fbpx

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ไฮไลต์

  • รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ อยู่ที่ 118,160 บาทต่อเดือน ถือว่าอยู่ในท็อป 14% ของประเทศ  เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศคือ 27,352 บาทต่อเดือน โดยนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์รวยที่สุด เฉลี่ย 212,974 บาทต่อเดือน
  • ควินไทล์ (quintile) ที่ 5 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 525,978 บาท/เดือน หรือท็อป 2% ของประเทศ ซึ่งมีจำนวนถึง 20% ของนิสิตจุฬาฯ หากตัดควินไทล์ที่ 5 ออก ค่าเฉลี่ยรายได้จะเหลือเพียง  58,061 บาท/เดือน หรือท็อป 35% เท่านั้น
  • 71.5% ของนิสิตจุฬาฯ มาจากโรงเรียนรัฐบาล 10.8% มาจากโรงเรียนสาธิต และมาจากโรงเรียนเอกชนศาสนาเพียง 9.5%
  • นิสิตจุฬาฯ ครึ่งหนึ่งมีพื้นเพมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย 37% มีพื้นเพมาจาก กทม. 12.8% มาจากสมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และส่วนมากมาจากหัวเมืองใหญ่
  • ครอบครัวนิสิตจุฬาฯ โดยเฉลี่ยถือครองที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ หากนับเฉพาะประชากรที่ถือครองที่ดิน ค่าเฉลี่ยนี้อยู่ในระหว่างควินไทล์ที่ 4 กับ 5 ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดของประเทศ
  • ครอบครัวนิสิตจุฬาฯ มีรถยนต์เฉลี่ย 2.3 คัน มีเพียง 6% ที่ไม่มีรถยนต์เลย และส่วนมาก 37.7% ครอบครัวมีรถยนต์ 2 คัน
  • นิสิตจุฬาฯ 38.3% เรียนพิเศษก่อนเข้ามหาวิทยาลัยสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงขึ้นไป 49.5% เรียนสัปดาห์ละ 1 – 9 ชั่วโมง โดยคณะที่เรียนพิเศษก่อนเข้ามหาวิทยาลัยหนักที่สุดคือคณะทันตแพทยศาสตร์และแพทยศาสตร์ ค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษต่อเดือน 3,811 บาท นักเรียนเอกชนเรียนพิเศษมากกว่านักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาล
  • นิสิตจุฬาฯ 10.2% เคยไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ แต่นิสิตในรุ่นที่เก็บข้อมูลอยู่ในช่วงโควิด สถานการณ์ปกติอาจสูงกว่านั้น ที่สำคัญคือนิสิตที่เคยไปแลกเปลี่ยนฯ มีรายได้ครัวเรือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า
  • มีเพียง 5.6% ของนิสิตจุฬาฯ ที่ไม่มีพ่อแม่หรือญาติจบมหาวิทยาลัย

ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนคงจะเคยได้ยินประโยคทำนองว่า

“เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย”

“ถ้าไม่รวยเข้าจุฬาฯ ไม่ได้หรอก ต่อให้เข้าได้แล้ว เพื่อนๆ เขามีตังค์ เราไม่มีตังค์ ก็เข้าสังคมของเขาไม่ได้อยู่ดี”

แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ ที่สังคมทั่วไปเข้าใจนั้นคือเด็กบ้านรวย มีไลฟ์สไตล์เข้าห้างและอยู่คอนโดหรูตามในสื่อ หนัง และละครต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าจุฬาฯ นั้นเข้ายากและแข่งขันสูง จึงเป็นที่รวมของชนชั้นสูงในสังคม

อย่างไรก็ดี เราก็ได้ยินเรื่องราวในมุมตรงข้ามกับ ‘เด็กจุฬาฯ รวย’ เช่นกัน โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ เช่น

“เด็กจุฬาฯ ไม่ได้บ้านรวยทุกคน ไม่ได้กินข้าวห้างทุกมื้อ เราอยู่หอใน เรากินข้าวแกงหอในทุกมื้อก็อยู่ได้”

 หรือกระแสต่อว่าจุฬาฯ ว่ามีหอในไม่เพียงพอสำหรับนิสิต เดือดร้อนนิสิตที่ครอบครัวรายได้ต่ำไม่เพียงพอเช่าคอนโด

แต่ตราบใดที่เรายังไม่มีข้อมูล เราก็ไม่รู้ว่า ‘เด็กจุฬาฯ บ้านรวย’ นั้นเป็นจริงแค่ไหน รวมถึงน่าสงสัยมากว่าแท้จริงแล้วความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการศึกษาในสังคมไทยที่งานวิจัยทางสถิติจำนวนมากได้ยืนยันนั้น ในเชิงประจักษ์มีผลต่อโอกาสในการศึกษาต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากแค่ไหน

จึงเป็นที่มาของงานนี้เพื่อการตอบคำถามดังกล่าว โดยงานนี้ได้ริเริ่มสมัยที่ผู้เขียนสองคนคือ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (นายกสโมสรนิสิต) และณัฐชญา ใหม่นิถะ (เหรัญญิกสโมสรนิสิต) ดำรงตำแหน่งในองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 ในชื่อ โครงการศึกษาวิจัยฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำภายในนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการเสนอไปโดยไม่ของบประมาณ แต่ไม่ผ่านที่ประชุมสภานิสิตในเวลานั้น แถมยังเจอการแทรกแซงของทางมหาวิทยาลัยในวาระการดำรงตำแหน่งด้วย อย่างไรก็ดี ทีมของเราก็ยังคงมุ่งมั่นทำต่อโดยไม่มีตำแหน่งแห่งที่ใดๆ รองรับอยู่อีกหนึ่งปีเต็มๆ[1]

และโชคดีขณะกินหมูกระทะได้ไปเจอผู้เขียนอีกท่านคือ ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ อดีตรองประธานสภานิสิตจุฬาฯ ปีการศึกษา 2560 เป็นเรี่ยวแรงหลักในการเรียบเรียงวิเคราะห์ข้อมูล ในที่สุดเราก็ได้ทำโครงการศึกษาสำเร็จ และต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาของพวกเรา

ในงานนี้ พวกเราศึกษาภูมิหลังของนิสิตจุฬาฯ ชั้นปี 1 ที่กำลังจะเริ่มเรียนเทอมแรกในปีการศึกษา 2566 จำนวน 713 คน จำนวนนี้คิดเป็นราวๆ 12% จากจำนวนนิสิตชั้นปีที่ 1 ทั้งหมดประมาณ 6,000 คนต่อปี โดยการใช้แบบสอบถามออนไลน์ส่งไปตามกลุ่ม Line ของนิสิตชั้นปีที่ 1 แต่ละคณะ เพื่อจุดประสงค์ในการศึกษาวิจัย นอกจากนี้เรายังเก็บข้อมูลโดยการลงพื้นที่ที่หอพักนิสิตจุฬาฯ หรือ ‘หอใน’ และไปเดินสายตามคณะต่างๆ ในจุฬาฯ โดยทีมงานได้ให้นิสิตหอในสแกน QR code เพื่อเข้าทำแบบสอบถาม

จากข้อมูลที่เราเก็บมาได้ แบ่งออกเป็นนิสิตชายจำนวน 210 คน นิสิตหญิงจำนวน 460 คน และนิสิตที่นิยามตนเป็นเพศอื่นๆ อีก 53 คน (มีสัดส่วนราว 7.3%)

1. โรงเรียนและภูมิภาค

เด็กจุฬา 71.5% มาจากโรงเรียนรัฐบาล อีก 10.8% มาจากโรงเรียนสาธิต ลำดับถัดมาคือโรงเรียนเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น กรุงเทพคริสเตียน เซนต์คาเบรียล มงฟอร์ตวิทยาลัย วัฒนาวิทยาลัย มีจำนวนอยู่ที่ 9.5% เท่านั้น ในกลุ่มโรงเรียนศาสนานี้โรงเรียนที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ อัสสัมชัญ 6 คน ลำดับถัดมาคือ มาแตร์เดอี เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ อัสสัมชัญ จำนวน 5 คนเท่ากัน อาจตรงกันข้ามกับความรู้สึกของใครหลายๆ คนที่คิดว่าเด็กจุฬาฯ มาจากโรงเรียนกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก มีดารานักแสดงวัยรุ่นจากโรงเรียนกลุ่มนี้มากมาย

นิสิตที่มาจากโรงเรียนนานาชาติก็น่าจะมีจำนวนต่ำกว่าที่หลายๆ คนคิดไว้ นั่นคือ 1.3% ขณะเดียวกัน นิสิตที่มาจากโรงเรียนเทศบาลมีจำนวนเพียง 1% ของทั้งหมด

เมื่อเจาะลึกลงไปรายภูมิภาคพบว่า กรุงเทพฯ มีสัดส่วนนิสิตที่มาจากโรงเรียนรัฐบาล 68% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนิสิตที่มาจากโรงเรียนรัฐบาลทั้งประเทศที่ 71.5% โรงเรียนรัฐบาลในที่นี้กระจุกตัวเพียงไม่กี่โรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น สวนกุหลาบวิทยาลัย สามเสนวิทยาลัย สตรีวิทยา และนิสิตจากโรงเรียนรัฐบาลที่มีจำนวนมากที่สุดนั่นคือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คิดเป็น 7.9% ของข้อมูลที่เก็บมาได้

เจาะลึกลงไปรายจังหวัดแล้วเราพบว่า นิสิตจุฬาฯ ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดขนาดใหญ่และหัวเมืองทั้งสิ้น โดยกรุงเทพและปริมณฑลรวมกันก็มากถึง 50.7% แล้ว จังหวัดที่เหลือเป็นจังหวัดระดับหัวเมือง อย่าง สงขลา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ และจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่าง ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา เชียงใหม่

ข้อมูลชุดนี้ยังได้สร้างความรับรู้ใหม่ให้แก่สังคมอีกหนึ่งประเด็น นั่นคือ ‘เอกชนบริหารงานได้ดีกว่ารัฐ’ เพราะการใช้กลไกตลาดซึ่งก็คือผลกำไร จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้เล่นเอกชนหมั่นพัฒนาตัวเองเสมอเพื่อให้สามารถแข่งขันกับองค์กรคู่แข่งได้ ผิดกับรัฐที่ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน โดยความคิดเห็นแบบนี้มีให้เห็นทั่วไปตามโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกระทู้เว็บบอร์ดชื่อดังที่มักมีการถามว่าควรพาลูกไปเข้าโรงเรียนอะไรดี ข้อมูลชุดนี้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเอกชนไม่ได้ดีกว่าโรงเรียนรัฐบาล เพราะ 80% ของนิสิตจุฬาฯ นั้นมาจากโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนสาธิต หากเทียบกับสถิตินักเรียนทั้งประเทศจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว นักเรียน ม.5 ปีการศึกษา 2564 หรือชั้นอุดมศึกษาปีที่ 1 ปี 2566 มีนักเรียนจากโรงเรียนเอกชน 20% โรงเรียนรัฐบาล 80% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากันพอดีกับข้อมูลนิสิตจุฬาฯ ที่เก็บมาได้

(อย่างไรก็ตาม เป็นผู้ทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาว่า โรงเรียนมัธยมของรัฐที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีกระจุกอยู่เฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองเท่านั้น)  

ภาคเหนือมีสัดส่วนนิสิตที่มาจากโรงเรียนรัฐบาลต่ำที่สุดที่ 64.3% ภาคอีสานเป็นภาคที่มีสัดส่วนโรงเรียนรัฐบาลสูงที่สุดที่ 82.4% จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่มีผลต่อการรับรู้ด้วยเช่นกัน เช่น ภาคเหนือมีสัดส่วนนิสิตจุฬาฯ ที่มาจากโรงเรียนรัฐบาลต่ำที่สุดในประเทศ ผู้เขียน (ศุภลักษณ์) ซึ่งเติบโตในภาคเหนือเคยมีความคิดว่าเด็กเก่งๆ ไปอยู่เอกชนกันหมด แต่หากเทียบกับภูมิภาคอื่นแล้ว คนจากภาคอื่นอาจไม่ได้คิดว่าเอกชนดีกว่าเสมอไป อย่างเช่นในกรุงเทพฯ จะเห็นได้ว่ามีการแข่งขันสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลที่สูงมาก เช่น เตรียมอุดมศึกษา สามเสนวิทยาลัย เป็นต้น

เราอาจสามารถสรุปสถานการณ์การศึกษาของประเทศได้จากข้อมูลชิ้นนี้ โรงเรียนรัฐดีๆ กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล การที่โรงเรียนรัฐบาลดีๆ กระจุกอยู่ในกรุงเทพที่เป็นเมืองแห่งโอกาสอยู่แล้ว ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดสูงขึ้นไปอีก ส่วนในภูมิภาค ความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนใหญ่ประจำจังหวัดกับโรงเรียนอื่นในพื้นที่ก็มีมาก โจทย์สำคัญของภาครัฐคือ การทำให้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรัฐมีคุณภาพไม่ต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการรับประกันว่าเด็กทุกคนจะได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเกิดในเมืองหรือชนบทหรือยากดีมีจน

2. รายได้ครอบครัว

ไฮไลต์หลักของข้อมูลชุดนี้อยู่ที่รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการทำงานชิ้นนี้ จากการสำรวจพบว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ อยู่ที่ 118,160 บาทต่อเดือน[2] ค่ามัธยฐานของรายได้ครอบครัวอยู่ที่ 67,000 บาท แปลความได้ว่ารายได้เฉลี่ยกระจุกอยู่ด้านบนสูง พอเฉลี่ยออกมาจึงทำให้ดูสูงกว่าค่ามัธยฐานสูงมาก โดยรายได้ของพ่อเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 67,605 บาท แม่อยู่ที่ 50,554 บาท มีครอบครัวที่มีพ่อทำงานคนเดียว 18%

ในขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติชุดล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2564 ระบุว่า รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยทั้งประเทศไทยอยู่ที่ 27,352 บาทต่อเดือนเท่านั้น ส่วนค่าเฉลี่ยของ 4 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 39,047 บาทต่อเดือน

จะเห็นว่า ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างนิสิตจุฬาฯ ที่เก็บได้มีเพียง 17% เท่านั้นที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศและมี 29.8% ที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร

ยิ่งไปกว่านั้น หากแบ่งรายได้ครอบครัวออกเป็น 10 เดไซล์ (decile) แล้ว พบว่าเพียงเดไซล์ที่ 2 รายได้ครอบครัวเฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ ก็มีค่าเกือบเท่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ (27,352) และค่าเฉลี่ยปริมณฑล (39,047) แล้ว โดยค่าเฉลี่ยของรายได้ครอบครัว (118,160) ตกอยู่ระหว่างเดไซล์ที่ 8 และ 9 เลยทีเดียว

นอกจากนี้เรายังใช้ข้อมูลจาก World Inequality Database (WID) เพื่อหาว่ารายได้ครัวเรือนของนิสิตจุฬาฯ อยู่ที่การกระจายตัวเท่าไรของประเทศ พบว่าอยู่ที่เปอร์เซนไทล์ที่ 14 จากรายได้ที่สูงที่สุด (รายได้ครัวเรือน 118,160 ต่อคนทำงาน 2 คน เฉลี่ย 59,080 บาทต่อเดือนต่อคน) หมายความได้อีกว่าครอบครัวของนิสิตจุฬาฯ โดยเฉลี่ยรวยกว่าคน 86% ของประเทศ (เป็นท็อป 14% ของประเทศ) ดังนั้นหากพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของรายได้ครอบครัวแล้ว เราสามารถฟันธงได้แน่นอนว่านิสิตจุฬาฯ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย

แผนภูมิเดไซล์ยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำภายในนิสิตจุฬาฯ ด้วยกัน โดยรายได้ครอบครัวเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในเดไซล์ที่ 10 หรือถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือข้างบน ‘ดึงมีน’ นั่นเอง หากตัดเดไซล์ที่ 9 และ 10 ออก รายได้เฉลี่ยครอบครัวของนิสิตจุฬาฯ จะอยู่ที่ 58,061 บาทต่อเดือนเท่านั้น (รายได้ครัวเรือน 58,061 บาทต่อเดือน ทำงาน 2 คน เฉลี่ย 59,080 บาทต่อเดือนต่อคน) ซึ่งเทียบได้กับ 35% บนสุดของประเทศ และหากตัดเดไซล์ที่ 10 รายได้ครอบครัวเฉลี่ยจะเหลือเพียง 72,352 เทียบได้กับ 26% บนสุด โดยรายได้ของนิสิตจุฬาฯ ในเดไซล์ที่ 10 เพียงเดไซล์เดียวครอบครองรายได้ 45% ของรายได้ทั้งหมดเลยทีเดียว ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยข้อมูลจาก WID พบว่าคนไทย 10% บนสุดถือครองรายได้ 56% รายได้เฉลี่ยครอบครัวของนิสิตจุฬาฯ จึงถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า แต่หากใช้ข้อมูลจากสภาพัฒน์ พ.ศ. 2564 นั้นคนไทย 10% บนสุดถือครองรายได้ 33.43% ซึ่งต่ำกว่าของนิสิตจุฬาฯ

เมื่อคำนวณค่าสัมประสิทธิ์ GINI เพื่อวัดความเหลื่อมล้ำจากข้อมูลชุดนี้จาก Lorenz Curve ค่าที่ได้มีค่าเท่ากับ 0.55 เทียบกับค่าของทั้งประเทศไทยคือ 0.43 เมื่อ พ.ศ. 2564 (ข้อมูลจากสภาพัฒน์) โดยค่า GINI ยิ่งมากยิ่งมีความเหลื่อมล้ำสูง รายได้ของนิสิตจุฬาฯ จึงมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าระดับประเทศ[3]

สุดท้าย หากนำรายได้เฉลี่ยในเดไซล์ที่ 9 ไปเทียบกับข้อมูลการกระจายรายได้จาก WID พบว่ากลุ่มเดไซล์ที่ 5 รวยกว่าคน 97% ของประเทศ หรือพูดง่ายๆ มีนิสิตจุฬาฯ 20% ที่รวยระดับท็อป 3% ของประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น หากนำรายได้เฉลี่ยในเดไซล์ที่ 10 ไปเทียบพบว่าอยู่ในระดับท็อป 2% ของประเทศไทย

เมื่อพิจารณาเป็นรายคณะแล้ว คณะที่มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวสูงที่สุดคือคณะวิศวกรรมศาสตร์ 212,974 บาทต่อเดือน (กลุ่มตัวอย่าง 61 คน) รองลงมาคือแพทยศาสตร์ 167,999 บาทต่อเดือน ซึ่งอันดับ 1 นั้นโดดห่างจากอันดับ 2 อยู่ถึงเกือบห้าหมื่นบาท น่าสนใจว่า คณะทันตแพทย์ ซึ่งเป็นคณะที่ใกล้เคียงกับคณะแพทย์มากที่สุดกลับมีรายได้เฉลี่ยเป็นอันดับ 10 ทั้งนี้คณะที่หลายคนคิดว่าเป็นคณะที่มีนิสิตครอบครัวรวยมาเรียนเยอะอย่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กลับเป็นคณะที่รวยอันดับที่ 5 ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างคณะเศรษฐศาสตร์ที่อันดับ 4

ส่วนคณะที่นิสิตที่มีครอบครัวรายได้ต่ำที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะรัฐศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์

หากจำแนกจากรายได้แล้วพบว่านิสิตจากโรงเรียนรัฐบาลมีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่ำที่สุด และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด โดยนิสิตจากโรงเรียนเอกชนมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด นิสิตจากโรงเรียนสาธิตมีรายได้ครอบครัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยด้วยเช่นกัน นิสิตจากโรงเรียนนานาชาติมีรายได้เฉลี่ยครอบครัวมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมดถึงราว 4 เท่า


หมายเหตุ: รายได้ที่มากที่สุดในสามารถกรอกในแบบสอบถามได้คือ “มากกว่า 500,000 บาทต่อเดือน” หมายความว่าผู้ตอบแบบสอบถามอาจมีรายได้ครอบครัว 1 ล้านบาทต่อเดือนก็ได้ แต่เวลาคำนวณผู้เขียนใช้ตัวเลขที่ 500,000 บาท หากได้ตัวเลขที่แท้จริงจะทำให้รายได้เฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ สูงขึ้นไปอีกเล็กน้อย หรือที่เรียกกันว่าดึงมีนนั่นเอง

หมายเหตุ2: เราไม่ได้นำสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาเข้ามาร่วมคิดด้วย เพราะเก็บตัวอย่างได้เพียง 2 คน

3. ค่าใช้จ่ายรายเดือน

ค่าใช้จ่ายของนิสิตต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 7,940 บาทต่อเดือน โดยเฉลี่ยได้รับเงินสนับสนุนจากพ่อแม่เดือนละ 7,951 บาทต่อเดือน คณะที่ใช้เงินรายเดือนมากที่สุดได้แก่ แพทย์และทันตแพทย์ ซึ่งค่าใช้จ่ายรายเดือนอาจรวมค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ เพราะสองคณะดังกล่าวเป็นคณะที่มีการเรียนพิเศษมากที่สุด

4. ที่ดิน

จากข้อมูลที่เก็บมาได้พบว่าผู้ปกครองและตัวนิสิตถือครองที่ดินเฉลี่ยคนละ 7 ไร่ โดยมี 20.8% ไม่ได้ถือครองที่ดินเลย โดย 16.3% ถือครองที่ดิน 0-1 ไร่ แต่มีถึง 9.7% ถือครองมากกว่า 30 ไร่ขึ้นไป

จากงานวิจัยของดวงมณี เลาหกุล (2555, หน้า 13,18) พบว่ามีประชากรไทยเพียง 24% ที่ถือครองที่ดินเท่านั้น (15,000,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65,000,000) เทียบกับนิสิตจุฬา ที่ถือครองที่ดินถึง 79.2% โดยในประชากรทั้งหมดที่มีโฉนดถือครองที่ดินนั้น ถือครองที่ดินเฉลี่ยคนละ 5 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ ที่ 7 ไร่

ยิ่งไปกว่านั้น หากแบ่งประชากรที่ถือครองที่ดินออกเป็น 5 ควินไทล์ พบว่าควินไทล์ที่ 5 หรือที่สูงที่สุดถือครองที่ดินเฉลี่ย 23 ไร่ 3 งาน, ควินไทล์ที่ 4 หรือรองจากสูงที่สุด ถือครอง 4 ไร่ 2 งาน ส่วนในควินไทล์ที่ต่ำที่สุดเฉลี่ยถือครองเพียง 29 ตารางวา หรือ 0.07 ไร่เท่านั้น จากข้อมูลชุดดังกล่าว พบว่าครอบครัวนิสิตจุฬาฯ โดยเฉลี่ยถือครองที่ดินอยู่ในระหว่างควินไทล์ที่ 4 และ 5 เลยทีเดียว


หมายเหตุ: 1 ไร่ = 400 ตารางวา

5. รถยนต์

ครอบครัวนิสิตจุฬาฯ โดยเฉลี่ยมีรถ 2.3 คัน โดยมีแค่ 6% ที่ไม่มีรถยนต์เลย และส่วนมากครอบครัวนิสิตจุฬาฯ 37% ครอบครองรถยนต์ 2 คัน

6. การเรียนพิเศษ

การเรียนพิเศษก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ ในโลกออนไลน์มีการพูดถึงอยู่เสมอว่าการเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ จำเป็นต้องเรียนพิเศษ หากไม่มีเงินเรียนพิเศษแล้วก็ยากมากที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้

จากข้อมูลของเรานั้นพบว่าเด็กจุฬาฯ เรียนพิเศษสัปดาห์ละ 1-9 ชั่วโมง เป็นสัดส่วน 49.5% เรียนมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์คิดเป็น 38.3% เคยแค่เข้าไปทดลองเรียน 4.5% และไม่เคยเรียนพิเศษเลยมีแค่ 7.7% เท่านั้น

นิสิตคณะที่เรียนพิเศษก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมากที่สุดคือทันตแพทย์ จากกลุ่มตัวอย่างของเรา 6 คนนั้น นิสิตทันตแพทย์ทั้ง 6 คน เรียนพิเศษมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รองลงมาคือคณะแพทยศาสตร์โดยเกือบ 70% ของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 16 คน เรียนพิเศษมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อีกทั้งมีแค่ 2 คณะนี้เท่านั้นที่ไม่มีใครไม่เรียนพิเศษหรือไม่เคยเข้าไปทดลองเรียนเลย

ในทางกลับกันคณะที่มีสัดส่วนคนไม่เคยผ่านการเรียนพิเศษมากที่สุดคือสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ลำดับถัดมาคือวิทยาศาสตร์การกีฬา ในกรณีของวิทย์กีฬาฯ อาจเป็นเพราะว่าวิธีการรับเข้าศึกษาคณะนี้มาจากทักษะและผลงานทางการกีฬามากกว่าคณะอื่น

มาถึงขั้นนี้แล้ว ปฏิเสธได้ยากว่าการเรียนพิเศษมีผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัยจริง กระนั้นค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษก็ไม่ได้สูงสำหรับนิสิตจุฬาฯ เสมอไป (แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอัตราที่สูงสำหรับแรงงานผู้รับค่าแรงขั้นต่ำ) โดย 32.3% มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่ำกว่า 2,500 บาท 25.4% ต่ำกว่า 5,000 บาท โดยค่านิสิตที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาทมีสัดส่วนราว 12% เราสามารถเจาะลึกค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษแยกตามคณะได้ที่อีกแผนภาพ

เมื่อแยกออกตามประเภทโรงเรียนแล้วพบว่านักเรียนที่มาจากโรงเรียนนานาชาติมีค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษสูงที่สุด ประเภทโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดคือโรงเรียนเทศบาล หากนำประเภทใหญ่มารวมกัน พบว่าโรงเรียนเอกชน แม้จะไม่รวมโรงเรียนนานาชาติเข้าไปก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเทศบาลและโรงเรียนสาธิตรวมกันอยู่ดี

7. ค่าสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย

กว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องมีการสอบหลากหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป และที่สำคัญนี่คือการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายหรือไม่

จากข้อมูลที่เก็บได้นั้นนิสิตจุฬาฯ จ่ายค่าสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกโครงการรวมกันเฉลี่ยราว 1,600 บาทต่อคน ช่วงที่มากที่สุดอยู่ที่ 1,000-1,200 บาท คิดเป็นสัดส่วน 14.3% เงินจำนวน 1,600 บาทอาจไม่ใช่จำนวนที่มากมายสำหรับนักเรียนในหัวเมือง แต่ในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เงินจำนวนนี้ถือว่ามากเกินไปสำหรับนักเรียนในชนบทหรือไม่? ซึ่งนักเรียนในชนบทนั้นก็ได้รับโอกาสน้อยกว่านักเรียนในเมืองในด้านอื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เข้ามาย่อมทำให้ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา

หากพิจารณาตามรายได้ของครอบครัวแล้วพบว่าค่าสมัครสอบทั้งหมดไม่ต่างกันมาก แต่ค่าเรียนพิเศษนั้นแตกต่างกันไปตามกลุ่มรายได้ ยิ่งรายได้ครอบครัวมาก ค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษจะมากขึ้นตาม หากพิจารณาจากกลุ่มที่มีรายได้ครอบครัวระหว่าง 20,000-40,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยครัวเรือนของทั้งประเทศและค่าเฉลี่ยครัวเรือนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษอยู่ที่ 3,811 บาทต่อเดือน แต่ค่าเรียนพิเศษพุ่งไปถึงเดือนละ 10,000 บาทในกลุ่มที่ครอบครัวมีรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อเดือน

8. การไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ

นิสิตปี 1 ปีการศึกษา 2565 89.8% ไม่เคยผ่านการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ส่วนคนที่เคยไปแลกเปลี่ยนนั้น 70% ไปกับโครงการ AFS และโครงการอื่นๆ 30% อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าจริงๆ แล้วการไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศอาจจะสูงกว่านี้ เนื่องจากกลุ่มนิสิตที่เก็บตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายช่วงปีการศึกษา 2563-2564 อยู่ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิดขั้นรุนแรง ความไม่แน่นอนทำให้โอกาสในการศึกษาต่างประเทศค่อนข้างเข้มงวดและจำกัด

แม้ตัวเลขนิสิตที่ไปแลกเปลี่ยนอาจจะน้อยกว่าตัวเลขจริงในสถานการณ์ปกติ แต่จากข้อมูลชุดนี้ อาจช่วยตอบข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ที่ว่าการจะไปแลกเปลี่ยนหรือเรียนต่อต่างประเทศ ไม่จำเป็นว่าทางบ้านจะต้องมีเงินเสมอไปหรือ ขอแค่มีความพยายามขวนขวายเพราะทุนไปต่างประเทศมีมากมายก็สามารถไปได้นั้น ข้อถกเถียงนั้นไม่เป็นจริง เพราะหากเราพิจารณาจากหลักฐานชิ้นนี้ เราพบว่านักเรียนที่เคยไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็น 10% ของกลุ่มตัวอย่าง มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวต่อเดือนสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของทุกคนรวมกันมากกว่า 2 เท่า (249,219 vs 118,160) แสดงว่าเงินสนับสนุนของครอบครัวเป็นตัวแปรสำคัญต่อการไปแลกเปลี่ยน

9. โครงการพัฒนาศักยภาพพิเศษ

นิสิตจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างไม่เคยผ่านการเรียนในโครงการพิเศษของโรงเรียนเลย แต่กระนั้นจำนวนอีกครึ่งหนึ่งก็ผ่านการเรียนในโครงการพิเศษ โดยส่วนมากแล้ว 22% เคยผ่านการเรียน 3 ปี 17.7% ผ่านการเรียน 6 ปี ไปจนถึง 9 ปี และ 12 ปี ที่ 2.4 และ 2.5% ตามลำดับ โดยจำนวนปีมักเป็นเลขที่หารด้วย 3 ลงตัว เพราะโครงการพิเศษในโรงเรียนมักเป็นระดับ 3 หรือ 6 ปีนั่นเอง

10. คนในครอบครัวสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

น่าสังเกตว่ามีนิสิตจุฬาฯ 5.6% เท่านั้นที่ไม่มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องจบมหาวิทยาลัยเลย และกว่าหนึ่งในสามมีญาติพี่น้องจบมหาวิทยาลัยเกิน 10 คนขึ้นไป

จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีเพียง 20% เท่านั้น หมายความว่านิสิตจุฬาฯ มีพื้นเพใกล้ชิดกับคนรอบตัวที่จบมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น และ แทบจะเป็นกลุ่มคนใน 20% เดิมที่เข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในไทยอยู่แล้ว


สรุป

เด็กจุฬาฯ ส่วนมากมาจากครอบครัวที่รายได้สูง 14% แรกของประชากรคนไทย

เด็กจุฬาฯ มากถึง 20% มาจากครอบครัวรวยท็อป 3% ของประเทศ

เด็กจุฬาฯ มากกว่าครึ่งมีพื้นเพจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เหลือมาจากหัวเมืองใหญ่

เด็กจุฬาฯ จำนวนมากมาจากโรงเรียนชื่อดังของไทย

เด็กจุฬาฯ เรียนพิเศษ 87.8%      

เด็กจุฬาฯ ราว 80% มีครอบครัวถือครองที่ดิน ในขณะที่คนไทยที่ถือครองที่ดินมี 24%

เด็กจุฬาฯ มีครอบครัวเรียนจบมหาวิทยาลัย 95%…

ข้อมูลเหล่านี้คงจะเพียงพอที่จะยืนยันว่า ‘เด็กจุฬาฯ (ส่วนใหญ่) บ้านรวย’ และมีเด็กจุฬาฯ จำนวนน้อยที่มีฐานะไม่ดีนัก

จะเห็นได้ว่ารายได้และการศึกษาของนิสิตที่สามารถเข้าจุฬาฯ มีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยนิสิตที่เข้าจุฬาฯ เกือบทั้งหมดเรียนระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนชื่อดังของประเทศ ไม่ก็ชื่อดังระดับภูมิภาค ได้เรียนพิเศษ มีสมาชิกในครอบครัวจบมหาวิทยาลัยมาก่อน และครอบครัวส่วนใหญ่มีรายได้สูง

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้ว เป็นไปได้น้อยกว่ามากที่เด็กที่ครอบครัวรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศจะสามารถรองรับค่าเรียนพิเศษ และการสอบแข่งขันโรงเรียนที่ดีหรือแข่งขันเข้าจุฬาฯ ซึ่งมีการแข่งขันสูงได้เท่าเด็กบ้านรวย

เด็กที่บ้านมีเงินสนับสนุนจะมีความได้เปรียบทางการศึกษาและเจอสังคมที่สนับสนุนโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต ขณะที่เด็กที่ครอบครัวรายได้ต่ำเสมือนต้องยืนบนพื้น ไม่มีแต้มต่อ หลายครอบครัวมีแต้มติดลบตั้งแต่ต้นจากปัญหาหนี้สินด้วยซ้ำ ครอบครัวที่รวยสามารถเพิ่มพูนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเพราะเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้

นอกจากนี้ แม้ว่าเด็กที่เข้าจุฬาฯ ได้ส่วนมากจะมาจากโรงเรียนรัฐบาล ทว่าก็เป็นโรงเรียนรัฐบาลมีชื่อเสียงทั้งสิ้น มีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองสำคัญเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนการกระจุกตัวของเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำของไทย และการกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพออกไปสู่ต่างจังหวัดอย่างไม่เพียงพอ เด็กกรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงมีความได้เปรียบกว่าเด็กต่างจังหวัดเพราะแหล่งการศึกษาที่ดีอยู่ใกล้กว่า จุฬาฯ เองก็ตั้งอยู่ที่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ซึ่งค่าครองชีพสูงที่สุดในประเทศแล้ว

จากข้อมูลก็ทำให้กลับมาคิดด้วยว่า การประกาศของจุฬาฯ ว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ หรือติดอันดับโลก แท้จริงแล้วเป็นผลดลบันดาลที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จัดสรรให้ก่อนอยู่แล้ว

และอาจตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นรอบๆ จุฬาฯ มาจากการพัฒนาในมหาวิทยาลัยเป็นไปเพื่อตอบสนองเด็กที่ร่ำรวย เพื่อให้พวกเขาใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อนิสิตที่มีฐานะปานกลางและยากจน ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตก็อาจจะสะท้อนการแข่งขันและการเปรียบเทียบในหมู่นิสิต จากความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นด้วย

ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่มีใครในปัจจุบันปฏิเสธว่าไม่มีความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หรือเชื่อว่าสังคมไทยปราศจากความเหลื่อมล้ำแล้ว คำถามจึงเป็นว่าเราควรมองความเหลื่อมล้ำอย่างไร หากมองว่า การเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้เป็นผลมาจากความสามารถส่วนตัวล้วนๆ เมื่อเรียบจบออกไปก็ควรที่จะได้งานที่ดีและมีชีวิตที่ดี ความเหลื่อมล้ำก็ย่อมเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง แต่หากมองว่า ความเหลื่อมล้ำต่างหากที่มีส่วนกำหนดอย่างสำคัญว่า ใครจะได้เรียนต่อที่ไหนและยืนจุดที่ไหนในสังคม ความเหลื่อมล้ำย่อมไม่ใช่สัจธรรม แต่เป็นปัญหาที่ควรถูกพินิจและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงต้นตอ ผลกระทบ และหนทางในการแก้ไข

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษานี้จะสร้างคุณประโยชน์ไม่น้อยก็มากแก่การศึกษาความเหลื่อมล้ำในไทยโดยเฉพาะต่อผู้บริหารการศึกษาในระดับต่างๆ ถูกนำไปวิเคราะห์ ต่อยอด และหาหนทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ผู้เขียนตระหนักดีว่า ระเบียบวิธีวิจัยและข้อมูลที่ได้จากการศึกษาชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการ และอาจไม่สามารถสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่ต้องการศึกษาได้อย่างครบถ้วน ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต ดังนี้

  • จุฬาฯ ควรเปิดเผยสถิติในด้านต่างๆ ของนิสิตในรูปแบบ open data (โดยมีการจัดการข้อมูลเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว) เพื่อให้สามารถระบุปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ และการมีส่วนร่วมในการอภิปรายปัญหาและทางออกได้อย่างมีข้อมูลที่ถูกต้อง
  • มหาวิทยาลัย/สถาบันอื่นควรเปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกัน งานศึกษาชิ้นนี้ไม่มีข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอื่นให้ใช้เปรียบเทียบว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ มีเด็กที่มาจากที่ครอบครัวรายได้เฉลี่ยเท่าไร มาจากโรงเรียนเอกชนเป็นสัดส่วนเท่าไร เป็นต้น การศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นจะช่วยฉายภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยได้ดีมากยิ่งขึ้น
  • การมีส่วนร่วมวิเคราะห์และความเห็นจากสายสาขาวิชาปรัชญา รัฐศาสตร์ การศึกษา จิตวิทยา และอื่นๆ สามารถช่วยทำให้งานวิเคราะห์นี้ขยายผลและสะท้อนภาพสังคมได้กว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
  • การเก็บข้อมูลครั้งหน้าควรเก็บข้อมูลบุคลากรในมหาวิทยาลัยเช่น อาจารย์ เจ้าหน้าที่ แม่บ้าน รปภ. เพื่อให้เข้าใจความเหลื่อมล้ำและความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มมากยิ่งขึ้น นักวิจัยยังจะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างแต่ละอาชีพภายในมหาวิทยาลัยและในมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่คนละคณะได้
  • ควรมีการเก็บข้อมูลของนิสิตชั้นปีที่1 ภาคการศึกษาถัดไปและเป็นโครงการในระยะยาว เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลชุดปัจจุบัน โดยควรเก็บข้อมูลให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น อาชีพและการศึกษาของพ่อแม่ นิสิตที่ได้รับทุนการศึกษา ขนาดของโรงเรียน ม.ปลาย ข้อมูลของพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน เป็นต้น

บรรณานุกรม

The World Inequality Database, Income Comparator

ดวงมณี เลาวกุล. (2556). บทที่ 2 การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย, ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร: สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป, หน้า 5-37

สำนักงานสถิติแห่งชาติ, จำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบโรงเรียน ในสถานศึกษาของรัฐบาลและเอกชน จำแนกตามระดับการศึกษา และชั้น ปีการศึกษา 2560- 2564

สำนักงานสถิติแห่งชาติ, จำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ และเพศ เป็นรายจังหวัด พ.ศ. 2565

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564

References
1 เริ่มแรกสุด งานชิ้นนี้ เนติวิทย์ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเผด็จการความคู่ควร (Tyranny of Merit) เขียนโดย ไมเคิล แซนเดิล แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล และงานศึกษาคล้ายกันที่จัดทำโดย Harvard Crimson สื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต่อมาณัฐชญาได้ทำเป็นโครงการเสนอในนามของฝ่ายเหรัญญิก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้รับคำปรึกษาอย่างดีจากพี่จ๋า-ชลนภา อนุกูล และพี่เจิ้น-ดร.ศยามล เจริญรัตน์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ หลังประสบปัญหาหลายอย่าง ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มีส่วนสำคัญในงานนี้อย่างมากโดยเข้ามาช่วยออกแบบแบบสอบถามเพิ่มเติม หาทีมนิสิตและลงพื้นที่เก็บข้อมูล อาจารย์ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย (คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) อาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวี (NTU Singapore) อาจารย์อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ (คณะบัญชี จุฬาฯ) กรุณาเอื้อเฟื้อให้ความคิดเห็นในช่วงการพัฒนางานศึกษานี้ อาจารย์ธนสักก์ เจนมานะ (คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) ช่วยอ่านและแนะนำให้ลูกศิษย์อีกสองคนมาช่วยเรื่องกราฟข้อมูลด้วย ขอขอบคุณนิสิตอีกจำนวนหลายท่านที่ช่วยส่งต่อข้อมูลให้เพื่อนๆ และรุ่นน้องซึ่งคงมิอาจกล่าวได้หมดในที่นี้
2 รายได้ครอบครัวคำนวณจากรายได้ของพ่อรวมกับรายได้ของแม่
3 สัมประสิทธิ์ GINI มีวิธีการคำนวณได้หลากหลาย ทำให้ได้ค่าที่แตกต่างกัน โดยในรายงานของสภาพัฒน์ที่นำมาอ้างอิงมีวิธีการคำนวณถึง 4 แบบ โดยวิธีที่ผู้เขียนใช้คำนวณข้อมูลของนิสิตจุฬาฯ คำนวณจากพื้นที่ระหว่าง Lorenz Curve กับเส้นการกระจายรายได้สัมบูรณ์ แล้วหารด้วยพื้นที่ทั้งหมดใต้เส้นการกระจายรายได้สัมบูรณ์ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel คำนวณ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save