fbpx
บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์, สิทธิกร บุญลา ภาพ

เมื่อพบกับสิ่งที่รู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่เคยสัมผัส ความตื่นเต้นก็มักจะไหลมารวมกันอยู่ที่จังหวะหัวใจ และบีบให้ดวงตาเปิดสัมผัส เก็บเกี่ยวทุกภาพการณ์มากกว่าปกติ การไปร่วมงาน Taiwan LGBT Pride พาเหรดของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน ก็เป็นเช่นนั้น

พาเหรดสีรุ้ง ในประเทศที่เพิ่งผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกันได้ไม่ถึงปี ทำให้คนที่ได้แต่ตามข่าวกฎหมายสมรสเพศเดียวกันอย่างฉันทั้งตื่นตา ตื่นใจ และไม่ใช่เพียงฉัน คนจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะคนในแถบเอเชียก็หลั่งไหลมาร่วมงานไพรด์ที่ไทเปเช่นกัน

ไทเปไพรด์จัดขึ้นในเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2003 จนปี 2019 ในวันที่ 26 ตุลาคม งาน ‘Taiwan LGBT Pride – Together make Taiwan better’ ก็จัดขึ้นนับเป็นครั้งที่ 17 แล้ว

เกย์ไพรด์ของไต้หวันมีกำหนดวันและเวลาต่างจากเกย์ไพรด์ในหลายประเทศ ซึ่งมักจัดในเดือนมิถุนายน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ ‘สโตนวอล’ หรือเหตุการณ์จลาจล สืบเนื่องจากการใช้ความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในบาร์ Stonewall Inn รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปี 1969

หลังเหตุการณ์รุนแรงผ่านพ้น ประชาชน นำโดยผู้มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา จะจัดขบวนแห่ตามถนนเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ทุกปี เวลาผ่านไป การเดินขบวนเพื่อความหลากหลายทางเพศกลายเป็นประเพณีที่ลามไปทั่วโลก กลายเป็นกิจกรรมสากลแห่งการรำลึก เรียกร้อง และผลักดันสิทธิเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยหยิบยกประเด็นของแต่ละประเทศมาพูดถึง ภายใต้ชื่อ Gay-LGBT Pride

Pride แปลว่า ‘ภาคภูมิใจ’ ตรงข้ามกับคำว่า ‘อับอาย’ ซึ่งกดทับผู้มีความหลากหลายทางเพศมายาวนาน Pride กลายเป็นคำที่ถูกใช้เรียกกิจกรรมพาเหรด เพราะความภาคภูมิใจ ควรคู่กับ LGBT อย่างไร้ขอกังขา

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

ฉันเดินทางไปถึงไทเปก่อนงานไพรด์หลายวัน ไทเปงดงามอย่างที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวหลายเว็บบอก เป็นระเบียบ มีการจัดการที่เรียบร้อย เดินทางสะดวกสบาย สิ่งที่ไม่มีเว็บไซต์ไหนบอกคือ เมื่อเข้าใกล้เทศกาลไพรด์ ไทเปจะถูกประดับด้วยสัญลักษณ์สีรุ้งทั่วเมือง

คืนก่อนงานไพรด์ ฉันเดินรับสีสันของเมืองอยู่ที่ย่านช็อปปิ้งชื่อดังอย่างซีเหมินติง (Ximending) ผู้คนที่เดินเบียดไปมาหลายคนสวมหมวกสีรุ้ง บางคนมีธงสีรุ้งติดไม้ติดมือมาด้วย เห็นอย่างนั้นฉันจึงมองหาว่าเขามีของสีรุ้งแจกกันที่ไหน แต่เดินเท่าไหร่ก็ไม่พบ จึงขอสรุปว่านี่เป็นอาการ ‘ตื่นเทศกาล’ ที่แสนน่ารักของคนไต้หวัน

Taiwan Pride

นอกจากกลิ่นหอมของสตรีทฟู้ด และผู้คนที่ครึกครื้น สิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็ถูกประดับประดาด้วยเช่นกัน ป้ายสีรุ้งขนาดใหญ่ถูกแขวนพาดกลางจตุรัสซีเหมินติง บนถนน พื้นที่ฉันเหยียบบางจุดถูกทาสีรุ้ง พร้อมด้วยตัวอักษรสี่ตัว L G B T วัยรุ่นหลายคนไม่สามารถเดินผ่านมันไปโดยไม่ถ่ายรูปไว้ แม้แต่ถนนจำลองในกูเกิ้ลแมปก็ยังแสดงผลเส้นทางเป็นสีรุ้ง หากคุณบังเอิญเดินไปในเส้นทางที่พาเหรดจะเคลื่อนผ่านในวันรุ่งขึ้น

รวมๆ แล้วฉันรู้สึกว่าทุกอย่างช่างน่าตื่นเต้น สมเกียรติงานไพรด์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอาจเพราะความยิ่งใหญ่นี่แหละ ทำให้ผู้มางานไพรด์อย่างฉันอยู่ไม่สุข เริ่มเปิดข้อมูลวางแผนการร่วมงานอย่างมุ่งมั่น

ขบวนพาเหรดในงานไพรด์ถูกแบ่งขบวนและเส้นทางเป็นสามสายหลัก ครอบคลุมย่านใหญ่ทั้งหมดของไทเป ขบวนสายตะวันออก จะเดินไปทางถนน Zhongshan South Road ในธีมสีเขียว น้ำเงิน ขาว, ขบวนสายตะวันตก จะเดินไปทางถนน Ketagalan Boulevard ในธีมสีแดง ส้ม ดำ, และขบวนสุดท้ายในทิศใต้ จะเดินไปทางถนน Xinyi ด้วยธีมสีชมพู ม่วง เหลือง

ทั้งสามสายออกสตาร์ทพร้อมกันที่ Taipei City Hall Plaza ในเวลาเที่ยงวัน และกลับมาบรรจบกัน เวลาหนึ่งทุ่ม ที่ Ketagalan Boulevard ลานสาธารณะขนาดใหญ่ที่ชาวไต้หวันมักใช้เป็นสถานที่ชุมนุมเรียกร้องประเด็นต่างๆ ในสังคม ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทำเนียบประธานาธิบดีนัก ในอดีตเมื่อมีการเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ผู้ชุมนุมก็ใช้สถานนี้ดำเนินกิจกรรม จนร่างกฎหมายที่เสนอโดย ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงคนปัจจุบัน ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในที่สุด

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

ประเมินข้อมูล คุ้ยกระเป๋าเดินทางจนห้องพักรก จนแล้วจนรอดฉันก็ยังเลือกไม่ได้ว่าจะใส่ชุดสีอะไร เดินในเส้นทางไหนดี สุดท้ายจึงปลงใจว่าจะไปที่ Taipei City Hall Plaza สถานที่ตั้งขบวนและเปิดงาน เพื่อรอดูการจัดขบวนพาเหรดทั้งหมดแบบไม่พลาดอะไรไป ทั้งยังได้เดินช็อปปิ้งที่ตลาดสีรุ้ง (Rainbow Market) ตลาดที่องค์กรเกี่ยวกับเพศ ศิลปิน ไปจนถึงแบรนด์ดังต่างๆ มารวมตัวกันขายของในธีมสีรุ้งด้วย

ยามสายของวันงาน ที่สถานีรถไฟอัดแน่นไปด้วยผู้คน ถนนหลายจุดในวันนั้นถูกปิดใช้งาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคอยยืนคุม โบกทางให้ผู้ใช้รถยนต์อยู่ทุกสี่แยก บริเวณป้ายรถเมล์มีป้ายกำกับการเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ อำนวยความสะดวกแก่ผู้คนที่ยังต้องใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ ในวันนั้น แม้ขบวนพาเหรดจะพาดผ่านถนนเส้นหลักของเมือง แต่รถในไทเปก็ไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด

เมื่อเดินออกจากสถานีรถไฟมาได้ระยะหนึ่ง ฉันแน่ใจทันทีว่าไม่ได้หลงทาง เพื่อนร่วมทางหลายคนมองเอาผ่านๆ ก็รู้ว่าจะไปที่งานไพรด์เหมือนกัน อย่างน้อยๆ หนึ่งในเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่ของพวกเขาจะมีสีม่วง น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ให้เห็น เมื่อเดินมาถึงลานกว้างบริเวณ Taipei City Hall Plaza เราจะเห็นป้าย ลูกโป่ง ธง ในสีสันแห่งความหลากหลาย ส่วนใครที่ไม่มีพร็อพประดับ หรือไม่มีเสื้อผ้าสีสันตามธีมก็ไม่ต้องกังวล เพราะผู้คนในงานพร้อมจะยื่นธงรุ้งแจกฟรีให้คุณตั้งแต่ต้นทาง

ไม่ว่าคุณจะใส่เสื้อผ้าสีอะไร ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร สีรุ้งจะโอบล้อมคุณไว้ในลานกว้างนี้

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

ก่อนถึงเวลาตั้งขบวน ผู้ที่เดินขบวนจะรวมกันอยู่ที่ตลาดสีรุ้งเพื่อจับจ่าย ฉันแวะซื้อของน่ารักๆ อยู่ที่ซุ้มเล็กๆ ซุ้มหนึ่ง ซึ่งมารู้ในภายหลังว่าเป็นซุ้มขององค์กรสายด่วนเพื่อ LGBT ที่ให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องจิตใจอย่างการเปิดเผยตัวตน ความขัดแย้งกับครอบครัวและที่ทำงาน ไปจนถึงเรื่องทางกายภาพอย่างการเปลี่ยนแปลงร่างกาย เช่น การรับฮอร์โมน สติกเกอร์ที่ฉันซื้อจากบูธนี้เป็นรูปวาดเกี่ยวกับการมีประจำเดือนของผู้หญิง ตัวการ์ตูนผู้หญิงนั่งงุ้มงอจากการปวดท้อง ลายผ้าอนามัยที่ไม่รู้ว่าวาดอย่างไรให้น่ารักขนาดนี้ บอกเล่าช่วงเวลาทรมานของผู้หญิงอย่างน่ารัก

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บางซุ้มก็มีศิลปินที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดมาขายของที่บอกเล่าเรื่องราวของ LGBT นำเสนอแบบเสียดสีสังคมเล็กๆ เช่น สติกเตอร์ตัวการ์ตูนชายเปลือยอก มีสายรุ้งพาดบนหัว พร้อมโควทแสบๆ ที่เขียนว่า “If god hates gay, Why are we so cute” ขณะที่บางซุ้ม แม้จะขายแค่น้ำชาเพื่อดื่มดับร้อน ก็ยังมีสติกเกอร์แทททูแปะหน้าแจกฟรี มีลูกค้ามาต่อคิวยาวเหยียดเพื่อแต่งแต้มรูปสายรุ้งบนใบหน้า

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

ส่วนการแต่งตัวของคนในงาน มีทั้งคนที่แต่งตัวธรรมดา และแต่งแนวแฟนซี ในส่วนของแฟนซีนั้น ต้องยอมรับเลยว่าเขาไม่ได้มากันเล่นๆ

หลายคนใส่เครื่องประดับที่ดูรู้ว่าประดิษฐ์ขึ้นมาเอง บางคนแต่งก็ Drag Queen (ศิลปะที่ผู้มีกายเป็นชายใช้ความคิดสร้างสรรรค์ในการสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่) สวมวิก แต่งหน้าจัดเต็ม และใส่คอสตูมแบบเอิกเกริก ราวกับกลายเป็นคนอีกคน ผู้ร่วมงานบางคนสวมชุดเจ้าสาวเจ้าบ่าวเฉลิมฉลองกฎหมายแต่งงาน สิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวไต้หวันเพิ่งได้รับไปหมาดๆ และขาดไม่ได้เลยกับ ‘แก๊งปิกาจู’ ชายหนุ่มที่แต่งกายสีเหลืองล้อเลียนตัวการ์ตูนปิกาจู พวกเขาสร้างสีสันให้งานไพรด์มาแล้วหลายปีจนเป็นที่จดจำ ในชั่วขณะหนึ่ง ฉันถึงกับมองหาพวกเขาเลยด้วยซ้ำ

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

นอกจากเรื่องเพศสภาพ ประเด็นอื่นๆ ก็ถูกหยิบยกมาแสดงออกกันในงานไพรด์นี้ด้วย เช่น สิทธิในรสนิยมทางเพศแบบ BDSM หรือการแสดงออกทางการเมืองอย่างกลุ่มผู้แต่งกายสีเหลืองกลุ่มหนึ่ง ที่ปกปิดใบหน้าด้วยผ้าและหมวก ชูป้ายที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Stand with Hong Kong”

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

หลังจากเดินชมบรรยากาศได้สักพัก ฉันก็หยุดพูดคุยกับชาวไต้หวันในไพรด์ ชายวัยสามสิบปีคนหนึ่งมาร่วมงานเป็นครั้งแรกแม้จะอาศัยอยู่ในไต้หวันมาตลอด การผ่านกฎหมายเพศเดียวกันมีผลต่อการแสดงออกของเขามากพอดู

“ฉันมาเกย์ไพรด์ในปีนี้เพื่อฉลองสิทธิที่ควรได้รับ ฉันดีใจมากที่ไต้หวันให้กฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันผ่าน มันเป็นความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชน ที่ประชาชนทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกัน

“ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะอะไร ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ในการแต่งงาน แล้วในที่สุดพวกเรา LGBT ก็สามารถดื่มด่ำกับการใช้สิทธินี้เสียที”

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

ชายไต้หวันอีกกลุ่มกำลังรอต่อคิวขบวนพาเหรด เขาแต่งกายเลียนแบบเกมส์ มีที่คาดผมแสดงสัญลักษณ์ผู้เล่น  P1 P2 P3 เมื่อทักทายกันชายหนุ่มที่มีหมายเลข P1 กำกับ เล่าให้ฟังว่าเขามาเกย์ไพรด์เป็นครั้งที่ 8 เขามองว่าไพรด์เปลี่ยนไปเล็กน้อยในรอบหลายปี ตรงที่มีประเด็นต่างๆ ให้พูดถึงมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่อง LGBT เฉพาะกลุ่ม

เขาเล่าถึงการเปิดรับต่อ LGBT ของประชาชนไต้หวันไว้ว่า “ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี คนส่วนมากจะค่อนข้างเฟรนด์ลี่กับผู้คนทั่วไปที่อาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเป็นคนใกล้ชิดของพวกเขา แต่ผมคิดว่าพอเป็นคนในครอบครัว หรือลูกๆ ของพวกเขา มันก็คงยากขึ้นครับ”

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากกฎหมายสมรสเพศเดียวกันผ่านมาได้ 5 เดือน เขาตอบอย่างสัตย์จริงว่าไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนักกับการปฏิบัติของผู้คนในระดับชีวิตประจำวัน

“แน่นอนว่าสิทธิต่างๆ มันพัฒนาขึ้น แต่ผมคิดว่ามันก็ยังต้องการการพัฒนาอีกมาก” เขาว่า

ส่วนประเด็นที่คิดว่าเป็นก้าวต่อไปของไต้หวัน เขาตอบว่าเป็นเรื่องการศึกษา “ในระบบการศึกษา ยังมีเด็กๆ ที่โดนรังแกในโรงเรียนเพียงเพราะเป็น LGBT มันแย่มากๆ ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม ดังนั้นนี่เป็นเรื่องที่ผมอยากให้พวกเราให้ความสำคัญต่อไปครับ”

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

ระหว่างที่สายตาสอดส่องผู้คนที่แต่งตัวอย่างจัดจ้าน ฉันพบกับหญิงชายสองคนที่แต่งตัวด้วยชุดไทย คนหนึ่งสวมโจงกระเบน อีกคนมีชฎาประดับบนศีรษะ ฉันไม่รีรอจะเข้าไปทักทายด้วยภาษาไทย เพื่อถามถึงความรู้สึกของคนไทยด้วยกัน เขาจะตื่นเต้นอย่างที่ฉันเป็นหรือไม่

ฝ่ายชายบอกว่า “มาที่นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ” ส่วนสาวสวมชุดไทยบอกว่ามาที่นี่เป็นครั้งแรก ทั้งคู่กล่าวว่ารู้สึกสนุกสนานและตื่นเต้น เพราะหาประเทศที่มีการจัดงานแบบนี้ได้น้อยมาก

ในสายตาของชาวไทยที่มาไทเปไพรด์ถึง 3 ปีแล้ว เขามีข้อสังเกตถึงความแตกต่างในปีนี้ว่า “ปีก่อนๆ เขาจะมาในธีมที่ทุกคนอยากดันให้กฎหมายผ่าน แต่ปีนี้พอกฎหมายผ่านแล้ว ก็เหมือนทุกคนมาด้วยความสนุกสนาน มาร่วมยินดีกัน บรรยากาศก็สนุกสนานร่าเริงมากขึ้น” ชายหนุ่มตอบ

ทันที่ถามว่า “อยากให้มีแบบนี้ที่ไทยหรือเปล่า” ทั้งคู่ตอบพร้อมกันอย่างรวดเร็ว

“โอ้ยยยยยย อยากค่ะ (หัวเราะ)” / “แน่นอน (เสียงสูง)”

“คนไทยส่วนใหญ่ก็ยอมรับความหลากหลายทางเพศแล้ว แต่กฎหมายก็ยังไม่ผ่านเหมือนที่นี่ จริงๆ ประเทศไทยน่าจะเปิดใจกับเพศทางเลือกมากกว่าหลายๆ ที่นะ อยากให้กฎหมายมันผ่านซักที ทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน”

แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการ อาจไม่ใช่แค่เกย์ไพรด์ แต่เป็นสิทธิที่ควรจะได้รับในฐานมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride

อย่างหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็นคือ ผู้ร่วมงานแทบทุกคนมีความสุขแต่งแต้มในจิตใจ ทุกสบตามีประกายสดใส ทุกใบหน้ามีรอยยิ้มที่ชวนให้ยิ้มตาม เสียงจอแจไม่อาจทำลายบรรยากาศดีๆ แต่กลับยิ่งขับให้งานครึกครื้น

พื้นที่นี้เหมือนมีมนต์ขลัง เพียงแค่ปลดเอากรอบแคบๆ ทางเพศออกไป

จริงอยู่ ความเท่าเทียมไม่ได้ถึงกับทำให้เราปลดล็อค หรือกลายเป็นเพื่อนกันในทันที แต่อย่างน้อยๆ ในที่นี้ก็ไม่มีใครปิดบังตัวตน และนั่นทำให้ไมตรีเกิดขึ้นง่ายดาย หลังจากคุณเริ่มบทสนทนาสักสองสามประโยค

งานไพรด์ อาจเป็นเพียงพื้นที่ที่เกิดแล้วจบลง หรือมีเสรีภาพอยู่เพียงชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน บรรยากาศเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในสังคมที่ให้ LGBT ก้าวเดินไปพร้อมๆ กับคนทั่วไป ไม่กีดกัน ไม่ขาดสิทธิ ขาดเสียง และในโลกนี้ที่ผู้คนเปรียบเป็นสีสันหลากหลาย งานไพรด์ถือว่าไม่ขาดสีสันของใครไปเลย

ในความรู้สึกของฉัน งานไพรด์ขาดก็แต่สีสันในเพลงชาติ LGBT อย่าง ‘Born This Way’ ของ Lady Gaga เท่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save