ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนมีภาพจำของพ่อแม่ที่บันทึกไว้ในใจ ภาพจำนั้นอาจเป็นชายวัยกลางคนที่แข็งขัน เป็นแฟมิลี่แมน หรือหญิงสูงวัยที่มีรอยยิ้มแต่งแต้มใบหน้า และกระฉับกระเฉงคอยดูแลเราเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราหันไปมองพวกเขาในปัจจุบัน เชื่อว่าภาพของท่านอาจเปลี่ยนแปลงไปจากภาพจำแสนสุขของเรา อย่างน้อยๆ ริ้วรอยแห่งวัย หรือร่องรอยความสดใสอาจไม่ตรงตามภาพจำทุกประการ
เพียงแค่ภาพจำยังเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าสภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุก็เปลี่ยนไปตลอดเวลาด้วยเช่นกัน บรรดาลูกหลานหลายคนเริ่มเข้าสู่วัยที่ต้องรับมือกับอาการป่วย การเปลี่ยนแปลงทางกายของพ่อแม่ และโดยที่เราไม่ทันสังเกตุ ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้สูงอายุก็เข้าคุกคามความสุขของครอบครัวอย่างไร้คำเตือน บ้างเข้าสู่วัยทอง บ้างคุณพ่อคุณแม่กลับไม่ร่าเริง ไม่กระฉับกระเฉงอย่างเคย และอย่างร้ายที่สุด บางท่านอาจยอมแพ้ให้นาฬิกาแห่งชีวิต นั่งทอดถอนใจไปอย่างเปล่าเปลี่ยว
ในห้วงเวลาเหล่านี้ ลูกหลานหลายคนคงกังวล คอยแต่จะตรึกตรองเวลาที่เสียไป นึกถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ และหวาดระแวงการสูญเสีย
ในโอกาสนี้ 101 จึงชวน ผศ.พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล รองหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพจิตผู้สูงอายุ เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อควรรู้และเคล็ดลับในการรับมือ
ตั้งแต่คำถามที่ว่า ภาวะซึมเศร้าในผู้สุงอายุเป็นอย่างไร ทำอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุไม่ยอมรับปัญหาสุขภาพจิต หากเราไม่เคยกอดหอมพวกท่านเลยจะผิดมากไหม ไปจนถึง ทางเลือกไหนบ้างที่เรามีเมื่อคุณพ่อคุณแม่ป่วย หาคำตอบเหล่านี้เพื่อเป็นฐานที่มั่นให้อารมณ์ของลูกหลาน และเป็นคู่มือดูแลจิตใจของครอบครัวให้เผชิญสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี
เมื่อกล่าวถึงสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ เรากำลังพูดถึงช่วงอายุเท่าไหร่ และปัญหาที่มักจะพบเป็นกลุ่มอาการหรือโรคแบบไหน
จริงๆ อายุของผู้สูงอายุทั่วไปไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่เรามักจะกำหนดอายุอยู่ที่ 60 ปีขึ้นไปซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็เป็นวัยที่เกษียณอายุแล้ว ไม่ได้ทำงานแล้ว ปัญหาทางจิตใจที่เราเจอบ่อยๆ ก็เป็นเรื่องของโรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ บางครั้งจะมาด้วยอาการที่ไม่เหมือนในคนช่วงวัยทำงาน วัยรุ่น หรือ เด็ก
อาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุเป็นยังไง
บางทีคนไข้สูงอายุไม่ได้แสดงอารมณ์ที่เป็นซึมเศร้าโดยตรง แต่จะออกมาในเชิงอารมณ์หงุดหงิด ต่อว่าคนรอบข้าง หรือแสดงความน้อยใจ เช่น พูดจาประชดประชัน พูดเสียดสี เป็นการแสดงออกทางอารมณ์รูปแบบอื่นที่ไม่จำเป็นต้องเศร้าซึม ร้องไห้ เสมอไป
แล้วที่คนชอบพูดว่าเข้าสู่ ‘วัยทอง’ ภาวะในช่วงอายุนี้เป็นลักษณะบ่งชี้ว่ามีปัญหาเรื่องซึมเศร้าหรือเปล่า
อาจจะมีความเกี่ยวข้องกันได้ค่ะ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เข้าสู่วัยทอง อย่างผู้ป่วยหญิงทั่วไปก็จะมีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป อาจจะมีเรื่องของอารมณ์หงุดหงิดง่าย ไม่สบายตัว เป็นผลจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็มีผลต่ออารมณ์อยู่ไม่มากก็น้อย จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น แต่ภาวะนี้ก็ไม่ได้เกิดในหญิงวัยหมดประจำเดือนทุกๆ คน
โรคทางสุขภาพจิตอาจจะมีหลายเหตุผล ทำให้ที่มาของโรคสำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เราพอจะบอกจุดร่วมที่พบเห็นบ่อยๆ ได้ไหม ว่าสาเหตุอะไรที่พาผู้สูงอายุไปสู่สุขภาพจิตแบบนี้
แน่นอนว่าเวลาเราพูดถึงโรคทางจิตเวช มันมีหลายปัจจัยมาก ปัจจัยหลักๆ อย่างหนึ่งคือปัจจัยทางพันธุกรรม หากครอบครัวมีญาติสายตรงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะเพิ่มโอกาสในการป่วยได้ นอกนั้นก็เป็นปัจจัยทางจิตสังคม เช่น การที่ผู้ป่วยสูงอายุเริ่มมีอาการเครียด ความเครียดที่พบบ่อยที่สุดและอาจจะรุนแรงมากที่สุดคือ การเข้าสู่ช่วงวัยที่สูญเสียคู่ชีวิต คือคู่ชีวิตเริ่มป่วยหรือเสียชีวิตไป
นอกจากนั้นยังมีเหตุผลที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตด้านอื่นๆ เช่น การเกษียณ ไม่ได้ทำงาน และมีรายได้ลดลง ไม่ค่อยได้เข้าสังคม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นจุดที่ทำให้มีความเครียดเกิดขึ้น แต่หากผู้สูงอายุมีครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน มีลูกหลานคอยซัพพอร์ต ลูกหลานเข้าใจว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บ่นเป็นความกังวลใจของเขา วิธีการที่ญาติรับมือกับสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดว่า คนไข้จะป่วยหรือไม่ป่วย หรืออาการจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
เรื่องพันธุกรรมฟังดูเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่ามีญาติคนไหนเคยป่วยหรือเปล่า ยิ่งในช่วงวัยของผู้สูงอายุที่อาจจะไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพจิตนัก จึงอยากทราบว่าเคยมีกรณีที่คนรุ่นลูกรู้ว่าป่วยก่อน แล้วถึงสืบเสาะไปเจอว่าญาติผู้ใหญ่อาจจะป่วยเหมือนกันไหม
ใช่ค่ะ บางคนรู้ว่าลูกป่วยก่อน แล้วพ่อแม่ค่อยมาเจอทีหลัง บางทีพี่ป่วยก่อน น้องป่วยตามทีหลัง ก็มี ขอเพียงเป็นญาติสายตรง เพราะโรคทางจิตเวชเกี่ยวข้องกันในเชิงพันธุกรรมอยู่แล้ว แต่พันธุกรรมของโรคทางจิตเวชนั้นซับซ้อนมาก และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยทางพันธุกรรมล้วนๆ เราอาจไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่ายีนตัวไหนที่ทำให้ป่วย มันไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น หลายๆ ครั้งมันเกิดจากสิ่งแวดล้อมบวกกับพันธุกรรม เช่น พันธุกรรมที่ว่าต้องมีสิ่งแวดล้อมบางอย่างที่จำเพาะเจาะจงมาร่วมด้วย จึงทำให้เขาเกิดโรคขึ้นมา
อาการป่วยของผู้สูงอายุ เช่น ป่วยติดเตียง หรือมีโรคประจำตัว เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ไหม
จริงๆ การที่ร่างกายที่ไม่แข็งแรง เช่นป่วยติดเตียง มีโรคทางกายแทรกซ้อนหลายๆ โรค แน่นอนว่าย่อมเป็นจุดที่เป็นเหมือนตัวกระตุ้น สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
ในบางครั้งผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมโรคซึมเศร้าได้ คือสมองของคนเรามีส่วนเฉพาะที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์อยู่แล้ว สมมติถ้าคนไข้เป็นโรคเส้นเลือดอุดตันในสมองที่เกี่ยวข้องกับส่วนควบคุมอารมณ์พอดี ก็จะมีปัญหาทางด้านอารมณ์ได้ง่ายขึ้น
คนวัยสูงอายุอยู่ในเจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นวัยทำงานหนัก ต่อสู้ชีวิต และอาจมีความคิดคัดค้านการรักษาสุขภาพจิต เช่น มองว่าเรื่องแค่นี้จะต้องผ่านไปได้ด้วยตัวเองสิ โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่คิดไปเอง ในกรณีนี้ถ้าลูกหลานสังเกตว่าไม่ปกติแล้ว เราจะทำความเข้าใจกับเขายังไงเพื่อให้เขารับการรักษา
สำคัญที่สุดคือญาติต้องเข้าใจนะคะ ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แน่นอนว่าเราอยากให้เขาเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ในอีกส่วนหนึ่งเราต้องทำความเข้าใจความเป็นตัวเขา ในที่นี้หมายถึง คนในเจเนอเรชั่นนี้ เขาผ่านชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก ต่อสู้ เขาพยายามจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น แม้เราจะต้องการให้เขารับการรักษา หรือช่วยเหลือ สิ่งที่เรายังต้องพยายามทำก็คือ ทำให้เขายังคงความเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด
การที่เราพยายามบอกเขาว่า ไม่ได้ ความรู้สมัยใหม่บอกไว้อย่างนี้นะ ต้องทำตามอย่างนั้นนะ โดยที่ไม่สนใจว่าตัวตนเดิมเขาเป็นยังไง เป็นการกระทำที่จะทำให้เราลดโอกาสรักษา หรือดูแลเขาได้อย่างต่อเนื่อง
หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเขาด้วยการพูดตามหลักการตรงๆ แต่ใช้วิธีที่เหมาะสมกับตัวเขา ?
ใช่ค่ะ เราต้องพยายามให้เขาได้ทำกิจกรรม หรือได้คงความสามารถที่เขาควรได้ทำ เดิมเขาเคยทำอะไรบางอย่างที่เขารู้สึกภาคภูมิใจ เขาได้ไปเข้ากลุ่ม ได้ไปทานข้าวกับเพื่อนสมัยเรียน ก็ควรจะให้เขาดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นต่อไปให้ได้มากที่สุด
หากใครเคยดูแลผู้สูงอายุ น่าจะพอทราบว่าความ ‘ดื้อ’ เป็นสิ่งที่ต้องพบเจอ ถ้าในกรณีที่เขาไม่ยอมไปทำกิจกรรมต่างๆ ปฏิเสธ ค้านหัวชนฝา เราจะมีวิธีการโน้มน้าวอย่างไรดี
อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่บางทีญาติไม่เข้าใจ คือเวลาเราอยู่กับคนสูงอายุเราไม่ควรถามว่าจะไปที่นั่นไหม ทำอันนี้ไหม เราไม่ถาม เพราะถ้าถาม เขาจะไม่ไป
ควรจะพาไปเลย ?
ใช่ค่ะ พาไปเลย ไม่ต้องมีคำถาม อันนี้เป็นทริค เราต้องเข้าใจเขาเนอะว่า ทำไมถึงตอบว่าไม่ไป การที่เขาตอบว่าไม่ไปมันเป็นการที่จะคงตัวเขาไว้ได้ เหมือนเด็กเล็กๆ เลยค่ะ เด็กช่วง 2-3 ขวบจะคงความเป็นตัวเขาไว้ได้ด้วยการไม่ทำตามสิ่งที่คนอื่นบอก เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้เขามีกิจกรรม สิ่งที่เราควรทำคือพาเขาไปโดยที่ไม่ต้องถาม เพราะหากถาม คำตอบที่ได้จะเป็นเชิง negative เสมอ
คนเจเนอเรชั่นนี้อาจจะโตมากับความเชื่อที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เช่น การไปกินยาผีบอก การไปบนสิ่งศักดิ์สิทธ์ ซึ่งบางครั้ง เมื่อกินยาผีบอกเข้าไปแล้วอาการอาจหนักขึ้น ขณะที่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ก็ค้านกันสุดๆ เราจะหาทางเจอกันตรงกลางระหว่าง Generation Gap นี้ยังไงดี
เหมือนเดิมเลยคือเราต้องเข้าใจเขา มันมีของหลายอย่างที่เรียกว่า Placebo Effect หรือ ‘ยาหลอก’ คือการดีขึ้นด้วยความเชื่อ ความศรัทธา บางทีเขาไปกินยาหมอไหนแล้วก็รู้สึกดีขึ้น เพราะมันเป็นความศรัทธา
หลักการจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องต่อต้านนะคะ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเขารักษาทางแผนปัจจุบัน แล้วจะรักษาแบบทางเลือกควบคู่กันไม่ได้ เพียงแต่ข้อควรระวังอันนึงที่เราต้องรู้คือ ไม่ว่าคนไข้ทานยาอะไร แพทย์แผนปัจจุบันที่ดูแลต้องรับทราบว่าคือยาอะไร แต่ไม่ได้ห้ามกิน หลายๆ ครั้งญาติคนไข้จะมาถามว่า วิตามิน อาหารเสริม แบบนี้ทานได้ไหม ซึ่งถ้ามันไม่ได้ค้านหรือมีปฏิกิริยาต่อยาแพทย์แผนปัจจุบัน พูดจริงๆ ว่า มันช่วยคนไข้ได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็ทางใจ
ในยุคปัจจุบัน เราอาจจะไม่ชินกับการกอดการหอมผู้สูงอายุในครอบครัว เพราะมีความใกล้ชิดในครอบครัวลดลง ในมุมของคุณหมอ เรื่องนี้สำคัญไหม
สำคัญค่ะ แต่ในที่นี้มันไม่ใช่ข้อบังคับ มันสำคัญเมื่อคุณทำแล้วรู้สึกดี หากเป็นอย่างนั้นหมอก็จะส่งเสริมให้ทำ แต่สมมติว่าทำแล้วเป็นการฝืนมากกว่า หรือไม่ใช่คาแรคเตอร์ของทั้งสองฝ่าย ก็ไม่รู้ว่าจะบังคับไปทำไม
คนดูแลผู้ป่วยก็ต้องมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งพอสมควร หลายคนบอกว่าต้องใช้ความอดทนสูงมาก ในมุมของคุณหมอ ผู้ดูแลควรต้องยึดอะไรไว้ในใจเมื่อต้องรับหน้าที่นี้
อย่างแรก หมอเป็นกำลังใจให้คนที่เป็นผู้ดูแลทุกท่านเลยค่ะ ยอมรับว่าเป็นงานที่หนัก แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ถ้าเราเข้าใจความเป็นไปของโรคและตัวคนไข้ มันจะช่วยให้เราใช้ความอดทนน้อยลง เมื่อเราเข้าใจ เราก็จะปล่อยวางได้มากขึ้น
แต่ยังไงก็ตาม งานดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยเป็นงานหนักเสมอ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วแพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุ ก็ต้องดูแลญาติด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่ญาติมีอาการเครียดหรือรู้สึกไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นภาวะความกังวล ภาวะโรคซึมเศร้า ควรแจ้งแพทย์ เพราะแพทย์จะได้ดูแลทั้งตัวคนไข้และญาติ
มีข้อบ่งชี้หรืออาการที่เป็นลิมิตไหมว่า ถึงขั้นนี้ควรพบแพทย์แล้ว
จริงๆ ไม่มีตายตัวนะคะ เพราะแม้แต่อาการเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถพบแพทย์ได้เหมือนกัน ยิ่งเริ่มสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางกายหรือทางใจของตัวเองได้เร็วเท่าไหร่ การปรึกษาแพทย์ได้เร็ว ยิ่งน่าจะเป็นประโยชน์ที่ดี แต่ก็มีจุดที่ว่า ถึงจุดนี้แล้วคุณยังไม่ปรึกษา อันนี้อันตรายแล้วนะ เช่นเริ่มมีความคิดไม่อยากอยู่ อยากตาย เริ่มมีความคิดทำร้ายตัวเอง เริ่มรู้สึกไม่มีกำลังใจ หม่นหมองมาก ถ้าถึงจุดนี้แล้วก็จำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์
การรักษาจิตเวชของวัยรุ่นทั่วไป บางครั้งคุณหมอจะไม่ให้กินยาในทันที แต่เสนอให้ไปทำจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling) หรือ กิจกรรมพัฒนาสุขภาพจิตต่างๆ แล้วทางเลือกการรักษาของผู้สูงอายุคล้ายกับจิตเวชวัยรุ่นไหม
การรักษาสุขภาพจิต ไม่ผูกติดกับยาซะทีเดียวนะคะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในวิธีการรักษาโดยจิตบำบัด เนื่องจากผู้สูงอายุหลายๆ ท่านเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่สามารถทำจิตบำบัดแบบที่ทำในคนอายุน้อยๆ ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกัน โอกาสที่จะใช้ยาอาจสูงกว่า แต่การใช้ยาในผู้สูงอายุก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและต้องศึกษาว่ามียาตัวไหนบ้างที่คนไข้ใช้อยู่แล้ว และต้องระมัดระวังเรื่องขนาดของยา หรือการที่ยาจะไปมีปฏิกิริยากับโรคอื่น เช่น ความดัน เบาหวาน
หลายคนอาจเริ่มเห็นสเต็ปของชีวิต เช่น อายุมาก เริ่มป่วย ป่วยแล้วก็ยังมีขั้นตอนอีก เช่น เดินไม่ไหว ต้องใส่ผ้าอ้อม ต้องใช้ไม้เท้า ติดเตียง จริงๆ แล้วเราควรจะเตรียมผู้สูงอายุให้พร้อมและเข้าใจสเต็ปต่อไปไหม
การเตรียมพร้อมเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเราเผชิญปัญหาและมีแผนสำรองเอาไว้ เพราะจะทำให้เราแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คนที่กังวลกับสิ่งเหล่านี้มาก ส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ในที่นี้หมายถึงคิดถึงแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าไปก่อน สำหรับตัวหมอเองคิดว่า การที่เรามีแผนเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องไปอยู่กับแผนนั้นมาก
จากประสบการณ์ของตัวเองพบว่าญาติที่ดูแลผู้สูงอายุแล้วมีความสุข มักจะเป็นคนที่อยู่กับวันนี้ อยู่กับปัจจุบัน มากกว่าจะไปคิดถึงเรื่องที่อยู่ข้างหน้า
มีเคล็ดลับในการป้องกันและระแวดระวังสุขภาพจิตผู้สูงอายุไหม
มีหลายปัจจัยที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่ปัจจัยที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ก็มี เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ การที่ยังคงมีกิจกรรมทางสังคม การที่มีความแอคทีฟทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การมีกิจกรรมกลุ่ม การไปอาสาสมัครหรือกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะไปวัด ไปโบสถ์ การที่เขาพยายามทำให้ตัวเองแอคทีฟเข้าไว้เป็นปัจจัยที่จะช่วยป้องกันเขาจากโรคจิตเวชต่างๆ ได้ค่อนข้างดี หรือการเล่นเกมที่ช่วยกระตุ้นสมองก็ช่วยป้องกันเขาจากภาวะสมองจะเสื่อมถอยได้
ส่วนเรื่องภายในครอบครัว การที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็ย่อมจะเป็นปัจจัยที่ช่วยอย่างมาก เวลาที่เขาบ่นอะไรแล้วญาติรับฟังโดยไม่ได้ตัดสิน จะช่วยให้เราเข้าใจเขามากขึ้น เขาก็จะรู้สึกว่ามีที่พึ่งด้วย
ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุที่เปิดรับการรักษาสุขภาพจิตเยอะไหม
เยอะค่ะ หลายๆ ครั้งคนไข้ก็เดินมาเองเลย เข้าใจว่าสังคมไทยเราเองก็เปลี่ยนไปนะคะ คือในแง่มุมทางจิตเวชทั้งหลายเราต้องยอมรับว่าดีขึ้นมาก คนไข้เปิดรับการรักษาทางจิตเวช ยอมรับว่าการมารักษาไม่ได้แปลว่าเขาบ้า คนละเรื่องกัน
นอกจากที่เขาจะเดินเข้ามาเองแล้ว คนที่ดูแลก็จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วยใช่ไหม
การที่คนไข้บางคนไม่มีความเข้าใจหรือความรู้ด้านนี้ ก็อาจทำให้ไม่ทราบว่าเขากำลังป่วย บางทีญาติก็ต้องเป็นคนส่งมา หรือหมอที่ดูแลโรคอื่นๆ บังเอิญสังเกตเห็น หรือได้ยินญาติบ่นให้ฟัง หมอด้านอื่นเลยส่งมาก็มี
กรณีที่คุณหมอประเมินว่าญาติดูแลไม่ไหว ต้องมีพยาบาลหรือทางเลือกอื่นไหม
ถ้าเป็นคนไข้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม ช่วงแรกๆ อาจยังพอดูแลตัวเองได้ แต่อาจจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แต่ในที่สุดเมื่อถึงจุดที่ดูแลตัวเองไม่ได้แล้ว เขาเรียกว่า Totally Dependent หรือภาวะที่ต้องพึ่งพาคนอื่นทั้งหมด ก็ต้องมีคนอื่นที่มาให้การดูแลแบบเต็มเวลา เป็นได้หลายทางเลือกค่ะ ในต่างประเทศก็มีการส่งไป Nursing Home ถ้าเป็นเมืองไทยก็มีการส่งพี่เลี้ยงไปดูแลตามบ้านเต็มเวลา หรือญาติคนใดคนนึงก็เสียสละดูแลแบบเต็มเวลา หรือญาติผลัดกัน มันมีหลายๆ ทางเลือก
ตอนนี้ภาพรวมของ Nursing Home ในไทยเป็นอย่างไรบ้าง
Nursing Home ในประเทศไทยมี gap เยอะมาก ไม่เหมือนในต่างประเทศที่มีองค์กรจ่ายตังค์ตรงนี้ให้ส่วนนึง ญาติจ่ายเพิ่มอีกส่วนนึง ของเมืองไทยมักเป็น Nursing Home แบบบ้านพักคนชรา ที่รัฐ funding หมดเลย กับอีกแบบก็เป็นเอกชนไปเลย ซึ่งญาติอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายๆ หมื่น หรือเป็นศูนย์ในโรงพยาบาลก็มี
แต่มันมีช่องว่างระหว่างแบบรัฐ funding กับแบบเอกชน ซึ่งหลายๆ คนหาสิ่งที่มันเป็นตรงกลาง แต่ว่ายังหาไม่ได้ หมอก็มองหาให้คนไข้เรื่อยๆ เช่นกัน
นอกจากนี้ก็มีสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วย เช่นสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม กิจกรรมหลักๆ เลยคือช่วยเหลือญาติ มีเวิร์กช็อปเล็กๆ ทุกเดือน มีการมาพบปะกันของกลุ่มญาติ มาแชร์กันว่าพบเจอปัญหาอะไร แล้วจัดการยังไง ซึ่งญาติเล่าให้ฟังว่าได้ประโยชน์มาก เพราะไม่มีใครรู้จักคุณพ่อคุณแม่ได้ดีเท่าตัวคุณ เพราะฉะนั้นการที่คุณจะรับมือกับสถานการณ์ได้ ต้องเกิดจากทั้งตัวคุณและประสบการณ์ที่เราได้รับจากคนอื่นร่วมกัน