fbpx
อดีตของมาบตาพุดคืออนาคตของจะนะ

อดีตของมาบตาพุดคืออนาคตของจะนะ

พลันเมื่อฝ่ายรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมชาวบ้านที่มาทวงสัญญานิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านก็กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ในปี 2559 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมอบอำนาจให้ศูนย์อำนาวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ อันเป็นต้นกำเนิดของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ตามบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลของอำเภอจะนะ จำนวน 16,753 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมหนักและผลิตไฟฟ้า 

เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในอดีตที่ผ่านมา โครงการนี้ไม่ได้มีการลงไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนว่าคิดเห็นอย่างไร แต่ใช้อำนาจจากส่วนกลางสั่งการลงมา

เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปเดินเลียบริมทะเลในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้านหน้าเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บนพื้นที่ที่ยื่นออกไปจากการถมทะเล ทำให้หาดทรายชื่อดังแถวนั้นหายไปจนหมด ผู้เขียนได้สนทนากับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่ง แกบอกตามตรงว่า

“หากเลือกได้ผมคงจะลาออกกลับไปอยู่บ้านแถวภาคอีสาน ผมต้องเดินอยู่ข้างนอกทุกวัน ไม่ได้อยู่ในอาคารติดแอร์ ทนกลิ่นเหม็นไม่ค่อยไหว บางคืนดึกๆ พรรคพวกก็แอบปล่อยน้ำเสียลงทะเล…วันก่อนโรงงานแห่งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตอนเดินเครื่อง เสียงดังลั่น นึกว่าเครื่องจะระเบิดแล้ว….เพื่อนผมคนหนึ่งป่วยเป็นโรคเม็ดเลือดแตกง่าย คนแถวบ้านก็เป็นโรคนี้กันมาก ทุกวันนี้เครียดเพราะกลัวเป็นมะเร็งเหมือนคนอื่นๆ”

บางทีบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศแถวชายฝั่งทะเลตะวันออก อาจจะพอบอกอนาคตของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน รัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ กำหนดให้พื้นที่สามจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกคือจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นศูนย์กลางความเจริญและแหล่งที่ตั้งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ผลก็คือเกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออิสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ

สาเหตุที่เลือกชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเพราะใกล้กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีการต่อท่อนำมาขึ้นฝั่งบริเวณตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง

มาบตาพุดเริ่มเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตอนนั้นเคยมีนักวิชาการออกมาเตือนรัฐบาลว่า แม้โครงการนี้จะสร้างงานและความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างรุนแรง หากไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างจริง

รัฐบาลได้วางแผนให้พื้นที่บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี

แต่ตอนนั้นการตัดสินใจของรัฐบาล ไม่ได้ลงไปพูดคุยหรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านหรือชุมชนในท้องถิ่น แม้ว่าในอดีตชาวบ้านจะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวของประชากรในปัจจุบัน

รัฐบาลพูดแต่ด้านดีของการพัฒนาว่าจะมีท่าเรือน้ำลึก มีโรงงาน ทุกคนจะมีรายได้ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ดึงดูดให้มาบตาพุดที่เคยเป็นชุมชนเล็กๆ กลายเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น มีผู้คนอพยพเข้ามาทำงานมากขึ้น

ในเวลานั้นระยองมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 2,151 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี

การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ที่บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำรายงาน ก็เป็นเพียงเครื่องมือฟอกโรงงานให้ดูขาวสะอาด มีการอ้างว่าการปล่อยมลพิษได้ทำตามมาตรฐานสากล

สิบกว่าปีผ่านไป พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 20,000 ไร่ สร้างให้คนมีงานทำหลายแสนคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างผลกำไรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรก้าวกระโดดกันถ้วนหน้า กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในประเทศ

เช่นเดียวกับชาวเมืองมาบตาพุดมีรายได้ดีกว่าผู้คนในละแวกนั้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะเดียวกันชาวมาบตาพุดก็มีรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น โรงพยาบาลมาบตาพุดที่เคยเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 150 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคทางลมหายใจและผู้ป่วยมะเร็ง

ภาพเด็กนักเรียนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะสูดดมควันพิษจนสุดท้ายต้องย้ายโรงเรียนหนีออกไป ยังอยู่ในความทรงจำของหลายคน

ใครที่เคยย่างกรายเข้าไปแถบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เห็นปล่องควันโผล่ขึ้นมากมาย ก็คงทราบดีว่าสภาพอากาศที่นั่นเหมาะกับการสูดดมเข้าไปหรือไม่ ไม่ต่างจากน้ำทะเลบริเวณนั้นที่เป็นสีน้ำตาลอ่อนตลอดทั้งปี เป็นสิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ 

แม้ว่าบรรดาผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมหาศาลจะประสานเสียงกันว่าได้ทำตามมาตรฐานสากล ติดอุปกรณ์อันทันสมัยเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมก็ตาม แต่ความจริงก็คือมีคนป่วยและล้มตายลงเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ

เมื่อราวต้นปี 2550 มีข่าวเล็กๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์รายงานว่า ผลการศึกษาสถานการณ์อุบัติใหม่ของโรคมะเร็งในปี 2544-2546 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า คนระยองป่วยเป็นโรคมะเร็งมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะมะเร็งในปอด งานวิจัยของหน่วยงานรัฐหลายแห่งชี้ตรงกันว่า อัตราการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของคนระยองสูงกว่าคนจังหวัดอื่นถึงสองเท่า แต่ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า โรคร้ายเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับปัญหามลภาวะในมาบตาพุดเพียงใด

ขณะเดียวกันคนระยองยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศ และมีอัตราของเด็กแรกเกิดมีร่างกายผิดปกติสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบสิบปีที่ผ่านมา

หากเป็นคนนอกวิเคราะห์หาสาเหตุ ก็คงนึกว่าสาเหตุของโรคมะเร็งในปอดน่าจะเป็นเพราะคนระยองสูบบุหรี่จัด หรืออาจเป็นสาเหตุจากควันพิษในอากาศทั่วไป

แต่หากถามคนระยองที่อยู่ในพื้นที่มานาน คำตอบที่ได้รับก็คือคนระยองเจ็บป่วยมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะโรคมะเร็งอย่างเดียว โดยเฉพาะคนที่ทำงานและชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ นิคมอุตสาหกรรมกรมควบคุมมลพิษเคยทำการสำรวจคุณภาพอากาศรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พบสารอินทรีย์ระเหยซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 20 ชนิด เกือบทั้งหมดมีค่าเกินกว่าระดับมาตรฐานของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา

กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าในตำบลมาบตาพุดพบผู้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 88 เป็นโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นร้อยละ 57  

ครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ถูกหามส่งโรงพยาบาลนับร้อยๆ คน เพราะทนสูดกลิ่นเหม็นจากโรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนไม่ไหว สุดท้ายก็ยอมแพ้ด้วยการย้ายโรงเรียนหนี ขณะที่ชาวบ้านรอบๆ โรงเรียนต้องยอมทนกลิ่นเหม็น จนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันถ้วนหน้า เพราะไม่สามารถย้ายบ้านได้

สิ่งเหล่านี้คือเหตุการณ์ในอดีตเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่สะท้อนสภาพชีวิตของผู้คนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ก็พอจะสะท้อนให้เห็นได้ด้วยว่า เมื่ออุตสาหกรรมมาเยือนคนในชุมชนอำเภอจะนะที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก พวกเขาจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง โดยเฉพาะด้านสุขภาพ

น่าแปลกใจตรงที่รัฐบาลพยายามสอนให้ชาวบ้านใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านจะนะมานานแล้ว แต่รัฐบาลกลับจะเอาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาลง และรู้ทั้งรู้ว่าคนได้ผลประโยชน์เต็มๆ คือบรรดานายทุน นักการเมือง นายหน้าขายที่ดิน ขณะที่อาชีพของชาวบ้านจะค่อยๆ หายสาบสูญไป

ติดตามกันต่อไปว่า บทเรียนในอดีตของมาบตาพุดจะกลายเป็นอนาคตของจะนะหรือไม่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save