fbpx

“ผมอยากภูมิใจกับอาชีพทหาร” : ‘เหล่าทัพราษฎร’ กับประกายแนวคิดปฏิรูปกองทัพจากภายใน

ในวัยเยาว์ เด็กหลายคนเคยตอบว่าอาชีพในฝันคือ ‘ทหาร’ ด้วยทัศนคติว่าทหารคือผู้ปกป้องชาติ ขณะที่ภาพในปัจจุบันเรามีทหารเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากยึดอำนาจ เรามีกองทัพที่ทำปฏิบัติการด้านข่าวสารโจมตีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เรามีนายทหารยศสูงนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจและเป็นที่ปรึกษาบริษัทใหญ่ๆ และเรายังคงต้องหวาดกลัวอยู่เสมอว่าผู้นำกองทัพจะทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน

นับแต่การรัฐประหาร 2557 สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหารและเริ่มเห็นบทบาทอันหลากหลายของกองทัพ ทั้งภารกิจที่เป็นหน้าที่และภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่

หลายบทบาทของกองทัพเข้ามาล่วงล้ำพื้นที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมการให้เหตุผลว่าทำเพื่อความมั่นคงและความสงบสุขของชาติ จนทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วกองทัพกำลังทำหน้าที่ปกป้องอะไร?

อาจตอบได้ลำบากว่าทหารยังเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อยที่วาดภาพการทำหน้าที่ทหารในอุดมคติ แล้วต้องเจอกับภาพจริงที่ว่าทหารเป็นผู้ล้มล้างการปกครองและปฏิบัติกับประชาชนดั่งศัตรู

ความมุ่งหมายที่จะให้เกิดการปฏิรูปกองทัพ เพื่อเอาทหารออกจากการเมืองและทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคประชาชน แต่คนจำนวนหนึ่งในกองทัพเองก็มีความต้องการจะเห็นกองทัพพัฒนาขึ้น ต้องการภูมิใจในอาชีพที่พวกเขารัก ต้องการลงแรงไปกับภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ

ความคิดเช่นนี้รวมตัวกันผ่านกลุ่มไลน์ ‘ก้าวใหม่เตรียมทหาร’ อันเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างทหารและตำรวจรุ่นใหม่จำนวนมาก และสะท้อนออกมาผ่านเพจ ‘เหล่าทัพราษฎร’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักเรียนและนายตำรวจทหารทุกเหล่าทัพ ซึ่งมองเห็นปัญหาจากภายในและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

101 พูดคุยกับสามแอดมินเพจเหล่าทัพราษฎร คือ เรืออากาศโทธนเดช เพ็งสุข อดีตทหารที่ลาออกจากราชการมาลงสนามการเมือง ชยพล สท้อนดี ผู้เติบโตมาในครอบครัวทหารและเรียนจบจากโรงเรียนเตรียมทหาร แต่เลือกที่จะไม่อยู่ในเส้นทางอาชีพทหารต่อไป และ เอ (นามสมมติ) ทหารในกองทัพบกที่ยังรับราชการอยู่ ถึงจุดเริ่มต้นในการออกมาส่งเสียงให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงของการพยายามรื้อปัญหาใต้พรม


เริ่มต้นทำเพจกันได้อย่างไรและจุดประสงค์คืออะไร

ธนเดช : พวกเราพูดคุยกันเรื่องปัญหาในกองทัพจนคิดว่ากองทัพจะเป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ เราอยากส่งต่อกองทัพที่เป็นกองทัพเพื่อประชาชนจริงๆ ให้แก่รุ่นน้องของเราที่กำลังเรียนเตรียมทหารหรือโรงเรียนนายร้อย

สำหรับผมลาออกจากกองทัพมาแล้วก็คิดว่าจะทำงานการเมืองเพื่อหวังผลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ถ้าลาออกมาแล้วไม่ทำอะไรเลย ความตั้งใจในการลาออกจากราชการก็คงไม่มีประโยชน์ จึงรวมตัวกันเพื่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา เดิมทีตั้งกลุ่มใน LINE OpenChat เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุย แชร์ไอเดีย แนวทาง ความต้องการของแต่ละคนว่าอยากเห็นกองทัพไปไหนทิศทางไหนในอนาคต แต่ LINE OpenChat คุมประเด็นค่อนข้างยากและคนเข้ามาเยอะจนตกใจ เราจึงย้ายการพูดคุยไปบน Telegram เป็นส่วนใหญ่

ชยพล : ระบบทหารมีแนวคิดค่อนข้างตายตัวว่าต้องการคนแบบไหน คิดอย่างไร ไม่มีพื้นที่สำหรับการเห็นต่าง ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้น้อยที่จะเสนออะไรขึ้นมา การทำเพจจึงเป็นพื้นที่ในการส่งเสียงถึงปัญหาต่างๆ เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชอนไชไปทุกซอกมุม แต่ไม่มีใครสามารถพูดออกมาได้ ไม่มีใครกล้าพอจะพูดว่าปัญหาคืออะไร ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นว่าทุกคนหันหลังให้กับปัญหาเชิงระบบเพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่เจอปัญหาที่ตามมาจากรุ่นพี่และผู้บังคับบัญชาต่างๆ

เพจนี้เป็นพื้นที่ที่จะสามารถระบุความผิดแปลกหรือความป่วยต่างๆ ในระบบได้ เพื่อให้คนในวงการได้มองเห็นปัญหาร่วมกัน และยังเป็นการสื่อสารไปยังคนข้างนอกให้รู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้างและให้เห็นว่าคนในวงการเองก็มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับความป่วยไปเสียทั้งหมด เราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อยากให้มีการปฏิรูปทหาร ปฏิรูปวงการราชการ

เอ : ผมมีโอกาสไปทำงานราชการต่างประเทศ เรียนหลักสูตรต่างประเทศ จึงมีคอนเนกชันกับคนที่ไปเรียนต่างประเทศด้วยกัน ตอนแรกเราก็คุยกันในวงเล็กๆ ว่ากองทัพต่างประเทศมีสวัสดิการ การสนับสนุนต่างๆ การเลื่อนขั้นที่มีหลักเกณฑ์ มีหลักการที่แตกต่างกับกองทัพเรา ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนี้ และคิดว่าจะสามารถนำหลักการหรือมาตรฐานของเขามาใช้ได้ไหม

คุยไปคุยมาวงก็เริ่มกว้างขึ้นๆ เลยมีโอกาสได้คุยกับน้องๆ นักเรียนนายร้อยที่ปัจจุบันยังเรียนอยู่ ก็พบว่าโรงเรียนมีปัญหาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ คสช. รัฐประหาร เช่น เรื่องการพีอาร์กองทัพ การเอาคนของกองทัพไปทำงานที่เกี่ยวโยงกับการเมือง รวมถึงเรื่องของงานของสถาบันฯ ก็ทำให้กระทบการเรียนของนักเรียน ไหนจะเรื่องการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนอีก พอเริ่มคุยใน OpenChat ก็ได้คุยกับคนวงกว้างขึ้น ทั้งทหารเหล่าทัพอื่นและตำรวจที่เข้ามาพูดคุยปัญหาตัวเอง ผมเลยคิดว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างซ้อนกันเยอะมาก เลยทำเพจเพื่อกลั่นกรองข้อมูลจากคนที่อยู่ในราชการทหาร-ตำรวจ เพื่อส่งเสียงในแต่ละประเด็น


สำหรับคุณธนเดชเหตุผลที่ทำให้ลาออกจากทหารคืออะไร

ธนเดช : ผมสนใจประเด็นทางด้านการเมืองตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เหตุผลใหญ่ที่ทำให้ตัดสินใจลาออกคือคิดว่าเส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่ไม่ตอบโจทย์ตัวเองเท่าไหร่ เราอยากเห็นประเทศดีกว่านี้ อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นกองทัพที่เป็นกองทัพเพื่อประชาชนจริงๆ อยากเห็นประชาชนเท่ากัน จึงคิดว่าวันหนึ่งในจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมผมอยากลาออกมาทำงานด้านการเมือง จนการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ผมได้ฟังแล้วพบว่ามีความคิดในแนวทางเดียวกันจึงคิดว่าเรารอต่อไปไม่ได้ เรารอให้ประเทศอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ เรารอให้กองทัพเป็นกองทัพแบบนี้ต่อไปไม่ได้ จึงตัดสินใจลาออกมาลงสมัคร ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ในสมัยการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงประเทศเชิงโครงสร้าง

นอกจากนี้ผมเห็นว่ายังไม่มีใครส่งเสียงถึงปัญหาของทหารในอีกเจเนอเรชันหนึ่งได้ ถ้ายังอยู่ข้างในก็ถูกกดด้วยกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ทำให้พวกเราพูดไม่ได้อยู่แล้ว การที่ผมลาออกมาจะสามารถส่งเสียงให้คนกลุ่มนี้ได้


คุณชยพลที่เติบโตมาในครอบครัวทหารและเรียนเตรียมทหารมา ทำไมจึงไม่เลือกเดินบนเส้นทางเดิม

ชยพล: ผมเห็นว่าผมไม่สามารถมีส่วนช่วยสร้างอะไรให้กับวงการนี้ได้ ทุกอย่างถูกกำหนดไว้หมด คนตัวเล็กๆ ไม่สามารถแสดงความเห็นได้ ไม่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่วงการโดยรวมได้ หากอยู่ต่อไปก็เป็นเบี้ยตัวหนึ่งที่จะโดนระบบกลืนไปเรื่อยๆ และระบบที่เป็นอยู่ ณ ตอนนั้น ผมไม่สามารถรู้สึกภูมิใจที่อยู่ในระบบนั้นได้เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดต่างๆ มากมาย ทั้งการใช้งบประมาณภาษีอย่างไม่ถูกต้อง ภารกิจที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติหรือประชาชนจริงๆ จึงคิดว่าการออกมาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกจะทำอะไรได้มากกว่า

ผมอยากภูมิใจกับอาชีพทหาร เพราะเป็นอาชีพที่ครอบครัวผมทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นตา แต่ผมกลัวว่าการอยู่ต่อไปจะถูกกลืนเข้าไปในระบบ จึงออกมาเพื่อหาเส้นทางเดินชีวิตตัวเองใหม่ หากอยู่ต่อไปก็เหมือนการอยู่บนรางรถไฟที่ผมไม่สามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ จึงออกมาแข่งในโลกกว้างดีกว่า แล้วใช้ประสบการณ์ความรู้ที่ได้จากข้างนอกกลับมาเปลี่ยนแปลงข้างในเพื่อให้คุณภาพชีวิตของเพื่อนพี่น้องทุกคนที่ยังอยู่ในนั้นดีขึ้นมาและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวด้วย


เสียงจากประชาชนที่พูดเรื่องการปฏิรูปทหารและตำรวจ มักเรียกร้องว่าทหารตำรวจต้องรับใช้ประชาชน สิ่งพวกนี้มีการปลูกฝังในโรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อย หรือในกองทัพมากน้อยแค่ไหนว่าต้องทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน

ชยพล : ในระดับโรงเรียนเตรียมทหารมีการปลูกฝังเรื่องการรับใช้ชาติ แต่เขาไม่ได้อธิบายระบุชัดเจนว่า ‘ชาติ’ คืออะไร ตอนผมเรียนเตรียมทหารก็มองรวมๆ ว่า ชาติ คือ ประชาชน แผ่นดิน ชายแดน แต่ไม่ได้เจาะจงลงไปที่ประชาชน ทั้งหมดคือการทำหน้าที่ในนามของการปกป้องชาติ

ผมสังเกตจากเพื่อนๆ และผู้ใหญ่หลายคนที่จบออกไปจากโรงเรียนนายร้อย-โรงเรียนเตรียมทหาร พบว่าความหมายของคำว่าชาติของแต่ละคนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเวลา ยิ่งนานไปมุมมองของคำว่าชาติก็เริ่มหดแคบให้กลายเป็นแค่ความต้องการของตัวเองเท่านั้น ตอนนี้สังคมจึงตั้งคำถามกันว่า การที่ผู้ใหญ่ชอบพูดว่า “ทำเพื่อปกป้องชาติ” ชาติคือใคร ชาติคือตัวเองหรือเปล่า หรือว่าชาติคือประชาชน

ในโรงเรียนเตรียมทหารสอนให้มีอุดมการณ์เรื่องการรับใช้ชาติ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องรับใช้ประชาชน ทำให้มุมมองเหล่านี้เป็นแค่คอนเซ็ปต์คร่าวๆ พอโตไปมุมมองเรื่องนี้ของแต่ละคนจึงเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ นานา


สำหรับกองทัพตอนนี้มีการนิยามไหมว่าคำว่า ‘ชาติ’ คืออะไรและเขาต้องปกป้องอะไร

ชยพล : เขาจะพูดรวมกันเป็นแพ็กคือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำหรับทหารหรือตำรวจแต่ละคนก็จะมองเรื่องนี้แตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าเขาจะเน้นไปที่ชาติ ศาสน์ หรือกษัตริย์ ถ้าถามถึงชาติเขาก็จะพูดถึงแต่เรื่องการปกป้องดินแดน หรือภยันตรายอื่นๆ ความไม่มั่นคงภายใน ความแตกแยกภายใน การแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ พอเขาตีวงครอบเรื่องของความขัดแย้งภายในไปด้วยก็เลยมีคนบางกลุ่มเข้าใจว่า การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยคือการสร้างความแตกแยก สร้างความบาดหมางในชาติ และทำให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องควบคุม เขามองว่าผู้คนจะต้องไม่เห็นต่าง จะต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนพื้นฐานเพื่อที่จะให้ชาติสงบ


แบบนี้ฟังดูเหมือนไม่มีแนวคิดเรื่องประชาชนอยู่เลยหรือเปล่า

เอ : ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ เป็นแพตเทิร์นดั้งเดิม แต่ช่วงต้นยุค คสช. เขาเติมคำว่า ‘ประชาชน’ เข้ามา เพราะมีคนไปทักว่ามีแต่ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน เลยกลายเป็น ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ แต่ไอเดียนี้ค่อนข้างลักลั่น ไม่รู้ว่าคนที่ตั้งคำขวัญนี้ขึ้นมาเขาเข้าใจคอนเซ็ปต์ของคำว่าประชาชนแค่ไหน

ถามว่าคำว่า ‘ชาติ’ ครอบคลุมอะไรบ้าง โดยธรรมชาติของทหาร คำว่าปกป้องชาติก็คือปกป้องแนวชายแดน ปกป้องภัยคุกคาม แล้วพอกองทัพหยิบคำว่า ‘ภัยคุกคามรูปแบบใหม่’ ขึ้นมา มันก็มีความหมายกว้าง ทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ การปลุกระดมทางการเมือง เขาเข้าใจว่าการเรียกร้องของประชาชนเป็นการปลุกปั่นทางการเมือง มีเครือข่าย มีโครงสร้าง แบบที่เราเคยได้เห็น ‘ผังล้มเจ้า’ หรือแผนผังการเมืองต่างๆ ที่ค่อนข้างตลกและไม่เมกเซนส์ แต่เขาไม่ตลกด้วยนะ ค่อนข้างจริงจัง กองทัพคิดผังกันขึ้นมาเองว่าตรงไหนเป็นภัยคุกคามก็ใส่เข้าไปในผัง เขาไม่คิดว่าคนจะออกมาเรียกร้องด้วยตัวเอง ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเขาโตมากับการโฆษณาชวนเชื่อ การสื่อสารทางเดียว สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ เขาอาจไม่เท่าทันมุมมองโลกออนไลน์ อีกด้านหนึ่งก็เป็นเพราะผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่เคยผูกพันกับกองทัพ ซึ่งยังพอมีอำนาจเหลืออยู่บ้างในกองทัพ เลยทำให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องปกป้องชาติ เพื่อใช้แสวงหาประโยชน์ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยหรอก คนที่มีแนวคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงก็มีอยู่ประมาณหนึ่ง แต่การจะพูดอะไรออกมามันเป็นไปได้ยากสำหรับทหารตำรวจ


เรื่องการจัดการกับความมั่นคงทางการเมืองอยู่ในภารกิจของกองทัพแค่ไหน เพราะถ้ามองจากสายตาของประชาชนทั่วไปอาจรู้สึกว่าสิ่งที่กองทัพทำงานส่วนใหญ่มีแต่เรื่องความมั่นคงภายใน การปราบประชาชนที่เห็นต่าง

เอ : ตอบยากว่ามีอยู่แค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ ณ ตอนนั้นมีอะไรเป็นพิเศษ แต่ภารกิจหนึ่งของกองทัพก็คือการต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งครอบคลุมหลายอย่าง รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย ผมไม่ได้จะโทษกองทัพที่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ แต่เกิดจากคนบางกลุ่มที่มีอำนาจชี้ทิศทางของกองทัพจึงออกมาลักษณะนี้ เป็นการทำหน้าที่สนับสนุนหรือยึดโยงกับกลุ่มการเมืองข้างใดข้างหนึ่งอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน


แล้วกองทัพมองว่า ‘ความมั่นคง’ คืออะไร ทำไมประชาชนที่เห็นต่างกลายเป็นภัยคุกคาม

เอ : เรื่องความมั่นคงเกี่ยวข้องกับเรื่องความสงบเรียบร้อยของชาติ จริงๆ แล้วคำว่าความมั่นคงไม่ค่อยยึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เพราะว่าประชาธิปไตยต้องมีการเห็นต่าง มีการเรียกร้อง มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่คนบางกลุ่มในกองทัพมองว่านี่คือการทะเลาะกัน คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ผมก็ไม่แน่ใจว่าคอนเซ็ปต์พวกนี้บิดเบี้ยวมาตั้งแต่เมื่อไหร่หรือว่าจริงๆ แล้วมันปลูกฝังอยู่ในโรงเรียนโดยไม่รู้ตัวจนบางคนแยกไม่ออกก็ได้


ในระดับโรงเรียนเตรียมทหารหรือนายร้อย มีการปลูกฝังเรื่องการเมืองแค่ไหน

เอ : ส่วนใหญ่จะไม่พูดถึงเรื่องการเมือง จะพูดถึงเรื่องอุดมคติการเป็นทหารและตำรวจมากกว่า เขามีการพูดถึงเรื่องการเป็นที่พึ่งของประชาชน การต้องเป็นกำลังหลักในการปกป้องบ้านเมือง ส่วนเรื่องการเมืองจะถูกพูดถึงในแนววิชาการในบางกองวิชามากกว่า


ในกองทัพมีคนหัวก้าวหน้าเยอะไหมและสามารถมีพื้นที่แสดงตัวได้แค่ไหน

เอ : เตรียมทหารจะเรียกเป็นรุ่น เป็นซีรีส์ พวกซีรีส์ 5 คือรุ่น 50 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างจะก้าวหน้าและมีความแอกทีฟค่อนข้างสูง ที่เหลือก็เป็นกำลังพลชั้นประทวนที่เห็นระบบมาจนคิดว่าไม่ตอบโจทย์การปฏิบัติราชการของเขา แต่นายทหารชั้นประทวนมีเสียงค่อนข้างน้อย เขาไม่กล้าพูด บางทีก็อาศัยการบ่น การเรียกร้องเรื่องสวัสดิการแบบอ้อมๆ กลุ่มที่ส่งเสียงเรียกร้องจริงๆ จะเป็นกลุ่มทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้านี่แหละ ส่วนที่เหลือจะเป็นพวกสนับสนุนแนวคิดมากกว่า

ส่วนหนึ่งซีรีส์ 5 อาจจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เราเห็นว่าระบบไม่ตอบโจทย์ ไม่เข้าท่าเท่าไหร่ ประกอบกับเป็นรุ่นที่รับข้อมูลข่าวสารค่อนข้างเยอะด้วย

ชยพล : การไหลเวียนของข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังเริ่มเกิดการเทียบชุดข้อมูลและชุดความคิดระหว่างสิ่งที่ปลูกฝังภายในระบบกับภายนอกระบบ เช่น สมัยก่อนการหาข้อมูลไม่ง่ายขนาดนี้ ฉะนั้นข้อมูลที่เราจะได้รับเป็นประจำมาจากการพูดกันอยู่ภายในหน่วยงาน ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่คุยกันเอง แต่พอถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมข้อมูลได้แล้ว คนสามารถเลือกหาความรู้จากตรงไหนก็ได้ สามารถอ่านข่าวได้จากทุกสำนัก ทำให้เห็นมุมมองอื่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เกิดการตกตะกอนทางความคิด เกิดการกลั่นกรองความคิดชุดใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปเริ่มมีความคิดเห็นแตกต่างจากเดิม มีข้อมูลจากหลายฝั่งมาเทียบ จนเกิดการตั้งคำถามมากขึ้นว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่ภายในระบบนั้นถูกต้อง จริง ดี แท้ ขนาดไหน


คนรุ่นหลังๆ ในกองทัพมีความคิดก้าวหน้ามากขึ้น แต่ถึงขนาดที่จะเป็นความหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ไหม

ชยพล: ต้องไปดูว่าข้างในกองทัพมีการจัดการกับคนเห็นต่างอย่างไร มีตัวอย่างให้เห็นมากมายกับการจัดการคนเห็นต่างที่ยังรับราชการอยู่ มีการขัดแข้งขัดขา รังแกด้านต่างๆ มีเคสนายทหารที่ทำเพจพูดเรื่องต่างๆ แล้วหายตัวไป ทำให้หลายคนหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงตัว เพราะเราก็ไม่รู้ว่าใครอยู่ฝ่ายไหน ใครมีความคิดเห็นยังไง ใครจะย้อนมาเล่นงานเราตอนไหน บรรยากาศมันน่ากลัว อึมครึมไปหมด

ปกติทหารทำงานอยู่ในหน่วย บางทีหายไปฝึก 3-4 เดือนเป็นเรื่องปกติ พอหายไปก็ไม่มีใครรู้ ครอบครัวติดต่อไม่ได้ ไม่สามารถหาคำตอบได้ โดยเฉพาะหากหายตัวในค่ายทหารก็อาจหากล้องวงจรปิดมาเป็นหลักฐานยืนยันไม่ได้เลย เรียกว่าลบการมีตัวตนออกไปได้เลย

นี่ก็เป็นสาเหตุของการเปิดเพจนี้ให้คนที่อยากจะแสดงความเห็น คนที่อยากเรียกร้องในประเด็นที่ไม่ถูกต้องในกองทัพสามารถหลังไมค์มาพูดได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัว แล้วเราก็จะเปรียบเทียบหลักฐานข้อมูลจากหลายๆ ฝ่ายและกลั่นกรองออกมาให้เห็นว่าภาพที่แท้จริงของมันคืออะไร

ธนเดช : เรื่องข้าราชการที่หายตัวไปคือ ร้อยเอกเฉลิมศักดิ์ เรือนมงคล นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 49 หายตัวไปเมื่อปี 2561 และมีประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาในปี 2564 เรื่องการปลดออกจากราชการ เขาถูกสงสัยว่าเป็นผู้สร้างเพจ ‘พิซซ่าชาวใน’ แล้วเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ทางเพจ ปัจจุบันนี้เขาหายตัวไปโดยไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมเป็นอย่างไร ซึ่งมีข้อสงสัยว่าเป็นการอุ้มหาย

ส่วนที่ถามว่าจะเปลี่ยนแปลงสำเร็จไหม ผมก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำ แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง ก้าวแรกที่พี่ๆ น้องๆ ที่มีความคิดเห็นอีกมุมหนึ่งได้ลุกขึ้นตั้งคำถามว่า อาชีพที่เขากำลังทำอยู่นั้น จริงๆ แล้วทำเพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติ เพื่อศาสนา เพื่อพระมหากษัตริย์ หรือเพื่อใครกันแน่ นี่เป็นพื้นที่แรกที่พวกเรามีโอกาสแลกเปลี่ยนกัน

ตั้งแต่ผมมาทำเพจนี้ เพื่อนในรุ่นผมหลายคนได้รับโทรศัพท์ถามว่าผมเป็นใคร ประวัติผมเป็นยังไง มีตำรวจราบติดต่อเพื่อนผมเพื่อถามว่าผมมีลักษณะแบบไหน นี่เป็นการคุกคามทางอ้อมผ่านเพื่อนๆ ที่ใกล้ชิดผม แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรากลัวอะไร เพราะถ้าเราไม่กล้าที่จะลุกขึ้นยืนในวันนี้ก็คงจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ปลายทางจะสำเร็จวันไหนเราไม่สามารถตอบได้ แต่เราจะพยายามทำทุกทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้


ในหมู่ทหารมองเรื่องการรัฐประหารกันอย่างไร เป็นความภูมิใจหรือว่าเป็นภารกิจที่ปฏิเสธไม่ได้

ธนเดช : ตอนรัฐประหาร 2557 ผมเป็นนักเรียนนายเรืออากาศปี 3 สิ่งที่คนรุ่นเราคิดคือทหารจะไปยุ่งกับการเมืองทำไม การเมืองต้องแก้ไขด้วยการเมือง การที่เอาทหารไปยุ่งไม่มีทางจบอยู่แล้ว แต่พวกรุ่นพี่บางคนก็จะคิดว่านี่คือยุคทหารแล้ว ในกองทัพมีความเห็นต่างมาตลอด

ชยพล : ตลอดเวลาที่ผ่านมาการปฏิวัติของทหารถูกมองว่าเป็น act of heroism เป็นการกระทำในนามความดีที่ยิ่งใหญ่กว่า ประเทศถึงทางตันแล้ว ทหารออกมาเพื่อที่จะหยุดยั้งความบาดหมาง ทหารต้องออกมาเพื่อปกป้องชาติให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดในช่วงนั้น

ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหารก็จะเกิดวาทกรรมในการบอกว่าเป็นการพาประเทศออกจากทางตัน อย่างตอนรัฐประหาร 2549 ความตระหนักด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนยังไม่มากเท่าตอนนี้ สังคมไทยจึงสร้างภาพว่ามันคือการพาประเทศออกจากทางตัน ทหารก็ยังอยู่กับวาทกรรมแบบเดิมว่านักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่คดโกง ทำให้ประเทศถึงทางตัน เกิดความบาดหมางแตกแยกกันจนทหารจำเป็นต้องออกมาในนามความสงบสุข ในนามประโยชน์สุขของชาติบ้านเมือง แต่พอเขาอยู่ไปเรื่อยๆ คนก็เห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ หลายคนก็ความคิดเปลี่ยนไป


หลัง คสช. รัฐประหารแล้วปกครองมาเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาจำนวนมากที่ทำให้คนเปลี่ยนความคิด แล้วในหมู่ทหารมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดแบบนี้บ้างไหม

เอ : ตอนที่มีการปฏิวัติใหม่ๆ เกิดความคิดว่า ทหารออกมาเพื่อปกป้องความสงบ ซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของทหาร ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตั้งแต่ตอนนั้น แต่ไม่คิดว่าจะเลวร้ายขนาดนี้

ในยุค คสช. หนึ่งในงานที่เห็นได้ชัดของทหารคือการประชาสัมพันธ์ แล้วงานนอกหน้าที่ของทหารก็เริ่มเยอะขึ้น ที่จริงการช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ส่วนใหญ่เป็นการไปเอาภาพ อย่างการขุดลอกแหล่งน้ำก็ไปถ่ายรูปสองครั้งแล้วที่เหลือก็ให้ อบต. ใช้รถแบคโฮตักแทน ตั้งแต่ยุค คสช. เราจะเห็นภาพแบบนี้เรื่อยๆ กลายเป็นว่าทหารมีงานเยอะโดยใช่เหตุ ทหารต้องไปทำโน่นทำนี่แต่ไม่ใช่งานที่เป็นประโยชน์

การทำแบบนี้ยิ่งเพิ่มภาระงานให้ทหาร ยิ่งทำยิ่งแย่ ต่อให้ภาพออกไปสวยก็จริงแต่คนเบื้องหลังก็รู้กัน ช่วงหลังนี้เวลาทหารมีภาพสวยๆ ออกมา คนก็ระแวงไว้ก่อนเลยว่าไม่ได้ทำจริง ในหมู่ทหารเองก็เริ่มคิดว่าแบบนี้มันไม่ใช่ ทำงานไปเหนื่อยเปล่าแล้วไม่มีประโยชน์ ทำไมเราไม่แก้ไขอะไรที่เป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งอาจเป็นข้อผิดพลาดของกองทัพเอง อย่างเรื่องกราดยิงโคราชก็ไม่ได้มีการติดตามแก้ปัญหาเท่าไหร่ พอเกิดปัญหาแบบนี้แล้วเราทำอะไร กองทัพก็ไปโฟกัสว่าวันนี้ ผบ.ทบ. ไปตรวจเยี่ยมอะไรบ้าง ซึ่งประชาชนไม่ได้อยากรู้ การสื่อสารของกองทัพจึงแย่ลงเรื่อยๆ นับจากนั้นเป็นต้นมา


สำหรับทหารที่ทำงานอยู่ในกองทัพตอนนี้ มีเรื่องอะไรที่เป็นความอึดอัดใจหลักๆ ที่รับรู้มา

เอ : หลักๆ คือเรื่องสิทธิกำลังพลต่างๆ มีระบบบางอย่างที่เบียดบังชีวิตของกำลังพล เช่น เรื่องสวัสดิการ นายสิบจบใหม่ได้เงินเดือนค่อนข้างต่ำแล้วเขาก็ต้องกู้เพราะไม่พอใช้ ถึงจะพักในค่ายแต่อย่างน้อยต้องมีมอเตอร์ไซค์ใช้ หนี้สินก็พอกไปเรื่อยๆ จนบางทีเป็นจ่าแก่ๆ แล้วก็ยังจัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ ไม่มีบ้าน ไม่มีอะไร มีแต่หนี้ และมีเรื่องคลาสสิกคือหากำไรกับเบี้ยเลี้ยงทหาร

มีหลายตัวอย่างในต่างประเทศว่า ถ้ามีระบบจัดการที่ดีจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้และจะทำให้ทหารสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เรื่องการเอาเบี้ยเลี้ยงพลทหารมาใช้ของหน่วย เกิดจากที่หน่วยมีงานที่ต้องใช้งบประมาณแต่ไม่มีงบประมาณมาให้ เช่น ค่าทาสีอาคาร ปรับปรุงอาคาร ปรับปรุงพื้นที่ เบี้ยเลี้ยงออกฝึก ค่าน้ำ ค่าอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ผู้บังคับหน่วยก็ต้องไปหาเงินพิเศษเพื่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็เลยมาหากำไรจากเบี้ยเลี้ยง ซึ่งจะเรียกว่าโกงก็ได้ เขาก็ต้องโกงไปเรื่อยๆ เพื่อให้งานพวกนี้ดำเนินต่อไป


ประเด็นเรื่องความโปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน การมีตำแหน่งทางการเมืองหรือที่นั่งในรัฐวิสาหกิจ คิดว่าเรื่องไหนที่ต้องสะสางให้เร็วที่สุด

เอ : ผมคิดว่าปัญหาที่ควรแก้ให้ไวที่สุดตอนนี้คือเอาทหารกลับกรมกองให้หมด ปัญหาที่เกิดขึ้นในกองทัพเหมือนเป็นโรคติดต่อที่แพร่ไปที่อื่นด้วย ทหารเหมือนเป็นพาหะส่งต่อโรคไปยังระบบ เพราะพอขึ้นไปปกครอง ปัญหาก็กระจายไปทั้งเรื่องรัฐวิสาหกิจ การเมือง การปกครองท้องถิ่น

ชยพล: มีทหารที่พยายามสร้างพื้นที่ให้ตัวเองมีตัวตนตลอดเวลา หลังเกษียณแล้วก็ต้องมีหน้าที่อะไรสักอย่าง ต้องไปนั่งตามบอร์ดบริษัท บอร์ดรัฐวิสาหกิจ เข้าไปนั่งใน ส.ว. ซึ่ง ส.ว. เป็นตัวป่วนทำประเทศชาติเจ็บปวดมาก มีไปเป็นคณะกรรมาธิการ เป็นที่ปรึกษาตรงนั้นตรงนี้เต็มไปหมด ซึ่งไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติ เขาไปนั่งเพราะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้วสมควรจะได้ตำแหน่ง

อย่างในการบินไทย ผบ.ทอ. ต้องนั่งในบอร์ด ที่ปรึกษาการบินไทยก็มีทหารเต็มไปหมด มีทหารเข้ามาเป็นนักบินมากมาย ในหมู่นักบินที่มาจากทหารก็มีคนที่ควบตำแหน่งบริหารได้ด้วย ในแผนฟื้นฟูการบินไทยก็มีคำถามเรื่องความโปร่งใสของเกณฑ์การคัดเลือกนักบินให้อยู่ต่อ

หลายบริษัทที่ทหารเข้าไปเอี่ยวก็มีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง พอรู้ว่าบริษัทต้องการซื้ออะไรก็จะให้เครือญาติตัวเองไปตั้งบริษัทมาชนะในการจัดซื้อจัดจ้างแล้วค่อยดูว่าสามารถทำงานตรงนั้นได้หรือเปล่า อันที่จริงปัญหานี้มีตั้งแต่ในค่ายทหาร พอรู้ว่าต้องการซื้อชุดหรือรองเท้าก็จะมีครอบครัวของนายทหารสักคนหนึ่งในนั้นเป็นตัวกลางมาขายต่อในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ใช้งบประมาณไม่เกิดประสิทธิภาพ


เรื่องการซื้อยุทโธปกรณ์เป็นประเด็นทุกครั้งเวลาขอจัดสรรงบว่าทำไมกองทัพต้องซื้อยุทโธปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ กระทั่งปีนี้ที่ประเทศกำลังลำบากเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ

เอ : เรามักจะมีคำพูดตลกๆ กันเสมอว่า คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ผมไม่รู้ว่าเขาไปตัดสินใจสเปกที่จะซื้อกันยังไงถึงออกมาเป็นอุปกรณ์ที่สร้างภาระให้กำลังพลมากกว่าจะช่วยให้กำลังพลทำงานได้สะดวกขึ้น

ในอีกมุมคือการซื้อยุทโธปกรณ์มาในจังหวะที่ผิดเวลา การซื้อยุทโธปกรณ์แต่ละอย่างจะเป็นงบประมาณตามวงรอบ ต้องวางแผนหางบประมาณล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 ปี เขาก็จะบอกว่ายุทโธปกรณ์ไม่ใช่ซื้อมาแล้วใช้ได้เลยนะ ต้องมีการฝึกใช้ กว่าจะใช้ได้ก็ 2-3 ปีให้หลัง

ทีนี้ถ้ามองเรื่องความสมเหตุสมผลและมองสถานการณ์บ้านเมือง ในปีนี้ช่วงการจัดสรรงบประมาณเราทั้งขาดแคลนวัคซีนและมีปัญหาเรื่องการจัดการผู้ป่วย จะไปต่อว่ากองทัพอย่างเดียวก็ไม่ถูก มันกระทบมาตั้งแต่เรื่องสาธารณสุข คณะรัฐบาลทำงานผิดพลาดเลยไปกระทบการจัดซื้อที่มาผิดเวลา ในสภาวะแบบนี้สาธารณสุขควรจะขึ้นมาเป็นหัวแล้วแจกงานกระทรวงอื่นๆ ไป ถ้างบประมาณตรงนี้ไม่พอ ยุทโธปกรณ์นี้เราเบรกไว้ก่อนได้ไหม โยกงบกันก่อน เราพลาดตั้งแต่ให้การแก้สถานการณ์ไปไว้กับนายกฯ แล้วที่เหลือก็ทำงานแบบตัวใครตัวมัน การซื้อยุทโธปกรณ์ก็เลยโผล่มาให้เห็นว่ามีการใช้งบประมาณไม่เหมาะสม เพราะการประสานงานโดยรวมล้มเหลว

ชยพล : ลักษณะการจัดงบประมาณราชการ ถ้าปีไหนใช้งบประมาณไม่หมด ใช้น้อยกว่าที่ตั้งไว้ ปีถัดๆ ไปก็จะโดนลดงบ ก็เลยเกิดความพยายามที่จะทำให้ดูเหมือนว่างบประมาณไม่เคยพอใช้สักปีเลย ปีหน้าต้องขอเพิ่ม จึงเกิดการหาเหตุผลมากมายให้การซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ เพื่อจะดูเหมือนว่าเรามีวิกฤตที่ต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล จะเกิดคำพูดเดิมๆ เรื่องการซื้อยุทโธปกรณ์ว่ามีเอาไว้เพื่อปกป้องชาติ มีแล้วไม่ได้ใช้ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี ประเทศอื่นเขามีกันแล้วเดี๋ยวโดนประเทศอื่นบุก ทั้งๆ ที่มันเป็นวิกฤตที่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่เป็นการหาเหตุผลประกอบให้ดูเหมือนว่าเราจำเป็นจะต้องมี

ธนเดช : ผมเคยอยู่กรมพลาธิการทหารอากาศ จะมีคณะกรรมาธิการหนึ่งชื่อว่า คณะกรรมาธิการเร่งรัดการใช้งบประมาณ ซึ่งจะถูกตั้งขึ้นก่อนถึงวงรอบงบประมาณ ผมก็ถามคนอื่นว่าทำไมต้องมีคณะกรรมาธิการนี้ เหตุผลก็ตามชื่อเลย คือเร่งรัดการใช้งบประมาณ ต้องใช้งบให้หมดไม่เช่นนั้นเราต้องคืน พอคืนแล้วปีหน้าก็จะถูกลดงบ

การจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพได้ชื่อว่าซื้อของไม่ดีในราคาแพง อาภรณ์ภัณฑ์ของทหาร ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ รองเท้าคอมแบต หรือชุดเครื่องแบบทหารที่มันแพงเพราะกองทัพไม่สามารถดีลตรงกับโรงงานผลิตได้ กองทัพต้องซื้อจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่ก็ไปซื้อมาจากโรงงานอีกที โดยเขาให้เหตุผลว่าต้องอุดหนุนองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึก ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตกลงแล้วอุดหนุนใคร

ช่วงที่ผมอยู่ในนั้น ทุกๆ เช้าจะเจอนายหน้าขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งก็คือพ่อค้า มานั่งรอ นั่งเฝ้า ตกเย็นจะไปไหนก็ส่งคนไปดูแลหมด ทุกอย่างเป็นการเอื้อกันไปหมด แม้ว่ากองทัพอากาศจะทำกองโรงงานเพื่อผลิตรองเท้าเองเลย แต่คำนวณต้นทุนแล้วแพงกว่าราคาตลาดและคุณภาพสู้ตลาดไม่ได้ กำลังพลเบิกไปก็แทบไม่มีใครเอาไปใช้งานจริง ส่วนมากเอาไปเก็บ นี่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของการใช้งบประมาณ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย เพราะเขาซื้อในราคากลาง เราซื้อของในปริมาณเยอะ แต่ซื้อในราคาขายปลีกตลอด เรื่องนี้ต้องปฏิรูประบบราชการ เพราะเป็นทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่ในกองทัพ


เรื่องการโอนย้ายกำลังพลทั้งทหารและตำรวจไปที่หน่วยรักษาพระองค์ เรื่องนี้สั่นสะเทือนวงการแค่ไหน

เอ : หลังในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตก็มีการเสริมกำลังหน่วยทหารมหาดเล็ก เริ่มมีการคัดนักเรียนนายร้อยเข้าไป ในส่วน ทบ. น่าจะเริ่มที่รุ่น 52 เป็นรุ่นแรก มีคำสั่งฟ้าผ่าคัดคนเข้าไป ผมไม่แน่ใจวิธีการคัดเลือก แต่ส่วนหนึ่งคือเป็นคนที่มีคุณลักษณะบุคลิกภาพที่ดี ตามภาษาเราก็เรียกว่าเป็นคนเป๊ะ เนื่องจากเป็นคำสั่งฟ้าผ่าและไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยากเป็น ปฏิเสธก็ไม่ได้ วิธีการปฏิเสธคือต้องลาออก ช่วงหลังทราบว่าการลาออกทำได้ยากขึ้น

ชยพล : เป็นคำสั่งที่ลอยมาจากไหนก็ไม่รู้ มาแบบกะทันหันและไม่สามารถขัดขืนได้ ใครที่รู้โผก่อนก็อาจจะย้ายหนีทัน แต่ถ้าใครไม่ได้รู้โผก่อน หากมีการประกาศชื่อออกมาแล้วก็ไม่สามารถขัดขืนได้

สิ่งสำคัญคือเป็นการย้ายไปหน่วยใหม่ คนที่อยู่ในระบบทหารเขาตั้งใจมารับราชการแล้วมีการขึ้นตำแหน่งตามลำดับขั้น พอโดนย้ายก็ต้องไปเข้าสู่ระบบใหม่และไม่ได้ทำงานแบบที่เคยตั้งใจไว้ ส่วนใหญ่ต้องไปรับหน้าที่ออกพิธี ดูแลสถานที่ คำสั่งนี้จึงกระเทือนมาก เพราะคนที่โดนย้ายเขาชีวิตเปลี่ยนโดยที่เลือกไม่ได้ ลาออกไม่ได้ ย้ายไปแล้วก็ต้องพร้อมเข้าเวรตลอดเวลา ไม่ค่อยได้กลับบ้าน

ธนเดช : ประเด็นเรื่อง พ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลกลายเป็นจุดตัดความฝันของหลายๆ คน เพราะมีทั้งคนที่พร้อมจะไปและคนที่ไม่พร้อมที่จะไป การย้ายไม่ได้เกิดจากความสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากกองทัพจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ยังกระทบไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเกิดหน่วยใหม่ขึ้นมา เรียกกันว่า ‘ตำรวจราบ’ หลายคนที่เขารักในอาชีพ เขาภูมิใจในการเป็นตำรวจ กลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงสายงานไปเป็นตำรวจราบที่ทำงานในลักษณะคล้ายทหารบก มีรุ่นน้องนักเรียนนายเรืออากาศทักมาพูดคุยกับผมว่าเขาอยากลาออกก่อนที่จะเรียนจบหรือลาออกเมื่อเรียนจบแล้ว เพราะถ้าเขาไปอยู่ในกลุ่มที่ถูกเลือก กลายเป็นโดนตัดตอนความฝันก็ทำให้เขาไปต่อในทางเดินที่ต้องการไม่ได้

หากมองอย่างเป็นกลางเรื่องการโอนย้ายกำลังพลมีทั้งมุมดีและมุมเสีย แต่เขาควรเลือกจากกำลังพลที่สมัครใจดีกว่าหรือมีการรับสมัครกำลังพลส่วนนี้เป็นการเฉพาะที่ระบุชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าหน้าที่คืออะไร ไม่ใช่การเลือกคนจากส่วนอื่นไป คนเหล่านี้เขากำลังมีความฝัน เลือดในการเป็นทหารอาชีพกำลังแรง การคัดคนส่วนนี้ไปทำให้กองทัพเสียกำลังหลักเหมือนกัน เพราะคนที่ถูกคัดเลือกไปเป็นคนที่เป๊ะที่สุด เก่งที่สุด พร้อมที่สุด และต้องไปทำงานที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ การถูกตัดตอนความฝันเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมกับเขา ไม่ยุติธรรมต่อครอบครัวและคนรอบข้างเขา


มีข่าวตำรวจที่โดนโอนย้ายกำลังพลแล้วปฏิเสธจนถูกส่งไปธำรงวินัย สำหรับทหารสามารถปฏิเสธได้ไหม

ธนเดช : ผมเคยคุยกับตำรวจคนหนึ่งที่เคยถูกส่งไปฝึกที่หนองสาหร่ายในชุดของตำรวจที่ไม่สมัครใจไป เอฟเฟกต์ที่เขาได้รับไม่ใช่แค่ถูกลงโทษแล้วจบ แต่มันถูกแนบท้ายว่าเขาห้ามเติบโตในอาชีพ ซึ่งมันยุติธรรมกับเขาเหรอ เขาไม่สามารถโตในเส้นทางที่เขาต้องเดินได้ เพราะเขาถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี การไม่สมัครใจไปไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดี แต่ละคนมีปัจจัยและความพร้อมแตกต่างกัน ฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่าไม่สมัครใจเท่ากับไม่จงรักภักดี ผมคิดว่าใช้ไม่ได้ที่จะเอาคำว่าจงรักภักดีมาตัดสินคนคนหนึ่ง ไปตัดตอนอนาคตเขาโดยกาหัวไว้ว่าห้ามเติบโต ทำให้เขาไม่ได้รับความยุติธรรม

เอ : สำหรับทหารบก นอกจากลาออกแล้วผมก็ไม่เห็นทางอื่น ผมยังไม่เคยเห็นใครปฏิเสธได้จริงๆ ยังไงก็ต้องไปอยู่ดี แล้วช่วงหลังก็ลาออกไม่ได้ เพราะคนที่เซ็นให้ลาออกอาจจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

ธนเดช : เรื่องการตัดสินใจลาออกของแต่ละคนก็มีปัจจัยหลายอย่างประกอบเพราะสังคมก็ปลูกฝังมาว่าการเป็นทหารจะมีสวัสดิการสำหรับครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ภรรยา หลายคนไม่กล้าลาออก ไม่กล้าออกจะคอมฟอร์ตโซนนี้ ซึ่งปัญหานี้จะแก้ได้ถ้าวันหนึ่งประเทศเราพัฒนากว่านี้แล้วมีรัฐสวัสดิการเท่ากันทุกคน ทหารหลายคนจะกล้าตัดสินใจออกมาเผชิญภายนอกมากกว่านี้ นี่คือสาเหตุหนึ่งของคนที่ยังเลือกอยู่ต่อ


ที่ผ่านมามองว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้การปฏิรูปกองทัพไม่เคยสำเร็จเลย

ธนเดช : ผมมองว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนหรือกลุ่มขั้วอำนาจไหนให้ความสนใจหรือเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพที่ชัดเจนเหมือนปัจจุบัน คนไทยในอดีตอาจไม่มองว่ากองทัพเป็นปัญหาของการเมืองเหมือนในยุคปัจจุบัน หากมองย้อนกลับไปก่อนปี 2557 อาจมีแค่คนบางส่วนที่เห็นว่ากองทัพเป็นปัญหาอย่างแท้จริงจึงไม่มีการตั้งคำถามเรื่องการปฏิรูปกองทัพเหมือนในปัจจุบันที่มีกลุ่มคนออกมาตั้งข้อเรียกร้อง มีพรรคการเมืองมาชูนโยบายเรื่องนี้ พรรคการเมืองในอดีตก็มีทั้งฝั่งที่ใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากทหารและมีฝั่งที่มองทหารเป็นศัตรู

ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะปฏิรูปกองทัพ ไม่ว่าจะทั้งพรรคการเมืองหรือกลุ่มขั้วอำนาจใด แต่ปัจจุบันผมเห็นความหวังที่จะเกิดการปฏิรูปกองทัพได้จริงๆ

ชยพล : ทหารถืออำนาจที่สามารถล้มรัฐบาลได้เรื่อยๆ เหมือนมีไม้กายสิทธิ์ในมือ พอใครมาแตะต้องงบประมาณทหาร หรือมีใครต้องการปฏิรูปเพื่อจะให้เกิดความถูกต้อง หรือมีใครต้องการจะตรวจสอบ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะโดนล้มกระดาน เพราะไม้กายสิทธิ์ที่ใครๆ ก็ต้องเกรงใจ หากอยากนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อก็ต้องมีอะไรเอื้อกันอยู่ดี ไม่งั้นก็จะอยู่ต่อไม่ได้

เมื่อไม่เกิดการตรวจสอบ ไม่มีความพยายามทำให้โปร่งใสจึงทำให้ไม่เคยเกิดการปฏิรูปเลยแม้แต่ก้าวเดียว

เอ : เหตุที่ปฏิรูปไม่ได้ส่วนหนึ่งเพราะการผูกขาดคนไว้กับกองทัพ อย่างที่เห็นว่ากองทัพของเราเป็นกองทัพคนแก่ คนส่วนใหญ่อยู่ตั้งแต่หนุ่มจนเกษียณในอายุ 60 ตอนนี้กองทัพเราโตแบบทรงกระบอก ทั้งที่ควรจะโตแบบพีระมิดตามสายบังคับบัญชา ควรเอาคนที่เป็นเพชรเม็ดงามจริงๆ ขึ้นไปเป็นตำแหน่ง ผบ.ทบ. หรือตำแหน่งสำคัญอื่นๆ

มีหลายตำแหน่งที่ควรรีไทร์ตัวเองออกไปในเวลาที่เหมาะสม ออกไปทำอย่างอื่น ไม่ควรมาเกาะอยู่กับกองทัพ แต่กองทัพเราผลิตคนมาเท่าไหร่ก็อยู่ยันเกษียณเท่านั้นเลย ตอนนี้คนก็ผูกขาดกองทัพ กองทัพก็ผูกขาดคนไว้กับตนเอง

ทหารมีการใช้คอนเนกชันกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ใครอยากจะมีเส้นสายตรงไหนก็ดึงกันไปดึงกันมาทำให้เกิดโครงสร้างที่บิดเบี้ยว แต่แข็งแรงและปฏิรูปได้ยาก สิ่งหนึ่งที่ต้องเริ่มทำคือเปลี่ยนถ่ายพลกองทัพออกไปไม่ให้คนมากระจุกกันเยอะแบบนี้ ไม่ให้โตเป็นทรงกระบอก ควรปรับรูปร่างกองทัพใหม่ให้เป็นทรงพีระมิด เหลือแต่คนที่ทำงาน แล้วก็หาเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพให้เขาสามารถเกษียณตัวเองออกไปทำอย่างอื่นได้ตั้งแต่อายุ 35-45 ปีเลยก็ได้ โดยอาจทำ MOU กับเอกชน


มีข้อเสนออย่างไรที่จะทำให้กองทัพไม่กลายเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน และสามารถเอาทหารออกจากการเมืองได้จริง

เอ : ตอนนี้กองทัพเหมือนร้านอาหารตามสั่งที่มีคนผูกปิ่นโต ถ้าอยากได้อำนาจก็ไปที่กองทัพสิ กองทัพรัฐประหารแล้วก็ได้อำนาจมา ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคือต้องเปลี่ยนแปลงจากภายในด้วย ต้องมีแรงต้านจากภายในเมื่อถึงจังหวะเวลาที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อีกส่วนคือคนภายนอกก็ต้องช่วยกันกระทุ้งเรื่องกองทัพเรื่อยๆ ตรวจสอบการใช้กำลังพลเรื่อยๆ ส่งเสียงว่าเอากำลังทหารมาใช้แบบนี้ไม่ได้นะ ข้างในก็มีแรงเสียดทานเหมือนกัน

ทั้งข้างนอกกองทัพและข้างในกองทัพต้องช่วยกัน มันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเท่าไหร่แต่น่าจะเป็นวิธีที่เข้ากับบริบทปัจจุบันที่สุดแล้ว

ธนเดช : อย่างแรกคือต้องเอาทหารออกจากการเมืองให้ได้ ต้องเอากองทัพไปทำหน้าที่ของกองทัพ เอาทหารไปเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่อาชีพทหารแบบปัจจุบันที่จะไปทำอะไรก็ได้ สิ่งที่เราเคยคิดกันไว้คือการมีระบบเสนาธิการร่วม ซึ่งถ้าเอากองทัพออกจากการเมืองได้จะเกิดการปฏิรูปในตัวของมันเอง นอกจากนี้ต้องมีการสร้างความรับรู้ การเรียนรู้ การปลูกฝังใหม่ตั้งแต่ต้นเรื่องประชาธิปไตย คุณค่าความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ถ้าเราเริ่มการปลูกฝังใหม่ได้ก็น่าจะเปลี่ยนได้ในช่วงเวลาหนึ่ง

ชยพล : ต้องเกิดการรับผิดรับชอบของทหารที่ทำผิดต่อระบอบการปกครอง ที่ผ่านมาเราไม่มีตัวอย่างคนที่ทำรัฐประหารแล้วโดนคดีหรือต้องรับผิดที่ล้มระบอบการปกครองเลย เรามีแต่ตัวอย่างของคนที่ทำรัฐประหารสำเร็จแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ยกโทษให้ตัวเอง มีแต่ตัวอย่างของคนที่ทำรัฐประหารแล้วได้ดี ทำแล้วได้เงินมหาศาล พอตายแล้วเมียหลวงเมียน้อยต้องมาแย่งฟ้องเอาเงินมรดกกันเป็นร้อยล้านพันล้าน มีแต่ตัวอย่างของความสำเร็จสวยงามไปหมด

ประวัติศาสตร์ของเราถูกเขียนโดยผู้ชนะ จึงมีการเขียนว่าคนที่กระทำการเหล่านี้เป็นเสมือนวีรบุรุษที่มาช่วยประเทศให้หลุดออกจากทางตัน พอเป็นแบบนี้ทหารจึงเหมือนมีอำนาจพิเศษที่จะล้มระบอบการปกครองเมื่อไหร่ก็ได้ ส่วนหนึ่งที่ต้องทำคือคนที่ทำผิดจะต้องถูกลงโทษ จะต้องไม่มีการสนับสนุน อีกส่วนคือทหารต้องอยู่ภายใต้ประชาชนจริงๆ เรามี ผบ.เหล่าทัพก็จริงแต่ต้องมีคนจากฝั่งประชาชนที่อยู่สูงกว่านั้น อาจจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่มีอำนาจเด็ดขาดสามารถควบคุมกองทัพได้ เพื่อจะมั่นใจว่าทุกภารกิจเป็นประโยชน์ของประชาชนจริงๆ เพราะตอนนี้ทุกตำแหน่งเป็นทหารหมด ไม่มีใครกล้าแตะ พอเขาทำอะไรก็ไม่สามารถค้านได้

อีกอย่างคือทหารผู้น้อยต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการไม่ทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากผู้บังคับบัญชา การกระทำอะไรก็ตามที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อระบอบประชาธิปไตย ทหารผู้น้อยต้องมีสิทธิ มีอำนาจ และเป็นความรับผิดชอบที่จะไม่ทำตาม ถ้าเขายังมีอำนาจ มีอาวุธ แล้วทุกคนคล้อยตามไม่สามารถคัดค้านได้ ทุกอย่างก็จะวนลูปเหมือนเดิม ถ้าตัดอำนาจตรงนี้ได้จะไม่เกิดการเอื้อต่อขั้วการเมืองใดๆ แล้วเขาจะค่อยๆ หมดความสำคัญทางการเมือง ไม่มีอิทธิพลต่อการปกครอง รัฐบาล และระบบการเมืองได้อีกแล้ว


มีความหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริงไหม ซึ่งอาจต้องเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย

ธนเดช : มีครับ เราเห็นว่ามีโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างใกล้มาถึงแล้ว แล้วเราก็จะเห็นกองทัพรูปแบบใหม่ได้ ไม่รู้หรอกว่าต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แต่อย่างน้อยผมเห็นว่าการลุกขึ้นมาทำครั้งนี้คือก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่ได้ราบรื่นสวยหรู ไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ แต่เราเชื่อว่าปลายทางของเราจะเปลี่ยนแปลงกองทัพคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราจะเห็นทหารที่เป็นของประชาชน เราจะเห็นตำรวจที่อยู่ในหน้าที่ เราจะเห็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นในยุคของเรา

ชยพล : มีโอกาสอยู่แล้วครับเมื่อก่อนประกายไฟเกิดขึ้นแยกกันอยู่คนละซอกคนละหลืบ ทุกคนพยายามซ่อนประกายไฟของตัวเองไม่ให้สว่างจนเด่นแล้วมีคนอื่นเข้ามาดับ แต่ประกายไฟก็รวมกันเป็นเปลวไฟได้ ตอนนี้เรามีคบเพลิงแล้ว ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้น เราเริ่มสร้างคลื่น เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องไม่หมดหวัง แล้วค่อยๆ เดินไปสู่เป้าหมายในการทำให้กองทัพเป็นกองทัพที่ดี ถูกต้องภายใต้รัฐธรรมนูญ แล้วเราจะหลุดออกจากความยุ่งเหยิงทั้งหมดนี้

เอ : ตอนนี้เรากำลังรวมไอเดียให้เป็นปึกแผ่น ให้รู้ว่าในกองทัพมีคนที่คิดเหมือนกัน คนที่ไม่จำยอมต่อความบิดเบี้ยวของกองทัพ เราไม่ได้เห็นด้วยกับทุกการกระทำที่นำกองทัพไปใช้งานทางการเมืองแบบนี้ ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นตามแต่ละมุมของกองทัพ เมื่อไอเดียเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะเกิดกระแสขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีกระแสการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ เป็นผลพวงจากการที่กองทัพทำให้ตัวเองมีความน่าเชื่อถือลดน้อยลง คนที่ทำงานในกองทัพก็เลยคิดว่าแบบนี้ไม่ใช่แล้ว ต้องแก้ไขอะไรสักอย่างแล้ว

ตอนนี้สิ่งที่ต้องเริ่มต้นคือให้คนได้ออกมาพูด เกิดพื้นที่คุยกันว่าเราจะไปในทิศทางไหน เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่ มันเป็นเกมระยะยาว อาจจะนานหน่อย แต่เมื่อมันเริ่มขึ้นแล้วก็จะมีหนทางต่อไปเรื่อยๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save