fbpx
'Kusama Infinity' ลายจุด และจุดหมายไร้สิ้นสุด ของ ยาโยอิ คุซามะ

‘Kusama Infinity’ ลายจุด และจุดหมายไร้สิ้นสุด ของ ยาโยอิ คุซามะ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบศิลปินที่ชื่อ ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) หรือแทบไม่รู้จักเธอเลย ภาพฟักทองลายจุด และลายจุด และลายจุด บนงานศิลปะของเธอ น่าจะเคยโฉบไปมาในม่านตาและความทรงจำของคุณบ้างสักครั้ง

ดูเผินๆ แล้วงานศิลปะสไตล์อาว็อง-การ์ด (avant-garde) ของยาโยอิ อาจเป็นเพียง Pop Art ศิลปะที่เข้าถึงง่าย สร้างความรู้สึกตื่นเต้น และเป็นศิลปะที่ ‘Pop’ ในแง่ของความนิยมจากผู้คนจำนวนมาก แต่สารคดีเรื่อง ‘Kusama: Infinity’ ได้ฉายให้เห็นมิติที่ซับซ้อนและทุกข์เข็ญกว่านั้น ตั้งแต่ความหมายของลวดลาย อันประกอบไปด้วย จุดเริ่มต้น จุดผกผัน และจุดไร้สิ้นสุด ตลอดช่วงชีวิตล้มลุกคลุกคลานของศิลปินหญิงคนนี้

'Kusama Infinity' ลายจุด และจุดหมายไร้สิ้นสุด ของ ยาโยอิ คุซามะ

สารคดีเริ่มต้นด้วยการฉายภาพหญิงสาววัย 85 กำลังแต้มจุดบนผืนผ้าใบที่เต็มไปด้วยลายละลานตา เครื่องแต่งกายของเธอพร้อยไปด้วยลายจุด วงกลมสีดำที่ถูกขีดเขียนดูคล้ายดวงตาอันมุ่งมั่น ดวงตาดวงเดิมกับยาโยอิ คุซามะ ในวัย 10 ปี

ยาโยอิในวัยเด็กอาศัยในเมืองมัตสึโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น โตมากับครอบครัวที่ประกอบกิจการเพาะกล้าพันธุ์ไม้ ซึ่งทำให้เธอได้วิ่งเล่นในสวนดอกไม้ที่ไกลสุดตา และซ้ายขวาที่เต็มไปด้วยกลีบและเกสรเหมือนไม่มีจุดจบนั้น ก็สร้างภาพหลอนในมโนจิตของเธอเป็นครั้งแรก เธอจึงเริ่มวาดรูปลวดลายเป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ ชิ้นแล้วชิ้นเล่า

แม้จะพบกับความคลั่งไคล้ในศิลปะที่ช่วยสะท้อนหรือระบายภาพหลอนในจิตใจ แต่สภาพสังคมประเทศญี่ปุ่นในอดีต ที่เพศหญิงมีชะตาและหน้าที่ของการเป็นเมียและแม่ ก็ทำให้หนทางการเป็นศิลปินของเธอถูกต้านขวาง ด้วยครอบครัวของเธอเอง

ยาโยอิ คุซามะ
ที่มา : Wikipedia

แม่ของยาโยอิยื่นเงื่อนไขให้เธอเข้าเรียนมารยาท แลกกับคำอนุญาตให้เรียนศิลปะ เธอจึงได้สร้างผลงานไปพร้อมๆ กับการทำตามคำขอต่อมาของแม่ นั่นคือการตามไปสังเกตพฤติกรรมของพ่อที่คอยไปมีสัมพันธ์กับหญิงสาวหลายคน เพื่อมารายงานให้แม่ของเธอทราบ คำขอและบาดแผลชิ้นต่อไปที่จะสะท้อนผ่านผลงานในเวลาต่อมา

เธอจากประเทศญี่ปุ่นและบินไปยังนิวยอร์ก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลาซึ่งสตรีไม่มีสิทธิ์มีเสียง และฐานะของคนญี่ปุ่นในประเทศคู่สงครามไม่เป็นที่ต้อนรับ ลองจินตนาการความรู้สึกของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่ต้องยืนอยู่บนเวทีที่ไม่ต้อนรับความเป็นเธอในทุกทางดู นั่นแหละคือสภาวะของยาโยอิตลอดมา แม้จะถูกฉาบไว้ด้วยภาพความมุ่งมั่นหาญกล้าของหญิงที่ไม่เคยหยุดทำงาน

หลายต่อหลายครั้งงานของเธอถูกปฏิเสธการจัดแสดง และหลายครั้งเช่นกันที่เธอยืนหยัดส่งงานของเธอไปตามแกลอรี่ต่างๆ เพื่อแสดงผลงานท่ามกลางศิลปะของบุรุษเพศมากหน้าหลายตา ภาพในสารคดีที่บันทึกยาโยอิในวัยสะพรั่ง ทำให้เราเห็นว่าแม้ในสายตาของผู้ชม หรือคนรอบข้างเธอในขณะนั้นจะมองเธอในบริบทใด เธอก็ยังคงเป็นศิลปินสาวที่แข็งขัน เป็นขบถโดยสัญชาตญาน และยังแต่งตัวด้วยแฟชั่นจัดจ้านเสมอ

ในงานแสดงศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ปี 1966 ยาโยอิ คุซามะ สั่งทำลูกบอลกระจก 1,500 ลูกจากโรงงานในเมืองฟลอเรนซ์ แล้วขนไปจัดวางหน้าพาวิลเลี่ยน และขายลูกบอลเหล่านั้นในราคาไม่กี่เหรียญ พร้อมกับป้ายที่เขียนว่า ‘Your Narcissism for Sale’ (ขายความหลงตัวเอง) แน่นอนว่าเธอไม่ได้รับเชิญให้จัดแสดงในงานครั้งนี้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ขัดขวางเธอด้วยการพยายามไล่เธอไป ซึ่งในสารคดีคุณจะพบว่าประโยคของเธอที่ตอบกลับไปนั้นช่างร้ายเหลือ

ยาโยอิยังทำงานแฮพเพนนิ่ง (Happening) หรือ Art Perfomance เพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม ด้วยการเปลือยกายเหล่านายและนางแบบ วาดลวดลายจุดบนตัว หรือตัดเย็บเสื้อผ้าที่แหว่งว่างเป็นวงกลมในจุดสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ยืนยันแนวคิดของเธอที่ว่า ‘ร่างกายมนุษย์งดงาม และไม่สมควรถูกทำลายอย่างโหดร้ายด้วยเหตุสงคราม’ ซึ่งการแสดงเหล่านี้ทำให้เธอทั้งถูกตำรวจจับ และถูกต่อต้านโดยพลเมืองประเทศญี่ปุ่น แม้แต่ในเมืองมัตสึโมโต้บ้านเกิดของเธอเอง

ยาโยอิยังทำงานแฮพเพนนิ่ง (Happening) หรือ Art Perfomance
ที่มา : https://www.artsy.net

สิ่งที่เธอทำนั้น อาจทำให้หลายคนมองว่าเธอหาญกล้า เป็นนักสตรีนิยม เป็นขบถ แต่สารคดีที่ถ่ายทอดตลอดชีวิตของเธอ กลับให้ความรู้สึกเหมือนเธอเป็นบุคคลที่ ‘Genderless’ เสียมากกว่า สำหรับผู้เขียนเธอคือหญิงสาวที่ไร้กรอบและข้อจำกัดทางเพศ นั่นทำให้เธอไม่เคยหยุดออกไปแสดงผลงานแม้จะเป็นผู้หญิงคนเดียวในนิทรรศการ คบหาและเปิดรับเพื่อนที่เป็นเกย์หลายต่อหลายคน แม้กระทั่งจัดแสดงงานแต่งงานของคู่รักเพศทางเลือกให้เพื่อนของเธอ

ใช่แล้ว งานแต่งงานของเกย์ในฉากเวลาหลายสิบปีก่อนที่สังคมไม่ต้อนรับความหลากหลายทางเพศใดๆ

แต่ใช่ว่าเธอจะไม่ต้องเจ็บปวดกับกรอบเรื่องเพศที่สังคมคอยบีบคั้น เธอเริ่มสร้างประติมากรรมนุ่ม (Soft sculpture) เป็นเก้าอี้ที่มีลึงค์ขนาดเล็กใหญ่งอกเงยสลับไปมา ศิลปะชิ้นนี้สะท้อนบาดแผลตามคำขอของแม่ ซึ่งส่งผลให้เธอหวาดกลัว ‘เซ็กซ์’ และถูกถ่ายทอดผ่านลึงค์หลายพันชิ้นบนประติมากรรม

ยาโยอิ คุซามะ และประติมากรรมนุ่มของเธอ
ยาโยอิ คุซามะ และประติมากรรมนุ่มของเธอ ที่มา : sothebys.com

แทนที่ศิลปะอันน่าทึ่งนี้จะได้รับความสนใจจากผู้ชมและนักสะสม ประติมากรรมอ่อนนุ่มของเธอกลับตกอยู่ในความสนใจของศิลปินหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งผ่านไปไม่นานก็สร้างประติมากรรมที่คล้ายคลึงกับแนวทางของเธอแทน ช่างตลกร้ายเหลือเกิน ที่ครานี้ประติมากรรมอ่อนนุ่มของศิลปินหนุ่มกลับเป็นที่สนใจและโด่งดังไปทั่วทิศ

นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวและครั้งแรกที่ผลงานของเธอกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินชายคนอื่น และสร้างความนิยมให้กับบุรุษเหล่านั้น ยาโยอิพบกับแรงเสียดทานของอยุติธรรมทางเพศจนเธอตกอยู่ในภาวะเศร้าซึม ซึ่งทำให้เธอพยายามทิ้งและปลิดชีวิตตัวเอง

จนแล้วจนรอดยาโยอิก็หยัดยืนขึ้นใหม่ด้วยดวงใจที่ไม่มั่นคงเช่นเคย เห็นได้จากร่องรอยสุขภาพจิตของเธอที่ค่อยๆ ชัดขึ้น ตามที่สารคดีคอยหยอดและฉายให้เราทราบ เธอเริ่มค้นพบว่าตัวเองมีอาการของโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า Obsessivecompulsive disorder (OCD) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคย้ำคิดย้ำทำ เหตุผลที่ศิลปะของเธอเป็นลวดลายซ้ำๆ ไร้ที่ติและที่สิ้นสุด

ที่มา : Pixabay

เมื่อบอบช้ำ เธอกลับไปที่ประเทศญี่ปุ่น เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช ณ กรุงโตเกียว แต่ก็ไม่เคยหยุดทำงานศิลปะ เธอมีสตูดิโอของตัวเองตั้งอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลที่รักษาเธอด้วยศิลปะบำบัด ผลงานของเธอในช่วงเวลานี้สะท้อนความเจ็บปวดและดำมืดของจิตใจอย่างชัดเจน

เรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลของยาโยอิ คุซามะ ดูเหมือนไม่น่าจะลงเอยด้วยการที่ปัจจุบันเธอกลายเป็นศิลปินที่ขายงานได้ราคาสูงในจำนวนชิ้นที่มากที่สุด และเป็นศิลปินที่มีคิวผู้ชมยาวเหยียดในทุกที่ที่ไปจัดแสดงได้เลย แต่นี่แหละ คือทั้งหมดที่สารคดีกำลังบอกเรา สุดท้ายแล้วเธอยังคงยืนอยู่ตราบเท่าที่เธอจะยืนหยัดในความเศร้าโศก ไม่เท่าเทียม และภาพหลอนในจิตใจของเธอ ด้วยวิธีไหนน่ะหรือ คุณคงหาคำตอบได้ด้วยตัวเองเมื่อสารคดีจบลง เหมือนกับทุกภาพยนตร์ที่ทิ้งบทสรุปบางอย่างในตอนท้าย

แต่เท่าที่ผู้เขียนจะบอกได้ก็คือ ชีวิตของเธอผ่านกระบวนการน่าเศร้าอย่างที่ศิลปินหลายคนต้องเจอ ต้องเจ็บปวด ต้องฝ่าฟัน และต้องบอบช้ำเจียนตายเสียก่อนจะได้รับความชื่นชมอันยิ่งใหญ่ น่าแปลกเหลือเกินที่วัฏจักรนี้มีให้เห็นอยู่ร่ำไป ซึ่งทำให้เรื่องราวของยาโยอิช่างน่ายินดี เพราะเธอยังคงหายใจ และได้เห็นผลตอบแทนการยืนหยัดของเธอในที่สุด แต่…รางวัลเหล่านั้นอาจไม่สาสมหากเรามองข้ามหรือไม่รับรู้ถึงหัวจิตหัวใจในวันที่พบกับเรื่องร้ายๆ ท่ามกลางความเจ็บปวดที่เธอแลกมา

ซึ่งสารคดีทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุดเพื่อความสาสมนี้

แล้วคุณจะพบว่าจุดหลากสีในนิทรรศการ วงกลมสีดำน้อยใหญ่บนฟักทองอวบอ้วนสีเหลืองที่คนชอบไปถ่ายรูป วงโบเก้จากแสงสะท้อนในภาพยนตร์ ลายโพลก้าดอทบนชุดกระโปรงของหญิงแปลกหน้าที่เดินสวนไป แม้แต่ดวงตาคมของคนข้างๆ ในโรงภาพยนตร์ อาจให้ความหมายที่เปลี่ยนไป เมื่อทราบความหมายที่ฝากไว้ผ่านชีวิตของศิลปินหญิงนามว่า ยาโยอิ คุซามะ หรือ ‘คุณป้าลายจุด’ ที่ใครๆ รู้จัก

Kusama: Infinity
ที่มา: Documentary Club

__________________________________________________________________

ก่อนที่ลายจุดจะถูกแต่งแต้มไปทั่วโลก มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตามไปหากันตอบได้ในสารคดีเรื่อง “Kusama: Infinity” ที่นำเข้าฉายโดย Documentary Club ตั้งแต่วันที่ พฤหัสบดี 28 ก.พ.นี้เป็นต้นไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save