fbpx

“อำนาจทำงานกับเราตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วันต่อ 1 สัปดาห์” ภู กระดาษ

ภาพถ่ายโดย อติเทพ จันทร์เทศ

ภู กระดาษมีผลงานเขียนออกมาหลายเล่ม เช่น ไม่ปรากฏ, เนรเทศ, ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ, ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม และนวนิยายเล่มล่าสุดที่ออกมาในปี 2020 ที่มีความหนากว่า 700 หน้า มีชื่อเรื่องเขียนไว้บนปกว่า 24-7/1

หนังสือชื่ออ่านยากนี้ พยายามบรรจุประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกและรูปแบบสังคมไทยเข้าไปในนั้นอย่างเข้มข้น ผ่านสายครอบครัวลาวอพยพ ‘วงศ์คำดี’ ในหมู่บ้านโนนทองดี เขาถ่ายทอดวิถีความเป็นลาว ตำนานความเชื่อ อำนาจของระบบผัวเดียวหลายเมีย การสร้างเนื้อสร้างตัวของหนึ่งครอบครัว ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำผู้คนไม่ให้โงหัวไว้อย่างครบถ้วน

การเขียนหนังสือกว่า 700 หน้านั้นไม่ง่าย และยิ่งเขียนให้สนุกและรัดกุมก็ยิ่งไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้

ภู กระดาษมีอีกหนึ่งอาชีพนอกจากนักเขียน เขาทำงานในฟาร์มบนเขตติดป่าอนุรักษ์ที่ชลบุรี อาศัยอยู่บ้านพักของที่ทำงาน แวดล้อมไปด้วยแรงงานจากอีสานและแรงงานต่างชาติ เขาบอกว่าเขาเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งที่ทำงานตามคำสั่งให้ผ่านพ้นไปด้วยดีเท่านั้น เรื่องราวของชนชั้นแรงงานและเกษตรกรสะท้อนออกมาอย่างแข็งแรงและเต็มไปด้วยรายละเอียดในงานเขียนของเขา

บ้านเกิดของเขาอยู่ที่หมู่บ้านตาเอก ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านคนลาวที่แวดล้อมไปด้วยหมู่บ้านคนเขมร เขาโตมาด้วยการเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายนี้ และใช้อย่างเป็นประโยชน์ในงานเขียน

ด้วยผลงานที่สม่ำเสมอกว่า 10 ปี และผลงานนวนิยายที่พยายามเล่าสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ร่วมสมัยที่สุดเล่มหนึ่งในตอนนี้อย่าง 24-7/1 ทำให้เราขอเวลาสนทนากับเขาในหลายเรื่อง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเขียนเล่มนี้ มุมมองต่อเศรษฐกิจสังคม อัตลักษณ์ความเป็นลาว และความคาดหวังต่อการเขียนหนังสือ

บทสัมภาษณ์นี้ยาวไม่ถึง 700 หน้า และอาจพอนับว่าเป็น ‘ฉบับย่อ’ ของความคิดได้

จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือเรื่อง 24-7/1 คืออะไร

24-7/1 คือ ยี่สิบสี่ชั่วโมงในหนึ่งวัน เจ็ดวันในหนึ่งสัปดาห์ คือพูดถึง ‘ตลอดเวลา’ นั่นแหละ ปกติเรามักมีชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน มีวันหยุด 1-2 วัน แต่เรื่องนี้ผมพูดถึงลักษณะของ all the time คือทุกเวลาทุกนาที

เนื้อหาในเล่มนี้เกิดจากที่ผมมองทั้งโลกมา แล้วเห็นว่าสิ่งที่คนในศตวรรษนี้เผชิญคือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเกิดจากอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งสองอย่างนี้เป็นอำนาจชนิดเดียวกัน คือการเมืองอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อน ทั่วโลกจะเกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราปล่อยระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ตีคู่กันไปแบบนี้ ซึ่งถามว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำจนขนาดคนลุกฮือไหม คำตอบคือไม่ มันจะทำแค่ให้คนไม่ตายแต่ก็ไม่สู้

ผมเลยอยากทำนิยายออกมาเล่มหนึ่ง มีเป้าหมายอยากเล่าถึงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ทำต่อเราตลอด 24 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และ 7 วันต่อ 1 สัปดาห์ ไม่มีพักเลย ตอนแรกคิดไว้หลายชื่อ แต่สุดท้ายก็เลือกชื่อ 24-7/1

พอผมได้คอนเซ็ปต์ที่จะเขียน ผมก็นึกถึงว่า เมื่อก่อนมักจะมีขนบว่าเขียนแบบไหนจะนับเป็นงานโรแมนติก วรรณกรรม ฯลฯ ซึ่งมีการใช้ภาษาเฉพาะของตัวเอง แต่ในเมื่อเราผ่านศตวรรษที่ 19-20 มาแล้ว จำเป็นไหมที่เราต้องไปอยู่ใต้กรอบพวกนี้ ตั้งแต่ระดับการใช้ภาษา การวางโครงเรื่อง ฯลฯ

หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย นักวิชาการไทยได้แนวคิดโพสต์โมเดิร์นมา มีคำถามว่าวรรณกรรมเพื่อสังคมทำไมถึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ภาระหน้าที่ของวรรณกรรมที่จะไปแก้ปัญหาสังคม แต่เป็นภาระของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้

ผมก็เลยมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรในเมื่อเราเกิดทีหลัง ถ้าเราจะเขียนขึ้นมาแล้ว จะสะท้อนหรือหาทางออกให้ตัวละครอย่างไร จะจบอย่างไร สุดท้ายก็คิดได้ว่า ไม่ว่าคนธรรมดา คนเขียนหนังสือ สื่อ ฯลฯ นับจากวันนี้ไปควรเปลี่ยนบทบาท ทุกคนควรนำเสนอทางออกให้สิ่งที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้และในอนาคตอันใกล้ รวมๆ กันก็เลยออกมาแบบนี้แหละ ไม่อยู่ในร่องในรอยที่เคยเห็นเท่าไหร่

ผมไล่เรื่องตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคมโรงงานของตัวเอกในภาคแรก สังคมหมู่บ้านในภาคสอง และไล่ขึ้นไประดับประเทศ ระดับโลก สิ่งเหล่านี้ทำงานสอดคล้องกันทุกตัว

ส่วนมากถ้าคนอยากเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำก็มักจะเล่าผ่านคนจน แต่ตัวเอกในเรื่องนี้รวย อยู่ดีกินดี แถมกดคนอื่นด้วย ทำไมคุณเลือกเล่าเรื่องผ่านตัวเอกที่เป็นคนรวย

นี่เป็นโจทย์ที่ผมตั้งไว้ตั้งแต่แรกเลย ปกติเวลาเราจะเขียนเรื่องสะท้อนสังคม จะต้องเขียนเรื่องชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน เกษตรกร คนชายขอบ ฯลฯ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ แต่เราจะไม่รู้ว่าคนชนชั้นกลางระดับสูงหรืออีลีตเขาอยู่กันอย่างไร พอเราไม่รู้ว่าเขาอยู่กันอย่างไร เราจะหาคีย์ไม่เจอเลย

ที่ผ่านมาคือการฟูมฟาย หนังสือของผมก่อนหน้านี้แทบทุกเรื่องใช้แต่ตัวละครที่อยู่เบื้องล่าง ไม่มีชนชั้นกลางระดับสูงหรือชนชั้นสูงเลย เรื่องนี้ผมก็เลยเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ว่า รู้เขารู้เรา ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจวิธีคิดและการกระทำของเขา ถ้าเราอยากแก้ปัญหาสักอย่าง เราจะแก้ตรงไหน จุดอ่อนจุดแข็งเขาคือตรงไหน ผมเลยพลิกจากเดิม เพื่อให้เห็นความเหลื่อมล้ำในมุมของตัวละครที่เป็นอีกแบบหนึ่งเลย ให้เห็นว่าทำงานกับเราอย่างไร ผมใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลและคบหาคนรวยอยู่พอสมควร เพื่อให้รู้ว่าพวกที่ถือกุมอำนาจและถือครองทรัพยากรเขาคิดอย่างไร แทนที่จะสะท้อนขึ้นมาจากคนชายขอบเหมือนที่เคยทำ

ประเด็นหนึ่งในเล่ม 24-7/1 ที่คุณเขียนถึงเยอะพอสมควรคือเรื่องผัวเดียวเมียเดียว คุณต้องการจะสื่อสารอะไร

ในระดับครอบครัว ผมยกประเด็นผัวเดียวเมียเดียวมาพูด เพราะผมเชื่อว่าระบบผัวเดียวเมียเดียวนี่แหละที่ทำให้ระบบทุนนิยมแบบปัจจุบันหรือแบบก่อนหน้านี้ดำรงอยู่ได้อย่างแข็งขัน อีกประเด็นคือคนเราจะฆ่ากันตายเพราะระบบผัวเดียวเมียเดียว นอกจากทำให้ระบบทุนคงอยู่แล้ว ยังทำให้คนเสียสมองด้วย กระทบทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมเลย

เมื่อคุณแต่งงานมีครอบครัว ไม่ว่าแต่งหญิง-หญิง ชาย-ชาย หรือชาย-หญิง มันจะเกิดพันธะผูกพันและความเป็นกรรมสิทธิ์ สุดท้ายคุณจะไม่กล้าทำอะไรเพื่อต่อต้านสิ่งที่สูงขึ้นไป ยิ่งถ้าคุณมีลูก ไม่ว่าจะลูกบุญธรรมหรือลูกตัวเอง ก็ยิ่งเพิ่มพันธะขึ้นไปอีกเท่าตัว มีทางเดียวคือคุณต้องก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูกและครอบครัว

มีตอนหนึ่งที่ผมเขียนว่าค่านิยม ‘ผัวเดียวหลายเมีย – เมียเดียวหลายผัว’ ส่งเสริมสังคมศักดินา ส่วนสังคมผัวเดียวเมียเดียวมาพร้อมกับหมอสอนศาสนาจากต่างประเทศ ซึ่งที่ต่างประเทศเองก็มีปัญหากับมันมายาวนานแล้ว เพราะผัวเดียวเมียเดียวจะทำให้คุณไม่มองอย่างอื่นนอกจากตัวคุณกับครอบครัว ผมเลยเอาเรื่องนี้เป็นตัวตั้งเพื่อไล่ไปหายอด 

ถ้า ผัวเดียวเมียเดียวไปส่งเสริมให้ทุนนิยมทำงานแข็งแรงขึ้น ขณะที่ผัวเดียวหลายเมีย เมียเดียวหลายผัว ก็ส่งเสริมสังคมศักดินา แล้วเราควรไปทางไหน คุณมีภาพครอบครัวในอุดมคติไหม

ถ้าพูดในมุมมองเสรีนิยมแบบทุนนิยม การมีผัวเดียวเมียเดียวไม่ผิด เพียงแต่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น สิ่งที่จะทำให้ผัวเดียวเมียเดียวไม่เป็นปัญหาได้ คือคุณต้องไม่เป็นกรรมสิทธิ์ซึ่งกันและกันและต้องมีระบบทางสังคมรองรับ เช่น ถ้าคุณมีลูกแล้ว คุณแค่ดูแลลูก แต่คุณไม่ต้องใช้จ่ายกับลูก

ค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวเป็นค่านิยมของชนชั้นกลาง แต่ชนชั้นสูงไม่ใช่ เขามีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะเขาครอบครองทรัพยากร เลยมีอิสระในการทำอะไรก็ได้ ขณะที่ชนชั้นกลาง การมีครอบครัวที่มั่นคงเป็นหนึ่งในการสร้างฐานะของตัวเอง ว่าจะไม่ตกหล่นลงไปเพราะมีครอบครัวช่วยกันสร้างอนาคต เลยเป็นพันธะผูกพันกันไปเรื่อยๆ แรงงานทั้งหมดของตัวเองจึงถูกถ่ายเทไปให้คนอื่น ส่วนชนชั้นล่างก็เคร่งครัดเหมือนกัน แต่บางครั้งก็ไม่เคร่งครัดเลย

ฉะนั้น ทางออกของเรื่องผัวเดียวเมียเดียวคือคุณต้องให้อิสระเท่ากัน ตีความความเป็นครอบครัวใหม่ ถ้าคุณดูซีรีส์เกาหลี หลายเรื่องก็พยายามตีความหมายของครอบครัวอีกแบบหนึ่ง ไม่ตีความเป็นแค่พ่อแม่ลูกต่อไปแล้ว ครอบครัวอาจเป็นทุกคนในชุมชนที่คอยเกื้อหนุนกัน เช่น ซีรีส์เกาหลีที่ผมดูสองเรื่องล่าสุดคือ Hometown Cha Cha Cha กับ Rocket Boys

เรื่อง Hometowm เห็นชัดเลย นางเอกแม่ตาย เหลือแต่พ่อกับแม่เลี้ยง พระเอกอยู่กับปู่ พอปู่ตาย พระเอกก็เติบโตมากับชุมชน มียายสามคนและหมู่พวกเพื่อนฝูงคอยเกื้อหนุนเลี้ยงดู

อย่าง Rocket Boys ครอบครัวของตัวเอก พ่อกับแม่เป็นโค้ชที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก อยากเอาลูกคนอื่นมาอยู่ด้วย แล้วก็มาอยู่ในชุมชนชนบทที่มียาย มีคนที่หนีจากเมืองมาเป็นครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวที่ไม่ใช่ในความหมายของครอบครัว แต่ก็เกื้อหนุนกัน มีรัฐบาลเข้ามาช่วย เราต้องตีความใหม่ว่าครอบครัวไม่ใช่พ่อแม่ลูก แต่คือคนที่อยู่ร่วมกับเรา

พูดได้ไหมว่าเราต้องการรัฐสวัสดิการเพื่อทำให้ครอบครัวแบบนี้เป็นไปได้จริง

รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ประนีประนอมที่สุดแล้วในการให้ทุนและแรงงานอยู่ได้ เพราะถ้าไปเกินกว่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมว่าแนวทางแบบนั้นอาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า แต่ในระยะสั้น การเกิดรัฐสวัสดิการไม่ได้ทำให้ประเทศล่มจม แต่จะทำให้ทุนมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวขึ้นได้ ในเชิงนโยบายก็ไม่ได้ใช้เงินเยอะขนาดนั้น ถ้าเราประกันรายได้ขั้นต่ำว่าคนเฒ่าคนแก่ เด็ก ต้องได้ขั้นต่ำเท่านี้ คนทำงานต้องได้ขั้นต่ำเท่านี้ ถ้าค่าจ้างไม่ถึง รัฐแค่บวกเพิ่มให้

สุดท้ายแล้ว ถ้าคุณมีเงิน คุณก็ต้องใช้จ่าย คุณมีเงินสามหมื่น ถามว่าคุณมีเงินออมเท่าไหร่ ไม่มี เมื่อเงินสามหมื่นหายเข้ารัฐแล้ว เพราะรัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มคุณไป 7% จากการเข้าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า เงินหนุนกลับไปหานายทุนเหมือนเดิม ระบบทุนก็ไปได้ พูดง่ายๆ ถ้าประชาชนมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจระบบทุนนิยมจะเดินไปข้างหน้า

อย่างที่เราเจอกันอยู่ ค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำ ทุกภาคส่วนติดลบหมด คนไม่กล้าใช้จ่าย คนไม่กล้าเดินทาง ไม่มีเงินน่ะ ทุนนิยมก็เจอปัญหาของมันเองเหมือนกันว่าจะไปอย่างไรต่อ อย่างในอเมริกาก็มีดีเบตว่าให้เก็บภาษีคนรวย เพราะที่ผ่านมาคนรวย รวยได้รวยเอา ประเด็นถัดมาคือไม่มีการขาดแคลนแรงงาน มีแต่ขาดแคลนค่าสวัสดิการทางสุขภาพ ขาดแคลนค่าแรง เขาก็ดันจนถึงให้ค่าแรงขั้นต่ำ 15 เหรียญฯ ต่อชั่วโมง

ทั่วโลกควรทำรัฐสวัสดิการ เพราะจะทำให้คนมีกำลังใช้จ่ายซึ่งจะหนุนเศรษฐกิจต่อไป แต่จะทำอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ เพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้ คนที่เงินเดือนน้อยจะไม่มีอิสระเลย แม้แต่อิสระในการเดินทาง อิสระในการกินข้าวก็ไม่มีนะ คุณอยากกินหมูกระทะ เดือนหนึ่งได้กินกี่ครั้ง อย่างที่ผมเปิดเรื่องพาร์ตแรก ผมเทียบคนที่สามารถบินไปกินติ่มซำที่ฮ่องกงได้ กับคนที่หมูกระทะเป็นอาหารที่พิเศษที่สุด ตอนนี้เราต้องตระหนักเรื่องรัฐสวัสดิการ

ตระกูลของพระเอกเป็นตระกูลใหญ่ ครอบครองทรัพยากรของหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องมาสยบยอม คุณต้องการสะท้อนอะไร มีต้นแบบไหม

ก็มีแหละ ต้นแบบส่วนหนึ่งเรารู้ๆ กันอยู่ ไม่ต้องพูดก็ได้ อีกส่วนหนึ่งก็รู้ๆ กันอยู่เหมือนกัน ผมจำลองตระกูลนี้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่ในที่เดียวกัน สมัยก่อนในยุคศักดินา เจ้าจะไม่ใช่คนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จนะ ในยุโรป ถ้าคุณจะไปรบ คุณต้องไปหาเจ้าที่ดินคนอื่นให้ส่งทหารมา ไปยืมเงินพวกนั้นพวกนี้เพื่อทำสงครามขยายอาณาเขต ชนะแล้วก็มาคุยกันว่าจะแบ่งเงินกันเท่าไหร่ อันนั้นคือมีอำนาจแต่ต้องขอความร่วมมือ

พอผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การมีอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ผมเลยสร้างครอบครัว ‘วงศ์คำดี’ นี้ขึ้นมา ให้เห็นเลยว่าตระกูลนี้มีอำนาจทั้งการปกครองและเศรษฐกิจอยู่ในตัวคนเดียว คือสมบูรณ์แบบที่สุด พวกเขาครอบครองทุกอย่าง เป็นเจ้าของทุกอย่าง ไม่ว่าเศรษฐกิจหรืออำนาจการปกครอง

ผมสร้างตระกูลนี้ขึ้นมาให้เห็นว่าตอนนี้คนเล็กคนน้อยกำลังเผชิญกับอำนาจที่มาแบบนี้ ที่ทำงานกับคุณตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีว่างเว้น เมื่ออำนาจใหญ่ขนาดนี้ เราจะทำอย่างไรกับมัน ปกติเรื่องก่อนๆ ผมก็จะพูดแค่การสู้กันทางการเมืองเป็นหลัก แต่เรื่องนี้จะขยับผนวกเป็นเศรษฐกิจการเมืองเข้ามาแทน แบบจำลองก็เลยเอาส่วนหนึ่งกับส่วนหนึ่งมาบวกกัน

นอกจากนี้ ในเรื่องคุณใส่ฉากหลังให้อยู่ในช่วงรัฐประหาร คุณตั้งใจสื่อสารอะไร

ตัวละครในเรื่องมี 3 ตัวหลัก คือ ‘ชัยศิริ’ ตัวละครเอกผู้ชายเป็นคนยุคใหม่ เปรียบเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่เจริญเติบโตได้ดีในระบบเผด็จการ ที่ไม่มีกฎหมายมาห้ามว่าต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม ก่อนที่มันจะกลายเป็นเสรีนิยมใหม่กว่าในท้ายเรื่อง

เพราะฉะนั้นที่มีรัฐประหารเป็นฉากหลังตลอดเรื่อง ผมจะชี้ให้เห็นว่าคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐประหารคือแบบนี้แหละ ปากอาจจะบอกว่าไม่ชอบการรัฐประหาร แต่นี่คือการจัดการของคนมีอำนาจ ไม่ว่าอำนาจในการเมืองหรือเศรษฐกิจ

ระยะเวลาของเรื่องกินเวลาแค่ 4-5 วัน เริ่มจาก 2 วันก่อนรัฐประหาร 2557 และไปจบที่ตัวละครผู้ชายกลับบ้านหลังรัฐประหารไปได้ 2-3 วันในพาร์ตสอง ก่อนที่พาร์ตสามจะขยายออกไปหลายปี ทำให้เห็นว่าการจัดการของชนชั้นนำจะทำอะไรกับคนที่กล้าเผยอขึ้นมา หรือทำให้ระบบทุนรักษาสถานะของเขาต่อไปได้ แต่ก็ไม่ได้เขียนเข้มข้นว่ารัฐประหารมากี่ครั้งนะ คือเข้มข้นกับรัฐประหารรอบล่าสุด ที่ชัดเจนว่าเป็นการผนวกรวมอำนาจทางการปกครองกับอำนาจทางเศรษฐกิจไว้ด้วยกัน

คุณบอกว่าในเรื่องมี 3 ตัวละครหลัก พระเอกเป็นตัวแทนเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ แล้วอีก 2 คนเป็นตัวแทนอะไรบ้าง

‘ศรีสกุล’ (แม่พระเอก) เป็นตัวแทนเสรีนิยมคลาสสิก ไร้ขื่อแป เป็นทุนนิยมเก่าที่ผสานกับระบบศักดินาที่ฆ่าเอาที่ดิน ขูดรีดเอาทรัพยากร

ส่วน ‘ศศิธร’ (น้องสาวพระเอก) ออกมาทางสังคมนิยม ผมผูก 3 ตัวในครอบครัวนี้ให้มีรากฐานมาจากศรีสกุล ซึ่งศรีสกุลมีรากฐานมาจากระบบก่อนหน้านี้

ตัวละครหลักจริงๆ คือตัวละครท้ายเรื่อง 7 คน เป็นหัวใจสำคัญที่จะตัดสินว่าจะไปอย่างไรในอนาคต 7 คนนี้เป็นคนประสานระหว่างตัวศศิธรกับชัยศิริ แต่มาทางศศิธรมากกว่า ถ้าพูดในยุคนี้ ศศิธรคือยุคของการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่เราก็ไม่รู้ว่า 7 คนนี้จะได้รัฐสวัสดิการไหม

7 คนนี้คุณหมายถึงกลุ่มผู้ประท้วงคนรุ่นใหม่หรือเปล่า

ตอนเขียนยังไม่ทันมีม็อบคนรุ่นใหม่เลยนะ ผมเขียนและแก้ไขจนเป็นร่างสุดท้ายจบเดือนกันยายน 2019 ยังไม่มีชุมนุมประท้วงเลย แต่ผมคาดการณ์ว่าจะเกิดแบบนี้ทั่วโลก คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม แล้วก็รื้อเพื่อจะเขียนประวัติศาสตร์และสร้างสังคมของตัวเองใหม่

พอเขียนจบ กลายเป็นว่าเข้ากับม็อบคนรุ่นใหม่พอดี จริงๆ ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่านิยายเรื่องนี้เป็นคำสารภาพของคนเจนเอ็กซ์ขึ้นไป เราเกิดในยุคที่ทุนนิยมกำลังทำงานได้ดี มีงานสำหรับทุกคน ขอให้เราขยันขันแข็ง ตั้งใจเรียน จบออกไปเราจะได้มีงานดีๆ มีเงิน คนรุ่นเก่าก็เลยหลงไปกับความคิดที่ว่าชีวิตจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่เกี่ยวกับอย่างอื่น ซึ่งผมว่าเป็นความคิดที่ผิดพลาดมาก

บวกกับการล่มสลายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกด้วย เลยทำให้แตกฉานซ่านเซ็นไปหมด พอจบแล้ว เศรษฐกิจก็ฟูเฟื่องขึ้น คนเลยหลง ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่คิดแบบนั้นในสมัยก่อนว่าขอให้ตั้งใจเรียนเถอะ เรียนมหาวิทยาลัยจบ เดี๋ยวก็มีงานดีๆ ทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องโกหก

หนังสือเล่มนี้เลยเป็นคำสารภาพว่าสังคมที่เราร่วมกันสร้างขึ้นมาแต่ก่อน ไม่ใช่สังคมที่ไปถูกทาง มันสร้างภาระให้คนรุ่นหลังมากกว่า เราใช้ทรัพยากรของคนรุ่นหลัง ทำให้โครงสร้างความไม่เป็นธรรมแข็งแกร่งขึ้นจนไม่สามารถต่อกรได้โดยง่าย

เล่มนี้ใช้เวลาเขียนนานไหม ต้นฉบับเอสี่ทั้งหมดกี่หน้า

ต้นฉบับเอสี่ 541หน้า

ตอนปี 2013-2014 ผมทำต้นฉบับรวมเรื่องสั้นเสร็จ ว่าง เลยคิดจะเขียนนิยายถึงเรื่องที่ผมเห็นว่าโลกจะไปทางไหน ตอนแรกจะเขียนสั้นๆ สัก 125-130 หน้าเอสี่ ระหว่างนั้นก็รีเสิร์ช ไล่อ่านหนังสือแนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ แล้วก็ไปไล่ประวัติศาสตร์ทั่วไป อ่านพงศาวดารต่างๆ เพื่อสร้างเรื่องแต่ง

ผมเริ่มเขียนตอนเมษายน 2014 เขียนได้ 30-40 หน้าก็เกิดรัฐประหาร ผมเลิกเขียนเลย หมดอาลัยตายอยาก นั่งดูคลองน้ำตรงที่ทำงานไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 ปี ตอนนั้นคิดขนาดว่าจะเลิกเขียนหนังสือแล้ว เขียนไปก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายเราก็วนมาอยู่กับพวกชนชั้นนำเผด็จการเหมือนเดิม แต่อยู่ๆ ผมก็คิดขึ้นมาว่าพวกสนับสนุนให้มีรัฐประหารทำไมมีความสุขกันแท้ พวกมึงอยู่ได้ กูก็อยู่ได้ กูจะสู้มึง ผมฟื้นขึ้นใหม่ จะไม่เขียนสั้นแล้ว เลยรื้อ 30 หน้านั้นทิ้ง ค้นคว้าเพิ่ม ขยับคอนเซ็ปต์ให้ใหญ่ขึ้นอีก คิดอะไรออกก็โน้ตไว้ จนได้ข้อสรุปว่าจะเล่าแบบไหน มีตัวละครแบบไหน ที่เหลือค่อยไปผจญภัยเอาข้างหน้าตอนเขียน

กลับมาเริ่มเขียนอีกทีช่วงกันยายน 2018 ผมใช้เวลาเขียนประมาณ 3-4 เดือน เขียนวันละ 10 ชั่วโมง ตอนเช้า เปิดอ่านที่เขียน อ่านหนังสือเล็กๆ น้อยๆ สัก 7 โมงครึ่งไปทำงาน ทำงานเสร็จ 10 โมง เปิดโน้ตบุ๊ก เขียนต่อ เขียนๆๆ พักกินข้าว กลับมาเคลียร์งานบ่าย เขียนต่อจนถึง 5 โมงเย็น เลิกงานไปเตะบอล กลับมาอ่านหนังสือ นอน แล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ เป็นแบบนี้ทุกวัน

มีวันไหนตื่นมาแล้วขี้เกียจบ้างไหม

ไม่มี ตอนเริ่มเขียนมีขี้เกียจบ้าง เขียนไม่ไป ย่อหน้าหนึ่งใช้เวลาเป็นวัน เขียนแล้วก็ลบ ไม่พอใจ ก็ปล้ำอยู่กับมัน ไม่ไปไหน เขียนไม่ได้ก็นั่งดู อ่านหนังสือไป เขียนไป พอติดเครื่องได้แล้ว เรื่องจะไหลออกมา เพราะเราโน้ตไว้อยู่แล้วว่าจะไปทางไหน พอทำเป็นเวลาแล้วไม่ติด พอเราหยุดมันก็จะหยุด แต่ในหัวจะคิดอยู่ พอกลับมานั่งเขียนก็ไปต่อได้ รู้แล้วว่าฉากถัดไปจะเป็นอย่างไร

คุณทำงานประจำด้วย เขียนหนังสือไปด้วย คุณแบ่งแรงผลักดันในการทำงานอย่างไร

งานประจำผมทำมาสิบกว่าปี รู้แล้วว่าจะทำอย่างไร เป็นสองพาร์ตในชีวิตเลย ปกติผมไปทำงานในหน้าที่อย่างเดียว ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีความคิดเกินเลย เขาต้องการเป้าหมายเท่านี้ หน้าที่ของผมคือทำอย่างไรก็ได้ให้บรรลุเป้าหมายนี้ แยกชัดเจนเลย ถ้าแบ่งเวลาเป็น ผมทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกตั้งแต่ผมเริ่มเขียนหนังสือช่วงหลังรัฐประหารปี 2549

ผมมีตารางเวลาเฉพาะ ตื่นนอนเวลาไหน ทำอะไรเวลาไหนก่อน ฝึกให้ชิน พอชินแล้ว พอเดินออกจากออฟฟิศหรือออกจากฟาร์มแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับงานแล้ว ถ้าให้ผมนั่งเขียนหนังสืออย่างเดียว ผมก็ทำไม่ได้ เพราะผมชินกับการทำหลายอย่างพร้อมกัน ต้องทำทุกอย่างที่มีความสามารถทำได้ ถึงจะเต็มเวลาที่มี พอทำไม่เต็มเวลาแล้วจะฟุ้งซ่าน กลายเป็นคนขี้เกียจ

ไม่ค่อยมีปัญหาหรอก ผมฝึกมาแบบนี้ ธรรมชาติผมเป็นแบบนี้

คิดจะกลับบ้านไหม หรือโอเคแล้วกับชีวิตแบบนี้

ไม่โอเค ไม่มีใครโอเคนะ ผมจะบอกให้ ผมคิดจะกลับบ้านตั้งนานแล้ว แต่กลับไม่ได้ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีเรื่องติดขัดหรอก แต่ผมต้องดูแลลูกสาวให้โตก่อน ถ้ามีรัฐสวัสดิการ ผมลาออกจากบริษัทนี้ไปนานแล้ว อย่างน้อยๆ ผมก็ไม่เป็นภาระให้คนอื่น ใช้เงินรัฐอยู่เล็กๆ น้อยๆ ไปให้ชีวิตดำเนินได้

ผมเป็นแรงงานพลัดถิ่น ซึ่งแรงงานพลัดถิ่นเหมือนกันหมด คือมาทำงานแค่ช่วงสั้นๆ 10-15 ปี ถ้าคนมีที่ดินที่บ้านก็จะกลับบ้าน ไม่มีใครอยากอยู่ที่นี่เลยนะ บางคนถึงขนาดตัดสินใจว่าทำงานอยู่ที่นี่ได้เงินเดือน 15,000-18,000 บาท สู้ไปทำงานอยู่เกาหลีใต้ดีกว่า เงินเดือน 5-6 หมื่น ไปทำงานที่เกาหลี 5 ปี เท่ากับทำงานอยู่ที่นี่ 10 กว่าปีกว่าจะได้กลับบ้าน

ผมมีแผนว่าจะกลับบ้าน แต่ทางบ้านเรายังไม่ได้รับการพัฒนา ไม่มีตลาด การบริโภค การสร้างงานที่จะให้คนอยู่ได้ คนทำนาทุกวันนี้คือทำเพื่อสุขภาพ เหมือนเตะฟุตบอลเพื่อสุขภาพ หาดอกผลอะไรไม่ได้เลย ได้เงินนิดๆ หน่อยๆ พอไปจ่ายดอก ธ.ก.ส. ไปซื้ออยู่ซื้อกิน เป็นหนี้เป็นสินช่างมัน ค่อยไปหาเงินจากอย่างอื่นเอา เช่น รับจ้างทั่วไป

พอไม่มีงาน ไม่มีตลาด การที่แรงงานพลัดถิ่นแบบผมจะกลับบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายนะ กลับไปจะอยู่อย่างไร อาจจะปลอบใจตัวเองว่าคนอื่นยังอยู่ได้ ทำไมกูจะอยู่ไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ง่ายขนาดนั้น

ผมมีแผนว่าประมาณ 4-5 ปีข้างหน้าจะกลับบ้านแล้ว ผมมาใช้ชีวิตแบบนี้ ถ้าไม่ได้เขียนหนังสือหรือทำกิจกรรมอย่างอื่น นับเป็นความสูญเปล่าของมนุษย์คนหนึ่งเลยนะ

กลับบ้านไปทำอะไร

ทำเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ผมทำงานอยู่ในภาคนี้ตลอด ทดลองทำไปแล้วบ้าง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ได้ลองแล้วว่าจะไปตลาดไหน ทำอย่างไร ผมไม่ได้ไปทำคนเดียวหรอก แต่จะชักชวนชาวบ้านมาทำด้วย ซึ่งถ้าผมมีโอกาสทำงานทางการเมือง ผมก็จะพยายามผลักดันพวกนี้ไปในเชิงนโยบาย

ผมมีพรรคพวกที่รู้จักอยู่ในพรรคการเมืองหลายพรรค เลยคิดว่าถ้ากลับบ้าน ผมทำงานเลี้ยงชีพได้ แล้วก็ทำงานการเมืองได้ด้วย มีหมู่พวกที่คอยคุยกัน หาทางผลักดันร่วมกัน ไม่ใช่ว่ากลับไปอยู่เฉยๆ

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่มาทำงานใหม่ๆ ผมปลูกยางพาราไว้ประมาณ 30 ไร่ แต่ปรากฏว่าราคายางก้อนถ้วยตกต่ำเหลือ 20 กว่าบาท ผมวางแผนไว้ว่าทำงานอยู่ที่ชลบุรีประมาณ 10 ปี แล้วลงทุนกับสวนยางพาราช่วง 8 ปีแรก อีก 2 ปีเก็บเงิน หวังไว้ว่าตอนลาออกไปแล้วผลผลิตต้นยางพาราจะพีกพอดี ก็จะต่อยอดกันไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าพอครบ 10 ปี เงินเก็บก็ไม่มี ยางพาราก็ให้ผลผลิตน้อย ราคาตกต่ำ ตอนนี้สวนยางพาราก็ยังอยู่ ให้พ่อกับน้องชายดูแลผลผลิตไป

แล้วจะยังเขียนหนังสือต่อไหม

ผมคิดไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มเขียนแล้วว่า เมื่อไหร่ที่ยังสนุกอยู่ก็จะเขียนไปเรื่อยๆ แต่ความเชื่ออย่างหนึ่งของผมคือ คนเราไม่มีเรื่องพูดเยอะหรอก คือแค่เล่าเรื่องแข่นๆ ออกมาสักส่วนหนึ่งที่ตัวเองภูมิใจที่สุด อยากเขียนที่สุดก็พอแล้ว ไม่ต้องไปเขียนหนังสือเป็นร้อยเรื่องหรอก เขียนแค่ 5 เรื่อง 10 เรื่องก็พอ แต่ถ้ายังสนุกอยู่ นั่งลงบนหน้าจอแล้วไม่อยากลุกไปไหน คนจะฆ่าจะแกงกันอยู่ข้างนอกก็ไม่รู้สึกอะไร ผมจะเขียนต่อไป นั่นคือจุดมุ่งหมายในการเขียนหนังสือของผม

งานเล่มนี้ถือว่าทะลุเป้าหมายความตั้งใจในการเขียนหนังสือไหม คุณมีเป้าหมายในการเขียนหนังสืออย่างไร

เล่มนี้มีคอนเซ็ปต์คือความมีส่วนร่วม ความเป็นคอมมอน ใช้ตัวละครหลายตัวเป็นคนร่วมกันสร้างขึ้นมา ไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งหมด เช่นเดียวกับขั้นตอนการทำงาน ผมเปิดโอกาสให้ first readers 4-5 คนของผมทำอะไรกับมันก็ได้ คุณจะขีดฆ่าหรือทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวผมจะฟังว่าคุณมองอย่างไร แล้วผมจะทำให้ออกมาน่าพอใจ

บทอุทิศที่อยู่หน้าแรก ผมก็เขียนว่า ‘สำหรับฉัน และคุณ และพวกเรา’ มีเจตนาอยู่แล้วว่าจะสร้างอะไรต่อไปในภายภาคหน้า สมัยก่อนหรือตอนนี้มีแต่เธอกับฉันสองคน แต่ทำไมมนุษย์ถึงไม่เป็นอิสระเดี่ยวๆ แล้วมีสังคมด้วย

อีกหนึ่งเป้าหมายของเล่มนี้คือผมทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องมาด ลีลา หรือต้องคำนึงถึงว่าจะถูกใจคนอ่านไหม จะถูกต้องตามขนบการเขียนหนังสือไหม จะระคายเคืองคนอื่นไหม ถ้ามันเป็นเรื่องแต่งก็คือเรื่องแต่ง คุณจะทำอะไรกับมันก็ได้ โดยที่ผมก็เห็นมาแล้วว่างานนิยายและเรื่องสั้นมีขนบตั้งแต่เริ่มเขียนกันมา วันนี้ผมไม่อยากทำแบบนั้น ไม่ตอบโจทย์ผมแล้ว ทำในสิ่งที่อยากทำดีกว่า

เราไม่ได้ไปรื้อแนวคิดเก่าๆ ทิ้งหมด แต่จะทำอย่างไรให้แนวคิดเก่าๆ แตกยอดออกมา ไม่ใช่อยู่แค่นี้ รูปแบบการเขียนวรรณกรรมอยู่แค่นี้ ระบบเศรษฐกิจต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นนะ ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ซึ่งใช้ไม่ได้แล้วในยุคถัดไป เพราะต่อไปคุณจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามนี้ก็ได้ แล้วแต่คุณ ก็ถือว่าหนังสือเล่มนี้บรรลุเป้าหมายผมแหละ

แต่ถ้าจะบรรลุเป้าหมายการเขียนหนังสือจริงๆ เลย ผมต้องเขียนอีกเล่มที่รวบรวมสิ่งที่ตั้งใจว่าจะเขียนออกมาให้ได้ก่อน อันนั้นแหละคือสิ่งที่บรรลุเป้าหมายผมเลย หลังจากนั้นผมก็จะได้ไปเขียนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ข่อหล่อแข่แหล่ แทน

อีกเล่มที่อยากเขียนเพื่อบรรลุเป้าหมาย เกี่ยวกับเรื่องอะไร

เป็นความคิดรวบยอดทั้งหมดของผมที่ว่าแต่ละยุคผมสนใจเรื่องอะไร เล่าผ่านตระกูลหนึ่งเหมือนกัน ชื่อเรื่องก็จะเป็นตัวเลขเหมือนกัน มนุษย์มีอายุขัยประมาณ 70-75 ปี ผมยังเลือกตัวเลขว่าจะเป็น 70 หรือ 75 อยู่

เรื่องเนรเทศ ผมเขียนเรื่องการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อคนและการพัฒนาประเทศ ส่วน 24-7/1 ผมเขียนเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ด้วยการโยนคำถามลงไป สร้างแบบจำลองลงไปในเรื่อง ทิ้งไว้ว่าจะเอาอย่างไรต่อ แต่เล่มที่อยากเขียนเพื่อบรรลุเป้าหมายคือการรวบยอดทั้งหมด

คราวนี้หนากี่หน้า?

เป็นปัญหามากเลย เรื่องความหนา ตอนแรกคิดว่าต้องหนาแน่ๆ ฉะนั้นจะเขียนให้สั้นที่สุด ผมเคยทดลองเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง เขียนเรื่องอายุขัยของคนหนึ่งคนให้จบภายใน 1 หน้า ผมจะคิดต่อจากอันนั้นแหละ เพื่อให้สั้นที่สุด บางที่สุด ทำเรื่องที่ใหญ่ที่สุดให้น้อยที่สุด ไม่อธิบายเยอะ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าคิดแบบโรแมนติกหรือเข้าข้างตัวเองหน่อย ทุกวันนี้คนเขียนสั้นกัน ผมเขียนยาวจะเป็นอะไรไป ท้าทายตัวเองเหมือนกัน เพราะเราเขียนทวิตเตอร์ 280 ตัวอักษร เขียนเฟซบุ๊กแป้บเดียวก็จบไป หนังสือที่ออกมาช่วงหลังก็จะเขียนสั้นๆ กัน ถามว่าเพื่อให้ทันยุคทันสมัยใช่ไหม ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกัน ศักยภาพมนุษย์ก็สามารถทำอะไรได้เกินนั้นเหมือนกัน ถามว่าตอบโจทย์ตลาดไหม เราไม่ได้คิดเรื่องตอบโจทย์ตลาด ถ้าคิดเพื่อท้าทายยุคสมัย เราก็จะคิดอีกแบบ ซึ่งก็เป็นความสุ่มเสี่ยง เพราะสุดท้ายหนังสือจะถูกอ่าน ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผม สมมติทำไปหนา 8,000 หน้า ใครจะมาอ่านของคุณ คุณก็เขียนไปเพื่อสนองตอบคุณเฉยๆ

เพราะฉะนั้นผมพยายามทำให้สิ่งที่ผมอยากทำกับสิ่งที่คนอื่นต้องการสมดุลกัน เพราะนับจากนี้ไป ผมก็ยึดแนวคิดของผมนี่แหละว่าผมไม่ใช่เจ้าของทั้งหมด ผมไม่ชอบอะไรประมาณว่า หนังสือหนึ่งเล่มก็เหมือนลูกคนเขียน ผมไม่เคยคิดแบบนั้นเลย ทำในส่วนของเราเต็มที่ แล้วคนอ่านทำหน้าที่ในส่วนของเขาเต็มที่เหมือนกัน เจอกันครึ่งทาง

เมื่อกี้คือความคาดหวังในงานเขียนของตัวเอง แล้วความหวังต่อสังคมล่ะ สังคมในอุดมคติที่คุณอยากเห็นคืออะไร โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้

ผมมาแนวทางสังคมนิยม ในความคิดผมตั้งแต่เด็กเลยนะ อยากเห็นสังคมนิยมเกิดขึ้นในโลก และเป็นสังคมประชาธิปไตย

ถ้าแบ่งคร่าวๆ ระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับสังคมนิยมประชาธิปไตย ผมมาในเฉดของสังคมนิยมประชาธิปไตย (social democracy) นี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็น เรื่องส่วนตัว สิทธิเสรีภาพเป็นประชาธิปไตย แต่การบริหารจัดการเรื่องอำนาจและเศรษฐกิจควรเป็นในระบบสังคมนิยม แต่ถ้าคุณจะไปในระบบทุนนิยม ซึ่งระบบทุนนิยมไปได้ดีกับระบบเสรีประชาธิปไตยและเผด็จการ ผมว่ามันไม่ใช่ ผมอยากเห็น social democracy มากกว่า liberal democracy

เสรีประชาธิปไตยไม่ได้ตอบโจทย์คุณแน่นอน เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อคุณได้เสรีประชาธิปไตยขึ้นมา คุณจะเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คุณจะแก้ไม่ได้เลย เช่น สหรัฐอเมริกาในปัจจุบันก็เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก ถ้าความจำผมไม่พลาด คนร่ำรวยราว 700 กว่าคนของสหรัฐฯ ถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ารวม 4.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่คนครึ่งล่างของประเทศราว 150 ล้านคน มีทรัพย์สินรวมเพียง 1.01 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ส่วนไทย ความเหลื่อมล้ำสูงอันดับหนึ่ง เพราะเป็นทั้งเผด็จการและเสรีนิยม คือปกครองแบบเผด็จการ มีเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมคือทุนนิยมแบบปล่อยตลาดแข่งขัน ไม่มีการออกกฎหมายควบคุม นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

ผมต้องการประชาธิปไตยนะ แต่เมื่อสู้กันได้ประชาธิปไตยแล้ว ผมก็ยังคิดว่าไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย แต่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย เหมือนอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่มีรัฐสวัสดิการ

ข้อดีของเราคือเราเกิดทีหลัง เห็นความหายนะมาแล้ว ทำไมเราต้องเดินตามทางหายนะ เวลามีการดีเบต คนส่วนใหญ่จะติดแต่ภาพคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมในศตวรรษที่ 20 ซึ่งผมว่าไม่มีประโยชน์ที่คุณจะไปคิดอย่างนั้น ตอนนี้เราอยู่ในสภาพของทุนนิยมแบบเสรี เราต้องการชีวิตแบบไหน แล้วเราจะสร้างไปถึงตรงนั้นอย่างไร

ตอนนี้เราสู้กับเผด็จการด้วยกัน แต่พอชนะได้ประชาธิปไตยมา เราค่อยไปรณรงค์แข่งกันว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมประชาธิปไตย สู้กันในสภา สู้กันในการเลือกตั้ง ผมจะไม่ถือปืนไปบังคับใคร แบบนั้นเป็นคณาธิปไตย เป็นเผด็จการ

คิดว่าชีวิตนี้จะได้เห็นไหม ภาพฝันนี้

ไม่ได้เห็นหรอก แค่เสรีประชาธิปไตยก็อาจจะไม่ได้เห็นในประเทศนี้ แต่ถามว่าจะหยุดสู้ไหม หยุดไม่ได้แล้วละ ก็ต้องทำทุกวิถีทาง มีส่วนร่วมในทางการเมือง เขียนหนังสือหรืออะไรที่เรามีกำลังทำได้ ตอนนี้ผมเปลี่ยนเป้าหมายเลยว่าอันไหนที่ทำได้ ผมจะทำ อย่างน้อยๆ ก็ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ถ้าผมอยากเขียนหนังสือ แต่ไม่เขียนเลย ผมอยากเห็นประเทศเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่ไม่ทำอะไรเลย ผมก็ไม่ได้อะไรเลย

คนเรามีความสุขมากกว่าความทุกข์ได้ ถ้าเราบริหารจัดการทรัพยากรให้ดีและมีการควบคุม ในที่นี้คือควบคุมคนที่เอาเปรียบเพื่อน และต้องให้อิสระเสรีต่อคน คนเราจะมีความสุขได้ต้องมีอิสระทางกายภาพก่อน ต่อให้ใจเรามีความสุขแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่มีข้าวกิน อยู่ได้ไม่เกินเดือน ขาดสารอาหารตายหมด ร่างกายต้องไม่เจ็บป่วย อยากไปเที่ยวก็ไปได้ อยากกินอาหารราคาแพงก็กินได้ อยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ แล้วคนเราจะไม่ทุกข์ สังคมควรเป็นแบบนั้น

ตอนจบของเรื่อง 7 คนร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ คุณมองการเขียนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยอย่างไร อนาคตเด็กรุ่นใหม่ที่จะเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองจะมีทิศทางไปทางไหน

ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์เขียนจากจุดเดียวเพื่อการสร้างชาติ สร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้ปกครองได้ง่าย เรื่องเล่าเป็นแบบแผนเดียวกันหมด ซึ่งในศตวรรษนี้และถัดไปจะใช้ไม่ได้แล้ว คนเริ่มรู้แล้วว่าที่เขาเขียนประวัติศาสตร์กันมามีวัตถุประสงค์อะไร

เราสามารถโต้แย้งประวัติศาสตร์แบบเดิมโดยไม่ต้องไปหาหลักฐานมาโต้แย้งก็ได้ โต้แค่เรื่องเล่านั้นได้เลย เพราะบางเรื่องตั้งคำถามได้ง่ายมาก เช่น ทำไมเก่งจัง ไปรบคนเดียวเลยเหรอ จะไม่มีคนช่วยเลยเหรอ คือเรื่องการก่อร่างสร้างประเทศจะไม่ถูกเชื่อว่ามีคนคนเดียวสร้างขึ้นมาได้ แต่เกิดจากสิ่งละเล็กละน้อย ฉะนั้นคนรุ่นถัดจากนี้จะเขียนประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ทุกคนจะเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง

การสร้างประวัติศาสตร์คือการสร้างอนาคต เช่น รัฐไทยสร้างประวัติศาสตร์มาเพื่อสร้างอนาคตของประเทศแบบนี้ ให้จงรักภักดี ให้เห็นแก่สถาบันหลักต่างๆ ทุกคนควรลุกขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์ การเขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การจารลงไปนะ แต่หมายถึงการลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเชื่อและความหมายของยุคสมัยนั้น

ในเรื่อง 24-7/1 พาร์ตที่เล่าประวัติศาสตร์บ้านโนนทองดี ก็เล่าเรื่องประวัติศาสตร์กระแสหลัก แล้วค่อยเล่าประวัติศาสตร์อีกอันขึ้นมา แล้วค่อยพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดต่อ ผมต้องการจะสะท้อนเรื่องนี้

ในเล่มนี้ทำไมคุณจึงเลือกเล่าประวัติศาสตร์ของตระกูลคนลาวอพยพ

ผมเข้าใจคนตระกูลลาวมากกว่า พูดความรู้สึกนึกคิดขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมง่ายกว่า ถ้าผมไปเขียนถึงคนไทย ผมก็ไม่เข้าใจความคิดคนไทยบางอย่าง ไม่ได้รู้สึกกับมัน ก็คงจะสร้างตัวละครขึ้นมาไม่ได้

ตัวละครที่สมมติขึ้นมาเป็นคนลาว ผมทำเพื่อให้มีชีวิต แล้วไปให้ถึงสิ่งที่เป็นได้มากที่สุด จริงๆ แล้วมันแทนภาพชนชั้นนำทุกพื้นที่โลกที่ผมศึกษามาว่ามีวิธีการสร้างตัวเองแบบไหน เช่น การปักรั้ว ล้อมรั้ว ตั้งแต่ยุโรป อเมริกาใต้ มาไทย แต่ผมเลือกตัวละครที่เป็นคนลาวเพราะผมเข้าใจมัน พอสร้างชีวิตขึ้นมาได้ แล้วคนจะเชื่อ มันจะไม่โกหกคนอ่าน

ฉากหมู่บ้านในเรื่อง ใกล้เคียงกับบ้านเกิดคุณแค่ไหน

ฉากในนิยาย ผมรวมสามหมู่บ้านลาวอพยพในเขตอำเภอขุนหาญและอำเภอขุขันธ์ขึ้นมาเป็นหมู่บ้านเดียว พิกัดไม่ได้อยู่ตรงไหนเฉพาะ ผมรวมสายอพยพพวกนี้มาเป็นหมู่บ้านสมมติคือหมู่บ้านโนนทองดี แต่ในที่ที่ผมอยู่ไม่มีชื่อนี้หรอก

หมู่บ้านผมเป็นหมู่บ้านลาวที่ 1 ห่างกันไปประมาณ 5 กิโลฯ เป็นหมู่บ้านลาวที่ 2 ห่างไปอีก 10 กิโลฯ เป็นหมู่บ้านลาวที่ 3 แต่อยู่คนละตำบล หมู่บ้านของผมเป็นหมู่บ้านลาวที่ล้อมรอบด้วยเขมร วัฒนธรรมของผมเลยเป็นวัฒนธรรมข้าม ข้ามลาวข้ามเขมรอยู่นั่นแหละ

ผมได้ประโยชน์เยอะจากการอ่านบันทึกการเดินทางในลาวของเอเจียน แอมอนิเยที่เป็นคนฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยล่าอาณานิคม หนังสือให้ภาพยุคสมัยนั้นเยอะ ทำให้เราเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของคนเป็นอย่างไร หมู่บ้านเป็นอย่างไร

ในเรื่องมีใส่ภาษาลาวมาหลายที่เลย เป็นความตั้งใจไหม

เป็นผมในส่วนหนึ่ง ผมจะไม่ค่อยพูดไทย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็พูดลาว ไม่ใช่ว่าเป็นอัตลักษณ์อะไรหรอก แต่ผมรู้สึกกับคำพวกนี้มากกว่า ในพาร์ตแรกของเล่ม ถ้าคุณสังเกตจะไม่มีคำลาวเลย เป็นคำไทย แล้วพูดรูปประโยคย้อนไปย้อนมาจนอึดอัด แต่พอเข้าพาร์ตสอง เปลี่ยนแล้ว จะกลายเป็นทุกภาษาที่สามารถอยู่ร่วมกันในหนังสือได้ ไม่มีใครเป็นเจ้า ไม่มีภาษาไหนที่ถูกต้อง ไม่มีระดับชนชั้นของภาษา เช่น ใช้รับประทานแทนกิน ถ้าพูดกับผู้ใหญ่ต้องใช้ผม เกล้ากระผม กระหม่อม ฯลฯ ฉะนั้นภาษาลาวในเรื่องก็จะเหมือนภาษาอื่นๆ ในเรื่อง ที่มีความทัดเทียมกันหมด อยู่เคียงข้างกันไปเรื่อยๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่ผมทำตัวเอนไว้ เพื่อให้คนไทยอ่านแล้วรู้สึกว่าจะมาทำตัวเอนไว้ทำไม เพราะคนไทยเวลาอ่านภาษาอังกฤษจะเข้าใจเลย ภาษาอังกฤษกับภาษาไทยเทียบเท่ากันในสถานะ ภาษาอังกฤษจะสูงกว่าหน่อย คนไทยยอมรับภาษาอังกฤษ ไม่รู้สึกว่าเป็นอื่น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ข้ามไปเป็นภาษาลาว มันจะเป็นอื่น พอเป็นอื่นปุ๊บ ผมก็เลยทำให้เป็นอื่นในรูปแบบไปเลย คือแทนที่จะตัวตรงๆ เหมือนเขา ก็นอนเสีย เพื่อกระตุ้นว่าตัวเองแปลกแยกตั้งแต่เห็นตัวเอง พออ่านไปก็ยังรู้สึกแปลกแยก

แต่จุดประสงค์หลักคือทุกภาษาทัดเทียมกัน ก็คือทุกภาษา ทุกสรรพนาม ทุกคำพูดที่มนุษย์ทำขึ้นมา สามารถโลดแล่นในหนังสือที่เป็นทางการได้ เพราะมันคือเรื่องแต่ง เรื่องแต่งก็คือชีวิตมนุษย์ ทำไมต้องมาห้ามกันด้วย

ในระเบียบของสังคมมีสิ่งที่ต้องห้ามมากเกินไป ฉะนั้น เวลาเราทำหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะเล่มนี้ ผมคิดว่าเราควรไปจากตรงนั้นได้แล้ว สื่อสารให้ได้ แล้วแสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือทำลายคน แต่จะทำลายกรอบและขนบ

เหมือนคนเล่านิทาน เขาไม่ได้เล่าสิ่งเดียวกันหมด แต่เล่าในสิ่งที่อยากเล่า อาจใช้โครงเรื่องเดียวกัน แต่เล่าคนละรายละเอียด อย่างในหนังสือเล่มนี้ก็มีนิทานที่ผมแปลงเรื่องใหม่เลย อย่างเรื่องเจ็ดหวดเจ็ดไห ที่พ่อแม่เอาไปฆ่าทิ้ง ต้นไม้ล้มทับ ผมก็มาดัดแปลงใหม่เพื่อให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ หรือนางสิบสองที่มีห้าคนที่พ่อแม่เอาไปปล่อยป่า ก็มีโครงเรื่องมาจากนิทานนางสิบสอง หรือตำนานเรื่องปลาดุกเผือก ก็เป็นตำนานสร้างเมืองของอีกที่หนึ่ง ผมก็มาดัดแปลงใหม่ให้เข้ากับเรื่อง

ฉะนั้นภาษาลาว ไทย อังกฤษ เขมร หรือสำนวนอะไรก็ตามที่คนใช้ในโลกที่ผมเคยพบเคยเห็น ผมก็จะใส่ไปเลย ผมต้องการความสนุกสนานที่เปิดโอกาสให้ผมแสดงออก ผมพูดได้หลายภาษา ผมก็ควรเขียนได้หลายภาษา

ไม่ได้ใช้ภาษาลาวเพราะต้องการปลดแอก เพื่อแสดงความเป็นลาว?

ไม่ได้ต้องการแสดงอัตลักษณ์ ช่วงหนึ่งผมก็พูดเรื่องอัตลักษณ์ในงานเขียนเหมือนกัน แต่เป็นช่วงที่สั้นมากๆ เพราะผมว่าทุกคนร่วมกันสู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องยกอัตลักษณ์ของตัวเองให้เหนือกว่าคนอื่น พอคุณเอาอัตลักษณ์ตัวเองขึ้นมาเหนือคนอื่น คนอื่นก็จะไม่ให้ความร่วมมือกับคุณ คุณก็จะสู้แค่คนกลุ่มเดียว ซึ่งก็ไม่มีพลังต่อกรกับอำนาจการเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ ผมเลยไม่ค่อยพูดเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นลาว

สมัยหนึ่งในการสู้กับอาณานิคม จำเป็นต้องสร้างอัตลักษณ์ของประเทศเพื่อต่อสู้ แต่ตอนนี้เราไม่ได้ต่อสู้กับอาณานิคมในความหมายนั้นแล้ว แต่เราต่อสู้กับอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด หลากหลายที่สุด ตั้งแต่เราเคยเกิดมาเจอ ฉะนั้นการสู้โดยสร้างอัตลักษณ์ไม่พอที่จะโค่นล้มสิ่งนี้ได้ คุณจะได้เฉพาะส่วนของคุณ แล้วคุณจะไม่ใส่ใจส่วนของคนอื่น

สมมติว่าผมสู้เพื่อความเป็นลาวเสร็จ แล้วเศรษฐกิจผมจะเป็นอย่างไร ผมได้รับการยอมรับ บักนี่มันเป็นคนลาว อัตลักษณ์แสดงขึ้นมา พอผมมีที่ทางในสังคม ผมก็ใช้โอกาสนี้ไปผลิตซ้ำสิ่งเดิมๆ แต่ถามว่าถ้านับเป็นแท็กติกการต่อสู้ได้ไหม ได้ สู้กันไปหลายๆ ด้านรวมกันได้ ไม่มีปัญหา

ฉะนั้นการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ในงานเขียนของผม ไม่ได้มีเจตนาจะแสดงออกว่ากูเป็นคนลาว แต่ผมทำให้เห็นว่ามีสิ่งนี้อยู่ในนี้แล้วไม่ได้เป็นอุปสรรคกับใคร เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทั้งหมดรวมกัน ผมไม่ได้เหนือกว่าใคร ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความเป็นลาวก็ถูกกดทับจริงๆ อาจไม่ได้เป็นการแสดงอัตลักษณ์เพื่อเหนือกว่าคนอื่น แต่เพื่อต่อสู้จากการกดทับหรือเปล่า

เรื่องความเป็นลาวก็เป็นปัญหาจริงน่ะนะ ถูกกด เหยียดหยาม แต่ผมมองการเคียงบ่าเคียงไหล่ในการสู้กับเผด็จการมากกว่า รวมพลังกับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคใต้ ที่ต้องการเสรีประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมประชาธิปไตยให้ได้ เราอาจจะหนักกว่าเพื่อนหน่อย ตรงที่โดนสองสามซ้อน ทั้งการเหยียดเชื้อชาติด้วย การโดนเหยียดเชื้อชาติไม่ตายหรอก แต่ถ้าเราไม่เคียงบ่าเคียงไหล่สู้กับทุกคน เราจะไม่ชนะเลย

คนอีสานที่ยึดเรื่องอัตลักษณ์มากๆ ก็ไม่ชอบผมหรอก เพราะผมจะบอกว่าไม่รู้สึกอะไรในการถูกเหยียดหยาม ตราบใดที่คุณไม่ hate speech กับผม เช่น จะฆ่าผม ผมกลายเป็นสัตว์ ผมโอเค แต่ถ้าด่าว่าดำ ผมก็อยากตอบกลับไปว่า ดำแล้วจะเป็นอะไร ก็ดำน่ะ จะทำอย่างไร

การโดนเหยียดหยาม ก็ช้ำใจเป็นธรรมดา แต่ถ้าเรารู้สึกเป็นปมด้อยตลอดเวลาว่า โอ๊ย มีแต่คนดูถูก คือเราจะทำอะไรได้ หลักคิดของผมก็คือเหยียดหยามผมได้ ผมก็จะเหยียดหยามคุณกลับ คุณต้องอดทนให้ได้ ผมก็จะอดทนให้ได้

การอดทนคือหนึ่งในหลักของประชาธิปไตย ถ้าคุณไม่มีความอดทน แตะตรงไหนก็เปราะบางไปหมด คุณก็ไม่ต่างจากชนชั้นสูงและเผด็จการที่ได้รับสิทธิพิเศษ พูดแค่นี้ก็ถูกจับ คุณต้องการให้เป็นแบบนั้นเหรอ ผมว่าไม่ใช่แล้ว

ผมเล่านิดหนึ่ง สมัยผมเป็นเด็กอายุ 11-12 ในหมู่บ้านผม ใครพูดไทย เป็นปมด้อยนะ ถูกล้อจนร้องไห้เลยว่า ‘บักไทยใหญ่’ (โถ พ่อคนไทย) เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่คนลาวมีอำนาจ พอใครพูดไทยก็ถูกรังแก เป็นภาพกลับกัน

จากทั้งหมดที่คุณเล่ามา คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะทำงานอย่างไรกับคนอ่าน

ความปรารถนาของผมเมื่อเขียนหนังสือออกมา ผมอยากให้คนอ่านชะงักงันในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ คล้ายๆ ว่าเกิดความรู้สึกตื่น ตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเคยรู้กับสิ่งที่ปรากฏในหนังสือทำไมต่างกัน หรือแม้แต่เถียงว่าสิ่งที่หนังสือเขียนมันไม่ใช่ก็ได้

ในเล่มนี้พยายามทำให้เห็นหลายอย่าง เช่น คนอาจจะสงสัยว่าทำไมบรรยายการเอากันแบบไม่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์เลย เหมือนหนังโป๊ หรือการใช้สรรพนามกูมึงกับพ่อแม่พี่น้อง ในเล่มนี้พยายามทำให้คนเห็นว่ามีทางเป็นไปได้ใหม่ๆ ตราบใดที่คุณยังไม่หยุดคิดหยุดทำ

ที่ผมบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นคำสารภาพของคนเจนเอ็กซ์ขึ้นไป ที่เราสร้างสังคมห่วยแตกไว้กับคนรุ่นหลัง ถ้าคนรุ่นเราไม่เป็นอย่างนั้น ประเทศเราจะไม่ต้องมาต่อสู้กันแค่เรื่องว่าทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ผมเลยปรารถนาให้คนรุ่นหลังเจนเอ็กซ์เป็นคนอ่าน เป็นเล่มแรกที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน อยากให้เขาอ่านแล้วคิดกับมัน เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเอง สร้างสังคมของตัวเองใหม่ ไม่มีผิดมีถูกนะ คุณลองได้ทุกอัน แต่อันนี้จะเป็นจุดให้เห็นว่ามันทำได้

ตอนเขียนจบยังไม่มีม็อบ แต่พอมีแล้ว ม็อบก็แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน แต่อาจจะไม่สำเร็จในวันนี้หรอก เพียงแต่เกิดความคิดแล้ว เกิดการก่อร้างสร้างตัว ลงมือทำแล้ว ทีละเล็กทีละน้อย ผมไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงวันนี้พรุ่งนี้หรอก แต่เปลี่ยนแปลงแน่

ถ้าคุณอ่านแล้ว คุณคิดกับมันสักหน่อย นอกจากความสนุกสนานแล้ว ผมตั้งใจให้มันสนุกสนานน่ะนะ คุณต้องเริ่มคิดเริ่มทำแล้ว เราจะเดินไปสู่ทางไหน เช่น ทุกคนคือพลเมืองที่เป็นนักการเมืองได้ เป็นนักปฏิวัติด้วยตัวเอง เพราะถ้าคุณยังเป็นแค่ประชาชนคนธรรมดา ทำงานเสียภาษีไป คุณก็จะจมอยู่ในระบบนี้ตลอดไป ซึ่งก็มีไอเดียทำเรื่องพวกนี้ขึ้นมาแล้วในรอบสองปีที่ผ่านมา

ความคิดใหม่ในที่นี้ไม่ใช่ว่าใหม่เอี่ยมอ่องเลยนะ แต่เป็นความใหม่ที่สร้างมาจากรากฐานและองค์ความรู้ต่างๆ ที่เราสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มันยังใช้ได้ เพียงแต่วางไว้ผิดทิศผิดทาง เรามาปรับปรุง สร้าง หรือรื้อทิ้งเลยก็ได้ นี่แหละคือความคาดหมายของผม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save