fbpx
ทำไมซึมเศร้า - ซึมเศร้าทำไม: คลื่นแห่งโรคซึมเศร้ากำลังสาดซัดเข้าหามนุษยชาติ

ทำไมซึมเศร้า – ซึมเศร้าทำไม: คลื่นแห่งโรคซึมเศร้ากำลังสาดซัดเข้าหามนุษยชาติ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลกันมากขึ้น

ไม่ได้แค่มากเฉยๆ แต่มากในระดับเป็น ‘คลื่น’ ลูกใหญ่ที่กำลังสาดเข้าหามนุษย์ด้วยซ้ำ!

สำนักข่าว NBC เคยรายงานเรื่องของเด็กหญิงชื่อ อเล็กซ์ คร็อตตี้ ที่เริ่มป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่อายุ 11 ขวบ

ในวัย 11 ขวบ เธอไม่ได้แค่รู้สึกไม่มีความสุขเท่านั้น แต่ยังรู้สึกว่างเปล่าและสิ้นหวังด้วย เธอไม่สนุกกับสิ่งต่างๆ เด็กคนอื่นๆ สนุกกัน เธอไม่อยากเล่นกับใคร ไม่อยากเล่นของเล่นอะไร เธอเก็บความรู้สึกนี้เอาไว้เงียบๆ พร้อมกับรู้สึกละอายในตัวด้วยที่เป็นอย่างนี้ เธอบอกว่าไม่ได้รู้สึกว่าไม่มีใครรัก เธอแค่รู้สึกชากับโลกทั้งโลก ทุกอย่างรอบตัวเธอดีไปหมด ไม่มีอะไรเลวร้ายเลย แต่กลับไม่มีอะไรทำให้เธอมีความสุขได้ และเธอไม่รู้ด้วยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้

ผู้ป่วยแบบคร็อตตี้ไม่ได้มีเธอคนเดียว แต่มีรายงานจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของอเมริกา ระบุว่าปัจจุบันนี้ เด็กอเมริกัน 1 ใน 5 ที่มีอายุระหว่าง 3 ขวบ ถึง 17 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิตใจ สภาวะอารมณ์ รวมไปถึงพฤติกรรม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า (Depression) และวิตกกังวล (Anxiety) ซึ่งนับรวมๆ แล้ว มีจำนวนถึงราว 15 ล้านคน

สามขวบก็เป็นซึมเศร้าแล้วหรือ — คุณอาจสงสัย

ใช่ครับ แล้วที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ในผู้ป่วยที่ว่ามานี้ มีที่ได้เข้ารับการรักษาเพียงราว 20% เท่านั้น แต่อีก 80% หรือราว 12 ล้านคน ไม่ได้รับการรักษาใดๆ เลย อย่างหนึ่งก็เพราะเป็นเด็กเกินกว่าที่ใครจะคิดว่าพวกเขาเป็นโรคซึมเศร้านี่แหละ

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปกินส์ ในบัลติมอร์ โดย รามิน โมชทาไบ (Ramin Mojtabia) และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics ที่สำรวจวัยรุ่นมากกว่า 170,000 คน ผู้ใหญ่อีกเกือบ 180,000 คน พบว่าคนที่มีอาการซึมเศร้าแบบ Major Depression เพิ่มจาก 8.7% ในปี 2005 มาเป็น 11.3% ในปี 2014

ตัวเลขนี้สอดคล้องกับการสำรวจของ Pew Research Centre ที่สำรวจวัยรุ่นอเมริกัน จากบรรดาเด็กวัยรุ่นอายุ 13-17 ปีที่ตอบแบบสอบถาม (คือมีคนที่ไม่ได้ตอบแบบสอบถามกลับมาด้วยนะครับ) ทั้งหมด พบว่าเด็กๆ เหล่านี้เห็นว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงมาก นั่นคือเห็นว่าตัวเองมีปัญหานี้และเป็นเรื่องร้ายแรงมากถึง 70% ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองมีปัญหานี้ แต่ปัญหาไม่ร้ายแรงนัก (คือเป็น minor problem) มีอยู่ 26% ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องซึมเศร้ามีแค่ 4% เท่านั้นเอง

นอกจากอาการซึมเศร้าแล้ว ประเด็นอื่นๆ ที่เด็กๆ เหล่านี้คิดว่าเป็นปัญหา มีอาทิ การถูกกลั่นแกล้งหรือ Bullying ปัญหายาเสพติด การดื่มเหล้า ความยากจน ตั้งท้องในวัยเรียน แต่เรื่องอื่นๆ มีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลมากทีเดียว

ดร.แฮโรลด์ ค็อพเลวิกซ์ ​(Harold Koplewicz) จากสถาบัน Child Mind Institute ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเรื่องสภาพจิตของเด็ก ยังบอกด้วยว่า โรคซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้น ‘โจมตี’ เด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งทำให้เขาประหลาดใจมาก

ถ้าเรามาดูตัวเลขในไทย จะพบว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่นะครับ คนไทยเองก็เริ่มมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังนี้เหมือนกัน มีรายงานของกรมสุขภาพจิต บอกว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในปี 2560 มีมากถึง 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 36% ภายใน 3 ปี โดยมีการสำรวจทางระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทย พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีโรคซึมเศร้ารุนแรงชนิดครั้งคราว 2.4% และชนิดเรื้อรัง 0.3% ซึ่งเมื่อดูจากสถิติโดยรวมแล้ว แปลว่าในประชากรไทย 100 คน จะมี 3 คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และแม้จะไม่ได้สำรวจในวัยรุ่นเหมือนผลสำรวจของอเมริกา แต่ที่เหมือนกันก็คือ ผู้หญิงเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า

คำถามก็คือ – อะไรทำให้เกิดแนวโน้มแบบนี้ขึ้นมาได้?

ใช่ครับ – ถ้าจะเอาคำตอบที่แน่ชัดจริงๆ จะไม่มีใครกล้าบอกได้หรอกครับ ว่ารู้

อย่างไรก็ตาม หลายคนเริ่มวิเคราะห์สืบย้อนกลับไปหาการเลี้ยงดูเด็ก ว่าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากวัยเด็กเล็กที่เราเรียกว่า Toddler ได้หรือไม่

ปกติแล้ว เรามักจะคิดว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าน่าจะเป็นพวกวัยรุ่น เรามักเชื่อมโยงโรคซึมเศร้าเข้ากับอาการอกหักรักคุดอะไรทำนองนั้น แต่ที่จริงโรคซึมเศร้าซับซัอนกว่านั้นมาก เพราะเป็นทั้งโรคที่เกิดขึ้นทางกาย คือในสมองของเรา และเกิดขึ้นทางจิตใจด้วย ดังนั้น สมองของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันจึงเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่อีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็กก็ได้

ดร. โจน ลูบี (Joan Luby) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Early Emotional Development Program ที่มหาวิทยาลัยแพทย์วอชิงตันในเซนต์หลุยส์ และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องโรคซึมเศร้าในเด็กเล็ก บอกว่า เด็กอายุ 2-5 ขวบ (ซึ่งยังเด็กมากๆ) นั้น มีอยู่ราว 1-2% ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า เพียงแต่เด็กเหล่านี้บอกเล่าอะไรออกมาไม่ได้ ดังนั้น เด็กเล็กขนาดนั้นที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงมักไม่ได้รับการรักษา ซึ่งก็จะส่งผลต่อมาในอนาคตเมื่อโตขึ้น ทำให้อาการซึมเศร้ารุนแรงมากขึ้นได้

ดร. ลูบี บอกว่า เด็กเล็กมีความซับซ้อนทั้งทางการรับรู้และทางอารมณ์สูงมากกว่าที่เราเคยคิด สมัยก่อน เราคิดว่าเด็กเป็นคล้ายๆ สัตว์ด้วยซ้ำ คือเป็นเหมือนเครื่องจักรที่คิดอะไรไม่ได้ ไม่ได้มีความต้องการอะไรมากมายนักนอกจากอาหาร (คือการให้นมและอาหาร) และความต้องการพื้นฐานทางกายภาพอื่นๆ แต่ที่จริงแล้วเด็กคนหนึ่งๆ คือ ‘ระบบ’ ที่ซับซ้อนในตัวเอง เด็กมีสภาวะทางอารมณ์ที่ซับซ้อนมาก เด็กรับรู้ถึงสภาวะอารมณ์ในสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ เช่น สภาวะอารมณ์ของพ่อแม่หรือพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นถ้าสภาวะอารมณ์เหล่านั้นไม่ดี ก็เป็นไปได้ที่จะกลายมาเป็นเงื่อนไขตั้งต้น (Prerequisites) สำหรับอาการซึมเศร้าในอนาคต

ที่น่าสนใจมาก และแสดงให้เห็นถึง ‘คลื่น’ ของการเป็นโรคซึมเศร้าที่เริ่มสาดซัดเข้ามาหามนุษยชาติโดยยังไม่มีใครรู้สาเหตุ ก็คือ รายงานของโมชทาไบและคณะ ที่บอกว่าปรากฏการณ์โรคซึมเศร้านี้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่าสมัยก่อน ในช่วงปี 2005-2014 โดยเฉพาะในวัยรุ่นหญิงผิวขาว

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาของ ดร.จีน ทเวนจ์ (Jean Twenge) ที่เคยเขียนบทความลงใน Psychology Today ด้วย เธอบอกว่าติดตามปรากฏการณ์นี้มาระยะหนึ่งแล้ว เธอเล่าว่าเคยมีการสำรวจที่เรียกว่า MtF หรือ Monitoring the Future ที่สำรวจวัยรุ่น 1.4 ล้านคน มาตั้งแต่ทศวรรษเจ็ดศูนย์ พบว่าการสำรวจนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจของ Mojtabia เช่นกัน นั่นคือในช่วงปี 2012 ถึง 2013 มีวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้าพุ่งสูงขึ้นมาอย่างผิดสังเกต

ทเวนจ์ยังบอกด้วยว่า ตัวเลขของผู้ป่วยซึมเศร้าสอดคล้องกับตัวเลขความสุขที่ลดลง คือมีการสำรวจที่เรียกว่า American Freshman Survey สำรวจนักศึกษา 9 ล้านคน พบว่าคนเหล่านี้มีความเหงา ความเดียวดาย หรือความรู้สึกตัดขาดจากสังคมพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และเมื่อมีการตรวจคัดกรองในปี 2015 พบว่ามีนักศึกษาถึงราว 50% ที่แสดงให้เห็นว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าในแบบที่วินิจฉัยได้ในทางการแพทย์ (การสำรวจนี้เรียกว่า NS-DUH National Screening Study)

ที่สำคัญก็คือ พบว่าอัตราการพยายามฆ่าตัวตาย (ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ) ของเด็กหญิงวัย 12-14 ปี ในช่วงปี 2008-2015 เพิ่มขึ้นสามเท่า ส่วนวัย 15-19 ปี เพิ่มขึ้น 50% และอัตราการเข้ารักษาตัวเนื่องจากพยายามฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้นสองเท่า

และก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับ – ยังไม่มีใครรู้เลยว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ทุกคนเห็นค่อนข้างตรงกันว่า นี่จะเป็นปัญหาใหญ่มากของโลกต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันนี้ สถาบัน Child Mind Institute กำลังเก็บข้อมูลการสแกนสมองของเด็กๆ และวัยรุ่น เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ โดยปัจจุบันมีข้อมูลการสแกนสมองของเด็กและวัยรุ่นแล้วราว 10,000 คน ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า จะค้นพบร่องรอยทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยเหล่านี้ แล้วจะได้สืบสาวกลับไปยัง ‘สาเหตุ’ เพื่อให้ได้วิธีรักษาที่ตรงจุดและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เราอาจยังไม่รู้ว่าเพราะอะไร คลื่นแห่งโรคซึมเศร้าถึงกำลังดูเหมือนจะ ‘กวาด’ เข้ามาหามนุษยชาติแบบนี้

แต่ที่ทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันแน่ๆ ก็คือ เราจำเป็นที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์แน่

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save