fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนธันวาคม 2564

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนธันวาคม 2564

คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ นิทานชวนหัวร่อ และคำขวัญสาธารณรัฐฝรั่งเศส

โดย อติเทพ ไชยสิทธิ์

“สิ่งหนึ่งผู้เขียนรู้สึกประหลาดเป็นอย่างมากก็คือการอ้างคำขวัญ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ของ ‘สาธารณรัฐฝรั่งเศส’ ว่าเป็น ‘หลักการประชาธิปไตย’ และนำใช้มาโจมตีขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของไทยว่าพวกเขารู้จักใช้แต่เสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงภราดรภาพ – ใครฟังแล้วไม่หัวร่อก็คงต้องบ้าไปแล้ว”

“อันที่จริงแล้วคำขวัญทั้งสามข้อนี้ไม่ใช่ ‘หลักการประชาธิปไตย’ ตามที่อ้างในคำพิพากษา แต่มันคือคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่อิงอยู่กับ ‘หลักการแบบสาธารณรัฐนิยม’ (republican values)”

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เขียนถึงเบื้องหลังคำขวัญสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนำมาอ้างถึงหลักการประชาธิปไตยในคำพิพากษาการชุมนุมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมและพวกในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

มองรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยถูกแก้: ทำไมรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นถึงมีอายุยาวนาน

โดย อรรยา ตั้งรัตนโชติกุล

ประเทศญี่ปุ่น ชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียเป็นประเทศที่รัฐธรรมนูญยังไม่เคยถูกแก้ไขเลยสักครั้งและมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 74 ปี นับตั้งแต่การกำเนิดรัฐธรรมนูญเมื่อปี 1947

บทความโดยอรรยา ตั้งรัตนโชติกุล จะพาไปหาคำตอบว่า เพราะเหตุใด รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นจึงรอดพ้นจากการถูกแก้ไขและล้มล้างได้จนถึงทุกวันนี้

“จากการศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญทั่วโลกจำนวน 185 ฉบับของ Kenneth Mori McElwain และ Christian G. Winkler ปี 2015 พบว่า รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ร่างโดยสหรัฐอเมริกามีความโดดเด่นเฉพาะตัวอยู่สองประการ

ประการแรก คือ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง McElwain และ Winkler พิจารณาระดับความครอบคลุมของรัฐธรรมนูญในเรื่องการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนโดยคำนึงถึงสิทธิที่พลเมืองพึงได้รับ โอกาสทางการศึกษา และเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นสำคัญ

รัฐธรรมนูญทั่วไปให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ที่ 64.2% จากสิทธิเสรีภาพทั้งหมดที่ได้รับการระบุในรัฐธรรมนูญทั่วโลก ทว่ารัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีสัดส่วนการครอบคลุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากถึง 77.3%

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีความแปลกแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทั่วไปในเรื่อง ‘จำนวนคำ’ ในรัฐธรรมนูญที่น้อยผิดปกติอีกด้วย ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีจำนวนคำเพียง 4,986 คำ ในขณะที่ค่ามัธยฐานของจำนวนคำในรัฐธรรมนูญทั่วโลกอยู่ที่ 13,630 คำ

ในแง่หนึ่ง การมีจำนวนคำในรัฐธรรมนูญน้อยก็หมายความว่า รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นครอบคลุมประเด็นได้ไม่มากนัก โดยความเจาะจงลงไปในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นอยู่ที่ 39.6% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญทั่วไปที่มีความเฉพาะเจาะจงอยู่ที่ 51.6%”

สีจิ้นผิง จักรพรรดิจีนกับการเดิมพันอำนาจ

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“การรวบอำนาจของสีจิ้นผิงส่งผลให้เขาเป็นเสมือนจักรพรรดิจีนในยุคสมัยใหม่ คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าจะเทียบเคียงสีจิ้นผิงกับจักรพรรดิจีนในประวัติศาสตร์ น่าจะเทียบได้กับใคร?”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงเกมเดิมพันอำนาจของสีจิ้นผิง เปรียบเทียบกับจักรพรรคจีนในประวัติศาสตร์ ว่าจุดจบและภาคต่อของยุคสีจิ้นผิงที่นิยมใช้การเมืองแบบ ‘แข็ง’ จะมีทางลงอย่างไรได้บ้าง

“หลายคนมองว่า สีจิ้นผิงต้องการหลีกเลี่ยงไม่เป็นอย่างกอร์บาชอฟของสหภาพโซเวียต การปฏิรูปแบบตะวันตกของกอร์บาชอฟในตอนนั้นนำมาสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์และของสหภาพโซเวียต สีจิ้นผิงจึงเลือกทางเดินที่ตรงข้ามกับกอร์บาชอฟ ในขณะที่กอร์บาชอฟผ่อนคลายทางการเมือง สีจิ้นผิงกลับมาใช้ไม้แข็งเดินหน้ารวมศูนย์อำนาจ และเน้นที่เสถียรภาพทางการเมืองและการนำของพรรคเหนือสิ่งอื่นใด”

“แต่แท้จริงแล้ว บททดสอบที่สำคัญกว่าของสีจิ้นผิง น่าจะอยู่ที่เขาหลีกเลี่ยงไม่จบอย่างจิ๋นซีฮ่องเต้หรือสุยหยางตี้ได้หรือไม่ มีคำถามเยอะมากเกี่ยวกับจุดจบและภาคต่อหลังสีจิ้นผิง หากประวัติศาสตร์จะสอนอะไรเราได้บ้าง”

“จุดจบและภาคต่อของสีจิ้นผิงจึงอยู่ที่เขาสามารถรักษาสมดุลการใช้อำนาจ และสร้างผลงานจากการรวบอำนาจของเขาได้มากน้อยเพียงใด ความชอบธรรมย่อมอยู่ที่ผลงาน เดิมพันของสีจิ้นผิงยิ่งวันยิ่งสูง เพราะหากเขาทำพัง อาจเร่งเครื่องการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ และนำไปสู่การเปลี่ยนระบบการปกครอง ในทำนองเดียวกับการเปลี่ยนราชวงศ์ในสมัยหลังจิ๋นซีฮ่องเต้และสุยหยางตี้”

“แต่หากเขาสามารถรักษาสมดุลการใช้อำนาจ และปฏิรูปได้ออกดอกผลทันท่วงที ก็อาจเป็นผู้นำนักปฏิรูปที่วางรากฐานของยุคทองต่อไป โดยยุคสมัยต่อไปอาจเป็นยุคทองที่กลับมาเสรีนิยมมากขึ้น สลับไม้แข็งกลับมาเป็นไม้อ่อน เช่นยุคผ่อนคลายของราชวงศ์หมิงหลังยุคหย่งเล่อ หรืออาจเป็นการปกครองแนวทางสีจิ้นผิงสืบต่อไปแบบที่เกิดในราชวงศ์ชิงหลังยุคยงเจิ้ง”

เรื่องอื้อฉาวของอาจารย์สอนกฎหมายระดับโลก

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

“แชตไลน์กลุ่มอาจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร่วมอยู่ด้วยนั้นกลายเป็นความบันเทิงระดับประเทศภายในไม่กี่ชั่วโมงที่เผยแพร่ออกมา

“ในฐานะคนวิชาชีพเดียวกัน สิ่งเดียวที่พูดออกสื่อสาธารณะได้คงเป็นว่า อาจารย์กฎหมายก็คนเหมือนกัน”

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ชวนมองเรื่องอื้อฉาวของอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเยล ผู้ซึ่งถูกสังคมจับจ้องหลังออกตัวสนับสนุนผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง จนถูกขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวและการเอื้อผลประโยชน์กัน

Amy Chua เป็นอาจารย์สอนกฎหมายสัญญา มีสามีคือ Jed Rubenfeld สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ Chua มีชื่อเสียงเพราะเขียนหนังสือ Battle Hymn of Tiger Mothers เล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกอย่างเข้มงวดแบบพ่อแม่เอเชีย ซึ่งเป็นหนังสือขายดีและสร้างข้อถกเถียงอย่างมากเพราะเป็นแนวคิดที่สวนทางกับอเมริกันชน

Chua มีอิทธิพลในหมู่นักเรียนเพราะเธอดูแลเรื่องการฝึกงานของนักเรียนกฎหมาย และช่วยให้นักเรียนหลายคนได้ไปฝึกงานกับว่าที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ใหญ่โตหรือแม้แต่ศาลฎีกา รวมถึงการวางตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือนักเรียนที่มาจากเอเชีย

หลัง Chua ออกตัวสนับสนุน Brett Kavanaugh ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เสนอชื่อโดยทรัมป์ เธอก็ถูกร้องเรียนว่าเคยแนะนำให้นักเรียนที่จะไปฝึกงานแต่งตัวให้สวยๆ เพราะ Kavanaugh ชอบคนสวย ขณะเดียวกันสามีของเธอก็ถูกร้องเรียนว่าล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนหลายกรณี จนสามีถูกพักงานและ Chua ต้องเลิกยุ่งกับเรื่องฝึกงานและเลิกเชิญนักเรียนมาสังสรรค์ที่บ้าน แต่มหาวิทยาลัยก็พยายามแก้ปัญหาโดยไม่เปิดเผยรายละเอียดทัณฑ์บนของอาจารย์คนดัง

มนุษยสมัย (Anthropocene) เมื่อมนุษย์ผันผวนโลก

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

อ่านหนังสือ Anthropocene บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน

อ่านรีวิวหนังสือได้ที่ https://www.the101.world/anthropocene/

“ในปี 2000 พอล ครุตเซน (Paul J. Crutzen) กับยูจีน สตอร์เมอร์ (Eugene F. Stoermer) เสนอศัพท์ใหม่ขึ้นมาในวงวิชาการ ตอนนั้นโลกกำลังพุ่งทะยานด้วยเทคโนโลยีและการบริโภค ขณะเดียวกันธรรมชาติเองก็ดูเหมือนจะปรับสมดุลไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดเช่นนี้ พวกเขาทั้งคู่จึงเขียนบทความชื่อ ‘The Anthropocene’ และเสนอศัพท์ Anthropocene ที่หมายถึงยุคสมัยที่กิจกรรมของมนุษย์ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และส่งผลกระทบย้อนกลับมาสู่การดำรงชีพของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อชวนให้มนุษย์ตระหนักถึงยุคสมัยที่การบริโภคล้นเกินทำให้โลกเสียสมดุลเช่นนี้”

“แม้ Anthropocene หรือมนุษยสมัย จะเป็นศัพท์ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่มากมาย เช่น มนุษยสมัยคืออะไร มนุษยสมัยเกิดขึ้นเมื่อไหร่แน่ เราจะนับจากเส้นประวัติศาสตร์ตรงไหน และวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะมีทิศทางแนวโน้มอย่างไรในมนุษยสมัย”

“หนังสือ Anthropocene ที่จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พยายามจะตอบคำถามนี้ โดยนักวิชาการ 7 คนที่เลือกหยิบจิกซอว์คนละชิ้น มาปะติดปะต่อเพื่อให้เห็นภาพองค์รวมแห่งมนุษยสมัย แม้ไม่ได้ตอบคำถามได้ชัดเจนทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจภาพมากขึ้น”

การตีพิมพ์ผลงานวิชาการกับแรงจูงใจที่อาจนำไปสู่การทำผิดจริยธรรม

การตีพิมพ์ผลงานวิชาการกับแรงจูงใจที่อาจนำไปสู่การทำผิดจริยธรรม

โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

“เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมามีประเด็นที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางในแวดวงคนวิชาการ ว่าด้วยศาสตราจารย์ท่านหนึ่งในไทยทุบสถิติตีพิมพ์ผลงานวิชาการมากกว่า 400 ชิ้นในระยะเวลาเพียง 3 ปี หากคิดง่ายๆ ศาสตราจารย์ท่านนั้นจะต้องทำงานวิจัยและนำไปตีพิมพ์อย่างน้อย 3 วันต่อชิ้น ถ้าไม่ใช่ยอดมนุษย์ ก็คงต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

“นี่คือผลพวงของแรงจูงใจให้คนทำผิด (perverse incentive) ในแวดวงวิชาการ ที่ใช้จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ประกอบกับดัชนีชี้วัดการอ้างอิงผลงานเป็นเครื่องมือบ่งบอกความสำเร็จ ความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน รวมทั้งการยอมรับนับถือของสาธารณะ แต่สุดท้ายก็เป็นไปตามกฎของกู๊ดฮาร์ท (Goodhart’s Law) ที่มีใจความว่า “เมื่อตัวชี้วัดกลายเป็นเป้าหมาย มันก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีอีกต่อไป” เนื่องจากทุกคนมีแรงจูงใจที่จะเอาชนะด้วยสารพัดกลโกง”

คอลัมน์ Curious Economist เดือนนี้ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เขียนถึงช่องโหว่ในแวดวงการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ที่สร้างแรงจูงใจให้บรรดานักวิชาการ-นักศึกษา ทำผิดจริยธรรมทางวิชาการได้

“แน่นอนครับว่าวารสารวิชาการที่ทุกคนเข้าถึงได้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่วนนักวิจัยเองก็ได้ประโยชน์ทางอ้อมเนื่องจากมีคนอ่านผลงานจำนวนมากกว่า และมีโอกาสที่บทความจะถูกนำไปอ้างอิงสูงกว่าวารสารที่ต้องสมัครสมาชิกเพื่อเข้าถึง แต่รูปแบบการหารายได้นี้เองที่ทำให้เกิด ‘ปรสิตแห่งวงการวิชาการ’ นั่นคือ ‘วารสารนักเชือด’ (predatory journal) ที่มาพร้อมสโลแกน ‘จ่ายครบจบที่ตีพิมพ์'”

“วารสารนักเชือดมักเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับพิจารณาบทความในอัตราสูงลิ่ว โดยลูกค้าส่วนใหญ่คือเหล่านักศึกษาปริญญาเอกไร้เดียงสาที่ต้องกระเสือกกระสนตีพิมพ์ผลงานวิชาการตามเงื่อนไขการเรียนจบ นักวิชาการฉ้อฉลที่หวังใช้เงินเป็นทางลัดเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน หรือกระทั่งเหล่าผู้ปฏิเสธเรื่องโลกร้อนและกลุ่มต่อต้านวัคซีนที่ต้องการให้สิ่งที่ตนเชื่อได้รับ ‘ตราประทับ’ ว่าผ่านการสอบทานโดยผู้เชี่ยวชาญ”

“อย่าลืมนะครับว่านักวิชาการก็เป็นปุถุชนเหมือนเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ พวกเขาและเธอมีโอกาสทำงานผิดพลาดได้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ต้องเจอกับอคติไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป แถมยังมีแรงจูงใจที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดจริยธรรม ดังนั้นอย่าปักใจเชื่อทุกอย่างที่นักวิทยาศาสตร์พูดทันที แต่เผื่อพื้นที่สำหรับตั้งคำถามในเรื่องที่ฟังดูไม่สมเหตุสมผลด้วยนะครับ”

“ผมอยากภูมิใจกับอาชีพทหาร” : ‘เหล่าทัพราษฎร’ กับประกายแนวคิดปฏิรูปกองทัพจากภายใน

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ผมไม่สามารถรู้สึกภูมิใจที่อยู่ในระบบนั้นได้เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดต่างๆ มากมาย”

วจนา วรรลยางกูร คุยกับแอดมินเพจ ‘เหล่าทัพราษฎร’ พื้นที่ส่งเสียงของนักเรียนและนายตำรวจทหารทุกเหล่าทัพ ซึ่งมองเห็นปัญหาจากภายในและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วิธีเรื่อง ‘ชาติ’ ของคนในกองทัพ ความอึดอัดใจต่อปัญหาภายใน การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม จนถึงการปฏิรูปกองทัพให้อยู่เคียงข้างประชาชน

“ในยุค คสช. หนึ่งในงานที่เห็นได้ชัดของทหารคือการประชาสัมพันธ์…การช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ส่วนใหญ่เป็นการไปเอาภาพ อย่างการขุดลอกแหล่งน้ำก็ไปถ่ายรูปสองครั้งแล้วที่เหลือก็ให้ อบต. ใช้รถแบคโฮตักแทน…กลายเป็นว่าทหารมีงานเยอะโดยใช่เหตุ ทหารต้องไปทำโน่นทำนี่แต่ไม่ใช่งานที่เป็นประโยชน์”

“เขาเข้าใจว่าการเรียกร้องของประชาชนเป็นการปลุกปั่นทางการเมือง มีเครือข่าย มีโครงสร้าง แบบที่เราเคยได้เห็น ‘ผังล้มเจ้า’ หรือแผนผังการเมืองต่างๆ ที่ค่อนข้างตลกและไม่เมกเซนส์ แต่เขาไม่ตลกด้วยนะ ค่อนข้างจริงจัง”

“มีการเสริมกำลังหน่วยทหารมหาดเล็ก…เนื่องจากเป็นคำสั่งฟ้าผ่าและไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยากเป็น ปฏิเสธก็ไม่ได้ วิธีการปฏิเสธคือต้องลาออก”
“ผมเคยคุยกับตำรวจคนหนึ่งที่เคยถูกส่งไปฝึกที่หนองสาหร่ายในชุดของตำรวจที่ไม่สมัครใจไป เอฟเฟกต์ที่เขาได้รับไม่ใช่แค่ถูกลงโทษแล้วจบ แต่มันถูกแนบท้ายว่าเขาห้ามเติบโตในอาชีพ”

“อำนาจทำงานกับเราตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วันต่อ 1 สัปดาห์” ภู กระดาษ

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“…นิยายเรื่องนี้เป็นคำสารภาพของคนเจนเอ็กซ์ขึ้นไป เราเกิดในยุคที่ทุนนิยมกำลังทำงานได้ดี มีงานสำหรับทุกคน ขอให้เราขยันขันแข็ง ตั้งใจเรียน จบออกไปเราจะได้มีงานดีๆ มีเงิน คนรุ่นเก่าก็เลยหลงไปกับความคิดที่ว่าชีวิตจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่เกี่ยวกับอย่างอื่น ซึ่งผมว่าเป็นความคิดที่ผิดพลาดมาก
“ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่คิดแบบนั้นในสมัยก่อนว่าขอให้ตั้งใจเรียนเถอะ เรียนมหาวิทยาลัยจบ เดี๋ยวก็มีงานดีๆ ทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องโกหก
“สังคมที่เราร่วมกันสร้างขึ้นมาแต่ก่อน ไม่ใช่สังคมที่ไปถูกทาง มันสร้างภาระให้คนรุ่นหลังมากกว่า เราใช้ทรัพยากรของคนรุ่นหลัง ทำให้โครงสร้างความไม่เป็นธรรมแข็งแกร่งขึ้นจนไม่สามารถต่อกรได้โดยง่าย”

“ผมสร้างครอบครัว ‘วงศ์คำดี’ ขึ้นมา ให้เห็นว่าตระกูลนี้มีอำนาจทั้งการปกครองและเศรษฐกิจอยู่ในตัวคนเดียว คือสมบูรณ์แบบที่สุด พวกเขาครอบครองทุกอย่าง เป็นเจ้าของทุกอย่าง ไม่ว่าเศรษฐกิจหรืออำนาจการปกครอง
“…ตอนนี้คนเล็กคนน้อยกำลังเผชิญกับอำนาจที่มาแบบนี้ ที่ทำงานกับคุณตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีว่างเว้น เมื่ออำนาจใหญ่ขนาดนี้ เราจะทำอย่างไรกับมัน”

คุยกับภู กระดาษ ว่าด้วยหนังสือ 24-7/1 นวนิยายที่พยายามเล่าสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ร่วมสมัยที่สุดเล่มหนึ่งในตอนนี้ รวมถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจสังคม อัตลักษณ์ความเป็นลาว และความคาดหวังต่อการเขียนหนังสือของเขา

ทำความเข้าใจ ‘สายมูยุคดิจิทัล’ ด้วย มานุษยวิทยาการพยากรณ์

โดย ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา

“การคงอยู่ของหมอดู (และความเฟื่องฟูในบางช่วงขณะ) บอกอะไรกับเรา ทำไม ‘มนุษย์’ ต้องพึ่งพาหมอดูกันมากมายขนาดนี้แม้ว่าเราจะเข้าสู่โลกดิจิทัลแล้วก็ตาม”

ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา ชวนมอง ปรากฏการณ์ ‘สายมูยุคดิจิทัล’ ผ่านมุมมองมานุษยวิทยา ตั้งคำถามว่า ทำไมความเชื่อและความศรัทธาในโหราศาสตร์และการพยากรณ์ยังคงดำรงอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปก้าวไกลแล้ว

“การพยากรณ์ไม่ใด้เป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของ ‘การสื่อสาร’ ระหว่างหมอดูหรือนักพยากรณ์และลูกค้าเพียงเท่านั้น หากแต่การพยากรณ์ยังช่วย ‘ทบทวนอดีต’ กล่าวคือการพยากรณ์เปิดโอกาสให้ปัจเจกสามารถสะท้อนเรื่องราวในอดีตของตน รวมถึงการทบทวนและอธิบายถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นบทเรียนของชีวิต หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ การทบทวนอดีตและรื้อฟื้นความทรงจำนำไปสู่ ‘ข้อควรระวัง’ เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความสุขและความพึงปรารถนา การทบทวนเรื่องราวในอดีตอาจถูกใช้เป็นตัวอย่างของ ‘เคล็ดลับความสำเร็จ’ ของชีวิตได้”

“ในขณะเดียวกัน การพยากรณ์คือการสะท้อน ‘ปัจจุบัน’ ผ่านมุมมองและความเข้าใจของปัจเจกที่มีต่อสภาพสังคมในปัจจุบัน ในประเด็นนี้จึงไม่น่าแปลกใจ หากเราจะพบว่าลูกค้าแต่ละคนไปพบกับหมอดูเพื่อขอคำปรึกษาเรื่องที่ตนกำลังกังวลใจ หรือเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่ เช่น ลูกค้าที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัว มีข้อสงสัยว่าตนเองจะเรียนจบหรือไม่ จะสอบผ่านหรือไม่ จะมีงานทำหรือไม่
“ในขณะที่ความกังวลใจของผู้ที่กำลังจะสร้างครอบครัวคือ ความมั่นคง ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความสำเร็จของบุตร รวมถึงความพยายามของปัจเจกที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ สถานภาพที่ตนกำลังดำรงชีวิตอยู่ นำไปสู่คำถามที่บ่งบอกถึงความทะเยอทะยานและแรงปรารถนาของปัจเจกที่ต้องการจะเลื่อนขั้นไปสู่สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม เช่น คำถามที่ว่า “เมื่อไรจะรวย” “เมื่อไรชีวิตจะสบาย” “เมื่อไรจะปลดหนี้ได้” จะเห็นได้ว่าชุดคำถามเหล่านี้คือความพยายามของปัจเจกในการ ‘มองปัจจุบัน’ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“มากไปกว่านั้นหมอดูและลูกค้าต่างสะท้อนมุมมองที่มีต่อ ‘อนาคต’ เช่น การที่ลูกค้าตั้งคำถามหรือแสดงออกถึงความกังวลใจว่าการตัดสินใจใดๆ ในปัจจุบันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง ความสุขและความสำเร็จในอนาคตหรือไม่ ในขณะเดียวกันหมอดูก็มีการประยุกต์ใช้เทคนิคการดูหมอประเภทต่างๆ ในการอธิบายถึงแนวทางในการจัดการกับอนาคต”

คนไร้รัง Nomadland

โดย นรา

“ลักษณะเด่นของชาวอเมริกันนั้นมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การพำนักพักพิง ณ ที่ใดที่หนึ่งเพียงชั่วครู่ชั่วแล่น อยู่ไม่ติดที่ และโดดเดี่ยว ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือการจับกลุ่มและรวมตัวกันเป็นสังคม เพื่อแสวงหาการมีครอบครัว การลงหลักปักฐาน และบ้านอันเป็นที่พักใจ ทั้งสองด้านนี้ปะทะกันเสมอมาและตลอดไป ในชีวิตประจำวันของคนอเมริกัน”

‘นรา’ เขียนถึง Nomadland ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวสังคมคนพเนจรผู้อาศัยในรถบ้าน พล็อตเรียบง่ายแต่ร่ำรวยอารมณ์ทั้งสุขและเศร้า

“Nomadland ดัดแปลงจากงานเขียนเชิงสารคดีปี 2017 ของเจสสิกา บรูเดอร์ ชื่อ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century เล่าถึงปรากฏการณ์ที่ชาวอเมริกันสูงอายุจำนวนมากต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตขนานใหญ่ ออกเดินทางและพำนักอาศัยในรถบ้าน เร่ร่อนสัญจรไปตามถิ่นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหางาน ‘ชั่วคราว’ ระยะสั้นเป็นการยังชีพ เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (The Great Recession) ระหว่างปี 2007-2009 “

“ข้อดีของ Nomadland ก็คือการไม่เชิดชูฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และไม่ตัดสินหรือโจมตีว่าชีวิตแบบไหนดีงามเหมาะควรกว่ากันจนเกินควร … แต่มุ่งพรรณนาอธิบายถึงชีวิตอีกแบบที่อยู่นอกกรอบความคุ้นเคยของคนส่วนใหญ่อย่างกระจ่างชัดและถี่ถ้วน จนเกิดภาพเปรียบเทียบเคียงให้ผู้ชมนำไปพิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเอง”

“ความโดดเด่นต่อมาคือ ในความเป็นหนังที่เร้าอารมณ์อย่างน้อยนิด ปราศจากการบีบคั้น ไม่ฟูมฟาย สามารถกล่าวได้เต็มปาก ว่า Nomadland เป็นหนังที่เปี่ยมด้วยอารมณ์อยู่ทุกนาที”

‘นักจารกรรม’: ไต้หวันกับมรดกขยาดจากสงครามเย็น

โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม

การส่งสายลับไปสอดแนมในดินแดนอื่นอาจดูเป็นเรื่องล้าสมัยในยุคที่เทคโนโลยีล้ำหน้า แต่ปัจจุบันผู้คนในสถานศึกษาของไต้หวันยังคงต้องระมัดระวังตัวจากสายลับในคราบ ‘นักเรียนมืออาชีพ’ ทั้งยังเคยมีการจับกุมสายลับจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้

“บทบาทของนักเรียนมืออาชีพจะเป็นการเก็บข้อมูล โต้เถียงหรือโต้แย้งหากมีการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งผิดแปลกไปจากสิ่งที่นักเรียนมืออาชีพถูกฝึกมา เช่น ถกเถียงเรื่องการเป็นประเทศของไต้หวัน”

“นักเรียนมืออาชีพเหล่านี้จะทำการบันทึกข้อมูลการเรียนการสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลให้กับจีนแผ่นดินใหญ่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในอนาคต”

Alice In Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.1 ความสกปรกที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งความสะอาด

โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เขียนถึงการลักลอบทิ้งขยะอันตราย ทั้งมีคนอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการ ‘ตัดราคา’ การจำกัดขยะ ทำให้มีขยะจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่

“…ระหว่างไปถ่ายทำสารคดีพิเศษรายการ ‘สมการโกง’ เรื่อง ขยะพิษ เราไปที่ ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป้าหมายของเราคล้ายเป็นแปลงที่ดินรกร้างแห่งหนึ่ง มีหลุมขนาดใหญ่สภาพคล้ายบ่อน้ำที่ถูกขุดไว้ใช้ มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมบ่อ แต่แทบจะทันทีทันใดที่เราเปิดประตูรถออก ผมก็มั่นใจได้ทันทีว่าในบ้านหลังนั้น ‘ไม่มีคนอยู่’

เพราะนี่ไม่ใช่สถานที่ที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้

ขอสารภาพว่าผมไม่สามารถสรรหาคำ หรือวลี หรือประโยคใดๆ มาบรรยายเพื่อให้รับรู้ได้ว่ากลิ่นเหม็นที่เราประสบพบเจอที่นั่น เหม็นขนาดไหน บอกได้เพียงว่ามันเป็นกลิ่นที่ทำให้สมองของเราสั่งการให้ต้องปิดจมูกทันทีโดยอัตโนมัติ มันพุ่งเข้าไปในจมูก ปะปนเข้าไปในลมหายใจ กระแทกไปในลำคอ ลงไปสู่ปอดคล้ายกับเวลาที่เรายกเหล้าขาวดีกรีแรงๆ สาดลงคอ จากนั้นกลิ่นเหม็นสุดบรรยายนี้ก็วิ่งขึ้นไปถึงสมอง ทำให้เวียนหัวจนคลื่นไส้ ผมแทบไม่อยากอยู่ที่นั่นต่อไปอีกแม้แต่วินาทีเดียว แต่ก็ต้องอยู่โดยอาศัยหน้ากากอนามัยคุณภาพดี

ในบ่อน้ำ เต็มไปด้วยเศษซากจากอุตสาหกรรม มีทั้งซากทีวีซึ่งหน้าจอฉาบด้วยสารปรอท ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ซากเบาะ ไส้กรอง และเครื่องยนต์ที่ปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันต่างๆ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนโฟมที่ใช้ในการผลิตตู้เย็น และของเสียอันตรายอีกหลายชนิด ถูกทิ้งอยู่ในบ่อที่ไม่มีการปกคลุมด้วยวัสดุใดๆ เลย จึงเห็นได้ชัดว่าน้ำฝนส่งผลให้ซากอุตสาหกรรมเจือปนลงไปในดิน แถมยังเป็นซากอุตสาหกรรมที่ผ่านการถูกเผาไหม้มาแล้วด้วย
แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่เป็นแหล่ง ‘ลักลอบทิ้ง’ ของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถูกตรวจพบมาตั้งแต่ต้นปี 2556 และถูกทิ้งร้างไว้เป็น ‘ของกลาง’ ในระหว่างดำเนินคดี โดยไม่ถูกนำไปบำบัด”

ไตรภูมิพระร่วง x โองการแช่งน้ำ: การปฏิวัติการรับรู้ด้วย ‘หนังสือสร้างเจ้า’ ผี ศาสนา และศาสตราวุธ

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เขียนถึงไตรภูมิพระร่วงและโองการแช่งน้ำ งานเขียนที่มีบทบาทสำคัญในการสถาปนาอำนาจกษัตริย์และรัฐด้วยการสร้างธรรมนูญแห่งจักรวาลในความคิดของคนไทยมาอย่างยาวนาน

“พุทธศาสนาเป็นความเชื่อสำคัญที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการยกระดับและสถานภาพผู้นำท้องถิ่นให้สูงส่ง เห็นได้จากตัวบททางศาสนาที่ว่าด้วย ‘พุทธวงศ์’ อันหมายความถึงวงศ์ของพระพุทธเจ้าในอรรถกถา แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับชนชั้นกษัตริย์ นั่นคือ ในพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ มีเพียง 3 องค์ที่เกิดในตระกูลพราหมณ์ ส่วนอีก 22 พระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์”

“ว่ากันว่า รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตีความเพิ่มเติมในมิติของรัฐและกษัตริย์ นั่นคือ ความเชื่อที่ว่าผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้สั่งสมบารมีไว้สูงที่สุดในหมู่มนุษย์ ยังต้องพึ่งพาการประดิษฐ์พิธีกรรมและจัดสร้าง space ที่แตกต่างจากคนทั่วไป”

“พวกเขาจึงต้องครอบครองสิ่งของและที่พักอาศัย ราชวัง การได้ครองราชย์แสดงให้เห็นถึงบารมีที่สูงสุด หากผู้ใดไม่มีบารมีก็จะถูกแย่งราชชิงบัลลังก์ ไม่เพียงเท่านั้น กษัตริย์ยังต้องเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาในลักษณะเดียวกับเทวดาอย่างพระอินทร์ ต้องสร้างและซ่อมแซมปูชนียสถาน สนับสนุนคณะสงฆ์ และยังต้องเน้นว่าพันธะสำคัญของกษัตริย์นั้น จะต้องเป็นผู้นำทางศีลธรรมของรัฐและผู้คนในปกครองเพื่อไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนาอันมีนิพพานเป็นปลายทาง”

“กษัตริย์จึงมีลักษณะเป็นโพธิสัตว์ สัตว์โลกผู้มีศักยภาพที่จะบรรลุถึงโพธิญาณที่จะพามนุษย์ข้ามฝั่งไปยังแดนนิพพาน ดังนั้น การตีความเช่นนี้ทำให้รัฐเป็นเหตุแห่งการฟื้นสู่ความดีของมนุษย์อีกด้วย เนื้อหาเหล่านี้เห็นได้ชัดในวรรณกรรมไตรภูมิพระร่วงที่เชื่อกันว่าแต่งโดยกษัตริย์แห่งสุโขทัย พญาลิไท”

เกม 3 ด่านกับ ‘ระบบ’ ต้านโกง : เมื่อ ‘คนดี’ ไม่ใช่คำตอบของการกำจัดทุจริต

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

สังคมไทยมี ‘แคมเปญต้านโกง’ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ไม่ทำให้ปัญหาทุจริตลดลง โดยเฉพาะการมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผู้ร่างออกตัวว่าเป็นฉบับ ‘ปราบโกง’ ซึ่งวางแนวคิดการพึ่งพา ‘คนดี’ มากกว่าจะมุ่งสร้าง ‘ระบบที่ดี’

เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธ.ค.) พริษฐ์ วัชรสินธุ เสนอการออกแบบ ‘เกม 3 ด่านต้านโกง’ เพื่อสร้างระบบที่ดีในการชนะคอร์รัปชัน โดยไม่ต้องหวังพึ่ง ‘คนดี’

“เราอาจจำเป็นต้องร่วมกันสลัดมายาคติที่มองว่า การแก้ปัญหาการทุจริตควรตั้งหลักอยู่บนกรอบความคิดเชิงจริยธรรม-คุณธรรมส่วนบุคคล ที่มุ่งเป้าในการทำให้ทุกคนเป็น ‘คนดี’ แต่เราอาจต้องร่วมกันมองว่า การแก้ปัญหาการทุจริตควรตั้งหลักอยู่บนกรอบความคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามนุษย์ทุกคนย่อมแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและมีความเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลประโยชน์นั้นหากมีโอกาส”

“การออกแบบ ‘ระบบที่ดี’ จึงต้องไม่เริ่มต้นจากการเจาะจงตัวบุคคลที่เราคิดว่าเป็น ‘คนดี’ แต่ควรเริ่มต้นจากการนึกถึงใครก็ได้ ที่คุณคิดว่าเป็นคนที่เลวร้ายที่สุด เพราะ ‘ระบบที่ดี’ คือระบบที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดการทุจริตและดักทางคนที่มีเจตนาหรือพฤติกรรมไม่ดีอย่างเขาให้ไม่สามารถสร้างความเสียหายแก่สังคม ไม่ว่า ‘คนเลว’ คนนั้นจะเป็นใครก็ตาม”

ความเกลียดกลัวเพศหลากหลายจาก ‘ตุลาการชาย’ ยุคเบบี้บูม

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

“การยืนยันว่าบุคคลมีสองเพศตามธรรมชาติและครอบครัวคือการสืบสานเผ่าพันธุ์ สิ่งอื่นใดที่แตกต่างไปจากนี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่ธรรมชาติและไม่สอดคล้องกับจารีตประเพณี เป็นทรรศนะที่มีปัญหาอย่างมากในตัวมันเอง”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนพิจารณาคุณลักษณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อาจช่วยทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อคำวินิจฉัยกรณีสมรสเท่าเทียม

“โดยไม่ต้องกล่าวถึงแนวความคิดเรื่องเพศหลากหลาย แม้กระทั่งปัจจุบันแนวความคิดเรื่องสตรีนิยมก็ยังแทบไม่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรการศึกษาด้านกฎหมาย แนวความคิดเรื่องเพศและระบบครอบครัวจึงยังคงวางอยู่บนฐานะความคิดของเพศกำเนิดและการสมรสแบบต่างเพศ (heterosexual marriage)
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันคือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการปกป้องแนวความคิดในยุคสมัยหนึ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว”

ค่าแรงขั้นต่ำ ทำไมถึงต้องสูง?

ค่าแรงขั้นต่ำ ทำไมถึงต้องสูง?

โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

“แทนที่จะใช้ศัพท์แสงวิชาการให้ดูยุ่งยาก ผู้เขียนชวนตั้งคำถามง่ายๆ ว่าค่าแรง 336 บาทต่อวันในยุคสมัยที่การทานอาหารนอกบ้านเริ่มต้นที่จานละ 40 บาทฟังดูสมเหตุสมผลหรือไม่ เขาหรือเธอที่ทำงานรับค่าจ้างขั้นต่ำถือว่ามีชีวิตที่ไม่อัตคัดขัดสนหรือเปล่า”

“ถ้าคำตอบของคุณคือ ‘ไม่’ ก็คงได้เวลาที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมแล้วล่ะครับ”

คอลัมน์ Curious Economist เดือนนี้ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ชวนขบคิดเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย ซึ่งอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับสูงขึ้น

“การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเกิดขึ้นตอนสมัยผมยังเรียนมหาวิทยาลัย ผมยังจำได้ดีถึงกระแสตีกลับของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายต่อหลายคนว่าการขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะทำให้แรงงานจะตกงานมหาศาล หลายธุรกิจต้องปิดตัว เงินเฟ้อหนัก และเศรษฐกิจพังพินาศแบบไม่อาจกู้คืนกลับมาได้”

“แต่ทุกคนคงทราบดีว่าคำทำนายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง เศรษฐกิจไทยก็ยังไปได้ดี แถมงานวิจัยที่ศึกษาปรากฎการณ์ครั้งนี้ยังพบว่าอัตราการว่างงานก่อนและหลังนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนั้นแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่านายจ้างไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าวสักเท่าไหร่”

“หากเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านนโยบายแบบหัวชนฝานั้นไม่ได้เกลียดชังรัฐบาลอย่างเข้ากระดูกดำ ก็คงไม่ได้อ่านงานวิจัยเชิงประจักษ์ชิ้นเอกซึ่งเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2535 ของเดวิด คาร์ด (David Card) หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุด และอลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) คู่หูนักเศรษฐศาสตร์ชั้นครูผู้ล่วงลับไปไม่นาน ทั้งสองคนศึกษาพื้นที่สองรัฐซึ่งมีขอบเขตติดกันแต่มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำต่างกัน หนึ่งคือรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่ตัดสินใจเดินหน้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากชั่วโมงละ 4.25 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 5.05 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐเพนซิลเวเนียซึ่งอยู่ข้างกันยังคงค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดิมไว้ โดยผลลัพธ์ที่ทั้งคู่พบคือไม่พบผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการจ้างงานของทั้งสองรัฐ”

(กว่าจะเป็น) ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

โดย ชลิดา หนูหล้า

ชลิดา หนูหล้า เขียนถึงการสร้าง ‘ตำนาน’ พระนเรศวร กษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ก่อนจะมาถึงวันนี้ เรื่องเล่าของพระนเรศเคยเป็นแบบไหน และผ่านอะไรมาบ้าง

“เรื่องราวของพระนเรศเพิ่งจะมีสีสันเป็นที่ตื่นตาตื่นใจหลังการชำระพงศาวดารเมื่อสถาปนากรุงเทพมหานครนี่เอง โดยหากเปรียบเทียบพระราชพงศาวดารที่รจนาในรัชสมัยพระนารายณ์ กับที่ชำระในรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว พบว่ามีหน้าที่กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระนเรศเพิ่มขึ้นถึง 174 หน้า เต็มไปด้วยกลศึกหลักแหลมและบทสนทนาคมคาย”

“ประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยพระนเรศเมื่อแรกสถาปนากรุงเทพมหานครนั้นยังมีลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่ง คือนอกจากพระปรีชาสามารถแล้ว ยังขับเน้นบารมีและกล่าวถึงบทบาทของพระนเรศในการทำนุบำรุงพระศาสนา กล่าวคือพระนเรศในพระราชพงศาวดารใหม่นี้มีลักษณะเป็นกษัตริย์ในอุดมคติทุกกระเบียด เมื่อถึงคราวรบก็รบได้ไม่ย่นย่อ ทั้งยังเป็นผู้มีบุญญาธิการ สามารถทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ร่มเย็นใต้ร่มพระศาสนาได้”

“…เหตุที่พระนเรศต้องมีลักษณะเอกอุกว่าผู้ใดนั้น เพราะขณะที่มีการชำระพระราชพงศาวดารนี้ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกำลังฟื้นฟูบ้านเมืองที่ถูกทำลายย่อยยับ การรจนาพระราชพงศาวดารใหม่โดยเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับการต่อกรอริราชศัตรูและบำรุงพระศาสนา จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้พระองค์เองที่เพิ่งปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ท่ามกลางความระส่ำระสายทางการเมือง”

“โดยพระราชพงศาวดารเหล่านี้จะมีโครงเรื่องชัดเจน คือพระนเรศเติบใหญ่ท่ามกลางไฟสงคราม แต่ด้วยบารมีล้นพ้นเหนือผู้ชิงชัยทั้งปวง พระองค์จึงได้เป็นใหญ่พร้อมพระอนุชาที่เป็นคู่คิดในการทำนุบำรุงบ้านเมือง สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่กำลังก่อร่างของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ ‘ยอ’ กรุงศรีอยุธยาจากสวรรค์มาประดิษฐานใหม่บนผืนดิน มีสิทธิธรรมในฐานะผู้สร้างบ้านแปงเมืองใหม่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่เหมือนกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ขาดเขลา ไร้ความสามารถ และไม่เหมือน ‘คู่แข่ง’ อื่นๆ ที่ปราบปรามได้เบ็ดเสร็จแล้ว”

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.2 ซากอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติกับผังเมืองที่หายไป

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.2 ซากอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติกับผังเมืองที่หายไป

โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

“หากตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ไม่แน่ว่า ‘ความเชื่อมั่นในการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์’ อาจเป็นหัวข้อหนึ่งที่ได้คะแนนสูงลิ่วอยู่ในระดับท็อปของโลกก็ได้
เพราะนี่คือดินแดนที่เศษซากอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกมองว่าหมดประโยชน์ไปแล้วจากทั่วโลก ถูกขนลงเรือใส่ตู้คอนเทนเนอร์มาขึ้นฝั่ง”

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ตามตรวจสอบโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เปิดข้อกฎหมายและดูปริมาณการนำเข้าขยะที่ชวนตั้งคำถาม

“…นักลงทุนชาวต่างชาติจากจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ต่างโยกย้ายธุรกิจการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย ให้สมกับความเป็น Dirtyland อันน่าภาคภูมิใจ”

“…ในปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจที่มีเพียงคนเดียวที่ใช้ได้ คือมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท นั่นคือกิจการพลังงานและรวมไปถึงกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียด้วย โดยการจัดตั้งโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ก็ได้รับการยกเว้นตามคำสั่งฉบับนี้ คือสามารถตั้งโรงงานนอกเขตอุตสาหกรรมได้”

“ถ้าเจาะลงไปดูเฉพาะ ‘โรงงานที่ประกอบกิจการคัดแยกหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์’ มีอยู่ทั้งหมด 148 โรงงาน มีข้อมูลการส่ง ‘กากสุดท้าย’ มากำจัดอย่างถูกต้อง รวมแล้วไม่ถึง 800 ตันต่อปี และไม่มีข้อมูลใดบ่งชี้ได้ว่า ‘กากสุดท้ายของขยะอิเล็กทรอนิกส์’ มีปริมาณต่อปีมากน้อยเพียงใดกันแน่ นั่นเป็นเพราะแทบไม่ปรากฏข้อมูลการแจ้งนำกากสุดท้ายของขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกมากำจัดจากโรงงานกลุ่มนี้ แต่ที่แน่ๆ คือมีข้อมูลการ ‘นำเข้า’”

“ในวงการการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีวิธีคำนวณว่ากากสุดท้ายที่ต้องเหลือจากการคัดแยกหรือรีไซเคิลจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของชิ้นส่วนที่นำเข้ามา หมายความว่าหากโรงงานรีไซเคิลมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำเข้ามา 100 ตัน จะสกัดได้สิ่งที่ยังมีค่าประมาณ 60 ตัน และจะมีเหลือประมาณ 40 ตัน ที่ต้องส่งไปกำจัดในสถานะ ‘ของเสียอันตราย’”

อดีตของมาบตาพุดคืออนาคตของจะนะ

อดีตของมาบตาพุดคืออนาคตของจะนะ

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปเดินเลียบริมทะเลในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้านหน้าเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บนพื้นที่ที่ยื่นออกไปจากการถมทะเล ทำให้หาดทรายชื่อดังแถวนั้นหายไปจนหมด ผู้เขียนได้สนทนากับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่ง แกบอกตามตรงว่า…

‘หากเลือกได้ผมคงจะลาออกกลับไปอยู่บ้านแถวภาคอีสาน ผมต้องเดินอยู่ข้างนอกทุกวัน ไม่ได้อยู่ในอาคารติดแอร์ ทนกลิ่นเหม็นไม่ค่อยไหว บางคืนดึกๆ พรรคพวกก็แอบปล่อยน้ำเสียลงทะเล…วันก่อนโรงงานแห่งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตอนเดินเครื่อง เสียงดังลั่น นึกว่าเครื่องจะระเบิดแล้ว….เพื่อนผมคนหนึ่งป่วยเป็นโรคเม็ดเลือดแตกง่าย คนแถวบ้านก็เป็นโรคนี้กันมาก ทุกวันนี้เครียดเพราะกลัวเป็นมะเร็งเหมือนคนอื่นๆ'”

บางทีบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศแถวชายฝั่งทะเลตะวันออก อาจจะพอบอกอนาคตของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เล่าย้อนถึงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างหนัก ซึ่งอาจเป็นชะตากรรมเดียวกันกับที่ชาวอำเภอจะนะ จ.สงขลาต้องเผชิญในอนาคต

คำเชื้อเชิญจาก The Empire และนโยบายอุตสาหกรรมใน 'ห่วงโซ่มูลค่าโลก'

คำเชื้อเชิญจาก The Empire และนโยบายอุตสาหกรรมใน ‘ห่วงโซ่มูลค่าโลก’

โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

“เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การผลิตสินค้าปลายน้ำชิ้นหนึ่งประกอบขึ้นจากการประสานงานของวัตถุดิบจำนวนมาก ซึ่งผลิตและเดินทางไกลมากจากทั่วทุกมุมโลก เราเรียกการไหลเวียนของสินค้าและมูลค่าเหล่านี้ว่า ‘ห่วงโซ่มูลค่าโลก’ (Global Value Chain – GVC) รายงานของ United Nations Conference on Trade and Development (UNTAD) ปี 2013 ประเมินว่า ห่วงโซ่มูลค่าโลกมีมูลค่าราว 80% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดและอยู่ในระดับที่ ‘สูง’ มาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน”

“ห่วงโซ่มูลค่าโลกนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ การผงาดขึ้นมามีบทบาทของบรรษัทเหล่านี้ส่งผลอย่างสำคัญ ด้านหนึ่ง ห่วงโซ่มูลค่าโลกเสนอโอกาสให้บริษัทของประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าไปแบ่งปัน ‘มูลค่า’ และ ‘เทคโนโลยี’ ที่เกิดจากบรรษัทประเทศพัฒนาแล้ว”

“มันส่งสัญญาณเชิญชวนที่เย้ายวนใจเหมือนคำกล่าวของ Darth Vader ที่มีต่อ Luke Skywalker ในภาพยนตร์ Star Wars: Episode V…’เจ้ายังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง และเพิ่งค้นพบพลังที่แฝงอยู่ เข้าร่วมกับข้าสิ แล้วข้าจะฝึกฝนเจ้าให้สมบูรณ์'”

“แต่อีกด้านหนึ่ง นักวิชาการและผู้ดำเนินนโยบายหลายประเทศก็กังขากับคำมั่นสัญญาที่ได้รับนี้และเลือกตอบปฏิเสธ เช่นเดียวกับที่ Luke ตอบ Darth Vader ว่า ‘I will never join you’”

คอลัมน์ Dancing with Leviathan เดือนนี้ แบ๊งค์ งามอรุณโชติ สำรวจข้อถกเถียงการทำนโยบายอุตสาหกรรม ภายใต้บริบทที่ห่วงโซ่อุปทานโลกขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเสนอว่า แนวทางที่ถูกต้องไม่ใช่การตอบรับหรือปฏิเสธการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานโลก แต่เป็นการ ‘เข้าร่วมอย่างมีกลยุทธ์’

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนธันวาคม 2564

‘Biopsy of Fear’ ชันสูตรความกลัวในสังคมไทยผ่านละคร : ร่างกาย บงการ และเพดานที่มองไม่เห็น

โดย กองบรรณาธิการ

ท่ามกลางห้วงเวลาที่สังคมถูกบงการโดยผู้มีอำนาจ หล่อหลอมให้ผู้คนอยู่ในความหวาดกลัวตลอดมา แต่ดูเหมือนว่าการกดทับนั้นจะค่อยๆ ถูกปลดออกตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ประชาชนออกมาต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรมบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง และวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมหลักในสังคมไว้หลายประเด็น จนถูกมองว่าเป็นการ ‘เปิดเพดาน’ การแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

คำถามสำคัญก็คือ ‘ความกลัว’ ที่เจือจางลงนั้นเป็นภาพจริงแค่ไหน และเพดานที่เปิดออกแล้วส่งผลต่อการตั้งคำถามและการแสดงออกในสังคมอย่างไรบ้าง

‘Biopsy of Fear’ ซีรีส์การแสดงของศิลปินจากสามกลุ่มละคร บีฟลอร์, พระจันทร์เสี้ยวการละคร และลานยิ้มการละคร พยายามเข้าไปสำรวจพื้นที่แห่งความกลัวด้วยศิลปะการแสดง ผ่านแนวทางและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน

101 ชวนผู้กำกับมาพูดคุยว่าด้วยการ ‘ชันสูตรความกลัว’ และมองภาวะความกลัวในสังคมไทย

ในภาวะที่เพดานถูกเปิดออก เรากำลังกลัวอะไร ละครอยู่ตรงไหนในขบวนการเคลื่อนไหว และความกลัวส่งผลแค่ไหนต่อการเล่าเรื่องผ่านละคร

101 Gaze Ep.6 “Well-dying หากความตายคือ ‘ชีวิต’ วันสุดท้ายที่มีคุณภาพ”

โดย กองบรรณาธิการ

เมื่อความตายมาถึง ไม่ว่าเป็นความตายของคนที่คุณรัก ความตายของตัวคุณเอง
ความตายที่ไม่คาดคิด กระทั่งความตายที่อาจพอเหลือเวลาให้ตระเตรียม
ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่ต้องเจอนั้นไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

เมื่อความตายมาถึง หลายคนอาจเฝ้าถามว่า จะมีทางใดบรรเทาความเจ็บปวดจากธรรมชาติอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีทางใดที่จะหนีจากการตัดสินใจบนความเป็นความตาย มีทางใดที่จะไม่ต้องสบสนระหว่างการ ‘ยื้อชีวิต’ และ ‘ยืดระยะความตาย’ บ้าง

แน่นอน ไม่มีใครและทางใดหยุดยั้งความตายได้ แต่การเผชิญหน้า เปิดใจพูดคุย และรับรู้ทางเลือกที่มีเพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่ความตายจะมาถึง อาจเป็นยาชั้นดีที่ช่วยเติม ‘คุณภาพชีวิต’ และช่วยลดบาดแผลในใจให้ช่วงเวลาสุดท้าย

‘เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร’
อาจเป็นคำถามที่ยากจะตอบ แต่ยิ่งความตายใกล้เข้ามาเท่าไหร่ คำตอบของคำถามก็ยิ่ง
สำคัญมากขึ้นเท่านั้น

101 Gaze ชวนเปิดบทสนทนาว่าด้วยเรื่องความตายและความหมายของชีวิต ทำความรู้จักการรักษาแบบประคับประคองและการจัดการชีวิตในวาระสุดท้ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด พูดคุยกับ ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ศ.นพ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร จากคลินิกกุมารชีวาภิบาล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปลายทางสถานีกรุงเทพ : เมื่อการพัฒนาคร่าลมหายใจหัวลำโพง?

โดย กองบรรณาธิการ

นับตั้งแต่การเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2459 เป็นเวลากว่า 105 ปีแล้วที่ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือที่ใครหลายคนคุ้นชินในชื่อ ‘สถานีหัวลำโพง’ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางของผู้คนหลากชีวิต ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะเกิดกระแสข่าวการยุติการเดินรถไฟเข้า-ออกสถานีกรุงเทพทั้งหมด และย้ายไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อแทนภายในสิ้นปี 2564

ประเด็นการย้ายสถานีไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งแต่วินาทีที่ตอกหมุดสร้าง ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เราต่างทราบกันดีว่านั่นคือวินาทีเดียวกันของการนับเวลาถอยหลังการใช้งานสถานีหัวลำโพง

แต่สิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการคัดค้านจากสังคมอย่างมากคือ การตัดสินใจ ‘ปิดหัวลำโพง’ ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่ได้ถามความเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการ

ขณะเดียวกันเมื่อมองไปยัง ‘แผนพัฒนา’ พื้นที่หัวลำโพงต่อจากนี้ว่าจะถูกเปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็น ‘พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ก็ยิ่งชวนให้เกิดข้อสงสัยตามมา จนในท้ายที่สุดกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งชะลอย้ายการเดินรถไปที่สถานีกลางบางซื่อและยังเปิดให้ขบวนรถไฟทุกขบวนเข้าออกที่หัวลำโพงตามเดิมจนถึงมกราคม 2565 เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

ณ วินาทีที่เรายังไม่รู้ว่าปลายทางของ ‘สถานีกรุงเทพ’ จะเป็นอย่างไรต่อไป 101 ชวนย้อนมองถึงความหมายและคุณค่าของสถานีหัวลำโพงต่อสังคมไทยอีกครั้ง และตอบคำถามสำคัญว่า จริงหรือที่การพัฒนาคือการสร้างใหม่เพียงอย่างเดียว

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.12 : เมื่อ 2 ป. ต้องพึ่งคำชะโนด

– อ่านสัญญาณทางการเมือง ประยุทธ์ควงประวิตร ลงพื้นที่อุดรฯ ขอพรคำชะโนดให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า

– ตลาดนัดนักการเมืองคึกคัก เข้าฤดูย้ายค่าย เปลี่ยนขั้ว ตั้งพรรคใหม่ เก็งผลเลือกตั้งครั้งหน้า

– ผลเลือกตั้ง อบต. สะท้อนอะไรในการเมืองท้องถิ่น

มองปรากฏการณ์ไล่ ‘แอมเนสตี้ฯ’ เมื่อรัฐบาลเห็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเป็นภัยคุกคาม
ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ และสมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.13 : อัศวิน จอมพลัง หมูป่า ทายาทไอน์สไตน์ : ผู้ว่าฯ กทม. เดอะแฟนตาซี

– หลายพรรคการเมืองทยอยเปิดตัวแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. อย่างมีสีสัน พร้อมงัด ‘ยอดฝีมือ’ มาเป็นตัวเลือกให้คนกรุงเทพฯ ขณะที่สังคมก็พร้อมตรวจสอบ ‘คุณสมบัติ’ และที่มาที่ไปของแคนดิเดตแต่ละคนอย่างละเอียด

– ทบทวนบทเรียนกรณีจะนะ เมื่อส่วนกลางคิดแทนคนในพื้นที่ และแก้ปัญหาการต่อต้านด้วยความรุนแรงและการไม่รับฟัง

– สำรวจปรากฏการณ์ศิษย์เก่าเพื่อไทยทยอยกลับพรรค เบื้องลึกเบื้องหลังคืออะไร

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ และสมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.14 : ปีใหม่ การเมืองเก่า?

ขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงเวลา แต่การเมืองไทยยังคงไม่เคลื่อนไปไหน?
ส่งท้ายปีด้วยการร่วมย้อนมองเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ปี 2021 เป็นหมุดหมายอย่างไรในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ใดที่ควรจดจำ

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 Public Forum : “จินตนาการใหม่ ระบบยุติธรรมไทย”

101 ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) เปิดเวทีสาธารณะชวนนักวิชาการหลากศาสตร์หลายวงการมาคิดเปลี่ยนระบบยุติธรรมไทยด้วยจินตนาการใหม่ เพื่อสร้างสังคมไทยแห่งอนาคตที่หลักนิติธรรมทำงานเสมอหน้ากัน

ร่วมเสวนา:

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน

ดร. นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

กล่าวสรุปและปิดงานเสวนา: ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการ The101.world

จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) และเว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world

101 Policy Forum #15 นโยบายการศึกษาสายอาชีพในโลกใหม่

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ถก-คิด-ถาม-ตอบกันเรื่อง ‘นโยบายการศึกษาสายอาชีพ’

พบกับ

กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล

ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

กิตตินันท์ ครุฑพงษ์ ที่ปรึกษาทีมนโยบายการศึกษาเพื่ออาชีพพรรคกล้า

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

ทิศทางโจทย์การศึกษาสายอาชีพควรเป็นอย่างไร | อะไรคือคอขวดที่ทำให้การส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพไม่สำเร็จ | จะพัฒนาการศึกษาสายอาชีพอย่างไรให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลก | ฯลฯ

101 One-on-One Ep.249 “โลกใหม่ งานใหม่ ทักษะใหม่” กับ เสาวรัจ รัตนคำฟู

ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ คำถามแห่งยุคสมัยคือ งานในอนาคตจะเป็นอย่างไร อะไรคือทักษะที่จำเป็น คนไทยและสังคมเศรษฐกิจไทยต้องเตรียมรับมืออย่างไร

101 สนทนากับ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่าด้วยคำถามแห่งยุคสมัยและคำตอบใหม่ๆ ที่อยู่บนฐานงานวิจัยล่าสุด

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา 

101 One-on-One Ep.250 อ่านอนาคตโลก เขียนอนาคตไทย กับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

แม้ 2021 โลกจะยังคงป่วยไข้จากโควิด-19 แต่เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงยังไม่หยุดยั้ง มิหนำซ้ำยังทะยานเร่งขึ้นกว่าเดิม

Metaverse, AI, Big Data เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่จะมีส่วนนิยามชีวิตใหม่ของคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย

101 ชวน ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา อ่านอนาคตโลกเพื่อเขียนอนาคตไทย – เราควรต้องรู้อะไร

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save