fbpx
ผู้พิการ LGBT ชายขอบแห่งขอบของความแปลกแยก

ผู้พิการ LGBT ชายขอบแห่งขอบของความแปลกแยก

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

“เหมือนที่ผ่านมาเราเห็นแก่ตัว เราเป็นทรานส์(transgender)…เหนื่อยนะ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าถ้าเป็นคนพิการแล้วยังต้องต่อสู้กับภาวะความหลากหลายทางเพศอีกเหรอ ฟังแล้วรู้สึกโหดร้ายจังเลย ทำไมสังคมมันช่างลำบากเหลือเกิน ขึ้นบันไดก็ไม่ได้แล้วยังต้องมานั่งคิดอีกเหรอว่าคนจะยอมรับเพศสภาพเราได้ไหม”

บทสนทนานี้มาจากคลิปวีดีโอที่บันทึกถ้อยคำที่ ไอซ์ ผู้หญิงข้ามเพศ พูดกับ สว่าง นักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนพิการ ถึงเรื่องคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไอซ์ไม่ได้นึกถึงมาก่อน

คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่าง ผู้หญิงข้ามเพศ, คนพิการ, เกย์ และคนหูหนวกที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามสลายเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มเพศหลากหลายและคนพิการ ให้เห็นประเด็นร่วมกันเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีการจัดวงพูดคุย ‘Double Discrimination: LGBTI persons with disabilities’ โดย Very Inclusive Party กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ SEA Junction

สิ่งหนึ่งที่พบจากบทสนทนานี้คือที่ผ่านมากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติของสังคมยังไม่มีการแลกเปลี่ยนหรือการจับมือร่วมกันทำงานมากพอ นักกิจกรรมด้านคนพิการและนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศต่างแยกกันทำงาน จนอาจทำให้คนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศถูกละเลยและต้องเจอกับการเลือกปฏิบัติซ้ำสอง

น้อง เกย์หูหนวกเล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ว่าคนที่พิการและมีความหลากหลายทางเพศเช่นเธอมีที่ทางในสังคมน้อยมาก ทั้งที่อยากเข้าร่วมสังคมเกย์แต่ก็มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เพราะเธอต้องใช้ภาษามือ ขณะที่การอยู่ในสังคมคนหูหนวกก็เจอการกลั่นแกล้งจากคนที่ไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ

“ผู้ชายในกลุ่มคนหูหนวกบางคนก็แกล้งเกย์ ฉันเป็นคนหูหนวก เขาก็เป็นคนหูหนวกเหมือนกัน แล้วทำไมต้องรังเกียจที่เราเป็นเกย์ ทั้งที่เราอยู่ในสังคมเดียวกันได้ เมื่อก่อนเรื่องนี้ทำให้หงุดหงิด แต่ตอนนี้ไม่ได้สนใจแล้ว เพราะฉันมีความสุขมาก ฉันมีร่างกายที่สวยงาม คนหูดีสื่อสารด้วยการพูด ส่วนฉันก็สื่อสารด้วยภาษามือ มันเป็นสิทธิที่เท่าเทียม ฉันไม่อายที่จะใช้ภาษามือ เรามีการศึกษา มีงานทำ มีภาษามือ มีล่าม คนหูดีจะต้องเข้าใจเรา” น้องสื่อสารผ่านภาษามือพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า

จากซ้าย ศิริ นิลพฤกษ์(คนที่1), เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์(คนที่2), ผักกาด(คนที่3) และสว่าง ศรีสม(คนที่5)
จากซ้าย ศิริ นิลพฤกษ์(คนที่1), เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์(คนที่2), ผักกาด(คนที่3) และสว่าง ศรีสม(คนที่5)

“ทางเลือกของเราไม่มีเลย”

ผักกาด คนพิการที่มีคนรักเพศเดียวกันกล่าวในวงแลกเปลี่ยน เธอมองว่าความพิการเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นอกจากรัฐจะไม่สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการอย่างเพียงพอแล้ว เธอยังเจอการเลือกปฏิบัติและการล้อเลียนตั้งแต่เด็ก เมื่อเด็กคนอื่นที่โตมาโดยไม่เคยเจอคนที่แตกต่างจากตัวเองก็จะมองคนที่นั่งวีลแชร์อย่างเธอเป็นตัวประหลาด

ความพิการและความหลากหลายทางเพศยังคงถูกหยิบมาล้อเลียนด้วยความสนุกสนานทางสื่อต่างๆ ยิ่งสร้างความเจ็บปวดให้คนที่ถูกแบ่งแยกจากสังคม กระทั่งการพาดหัวข่าวที่ผักกาดเห็นว่าเป็นการย้ำถึงความไม่ปกติของคนพิการและ LGBT

“เราถูกทำให้เป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่นในสังคม เวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ สื่อจะพาดหัว ‘ไอ้เป๋ขายยาบ้า’ หรือถ้าเป็น LGBT ก็จะถูกหยิบเรื่องเพศมาพาดหัว ทำไมไม่พาดไปเลยว่าเป็นใคร เช่น ‘ผักกาดขายยาบ้า’ สังคมยังไม่มีพื้นที่ให้เราได้ยืนเต็มที่ อยากให้มองว่าเราเป็นคนเหมือนกัน”

ชีวิตของผักกาดเป็นภาพสะท้อนการถูกเลือกปฏิบัติที่ซ้ำซ้อนจากสังคม เธอไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาเพราะไม่เข้าถึงโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อคนพิการ เมื่อไม่มีการศึกษาและการเดินทางในชีวิตประจำวันไม่สะดวกเธอจึงตกงาน

สิ่งที่ตอกย้ำชีวิตผักกาดมากขึ้นคือการถูกมองในแง่ลบเพียงเพราะเธอเป็น LGBT

“คนพิการมีความรักคนก็มองว่าไม่เจียมตัว ยิ่งชอบคนเพศเดียวกันเขายิ่งมองเราแตกต่างเข้าไปอีก แต่ร่างกายเราอ่อนแรงขยับได้แค่ปลายนิ้ว ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่น การมีคนมาช่วยในชีวิตประจำวันจะทำให้สะดวกมากขึ้น เขาเป็นแขน เป็นขา และเป็นเพื่อน เราสามารถเดินทางมาร่วมงานนี้ได้ก็เพราะเขา”

“เลิกคิดว่าเป็นเรื่องเวรกรรม”

ในสายตาของเพศหลากหลาย ศิริ นิลพฤกษ์ มองว่าจุดร่วมระหว่างคนพิการกับ LGBT คือการเป็นคนส่วนน้อยเหมือนกัน และจะเจอคำพูดบั่นทอนจิตใจคล้ายกันคือ “เขาว่ากันว่าเพราะคนสองกลุ่มนี้ทำบาปเมื่อชาติที่แล้ว” โดยมีการยกความเชื่อว่าคนที่เกิดมาเป็นคนหลากหลายทางเพศเพราะชาติที่แล้วลักลูกลักเมียเขา หรือเกิดเป็นคนพิการเพราะชาติที่แล้วไปทำร้ายคนอื่น

“คนพิการและ LGBT ถูกด่าว่าเป็นแบบนี้เพราะเวรกรรม เผชิญการถูกเลือกปฏิบัติ แล้วยังต้องทำงานให้หนักกว่าคนอื่นหลายเท่าเพื่อให้หน่วยงานเห็นความสามารถ เราต้องเลิกคิดว่าสิ่งที่เราเป็นนั้นเป็นเรื่องเวรกรรม เราต้องทำให้เห็นว่ามีเสียงของคนแบบเราเยอะ โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการ ต้องสร้างความเข้าใจให้สามารถทำงานร่วมกันได้” ศิริกล่าว

ในสายตาของคนพิการ สว่าง ศรีสม นักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนพิการ มองจุดร่วมในประเด็นนี้ว่า คนทั้งสองกลุ่มถูกมองเป็น ‘ความไม่ปกติ’ ของสังคม โดยมีต้นเหตุที่คนเหล่านั้นไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายของมนุษย์ หากพวกเขาเข้าใจว่ามนุษย์มีความหลากหลาย ก็จะเข้าใจได้ว่าทั้งคนพิการหรือคนหลากหลายทางเพศคือความปกติ

“ในอดีตความหลากหลายไม่ใช่เรื่องปกติเพราะคนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติกับคนที่แตกต่างจากตัวเองยังไง เป็นความกลัวจากความไม่รู้ เช่น เมื่อก่อนคนพิการจะถูกขังในสถานสงเคราะห์ เพราะรัฐบาลล้มเหลวในการจัดหาสาธารณูปโภคเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ จึงง่ายกว่าที่จะเอาคนพิการไปรวมไว้ในที่หนึ่งโดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องการมีอิสระ เราต้องการอยู่ร่วมในสังคม แต่จะทำอย่างนั้นได้เราต้องเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ” สว่างกล่าว

“ต้องเจ็บปวดอีกเท่าไหร่พวกเขาจึงจะรู้สึก”

“ผมเป็นเกย์ ตอนเป็นเด็กผมมีความเป็นเฟมินีนมากกว่านี้ แต่พอเห็นเพื่อนในโรงเรียนที่เป็นเกย์ออกสาวโดนกลั่นแกล้ง แล้วมองตัวเองที่เป็นคนอ้วน ใส่แว่น และเป็นเด็กเรียน แค่นี้ก็โดนแกล้งพอแล้ว ผมจึงไม่อยากโดนแกล้งมากกว่านี้ ผมเคยถูกละเมิดด้วยความรุนแรง พอไปแจ้งความเจ้าหน้าที่ถามว่าทำไมผมเป็นเกย์ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ผมไปแจ้งความเลย”

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ นักกิจกรรมกลุ่มโรงน้ำชา ในฐานะคนทำงานด้านความหลากหลายทางเพศมองปัญหาเรื่องนี้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม เมื่อคนมีอำนาจกลัวการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดการเลือกปฏิบัติที่ทำให้คนทั้งสองกลุ่มนี้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

“ต้องรอให้คนพวกนี้มีประสบการณ์เหมือนเราจึงจะเข้าใจเหรอ แล้ววันนั้นจะมีหรือเปล่า เมื่อเขาอยู่บนหอคอยแห่งความสุขสบาย เราต้องเจ็บปวดอีกเท่าไหร่พวกเขาจึงจะรู้สึก”

เอกวัฒน์เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเจ้าของปัญหาได้เข้ามาจัดการปัญหาของตัวเอง ทั้ง LGBT และคนพิการเพียงแค่ต้องการเรื่องพื้นฐานในชีวิต รัฐต้องรับรองได้ว่าคนทั้งสองกลุ่มจะมีโอกาสและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนทุกคนโดยไม่มีการต่อรอง เพราะการต่อรองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานโดยถามว่าคนกลุ่มนี้มีฐานเสียงเท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

“เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขา”

สิ่งที่บุคคลในวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเห็นร่วมกันคือ คนที่ทำงานประเด็นคนพิการและประเด็นความหลากหลายทางเพศควรมีการทำงานร่วมกันมากกว่านี้

สว่าง ยอมรับว่าที่ผ่านมาในแวดวงคนพิการก็ไม่ได้ยอมรับ LGBT นัก คนทำงานด้านสิทธิคนพิการไม่ได้พูดถึงคนพิการที่เป็น LGBT พอมีการยอมรับน้อยการผลักดันเรื่องเพศสภาพของคนพิการก็เลยน้อยไปด้วย

“การจะให้คนสองกลุ่มทำงานร่วมกันเราต้องมีการแบ่งปันกันมากกว่านี้ เช่น ตอนนี้มีคนพิการจำนวนมากที่เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง แต่คนกลุ่มนี้มักขาดทักษะ เพราะเข้าถึงการศึกษาได้จำกัด ขณะที่คนหลากหลายทางเพศที่เข้าถึงการศึกษาและมีทักษะสามารถมาร่วมแบ่งปันกันได้ โดยเริ่มต้นที่การพูดคุยกันว่าจะทำอะไรได้บ้าง”

สว่างมองว่าการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของคนพิการ โดยส่วนใหญ่จะเรียนชั้นประถมแล้วไม่เรียนต่อมัธยม สิ่งสำคัญคือคนพิการต้องการสถานศึกษาที่เอื้ออำนวยมากกว่านี้

“สำหรับคนพิการ แค่มีหนึ่งอัตลักษณ์ก็ยากแล้ว แต่พอมีสองอัตลักษณ์ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ในการให้สังคมยอมรับทั้งเรื่องความพิการและความหลากหลายทางเพศ ในอนาคตจึงอยากให้คนพิการและคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้สังคม” สว่างกล่าว

ด้าน เอกวัฒน์ สนับสนุนว่าสังคมควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนกลุ่มนี้ไม่ถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติตั้งแต่ในโรงเรียน บ้าน และที่ทำงาน

“มีน้องคนหนึ่งมีเพศกำเนิดคือหญิง อัตลักษณ์ทางเพศคือทอม และมีแขนข้างหนึ่งที่ใช้งานได้ไม่ดีนัก เขาโดนรังแกตั้งแต่เด็ก โดนล้อว่าเป็นง่อย เจอความรุนแรงทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน สมัครงานก็โดนเลือกปฏิบัติ โดนทุกสิ่งจนเขาไม่ไหวและต้องการพื้นที่ปลอดภัย เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขา รัฐต้องทำสิ่งนี้ ทั้งโรงเรียน เจ้าหน้าที่ ทรัพยากรต่างๆ ต้องถูกเอาไปใช้จัดการสิ่งเหล่านี้ให้ได้”

เอกวัฒน์ มองว่าสังคมกำลังใช้ความกลัวกดคนเพื่อให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งกลัวจะถูกเลือกปฏิบัติ กลัวไม่มีทางเลือก กลัวล้มเหลว ฉะนั้นการเป็นตัวของตัวเองและลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเมื่อเผชิญความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงเป็นความกล้าหาญ

โดยเขากล่าวทิ้งท้ายว่า

“ไม่ว่าวันหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและจิตใจเรา ทุกคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คือคนที่กล้าหาญและเก่งมากแล้ว”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save