fbpx
สุขภาพจิตนั้นสำคัญไฉน ใครว่านักกีฬาเศร้าใจไม่เป็น

สุขภาพจิตนั้นสำคัญไฉน ใครว่านักกีฬาเศร้าใจไม่เป็น

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เคยนึกสงสัยเหมือนกันว่า บรรดาคนดังระดับโลกไม่ว่าจะสาขาอาชีพไหน พวกเขารับมือกับอาการเครียดจิตตกกันอย่างไรในวันที่อะไรๆ ก็ไม่เป็นดั่งใจเลยสักอย่าง ขนาดว่ามนุษย์เงินเดือนต๊อกต๋อย ปิดต้นฉบับรายเดือนชิ้นสองชิ้น เขียนงานส่งไม่ทันเดดไลน์ยังต้องนั่งขังตัวเองอยู่ในบ้านกับช็อคโกแลตถาดใหญ่และเบียร์สองขวด  งานไม่เสร็จไม่เป็นไร แต่จิตใจต้องได้รับการเยียวยา

แต่นั่นก็เป็นวิธีแก้ปัญหาระดับผู้คนไร้ใบหน้าอันดาษดื่นในโลก  ถ้าคุณเป็นนักแสดงหนุ่มที่กำลังรีดไขมันเพื่อเล่นหนังค่าตัวสิบกว่าล้านเหรียญฯ แถมมีสิทธิ์ได้ส่งชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ ปลายปี ช็อคโกแลตและเบียร์คงไม่ใช่ทางออก หรือถ้าคุณเป็นนางแบบที่เดือนกันยายนเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปิดคอลเล็กชั่นใหม่ ต่อให้เครียดจนสติแตกแค่ไหน การกินก็ไม่ใช่ทางเยียวยา และถ้าคุณเป็นนักกีฬา เผลอๆ อาจต้องไปกลุ้มใจบนลู่วิ่ง เพราะเงื่อนไขอื่นๆ ของชีวิตไม่เอื้ออำนวยให้คุณได้ปลดปล่อยระบายอารมณ์ด้วยวิธีอื่นเท่าไหร่

ระดับโลกก็โหดและชันแบบนี้

ล่าสุด เนย์มาร์ พ่อนักบอลสัญชาติบราซิลเจ้าของค่าตัว 222 ล้านยูโรแห่งชายคาปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาประสบปัญหาทางสุขภาพจิตไม่น้อย “ผมไม่ใช่คนช่างพูดนัก ปกติก็เงียบๆ และมักจะพูดกับตัวเองมากกว่าอยู่แล้วด้วย” เขาว่า

“แต่จนมาถึงจุดที่ผมโกรธและมักระเบิดอารมณ์อยู่บ่อยๆ เพราะไม่ได้สื่อสารกับคนอื่นๆ อย่างถูกต้อง ผมพยายามปรับปรุงตัวเรื่องนี้อยู่แหละ

“คือเวลาสภาพจิตใจเราปกติดี สิ่งที่เกิดตามมาก็จะเป็นธรรมชาติของมันเอง คุณมีแนวโน้มจะทำในสิ่งที่ถูกต้องได้เอง แต่ถ้าสภาพจิตใจคุณไม่ดีนัก สิ่งที่เกิดตามมาหลังจากนั้นมักไม่ใช่สิ่งที่คุณอยากให้เกิดหรอก…

“แล้วบางครั้งมันก็ยากเอามากๆ เพราะคุณต้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา จนการจะเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งมันดูเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ”

อันที่จริง เนย์มาร์ไม่ใช่นักกีฬาที่ขึ้นชื่อเรื่องหัวร้อนหรือมีเรื่องวิวาทบ่อยๆ นัก มากสุดเขาก็เพียงระเบิดอารมณ์กลางสนามเวลาตัวเองทำพลาดเท่านั้น กระทั่งเมื่อตัวเขาเริ่มเห็นว่าความกราดเกรี้ยวเป็นเชื้อไฟบางอย่างที่เขาหาทางสงบมันไม่ลง และดูจะคุกรุ่นจนจุดติดง่ายๆ เสมอ ซึ่งดูเป็นเรื่องอันตรายต่อคนรอบข้างและต่อตัวเขาเอง “ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์นะที่เราจะพลาดกันได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นกระบวนการหนึ่งในการเติบโตของเราน่ะ”

ดูเหมือนว่าราคาของการเป็นนักกีฬาชั้นนำของโลกนั้นมหาศาลกว่าที่หลายๆ คนคิด สิ่งที่พวกเขาและพวกเธอต้องปกปักษ์รักษาและดูแลเป็นอย่างดีในฐานะเงื่อนไขสำคัญของการประกอบอาชีพคือ ร่างกาย พวกเขาย่อหย่อนต่อการฝึกซ้อมไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงความพ่ายแพ้ พวกเขาลักไก่แอบเอาอะไรมากินตามใจอยากไม่ได้ เพราะมันส่งผลโดยตรงต่อเรือนร่างและความแข็งแกร่ง และยิ่งประสบความสำเร็จสูงลิ่ว ราคาค่างวดที่พวกเขาต้องจ่ายก็ไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพแล้ว หากแต่ขยับไปไกลถึงจิตใจ เพราะความพ่ายแพ้ย่อมหมายถึงพาดหัวของแท็บลอยด์ยามเช้าและข่าวซุบซิบว่าฝีมือตก ไม่ได้เรื่อง ไปจนถึงฟอร์มกาก และหากวัดกันในฐานะมนุษย์ที่มีก้อนเนื้อเท่ากำปั้นที่อกซ้ายเหมือนๆ กันกับเรา พวกเขาคงเลี่ยงความตึงเครียดที่จะเกิดขึ้นจากคำวิจารณ์เหล่านี้ไม่ได้เลย และอาจจะหนักหนากว่านั้นเมื่อพวกเขามีแนวโน้มจะเทียบตัวเองกับความสำเร็จอันรุ่งโรจน์ในอดีต เคี่ยวกรำโบยตีตัวเองเพื่อให้ไปถึงและทะลุผ่านจุดนั้น เพื่อจะพบว่าหันหลังไปก็อาจเจอดาวรุ่งคนใหม่ไล่ตามหายใจรดต้นคอ และวันต่อมาอาจคว่ำพวกเขาให้กลายไปเป็นใครสักคนในอดีตที่เราจำได้ลางๆ ว่าเคยวาดลวดลายในสังเวียนกีฬามาก่อน

เนย์มาร์ไม่ใช่คนแรกที่ออกมาพูดเรื่องสุขภาพจิตของนักกีฬา  ไรอัน ฮอลล์ นักกรีฑาสัญชาติอเมริกันเจ้าของสถิติโอลิมปิกปี 2008 และ 2012 เล่าว่าแม้แต่คนในครอบครัวเขาก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะสังเกตว่าตัวเขามีความผิดปกติทางจิตใจและแสดงออกผ่านพฤติกรรมเพี้ยนประหลาด กรณีของฮอลล์ คนในครอบครัวและเพื่อนสนิทพบว่าฮอลล์ไม่เคยใช้ชีวิตประจำวันด้วยกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ใช่การซ้อมวิ่งเลย และดูเหมือนเขาเองจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ “เวลาเรานั่งดูหนังกัน ผมก็จะนั่งยืดเหยียดกล้ามเนื้อหรือฝึกช่วงกลางลำตัว” เขาเล่า “คุณจะเอาแต่หมกมุ่นและเตรียมพร้อมสำหรับการออกกำลังกายครั้งต่อไปอยู่ตลอดเวลา ไม่ก็คิดว่าจะพักฟื้นกล้ามเนื้อ ปั้นร่างกายอย่างไรดี

“แล้วเวลาเรามองไปที่นักกีฬาประเภทเดียวกันที่ร่างเล็กกว่าเรา ประมาณว่าสูง 5 ฟุต 4 นิ้ว กับหนักอีกร้อยกว่าปอนด์ แต่ตัวผมเองสูง 5 ฟุต 10 นิ้ว กับหนักอีก 137 ปอนด์ ผมเริ่มอยากจะตัวบางลง ผอมลงกว่าเดิมอีก”

ปรากฏว่าทางการแพทย์ไม่อนุญาตให้ฮอลล์ ‘ผอมบาง’ ลงไปได้มากกว่านี้แล้วไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน และนั่นกินเวลาอยู่อีกพักใหญ่กว่าฮอลล์จะเข้าใจได้ว่า ต่อให้เขาตัวเล็กกว่านี้ เขาก็ไม่อาจเทียบเคียงคนอื่นได้ “ผมต้องยอมรับว่า ร่างกายผมจะทรงประสิทธิภาพที่สุดก็เมื่อน้ำหนักเท่านี้ และตัวเองมีโครงสร้างร่างกายที่ไม่เล็กเหมือนนักวิ่งคนอื่นด้วย”

และย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมของปี อดัม ซิลเวอร์ กรรมการสมาพันธ์ NBA ออกแถลงการณ์ชวนช็อคว่า นักกีฬาบสาเก็ตบอลในลีก โดยเฉพาะคนที่มีค่าตัวมากกว่า 7 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไป ล้วนตกอยู่ในภาวะ ‘ไร้สุข’ ซึ่งเป็นเรื่องน่าหาทางออกว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา เป็นไปได้ไหมว่าการฝึกซ้อมที่เคร่งเครียดจนแทบจะเป็นความรู้สึกของการวิ่งขึ้นเขาทุกวันๆ การเจอกับเสียงตะโกนดุด่าของโค้ชจอมเฮี้ยบจนหัวใจอ่อนยวบ หรือความกดดันจากเสียงโห่ร้องในสเตเดี้ยม ฯลฯ ล้วนส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อความรู้สึกคนฟัง

มีงานวิจัยที่ศึกษานักกีฬาว่ายน้ำ 50 คนที่ลงแข่งขันคัดเลือกเข้าโอลิมปิกของแคนาดา กว่าครึ่งของผู้เข้ารับการทดสอบนั้นมีอาการตรงตามเกณฑ์ของโรคซึมเศร้า มิหนำซ้ำ พวกเขายังพบว่าในกีฬาประเภทอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ นักกีฬาระดับต้นๆ ของลีกต่างเผชิญสถานการณ์ซึมเศร้าหรือจิตตกกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนการสำรวจในกลุ่มนักกีฬาออสเตรเลียและฝรั่งเศสก็พบว่าพวกเขามีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ (common mental disorders-CMDs) ทั้งความตึงเครียด กดดันและไร้สุขเกือบครึ่ง

วกกลับมายังโลกฟุตบอล เนย์มาร์เองไม่ใช่นักกีฬาคนเดียวที่เผชิญหน้ากับความตึงเครียดและแสดงออกเป็นความโกรธเกรี้ยวหรือเคืองแค้นที่เขาเองไม่ปรารถนา  เมื่อปี 2017 มีผลวิจัยว่านักกีฬาฟุตบอลในลีกยุโรปจำนวน 384 คน ราว 37 เปอร์เซ็นต์มีอาการตึงเครียดและซึมเศร้ายาวนานกว่า 12 เดือนเต็ม (!!) ถึงขั้นที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee-IOC) ทำรายงานศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง หลังพบว่านักกีฬาหลายรายมีอาการนอนหลับไม่ปกติ วิตกกังวล พฤติกรรมการกินไม่ดี คุมอารมณ์ไม่ได้ ตลอดจนมีความคิดอยากจบชีวิต

“เรายกย่องคนที่มีพรสวรรค์โดดเด่นล้นเหลือ ยกย่องคนที่มีความสามารถพิเศษ และรับรู้ดีว่าพวกเขาเก่งกาจแค่ไหน แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรประมาทว่าพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง ต้องเจอแรงกดดันเสียดทานแค่ไหนกว่าจะไปถึงจุดนั้น” ฮิลลารี เคาต์เธน นักจิตวิทยาด้านการกีฬาออกความเห็น และนี่จึงหวนกลับไปสู่ต้นเรื่องที่เราเล่าค้างกันไว้ตั้งแต่แรก ว่าท่ามกลางกองชื่อเสียงเงินทองของพวกเขานั้น แลกมาด้วยวินัยแบบที่คนทั่วไปไต่ระดับไปไม่ถึง ในวันที่การเยียวยาตัวเองไม่ได้อยู่ที่ของกินหรือการนอนนิ่งๆ ปล่อยตัวเองจมไปกับแอลกอฮอลล์สองลิตร แรงเสียดทานที่ต้องรับย่อมมากกว่าที่หลายคนจะนึกถึง

“การถูกเปรียบเทียบมันโหดหินเอาเรื่องอยู่นะคะ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในสังคมที่เป็นพิษ คุณคงเคยเห็นโค้ชกีฬาเคี่ยวกรำนักกีฬาที่สภาพจิตใจ สภาพร่างกายและสภาพอารมณ์ผุพังไปแล้วเรียบร้อยบ้างแหละ จริงไหม”

และหากว่าปัญหาใหญ่ที่พวกเราต้องเผชิญคือความล้มเหลว ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เรื่องรายวันอย่างการปิดต้นฉบับได้ไม่ตรงตามกำหนดหรือเรื่องที่ยาวนานกว่านั้นอย่างการเก็บเงินไม่ตรงเป้า ตื่นเช้าไปทำงานไม่ทันสองสัปดาห์ติด เหล่านักกีฬาก็ต้องพบเจอกับปัญหาเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอันที่จริง อาจจะตรงไปตรงมาและรุนแรงกว่าด้วยซ้ำเมื่อคำที่พวกเขาเจอคือคำว่า ‘พ่ายแพ้’ อันเป็นผลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกเกมที่ลงแข่ง ความพ่ายแพ้เกิดขึ้นกับพวกเขารายวัน และเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่เกินกว่าจะเพิกเฉยเหมือนการตื่นสาย สำหรับนักกีฬาหลายๆ คน การแพ้ทีมตรงข้ามจึงเป็นเสมือนความล้มเหลวอันรุนแรงเกินจะรับ — ที่เกิดขึ้นถี่ยิบในช่วงเปิดฤดูกาลหากคุณอยู่ในทีมที่ยังไม่แกร่งมากพอ

“ความพ่ายแพ้มันยาก ไม่มีใครหรอกค่ะที่ตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่า ‘รอจะแพ้ไม่ไหวแล้ว’ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจอารมณ์และผลกระทบของมันด้วยนะ” เคาต์เธนอธิบาย “ฉันพยายามบอกนักกีฬาว่า เวลาพวกเขาแพ้ พวกเขาสมควรมองความพ่ายแพ้นั้นเป็นบทเรียนและยอมรับเสียว่า ‘เอาล่ะ นี่ไม่ได้เป็นในแบบที่ฉันอยากให้เป็น แต่จะเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง จะทำครั้งหน้าให้ดีกว่าได้ยังไง’

“ฉันต้องบอกพวกเขาว่า กีฬาคืองานของพวกคุณ แต่ไม่ใช่ตัวตนของคุณ ซึ่งมันก็ยากแหละเพราะตัวตนของพวกเขามันถูกนิยามไปด้วยกีฬาที่พวกเขาลงแข่งน่ะ พวกเขามีเกียรติ มีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องก็จากการทำงาน หรือก็คือการแข่งขันที่ดี มันเลยกลายเป็นตัวตนของพวกเขาไปในทางหนึ่งน่ะ”

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความกระหายในชัยชนะอันรุนแรงของนักกีฬาหลายคนคือเชื้อเพลิงชั้นดีในการส่งให้เขาไปยืนอยู่บนยอดเขา คนแบบ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช หรือ โคบี้ ไบรอันต์ ที่ปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาด ไม่ยอมระบุคำว่าแพ้ลงในพจนานุกรมส่วนตัวของตัวเองรู้ดีว่า การอ่อนข้อยอมรับว่าตัวเองกำลังแพ้นั้นหมายถึงอะไร มันอาจหมายถึงการยอมรับเรื่องปกติสามัญของมนุษย์เท่าๆ กับการยอมรับว่าพวกเขาต้องดับเครื่องเชื้อเพลิงที่ลุกโหมมาอย่างยาวนานนั้น แล้วหวนกลับไปเป็นมนุษย์ปกติธรรมดาที่ไม่ได้อยู่บนยอดเขาอีกต่อไป และนั่นอาจเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ยากยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้นเสียอีก

เราชื่นชมนักกีฬาเหล่านี้ เราชื่นชมวินัยอันหมดจดและยอดเยี่ยมของพวกเขาเพราะตัวเองทำไม่ได้ เป็นหญิงสาวที่ฝนตกกลับเข้าบ้านไม่ไหวก็เลยต้องเปิดเบียร์ปลอบประโลมหัวใจไปวันๆ ว่าวันนี้เราแพ้… แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเบียร์อร่อยดีและถึงดันทุรังเอาชนะชีวิตในวันนี้ไป ก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นมานี่นา

 


 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/sport/blog/2019/mar/04/elite-sport-mental-health

https://bjsm.bmj.com/content/53/11/667

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save