fbpx
ผู้ติดเชื้อ HIV กับอคติที่สังคมก้าวไม่พ้น : คุยกับ จารุณี ศิริพันธุ์ อนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ผู้ติดเชื้อ HIV กับอคติที่สังคมก้าวไม่พ้น : คุยกับ จารุณี ศิริพันธุ์ อนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

แม้วิวัฒนาการที่ก้าวหน้าในปัจจุบันจะทำให้ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีการอำนวยความสะดวกให้การรักษา และมีสื่อที่สร้างความเข้าใจต่อเรื่อง HIV อย่างแพร่หลายกว่าเมื่อก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหนี่ยวรั้งให้ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติเทียบเท่าคนทั่วไปก็ยังมีอยู่ ในที่นี้เรากำลังพูดถึง อคติและการเลือกปฏิบัติของผู้คนในสังคม หมายรวมไปถึงบุคลากรในสถานบริการสุขภาพเอง

จารุณี ศิริพันธุ์ นักกิจกรรมอิสระ และอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คือผู้ทำงานที่คลุกคลีกับปัญหาเหนี่ยวรั้งที่ว่า เธอทำงานเพื่อผู้ป่วย HIV มากว่าสิบปี ตั้งแต่สมัยที่ผู้ติดเชื้อยังมีลักษณะภายนอกที่บ่งชี้ได้ ยังเห็นแก้มตอบ เห็นตุ่มตามตัว เรื่อยมาจนปัจจุบันที่มียาต้านเชื้อ HIV ในระบบประกันสุขภาพ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีทางเลือกเยอะขึ้น จนแทบดูไม่ออกว่าใครมีเชื้อ HIV ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังเล่าว่า ไม่ว่าสังคมจะพัฒนาไปอย่างไร เธอและคณะทำงานก็ยังมองเห็นและต้องต่อสู้กับปัญหาการตีตรา และเลือกปฏิบัติอยู่ตลอดมา

เพราะความเข้าใจผิด อาจลบล้างได้ด้วยความรู้และข้อมูล แต่อคติและการเลือกปฏิบัติ อยู่ในระดับทัศนคติซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรม ซึ่งข้อมูลอาจไม่เพียงพออีกต่อไป จารุณี ศิริพันธุ์ จึงแบ่งปันประสบการณ์ทำงานของเธอ เพื่อสะท้อนภาพจริงของชีวิตผู้ติดเชื้อ ลักษณะการเลือกปฏิบัติที่พบในสังคมและสถานบริการสุขภาพ ไปจนถึงหนทางการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้การตีตราที่เธอเชื่อมั่น

 

 

 

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV

ด้วยปัจจุบัน มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ติดเชื้ออยู่มากมาย ตั้งแต่ความเข้าใจว่า คนที่ติดเชื้อคงมีพฤติกรรมทางเพศไม่ดี มีคู่หลายคน เราจึงพยายามจะอธิบายข้อเท็จจริงว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าคุณไม่ป้องกัน ไม่ว่าคุณจะมีคู่กี่คนมันก็ทำให้คุณติดเชื้อได้ ไอ้ความเข้าใจผิดของสังคมนี้เป็นที่มาของการทำกับเขาแบบไม่เหมือนคนทั่วไป

HIV ไม่ใช่แค่เรื่องโรค เพราะผู้มีเชื้อไม่ได้มีชีวิตอยู่แต่กับโรค เขาก็เป็นชาวนา เป็นเกษตรกร เป็นคนทำงานในภาคธุรกิจ แม้แต่ในภาครัฐก็มีคนที่มีเชื้อ HIV และชีวิตเขาก็ไม่ได้เข้าออกแต่โรงพยาบาล ตอนนี้ HIV มียาที่ให้กินทุกวัน ทำให้แข็งแรงและอยู่จนแก่ตายได้ ดังนั้นชีวิตของพวกเขาก็เหมือนเราทุกเรื่องแหละค่ะ อยากมีคู่ อยากมีลูก อยากทำงาน แต่ว่าเขาทำไม่ได้เพราะสังคมยังคงเลือกปฏิบัติกับเขา

 

ทุกวันนี้ยังมีผู้ติดเชื้อหลายคนไม่ได้ทำงาน?

การทำงานเป็นสิ่งที่เขาอยากทำ แต่สังคมมีภาพจำลบๆ ต่อผู้ติดเชื้อ แล้วไม่ยอมรับเขา บริษัทหลายที่บังคับตรวจ HIV ก่อนเข้าทำงาน ถ้ารู้ว่าเป็นก็ให้ออก

เราคิดว่าเขามีความกังวลว่า คนติดเชื้อคงจะทำงานได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ตายเป็นภาระบริษัท มีเรื่องความไม่คุ้มทางธุรกิจเข้ามาประกอบการตัดสินใจ อาจจะกังวลด้วยว่า ถ้าเกิดมีคนติดเชื้ออยู่ในที่ทำงานตัวเองแล้วคนอื่นๆ จะคิดยังไง หรือถ้าคนภายนอกล่วงรู้ สินค้าของเราจะขายได้ไหม

บางที่เขามีทัศนคติที่กลายเป็นความเชื่อไปแล้วว่าคนติดเชื้อไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งเราก็อยากบอกว่า คุณดูฝีมือเลย คุณไม่ต้องดูอย่างอื่น สำหรับเราไม่จำเป็นที่จะต้องรู้เลยว่าใครมีเชื้อ HIV เพราะผู้มีเชื้อไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น

 

การที่คนในสังคมไม่เข้าใจ เลือกปฏิบัติ ส่งผลอะไรกับตัวผู้ติดเชื้อเองบ้าง

คือ HIV มันอยู่ในความมืดหรือในหลุมดำที่สังคมซ่อนเอาไว้ แล้วผู้คนก็คอยบอกคอยย้ำว่าอย่าเป็นเลย ถ้าเป็นแล้วไม่มีทางจะไปไหนได้ รอความตายอย่างเดียว ความคิดแบบนี้ยังติดอยู่ในใจของหลายๆ คน พอติดเชื้อแล้วก็จะรู้สึกว่าไม่อยากให้ใครรู้ ทำให้บางครั้งเขาเก็บเงียบ ซ่อนตัวเอง จนเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับรู้ข้อมูล ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง

ทุกวันนี้ข้อมูลหรือวิทยาการไปไกลมากแล้ว ทั้งการรักษา นวัตกรรมด้านการป้องกันซึ่งมีอยู่หลายวิธีที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัย เราพยายามรณรงค์ว่า ให้เขามาตรวจ HIV โดยใช้สิทธิประโยชน์ เช่น บัตรทอง บัตรประกันสุขภาพ ก็ตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง แต่ว่า แม้เราจะพยายามเติมข้อมูลทุกอย่างเข้าไปเพื่อให้คนเข้าถึง แต่สื่อแบบเดิมๆ การสอนแบบเดิมๆ ที่ให้คนเชื่อโดยไม่ได้หาข้อมูลก็ยังมีอิทธิพล ต่อให้ทุกวันนี้เทคโนโลยีไปไกลแล้ว บางทีเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ยังเจอข้อมูลแบบเก่าอยู่ดี

 

พอรู้ว่าสังคมเป็นแบบนี้ ก็เลยเลี่ยงที่จะไม่เข้ารับการรักษา หรือว่าไม่ใช้ชีวิตปกติ?

ใช่ บางคนก็ตีตราตนเองแล้วก็เก็บตัวเงียบ หรือประชดตัวเองก็มีค่ะ เราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น Self-stigma (การตีตราตนเอง) ที่เกิดจาก Social stigma (การตีตราของสังคม) อีกที คืออคติที่สังคมมีมันทำงานกับจิตใจซ้ำๆ จนเขารู้สึกว่า อยู่คนเดียวดีกว่า ไม่ต้องให้ใครรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ไม่ต้องออกไปเจอผู้คน นี่แหละปลอดภัยที่สุด ดีที่สุดแล้ว

มันเป็นเรื่องคุณค่าภายใน ถ้าเราลองให้ความหมาย อาจจะหมายถึง เขารู้สึกตัวลีบเล็กเพราะโรค และคนในสังคมให้คุณค่ากับเขาน้อย เขาก็เลยรู้สึกว่าตัวเขาไม่เท่าคนอื่นในแง่ของความเป็นมนุษย์

เรื่องนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเขยิบเข้ามาทำงาน มารณรงค์กับหน่วยบริการสุขภาพเพราะเป็นสถานที่ที่ยังไงผู้ติดเชื้อก็ต้องไป เขาหลีกเลี่ยงที่อื่นได้นะ ไม่อยากเข้าสังคมได้ แต่ยังไงเขาก็ต้องไปที่หน่วยบริการสุขภาพ ไม่ว่าจะไปติดตามผล lab ของตัวเอง หรือไปรับยาต้านไวรัส เราก็รู้สึกว่าถ้าหน่วยบริการสุขภาพเป็นหน่วยที่ยังมี stigma กับผู้ติดเชื้อ แล้วเขาจะไปที่ไหน

เราใช้คำว่ามันเป็นจุดคานงัด ถ้าหน่วยบริการสุขภาพให้บริการดี ไม่ตำหนิ เห็นผู้ติดเชื้อมาไม่เขยิบหนี ไม่แสดงอาการรังเกียจ ไม่ป้องกันเกินความจำเป็น โรงพยาบาลก็จะเป็นสังคมหนึ่งที่เขามาได้

 

ในหน่วยบริการสุขภาพ มีการกระทำหรือบรรยากาศอะไรบ้างที่ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกเลือกปฏิบัติอยู่

จากการเก็บข้อมูลในหน่วยบริการสุขภาพ หลายๆ ที่ก็พบพฤติกรรมการบริการที่เป็นไปในลักษณะตีตราหรือเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ เช่น ไม่กล้าหยิบจับเสื้อผ้าของผู้ติดเชื้อ ซึ่งถ้าเข้าใจข้อเท็จจริงก็จะรู้ว่า เสื้อผ้าไม่ได้เป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อ จะส่งผ่านมาทางช่องทางไหนไม่ได้เลยค่ะ หรือ การใส่ถุงมือ 2 ชั้น ถ้ากับคนไม่ติดเชื้อเขาก็สวมชั้นเดียวตามปกติ แต่กับคนติดเชื้อต้องหยิบถุงมืออีกอันนึงมาใส่

หรือการให้ทำฟันคิวสุดท้าย ผู้ติดเชื้อจะมาเช้าแค่ไหนก็ให้ทำคิวสุดท้าย ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รักษากับโรงพยาบาลนี้ ไม่เคยถูกโรงพยาบาลนี้เก็บข้อมูล อาจจะได้รับการปฏิบัติแบบปกติ เพราะเขาไม่รู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อ มาทำฟันจะไม่มีการเรียกไปเจาะเลือด ไม่ปฏิบัติแบบเดียวกัน แต่เพราะรู้ว่าคนนี้ติด ก็เลยให้เป็นคิวสุดท้ายดีกว่า ทั้งๆ ที่การทำฟัน ก็แยกอุปกรณ์ของใครของมันอยู่แล้ว หลายโรงพยาบาลยังคงเป็นแบบนี้

 

 

 

จริงๆ แล้วบุคลากรกลุ่มนี้ควรจะเข้าใจโรคมากที่สุดไม่ใช่หรือ เพราะเขามีความรู้เรื่องการแพทย์ เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้

มี 4 ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ stigma ยังคงอยู่ ปัจจัยที่ 1 คือเขาไม่รู้ ไม่ตระหนักว่าการพูดซุบซิบกัน การตำหนิ มองบน แสดงท่าทางรังเกียจ ไปจนถึงเดินหนี เป็นส่วนหนึ่งของการตีตราและทำให้ผู้ติดเชื้ออาจจะหายไปจากระบบรักษา เขาทำเพราะไม่รู้ว่าจะมีผลกับผู้ติดเชื้อ

ปัจจัยที่ 2 คือ ความกลัว ความกังวล ซึ่งบางครั้งเขาก็กังวลด้วยความไม่มีข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่ว่าผู้ให้บริการสุขภาพทุกคนจะมีข้อมูลในระดับเท่าๆ กัน ในโรงพยาบาลมันก็มีหลายส่วน มีส่วนที่เป็นออฟฟิศ มีคนที่อาจจะไม่ได้ใกล้ชิดเรื่องสุขภาพหรือรู้เรื่อง HIV เลย ซึ่งเขาก็จะกังวลว่าต้องทำตัวยังไง ถ้าไปทำอะไรแล้วจะติดเชื้อไหม

ปัจจัยที่ 3 ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเลยก็คือ ทัศนคติ ต่อให้รู้ว่าทำแบบนี้ไม่ติดเชื้อ แต่ก็ขอไม่เข้าใกล้ดีกว่า หนี หรือขอป้องกันอะไรบางอย่างไว้ดีกว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันอาจจะไม่ได้มีผลอะไร บางครั้งบุคลากรก็ปฏิเสธการให้บริการ หรือไปบังคับให้เขาทำหมัน เพราะคิดแทนว่าเขาไม่ควรมีลูก การที่โรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อธิบายด้วยความหวังดี ก็เข้าใจได้นะ การหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ว่ามันไม่ได้อยู่บนหลักการที่ให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าเขาจะใช้ชีวิตยังไง ทำหมันหรือไม่ทำ แล้วจริงๆ วิวัฒนาการทางการรักษาทุกวันนี้ สามารถลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกแบบก้าวหน้ามาก โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อมีแค่ 0.2% เทียบกับก่อนหน้านี้อาจจะอยู่ที่ 2-3%

ปัจจัยสุดท้ายที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิด stigma และอยู่มานานแล้วคือ สภาพแวดล้อมหรือนโยบาย นโยบายโรงพยาบาลบางที่ถูกเขียนมานานมากแล้ว พอวิวัฒนาการเปลี่ยน แต่ยังให้ทำแบบเดิมอยู่ เช่น เมื่อมีผู้ติดเชื้อมารักษาต้องแยกโซน ต้องแยกเตียง ซึ่งบางทีคนที่มาใหม่ก็ไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำไปทำไม ทำไมต้องแยก

ถ้าสมมติเราไปเยี่ยมญาติแล้วเห็นว่าใครไปอยู่โซนนั้น ก็จะรู้โดยอัตโนมัติเลยว่าเขาเป็นผู้ติดเชื้อ หรือบางทีจะจำกัดวันนัดรับยาสำหรับผู้ติดเชื้อ สมมติให้มารับทุกวันอังคารตอนบ่าย ใครมาวันอังคารตอนบ่าย ก็จะถูกมองทันที คือขณะที่คนบางส่วนรู้สึกโอเคที่มีวันเฉพาะ แต่ผู้ติดเชื้อบางคนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยถ้ามาวันอังคาร มีคนจับจ้อง มีคนสงสัย

 

เรากำลังพูดถึงหน่วยบริการที่เป็นของรัฐด้วยไหม

โรงพยาบาลรัฐ เป็นที่หลักๆ เลยที่เราพยายามทำงาน เพราะอย่างสถานที่เอกชนสำหรับประกันสังคมเขาก็ไม่ได้ต้องมามีวันนัดเฉพาะอยู่แล้ว คุณไปรับยาได้ตามปกติที่โรงพยาบาลเอกชน

 

เวลาผู้ป่วยไปรับการรักษาแล้วเจอพฤติกรรมแบบนี้ เขาจะแอคทีฟในการมาร้องเรียนไหม

มีอยู่บ้างนะคะ แต่น้อย เรารู้สึกว่ามันมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนไข้กับผู้ให้บริการอยู่แล้ว น้อยมากที่เขาจะร้องเรียน เพราะเขาก็ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล ร้องเรียนไปก็ไม่รู้จะมีปัญหาทีหลังไหม เขาก็จะจำนน เออ ให้มาคิวสุดท้ายใช่ป่ะ เดี๋ยวค่อยกลับมาใหม่ตอนเย็นแล้วกัน หรือบางคนขี้เกียจทะเลาะก็ไปที่อื่นก็ได้วะ เปลี่ยนที่ให้บริการ นี่คือแข็งขืนที่สุดแล้วนะ แต่ส่วนใหญ่ก็ยอม งานที่เราพยายามทำส่วนหนึ่งนอกจากการรณรงค์ให้ผู้ให้บริการไม่เลือกปฏิบัติก็คือ ผลักดันให้ผู้ติดเชื้อรู้ว่า เขากำลังถูกละเมิดสิทธิอยู่นะ

 

เราจะรณรงค์เรื่องนี้กับบุคลากรในสถานบริการสุขภาพด้วยวิธีการไหน พอทำเป็น action แล้ว การแค่เดินไปบอกเขาว่าอย่าทำ คงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องทัศคติได้ แล้วเราต้องทำยังไง

เราพยายามทำให้เขาเห็นว่าพฤติกรรมบริการของเขามันส่งผลกระทบอะไรบ้าง เราจะไม่เริ่มจากการตำหนิเขานะ ไม่บอกเขาว่าที่ทำแบบนี้มันไม่ดีเลย เลิกทำเลยนะ โรงพยาบาลนี้ห่วยแตกมากเลย เราจะไม่ทำแบบนั้น ไม่งั้นเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามจะใช้ประสบการณ์ของเราไปตำหนิเขาเหมือนกัน แต่เราพยายามชวนเขามองว่า ณ วันนี้ เห็นรูปแบบการตีตราอะไรบ้างในหน่วยบริการของเรา อาจจะเป็นเขาทำก็ได้ หรือเขาอาจจะเคยสังเกตเห็นอะไรแบบนี้ก็ได้ มันมีอะไรบ้างแล้วรูปแบบเหล่านั้นมีสาเหตุ มีที่มาจากอะไร ให้เขาลองวิเคราะห์ก่อน

แล้วก็ลองถามดูว่า ผลที่ว่ามันส่งผลกระทบต่อระบบบริการไหม ส่งผลต่อคนไข้ไหม ถ้าคนไข้ไม่มารักษา เราในฐานะคนให้บริการจะรู้สึกยังไง แล้วถ้ามันจะต้องจัดการเรื่องนี้ ต้องแก้ยังไง โดยที่ไม่ไปโทษว่าเขาเป็นคนทำให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ แต่ต้องทำให้รู้สึกว่า ถ้าโรงพยาบาลของเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลง จะต้องทำอย่างไร

พูดง่ายๆ ก็คือว่าทำให้เขายอมรับ เห็นปัญหาก่อนจะเห็นผลกระทบ

ใช่ค่ะ ให้เห็นว่ามันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่แค่เขาคนเดียว อาจจะเป็นเรื่องรวมๆ ที่มันเกิดขึ้นในแผนก ให้เขารู้สึกว่าเขาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลิตซ้ำมันอยู่นะ และเขาก็จะต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงมัน

จริงๆ บุคลากรส่วนใหญ่เขาพอรู้กันอยู่แล้วไหมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เขาก็พอรู้ แต่บางทีคนก็ไม่ค่อยทันตัวเองนะ เพราะเขาทำไปอย่างเป็น routine  คือตระหนักไม่รู้ตัว การที่เราบอกเขาว่าให้ทันตัวเอง ก็คือการเท่าทันความคิดอัตโนมัติ (automatic thoughts) ด้านลบของตัวเอง ไม่ใช่แค่บอกว่า คนอื่นต้องเปลี่ยนอะไร แต่ต้องดูว่าเราเองมีทัศนคติด้านลบอะไรอยู่บ้าง เหมือนเป็นเครื่องมือให้สำรวจตัวเองมากกว่า

 

แล้วสิ่งที่บุคลากรสะท้อนกลับมา เขาให้เหตุผลกับทัศนคติลบ หรือความคิดอัตโนมัติของเขาว่าอะไร

ก็มีบางส่วนที่บอกว่ายังกลัว แต่เวลาบอกว่ากลัว เขาก็กังวลว่าจะถูกตำหนิอีก หาว่าเป็นบุคลกรภาษาอะไร บางทีเขาก็เลยจะตอบอ้อมๆ บ้าง เราพบว่าหลายคนกลัว แต่บอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมกลัว ทำไมเขาถึงไม่สามารถปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อได้สนิทใจ เหมือนกลัวผีทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นผี แต่เราก็กลัว

 

 

นอกจากทำความเข้าใจกับบุคลากรแล้ว ยังต้องทำงานกับสภาพแวดล้อม และนโยบายของสถานบริการสุขภาพด้วย

เพราะสุดท้ายแล้วถ้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงพยาบาลได้จริง ผู้บริหารก็ต้องเอาด้วย ถ้าเขาอยากจะเห็นโรงพยาบาลของตัวเองเป็นโรงพยาบาลที่ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ เขาก็ต้องสนใจเรื่องนี้ เราก็เลยพยายามที่จะผูกเรื่องนี้เข้าไปกับการวัดคุณภาพบริการของโรงพยาบาลหรือ HA (Hospital Accreditation)

กระทรวงสาธารณสุขเขาจะมีภาคส่วนที่ไปวัดคุณภาพโรงพยาบาล เหมือนผ่าน ISO อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็เรียกว่า HA ซึ่งวัดหลายเรื่องมากแต่เราอยากให้รวมไปถึงการไม่มี stigma หรือการตีตราเลือกปฏิบัติในโรงพยาบาล

และการวัดการตีตราไม่ใช่ดูว่ามีหรือไม่มี แต่วัดให้เห็นว่าโรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลที่คนอยากมา เป็นโรงพยาบาลที่ผู้ให้บริการมีความสุขในการให้บริการ เป็นโรงพยาบาลที่ผู้รับบริการเข้าถึงได้ ต้องจูงใจเขาด้วยลักษณะแบบนี้

การทำงานเรื่องนี้ต้องประสานกับฝ่ายไหนบ้าง

มีภาคส่วนอื่นๆ เช่น ต้องทำงานกับกระทรวงแรงงาน เพราะยังเจอผู้ติดเชื้อถูกไล่ออกจากงานบ่อยๆ ไปสมัครงานก็ถูกบังคับให้ตรวจ HIV หรือกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเราก็ยังเจอกรณีที่โรงเรียนไม่ให้เด็กติดเชื้อเข้าเรียนเยอะค่ะ ก็ยังต้องไปเคลียร์

คนทำงานก็พยายามทำเป็นกลุ่มๆ ไป ตามความเชี่ยวชาญ เช่น ผู้ติดเชื้อก็จะมีเครือข่ายของผู้ติดเชื้อที่เขาพยายามจะสร้าง capacity (ความสามารถทางร่างกายและจิตใจ) ของผู้ติดเชื้อให้เข้มแข็ง ดูแลกันเป็น group support ก็มี แล้วก็มีองค์กรที่พยายามทำงานกับผู้ติดเชื้อในเชิงไปเสริมศักยภาพ กลุ่ม migrant หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็มีองค์กรที่พยายามทำงานให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงข้อมูลทั้งหลาย

แต่ว่าประเด็นที่เขาเรียกว่า cross cutting หรือเรื่องที่เผชิญร่วมกันก็คืออคติของคนในสังคมยังไม่ค่อยมีคนทำ แต่มันเป็นประเด็นสำคัญมากเลย

 

กลุ่มที่เผชิญอคติอยู่ในปัจจุบันนอกจากผู้ป่วย HIV ก็ยังมีแรงงานข้ามชาติ LGBT ไปจนถึงกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด ภาพจำของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกัน แต่พอเราจะแก้ปัญหาเรื่องอคติร่วมกัน ในแนวทางเดียวกันได้บ้างไหม

มันคือแนวทางพื้นฐานร่วมกันอยู่แล้วว่า มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี เป็นหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว หลักนี้มันพูดได้ แต่ในความเป็นจริงคือมันต้องรู้สึกเคารพจริงๆ ว่าฉันก็เป็นฉัน เธอก็เป็นเธอ เราไม่เหมือนกัน แล้วถ้าเธอไม่เหมือนฉันก็ไม่ได้แปลว่าเราเป็นศัตรูกัน เราจะต้องโกรธเกลียดกัน ไอ้ความเคารพตรงนี้เราว่าคือพื้นฐานสำคัญนะ ส่วนในรายละเอียดเฉพาะที่ต่างออกไปจากการถูก stigma หรือประเด็นที่เฉพาะของเขา ก็ต้องทำงานกับสังคมและกับสิ่งที่เขาเผชิญด้วย เป็น case by case ด้วย ทั้งในเชิงกฎหมายและนโยบายด้วย

แต่เวลาที่เราจะเคลื่อนเรื่องเหล่านี้มันก็เริ่มที่แกนหลัก คือเรื่องทำให้มนุษย์เคารพกัน คำนึงว่าเขาก็มีศักดิ์ศรี เขามีที่มา ไม่ใช่จู่ๆ คนจะติดเชื้อ ไม่ใช่จู่ๆ คนจะใช้ยา เขามีที่มา ไม่มีใครอยากเป็นแบบนั้น แต่คุณก็ต้องเคารพเขา เพราะไม่รู้ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ขนาดเราโตมาจนป่านนี้เราก็มีประสบการณ์ชีวิตไม่รู้ตั้งเท่าไร

 

การที่สังคมอคติ เลือกปฏิบัติ หรือตีตราผู้ติดเชื้อ สร้างผลกระทบมากไปกว่าแค่ตัวผู้ติดเชื้อได้อย่างไรบ้าง

มีเคสหนึ่งที่สะท้อนผลกระทบที่ไปไกลกว่าตัวผู้ติดเชื้อ คือมีลูกของผู้ติดเชื้อบางคนไม่ได้เข้าโรงเรียน เรื่องนี้ผู้ติดเชื้อเขาไม่ได้เศร้าแค่ลูกไม่ได้เข้าเรียนนะ เขายังต้องเศร้าที่ตัวเองเอาเชื้อมาให้ลูก และทำให้ลูกถูกเลือกปฏิบัติไปด้วย

คิดดูสิ ถ้าเรามีลูก แล้วเพื่อนไม่เล่นกับลูกเรา ผู้ปกครองคนอื่นมาหาครูแล้วบอกว่า ถ้ารับเด็กคนนี้ก็จะเอาลูกตัวเองออกจากโรงเรียน หรือไปในชุมชนก็ถูกล้อว่าแม่เป็นเอดส์ ทั้งที่เด็กอาจจะไม่ได้ติดเชื้อด้วยซ้ำ ความเศร้าของคนอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่า ก่อนหน้านี้เขาก็เผชิญกับสิ่งที่คนอื่นกระทำกับเขามาเยอะ แต่สุดท้ายมันไม่ได้จบแค่เขา วงจรมันส่งต่อไปให้เด็ก แล้วคนที่กระทำกับเด็กก็คือเด็กด้วยกันเองด้วย เด็กถูกบอกว่าอย่าไปเล่นกับมัน มันไม่น่าเล่นด้วย เล่นแล้วเดี๋ยวจะติดเชื้อ อย่าไปว่ายน้ำในสระเดียวกันกับเด็กเหล่านี้ นี่คือชีวิตจริงที่เขามี

 

ถึงที่สุดแล้วเป้าหมายของการทำงานเรื่องนี้คืออะไร

เรื่อง stigma มันตรงกับที่ประเทศเราอยากจะยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 73 มีเป้าหมาย 3 อย่างคือ ลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดการตาย ซึ่งอันนี้เห็นความก้าวหน้าเยอะ แต่เป้าหมายที่ 3 ที่ตั้งใจไว้ว่าจะต้องทำก็คือ ลดการตีตราเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเราก็พบว่าเป้าหมายที่ 3 นี้ยากมากๆ เพราะมันไปแตะความคิดความเชื่อ ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ เราพูดเรื่ององค์ความรู้มาเยอะมากแล้ว รู้แล้วแต่ยังรู้สึก รู้แล้วแต่ยังเลือกปฏิบัติ งั้นแปลว่ามันก็ไม่ใช่แค่องค์ความรู้

เวลาพูดถึง HIV เรามองว่า HIV เป็นโรค คนมองว่าเป็นเรื่องของสาธารณสุข เป็นเรื่องของคนติดเชื้อ ไม่เกี่ยวกับคนอื่น แต่เราอยากบอกว่าเรื่อง HIV ต้องมองใหม่ ให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน คือทุกคนมีโอกาสเกี่ยวข้องกับ HIV ได้ อาจจะมีญาติ พี่น้อง มีคนที่ทำงานเป็น หรือในอนาคต เราเองก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถ้าพฤติกรรมทางเพศของเราไม่มีการป้องกัน

เราเศร้ากับเรื่องทางนโยบายการเมืองที่เป็นแบบนี้อยู่แล้วเนาะ แล้วเราก็ยังต้องมาเศร้ากับการที่มนุษย์ไม่ได้ใส่ใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันยิ่งเศร้านะที่ต้องรับรู้ว่า ณ จุดที่เราอยู่ มีคนมองเราแบบที่เราไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน ท้ายที่สุดแล้วเราไม่ได้ต้องการความเป็นพวกเดียวกันขนาดนั้น แค่ต้องการรู้ว่า คุณไม่ตัดสินเขา ไม่ต้องเข้าใจเขาก็ได้ แต่ไม่ต้องมาตัดสินกันก็พอ

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save