fbpx
Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.2 ซากอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติกับผังเมืองที่หายไป

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.2 ซากอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติกับผังเมืองที่หายไป

ภาพปกโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

Alice In Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.1 ความสกปรกที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งความสะอาด

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.3 เรื่อง ‘กากๆ’

ถนนทุกสายมุ่งสู่ Dirtyland in Thailand

หากตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ไม่แน่ว่า ‘ความเชื่อมั่นในการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์’ อาจเป็นหัวข้อหนึ่งที่ได้คะแนนสูงลิ่วอยู่ในระดับท็อปของโลกก็ได้

เพราะนี่คือดินแดนที่เศษซากอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกมองว่าหมดประโยชน์ไปแล้วจากทั่วโลก ถูกขนลงเรือใส่ตู้คอนเทนเนอร์มาขึ้นฝั่ง

ในขณะที่ประเทศในยุโรปเลือกที่จะยอมเสียเงินส่งซากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ออกไปให้พ้นแผ่นดินที่อยู่อาศัยของพวกเขา อเมริกาก็หาทางผลักไสให้ถูกส่งไปกำจัดที่อื่น

ปี 2560 จีนประกาศตัวยอมรับความพ่ายแพ้ต่อธุรกิจนี้ เพราะถือเป็นภัยทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในประเทศ จึงปิดประตูการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้อนรับเศษขยะทางเทคโนโลยีกลุ่มนี้เข้ามากำจัดในจีนอีกต่อไป กิจการการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในจีนจึงต้องปิดตัวลงตามไปด้วย

แต่นักลงทุนในอุตสาหกรรมซากอิเล็กทรอนิกส์ในจีนน่าจะทำบุญมาเยอะ เพราะยังมีดินแดนอีกแห่งหนึ่งที่ใจกว้างยิ่งกว่ามหาสมุทร ดินแดนที่พร้อมอ้าแขนต้อนรับพวกเขาอย่างเต็มที่ แถมยังอำนวยความสะดวกให้ทุกทาง แม้จะต้อง ‘แก้ไขผังเมือง’ ให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่เขตอุตสาหกรรมได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะมีอำนาจ ‘ออกคำสั่ง’ อยู่ในมือ

Dirtyland จึงกลายเป็นดั่งแหล่งขุมทรัพย์ ที่เชื้อเชิญดึงดูดเหล่านักรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ให้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาลงหลักปักฐาน

เมื่อท่านร่วมซื้อตั๋วเดินทางผ่านโพรงกระต่ายเข้ามาแล้ว ทางราชินีโพธิ์แดงขอต้อนรับท่านกลับเข้าสู่ Dirtyland อีกครั้ง ‘แดนสกปรกยุคใหม่’ ที่เปิดรับ ‘ความสกปรก’ จากทั่วโลกให้มาสร้างความร่ำรวยด้วยกัน

ส่วน ‘กากสุดท้าย’ ต้องร้องเป็นเพลงว่า ‘ฉันรับไว้เอง’


2561 แดนสกปรก ยกระดับสู่นานาชาติ

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่การลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มโรงงานคัดแยกขยะ ลำดับที่ 105 และกลุ่มโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 จนพบเศษซากอิเล็กทรอนิกส์วางเกลื่อนกลาดหลายวันติดต่อกันของ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ฉุดให้ผมตัดสินใจถอนตัวเองจากงานอื่นทั้งหมด มาติดตาม หาข้อมูลประกบ ทำคอนเทนต์เสริม เพื่อช่วยขยายผลเรื่องนี้อย่างจริงจังในช่วงเวลานั้น

ผมพาตัวเองลงไปในโพรงกระต่ายอีกครั้ง

ก่อนจะไปต่อ ต้องอธิบายก่อนว่า ในระหว่างที่ติดตามประเด็นนี้เป็นช่วงเวลาที่ผมมีหน้าที่เป็นบรรณาธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ PPTV ดังนั้น ข้อมูลที่ท่านจะได้อ่านจากนี้ไป ส่วนมากเป็นข้อมูลในระหว่างที่ผมทำงานอยู่ที่นั่น และมีทีมข่าวของ PPTV ช่วยกันไปติดตามสืบเสาะมา จึงเขียนไว้เป็นเป็นเครดิตให้ทีมข่าวทั้งทีมในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

ที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ดินแดนสวรรค์ของนักลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในอดีต วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เจ้าหน้าที่ 5 หน่วยงานที่นำโดย พล.ต.อ.วิระชัย เข้าตรวจค้นพบ ‘แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในถุงบิ๊กแบ็ก’ ถูกกองไว้เป็นภูเขาขนาดย่อมๆเต็มพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ของโรงงานที่ใช้ชื่อว่าบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด

ถ้ามองลงมาจากบนท้องฟ้า เราจะเห็นกองถุงบิ๊กแบ็กบรรจุแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่วางไว้จนเต็มเนื้อที่ 100 ไร่ ยังถูกกองไว้กลางแจ้ง ไม่กลัวแดด ไม่เกรงฝน แม้ว่าตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว น้ำฝนจะมีความสามารถชะล้างสารเคมีอันตรายทั้งหลายจากแผงวงจรให้ซึมลงสู่ผืนดินและแหล่งน้ำก็ตาม

ภาพจาก PPTV
ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

เมื่อตรวจสอบต่อไปก็พบว่าโรงงานนี้มีเจ้าของเป็นชาวจีน ประกอบกิจการด้วยการนำแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาแปรสภาพด้วยการใช้ความร้อนหลอมละลายเพื่อสกัดเอาสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ทองเหลือง เพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งตามหลักการแล้วต้องทำเป็นระบบปิด มีการควบคุมมลพิษ แต่ที่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น แม้แต่การนำแผงวงจรมาวางไว้กลางแจ้ง ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว ยังไม่นับว่า ‘กากสุดท้าย’ ที่เหลือจากการสกัดเอาของที่มีประโยชน์ออกไปแล้ว กลับไม่ถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง

มีเรื่องน่าสนใจมากกว่าเดิมในอีกหนึ่งวันต่อมา คือโรงงานแห่งเดียวมีใบอนุญาต 105 และ 106 รวมกัน 15 ใบ โรงงานแห่งนี้มีกรรมการบริษัทเป็นชาวจีนร่วมกับชาวไทย ชื่อว่า บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด มีสถานที่ตั้งเป็นเพื่อนบ้านกับโรงงานแรก คือ จ.ฉะเชิงเทรา เช่นเคย อยู่ที่ ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม

ทันทีที่ได้รับข้อมูลนี้ ผมตัดสินใจได้ในแทบจะทันทีว่า ‘นี่ไม่ควรจะเป็นแค่ข่าวการบุกจับโรงงานแล้ว’

เพราะดูเหมือนโรงงานทั้ง 2 แห่ง จะมีหลายอย่างเชื่อมโยงกัน มีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนเหมือนกัน น่าจะเข้ามาลงทุนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำกิจการเกี่ยวกับการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน และที่พิเศษมากๆ คือความเชื่อมโยงไปถึงผู้ควบคุมกติกาที่ออกใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงงาน

บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปแล้ว) มีใบอนุญาตประเภทโรงงานคัดแยกขยะ (105) จำนวน 7 ใบ และมีใบอนุญาตเป็นโรงงานรีไซเคิล (106) จำนวน 8 ใบ เมื่อดูในเอกสารจะพบว่า ใบอนุญาตทั้ง 15 ใบถูกออกในพื้นที่ที่อยู่ในรั้วเดียวกัน เป็นบ้านเลขที่ 111/2 ถึง 111/8 และที่ดินอีก 1 แปลง

มีความจำเป็นอะไร ต้องออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เหมือนกัน 2 ประเภท รวม 15 ใบ ให้กับโรงงานแห่งเดียว ผมเชื่อว่า นั่นเป็นคำถามที่ไม่ว่าใครก็ต้องสงสัย

แค่คำถามนี้ถูกตอบง่ายๆโดยอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนเดียวในประเทศไทย ที่มีอำนาจออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 และ 106

“โรงงานดังกล่าวมีพื้นที่อาคารโรงงานที่ชัดเจน มีเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสอดคล้องกับปริมาณวัสดุที่นำเข้า จึงอนุญาต ยืนยันว่าการได้ใบอนุญาตหลายใบ ไม่มีผลต่อปริมาณการขอนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม” นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงเวลานั้นชี้แจง

ผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นคำตอบที่ตรงกับคำถามหรือไม่ เพราะในมุมของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามปัญหามลภาวะจากภาคอุตสาหกรรม ตั้งข้อสังเกตไว้ตรงกันว่า ในข้อกฎหมายกำหนดให้ใบอนุญาตโรงงานคัดแยกขยะหรือโรงงานรีไซเคิลแต่ละใบ จะถูกจำกัดปริมาณการนำเข้าของเสียไว้ที่ประมาณ 1 แสนตันต่อปี ดังนั้นการมีใบอนุญาตเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าของเสียได้เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนใบอนุญาตใช่หรือไม่

แต่คำถามนี้ ยังไม่มีใครตอบ หรืออาจจะมีคำตอบในบทต่อไป

ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

แต่งตัวรอ อาคาร สถานที่พร้อม ต้อนรับนักลงทุนขยะจากต่างแดน สมฐานะ ‘ถังขยะของโลก’

ถ้าจะไล่ดูกลุ่มโรงงานที่เข้ามาทำกิจการกับซากอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงนั้นกันไปให้ครบทีละโรงงาน คงต้องใช้เวลาอ่านกันเป็นเดือน ดังนั้นนี่เป็นเพียงตัวอย่าง 2 แห่ง จากโรงงาน 105 และ 106 ที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติจากจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ต่างโยกย้ายธุรกิจการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย ให้สมกับความเป็น Dirtyland อันน่าภาคภูมิใจ

ที่ต้องกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะในปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งเป็นหัวหน้า คสช.ด้วย ได้ใช้อำนาจที่มีเพียงคนเดียวที่ใช้ได้ คือมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท นั่นคือกิจการพลังงานและรวมไปถึงกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียด้วย โดยการจัดตั้งโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ก็ได้รับการยกเว้นตามคำสั่งฉบับนี้ คือสามารถตั้งโรงงานนอกเขตอุตสาหกรรมได้

เมื่อเป็นคำสั่งของบุคคลระดับผู้นำ ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งโรงงาน 105 และ 106 จึงผุดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองคำสั่งนี้

มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้รวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2560 – 2561 ช่วงเวลาหลังจากมีคำสั่งยกเลิกผังเมืองรวมในพื้นที่ 5 จังหวัดที่พบปัญหาผลกระทบจากกลุ่มโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าอาณาจักร Dirtyland แดนสกปรก ได้ขยายอาณานิคมออกไปอย่างกว้างขวาง แถมได้เหล่าพันธมิตรจากต่างชาติเข้ามาร่วมกิจกรรม ‘สกัดหาของดีจากขยะ และทิ้งกากไว้ที่นี่’ กันอย่างสนุกสนาน

การสำรวจพบว่าที่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง มีโรงงานคัดแยกขยะ (105) และโรงงานรีไซเคิล (106) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30-40 จากโรงงานที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะที่ อ.พนมสารคาม และ อ.แปลงยาว …จำชื่อ 2 อำเภอนี้กันได้แล้วใช่ไหม

ผมขอเชื้อเชิญทุกท่านปรับโฟกัส ร่วมกันส่องลงไปที่ ม.9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม เพราะไปตรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 30 ใบ โดยรูปแบบการออกใบอนุญาต เป็นการออกให้กับบุคคลคนเดียว คนละหลายๆ ใบ เช่น นางสาว A ได้ใบอนุญาตไปคนเดียว 5 ใบ นางสาว B ได้ไปอีก 4 ใบ จากนั้นก็จัดสรรที่ดิน เตรียมอาคารสถานที่ให้พร้อมสรรพสำหรับรอประกอบกิจการ เปรียบได้กับการสร้างฐานทัพ เตรียมกำลังพล เสบียง ยุทโธปกรณ์ เมื่อแม่ทัพน้อยใหญ่จากต่างแดนเดินทางมาถึง ก็สามารถนำกองทัพออกรบได้ทันที  

ทั้ง อ.แปลงยาว และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จึงถูกอัปเกรดจากพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยบ่อดิน เคยเป็นปลายทางให้กลุ่มโรงงานรีไซเคิลนำของเสียอันตรายที่มีค่ากำจัดราคาสูงมาลักลอบทิ้งเพื่อลดต้นทุน กลายเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลเศษซากอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ ผ่านการขอใบอนุญาตจากนักจัดสรรที่ดินชาวไทย

Dirtyland ก็อัปเกรดตามไปด้วย

ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

(ผล)ประโยชน์ จาก ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์

การตัดสินใจกลับมายัง Dirtyland ของผมในปี 2561 ทำให้ผบพบว่า ดินแดนสกปรกแห่งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก กติกาก็เปลี่ยนไป ตัวละครหน้าใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้เล่นต่างชาติถูกดึงเข้ามาอยู่ในเกม และที่สำคัญที่สุดคือ ‘ระบบ’ ที่ดูเหมือนจะพยายามสร้างแรงจูงใจให้มีตัวละครใหม่ๆ สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในดินแดนแห่งนี้

เพื่อทบทวนความจำ ผมขอให้คำจำกัดความของคำว่า ‘คัดแยกขยะ’ และ ‘รีไซเคิล’ อีกครั้ง นั่นก็คือ ‘การแยก’ หรือ ‘สกัด’ เพื่อนำสิ่งที่ยังมีคุณค่าออกมาก่อนจะกลายเป็นขยะ สิ่งที่ถูกสกัดออกมาจึงสามารถนำไปขายเพื่อให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก ทำรายได้ให้โรงงาน

แต่ไม่ว่าจะรีไซเคิลอย่างไร ก็จะต้องยังเหลือสิ่งที่เรียกว่า ‘กากสุดท้าย’ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกแล้ว เป็น ‘ของเสียอันตราย’ ที่จะทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ต้องนำไปกำจัดทิ้งเท่านั้น และมี ‘ราคา’ ในการกำจัดที่ค่อนข้างสูง นั่นทำให้เกิดปัญหา ‘การลักลอบทิ้ง’ มาตลอดหลายปีที่อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นในประเทศไทย

E – Waste หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังมี ‘กากสุดท้าย’ เช่นกัน แถมยังมีราคาค่ากำจัด ‘แพงกว่า’ อีกด้วย

ในบทความชิ้นแรก ผมเคยให้ข้อมูลในปี 2556 ไว้ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมคำนวณปริมาณ ‘ของเสียอันตราย’ ที่จะเกิดขึ้นในรอบปีไว้ที่ 3.9 ล้านตัน แต่มีของเสียอันตราย ถูกส่งเข้ามากำจัดในระบบเพียง 1.1 ล้านตัน ที่เหลือสูญหายไป ถูกนำไปลักลอบทิ้งตามสถานที่ต่างๆ โดยมี อ.พนมสารคาม เป็นหนึ่งในแหล่งทิ้งที่สำคัญ

มาถึงปี 2560 ปัญหาเดิมๆ นี้ ก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น ที่ยิ่งน่าเจ็บใจคือ ดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมราว 15,000 แห่งในประเทศไทย ถูกประเมินว่าจะต้องมีของเสียอันตรายเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในรอบปีอยู่ที่ 3 ล้านตัน แต่พบข้อมูลของเสียอันตรายที่ถูกส่งไปถึงโรงงานที่รับกำจัดของเสียอันตรายโดยเฉพาะทั้งหมดเพียง 3 แสนตัน หมายความว่ามีตัวเลขของเสียอันตรายเข้าสู่ระบบน้อยลงจากปี 2556 ถึงกว่า 7 แสนตัน และมีของเสียอันตราย 2.7 ล้านตัน หายไปจากระบบ

นั่นเป็นตัวเลขในภาพรวม

ถ้าเจาะลงไปดูเฉพาะ ‘โรงงานที่ประกอบกิจการคัดแยกหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์’ มีอยู่ทั้งหมด 148 โรงงาน มีข้อมูลการส่ง ‘กากสุดท้าย’ มากำจัดอย่างถูกต้อง รวมแล้วไม่ถึง 800 ตันต่อปี และไม่มีข้อมูลใดบ่งชี้ได้ว่า ‘กากสุดท้ายของขยะอิเล็กทรอนิกส์’ มีปริมาณต่อปีมากน้อยเพียงใดกันแน่ นั่นเป็นเพราะแทบไม่ปรากฏข้อมูลการแจ้งนำกากสุดท้ายของขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกมากำจัดจากโรงงานกลุ่มนี้ แต่ที่แน่ๆ คือมีข้อมูลการ ‘นำเข้า’

ในวงการการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีวิธีคำนวณว่ากากสุดท้ายที่ต้องเหลือจากการคัดแยกหรือรีไซเคิลจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของชิ้นส่วนที่นำเข้ามา หมายความว่าหากโรงงานรีไซเคิลมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำเข้ามา 100 ตัน จะสกัดได้สิ่งที่ยังมีค่าประมาณ 60 ตัน และจะมีเหลือประมาณ 40 ตัน ที่ต้องส่งไปกำจัดในสถานะ ‘ของเสียอันตราย’

กลับไปคำนวณเพียงแค่ 2 โรงงานที่กล่าวถึง โรงงานแรกมีแผงวงจรในบิ๊กแบ็กกองไว้จนแน่นพื้นที่ 100 ไร่ โรงงานที่ 2 มีพื้นที่กว้างขวางกว่า มีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กองอยู่เต็มพื้นที่เช่นกัน และมีใบอนุญาตประกอบกิจการ 15 ใบ นี่แค่ 2 โรงงานเท่านั้น

แต่มีตัวเลข ‘กากสุดท้าย’ ถูกส่งเข้าไปกำจัดตามระบบ 800 ตันต่อปี

ทีมงานของผมในช่วงนั้น ยังไปพบชื่อโรงงานที่ได้รับอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายมาอีก 2 แห่ง ผมจึงอาศัยวิชามารเล็กน้อย เพื่อขอข้อมูลวงในจากแหล่งข่าวในแวดวงนี้ พบว่า   

ที่แรก ‘บริษัท ไวโรกรีน’ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

มีเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน ได้รับอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล (106) เพื่อประกอบกิจการซ่อมแซมดัดแปลงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าใช้แล้ว รีไซเคิลจอมอนิเตอร์แบบแอลซีดี บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และถอดประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องโทรทัศน์ เครื่องโทรศัพท์ เราต์เตอร์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องจักร

ไวโรกรีนแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ขออนุญาตนำเข้า ‘ตัวเก็บประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่ สวิตช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอคดิเวเด็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคทเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเน็ตไบฟีนิล’ ทั้งหมดในปริมาณ 1 หมื่นตัน จากประเทศสิงคโปร์ โดยท้ายเอกสารระบุว่า ได้รับอนุญาตตามอนุสัญญาบาเซล

คำถามแรกจากข้อมูลนี้ ผมเชิญชวนให้ท่านช่วยเปรียบเทียบวัตถุอันตรายที่ขอนำเข้ามา ช่วยกันดูว่ามันสอดคล้องกับใบอนุญาตประกอบกิจการที่มีอยู่หรือไม่ และคำถามต่อมา คือถ้าเป็นไปตามหลักการคำนวณ จากของที่ขอนำเข้าประมาณ 1 หมื่นตัน ต้องเหลือกากสุดท้ายคิดเป็นร้อยละ 40 ที่ประมาณ 4 พันตัน แต่ไม่พบเอกสารการส่งกากของเสียสุดท้ายไปที่ไหนเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังตรวจพบการสำแดงข้อมูลการนำเข้าเป็นเท็จ และไปพบเอกสารว่าโรงงานนี้คือต้นทางที่ส่งต่อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากต่อไปให้โรงงานรีไซเคิลแห่งแรกที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งที่ตามกฎหมาย ผู้ที่ขอนำเข้าวัตถุอันตราย ไม่สามารถส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลอื่นได้ ทำได้เพียงส่งกากสุดท้ายออกไปกำจัดอย่างถูกต้องเท่านั้น

อีกแห่ง ‘บริษัท เจ พี เอส เมทัลกรุ๊ป’ ตั้งอยู่ใจกลาง Dirtyland ที่ ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา (อีกแล้ว)

มีใบอนุญาต 3 ใบ โดย 2 ใน 3 ใบ เป็นใบอนูญาต 105 และ 106 แจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ขอนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวกำเนิดประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่อื่นๆ สวิทช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอคดิเวเด็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคทเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเน็ตไบฟีนิล โดยระบุปริมาณที่ขอ คือ 6 หมื่นตันจากฮ่องกง

เมื่อดูปริมาณการขอนำเข้า 6 หมื่นตัน จะต้องเหลือกากสุดท้ายส่งไปกำจัดร้อยละ 40 คือ ประมาณ 2.4 หมื่นตัน แต่ก็ไม่พบการแจ้งส่งออกไปเช่นเดียวกัน

ถ้าโรงงานที่ถูกเปิดโปงว่ากระทำความผิด เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของขบวนการใหญ่ คงวิเคราะห์ต่อกันได้ไม่ยากว่า ‘ใครบ้าง’ ที่ได้ประโยชน์จากความสูญเสียต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ จากสิ่งที่ประเทศไทยเป็นผู้ตัดสินใจเปิดรับการลงทุนนี้

ใช้เวทมนตร์?

นำเข้า ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ หลีกเลี่ยง ‘อนุสัญญาบาเซล

ทุกดินแดนย่อมมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้นในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ดินแดนที่อ่อนแอกว่าถูกรังแกจากดินแดนที่แข็งแรงกว่า จึงมีกติกาที่ถูกสร้างขึ้นมาร่วมกันเพื่อป้องกันการรังแก

ในโลกของวงการกำจัดของเสียอันตรายก็เช่นกัน ในเมื่อมนุษย์ต่างพึ่งพาเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ถูกพัฒนาก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเก่าที่ตกยุค กลายเป็น ‘ขยะ’ อย่างรวดเร็ว และที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือมันกลายเป็น ‘ขยะอันตราย’ ที่ไม่มีใครต้องการเป็นเจ้าของ

‘อนุสัญญาบาเซล เพื่อห้ามย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน’ เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้  มีหลักการคือหากจะเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายเข้าประเทศใด ต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศปลายทางก่อน โดยประเทศปลายทางก็ต้องดูศักยภาพการกำจัดภายในประเทศด้วย นั่นคือกติกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาถูกกลั่นแกล้งจากประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการนำของเสียอันตรายมาทิ้ง

ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาบาเซล ดังนั้นแม้เราจะเปิดบ้านอ้าแขนต้อนรับกลุ่มทุนจากวงการขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศให้เข้ามาเช่าที่ดิน ตั้งโรงงาน เปิดกิจการรีไซเคิลชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทย แต่การนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องเป็นไปตามอนุสัญญาบาเซล

แต่จากเรื่องจริงที่เราสัมผัสมา นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นใน Dirtyland แน่ๆ

ในระหว่างที่กำลังปวดหัวกับเรื่องนี้อย่างหนักและกำลังต้องการค้นหาคำตอบว่า ขบวนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีวิธีการอย่างไร จึงนำเข้ามาได้ในปริมาณมหาศาล ทั้งที่ข้อมูลในระบบมีปริมาณไม่มาก เพราะนั่นคือสิ่งที่สอดรับกับแรงจูงใจที่เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติในธุรกิจนี้ เข้ามาตั้งโรงงานในไทยจำนวนมาก

หรือจะใช้เวทมนตร์คาถา

ผมได้ข้อความจากผู้หวังดีแนะนำให้รู้จักกับชายคนหนึ่ง คุณประเสริฐ ตปนียางกูร ประธานอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ของประเทศไทย

เมื่อได้พบกัน เขาเตรียมตัวเลขการอนุญาตนำเข้าเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการในปี 2557-2559 มาให้ผมดู นี่เป็นข้อมูลทางการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม แจ้งไว้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวเลขที่ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องประหลาดใจ

ปี 2557 ไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 907 ตัน

ปี 2558 นำเข้า 1626 ตัน

และในปี 2559 นำเข้า 1003 ตัน

ผมเข้าใจดีว่า นั่นเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้น ก่อนที่ไทยจะออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเลิกผังเมืองรวม ก่อนที่จีนจะประกาศไม่ต้อนรับขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไป และเป็นตัวเลขก่อนที่โรงงานที่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติจะแห่กันมาเปิดกิจการในไทย แต่มันก็เป็นตัวเลขที่ต่ำมากอยู่ดี

และคุณประเสริฐก็มั่นใจว่าการอนุญาตนำเข้าที่แจ้งไว้ น้อยกว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำเข้ามาจริง และวิธีการที่ขบวนการนี้ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามของอนุสัญญาบาเซล ก็ไม่ใช่เวทมนตร์คาถาอะไร เพราะทำได้ง่ายกว่าด้วยการ ‘เปลี่ยนคำ’ เพื่อเลี่ยงข้อห้ามตามอนุสัญญาบาเซล ที่ห้ามนำสิ่งที่เป็น ‘ของเสีย’ เข้ามา

ก็แค่เรียกสิ่งที่ถูกนำเข้ามาด้วยคำใหม่ ที่ไม่ใช่คำว่า ‘ของเสีย’

คุณประเสริฐบอกผมว่า สิ่งที่รัฐควรไปตรวจสอบดูคือการขออนุญาตนำเข้าสินค้ากลุ่ม ‘เครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง’ ซึ่งสามารถอ้างได้ว่า ‘ไม่ใช่ขยะ’ เพราะเป็นของที่ยังใช้ได้ จึงไม่เข้าข่ายเป็น ‘ของเสีย’ ที่กำหนดไว้ตามอนุสัญญาบาเซล แต่เชื่อได้ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนหนึ่งถูกแฝงนำเข้ามาด้วยรูปแบบนี้ อาจจะมีทั้งการแอบปะปนมา หรืออาจจะใช้วิธีการสำแดงเท็จไปเลย

คุณสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย มีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยมองว่า ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การให้ ‘คำนิยาม’ ด้วยการแจ้งว่าสิ่งที่นำเข้ามาคือ ‘ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์’  หรือ ‘สินค้ามือ 2’ ซึ่งยังสามารถซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แทนคำว่า ‘ขยะ’ ดังนั้นเมื่อไม่ใช่ ‘ของเสีย’ จึงไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามอนุสัญญาบาเซล โรงงานที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นโรงงานรีไซเคิล (106) ก็อาศัยใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานเป็นเอกสารแจ้งขอนำเข้าได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับไวโรกรีน

การตรวจสอบครั้งใหญ่ในปี 2561 นอกจากจะเปิดตู้คอนเทนเนอร์พบรูปแบบการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตรงตามสมมติฐานของนักวิชาการทั้ง 2 ท่านแล้ว ก็ยังพบรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น แฝงมากับตู้เกม แฝงมากับการนำเข้าพลาสติก ผ่านโรงงานที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการหล่อหลอมพลาสติก (มูลนิธิบูรณะนิเวศมีข้อมูลว่าโรงงานลำดับที่ 53 หล่อหลอมพลาสติก เพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงปี 2560 เช่นกัน โดยเฉพาะที่ จ.สมุทรสาคร มีใบอนุญาตถูกออกให้ใหม่ถึง 97 ใบในปีเดียว และเมื่อดูตัวเลขใน จ.สมุทรสาคร กับ จ.สมุทรปราการ มีโรงงานประเภทนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม โดยมีจุดที่น่าสนใจคือ โรงงานลำดับที่ 53 สามารถให้อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตได้เลย ไม่ต้องขอกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม) และนั่นทำให้ประเทศไทยออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเด็ดขาดให้เป็นไปตามอนุสัญญาบาเซล ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และเข้มงวดมากขึ้นกับการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจแฝงขยะเข้ามาด้วย

ปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2564) มีข้อมูลว่ากลุ่มผู้ประกอบการชาวต่างชาติ โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เคยถูกตรวจสอบและที่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าว ยังคงประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทย โรงงานบางแห่งเพียงเปลี่ยนชื่อไปเท่านั้น ถุงบิ๊กแบ็กของกลางในโรงงานที่ถูกอายัดไว้หลายพันตันหายสาบสูญ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาจเปลี่ยนเป็นการใช้คำว่า ‘โลหะ’ แทน

ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

มรดกสู่ลูกหลานบนแผ่นดินไทย ‘ซากของเสียอันตรายในดิน น้ำ อากาศ

ที่ผมยกตัวอย่างเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อจะตั้งคำถามใหญ่ๆ กลับไปยังผู้กำหนดนโยบายว่า การสร้างกลไกอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่ออ้าแขนต้อนรับให้กลุ่มทุน ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ’ มาเปิดโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลในประเทศไทย เป็นนโยบายที่คุ้มค่าหรือไม่

ในเมื่อข้อมูลต่างๆ ถูกเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน ตั้งแต่การออกคำสั่งยกเลิกผังเมือง จำนวนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นดอกเห็ด แม้ว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะดำเนินกิจการอย่างแท้จริง สกัดเอาสิ่งที่มียังมีค่าออกมาจากซากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้จริง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ไม่เข้าสู่กระบวนการและกากสุดท้ายที่ผ่านการสกัดแล้ว ต่างก็ถูกวางทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่กลางแจ้ง มีรูปแบบการนำเข้าด้วยการสำแดงเท็จ แทบไม่มีข้อมูลการส่งกากของเสียอันตรายที่เหลือหลังจากหาผลประโยชน์แล้วออกไปกำจัด

คำถามที่ผู้ควบคุมกติกาทุกระดับต้องตอบก็คือ

ผลประโยชน์จากสิ่งที่ยังมีค่า ซึ่งถูกสกัดผ่านกระบวนการรีไซเคิลออกมา เป็นของใคร

ผลกระทบจากการปนเปื้อน ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลเหลือทิ้งไว้ เป็นของใคร

เมื่อเศษซากเทคโนโลยีที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอันตรายซึ่งเราไม่อาจคำนวณปริมาณของมันได้ กำลังถูกทิ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ ถูกทิ้งให้เป็นมรดกไว้สำหรับลูกหลานของเราต้องใช้เป็นทรัพยากรในการดำรงชีวิต

หรือจะต้องอยู่กับ Dirtyland กันไปอีกนานแสนนาน


ใครก็ตามที่ติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจังในปี 2561 คงจะเสียดายไม่น้อย ที่กระบวนการตรวจสอบเปิดโปงอย่างเข้มข้นต้องยุติลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นที่ถ้าหลวง ขุนน้ำนางนอน จนดึงความสนใจของคนทั้งโลกไปที่เหตุการณ์นั้นจนหมด และแม้จะจบเรื่องการช่วยเหลือที่ถ้ำหลวงไปแล้ว การตรวจสอบกลุ่มโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย

บทความชุด Alice in Dirtyland ยังมีอีกหนึ่งชิ้น ในบทความชิ้นสุดท้าย เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2563 – 2564 ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งผมถือว่าเป็นการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน และในแง่กระบวนการตรวจสอบลงโทษผู้กระทำความผิด จนทำให้เห็นได้ว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยอ่อนแอขนาดไหน

ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ และงานเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save