำให้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้ ทั้งการขยายวันลาคลอดของผู้หญิง การให้ผู้ชายลาคลอด การมีศูนย์เลี้ยงเด็ก การให้เงินเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้นจาก 600 บาทเป็น 1,000 บาท สวัสดิการเหล่านี้สามารถจูงใจคนได้ โดยนำงบประมาณมาจากภาษี เช่นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีก็มีการเก็บภาษีจากคนที่มีฐานะร่ำรวย เก็บภาษีมรดก เพื่อเอามาช่วยเหลือคนจน แต่เมื่อประเทศเรายังมีปัญหามาก รัฐสวัสดิการนี้บางเรื่องก็ควรให้เปล่า บางเรื่องก็ต้องให้เขาร่วมจ่ายด้วย”

เป็นความหวังในรอบ 26 ปี ว่าสังคมไทยควรมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าอดีต หากเราเห็นความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ‘คน’ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของสังคมที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

__________________________________________

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ‘บทเรียนการต่อสู้กฎหมายลาคลอด 90 วัน’ เรียบเรียงโดย จะเด็จ เชาวน์วิไล, สุภาวดี เพชรรัตน์, บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ, จรีย์ ศรีสวัสดิ์, วสุนันท์ นิ่มบุตร จัดพิมพ์โดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี 2558

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save