fbpx
ใจของเราก็เจ็บป่วยเป็น : สุขภาพจิตและความคิดฆ่าตัวตายของนักเรียนนักศึกษาไทย

ใจของเราก็เจ็บป่วยเป็น : สุขภาพจิตและความคิดฆ่าตัวตายของนักเรียนนักศึกษาไทย

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

หลายครั้งที่ข่าวนักเรียนนักศึกษาปลิดชีวิตตัวเองถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ เป็นสัญญาณที่บอกว่าจิตใจของเยาวชนกำลังเจ็บป่วย แท้จริงแล้วข่าวเหล่านั้นเป็นสัญญาณเพียงน้อยนิดที่หลุดมาถึงเรา ปัญหาอีกมากมาย หัวใจอีกหลายดวงกำลังทรมานอยู่หลังฉากที่เราคุ้นเคย บ้าน สถานศึกษา และในสังคมกว้างใหญ่

กรมสุขภาพจิตระบุว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยดื่มและสูบบุหรี่มากขึ้นกว่า 51% เริ่มดื่มเมื่ออายุ 13 ปีกว่า 30 % สูบบุหรี่มากกว่า 100 มวน วัยรุ่นไทยในช่วงอายุ 10-19 ปี พยายามฆ่าตัวตายสูงถึง 1,500-2,000 คน โดยฆ่าตัวตายสำเร็จ 140-160 คน แต่วัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาด้านอารมณ์กลับได้รับการคัดกรองเข้าสู่การรักษาเพียง 10% โดยประมาณ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสุขภาพจิตของวัยรุ่นจำนวนมากมีปัญหา และอยู่ในขั้นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของพวกเขา

เกิดอะไรขึ้นกับวัยรุ่นไทยในสถานศึกษากันแน่

คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดวัยรุ่นและมองเห็นสถานการณ์อันน่าหวั่นใจ ครู อาจารย์ และนักจิตวิทยาในสถานศึกษา ในการประชุมวิชาการชมรมจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมแห่งประเทศไทย ปี 2562 อาจารย์ นักจิตวิทยาจากหลายที่ พร้อมด้วยตัวแทนเด็กและเยาวชน ร่วมกันบอกเล่าสถานการณ์สุขภาพจิตภายในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นว่าครอบครัว การเรียน และสภาพแวดล้อมสามารถส่งผลต่อจิตใจของวัยรุ่นอย่างเหลือเชื่อ

อ.ดร.เอื้ออนุช ถนอมวงษ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะกรรมการดูแลศูนย์สุขภาวะนิสิต KU Happy Place
อ.ดร.เอื้ออนุช ถนอมวงษ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะกรรมการดูแลศูนย์สุขภาวะนิสิต KU Happy Place

อ.ดร.เอื้ออนุช ถนอมวงษ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะกรรมการดูแลศูนย์สุขภาวะนิสิต KU Happy Place มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า ศูนย์สุขภาวะนิสิต KU Happy Place ที่เปิดให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต และให้คำปรึกษากับนิสิต ถูกใช้บริการเยอะเป็นพิเศษในช่วงใกล้สอบ นิสิตหลายคนมักเข้ามาขอรับคำปรึกษาด้วยเรื่องเรียนก่อน เช่น ผลการเรียนตก แต่พอคุยไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ เผยถึงปัญหาอื่น เช่น ความรัก ครอบครัว หรือเรื่องส่วนตัวอื่นๆ

จากการรับฟังปัญหาของนิสิตจำนวนมาก เธอพบว่าปัญหาพ่อแม่คาดหวังให้ลูกเรียนได้ดี ได้เกียรตินิยม ไม่ได้มีอยู่แค่ในละครเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตของนิสิตหลายคน

“พ่อแม่บางคนคาดหวังว่าเขาเคยทำได้ ลูกก็ต้องทำได้ด้วย มันมีจริงๆ ที่พ่อแม่รับไม่ได้เมื่อลูกไม่ได้เกียรตินิยม นิสิตบางคนเคยสอบได้คะแนนดี พอป่วยเป็นซึมเศร้าก็ทำให้ไม่สามารถเรียนได้เหมือนเดิม และมีความคิดเกิดขึ้นว่า แล้วคุณค่าของตัวเขาอยู่ตรงไหน นี่เป็นกรณีที่พบเจอได้ค่อนข้างบ่อย”

นอกจากปัญหาด้านอารมณ์ และการจัดการความเครียดทั่วไปแล้ว ศูนย์ฯ ยังรับหน้าที่ดูแลนิสิตที่มีความต้องการพิเศษ หรือมีปัญหาด้านพัฒนาการด้วย ภายในศูนย์จึงมีทั้งส่วนที่เป็น Co-working Space ให้นักศึกษาเข้ามานั่งทำงานหรือติวหนังสือ มีส่วนที่เป็นห้องให้คำปรึกษา และมีห้องสอบเล็กๆ ไว้สำหรับนิสิตที่เป็นออทิสติก

“ปัจจุบันจำนวนนิสิตที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งกลุ่มออทิสติก กลุ่มความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) กลุ่มสมาธิสั้น (ADHD) รวมทั้งหมดประมาณ 40 คน บางกรณีพ่อแม่ก็ไม่ยอมบอกมหาวิทยาลัยว่าลูกเป็นอะไร บางคนมีอาการผิดปกติทางจิตเวช (Psychosis) พกอาวุธมาเรียนก็มี”

อีกเรื่องที่ศูนย์ฯ ดูแลคือปัญหาการคุกคามทางเพศ อ.ดร.เอื้ออนุชเล่าว่าปีที่ผ่านมาเคยมีกรณีนิสิตชายตั้งกล้องในห้องน้ำหญิงเพื่อถ่ายภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดวินัยนิสิต ต้องถูกพักการเรียน แต่ศูนย์ฯ ก็ไม่ได้ปล่อยผ่านเรื่องนี้เพราะอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาทางจิตใจ

“เราต้องเรียกเขามาคุยว่าสิ่งที่เขาทำมาจากอาการป่วย หรือเป็นพฤติกรรมที่ต้องได้รับการแก้ไข รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจกับนักศึกษาหญิงที่ถูกล่วงละเมิดด้วย”

ปัญหาการทำร้ายตัวเองและความคิดฆ่าตัวตายเป็นอีกปัญหาสำคัญที่หลายมหาวิทยาลัยต้องเผชิญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เองก็มีหลายกรณี ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ศูนย์ฯ จึงจำเป็นต้องมีสายด่วนให้คำปรึกษา 24 ชั่วโมงเพื่อระวังเหตุฉุกเฉิน และให้ความช่วยเหลือด้านคำปรึกษา

“มีเคสนึงนิสิตทะเลาะกับแฟนแล้วพยายามจะกระโดดจากคอนโด แฟนคว้าเอาไว้ได้ แต่แฟนเป็นคนต่างชาติ ไม่รู้จะทำยังไงดี เขาเลยโทรไปหาตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจท่องเที่ยวก็แจ้งไปยังสถานีตำรวจพื้นที่ แล้วสุดท้ายตำรวจในพื้นที่ก็เสิร์ชข้อมูลนักศึกษา จนมาเจอชื่อเราซึ่งเป็นอาจารย์ เราขับรถไปหานิสิตซึ่งตอนนั้นสงบลงแล้ว แต่ระหว่างที่พาเขาไปส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาต่อ อยู่ๆ เขาก็ไถลตัวออกจากเรา เพื่อจะเดินออกไปให้รถชน พยายามฆ่าตัวตายอีกครั้งหนึ่ง”

“อีกเคสหนึ่ง นิสิต live ทางโซเชียลมีเดีย เห็นเป็นภาพเขาอยู่ในที่มืดๆ เพื่อนเขาเห็นทีท่าไม่ดีจึงโทรแจ้งศูนย์ฯ เราก็ตามไปหา เจออยู่ที่ตึกลานจอดรถ และช่วยเหลือจนลงมาได้”

ปัญหาการทำร้ายตัวเองและความคิดฆ่าตัวตายนั้นไม่อาจแก้ไขได้ด้วยสถานศึกษาเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยไปก็ยังมีสิทธิ์เป็นอันตรายหากขาดการสังเกตการณ์หรือความเข้าใจจากครอบครัว

“เราให้ความช่วยเหลือนิสิตที่มีความคิดฆ่าตัวตายด้วยการให้เขาทำ Safety Plan หรือการวางแผนล่วงหน้าว่าถ้าเกิดความคิดอยากตายขึ้นอีกเขาควรทำอย่างไร ไปหาใคร ตอนนั้นเป็นช่วงวันหยุดยาวที่นิสิตต้องกลับบ้าน เราก็ย้ำนิสิตคนนึงว่าอย่าลืมเอา Safety Plan กลับบ้านไปด้วยนะ ระหว่างวันหยุดเราก็ภาวนาขออย่าให้มีข่าว หรือมีโทรศัพท์อะไรมาเลย ปรากฎว่าพอกลับจากหยุดยาวเขาก็มาหาเราที่ศูนย์ เราบอกเขาว่า ครูดีใจมากนะที่เธอไม่ทำ สิ่งที่เขาตอบกลับมาคือ ผมทำแล้วครับอาจารย์ หยิบปืนแล้ว แต่พ่อเปิดเข้ามาเจอพอดี”

หลังจากมหาวิทยาลัยเจอเหตุการนิสิตพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดประชุมกับศูนย์ฯ โดยมีมาตรการเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาออกมา เริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนิสิตทั้งหมด เช่น คณาจารย์ สโมสรนิสิต ไปจนถึงยามและแม่บ้าน เพื่อให้มีเครื่องไม้เครื่องมือในการระมัดระวังความปลอดภัยของนิสิต ป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย และคัดกรองนิสิตที่มีปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นส่งต่อมายังศูนย์ฯ

“การให้ความรู้เบื้องต้นทำให้เราเห็นว่า อาจารย์บางคนขาดความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตจริงๆ อาจารย์คนนึงบอกเราว่า ผมตกใจมากเลย เพราะคิดว่าโรคซึมเศร้าไม่น่าจะเกิดกับคนอายุเกิน 18 ปี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

“ยามประจำตึกที่เด็กจะไปกระโดดเคยพูดกับเด็กหลังช่วยเหลือได้แล้วว่า โอ้ย เรื่องแค่นี้เอง มันจะเครียดอะไรนักหนา ลุงได้เงินวันละสามร้อยสองร้อยยังอยู่ได้เลย ซึ่งเป็นคำพูดที่กระทบจิตใจของนิสิต เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้วิธีในการสื่อสารกับเด็กกับยามและแม่บ้านด้วย”

“อาจารย์และบุคลากรหลายๆ ท่านไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องดูแลนักศึกษาไปจนถึงเรื่องจิตใจขนาดนี้ด้วย เราก็บอกเขาว่า ตามระเบียบมหาวิทยาลัยนอกจากให้ความรู้เขาแล้ว เราต้องดูแลคุณภาพชีวิตของนิสิตด้วย หน้าที่ของทุกคนไม่ยากเลย เพียงแค่สังเกตแล้วส่งต่อมายังศูนย์ฯ ก็ได้”

อาทิตา อุตระวณิชย์ นักจิตวิทยาประจำหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาทิตา อุตระวณิชย์ นักจิตวิทยาประจำหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในมหาวิทยาลัยพื้นที่หนึ่งซึ่งมีผู้คนหลากหลาย ไม่เพียงแต่นักศึกษาคนไทยเท่านั้นที่เจอกับปัญหาสุขภาพจิต แต่หมายรวมไปถึงนักศึกษาต่างชาติที่จากบ้านมาไกลด้วย อาทิตา อุตระวณิชย์ นักจิตวิทยาประจำหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชร์สถานการณ์สุขภาพจิตของนักศึกษาว่า นักศึกษาที่จุฬาฯ มาขอคำปรึกษาจำนวนมาก โดยความรุนแรงของปัญหาแตกต่างกันไป บางคนรู้ตัวเร็วและเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตก็จะเข้ามาพูดคุยและแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ แต่บางคนก็เก็บปัญหาไว้ บ้างแยกตัวเองออกจากสังคม ออกจากคณะ จนเริ่มมีผลกระทบกับการเรียน

“ปัญหาหลักๆ เป็นเรื่องการเรียน ซึ่งอาจเป็นปัญหาบนผิว พอคุยไปคุยมาปัญหาจะโยงไปที่เรื่องความสัมพันธ์ ครอบครัว อาการที่เจอบ่อยคือ กังวล เศร้า บางคนเข้ามาด้วยความเศร้า แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากความกังวลที่ไม่ได้รับการแก้ไขจนลุกลามไปหลายเรื่อง”

อาทิตาทำหน้าที่ดูแลนิสิตต่างชาติที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนานาชาติด้วย ปัญหาหลักๆ ของนักศึกษากลุ่มนี้คือเรื่อง Culture Shock หรือการปรับตัวไม่ได้เมื่ออยู่ต่างที่ แต่อาทิตาสังเกตว่านักศึกษาที่เป็นคนต่างชาติจะตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตได้รวดเร็วกว่านักศึกษาไทย

“เขามาอยู่ในประเทศที่แตกต่างจากบ้านเกิดของเขามาก และเจอกับความโดดเดี่ยว บางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ก็จะยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ บางคนมีชีวิตแบบเช้ามามหาวิทยาลัย เย็นก็กลับหอ ไม่ได้มีสังคมหรือออกไปไหน ทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว”

“ข้อดีของนิสิตนานาชาติคือเขารู้ตัวเร็วและขอความช่วยเหลือรวดเร็ว เขาจะมาพูดคุยในระดับปัญหาที่แก้ไขไม่ยาก เช่น ปัญหาที่รู้สึกโดดเดี่ยว เราจะช่วยแก้ปัญหาโดยการหา Social Support หางานอดิเรก ให้เขามีด้านอื่นๆ ในชีวิต และกลับไปเผชิญกับการเรียนได้มากขึ้น”

“เรายังมีพื้นที่ให้นิสิตได้เข้ามาผ่อนคลาย มีมุมอ่านหนังสือ มีเครื่องดนตรี ให้นิสิตทั้งไทยและต่างชาติแวะเวียนมาเล่น และยังมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะทุกเดือน เพื่อกระตุ้นให้นิสิตได้มาพบเจอเพื่อนต่างคณะ เปิดโลก เห็นมุมมองใหม่ๆ จากคนอื่นๆ ด้วย”

กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากปัญหาส่วนตัวและสภาพแวดล้อมในการเรียนแล้ว บางครั้งเรื่องที่นักศึกษาต้องเจอทุกวัน เช่น เนื้อหาในวิชาเรียน ก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยกตัวอย่างปัญหาเฉพาะของนักศึกษาผ่านประสบการณ์ดูแลนักเรียนมัธยมปลาย และนักศึกษาปริญญาตรีที่เรียนด้านดนตรีว่า

“หลายคนอาจคิดว่าการเรียนดนตรีน่าจะมีความสุข ในภาษาไทยเราใช้คำว่า ‘เล่น’ ดนตรี คนก็คิดว่าเรียนดนตรีกับเล่นดนตรีคงคล้ายกัน แต่จริงๆ นักศึกษามีปัญหา ทั้งเรื่องการเรียน การแสดง การทำ Performance และปัญหาอื่นๆ”

การทำการแสดงทำให้นักศึกษาหลายคนต้องพึ่งพาอารมณ์ บางครั้งต้องกดอารมณ์ที่แท้จริงไว้เพื่อแสดงอารมณ์ตามเพลง นอกจากนั้นการแข่งกันที่สูง ยังส่งผลให้นักศึกษาหลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว และกดดัน

“การแสดงเป็นสิ่งที่จริงจังและต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ บางครั้งเขาไม่ได้มีความสุข แต่ก็ต้องพร้อมแสดงให้มีความสุข เมื่อเช้าเขาอาจจะทะเลาะกับคุณแม่ พอมาสอบเขาต้องร้องเพลงด้วยใบหน้ายิ้มแย้มให้ได้

“หลายครั้งเด็กๆ ต้องแข่งขันเพื่อทุนการศึกษา เด็กสมัครหลายคนแต่ถูกเลือกแค่คนเดียว เพื่อนที่เคยสนับสนุนเขา กลายมาเป็นคู่แข่งไปหมด เขาต้องมาคิดว่า จะเล่นดนตรีอย่างไรให้ดีกว่าคนที่เป็นเพื่อนกันมาตลอด บางครั้งก็มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นเพื่อเอาชนะกันให้ได้”

กฤษดายังพบว่านักศึกษาหลายคนใช้โซเชียลมีเดียในการระบายอารมณ์ความรู้สึก การโพสต์โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นสัญญาณเตือน เมื่อพวกเขามีความคิดฆ่าตัวตาย

“บางคนคิดเรื่องรมควันตัวเอง โพสต์ว่าอยากจะซื้อเตารมควัน พอเราเห็นสัญญาณแบบนี้ก็จะเข้าไปช่วยเหลือ นักเรียนบางคนสอบปฏิบัติในปลายเทอมได้คะแนนไม่ดี แล้วก็หายหน้าหายตาไป เพื่อนไปเจออีกทีเขากำลังกรีดข้อมือ ก็รีบมาแจ้งผมเพื่อจัดการวิกฤต

“เราช่วยเหลือนักศึกษาโดยการทำ Safety Plan หาทางที่จะพาเขาออกจากสภาวะนั้น บางคนพูดคุยจนพบว่า เขามีความฝันอยากเห็นตัวเองเรียนจบและใส่ชุดปริญญาไปหาคุณตา ก็นำเรื่องเหล่านี้มาใส่ใน Safety Plan หลังจากนั้นเมื่อเขาพยายามกรีดข้อมืออีก เขาบอกผมว่าหนูกรีดแล้วนึกถึงหน้าคุณตาที่อยู่ต่างจังหวัด จึงรีบวิ่งมาขอความช่วยเหลือทันที ซึ่งผมคิดว่าการวางแผนให้เขาหลุดจากสภาวะนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากครับ”

ในส่วนของนักเรียนมัธยมปลายกฤษดาเล่าว่า เด็กๆ มักจะคิดกังวลถึงอาชีพในอนาคต เส้นทางการเรียน ความรัก และพบปัญหาสำคัญคือ ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่

“เด็กหลายคนต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับโอกาส เพราะยังอยู่ในความปกครองของผู้ปกครอง หรืออาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียน บางครั้งผู้ใหญ่มองคนละแบบกับที่เด็กต้องการ เมื่อนักเรียนบอกว่ามีอาการซึมเศร้าอยากจะพบหมอ ผู้ใหญ่จะบอกว่าอยากให้เรียนหนังสือก่อน อีกนิดเดียวก็จะเรียนจบแล้ว ถ้าขาดเรียนจะมีผลกระทบ เราในฐานะที่เป็นทั้งครู และนักบำบัดจึงพยายามจะจัดการความขัดแย้งนี้ให้อยู่ตรงกลางมากที่สุด”

นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาจากมีรักคลินิก ที่ทำงานกับโรงเรียนมัธยมหลายโรงเรียน
นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาจากมีรักคลินิก ที่ทำงานกับโรงเรียนมัธยมหลายโรงเรียน

ไม่ใช่เพียงนักศึกษาเท่านั้น แต่นักเรียนในระดับมัธยม หรือกลุ่มเด็กและเยาวชนก็เป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาจากมีรักคลินิก ที่มีประสบการณ์ทำงานกับโรงเรียนมัธยมหลายโรงเรียน กล่าวว่า เด็กนักเรียนมีปัญหาสุขภาพจิตที่ซับซ้อนทั้งในมุมของตัวเองและสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่

“ปัจจัยแรกที่มีผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนคือสภาพแวดล้อม โรงเรียนมัธยมต้น-มัธยมปลายแห่งหนึ่ง ที่ผมดูแลนักเรียนกลุ่ม English Program ที่ผมดูแล นอกจากจะมีครูผู้สอนแล้ว จะมีครูประจำหน่วยโครงการสุขภาพจิต ที่ทำหน้าที่คัดกรองเด็กและส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่โรงเรียนมัธยมปลายอีกแห่ง มีการสอบแข่งขันจากทั่วประเทศ และมีนักเรียนเข้าสอบปีละหลายหมื่น ดังนั้นก่อนจะเข้ามาศึกษาในโรงเรียน เด็กหลายคนก็เผชิญภาวะต่างๆ ทางอารมณ์อยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งระบบการดูแลยังเป็นการช่วยเหลือแบบโรงเรียนทั่วไป คือ มีครูประจำชั้น ครูผู้สอน และมีครูแนะแนว 6 ท่านที่ดูแลเด็กทั้งโรงเรียนจำนวนกว่าสี่พันคน”

“ปัจจัยที่สองคือ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ แต่ละครอบครัวมีความคาดหวังต่อลูกต่างกัน เด็กๆ ใน English Program มีแนวโน้มเรียนต่อต่างประเทศ หรือภาคภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยไทย ความคาดหวังต่อการเรียนจึงไม่เข้มงวดมากนัก ในขณะที่อีกโรงเรียน เด็กๆ หลายคนเคยเป็นที่หนึ่งในระดับจังหวัดของตัวเองมาก่อน แต่พอเด็กเหล่านั้นมารวมกันอยู่ที่นี่ ทำให้ความคาดหวังมีมาก ทั้งตอนก่อนเข้าเรียน ระหว่างเรียน และตอนจบการศึกษา”

นรพันธ์เล่าว่าปัญหาที่พบในนักเรียนกลุ่ม English Program คล้ายกับโรงเรียนทั่วไปคือ เรื่องการเรียน เรื่องพัฒนาการและพฤติกรรม เช่น สมาธิสั้น และปัญหาด้านอารมณ์ซึ่งจะพบมากในเด็กมัธยมปลาย ส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลเรื่องสายงาน และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคต

“แม้ว่าความคาดหวังของพ่อแม่ไม่ได้เข้มข้นนัก แต่ช่องทางในการเรียนต่อภาคภาษาอังกฤษ หรือต่างประเทศอาจมีไม่เยอะ เขาจึงต้องสู้กับการสอบที่แตกต่างจากเด็กภาคไทย”

ในขณะที่โรงเรียนมัธยมปลายที่มีการแข่งขันสูง เด็กต่างจังหวัดหลายคนเจอปัญหาการปรับตัวเพื่อมาอยู่ในวัฒนธรรมใหม่ และกดดันที่ต้องรักษาผลการเรียนให้ดี

“เด็กบางคนเคยมีคุณพ่อคุณแม่ไปรับไปส่ง เคยสอบได้ที่หนึ่งตอนอยู่ต่างจังหวัด แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ กลับต้องอยู่หอ หารูมเมท ต้องเดินกลับจากโรงเรียนเอง ขึ้นบีทีเอสเองบ้าง โลกมันเคว้งคว้างไปหมด เมื่อก่อนเหนื่อยเศร้าก็บอกให้พ่อแม่ฟังได้ แต่ตอนนี้เวลาจะบอกให้ใครฟัง ใครคนนั้นกลายเป็นคนที่จ่ายเงินให้ และคาดหวังกับเขาไว้มาก ทำให้เด็กๆ หวาดหวั่นที่จะบอกใคร หลายคนพยายามสู้ด้วยตัวคนเดียว”

อีกปัญหาที่นรพันธ์เจอคือนักเรียนมักไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ารับการรักษา เนื่องมาจากผู้ใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจ หรือแม้กระทั่งเด็กบางคนได้โอกาสในการเข้ารักษาแล้ว ก็ยังพบปัญหาเรื่องระบบการดูแลและวิธีคิดของผู้ใหญ่ โดยยกตัวอย่างกรณีที่เขาพบเจอว่า

“เด็กคนหนึ่งมีอาการซึมเศร้า และมีภาวะบุคลิกภาพผิดปกติ เขาต้องเขียนเรียงความเพื่อไปชิงทุนต่างประเทศ เขาสอบผ่านทุกอย่างเลย แต่ในเรียงความเขียนว่า ‘หนูเคยกรีดข้อมือ แต่วันนี้หนูไม่ทำแล้ว’ ในโรงเรียนที่มีระบบจัดการเรื่องสุขภาพจิต จึงทำเอกสารทางการแพทย์คุยกับ Host Family ที่ต่างประเทศ Host Family ก็ยินดีที่จะให้เด็กไปโดยมีข้อจำกัดคือ เด็กต้องอยู่บ้านเดียวกันกับเพื่อนอีกคน

“ขณะที่โรงเรียนซึ่งไม่มีระบบจัดการดูแล คุณครูอาจไม่มีวิธีการตั้งรับ แม้เด็กจะได้รับคำวินิจฉัย มียาติดตัวไปต่างประเทศแล้ว แต่ถ้า Host Family เจอยา เด็กอาจจะโดนเอายาทิ้ง ดังนั้นนอกจากปัญหาสภาพแวดล้อม และปัญหาอารมณ์ของเด็กเอง ปัญหาที่มาจากมุมมองของผู้ใหญ่ และระบบความช่วยเหลือก็สร้างผลกระทบเช่นกัน”

นรพันธ์กล่าวว่าการที่ผู้ใหญ่ปฏิเสธปัญหาสุขภาพจิตของเด็กอาจก่อปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น คือเด็กอาจเริ่มทำร้ายร่างกายตัวเอง มีความคิดฆ่าตัวตาย ไปจนถึงเริ่มรู้สึกว่าความตายเป็นสิทธิ์ของฉัน พ่อแม่ห้ามไม่ได้ ซึ่งมักเกิดหลังจากถูกพ่อแม่ปฏิเสธ นอกจากนี้การปฏิเสธของพ่อแม่อาจทำให้เด็กยิ่งถอยห่างจากการรักษาทางการแพทย์ด้วย

“เด็กๆ เข้าไปหาพ่อแม่เพราะรู้สึกปลอดภัย แต่พ่อแม่กลับตัดสินตัวเขา ตัดสินความทุกข์ของเขาวันนี้ด้วยอนาคต บอกว่าเดี๋ยวเขาจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้ทำอาชีพนี้ เด็กกับพ่อแม่มีฝันคนละฝันกันแล้วนะครับ

“ผมเจอเด็กที่กรีดข้อมือเพราะรู้สึกเจ็บปวดข้างใน ผมเริ่มเจอเด็กที่เอาเศษแก้วใส่รองเท้าเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน ถ้าเป็นความเจ็บปวดทางกาย ผู้ใหญ่อย่างพวกเราจะคอยระมัดระวังไม่ให้เขาบาดเจ็บ แต่พอเป็นความทุกข์ข้างใน เมื่อเขาเรียกร้องจากพ่อแม่แล้วไม่ได้รับการยินยอม เด็กๆ อาจยืนยันว่า สิทธิ์การตายเป็นสิทธิ์ของฉัน พ่อแม่อย่ามาแตะต้อง ผมกังวลครับว่า ถ้าวิธีคิดแบบนี้อยู่ต่อ วิธีคิดถัดมาของเด็กๆ คือ ฉันไม่หาหมอแล้ว ฉันพร้อมจะตาย และการไม่ได้ตายคือความทรมาน เพราะฉะนั้นทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคมที่มองเรื่องการเข้าถึงการรักษาแบบเดิม จะยิ่งทำให้เขาออกห่างจากหมอหรือนักจิตวิทยาอย่างพวกเรา เพราะพ่อแม่ทำให้เขามองว่าพวกเราน่ากลัว ทั้งที่เรามีหน้าที่ช่วยเหลือเขา”

ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ตัวแทนเด็กและเยาวชน
ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ตัวแทนเด็กและเยาวชน

ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา วัย 14 ปี ตัวแทนเด็กและเยาวชน ผู้รณรงค์เรื่องการเข้าถึงการรักษาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนได้แบ่งปันประสบการณ์จากเพื่อนๆ ของเธอว่า หลายคนเจอปัญหาความกดดันจากพ่อแม่ เพื่อนคนหนึ่งของเธอเป็นคนเรียนเก่งมาก คุณแม่ของเขาจึงฝากความหวังเอาไว้ว่าต้องได้ท็อปทุกวิชา และขู่เพื่อนคนนี้ว่า ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจะส่งไปอยู่กับคุณพ่อซึ่งมีภรรยาใหม่

“แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าหากลูกไปเจอครอบครัวใหม่ของพ่อ จะเจอกับคำพูดเสียดสี โดนรังแก คุณแม่ก็ยังคงขู่ต่อไป ช่วงนึงที่เพื่อนคนนี้เรียนดรอปลง คุณแม่ก็ย้ำว่า ในเมื่อเคยเรียนเก่งมาตลอดทำไมเรียนตกลงมาแบบนี้ จากนั้นคุณแม่ก็เริ่มตีโดยใช้ไม้แขวนเสื้อ นานๆ ไปก็เริ่มใช้สายไฟตี เพื่อนคนนี้ก็เริ่มตั้งคำถามว่าเขาต้องเก่งขนาดไหนพ่อแม่ถึงจะรักเรา”

“การสอบครั้งถัดไปเขาสอบได้ที่สอง หากเป็นพ่อแม่ของเด็กทั่วไป หรือเด็กที่ไม่ได้เรียนเก่ง สอบได้เท่านี้อาจรู้สึกว่าลูกตัวเองเก่งแล้ว แต่คุณแม่ของเพื่อนคนนี้กลับไม่พอใจ ทำตามคำขู่โดยส่งเขาไปอยู่กับคุณพ่อ และไปเจอภรรยาใหม่ที่คอยพูดว่าร้ายตลอดเวลา เขาเลยเริ่มทำร้ายตัวเอง เริ่มกรีดข้อมือ”

สำหรับพฤติกรรมการทำร้ายตัวเองนั้น ปราชญาเล่าว่า เด็กหลายคนเมื่อมีปัญหากับพ่อแม่จึงเลือกหันหน้าหาความช่วยเหลือจากทางอื่น บางคนลอกเลียนพฤติกรรมจากสื่อ เช่น ในทวิตเตอร์หากเราเข้าไปที่ #โรคซึมเศร้า เราจะเห็นวัยรุ่นโพสต์รูปกรีดข้อมือจำนวนมาก

“พอเขาเริ่มเครียด เขาไม่เลือกที่จะปรึกษาเพื่อน แต่เลือกสมัครทวิตเตอร์เพื่อปรึกษาคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเหมือนกัน เขาบอกว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเข้าใจเขามากกว่า คนเหล่านั้นบอกเขาว่า ถ้าทุกข์มากงั้นย้ายความเจ็บปวดไปไว้ที่มือไหมล่ะ เขาก็เริ่มทำร้ายตัวเองโดยไม่มีใครรู้ เพราะครอบครัวใหม่ของคุณพ่อไม่ได้สนใจเขา หลังจากนั้นเขาก็เริ่มกินน้ำยาล้างห้องน้ำ จนต้องเข้าโรงพยาบาล”

“ทันทีที่เรารู้ก็โทรไปหาเพื่อน เขาเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง และบอกว่า ‘เรารอฟังคำเดียวจากแม่เราคือ ‘ไม่เป็นไร ไม่ต้องเพอร์เฟ็กต์ขนาดนั้นก็ได้’ คำนี้คำเดียวที่จะปลดปล่อยเขาออกจากกรอบที่หาทางออกไม่เจอ”

ปราชญาแสดงความคิดเห็นในฐานะเด็กและเยาวชนว่า พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องกดดันลูกให้เก่ง เธออยากให้เข้าใจว่าชีวิตของเด็กเช่นเธอก็มีความผิดพลาดและผิดหวังเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กๆ ต้องเข้าสู่ความผิดหวัง ในโรงเรียนก็ไม่มีใครสอนเรื่องการรับมือกับภาวะเช่นนี้ด้วย

“ในวิชาเรียน ไม่มีใครบอกเราว่าเราต้องจัดการกับอารมณ์ยังไง ไม่มีใครบอกว่า พอเราผิดหวัง เราเริ่มต้นใหม่ได้ ไม่มีใครบอกว่า เราไม่ต้องเก่งที่สุดเสมอไป”

จากการทำงานในสภาเด็กและเยาวชน ปราชญาได้ลงพื้นที่ในเขตที่เธออาศัย เพื่อคุยกับนักเรียนต่างๆ และสอบถามถึงปัญหาสุขภาพจิต เธอพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ประสบปัญหาโรคซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้เพราะข้อจำกัดด้านกฎหมาย มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถเข้ารับการรักษาอาการซึมเศร้าเองได้

“เราจะให้เขาหลับตาแล้วให้ยกมือเมื่อสิ่งที่เราพูดตรงกับเขา ที่ให้หลับตาเพราะเด็กหลายคนมักจะยกตามเพื่อน ส่วนเด็กที่เครียดจะไม่กล้ายก เราจะถามว่า ใครเคยรู้สึกเครียด ใครเคยคิดอยากตายใน 7 วันที่ผ่านมาบ้าง ผลที่เจอคือ โรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ประมาณ 10 โรงเรียนที่เราลงพื้นที่ เด็กไม่ต่ำกว่า 2-3 คนในห้องเรียนหนึ่งห้องเคยคิดค่าตัวตาย”

“พอเราเข้าไปคุยกับเขาแบบ Focus Group เขาบอกว่า รู้นะว่าเครียด มีภาวะซึมเศร้า อยากจะไปหาหมอ แต่บางคนเคยไปแล้วไม่ได้รับบริการ พยาบาลบอกว่าให้พาพ่อแม่มาก่อนถึงจะรับรักษา เขาก็เลยรู้สึกเหมือนมีกำแพงกั้น จะรอจนกว่าอายุ 18 ปีค่อยรักษาดีกว่า บางคนก็ต้องรอถึง 3-4 ปี อาการก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน”

“มีเคสนึงที่เพิ่งเจอมา เขาอายุ 16 ปี อีก 2 ปี ถึงจะหาหมอได้ เขานอนหลับตอนกลางคืนแล้วไม่รู้ตัวว่าลุกไปทำร้ายคนอื่น บางคืนลุกขึ้นมาเอาหัวชนกำแพงทั้งๆ ที่หลับ บางทีเดินไปห้องแม่แล้วโยนของใส่แม่โดยไม่รู้ตัวเลย อาการเริ่มหนักขึ้นในทุกๆ คืน จนตอนนี้ต้องใช้เชือกมัดมือมัดเท้าก่อนนอน

“เขาไปหาหมอด้วยตัวเอง แต่คุณหมอเห็นว่ายังอายุไม่ถึง ไม่สามารถรักษาได้ พอเขาไปปรึกษาพ่อแม่ว่าอยากให้พาไปรักษา พ่อแม่ก็เป็นห่วงเรื่องในอนาคตว่า บางมหาวิทยาลัยหรือบริษัทต่างๆ จะตรวจประวัติสุขภาพแล้วไม่ยอมให้ลูกทำงาน เลยไม่ให้ลูกไปรับการรักษา เคสนี้ปัจจุบันก็ยังต้องรออีก 2 ปี เรากำลังคุยกับคุณพ่อคุณแม่เขาเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา”

แม้ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดกับนักเรียนนักศึกษาจะเป็นเรื่องเก่าที่ผ่านหูผ่านตาเรื่อยมา แต่ประเด็นมากมายที่ซ่อนอยู่ ทั้งความเข้าใจของผู้ใหญ่ ระบบดูแลของสถานศึกษา และการเข้าถึงการรักษาที่ยากลำบาก กลับเผยความยุ่งเหยิงและฉายภาพแท้จริงของปัญหา ความเจ็บป่วยที่จิตใจ ไม่ใช่แค่กระแสที่พัดมาแล้วผ่านไป แต่จะสร้างความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อจากนี้ หากเราละเลย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save