fbpx

สีจิ้นผิง จักรพรรดิจีนกับการเดิมพันอำนาจ

เวลาคนจีนคิดเปรียบเทียบอะไร มักคิดเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์จีนโบราณ ดังเช่นที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ จีน และยุโรปในวันนี้มักถูกเทียบเคียงกับยุคสามก๊ก หรืออย่างการค้าของจีนวันนี้ก็มักถูกเทียบเคียงกับเส้นทางสายไหมในยุคราชวงศ์ถังและราชวงศ์หมิง

เช่นเดียวกัน การรวบอำนาจของสีจิ้นผิงส่งผลให้เขาเป็นเสมือนจักรพรรดิจีนในยุคสมัยใหม่ คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าจะเทียบเคียงสีจิ้นผิงกับจักรพรรดิจีนในประวัติศาสตร์ น่าจะเทียบได้กับใคร

ความโดดเด่นของสีจิ้นผิงที่ชัดเจนมีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือ เขาเป็นผู้นำที่ใช้ไม้แข็ง หรือเป็นคน ‘แข็ง’ แตกต่างจากผู้นำที่ ‘อ่อน’ หรือที่ปกครองแบบกระจายอำนาจ หลายคนเปรียบเทียบว่าในช่วงผู้นำจีนคนก่อนหน้าคือหูจิ่นเทาเป็นยุคที่ปกครองแบบ ‘อ่อน’ บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างผ่อนคลายและเสรี แต่บัดนี้ลูกตุ้มนาฬิกาได้หมุนมาทิศทางตรงข้ามคือ การปกครองแบบไม้แข็งอีกครั้ง

ข้อสองคือ สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีความคิดริเริ่มและนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แตกต่างจากผู้นำแบบรับช่วงสืบต่อแนวทางมาจากรุ่นก่อนหรือแบบทำงานวันต่อวันไปเรื่อยๆ ยุคของผู้นำก่อนหน้าคือหูจิ่นเทาเป็นการรับช่วงสืบต่อแนวทางมาจากเติ้งเสี่ยวผิง แต่สีจิ้นผิงขีดเส้นชัดเจนว่าบัดนี้ได้เข้าสู่ยุคใหม่แล้ว และเขาจะไม่บริหารแบบที่เคยเป็นมา สีจิ้นผิงปฏิรูปการเมืองจีนจริงจัง เพียงแต่เป็นการปฏิรูปที่ตรงข้ามกับที่ตะวันตกคาดหวัง คือแทนที่จะเสรีนิยมมากขึ้น กับเน้นสร้างระบบที่เป็นเอกลักษณ์แบบจีนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ถ้าจะเทียบสีจิ้นผิงกับจักรพรรดิของจีนโบราณ ก็ต้องเลือกจักรพรรดิที่ ‘แข็ง’ และที่เป็นนักปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ชอบทำอะไรแตกต่างฉีกแนวจากรุ่นก่อน

เมื่อมองจากสองปัจจัยนี้ ก็มีตัวเลือก 4 ยุคให้เทียบเคียง ซึ่งก็เคยมีคนเทียบเคียงสีจิ้นผิงกับทั้ง 4 ยุคนี้มาแล้วหลายครั้ง ที่น่าคิดคือ สองยุคแรกเป็นยุคมืด สองยุคหลังเป็นยุคทอง

หนึ่ง คือ ยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเป็นจักรพรรดิจีนที่รวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นและกรุยทางให้จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ ใช้สกุลเงินและตัวอักษรเดียวกันทั้งประเทศ จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นจักรพรรดิที่ ‘แข็ง’ และสร้างระบบใหม่ที่วางรากฐานการปกครองของจีนต่อมาอีกหลายพันปี แต่ทุกคนก็ทราบดีถึงความโหดร้ายของการปกครองในยุคนั้น

ความละม้ายคล้ายคลึงระหว่างสีจิ้นผิงกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ก็เช่นการให้ความสำคัญกับความเป็นปึกแผ่นและเป็นเอกภาพของชาติจีน สีจิ้นผิงนั้นใช้ไม้แข็งยิ่งกว่าผู้นำที่ผ่านมาในการกำราบซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน โดยเฉพาะไต้หวันนั้น สีจิ้นผิงเป็นผู้นำจีนยุคใหม่คนแรกที่ขีดเส้นเดดไลน์ของการรวมชาติว่าต้องเกิดขึ้นก่อนปี ค.ศ. 2049 ซึ่งจะเป็นปีฉลอง 100 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นปีที่จีนวาดฝันจะฟื้นคืนความรุ่งเรืองของประชาชาติจีน (National Rejuvenation) สีจิ้นผิงมองว่า การรวมชาติเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นคืนความรุ่งเรืองของประชาชาติจีน เล่นเอาที่ผ่านมา หลายคนหนาวๆ ร้อนๆ ว่าสงครามใหญ่คืบคลานใกล้เข้ามาทุกที

สีจิ้นผิงยังคล้ายๆ จิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ปิดกั้นความเห็นต่างในสังคม และต้องการให้สังคมจีนเกิดเอกภาพทางความคิด แตกต่างจากยุคก่อนหน้าที่ค่อนข้างผ่อนคลายและเปิดกว้างมากกว่านี้ จิ๋นซีฮ่องเต้มีชื่อเสียงในการเผาตำราสำนักคิดที่เห็นต่าง รัฐบาลจีนยุคสีจิ้นผิงก็มีแนวทางในการควบคุมและจัดการความเห็นต่างอย่างเคร่งครัด

สอง คือ ยุคของสุยหยางตี้แห่งราชวงศ์สุย จักรพรรดิที่มีสีสันมากในประวัติศาสตร์จีน เพราะเป็นทั้งจักรพรรดิที่ ‘แข็ง’ และเป็นนักปฏิรูป แต่ลงท้ายกลับได้ชื่อเป็นทรราชย์

สุยหยางตี้เป็น ‘จอมโปรเจ็กต์’ ที่วางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานมหึมามากมาย เช่น การสร้างคลองเชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้สำหรับการขนส่งสินค้า ซึ่งอาจนับเป็นเมกาโปรเจคที่ใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์โลกสมัยนั้น การซ่อมกำแพงเมืองจีน การขยายอาณาเขต ทั้งหมดนี้สูญเสียทั้งเงินและชีวิตประชาชนมหาศาล จนสุดท้ายราชวงศ์สุยท้องพระคลังถังแตกและเกิดกบฏ จนราชวงศ์ล่มสลายในปลายรัชสมัย      

กลุ่มผู้ต่อต้านสีจิ้นผิงไม่มีใครปฏิเสธว่าสีจิ้นผิงเป็นจอมโปรเจ็กต์ ตั้งแต่จะให้จีนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงการบุกเบิกห้วงอวกาศ แต่ผู้วิจารณ์มักชี้ว่าแต่ละโครงการยักษ์ของสีจิ้นผิงนั้นผลาญงบประมาณมหาศาล การขยายอิทธิพลของจีนชนิดอึกทึกครึกโครมของสีจิ้นผิงส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านจีนทั่วโลก เล่นเอากลายเป็นความเสี่ยงของพรรคคอมมิวนิสต์ เสมือนว่าสีจิ้นผิงกำลังเล่นกับไฟแบบสุยหยางตี้

สาม คือ ยุคของจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง ช่วงนี้ก็มีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ เพราะราชวงศ์หมิงเริ่มด้วยจักรพรรดิจูหยวนจาง ซึ่งเป็นจักรพรรดิที่ ‘แข็ง’ ตามมาด้วยการปกครองของหลานชาย ซึ่งเป็นจักรพรรดิที่ ‘อ่อน’ ก่อนจะถูกอาคือหย่งเล่อปฏิวัติยึดอำนาจและกลับมาปกครองแบบ ‘แข็ง’ อีกครั้ง พอสิ้นสมัยหย่งเล่อ ก็กลับไปปกครองแบบ ‘อ่อน’ อีก

นักประวัติศาสตร์ต่างทราบดีว่าระดับความโหดเหี้ยมของหย่งเล่อไม่แพ้จิ๋นซีฮ่องเต้หรือสุยหยางตี้ ต่างกันตรงที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ายุคของหย่งเล่อเป็นยุคทอง ซึ่งราชวงศ์หมิงเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด

หย่งเล่อส่งขันทีเจิ้งเหอออกเรือบุกเบิกเส้นทางสายไหมทางทะเลเชื่อมเข้ากับอาเซียน หลายคนมองว่าก็คล้ายกับแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือเส้นทางสายไหมใหม่ของสีจิ้นผิง หย่งเล่อยังสร้างมหานครปักกิ่งขึ้นมาจากศูนย์ และย้ายเมืองหลวงจากนานกิงขึ้นมาปักกิ่ง สีจิ้นเองก็มีแผนการใหญ่จะสร้างเมืองใหม่สงอันที่เป็นสมาร์ตซิตีสมบูรณ์แบบของศตวรรษที่ 21

สุดท้าย คือ ยุคของจักรพรรดิยงเจิ้งในราชวงศ์ชิง ยงเจิ้งหรือองค์ชายสี่ได้บัลลังก์มาจากการแข่งขันกับพี่น้องอย่างดุเดือด พอได้บัลลังก์มาก็เดินหน้ารวบอำนาจ พร้อมปฏิรูประบบภาษี การคลัง ปราบคอร์รัปชัน ปฏิรูประบบราชการซึ่งก็เป็นไปในรูปแบบรวมศูนย์อำนาจ นับว่าเป็นจักรพรรดินักปฏิรูปที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีน

สีจิ้นผิงเองก็ขึ้นมาได้โดยผ่านการต่อสู้ทางการเมือง หลายคนคาดหมายว่าเขาจะเป็นผู้นำที่มีอำนาจน้อยที่สุด แต่กลายเป็นว่าเขามีอำนาจมากที่สุดจากการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งมีผลรวบอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการปราบคอร์รัปชัน การปฏิรูปหนี้ของรัฐวิสาหกิจ หรือการปราบการผูกขาดในภาคเอกชน

ในมติประวัติศาสตร์ทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน สีจิ้นผิงอธิบายความสำเร็จของตนในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาว่า ได้แก้ปัญหาที่พรรคควรแก้มานาน แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ได้ทำเรื่องที่ควรทำมานาน แต่พรรคไม่ได้ทำ พูดง่ายๆ คือ เขาให้เหตุผลว่าที่พรรคต้องให้อำนาจเขาแบบเบ็ดเสร็จ และต้องให้เขาอยู่ต่อ เพราะเขาเป็นคน ‘แข็ง’ พอที่สามารถทำเรื่องยากเรื่องใหญ่ได้

สีจิ้นผิงยังพิเศษตรงที่เขามีความเชื่อมั่นในระบบของจีนอย่างแท้จริง เขามักพูดว่าระบบจีนทำให้สามารถรวมสรรพกำลัง ‘ทำการใหญ่’ ได้ (นึกถึงเรื่องโควิดหรือนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาล) ผู้นำคนก่อนๆ อาจไม่ได้เชื่อมั่นในระบบของจีนเองขนาดนี้ มักคิดกันว่าเป็นเพียงระบบในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ในระยะยาวจีนน่าจะเปลี่ยนหรือเหมือนตะวันตกและสากลมากขึ้น แต่สีจิ้นผิงเชื่อจริงๆ ว่าระบบแบบจีนมีจุดแข็ง จึงกลายเป็นว่าเขาต้องการเสริมการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ให้ ‘แข็ง’ ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

หลายคนมองว่า สีจิ้นผิงต้องการหลีกเลี่ยงไม่เป็นอย่างกอร์บาชอฟของสหภาพโซเวียต การปฏิรูปแบบตะวันตกของกอร์บาชอฟในตอนนั้นนำมาสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์และของสหภาพโซเวียต สีจิ้นผิงจึงเลือกทางเดินที่ตรงข้ามกับกอร์บาชอฟ ในขณะที่กอร์บาชอฟผ่อนคลายทางการเมือง สีจิ้นผิงกลับมาใช้ไม้แข็งเดินหน้ารวมศูนย์อำนาจ และเน้นที่เสถียรภาพทางการเมืองและการนำของพรรคเหนือสิ่งอื่นใด

แต่แท้จริงแล้ว บททดสอบที่สำคัญกว่าของสีจิ้นผิง น่าจะอยู่ที่เขาหลีกเลี่ยงไม่จบอย่างจิ๋นซีฮ่องเต้หรือสุยหยางตี้ได้หรือไม่ มีคำถามเยอะมากเกี่ยวกับจุดจบและภาคต่อหลังสีจิ้นผิง หากประวัติศาสตร์จะสอนอะไรเราได้บ้าง เราลองมาดูจุดจบและภาคต่อของจักรพรรดิทั้งสี่องค์ที่เราได้เทียบเคียง

จิ๋นซีฮ่องเต้นั้น จบลงด้วยการสิ้นสุดของราชวงศ์ฉิน และความเจริญรุ่งเรืองต่อมาของราชวงศ์ฮั่น ส่วนสุยหยางตี้ จบลงด้วยการสิ้นสุดของราชวงศ์สุย และความเจริญรุ่งเรืองต่อมาของราชวงศ์ถัง หลายคนมองว่าจิ๋นซีฮ่องเต้กับสุยหยางตี้ ‘แข็ง’ เกินจนคนเดือดดาลทั้งแผ่นดิน แต่เมกาโปรเจ็กต์ของทั้งสองก็เป็นรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองในราชวงศ์ต่อมา

มีนักวิเคราะห์ฝรั่งและฝั่งไต้หวันที่ฝัน (หวาน) ในแง่นี้ว่า สุดท้ายหากสีจิ้นผิงผลักจีนไปในทิศทางซ้ายที่สุดขั้ว ก็เท่ากับสีจิ้นเองจะเป็นตัวเร่งการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเร่งการเปลี่ยนจีนสู่ประชาธิปไตย โดยจีนจะเข้าสู่ยุคทองภายหลังเปลี่ยนระบบการปกครอง (เช่นคำทำนายในหนังสือ China Coup: The Great Leap to Freedom ของ Roger Garside ที่เพิ่งพิมพ์ออกมาในปีนี้)

แตกต่างจากจิ๋นซีฮ่องเต้และสุยหยางตี้ เมื่อสิ้นสุดยุคจักรพรรดิหย่งเล่อ ก็ตามมาด้วย ‘ยุคทอง 10 ปี’ อันมีชื่อเสียงของราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นช่วงของการผ่อนคลายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และเสรีภาพภายใต้ลูกและหลานของหย่งเล่อ โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนราชวงศ์

เมื่อสิ้นสุดยุคจักรพรรดิยงเจิ้ง ก็ตามมาด้วยยุคทองของจักรพรรดิเฉียนหลง ซึ่งการปกครองก็ยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจไม่แตกต่างจากพระราชบิดานัก

ดังนั้น จุดจบและภาคต่อของสีจิ้นผิงจึงอยู่ที่เขาสามารถรักษาสมดุลการใช้อำนาจ และสร้างผลงานจากการรวบอำนาจของเขาได้มากน้อยเพียงใด ความชอบธรรมย่อมอยู่ที่ผลงาน เดิมพันของสีจิ้นผิงยิ่งวันยิ่งสูง เพราะหากเขาทำพัง อาจเร่งเครื่องการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ และนำไปสู่การเปลี่ยนระบบการปกครอง ในทำนองเดียวกับการเปลี่ยนราชวงศ์ในสมัยหลังจิ๋นซีฮ่องเต้และสุยหยางตี้

แต่หากเขาสามารถรักษาสมดุลการใช้อำนาจ และปฏิรูปได้ออกดอกผลทันท่วงที ก็อาจเป็นผู้นำนักปฏิรูปที่วางรากฐานของยุคทองต่อไป โดยยุคสมัยต่อไปอาจเป็นยุคทองที่กลับมาเสรีนิยมมากขึ้น สลับไม้แข็งกลับมาเป็นไม้อ่อน เช่นยุคผ่อนคลายของราชวงศ์หมิงหลังยุคหย่งเล่อ หรืออาจเป็นการปกครองแนวทางสีจิ้นผิงสืบต่อไปแบบที่เกิดในราชวงศ์ชิงหลังยุคยงเจิ้ง

มีคำของปราชญ์จีนโบราณบอกว่า เส้นแบ่งระหว่างทรราชย์และมหาราชนั้นบางทีก็เป็นเส้นบางๆ นิดเดียว น่าติดตามว่าสีจิ้นผิงจะตกอยู่ฝั่งใดของประวัติศาสตร์จีน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save