fbpx

(กว่าจะเป็น) ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ภาพปกจาก Peerapong Prasutr

“จึงตรัสร้องเรียกด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า

พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ไยในร่มไม้เล่า

เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกันให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด

ภายหน้าไปไม่มีกษัตริย์ที่จะได้กระทำยุทธหัตถีแล้ว”[i]

น่าประหลาดที่เพียงได้ยินประโยคข้างต้น ‘คนไทยทั้งประเทศ’ ก็ดูจะรู้ทันทีว่ามาจากตำนานของมหาราชันพระองค์ใด และน่าประหลาดเช่นกันที่วีรกษัตริย์พระองค์นี้ทายทักได้แม่นยำว่าจะไม่มียุทธหัตถีต่อไปในวันหน้า ปานว่าเป็นผู้นิพนธ์เรื่องราวของพระองค์เองในอนาคต

วีรกรรมของพระนเรศเป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคมไทย หลายต่อหลายองค์ประกอบถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย ละครโทรทัศน์ หนังสือภาพสำหรับเด็ก หรือภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ยุคของพระองค์เป็นยุคที่หลายคนโปรดปราน เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวตื่นตาและเป็นยุคที่โลดโผนที่สุดยุคหนึ่ง

หากถามว่าตอนโปรดจากตำนานสมเด็จพระนเรศวรของผู้อ่านคือตอนใด คงมีคำตอบหลากหลาย ทั้งการชนไก่ที่จะ ‘ตีพนันบ้านเมืองก็ยังได้’ ศึกเมืองคัง การหลั่งทักษิโณทก พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง และที่โดดเด่นที่สุดคือยุทธหัตถี ซึ่งนอกจากคนทั่วไปจะรำลึกถึงแล้วยังเป็นวันกองทัพไทยด้วย

แล้วจะแปลกอะไรเล่า เมื่อเรื่องราวของพระองค์มีคุณสมบัติเหมาะสมจะเป็นตำนานทุกประการ ยุวกษัตริย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากแต่ไม่ย่นระย่อท้อถอย กลับมาปลดแอกมาตุภูมิจากเงื้อมมือศัตรูผู้โฉดช้าขลาดเขลา จนให้สงสัยนักว่าท่ามกลางบูรพกษัตริย์ที่สืบสายมานี้ เหตุใดจึงมีเพียงพระราชประวัติของพระองค์ที่ชวนติดตามเหลือแสน

สถานะปัจจุบันของพระนเรศในสังคมไทย

ไม่เพียงได้รับความนับถือในฐานะวีรกษัตริย์ผู้ยิ่งยงเท่านั้น สมเด็จพระนเรศวรหรือพระนเรศยังได้รับยกย่องประหนึ่งเทวดาผู้ปกปักรักษาแผ่นดินหรือเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง จะจัดทำเหรียญที่ระลึกหรือกระทั่งดวงตราไปรษณียากรเพื่อยอพระเกียรติก็ต้องปลุกเสกและหาฤกษ์ยาม เช่นเดียวกับการบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ทั่วประเทศ[ii]

พระบรมราชานุสาวรีย์ บริเวณทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาพโดย Peerapong Prasutr

นอกจากนี้ ยังปรากฏบทสวดบูชาสมเด็จพระนเรศวรหลากหลาย แทบไม่แตกต่างจากบทสวดบูชาพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ทีเดียว

“อิติจิตตัง เอหิ เทวะตาหิ จะมหาเตโช

นะระปูชิโต โสระโส ปัจจะยา ทิปปะติ

นะเรโส จะ มหาราชา เมตตา จะ กะโรยัง

มหาลาภัง จะทาโส (ต) ถี ภะวันตุเม”

บทสวดข้างต้นคือบทสวดบูชาพระนเรศที่แพร่หลายที่สุด ซึ่งนับเป็นหลักฐานชัดเจนว่าทรงได้รับความเคารพในสถานะที่แตกต่างจากกษัตริย์พระองค์อื่น กล่าวคือบทสวดดังกล่าวมิใช่บทสวดสรรเสริญวีรกรรมเท่านั้น แต่เป็นบทสวดเพื่อสรรเสริญพระบารมี และขอให้การแสดงออกซึ่งความภักดีนี้บันดาลโชคลาภเป็นทรัพย์สฤงคาร

ประจักษ์พยานแห่งความพิเศษที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือเอกสารที่ระลึกงานสมโภชพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งนอกจากบอกลำดับพิธีทางศาสนาในการบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์แล้ว ยังบันทึก ‘ปาฏิหาริย์ และสิ่งมหัศจรรย์’ ระหว่างการก่อสร้างด้วย โดยพลโทสมหมาย เกาฏีระ ปลัดบัญชีทหารระบุว่า “ตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้างและในวันที่กระทำพิธีเปิด… ได้เกิดปาฏิหาริย์และสิ่งมหัศจรรย์สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ” คือมีผึ้งหลวงมาทำรังบริเวณพิมพ์หล่อพระบรมรูปโดยไม่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ เมื่อหล่อแล้วก็สามารถอัญเชิญพระบรมรูปพร้อมพระแสงของ้าวผ่านสายไฟ สายโทรศัพท์ และสะพานลอยมาประดิษฐานได้ทันเวลา ครั้นยกพระบรมรูปขึ้นประทับคอพระคชาธารก็ลงเอยด้วยดีเหมือนจับวาง ทั้งนี้ ฝนที่มีทีท่าจะตกระหว่างพระราชพิธียังผ่านเลยไปตกบริเวณอื่น

พลโทสมหมายบันทึกด้วยความปลาบปลื้มว่า “แม้ธรรมชาติก็ยังสำแดงอภินิหารให้ปรากฏ ด้วยว่าในขณะนั้นเป็นฤดูฝนท้องฟ้ามืดครึ้มไปด้วยเมฆฝน แต่ปรากฏว่าในขณะที่นำพระบรมรูปขึ้นประทับคอพระคชาธารศึก ได้เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้นมา … เมื่อแพรคลุมถูกเปิดออกปรากฏละอองฝนโปรยปราย เหมือนราวกับว่ามีการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เมฆฝนที่ก่อตัวอยู่ด้านหลังกองบัญชาการกองทัพไทยได้กระจายอกไป และได้ปรากฏแสงพระอาทิตย์บนยอดตึกของกองบัญชาการอย่างที่เรียกกันว่า ฉัพพรรณรังสีสว่างจ้าไปทั่ว”

ความนึกคิดของชาวไทยอาจยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์เป็นทุน แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีบูรพกษัตริย์น้อยพระองค์จะได้รับยกย่องในลักษณะเดียวกันนี้ ทั้งในหมู่ประชาชนทั่วไป และโดยกลุ่มก้อนสำคัญทางการเมืองเช่นกองทัพ กระนั้นสถานะของพระองค์ในสังคมไทย (หรือสยาม) ก็ไม่ได้เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น ‘กว่าจะเป็น’ ตำนานได้นั้นต้องลงทุนลงแรงมากทีเดียว

พระนเรศยุค ‘ก่อนสมัยใหม่’

หนึ่งในผู้แจกแจงสถานะอันเปลี่ยนแปรของบูรพกษัตริย์พระองค์นี้ได้อย่างละเอียดลออที่สุดคือวริศรา ตั้งค้าวานิช ดังที่ปรากฏในบทความ ภาพลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ถึงทศวรรษ 2480 ในวารสารฟ้าเดียวกัน[iii] วริศราเห็นว่าเมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ความนิยมในเรื่องราวของพระนเรศแพร่หลายในหมู่ชนชั้นปกครองก่อน แล้วจึงถูกเผยแพร่สู่ความรับรู้ของสามัญชน การเปลี่ยนแปลงผู้ฟังเรื่องราวเช่นนี้ย่อมต้องพึ่งพาการปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับจุดประสงค์ใหม่ด้วย

หลักฐานสมัยอยุธยาระบุตรงกันว่าพระนเรศเป็นนักรบผู้โหดเหี้ยม มีวิธีทรมานเชลยและลงโทษข้าราชบริพารที่พิสดาร ไม่ว่าจะด้วยการถลกหนัง เผาทั้งเป็น หรือ “ตรัสให้ขุนนางที่กระทำผิดแม้น้อยนิดเฉือนเนื้อตนเองกินเฉพาะพระพักตร์” พระเดชพระคุณใดๆ ที่เป็นที่เล่าขานล้วนเป็นพระปรีชาสามารถในการรณรงค์สงคราม โดยมิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำนุบำรุงบ้านเมืองหรือวีรกรรมต่างๆ นัก

แม้หลักฐานสมัยอยุธยาที่กล่าวถึงพระนเรศอย่างจดหมายเหตุวันวลิต พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และคำให้การของชาวกรุงเก่า จะมีข้อด้อยในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง เพราะเป็นหลักฐานที่เขียนขึ้นหลังสวรรคตทั้งสิ้น ก็ยังพอจะสังเกตได้ว่าในความทรงจำของชาวสยามครั้งก่อนเก่านั้น คุณลักษณะเดียวของพระนเรศคือชาญรบ โดยไม่ปรากฏว่าทรงรบโดยคำนึงถึงไพร่ฟ้ามากกว่าเกียรติยศของพระองค์เองแต่อย่างใด เช่นเดียวกับกษัตริย์โบราณทั้งหลาย

โรงถ่ายภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดกาญจนบุรี

เรื่องราวของพระนเรศเพิ่งจะมีสีสันเป็นที่ตื่นตาตื่นใจหลังการชำระพงศาวดารเมื่อสถาปนากรุงเทพมหานครนี่เอง โดยหากเปรียบเทียบพระราชพงศาวดารที่รจนาในรัชสมัยพระนารายณ์ กับที่ชำระในรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว พบว่ามีหน้าที่กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระนเรศเพิ่มขึ้นถึง 174 หน้า เต็มไปด้วยกลศึกหลักแหลมและบทสนทนาคมคาย

การร้องเรียกมังสามเกียดให้เสด็จจากใต้ร่มไม้มากระทำยุทธหัตถี พร้อมทำนาย (แม่นยำราวตาเห็น) ว่าจะไม่มีผู้กระทำยุทธหัตถีอีกต่อไปนั้น ก็เพิ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย กล่าวได้ว่าตาที่เห็นแม่นยำเหลือเกินนี้เป็นตาของเจิมนั่นเอง

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยพระนเรศเมื่อแรกสถาปนากรุงเทพมหานครนั้นยังมีลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่ง คือนอกจากพระปรีชาสามารถแล้ว ยังขับเน้นบารมีและกล่าวถึงบทบาทของพระนเรศในการทำนุบำรุงพระศาสนา กล่าวคือพระนเรศในพระราชพงศาวดารใหม่นี้มีลักษณะเป็นกษัตริย์ในอุดมคติทุกกระเบียด เมื่อถึงคราวรบก็รบได้ไม่ย่นย่อ ทั้งยังเป็นผู้มีบุญญาธิการ สามารถทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ร่มเย็นใต้ร่มพระศาสนาได้

หนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของพระนเรศได้ครบถ้วน กระชับ และเป็นที่คุ้นเคยของชาวไทยที่สุดเห็นจะเป็นลิลิตตะเลงพ่าย ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศนั่นเอง ลิลิตตะเลงพ่ายเริ่มต้นด้วยบทอาเศียรวาท ความว่า

“ศรีสวัสดิเดชะ ชนะราชอรินทร์ ยินพระยศเกริกเกรียง เพียงพกแผ่นฟากฟ้า” ก่อนบรรยายว่าเกียรติยศของพระนเรศนั้น ทำให้ข้าศึก “ฝ่อใจห้าวบมิหาญ ลาญใจแกล้วบมิกล้า บค้าอาตม์ออกรงค์ บคงอาตม์ออกฤทธิ์” ถึงระดับที่กษัตริย์น้อยใหญ่ในอุษาคเนย์ต้อง “น้าวมกุฎมานบ น้อมพิภพมานอบ” กระทั่งกรุงศรีอยุธยานั้น “พิเศษสุขบำเทิง สำเริงราชสถาน สำราญราชสถิต พิพิธโภคสมบัติ พิพัฒน์โภคสมบูรณ์ พูนพิภพดับเข็ญ เย็นพิภพดับทุกข์ สนุกสบสีมา” เป็นที่ “เถลิงพระเกียรติฟุ้งฟ้า ลือตรลบแหล่งหล้า โลกล้วนสดุดี”

บทอาเศียรวาทนี้ปั้นแต่งพระนเรศได้สอดคล้องกับคติจักรพรรดิราช หรืออุดมคติว่าด้วยราชาเหนือราชันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยิ่ง คือต้องมีบารมีมาก และบารมีนั่นเองที่ยังความผาสุกแก่อาณาประชาราษฎร์ซึ่งมิได้หมายถึงพลเมือง (citizen) ในรัฐประชาชาติ แต่หมายถึงไพร่ฟ้าผู้สวามิภักดิ์ ผู้ด้อยบุญญากว่าที่ต้องยอบตัวอยู่ในอาณัติของพระองค์ (subject)

นอกจากขับเน้นบารมีของพระองค์แล้ว ลิลิตตะเลงพ่ายยังบรรยายลักษณะของมังสามเกียดแห่งหงสาวดีให้ผิดจากคติดังกล่าวชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความชาญศึก ความกล้าหาญ หรือกระทั่งบารมีที่ไม่ได้สั่งสมมาทัดเทียมกัน เห็นได้จากถ้อย “ผะชดบัญชา” ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเมื่อพระราชบุตรปฏิเสธไม่ไปรบเพราะเกรงประสบเคราะห์ ทรงตัดพ้อว่าพระมหาธรรมราชามีโชคนัก เพราะพระนเรศและพระเอกาทศรถนั้น “หาญหักศึกบมิย่อ ต่อสู้ศึกบมิหย่อน” หากมังสามเกียดเกรงพระนเรศเหลือเกิน ก็ขอให้ “เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์” เสีย

และหากจะมีอะไรในลิลิตตะเลงพ่ายที่ไขบารมีของพระนเรศให้เจิดจรัสที่สุด ก็คงเป็นการยกยอพระนเรศเป็นพระพุทธเจ้าผู้กำราบมาร ตลอดจนพระนารายณ์อวตารกำราบยักษ์นั่นเอง โดยเปรียบช้างทรงของพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีเป็นช้างคีรีเมขล์ของพญามาร และบรรยายยุทธหัตถีว่างามดุจ “รามเริ่มรณฤทธิ์ รบราพณ์” ทีเดียว

การกระทำยุทธหัตถี

วริศราระบุว่าเหตุที่พระนเรศต้องมีลักษณะเอกอุกว่าผู้ใดนั้น เพราะขณะที่มีการชำระพระราชพงศาวดารนี้พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกำลังฟื้นฟูบ้านเมืองที่ถูกทำลายย่อยยับ การรจนาพระราชพงศาวดารใหม่โดยเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับการต่อกรอริราชศัตรูและบำรุงพระศาสนา จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้พระองค์เองที่เพิ่งปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ท่ามกลางความระส่ำระสายทางการเมือง

โดยพระราชพงศาวดารเหล่านี้จะมีโครงเรื่องชัดเจน คือพระนเรศเติบใหญ่ท่ามกลางไฟสงคราม แต่ด้วยบารมีล้นพ้นเหนือผู้ชิงชัยทั้งปวง พระองค์จึงได้เป็นใหญ่พร้อมพระอนุชาที่เป็นคู่คิดในการทำนุบำรุงบ้านเมือง สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่กำลังก่อร่างของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ ‘ยอ’ กรุงศรีอยุธยาจากสวรรค์มาประดิษฐานใหม่บนผืนดิน มีสิทธิธรรมในฐานะผู้สร้างบ้านแปงเมืองใหม่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่เหมือนกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ขาดเขลา ไร้ความสามารถ และไม่เหมือน ‘คู่แข่ง’ อื่นๆ ที่ปราบปรามได้เบ็ดเสร็จแล้ว

โดยนอกจากสังคายนาวีรกรรมของพระนเรศให้สอดรับกับทำนองแปงเมืองของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว ผู้ชำระพระราชพงศาวดารยังแสดงออกชัดเจนว่าพระพุทธยอดฟ้าฯ และพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทซึ่งเป็นพระอนุชา ก็เสมอด้วยภาคหนึ่งของพระนเรศและพระเอกาทศรถนั่นเอง เห็นได้จากการใช้คำว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์’ ตลอดพระราชพงศาวดาร ซึ่งจะหมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวคู่ใดก็ได้

การนำเสนอกษัตริย์สองพระองค์เช่นนี้ยังให้ผลลัพธ์เชิงวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย เฟรเดอริก บี. กอสส์ (Frederick B. Goss) ผู้ศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ ‘เชษฐา-อนุชา’ ในรามายณะ กับ ‘เชษฐา-อนุชา’ ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยชี้ชวนให้สังเกตว่า พระอนุชาในประวัติศาสตร์นิพนธ์มักถูกบรรยายว่าเป็นผู้จงรักภักดี อยู่เคียงข้างพระเชษฐาเช่นเดียวกับพระอนุชาใน ‘อุดมคติ’ จากรามายณะ คือพระลักษณ์ สุครีพ และพิเภก โดยสองในสามคู่เชษฐา-อนุชาที่เขาพิจารณาว่ามีลักษณะเช่นนั้นในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย คือพระนเรศ-พระเอกาทศรถ และ ‘พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์’ เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพมหานครนั่นเอง[iv] การมีภาพลักษณ์เสมอด้วยอุดมคติเช่นนี้ ยิ่งส่งเสริมความเหนือกว่าของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีให้หนักแน่นกว่าผู้ชิงชัยอื่นใดในแผ่นดิน

ผู้เขียนไม่มีความประสงค์จะบอกว่าพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยนั้นเป็นเรื่องหาสาระไม่ได้ เพราะถึงพันจันทนุมาศจะได้อ่านบทความนี้ เขาก็คงไม่สนใจคำครหา ซ้ำร้ายจะข้องใจว่าผู้เขียนมาไล่เรียงเรื่องราวที่เขารจนาด้วยเหตุใด เพราะพระราชพงศาวดารก่อนสมัยใหม่นั้นเป็นแต่เพียงตำราของชนชั้นปกครอง สำหรับสอนสั่งกันและกันว่าต้องประพฤติตนอย่างไรจึงจะนับว่าสมพระเกียรติ เป็นความเรียงแจกแจงต่อเทพยดาว่าตนมีความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองอย่างไร ไม่ได้หมายปองการยอมรับของไพร่ฟ้าที่ไร้ความหมายต่อการตัดสินใจของเหล่าชนชั้นนำ

เสียงที่อยู่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในยามที่สยามก่อร่าง ‘รัฐสมัยใหม่’ นี่เอง

พระนเรศยุค ‘รัฐชาติ’

ความเปลี่ยนแปลงนับแต่รัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาบังคับให้ราชสำนักสยามควบรวมพลเมืองเข้าเป็นแขนขาแห่งการปกครอง พร้อมกับที่แสวงหาการสนับสนุนจากมหาอำนาจยุโรป ขณะที่คติจักรพรรดิราชและระบบรัฐบรรณาการดูจะพินาศสิ้นพร้อมกับเสียงหวูดเรือปืนแห่งกองทัพตะวันตก

วริศราระบุว่านับแต่รัชสมัยดังกล่าว เริ่มมีการแปลและเผยแพร่วีรกรรมของพระนเรศให้เป็นที่รับรู้ของเจ้าจักรวรรดิ โดยเน้นบางองค์ประกอบและลดทอนบางองค์ประกอบให้สอดคล้องกับความท้าทายที่ชนชั้นปกครองต้องเผชิญ Brief History of Siam พระราชนิพนธ์ในพระจอมเกล้าฯ ที่กล่าวถึงพระนเรศนั้นไม่กล่าวถึงยุทธหัตถีเลย วีรกรรมเดียวที่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำเสนอคือการทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง อันเข้าใจได้ว่าเป็นการนำเสนอความชำนาญในการใช้ ‘ปืน’ อาวุธของชาวตะวันตกนั่นเอง

การอ้างว่าพระนเรศเป็นผู้กอบกู้ ‘เอกราช’ ของสยามอยู่เนืองๆ ก็นับว่าแปลกใหม่ เพราะ ‘เอกราช’ เป็นคำที่พบได้น้อยก่อนการมาถึงของมหาอำนาจยุโรปและระบบรัฐสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า ‘เอกราช’ ในรัชสมัยนี้มิได้หมายถึงความเป็นไทแห่งชาติเช่นในปัจจุบัน เพราะแนวคิดว่าด้วยรัฐชาติมิได้หยั่งรากมั่นคงนักในเวลาดังกล่าว กระนั้น การกล่าวอ้างเช่นนี้ก็เป็นเครื่องสะท้อนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกับการตัดส่วนยอพระเกียรติกษัตริย์ร่วมภูมิภาคในเอกสารต่างๆ ออก เอกราชในที่นี้จึงน่าจะมุ่งเสนอความเป็น ‘เอก’ ของราชันแห่งสยาม อันหมายถึงความเป็นเลิศเหนือกษัตริย์พระองค์ใดมากกว่า กล่าวคือประกาศเป็นนัยว่าสยามนั้นเหนือกว่าพม่าที่เพิ่งเสียทีให้เจ้าจักรวรรดิ และอยู่ในสถานะทัดเทียมกับบริเตนหรือฝรั่งเศส (โปรดดูเชิงอรรถเพิ่มเติม)[v]

แม่น้ำสะโตงในปัจจุบันมีกระแสน้ำค่อนข้างแรง ไหลจากบริเวณที่สูงฉานโยมาลงสู่อ่าวเมาะตะมะ โดย Ericwinny

เรื่องราวของพระนเรศเริ่มมีลักษณะสอดคล้องกับแนวคิดว่าด้วยรัฐชาติซึ่งมีขอบเขตและศูนย์กลางการปกครองชัดเจนในรัชสมัยถัดมา เมื่อพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคัดเลือกเรื่องราวในพระราชพงศาวดารมาเขียนภาพ จากนั้นนิพนธ์โคลงประกอบ ก่อนนำไปประดับพระเมรุเจ้านาย ณ ท้องสนามหลวง โดยมีภาพของพระนเรศมากกว่ากษัตริย์พระองค์อื่นๆ และมีจำนวนไล่เลี่ยกับภาพของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งอาจกระทำเพื่อขับเน้นภารกิจ ‘กอบกู้บ้านเมือง’ ของทั้งสองพระองค์นั่นเอง ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในโคลงว่าด้วยการกำราบพระยาละแวกนั้น มีการกล่าวถึง ‘เขตแดน’ ที่ชัดเจน ตายตัว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทรงพรรณนาว่าพระนเรศทำให้ “ทุกเขตที่เคียงชิด สยามยั่น เดชนา” คือทำให้ ‘ดินแดน’ ที่ ‘ไม่ใช่สยาม’ แต่อยู่ ‘ประชิดสยาม’ เกรงพระราชอำนาจ

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ นอกจากพม่าและกัมพูชาแล้ว ล้านนาเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในโคลงนี้ สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลบริเตนในอินเดียและราชสำนักสยามได้ลงนามในสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง ซึ่งแผ่สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของบริเตนจากกรุงเทพฯ สู่หัวเมืองเหนือ หรืออ้างสิทธิ์ของสยามเหนือหัวเมืองเหนือแล้ว ทั้งสมเด็จพระชายาเจ้าดารารัศมีก็เพิ่งเสด็จถึงพระนคร การเน้นสถานะที่ด้อยกว่าของล้านนาในโคลงดังกล่าว จึงเป็นการกระชับกรงเล็บของสยามที่เกาะกุมล้านนาให้แน่นหนายิ่งขึ้นผ่านการรับรู้ประวัติศาสตร์ด้วย

ลักษณะการรจนาประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่เพื่อใช้ประกอบสร้างตัวตนในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยกำหนด ‘เรื่องราว’ หรือ ‘โครงเรื่อง’ ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์และสำนึกใหม่ของชนชั้นนำเช่นนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายในหนังสือ เมื่อสยามพลิกผัน ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยนั้นผันพลิกอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตการณ์ปากน้ำในปี 1893 (ร.ศ. 112) ที่ชนชั้นนำไทยเห็นว่าเป็นความอัปยศใหญ่หลวง กระทั่งต้องอาศัยประวัติศาสตร์เพื่อประกอบสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับที่ทางของตนในระเบียบโลกใหม่ พร้อมกับฉายความรู้สึกของตนเองขณะนั้นทับบนเรื่องราวครั้งเก่าก่อน เพื่อปลุกใจให้เชื่อมั่นว่าจะก้าวข้ามวิกฤตที่คล้ายคลึงกันได้อีกด้วย

ภาพฝาผนัง วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ภาพเรือด้านล่างสุดแสดงวิกฤตการณ์ปากน้ำ

ลักษณะที่ ‘สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบใหม่ในสยาม’ จึงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อความเป็นไทของประเทศ ณ จุดนี้เองที่เรื่องราวของพระนเรศกระโดดเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยผันแปรจากต้นแบบพระราชาผู้เปี่ยมบารมี ผู้แผ่บุญญาปกเกล้าเหล่าไพร่ฟ้า และมีชัยในการประชันพระเกียรติยศกับขัตติยะอีกพระองค์หนึ่ง เป็นราชันแห่งประชาชาติผู้ต่อสู้เพื่อเอกราช กล่าวคือ “การแข่งบารมีกลายเป็นการสู้รบระหว่างชาติ การล่าอาณานิคมและเอกราชมาแทนที่เป้าหมายสูงส่งทางศาสนา”[vi]

มโนทัศน์เกี่ยวกับพระนเรศก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือด้วย นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งปวงชนชาว ‘ไทยนี้รักสงบ’ ที่ต่อสู้กับผู้รุกรานซึ่งโลภโมโทสัน หมายช่วงชิงความมั่งคั่งแห่งแผ่นดินสยาม และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้ชัดเจนที่สุดก็เห็นจะเป็นพระบรมราโชวาทของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จไปสักการะเจดีย์โบราณที่ตำบลหนองสาหร่าย ด้วยเชื่อว่าเป็นจุดที่พระนเรศกระทำยุทธหัตถีนั่นเอง

“ไทยเราที่มีไชยชนะแก่พม่าครั้งนั้น ก็เพราะเหตุอย่างเดียวกันนี้เอง พม่ายกมาเปนก่ายเปนกอง ทำไมเราน้อยกว่าจึงชนะได้” รับสั่งหลังสรรเสริญวินัยและ ‘ความรักชาติ’ ของทหารชาวตะวันตกให้ปวงข้ารองพระบาทปฏิบัติตามแล้ว “ข้อนี้ก็ปรากฏไม่ฉเภาะในพงษาวดารเราเองเท่านั้น ถึงพงษาวดารของพม่าเองก็กล่าวเหมือนกัน … ที่พวกไทยชิงไชยชนะได้ก็เพราะพวกไทยรักสมเด็จพระนเรศวร เพราะเห็นแล้วว่าพระนเรศวรตั้งพระไทยที่จะป้องกันมิให้คนชาติอื่นมาย่ำยีเราได้”

 “เพราะเหตุฉนั้นพวกไทยจึงไม่สดุ้งกลัวความตาย … เพราะถ้าไม่สอึกเข้าสู้ตายแล้ว ความตายจะเดินมาหา จะต้องเป็นขี้ข้าเขาทั้งชาติ”

ด้วยเหตุนี้เอง “ถ้าพวกเราพร้อมกันพยายามทำใจเราให้เหมือนคนไทยครั้งสมเด็จพระนเรศวรที่จับอาวุธรบพม่าแล้ว … เวลานั้นแลเราจะถึงสมัยไม่มีเวลาจะเสื่อมซามลงได้ ตัวเราเองประดุจดังก้อนดินก้อนหนึ่งในภูเขา เราจะรักษาก้อนดินนั้นแล้วและปล่อยให้ภูเขาทลายนั้น จะเปนประโยชน์อันใด เราจะต้องตั้งใจรักษาภูเขา ก้อนดินนั้นจึงจะอยู่ได้”

ให้สงสัยนักว่าเพลงของขวัญจากก้อนดินได้รับแรงบันดาลใจจากพระบรมราโชวาทนี้หรืออย่างไร

สู่ปัจจุบันกาล

การณ์คงเป็นเช่นนั้นเรื่อยไปจนสิ้นสุดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยในรัชสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น แม้ไม่มีการรจนาประวัติศาสตร์นิพนธ์สำคัญขึ้นใหม่ ก็ปรากฏว่ามีการผลิตซ้ำอุดมการณ์ชาตินิยมซึ่งมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะในการเขียนภาพพระราชประวัติพระนเรศบนฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม อันเป็นวัดสำคัญในราชวงศ์จักรี โดยให้ภาพการกระทำยุทธหัตถีอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระประธาน ซึ่งเดิมทีเป็นตำแหน่งของภาพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชนะมาร

แม้ภาพลักษณ์ของพระนเรศจะลดความศักดิ์สิทธิ์ลงมากหลังการอภิวัฒน์สยามก็ไม่ได้เสื่อมคลายความนิยมไปนัก เพราะแนวคิดชาตินิยมในยุคคณะราษฎรยังเข้มข้น พระองค์จึงยังได้รับยกย่องในฐานะปัจเจกบุคคลผู้มีใจรักชาติ อย่างไรก็ดี ด้วยอายุขัยของคณะราษฎรสั้นเหลือเกิน ไม่ช้า พลังของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติโดยเฉพาะกลุ่มกษัตริย์นิยมก็ผุดพลุ่งขึ้นใหม่ เรื่องราวของพระองค์จึงถูกนำกลับมาใช้เพื่อประสิทธิ์ประสาทความชอบธรรมให้ชนชั้นปกครองในลักษณะที่ยึดโยงกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ และขับเน้นบทบาทของกษัตริย์ในการปกปักประเทศ

ทว่าที่แตกต่างไป คือครั้งนี้ ‘บารมี’ ของพระนเรศ ได้แผ่ขยายไปจนครอบคลุมอีกองค์กรหนึ่งคือกองทัพไทยด้วย สะท้อนสถานะที่เปลี่ยนแปลงของกองทัพหลังก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มก้อนสำคัญระหว่างการอภิวัฒน์ สู่องค์กรที่มีบทบาทในการค้ำจุนสถาบันกษัตริย์และกำจัด ‘คอมมิวนิสต์’ ซึ่งเป็นอริราชศัตรูใหม่ในสงครามเย็น โดยหลักฐานที่เห็นชัดเจนที่สุดคงไม่พ้นการกำหนดให้วันกระทำยุทธหัตถีเป็นวันกองทัพไทย และการรับบทพระนเรศ ตลอดจนพระเอกาทศรถในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของนายทหารชั้นสัญญาบัตร ที่ชี้ให้เห็นว่าบัดนี้กองทัพไทยได้ผูกตนเองกับชนชั้นนำอย่างแน่นแฟ้น กระทั่งมีสถานะเสมือนผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งแล้ว

YouTube video

ตัวอย่างภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แสดงนำโดยพันโทวันชนะ สวัสดี ประกอบด้วยทั้งอุดมการณ์ชาตินิยมสมัยใหม่ การร้องเรียกมังสามเกียดให้ออกจากใต้ร่มไม้ และการแสดงภาพชนชั้นนำหงสาวดีให้ตรงข้ามกับพระนเรศทุกประการ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมการทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี ยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าว โดยระบุว่าเดิมทีวันสำคัญของกองทัพไทยประกอบด้วยวันกลาโหม (วันที่ 8 เมษายน เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งกรมยุทธนาธิการ) และวันรำลึกของแต่ละเหล่าทัพ โดยของกองทัพบกเป็นวันที่ 28 กรกฎาคม หรือวันที่ได้ฉลองชัยในกรณีพิพาทอินโดจีน อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหารปี 1947 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการหวนคืนสู่อำนาจของกลุ่มกษัตริย์นิยมเพียง 4 ปี วันรำลึกกองทัพบกก็ถูกเปลี่ยนเป็นวันที่ 25 มกราคมเพื่อรำลึกถึงการกระทำยุทธหัตถี โดยถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มี “เกียรติประวัติในทางตำนานและประวัติศาสตร์ของชาติ”

แม้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเปลี่ยนวันกองทัพไทยเป็นวันที่ 8 เมษายนตามเดิม ก็ไม่ได้ทำให้การขับเน้นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์และความผูกพันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพเสื่อมคลายลงแต่อย่างใด และในที่สุด เมื่อชัยชนะของฝ่ายขวาเหนืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นที่เด็ดขาด คือระหว่างการดำรงตำแหน่งของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในปี 1980 วันกระทำยุทธหัตถีจึงถูกกำหนดให้เป็นวันกองทัพไทย โดยถือว่าเป็น “วันที่มีความสำคัญและมีความหมายยิ่งสำหรับทหารทั้งสามเหล่าทัพ พึงระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ ปลุกใจให้เกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมือง และพร้อมที่จะสละชีวิตเลือดเนื้อเป็นชาติพลี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่ทหาร ทั้งเป็นที่ชื่นชมยินดีของปวงชนชาวไทยอีกด้วย”

เห็นได้ชัดว่ากว่าจะเป็นตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่หลายคนคุ้นเคยนั้นไม่ง่ายดาย ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนสารพัน อาจเป็นเคราะห์ดีอยู่บ้างที่เรื่องราวของพระองค์เกิดขึ้นในห้วงเวลาเหมาะเจาะ คือเมื่อกรุงศรีอยุธยาระส่ำระสายด้วยไฟสงคราม และอาจเป็นเคราะห์ดีที่พระองค์มีวีรกรรมโดดเด่นเป็นที่เล่าขาน เพราะหากต้องรจนาเรื่องราวตื่นตาเหล่านี้จากศูนย์คงยากเหลือแสน

เรื่องราวของพระนเรศก็คงมีสถานะเหมือนสุโขทัยใน เมื่อสยามพลิกผัน ของธงชัย วินิจจะกูล นั่นเอง คือ “ใครๆ ก็ชอบสุโขทัยกันทั้งนั้น” จะนิยมกษัตริย์หรือไม่ จะเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวาก็นิยมตำนานพระนเรศได้ทั้งสิ้น ค่าที่เส้นทางพระชนม์ชีพโลดโผนชวนติดตามกว่าของกษัตริย์หลายพระองค์ และยังลงเอยด้วยชัยชนะครั้งใหญ่ เรื่องราวเช่นนี้ในศตวรรษหนึ่งจะมีสักเรื่อง จึงมีคุณวิเศษเพียงพอจะช่วงชิงมาใช้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มก้อนทางการเมืองของตน

คำถามที่ยังหลงเหลือจากการแกะรอยเส้นทางตำนานของพระองค์ คือยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่ตกที่นั่งเดียวกันหรือไม่ หรือมีเรื่องราวใดบ้างที่ถูก ‘ลืม’ เสีย ด้วยมันไม่ได้สอดรับกับจุดประสงค์การใช้งานของผู้มีอำนาจกำหนดความรับรู้ของผู้คนในสังคม

การถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุทธหัตถีอาจเพลาลงได้บ้าง เพราะที่จำเป็นกว่าคือการตอบคำถามว่าการกระทำยุทธหัตถีมีสถานะทางสังคมอย่างไรทั้งในอดีตและปัจจุบัน และควรจะมีที่ทางอย่างไรในอนาคตจึงจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าโทษ เพียงแต่ดูเหมือนสังคมไทยจะยังจมอยู่ที่จุดเดิมนี้ไม่รู้จบสิ้น เวียนเป็นทักษิณาวัตรรอบกฤดาภินิหารของพระนเรศ เหมือนพระบรมสารีริกธาตุที่พันจันทนุมาศอ้างว่าพระองค์ทอดพระเนตรเห็นก่อนกระทำยุทธหัตถีนั่นเอง


[i] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (พระนคร, คลังวิทยา, 1964) อ้างถึงใน วริศรา ตั้งค้าวานิช, “ภาพลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ถึงทศวรรษ 2480,” ฟ้าเดียวกัน 7, ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2009): 102.

[ii] Matthew Kosuta, “Among the Thai Pantheon: Worshipping King Naresuan’s Victory in Elephant Duel,” Humanities and Social Sciences Journal of Pibulsongkram Rajabhat University 14, no. 2 (July-December 2020): 626-630.

[iii] ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2009 หน้า 94-132

[iv] Frederick B. Goss, “A Study of the Role of ‘Anucha’, the Younger Brother, in Ramakien and Parallels with Thai Historical Narratives,” (MA diss., Chulalongkorn University, 2007), 112.

[v] แนวคิดว่าด้วยรัฐสมัยใหม่ไม่ได้ประดิษฐานมั่นคงนักในต้นรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักวิชาการไทยศึกษาหลายคนเห็นว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างสองวัฒนธรรม (lost in translation) บ้างในระยะแรก ผู้เขียนขอเสนอให้สังเกตการออกพระนามสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในสนธิสัญญาเบาว์ริงฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในปี 1855 โดยฉบับภาษาอังกฤษจะออกพระนามว่า ‘Queen of the United Kingdom’ และเรียกดินแดนในปกครองของพระองค์ว่า ‘dependencies’ ซึ่งหมายถึงดินแดนที่ถูกอีกดินแดนหนึ่งปกครองโดยตรง ขณะที่ภาษาไทยออกพระนามว่า “พระนางซึ่งเปนใหญ่เปนเจ้าราชอาณาจักรอันผสมกัน” และเรียกดินแดนในปกครองว่า “ที่อื่น ๆ อันขึ้นแก่ราชอาณาจักรนั้น” ซึ่งเป็นคำที่ใช้แก่กษัตริย์ในระบบรัฐบรรณาการ หมายถึงผู้เป็นใหญ่เหนือผู้สวามิภักดิ์ การใช้คำที่สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับรัฐจะเปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัดในรัชสมัยถัดมา อาทิ ในสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง ปี 1883 ที่เริ่มมีการเติม “belonging to Siam” (ของสยาม) หลังชื่อหัวเมืองเหนือทั้งหลาย แสดงให้เห็นความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชอำนาจเหนือดินแดนที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

[vi] ธงชัย วินิจจะกูล, เมื่อสยามพลิกผัน: ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2019), 87-91.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save