fbpx
LGBTIQ ในการเลือกตั้ง 62 และการเปลี่ยนแปลงที่เรายังเฝ้ารอ

LGBTIQ ในการเลือกตั้ง 62 และการเปลี่ยนแปลงที่เรายังเฝ้ารอ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ขอบคุณภาพถ่ายจาก มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

“เราไม่คิดเลยว่าจะมีปรากฏการณ์ที่นักการเมืองเสนอนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ โดยที่เรายังมีชีวิตอยู่ทันเห็นสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่พรรคการเมืองอย่าง พรรคมหาชน พรรคอนาคตใหม่ และพรรคสามัญชน ลุกขึ้นมาท้าทายมิติความหลายหลายทางเพศ เพราะประเด็นนี้มีแรงเสียดทานจากสังคมสูงมาก” ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์จากภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศกล่าว

คำพูดข้างต้นคงตรงใจใครหลายคนที่คอยจับตาประเด็นความหลากหลายทางเพศในสนามการเมือง แม้ในปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นข่าวคราวของ พรบ. คู่ชีวิต หรือการแต่งงานเพศเดียวกัน แต่ก็เป็นที่รู้กันว่ารายละเอียดของกฎหมายและการผลักดันยังเชื่องช้าและคลุมเครืออยู่มาก

การเลือกตั้งปี 2562 เราได้เห็นผู้สมัคร LGBTIQ จำนวนหนึ่งทำกิจกรรมหาเสียงอย่างแข็งขัน แต่เมื่อการเมืองเดินทางเข้าสู่สภา กระแสเสียงของผู้ต่อต้านความหลากหลายทางเพศก็ยังโหมสะพัดอยู่ทั่ว แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ อย่างการแต่งกายเข้าสภาก็ตาม

เมื่อขยายดูภาพกว้างระดับโลก รายงานของ International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association (ILGA) ระบุว่ายังมีรัฐบาลกว่า 72 แห่งทั่วโลก สนับสนุนการเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันในฐานะ ‘อาชญากร’

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ประเด็นที่ถูกแชเชือนในสนามการเมือง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระยะต่อสู้  ที่อาจกินระยะเวลาอีกแสนนาน

เมื่อวันที่  23 พฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรเพื่อความหลากหลายทางเพศ ได้จับมือกันจัดงาน ‘เวทีสานพลังการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ เนื่องในวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (IDAHOT 2019) เวทีที่รวมพลังนักสู้เพื่อสิทธิทางเพศ และผู้สมัครเลือกตั้งปี 2562 ที่ผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศเข้าสู่มิติการเมืองและนโยบาย แนวคิดของนักสู้ภายในเวทีเสวนานี้ สะท้อนก้าวปัจจุบันของประเทศไทยว่าสภาพสังคมการเมืองของเราเปิดรับความหลากหลายทางเพศแค่ไหน และอะไรที่เราควรจับตาในอนาคต

 

แรงเสียดทาน เมื่อ LGBTIQ ลงสนามการเมือง

 

พาลินี งามพริ้ง (ซ้าย), ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (กลาง)

 

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ ที่มี่ชื่อเสียงในนาม ‘ส.ส.กะเทยคนแรก’ ได้เล่าถึงการตัดสินใจลงสนามการเมืองว่า ประสบการณ์การเป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนที่ 5 และการต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมเพื่อภาพยนตร์ Insects In The Backyard ที่ถูกแบน ทำให้กอล์ฟเรียนรู้บทบาทการต่อสู้ ทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม และการสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคม

“ตลอดมาเราตั้งคำถามกับสังคมเสมอว่า เรามีความเป็นมนุษย์เหมือนทุกคนในสังคมหรือเปล่า เพราะสิ่งที่สังคมปฏิบัติกับเราตั้งแต่เด็กจนโต เราไม่เคยได้รับความเป็นมนุษย์เหมือนกับที่ทุกคนได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็น ส.ส. เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เราก็ตั้งใจจะท้าทายและผลักดันทั้งด้านทัศนคติและนโยบาย ทั้งสร้างความเข้าใจ และทำให้เกิดสวัสดิการต่างๆ ต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ”

กอล์ฟยังเล่าถึงเหตุการณ์และคำวิจารณ์จากวันที่ไปรายงานตัวที่สภา วันนั้นกอล์ฟแต่งตัวด้วยกระโปรงยาวสีฟ้า สวมเสื้อสูทสีส้ม ในทันทีที่นักข่าวเผยแพร่รูปออกไป กระแสที่มองว่าไม่เหมาะสมก็พรั่งพรูเข้ามาทันที

“มีคนบอกว่าเป็นกะเทยก็สับสนพอแล้ว ขนาดตัวเองยังไม่ชัดเจนแล้วจะเข้ามาบริหารประเทศชาติบ้านเมืองได้ยังไง กอล์ฟเชื่อว่าเราไม่ใช่ LGBTIQ คนแรกที่ทำงานในรัฐสภาหรอกค่ะ เพียงแค่เขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เปิดตัวเพราะสภาพทางสังคมไม่ยอมรับ หรืออาจไม่มี role model ที่จะสร้างความภาคภูมิใจและประกาศให้ทุกคนในสังคมรู้ว่า เฮ้ย ฉันคือ ส.ส. ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เลยไม่เคยมีใครยื่นคำร้องแต่งตัวตามเพศสภาพ

“แต่ครั้งนี้เรากับ ส.ส.ที่เป็น LGBTIQ คนอื่นๆ ตั้งใจที่จะขอแต่งตัวในแบบที่เป็นตัวเอง เพื่อส่งเสียงว่า พวกเรามั่นใจค่ะว่าการทำหน้าที่ ส.ส. ไม่น่าจะใช้เพศเข้ามาทำงาน แต่ใช้ความเป็นมนุษย์และความรู้ความสามารถที่เรามีกันทุกคน”

ด้าน พาลินี งามพริ้ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคมหาชน ได้เล่าถึงแนวคิดแรงเสียดทางจากการเป็นผู้แข่งขัน LGBTIQ ว่า “มีคนเคยถามว่า คุณพอลลีนจะกลายเป็นตัวตลกทางการเมืองไหม แม้พอลลีนจะอยากตอบว่า นายกปัจจุบันไม่เข้าข่ายตัวตลกกว่าหรือ แต่พอลลีนก็ได้แต่บอกไปว่า พอลลีนเชื่อว่าเราทำงานได้จริง ไอ้ผู้ชายคนนั้น (พินิจ งามพริ้ง) กับผู้หญิงคนนี้น่ะ มันคนคนเดียวกัน ถ้าคุณมองแต่ภาพภายนอก โฟกัสแค่ความเป็นกะเทย คุณก็ตัดสินได้แค่ว่ามันเป็นตัวตลก”

พาลินีคิดว่าประชาชนบางคนยังตั้งข้อสงสัยว่าแล้วประเทศจะได้อะไรจากการพูดเรื่อง LGBTIQ

“คนตั้งคำถามว่า อ้าว แล้วเรื่องเศรษฐกิจล่ะ เรื่องจะเอารัฐบาลทหารหรือไม่ล่ะ ทำไมไม่พูดถึงบ้าง ต้องขออนุญาตพูดตรงๆ ว่า ถ้าเราสามารถสื่อสารในประเด็นอื่นๆ ให้คนที่ไม่ใช่ LGBTIQ ได้ ใครจะไม่ทำ คนที่เป็น LGBTIQ ในสนามการเมืองเองก็พยายามดำเนินกิจกรรมอย่างปกติที่สุดเพื่อลบบรรยากาศการแบ่งแยก และพยายามทำงานเพื่อคนชายขอบอื่นๆ ควบคู่ไปกับประเด็นความหลากหลายทางเพศด้วย แต่สาเหตุที่เราไม่สามารถลบเรื่องนี้ออกไปได้ ก็เพราะหากวันหนึ่งลูกคุณหลานคุณเกิดเป็นแบบนี้เหมือนกันล่ะ เราก็ต้องต่อสู้เพื่อเขาใช่ไหม ดังนั้นสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิของเราเองนะ เราทำเพื่อทุกๆ คน”

พาลินีเล่าว่าการที่พรรคเสนอชื่อของเธอเป็นแคนดิเดตนั้นเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์มากกว่าเพื่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ เป็นการกรุยทางเพื่อที่ในอนาคตจะมีแคนดิเดตนายกเป็น LGBTIQ และอาจได้รับโอกาสได้เป็นนายกจริงๆ แม้ว่าอาจไม่ใช่เธอก็ตาม

“อาจจะเป็นลูกหลานของพวกเราก็ได้” พาลินีกล่าว

 

พักตร์วิไล สหุนาฬุ (ซ้าย), กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล (ขวา)

 

พักตร์วิไล สหุนาฬุ ผู้สมัครเลือกตั้งจากพรรคสามัญชน หรือที่คนรู้จักกันในนาม ‘ไก่ ทอมภูธร’ เล่าถึงแรงเสียดทานจากการหาเสียง ซึ่งเธอได้พลิกมันให้กลายเป็นโอกาสว่า “พอเข้าไปพบกับพี่น้อง ก็มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมรูปในป้ายหาเสียงเหมือนผู้ชาย แต่ตัวจริงเสียงจริงเป็นผู้หญิงล่ะ นี่มาหาเสียงเองจริงหรือเปล่า เราก็จะใช้โอกาสนี้อธิบายว่าผู้หญิงที่เป็นผู้ชายมันมีอยู่นะ อธิบายว่าเป็นยังไง เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศต่อประชาชน”

นอกจากนั้นพักตร์วิไลยังสะท้อนภาพความหลากหลายทางเพศของประเทศเราว่า แม้ทั่วโลกอาจเห็นประเทศไทยยิ่งใหญ่และก้าวหน้าในการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ แต่จริงๆ แล้วกลับไม่มีกฎหมายสักฉบับเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเลย และเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางการเมือง LGBTIQ ในสนามทุกคนจึงต้องร่วมมือกัน

“ถ้าพวกเราทุกๆ พรรคมีนโยบายในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าพวกเราคนใดก็ตามก้าวเข้าสู่การเป็น ส.ส. ในสภา สะท้อนเสียงประชาชนเจ้าของปัญหา เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้”

อีกด้าน กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล ชายข้ามเพศผู้สมัครเลือกตั้งจากพรรคมหาชน เผยว่าเขาประสบปัญหาสุขภาพจิตจากการกดดันเรื่องเพศของสังคม การเข้าสู่การเมืองจึงถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นอาจกระทบสุขภาพและซ้ำเติมจิตใจของเขา

แม้ภาพลักษณ์ภายนอกของเขาจะเป็นผู้ชายทุกประการแต่กฤตธีพัฒน์ก็ยังถูกตั้งคำถามจากสังคม บ้างก็มองว่าเขาท้าทายอำนาจความเป็นชาย ‘คุณเป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง คุณกล้าดียังไงที่จะมาเป็นผู้ชาย’ และเพื่อสู้กับแนวคิดดังกล่าว เขาจึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่สนามการเมืองเพื่อให้ LGBTIQ ได้มีตัวตนขึ้นมาในสังคม แม้จะเสี่ยงต่อสุขภาพของเขาก็ตาม

“วันที่ป้ายหาเสียงของผมออกไป แล้วก็ขึ้นหราว่าคำน้ำหน้าชื่อเป็นนางสาว โอ้โห…คอมเมนต์เสียดสีเต็มโซเชียลมีเดียเลยฮะ หลายคนไม่สนใจว่าคนๆ นี้มีเบื้องหลังหรือความสามารถยังไงบ้าง เขาสนใจแค่ว่าเพศสภาพเราเป็นอะไร จากนั้นเขาก็จะดิสเครดิตเราทุกทาง ซึ่งก็เกือบจะทำให้อาการกำเริบ แต่ก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร มันเป็นเรื่องที่เราต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้

“สังคมไทยแปลกอย่างหนึ่งคือสอนเด็กว่าให้เราเป็นสิ่งที่เราต้องการจะเป็น จงเป็นตัวเอง แต่พอเด็กเป็น LGBTIQ ทุกคนก็มาบอกว่าไม่ใช่ อย่าเป็นอย่างนั้น พวกเราในสังคมสับสนมาตลอด ทั้งจากการสอนในห้องเรียน หรือแนวคิดชายเป็นใหญ่ในสังคม ทั้งหมดเป็นเรื่องของอำนาจ ผมเลยรู้สึกว่าเรื่องการเมืองกับเรื่องเพศเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สามารถหนีออกจากกันได้ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม ผมเลยตัดสินใจทำสิ่งที่ยากที่สุดในวันที่ยากที่สุด อย่างน้อยถ้าเราสามารถที่จะยืนขึ้นมาได้ เราอาจจะกลายเป็นตัวอย่างให้กับเด็กคนอื่นๆ เยาวชนคนอื่นๆ ว่า เขาสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เขาต้องการจะเป็น”

 

นโยบายเพื่อความหลากหลายทางเพศและการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถูกย้อมสี

 

ในการเมืองต่างประเทศ เราเห็นภาพของ LGBTIQ ชัดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา เริ่มนโยบายสนับสนุนให้คนรักร่วมเพศมารับราชการทหาร และการออกกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ในแคนาดาก็มีนายกรัฐมนตรีที่มาร่วมเดินในงาน Gay pride และมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่ผู้นำประเทศประกาศตัวว่าเป็น LGBTIQ เช่น นายกรัฐมนตรีของไอร์แลนด์ที่เป็นชายรักชาย แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าวาระสำคัญด้านความหลากหลายทางเพศจะถูกผลักเข้าไปในระบบโครงสร้างสังคม

สิ่งที่วัดความก้าวหน้าที่แท้จริงคือนโยบายที่รองรับชีวิต ความปลอดภัย และความเป็นมนุษย์ของผู้คนต่างหาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อความเจริญในชาติบ้านเมืองในที่สุด

ดร. สมิทธิ์ บุญชุติมา รองคณบดีฝ่ายกายภาพและกิจการพิเศษคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับเพศ ได้ยกนโยบายหนึ่งที่สังคมควรผลักดันให้เกิด นั่นคือ ‘การเปลี่ยนคำนำหน้านาม’ โดยอธิบายความสำคัญว่า การระบุเพศที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่เป็น LGBTIQ โดยตรง

“ทุกรายงานวิชาการที่ผมศึกษาระบุตรงกันครับว่า LGBTIQ มีสุขภาพที่แย่กว่าประชากรที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด เพราะการใช้ชีวิตจะมีความกดดัน และถูกเหยียดหยาม และนำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางสุขภาพต่างๆ อีกมากมาย มีหลักฐานชัดเจนว่า LGBTIQ สูบบุหรี่มากกว่าประชากรชายหญิง และดื่มเหล้ามากกว่าด้วย

“ผมยังทำงานวิจัยด้วยตัวเองและพบว่าเฟซบุ๊กของเพศชายกับเกย์ มีความแตกต่างในพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่พบว่าผู้ใช้ที่ระบุว่าเป็น LGBTIQ จะใช้เฟซบุ๊กเพื่อการหลีกหนีจากความเป็นจริง และเพื่อคลายเครียด ในขณะที่คนอื่นใช้เพื่อรับข้อมูลหรือเข้าสังคม นี่ก็เป็นหลักฐานของความแตกต่างทางเพศที่นำไปสูพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

“นอกจากนั้นเราก็ยังพบอีกว่า คนที่มีการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าแล้วจะมีความเครียดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำนำหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ และนำไปสู่ตัวบ่งชี้ทางสุขภาพที่ดีขึ้นในทุกมิติ แน่นอนว่าถ้าเราสุขภาพไม่ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงาน ต่อการให้บริการแน่นอน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลนะครับ แต่เป็นเรื่องของสาธารณะ เพราะสุขภาพเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน และสมรรถภาพในการทำงานของคนในประเทศ”

ด้าน ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์จากภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ กล่าวว่าการตระหนักรู้เรื่อง LGBTIQ จะเกิดขึ้นได้ด้วยการทำงาน 3 ทาง อันดับแรกคือการศึกษา การศึกษาในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในระดับเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่แค่การสร้างความรู้ แต่ต้องทำให้คนรู้สึกสั่นสะเทือน นำความรู้เข้าสู่ฐานของหัวใจ เพื่อตระหนักในคุณค่าของความเป็นมนุษย์

การทำงานทางที่ 2 คือการทำงานด้านบริการทางสังคม โดยต้องทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นประเด็นปัญหาเฉพาะ เช่น การป้องกันและรักษา HIV การมีคลินิกสุขภาวะทางเพศ

และการทำงานทางสุดท้าย คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม โดยต้องทำให้มิติทางด้านการเมือง ศาสนา สาธารณสุข การศึกษา สื่อมวลชน ไปจนถึงความยุติธรรม มีนโยบายและแนวที่ยุติธรรมสำหรับกลุ่ม LGBTIQ

ดร.ชเนตตี ยังอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกว่า Pink Washing หรือย้อมสีทางการเมือง เพื่อสะท้อนว่าเรายังต้องจับตาที่นโยบายที่ช่วยคุ้มครอง ปกป้องสิทธิของคนอย่างเท่าเทียมจริงๆ

“มีคำเตือนมาในงานวิเคราะห์ด้านวิชาการว่า บางครั้งนักการเมืองกำลังทำกระบวนการ Pink Washing คือการเชิดชูประเด็นความหลากหลายทางเพศ เพื่อกลบฝังประเด็นความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ยังเกิดกับ LGBTIQ เขาอาจจะพยายามทำให้โลกรู้ว่าประเทศของเขาส่งเสริม LGBTIQ แล้ว แต่เหตุการณ์ความรุนแรงบางอย่างถูกทำให้หายไป เช่น ในประเทศที่มีกฎหมายสมรสของคนเพศเดียวกัน ยังมีกะเทย มีคนข้ามเพศ มีทอมที่ถูกสังหาร เด็กที่เป็น LGBTIQ ที่อยู่ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ก็อาจจะยังคงถูกรังแกอยู่

“เพราะฉะนั้นอย่าพึ่งตื่นเต้นกับวาระเหล่านี้ แต่เราต้องมาช่วยกันระมัดระวังว่า อย่าทำให้มันกลายเป็น Pink Washing ที่หลอกให้เรารู้สึกว่าประเทศนี้ รัฐบาลนี้ สังคมนี้ เฟรนด์ลี่กับความหลากหลายทางเพศ ตราบใดที่ฐานรากของความรุนแรงยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมี LGBTIQ แม้แต่คนเดียวยังถูกรังแกอยู่ ยังมีแม้แต่หนึ่งคอมเม้นต์ในโลกออนไลน์ ที่สร้างความเกลียดชัง ดิฉันคิดว่าวาระเหล่านี้เรายังต้องเคลื่อนกันต่อ”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save