fbpx

ไตรภูมิพระร่วง x โองการแช่งน้ำ: การปฏิวัติการรับรู้ด้วย ‘หนังสือสร้างเจ้า’ ผี ศาสนา และศาสตราวุธ

ภาพปกจาก ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ ของโครงการวรรณกรรมอาเซียน

“แต่ก่อนๆ นานมาแล้ว คนเรายังโง่ บ้านเมืองก็ยังไม่มี ดังที่เราเห็นกันเดี๋ยวนี้ คือยังเป็นป่าเป็นดงทั้งนั้น ยังไม่รู้จักทำบ้านเรือนอาศัย คนเราต้องอาศัยอยู่ในถ้ำบ้าง อาศัยตามสุมทุมพุ่มไม้บ้าง อาศัยตามต้นไม้ เช่น ลิง ค่างบ้าง ยังไม่รู้จักทำผ้านุ่ง ผ้าห่ม ต้องเอาใบไม้และสิ่งอื่นๆ มาปกปิดร่างกาย”[1]

แบบเรียนภาษาไทย แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น สำหรับชั้นประถมปีที่ 1 เขียนขึ้นราวทศวรรษ 2490

ย้อนออกไปในเวลาอันไกลโพ้น บนแผ่นดินสมมติที่ได้ชื่อว่าประเทศไทยในปัจจุบันที่ครอบคลุมทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โขง ชี มูน และคาบสมุทร มนุษย์ทยอยกันตั้งถิ่นฐาน สืบลูกสืบหลาน สร้างบ้านแปงเมืองด้วยเงื่อนไขทางสังคมที่ต่างกันไป บางส่วนกระจัดกระจายตามเขตป่าเขาดงดอย บางส่วนยึดครองพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ มีพ่อค้าจากต่างถิ่นเป็นตัวเชื่อมโยงเส้นทางและความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้คน

ผู้นำธรรมชาติที่มีความเข้มแข็งสามารถนำให้หมู่บ้านพ้นจากภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นสัตว์ร้าย ภัยธรรมชาติ หรือการหาอาหารและจัดการทรัพยากร ต่างก็ซึมซับผลประโยชน์และสร้างอิทธิพลและบารมีเพิ่มขึ้น ความเชื่อเรื่องผี ไสยศาสตร์ และสิ่งที่มองไม่เห็นนับเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่ควบคุมสังคมและเสริมอำนาจให้กับผู้นำท้องถิ่น

สิ่งเหล่านี้ได้สอดคล้องกับคำอธิบายเรื่อง ‘การปฏิวัติการรับรู้’ ในหนังสือ Sapiens ว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ก้าวกระโดดทางวิวัฒนาการที่ต่างจากสัตว์ทั้งหลายก็คือ พลังจากเรื่องเล่าที่กลายเป็นอำนาจที่ทำให้คนเชื่อ ยำเกรง และศรัทธากับสิ่งที่มองไม่เห็น อธิบายไม่ได้ ผู้เขียนชี้ว่า ข้อสันนิษฐานหนึ่งก็คือ การซุบซิบและนินทาเป็นพลังสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถสร้างเครือข่ายและความเป็นพวกเดียวกัน แต่ก็มีข้อจำกัดว่าอาจจะสร้างวงได้ไม่เกิน 150 คน[2] แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์โฮโมเซเปียนส์สามารถขึ้นมาเป็นใหญ่อยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหารนั่นคือ การสร้างตำนานที่เชื่อกันว่าสามารถรวมผู้คนได้หลักหมื่นในตัวเมือง และหลักล้านในระดับอาณาจักรขึ้นมาได้ ผ่านตำนานร่วมกัน ศาสนจักรเดียวกัน ตำนานชาติเดียวกันที่กอปรเป็นรัฐชาติขึ้นมา[3]

กษัตริย์ที่เพิ่งสร้าง กับ พลังทางศาสนาสากล

พลังของผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักจะมีอำนาจคุ้มเพียงละแวกบ้านหรือชุมชนขนาดไม่ใหญ่นัก เนื่องจากมีโครงเรื่องที่ยังไม่ซับซ้อนมากพอ ต่างจากศาสนาสากลที่นำเข้ามาจากคนต่างถิ่น ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากดินแดนตะวันตกที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าอินเดีย ศาสนาพุทธและฮินดูที่เข้ามาได้สร้างโลกที่ซับซ้อนเป็นจักรวาลของชีวิตมนุษย์ที่ช่วยอธิบายให้เห็นว่าโลกหลังความตายเป็นอย่างไร แล้วบรรพชนของพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหนและวนกลับมาเกิดใหม่อย่างไร เช่นเดียวกับโลกทั้ง 3 ภพ โลกมนุษย์ สวรรค์ และนรก กลายเป็น space ที่ถ่วงดุลชีวิตที่ดีงามและโสมมตามคัมภีร์ทางศาสนา สวรรค์และนรกเป็นเสมือนรางวัลและการลงทัณฑ์ในอุดมคติเพื่อควบคุมผู้คนให้อยู่ศีลธรรมและการปกครองของชนชั้นนำ

นอกจากศาสนาแล้ว สิ่งที่ตามมาด้วยกันคือ ความรู้ทางอักษรศาสตร์และหนังสือฮาวทูที่ใช้ในการปกครองคน อักษรปัลลวะที่มาจากอินเดียกลายเป็นพื้นฐานของอักขระในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคนั้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมเมือง-อาณาจักรบนภาคพื้นทวีปอย่างมอญ และเขมรที่จะทรงอิทธิพลเป็นอย่างยิ่ง ยกเว้นแต่เพียงเวียดนามที่ใช้อักษรแบบจีน ตัวอย่างสำคัญอาจมองผ่านรัฐมอญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ากันว่ามอญรับนิทานพื้นบ้าน รามายณะ กามศาสตร์ และธรรมศาสตร์จากการท่องจำ มาราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 (พ.ศ.600-700) แล้วจึงประดิษฐ์ตัวอักษรเองจากปัลลวะในพุทธศตวรรษที่ 11 (พ.ศ.1000) พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของอาณาจักรสะเทิม หรือสุธรรมวดี[4] พบร่องรอยของจารึกภาษามอญโบราณกระจายในเขตต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันทั้งภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และเหนือของไทย สอดคล้องกับการกระจายตัวของเมืองเครือข่ายยุคทวารวดี

จากหลักฐานดังกล่าวได้มีการจำแนกจารึกภาษามอญออกเป็น 3 ยุค ดังนี้[5] ยุคแรกพบบริเวณนครปฐม อุทัยธานี ลพบุรี และสระบุรี น่าจะเป็นยุคเริ่มแรกใช้อักษรปัลลวะจากอนุทวีปอินเดีย รูปแบบอักษรปัลลวะนั้นเป็นอักษรแรกที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำมาบันทึกภาษาของตนในรูปจารึก มีอายุเก่าแก่ที่สุดพุทธศตวรรษที่ 12

ยุคที่ 2 ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 พบในเขตนครสวรรค์ ลพบุรีและชลบุรีสำหรับภาคกลาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์  อุดรธานี และสกลนคร จารึกด้วยอักษรที่เรียกว่า ‘หลังปัลลวะ’ อักษรประเภทนี้แตกต่างจากอักษรปัลลวะต้นแบบโดยการตัดเส้น ลดความหยัก เป็นต้น แถบนี้ยังพบจารึกภาษาเขมรโบราณก่อนอิทธิพลทวารวดีจะแผ่เข้ามา แสดงให้เห็นถึงมีการรับเอาวัฒนธรรมระดับสูงมาก่อนแล้ว

ยุคที่ 3 ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 พบในเขตภาคเหนือบันทึกด้วยอักษรมอญโบราณ แถบลำพูนและเชียงใหม่ อักษรเช่นนี้ปรับมาจากยุคที่ 2 หลายตัวเขียนให้ง่ายขึ้น และมีลักษณะคล้ายกับรูปแบบอักษรมอญในพุกามสมัยพระเจ้าจันสิตถาหรือสมัยต่อมา ขณะที่อักษรเขมรหรืออักษรขอมมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลางและล่างในรัฐสุโขทัยและรัฐอยุธยา[6] 

ความซับซ้อนด้านอักษรศาสตร์บนพื้นฐานของตัวเขียน ทำให้การสื่อสารเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและแผ่ขยายออกไปได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น พื้นฐานของความรู้ดังกล่าวนำไปสู่การเติบโตของตัวอักษรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ‘ภาษาไทย’ ที่อ้างกันว่าประดิษฐ์ขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 อีกด้วย ด้วยเครื่องมือและกลไกแบบใหม่ทำให้ผู้นำท้องถิ่นกลายร่างเป็นกษัตริย์ผู้สูงส่งกว่าคนภายใต้การปกครอง พวกเขามีสถานภาพและฐานะที่แตกต่างจากมนุษย์ธรรมดา จากเดิมที่เคยเป็นผู้มั่งมีและผู้มีบารมีระดับหมู่บ้านหรือย่านทำกิน ความสัมพันธ์ของพวกเขาต่อคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าได้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น

มีผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาชี้ไว้ว่า ในคัมภีร์ฮินดูหรือในอินเดียนั้น กษัตริย์ไม่ได้มีลักษณะเป็นเทพเจ้า มีความพยายามอ้างว่า กษัตริย์นั้นๆ ได้รับพรจากเทพ แต่น้อยครั้งมากที่จะบอกว่ากษัตริย์เป็นเทพเสียเอง ยกเว้นแต่กรณีพระราม พระกฤษณะ ไม่ใช่กษัตริย์เป็นเทพ แต่เทพลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ในอุษาคเนย์สร้างการรับรู้ที่ต่างออกไปนั่นคือ กษัตริย์มีสถานะเป็นเทพ[7] นี่อาจเป็นเรื่องเล่านอกครูอินเดียที่กลายเป็นความเชื่อและระบบความรู้อำนาจของท้องถิ่นโดยเฉพาะ ที่ผสมผสานทั้งฮินดู พุทธ และผีท้องถิ่น

พระธรรมศาสตร์ กฎหมายฉบับมอญอันเป็นคัมภีร์ที่ปรับมาจากอินเดียฝ่ายฮินดู เป็นตัวอย่างดีที่ชี้ให้เห็นว่า ความรู้อินเดียถูกทำให้เป็นท้องถิ่นและทำให้เป็นพุทธได้อย่างไร นั่นคือ การแต่งด้วยภาษาบาลี แทนที่จะเป็นสันสกฤต นอกจากนั้นยังรจนาผ่านตัวบททั้ง 3 ได้แก่ พระธรรมศาสตร์ภาษาสันสกฤตของฮินดู, ไตรปิฎกและอรรถกถา และขนบธรรมเนียมท้องถิ่น หากพบว่าคัมภีร์อินเดียขัดแย้งกับความเชื่อท้องถิ่นก็จะถูกปรับเปลี่ยนโดยอ้อม โดยอาจยกนิทานชาดกมากำหนด หรือการแปลงเรื่องเดิม เปลี่ยนตัวแสดงใหม่[8]

ร่องรอยของวรรณกรรมพุทธศาสนาที่ส่งผลต่อการสร้างความชอบธรรมให้กับกษัตริย์ปรากฏในพระสูตรที่ชื่อว่า ‘อัคคัญสูตร’ ที่กล่าวในเชิงตำนานว่า แต่เดิมนั้นมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยังมีศีลธรรม แต่นานเข้าก็เริ่มถูกกิเลสและความชั่วร้ายเข้าครอบงำ จนในที่สุดต้องไปหาคนมาผู้หนึ่งขึ้นมาปกครองซึ่งก็คือกษัตริย์ คุณสมบัติของผู้นี้ก็คือ ผู้ที่มีลักษณะที่ดีกว่าผู้อื่น อย่าง ‘รูปงามที่สุด เป็นที่รักที่สุด มีเสน่ห์ที่สุด สามารถที่สุด’ ตำแหน่งกษัตริย์จึงได้รับการสมมติขึ้นมาให้ปกครองผู้คนในสังคมที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น[9]

อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นความเชื่อสำคัญที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการยกระดับและสถานภาพผู้นำท้องถิ่นให้สูงส่ง เห็นได้จากตัวบททางศาสนาที่ว่าด้วย ‘พุทธวงศ์’ อันหมายความถึงวงศ์ของพระพุทธเจ้าในอรรถกถา แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับชนชั้นกษัตริย์ นั่นคือ ในพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ มีเพียง 3 องค์ที่เกิดในตระกูลพราหมณ์ ส่วนอีก 22 พระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์[10]

ว่ากันว่า รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตีความเพิ่มเติมในมิติของรัฐและกษัตริย์ นั่นคือ ความเชื่อที่ว่าผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้สั่งสมบารมีไว้สูงที่สุดในหมู่มนุษย์ ยังต้องพึ่งพาการประดิษฐ์พิธีกรรมและจัดสร้าง space ที่แตกต่างจากคนทั่วไป พวกเขาจึงต้องครอบครองสิ่งของและที่พักอาศัย ราชวัง การได้ครองราชย์แสดงให้เห็นถึงบารมีที่สูงสุด หากผู้ใดไม่มีบารมีก็จะถูกแย่งราชชิงบัลลังก์ ไม่เพียงเท่านั้น กษัตริย์ยังต้องเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาในลักษณะเดียวกับเทวดาอย่างพระอินทร์ ต้องสร้างและซ่อมแซมปูชนียสถาน สนับสนุนคณะสงฆ์ และยังต้องเน้นว่าพันธะสำคัญของกษัตริย์นั้น จะต้องเป็นผู้นำทางศีลธรรมของรัฐและผู้คนในปกครองเพื่อไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนาอันมีนิพพานเป็นปลายทาง กษัตริย์จึงมีลักษณะเป็นโพธิสัตว์ สัตว์โลกผู้มีศักยภาพที่จะบรรลุถึงโพธิญาณที่จะพามนุษย์ข้ามฝั่งไปยังแดนนิพพาน ดังนั้น การตีความเช่นนี้ทำให้รัฐเป็นเหตุแห่งการฟื้นสู่ความดีของมนุษย์อีกด้วย เนื้อหาเหล่านี้เห็นได้ชัดในวรรณกรรมไตรภูมิพระร่วงที่เชื่อกันว่าแต่งโดยกษัตริย์แห่งสุโขทัย พญาลิไท[11]

ไตรภูมิพระร่วงและจักรวาลพุทธ เวอร์ชันภาษาไท-ไต

ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมที่เชื่อกันว่าถือกำเนิดมาจากรัฐสุโขทัยอันได้รับการยกย่องในเชิงวรรณศิลป์และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยในปี 1888[12] วรรณกรรมนี้คือภาพตัวแทนชุมชนในจินตนาการแบบพุทธเถรวาทที่จำลองโลกที่ซับซ้อนกว่าชุมชนที่ศรัทธาในผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น จิตนาการใหม่ถึงโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ได้อธิบายถึง space ใน 3 แบบนั่นคือ ทุคติภูมิ (แดนนรก แดนสัตว์เดียรฉาน แดนเปรต และแดนอสูร) แดนมนุษย์ และแดนที่เหนือกว่ามนุษย์ได้แก่ สวรรค์และรูปภูมิ อรูปภูมิ รวมไปถึงนิพพาน ทุคติภูมิ เป็นส่วนที่อยู่ใต้พิภพ เป็นดังภาพฉายของบทลงโทษมนุษย์ผู้ละเมิดศีลธรรมทั้งหลาย ในแดนมนุษย์ก็ชี้ให้เห็นถึงชีวิตปัจจุบันของผู้คนทั้งโอกาสที่จะดีขึ้นและความเสี่ยงที่จะลงต่ำ ขณะที่แดนเหนือกว่ามนุษย์ก็เป็นอนาคตของชีวิตที่ดีหลังความตายที่อาจไปได้ไกลถึงอุดมคติอย่างนิพพานอันเนื่องมาจากการประพฤติดีประพฤติชอบ

สิ่งที่ควรกล่าวเน้นย้ำคือ การอธิบายถึงแดนมนุษย์ ได้ชี้ให้เห็นถึงมนุษย์ในทวีปต่างๆ ทั้ง 4 โดย 3 ทวีปนั้นมีลักษณะที่ต่างจากทวีปที่พวกเราอยู่ที่เรียกว่า ‘ชมพูทวีป’ เงื่อนไขของชมพูทวีปคือ มีความยืดหยุ่นทางชีวิต บางคนอายุยาว บางคนสั้น อันขึ้นอยู่กับศีลธรรม นั่นคือ การปฏิบัติธรรม ยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดาและสมณชีพราหมณ์ ใครทำตามนี้จะอายุยืนยาว ในทางตรงกันข้ามก็จะอายุสั้นลง แต่ในทวีปอื่นอายุตายตัว ในบุรพวิเทหทวีป 100 ปี อมรโคยานทวีป 400 ปี อุตตรกุรุทวีป 1,000 ปี เมื่อถึงวันก็ตายตามกำหนดนั้น ไม่มีมากหรือน้อยกว่านั้น ด้วยเหตุว่าตั้งอยู่ในศีล 5 ตลอดกาล ที่น่าสังเกตคือ คนในทวีปเปล่านั้น ไม่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือทรัพย์สินสิ่งของ ไม่ทำไร่ไถนาค้าขายอีกต่างหาก

ตรรกะของโลกอุดมคตินี้ไม่พ้นกับการผูกอยู่การทำบุญรักษาศีล เช่นบอกว่าอุตตรกุรุทวีปมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนในทวีปอื่นเพราะเหตุนี้ มีข้าวที่เรียกว่า ‘สัญชาตสาลี’ เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องเพาะปลูก ไม่ต้องตำ ไม่ต้องฝัด และมีหินวิเศษที่เมื่อเอาข้าวสารกรอกหม้อวางบนแผ่นหินก็จะมีไฟลุกเมื่อข้าวสุกไฟจะดับเอง กับข้าวก็ไม่ต้องจัดหา อยากกินอะไรก็จะผุดเกิดขึ้นใกล้มือ ในทวีปนี้ยังมีต้นกัลปพฤกษ์ที่ดลบันดาลทรัพย์สินเงินทองเครื่องประดับสำหรับผู้ปรารถนา ชายหญิงก็มีรูปร่างผิวพรรณงาม มีทรวดทรงคงที่ไม่แก่เฒ่าไปตามกาลเวลา ดูอ่อนเยาว์ตลอดชีวิต มีเวลาเที่ยวเล่น เมื่อต้องครองเรือนมีผัวเมีย ก็จะร่วมรักกันเพียง 7 วันหลังจากนั้นก็ไม่ร่วมรักกันอีก จนสิ้นอายุขัยที่ 1,000 ปี เมื่อตายก็จะมีนกยักษ์มาคาบเอาศพไป เมื่อตายไปก็จะไม่ไปเกิดในจตุราบายทั้ง 4 อย่าง นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน แต่จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นฟ้า

แต่ถึงจะประเสริฐเพียงใด ทวีปดังกล่าวก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะว่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ พระยามหาจักรพรรดิราช ผู้มีบุญทั้งหลายจะไม่ไปเกิดในทวีปดังกล่าว รวมถึงอีก 2 ทวีปที่ไม่ใช่ชมพูทวีป ตัวบทยังได้เน้น ‘พระยามหาจักรพรรดิราช’ ว่า เป็นผู้สร้างสมบุญญาธิการมาแต่ปางก่อน โดยการบูชาพระรัตนตรัย รักษาศีล เมตตาภาวนา ตายไปเกิดในสวรรค์ บางครั้งเกิดมาเป็นพระยาผู้ใหญ่ มียศ มีศักดิ์ บริวาร ปราบทั่วทั้งจักรวาล ชอบฟังธรรมเทศนาจากสำนักสมณพราหมณาจารย์ และนักปราชญ์รู้ธรรม บำเพ็ญศีล 8 แจกทานผู้มาขอ แล้วอาบน้ำสระผมด้วยเครื่องหอมแล้วสวมผ้าขาวสมาทานศีล 8 แล้วนั่งกลางแผ่นดินทองอยู่บนแท่นประทับที่ประดับด้วยแก้ว 7 ประการ โดยยกตัวอย่างถึงบุคคลที่ใกล้เคียงความเป็นพระยามหาจักรพรรดิราชก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระยาธรรมโศกราช ดังนั้น คัมภีร์บ่งบอกโดยนัยถึงสถานภาพของกษัตริย์ที่เป็นผู้มีบุญ หรือผู้มีศักยภาพที่จะบรรลุถึงบุรุษในอุดมคติอย่างพระยามหาจักรพรรดิราช    

เรื่องของโชติกเศรษฐี มีความน่าสนใจตรงที่เอาเรื่องพ่อค้าคหบดี กษัตริย์ และดินแดนในอุดมคติอย่างอุตตรกุรุทวีปมายำรวมกัน ตัวละครมีทั้งพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าอชาตศัตรูที่อยู่ในพุทธประวัติ โชติกเศรษฐีเป็นผู้มีบุญที่ได้รับทรัพย์สมบัติมาจากกุศลกรรมที่ทำไว้มาแต่ปางก่อน พระวิษณุกรรมเป็นผู้เนรมิต ทำให้เขาได้อยู่ในปราสาทแก้ว มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพร้อมพรักที่ดีเสียยิ่งกว่าปราสาทไม้ของพระเจ้าพิมพิสาร ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเมียเป็นนางแก้วที่มาจากอุตตรกุรุทวีป มีนางทาสที่หน้าตาสวยสดงดงาม ความยิ่งใหญ่ของโชติกเศรษฐีเป็นที่อิจฉาของกษัตริย์ผู้มาเยี่ยมเยียนพร้อมกับลูกชายอย่างอชาตศัตรู หลังจากอชาตศัตรูรัฐประหารยึดอำนาจพ่อของตัวเองแล้ว เขาก็มุ่งหมายที่จะยึดปราสาทของโชติกเศรษฐี นำกองทัพเข้าไปบุกแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อมียักษ์เฝ้าปราสาทนับพันตน สุดท้ายก็ล่าถอยกลับมา ไปพบเศรษฐีที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ในวัดเวฬุวัน เศรษฐีแจ้งว่าอันสมบัตินี้ถ้าไม่ยกให้ ก็ไม่มีใครจะเอาไปได้ อชาตศัตรูเห็นว่าเศรษฐีช่างโอหังนักทำตัวเป็นเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน ในตอนท้ายโชติกเศรษฐีสังเวชใจจึงขอออกบวช แล้วสมบัติก็อันตรายหายไป นางแก้วภรรยาก็มีเทวดานำส่งกลับไปยังทวีปที่เธอจากมา สมบัติมากมายก็อันตรธานไปสิ้น ดังนั้น ตัวบทนี้จึงตอกย้ำว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยของผู้คนจึงสัมพันธ์กับคติการทำบุญทำทานและประพฤติชอบ

เคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ร่ำรวย เป็นใหญ่ เป็นเจ้า เป็นพระยาจักรพรรดิราชนั้นก็อยู่ที่ว่าเคยทำบุญ บำเพ็ญศีล และทำทานมาแค่ไหน มีการสรุปจำแนกว่าบุญใน ‘กามภูมิ’ มีมากถึง 17,280 ประการ มาจากการทวีคูณของกุศลตามคณิตศาสตร์ว่า

มหากุศล 8 x บุญกิริยาวัตถุ 10 x อารมณ์ 6 x อธิบดี 4 x กรรม 3 x ความตั้งใจจริง 3 = 17,280 ประการ

ทว่า บุญชั้นต้นนี้ปฏิบัติได้ทั้งในโลกมนุษย์และเทวดาในสวรรค์ชั้นฉกามาพจรที่ส่งผลแรงถึงกับเป็นพระอินทร์ในแดนสวรรค์ มีสมบัติอย่างมนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ แต่ยังไม่ถึงพรหมโลก

ปิดท้ายด้วยสาเหตุของความตาย คือ ตามสมควรไม่เกี่ยงอายุ ตายแบบไม่สมควร ตายเพราะแก่ชรา และตายแบบปัจจุบันทันด่วน โดยสิ่งที่ลิขิตก็คือ กรรมที่แบ่งย่อยออกไปต่างๆ นานา จากนั้นก็บรรยายให้เห็นว่า เมื่อจะขาดใจตายจะมีภาพที่เห็นก่อนตายต่างกันไป ถ้าเห็นภาพดีก็จะไปเกิดในภพภูมิที่ดี

การมองแบบเหนือโลกนำไปสู่คำพยากรณ์ถึงหายนะของโลกว่า จะพินาศด้วยธรรมชาติ 3 อย่างคือ ด้วยไฟ น้ำ และลม เนื่องจากมนุษย์ประกอบกรรมชั่วทั้งกาย วาจา ใจ ไม่รู้จักบุญ ธรรม บิดามารดา ผู้ทรงธรรม แต่ความพังพินาศทั้งหลายนั้นไม่ถึงชั้นพรหม หรือพรหมโลก ผู้ที่ทำกุศลถึงพร้อมเข้าสู่ชั้นนั้นก็จะไม่ทนทุกข์ด้วยธรรมชาติอันชิบหายนั้น อย่างไรก็ตามที่ปลายสุดแห่งอุดมคติก็คือนิพพาน ที่ไม่มีทางพินาศ ไม่ท่องอยู่ในไตรภูมิเฉกเช่นสัตว์โลกทั้งหลายอีกต่อไป[13]

ความเชื่อชุดนี้จึงแสดงให้เห็นจักรวาลที่กว้างขวางกว่าจินตนาการเดิมแบบผีท้องถิ่น อำนาจความรู้เกี่ยวกับขอบฟ้าหลังความตายและการเวียนว่ายตายเกิดที่ดูมีต้นสายปลายเหตุจึงสร้างความน่าเชื่อถือกว่า และสามารถสร้างเครือข่ายทางการเมืองได้กว้างขวางขึ้นมากกว่าฐานความเชื่อแบบเดิมที่มีข้อจำกัด ไตรภูมิพระร่วงจึงกลายเป็นวรรณกรรมทางศาสนาที่เป็นแกนกลางการจัดความสัมพันธ์เชิงจักรวาลไตรภูมิทั้งในวิธีคิดด้านศาสนา การเมือง และศิลปกรรมก่อนกระแสความเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่จะเข้ามา[14] 

โองการแช่งน้ำ คำสบถสาบาน การสร้างความหวาดกลัวเพื่อสถาปนาอำนาจนำของกษัตริย์

ในวรรณกรรม โองการแช่งน้ำ แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจผีร่วมกับเทวดาในฮินดูและความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาสถาปนาอำนาจความชอบธรรมทางการเมืองของกษัตริย์ที่เข้มขลังขึ้นในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา จิตร ภูมิศักดิ์ได้ประเมินอายุว่าน่าจะอยู่ในช่วงพระเจ้าอู่ทองสร้างราชธานี ราวปี 1894[15] ซึ่งไม่ถือว่าไกลจากไตรภูมิพระร่วงนักในหลักทศวรรษ

หากนับว่าไตรภูมิพระร่วงถูกนำไปเผยแพร่ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาไปในหมู่ศาสนิกชนแล้ว โองการแช่งน้ำถือเป็นตัวบทที่สัมพันธ์กับพิธีกรรมที่ใกล้กับราชสำนักที่ทำกับข้าราชการ มากกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น เนื้อหาคือการผูกมัดความจงรักภักดีอยู่ที่กษัตริย์ จิตรชี้ว่า คำว่า ‘น้ำพิพัฒน์’ ในชื่อพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ถูกดัดแปลงมาจากศัพท์เดิมคือ ‘น้ำพระพัทธ์’ ที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า ‘พัทธปรติชญา’ หรือ ‘พัทธปฏิญญาณ’ ในคำแบบไทยๆ ซึ่งหมายถึง คำปฏิญญาอันผูกมัด หรือคือ คำสบถสาบานนั่นเอง ส่วนคำว่าพิพัฒน์นั้นเป็นการเบี่ยงความหมายออกไปจากแก่นของพิธีเดิม[16] โองการแช่งน้ำคือโคลงที่ใช้สวดสาปแช่งผู้ทรยศต่อกษัตริย์ผู้ใดไม่ซื่อสัตย์จะต้องมีอันเป็นไป เวลาสาปแช่งน้ำสาบาน พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีก็จะเอา ‘พระแสงศร’ 3 เล่ม ในฐานะที่เป็นอาวุธของพระรามแทงลงไปในหม้อน้ำสาบานให้ประหนึ่งว่าจะเกิดพิษบาดไส้บาดคอผู้คิดคดทรยศ[17]

ภาพที่ 1 โต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ คัมภีร์พระธรรมและพระแสงราชศัตราวุธ / ที่มา ปีย์ มาลากุล, พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พุทธศักราช 2512

อำนาจนำเข้าจากอินเดียอย่างเทพเจ้าในพราหมณ์แบ่งเป็นพระวิษณุ พระศิวะและพระพรหม รวมถึงเทพเจ้าที่เป็นตัวแทนพลังธรรมชาติ ได้แก่ พระวายุ (ลม) พระพิรุณ (ฝน) รามสูร (ฟ้า) เหง้าภูติพนัสบดี (ป่า) ภูเขา (พระอิศวร) ขณะที่ฝั่งพุทธมีอยู่ไม่มากนักอย่างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โสฬสพรหม (พรหม 16 ชั้นในพุทธศาสนา) ขณะที่ผีท้องถิ่นพบว่ามีสัดส่วนมากที่สุด ผีที่ว่าก็มีตั้งแต่สัตว์ร้ายอย่าง งูใหญ่ (เงือก), นกใหญ่ (รุ้ง), เสือ, จระเข้, ช้าง, พระกรรมบดีปู่เจ้า (ผีที่มีอำนาจบังคับช้าง), เจ้าที่, เจ้าท่า, เจ้าป่า เจ้าเขา กระทั่งสิ่งไม่มีชีวิตอย่างหอก ดาบหรือจอบที่เอาชีวิตผู้ทรยศได้[18] อำนาจเช่นนี้จึงสร้างพร้อมกับความหวาดกลัวของมนุษย์ที่จำนนต่อฤทธิ์ที่สามารถทำให้ชีวิตพินาศชิบหายได้

แม้จะเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระเป็นเจ้าทั้งสามอย่างวิษณุ ศิวะ และพรหม แต่ก็มิได้บอกว่ามีใครอวตารลงมาเป็นกษัตริย์ ซึ่งจิตรชี้ว่า ต่างจากลิลิตยวนพ่ายที่บอกตรงๆ ว่าทั้งสามอวตารลงมาเกิดเป็นพระบรมไตรโลกนาถ จึงเชื่อว่านี่คือคัมภีร์เก่าที่ยังได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาอยู่มาก เห็นได้ชัดจากกำเนิดจักรวาลที่เล่าคล้ายกับในคัมภีร์พุทธ เริ่มด้วยกำเนิดอาทิตย์ 7 ดวงพร้อมกัน ความร้อนแรงทำให้น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้ง ปลาใหญ่ทั้ง 7 ที่หนุนแผ่นดินก็ถูกเผาแตกเป็นน้ำมันกลายเป็นเชื้อไฟที่เผาไหม้โลก นรก และสวรรค์ แม้กระทั่งสวรรค์ชั้นพระอินทร์อย่างเมืองไตรตรึงษ์ก็ไม่รอด เทวดาหนีขึ้นไปเบียดเสียดไร้ social distancing อยู่บนชั้นพรหม ตราบจนไฟสงบลง ฝนตกลงดับไฟ เกิดน้ำ ปลา ดาว ลมพัดแรงกล้า จากนั้นสวรรค์ของพระอินทร์ พระพรหมก็กลับมาบังเกิด ผืนโลกปรากฏเป็น 4 ทวีป เกิดเขาพระสุเมรุ และเขาต่างๆ[19] 

กลิ่นดินที่หอมฟุ้งยั่วยวนให้เทวดาลงมากินง้วนดินที่หอมหวน เทวดาที่เคยมีแสงในตัวก็ค่อยๆ มอดดับ เมื่อแสงหายไป ก็ไหว้ร้องขอให้มีแสงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวเพื่อให้เห็นฟ้าและดินในยามกลางวันและค่ำคืน เทวดาเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นมนุษย์ เดิมมีข้าวสาลีเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องเพาะปลูกแบบเดียวกับในอุตตรกุรุทวีปที่เล่าในไตรภูมิพระร่วง แต่พบว่ามนุษย์เกิดละโมบ กักตุนข้าวจึงทำให้เกิดข้าวเปลือกที่ต้องนำมาสีก่อนจะกิน ทำให้ชีวิตลำบากขึ้น และค่อยๆ นำไปสู่ความขัดแย้ง จึงตกลงใจที่จะยกผู้คนขึ้นมาตัดสินคดีความและคอยจัดการปัญหาโดยทุกคนยอมสละข้าวปลาอาหารให้ เป็นที่มาของการมีพระราชาในนาม ‘สมมติราช’ ราชาที่ฝูงชนแต่งตั้งขึ้น ต่อมาได้สืบวงศ์วานกันเรื่อยมา[20] 

จิตรใช้มุมมองแบบฝ่ายซ้ายที่มองว่าโองการแช่งน้ำเป็นเครื่องมือของศักดินาเพื่อใช้ในการควบคุมเชิงจิตวิทยา แต่สมเกียรติ วันทะนะจะต่างไป นั่นคือ เขามองว่าโองการแช่งน้ำเป็นอำนาจแบบ ‘การจับจ้อง’ ด้วย มิใช่เป็นเพียงคำสาปแช่ง และเสนอว่า พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์เป็นอำนาจทางอุดมการณ์ (ideological power) คู่กับพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกหรือพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน (รดน้ำมนต์ช้างม้าอันเป็นราชพาหนะและกำลังแผ่นดิน) อันเป็นอำนาจทางการทหาร (military power) โดยเขาถือว่าพระราชพิธีแรกเป็นอำนาจอ่อนละมุน (soft power) ขณะที่พระราชพิธีหลังเป็นอำนาจที่แข็งกร้าว (hard power หรือ coercive power) อำนาจทั้งสองจะสำแดงฤทธิ์สูงสุดเมื่อใช้ร่วมกัน พระราชพิธีก็เป็นดังโรงละครแห่งอำนาจ (theatre of power) โองการแช่งน้ำจึงมิได้มีความศักดิ์สิทธิ์เนื่องมาจากการบันดาลไปตามคำสาปแช่งของทวยเทพ ผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่มาจากตาเนื้อของคนในโรงละครที่มีทั้งกษัตริย์ มาจนถึงไพร่ราบพลเลวที่อยู่กระบวนพิธี[21]

การจับจ้องด้วยตาเนื้อเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบที่ราชสำนักได้วางไว้นั่นเอง ในกฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้ว่า “ลูกขุนผู้ใดขาดถือน้ำพระพิพัท โทษถึงตาย” หรือ “ถ้ากินน้ำพระพิพัทจอกหนึ่ง แลยื่นให้แก่กันกิน กินแล้วมิได้ใส่ผม เหลือนั้นล้างเสีย โทษเท่านี้ในระวางขบถฯ” และ “อนึ่ง รับเครื่อง แลมิได้กินดอกไม้มงคล มิได้ใส่หัว เอาใส่พานหมากใส่เจียดไว้ อนึ่งให้ตกกลางพระโรงกลางดิน อนึ่งแลไปสบพระเนตร เจรจากระซับกัน เดิรออกมาแลจูงกัน เจรจาในประตูสั่งกัน โทษในระวางกระบถ”[22] สะท้อนให้เห็นถึงการวางระเบียบที่เคร่งครัดในการควบคุมเรือนร่างและอิริยาบถของผู้เข้าร่วมพิธี

เราจะพบความรุนแรงเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมผู้คนในตัวบทร่วมสมัยอื่นอีก เช่นใน กฎหมายลักษณะอาญาหลวงปี 1895 ชี้ว่า “ผู้ใดใจโลภนักมักทำใจใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ แลมิจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว แลถ้อยคำมิควรเจรจา เอามาเจรจาเข้าในระหว่างราชาศัพท์ แลสิ่งของมิควรเอามาประดับ เอามาทำเป็นเครื่องประดับตน ท่านว่าผู้นั้นทนงองอาจ ท่านให้ลงโทษ 8 สถาน” อันได้แก่ “ให้ฟันคอริบเรือน สถานหนึ่งให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก, ให้ริบราชบาตร แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง, ให้ไหมจตุระคูณ แล้วเอาตัวออกจากราชการ, ให้ไหมทวีคูน, ให้ทวนด้วยลวดหนัง 50, 25 ที ใส่ตรุไว้, ให้จำไว้ แล้วถอดเสียเป็นไพร่ และให้ภาคทัณฑ์ไว้”[23]

ดังนั้น การสถาปนาอำนาจกษัตริย์และรัฐจึงมาพร้อมกับโครงเรื่องของชีวิตที่มีความซับซ้อนขึ้นทั้งในโลกปัจจุบันและโลกหลังความตาย แนวคิดเรื่องกรรมของพุทธศาสนาทรงพลังมากพอที่จะยกให้คนๆ หนึ่งที่เปี่ยมด้วยอำนาจขึ้นมามีบารมีทางการเมืองและศีลธรรม ขณะที่ก็ใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ให้หวาดกลัวจากผลกรรมอันเลวร้ายไม่แพ้กับการสาปแช่งผ่านสิ่งที่มีฤทธิ์เหนือธรรมชาติอื่นๆ

ขณะที่ครอบครัวของกษัตริย์และขุนนางในราชสำนักก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าชนชั้นล่าง โดยการสร้างความมั่งคั่งมาจากเครือข่ายและการผูกขาดทางการค้า ชนชั้นผู้ถูกปกครองเริ่มถูกจำกัดสิทธิ์มากขึ้นด้วยการออกแบบระบบการปกครองแบบใหม่ ตำนาน พงศาวดารเรื่องเล่าทั้งหลายผูกความชอบธรรมให้กับชนชั้นนำ เห็นได้จากตำนานท้าวแสนปม ตำนานปู่จ้าวลาวจก ฯลฯ เรื่องเล่าที่แสดงความศักดิ์สิทธิ์หรือสูงส่ง เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าชนชั้นนำแตกต่างจากสามัญชนอย่างไร

สิ่งเหล่านี้เคยทรงพลังเป็นอย่างยิ่งในหลายร้อยปีที่ผ่านมา จนมาถึงการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผุดบังเกิดขึ้น พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับอำนาจราชาธิปไตย ที่น่าสนใจก็คือ พิธีนี้หวนกลับมาอีกครั้งในปี 2512 พระราชพิธีนี้ถูกรื้อฟื้นมารวมอยู่กับพระราชพิธีพระราชทานราชอิสรยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี โดยจัดพิธีถือน้ำในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพิธีนี้ประกอบด้วยสมาชิกราชอิสรยาภรณ์รวมถึง ข้าราชสำนัก องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา รวมไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจ ในพระราชพิธีมีพระราชครูวามเทพมุนี รามเวทีศรีไสยศาสตร์ อนุษฎุภวาทโกศล อ่านโองการแช่งน้ำ อาวุธที่ใช้แทงน้ำก็มีพระแสงศร พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงราชศัตราของรัชกาลที่ 1-7 พิธีดังกล่าวถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้ได้ราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีชั้นสูงสุดยืนต้นแถว แล้วน้ำถวายสัตยปฏิญาณสาบานตน ตัวอย่างได้แก่[24]

“ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนและหน้าที่ จะปฏิบัติการทุกอย่างโดยเต็มกำลัง สติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่ หากข้าพระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติฝืนคำสัตยปฏิญาณนี้เมื่อใด ขอความวิบัติจงบังเกิดแค่ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น โดยฉบับพลันทันที อย่าให้มีความสุขความสวัสดีด้วยประการใดๆ…”

หลังจากพิธีนี้ 4 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จุดจบของถนอม ทุกคนก็รู้กันอยู่

ขณะที่สำนึกเกี่ยวกับนรก-สวรรค์เองก็มิได้หายไปไหน คำพูด “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” อาจมีอิทธิพลอยู่ช่วงหนึ่งและกับคนในบางกลุ่ม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องบุญทำกรรมแต่งยังมีบทบาทอย่างมากผ่านการผลิตซ้ำคำสอนทางพุทธศาสนาผ่านเกจิอาจารย์สำนักต่างๆ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมยังคงเฟื่องฟูและคำปลอบประโลมใจที่ทรงพลังในวันที่ความยุติธรรมอาจจะเอื้อมไปไม่ถึง แม้จะมีคำพร่ำบ่นเสมอว่าทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไปก็ตาม

สำหรับผู้เขียน องค์กรที่เห็นได้ชัดที่สุดกรณีอิทธิพลความคิดในฐานจักรวาลแบบไตรภูมิก็คือวัดธรรมกาย ด้วยสุนทรียภาพที่ไม่ยึดกับอาคารแบบจารีตประเพณีทำให้วัดได้แสดงออกในรูปแบบที่ไม่คุ้นตา จนถูกล้อเลียนว่าเป็นลัทธิจานบิน แต่ปฏิเสธมิได้เลยว่า เนื้อในของการออกแบบและวิธีคิดเกี่ยวกับการสั่งสมบุญล้วนสัมพันธ์กับจักรวาลแบบไตรภูมิ คำอธิบายชีวิตมนุษย์ที่อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมมีให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย (กระทั่งคนต่างชาติอย่างสตีฟ จ็อบส์) การทำชั่วในชาติที่แล้ว ส่งผลต่อชาตินี้อย่างไร การทำชั่วในชาตินี้ ตายไปแล้วจะตกนรกทรมานแค่ไหน ในทางกลับกันความดีส่งผลให้เขาได้ขึ้นสวรรค์ชั้นใด หรือเกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมอย่างไร และที่น่าสังเกตคือ พวกเขามุ่งเน้นบูชาครูบาอาจารย์ อย่างหลวงพ่อสด แม่ชีจันทร์ พระธัมมชโย ฯลฯ เป็นหลัก ไม่ได้ยึดโยงกับศักดินาไทยแบบที่สำนักอื่นๆ ปฏิเสธไม่ได้ จักรวาลไตรภูมิเช่นนี้จึงไม่อาจลงรอยกับพุทธศาสนาไทยอย่างที่เป็นอยู่

จะเห็นว่าไตรภูมิพระร่วงและโองการแช่งน้ำ ได้ครองบทบาทสำคัญในการสร้างธรรมนูญแห่งจักรวาลในความคิดของคนไทยมาอย่างยาวนาน หากเราคิดว่า การปฏิวัติความรับรู้เพื่อสังคมที่น่าใฝ่ฝันจำเป็นต้องสร้างการรับรู้เรื่องเล่าใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ แล้วหนังสือเล่มใหม่ที่ถูกจะใช้เป็นแกนกลางนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิมควรจะมีเนื้อหาเป็นอย่างไรกันเล่า?


[1] หลวงดรุณกิจวิทูร และ นายฉันท์ ขำวิไล, แบบเรียนภาษาไทย แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น สำหรับชั้นประถมปีที่ 1 (กรุงเทพฯ : กรุงเทพการพิมพ์, 2519), หน้า 48-49 ว่ากันว่าเป็นตัวบทที่แต่งขึ้นในปี 2496

[2] ยูวัล โนอาห์ แฮรารี, เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ, นำชัย ชีววิวรรธน์, แปล (กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2561), หน้า 56-57

[3] ยูวัล โนอาห์ แฮรารี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 58

[4] ประภัสสร เธียรปัญญา, การศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ ฉบับภาษาสันสกฤตกับฉบับภาษามอญ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539, หน้า 18

[5] ฮันเตอร์ เอียน วัตสัน, การศึกษารูปคำภาษามอญโบราณจากจารึกที่พบในประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-17 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556, หน้า 5-6, 14

[6] สุรนี แก้วกลม, อักษรขอมที่ใช้บันทึกภาษาไทย วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2523

[7] Pormodtanoy. “เสวนาออนไลน์ เครือข่ายนักวิชาการปรัชญาและพุทธศาสนา ครั้งที่ 2 ซีซั่น 2 “อุดมคตินิยมเกี่ยวกับกษัตริย์ในคัมภีร์ศาสนาและตำราประวัติศาสตร์ไทย””. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=9U5TccQDDJU (12 มิถุนายน 2564)

[8] ประภัสสร เธียรปัญญา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 20

[9] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : มติชน, 2543), หน้า 71-72

[10] 84000. “อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ พุทธปกิรณกกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า”. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564 จาก https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.2&i=27  

[11] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดียวกัน,  หน้า 73-74

[12] ในที่นี้หยิบไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ อันถือว่าเป็นการเกลาสำนวนให้อ่านง่ายขึ้นแล้วมาอ้างอิง อนึ่ง ไตรภูมิกถาเป็นอีกชื่อหนึ่งของไตรภูมิพระร่วง ดังนั้นขอเรียกว่า ไตรภูมิพระร่วงตามที่รู้จักกันดี กรมศิลปากร, ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2555) ตัวบทในที่นี้จะยึดฉบับออนไลน์ ก็คือ ห้องสมุดออนไลน์วัชรญาณ. ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564 จาก https://vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/บทที่-๕-แดนมนุษย์

[13] กรมศิลปากร, ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ

[14] อ่านประเด็นเหล่านี้รอยต่อของยุคที่คนเชื่อเรื่องจักรวาลไตรภูมิและการเข้ามาของแนวคิดแบบเหตุผลนิยม มนุษยนิยมประกอบได้ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ : ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์-วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2543), อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 – พ.ศ. 2475 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555) และชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547)

[15] จิตร ภูมิศักดิ์, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2547), หน้า 9

[16] จิตร ภูมิศักดิ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 459-460

[17] จิตร ภูมิศักดิ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 433-434

[18] สมเกียรติ วันทะนะ, “โองการแช่งน้ำ: อำนาจของการสาปแช่งหรืออำนาจของการจับจ้อง”, วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 44: 1 (2561) : 24-28

[19] จิตร ภูมิศักดิ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 157-158

[20] จิตร ภูมิศักดิ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 158-162

[21] สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน : 33-37

[22] กำธร เลี้ยงสัจธรรม, บรรณาธิการ, กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548), หน้า 76 และ จิตร ภูมิศักดิ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 156-157

[23] กำธร เลี้ยงสัจธรรม, บรรณาธิการ, กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548), หน้า 335 และ จิตร ภูมิศักดิ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 149-150

[24] ปีย์ มาลากุล, พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พุทธศักราช 2512 (ม.ป.ท. :โรงพิมพ์พระจันทร์, 2512), หน้า 1, 11-12

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save