fbpx

‘นักจารกรรม’: ไต้หวันกับมรดกขยาดจากสงครามเย็น

ไต้หวันกลายเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ตรงกลางการประจันหน้าระหว่างสองมหาอำนาจ จีนและสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน พาสหรัฐฯ กลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเวทีนานาชาติ จากเดิมที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้พาพญาอินทรีถอยห่างจากประชาคมโลก โดยเมื่อกลางปีที่ผ่านมาดิอิโคโนมิสต์พาดหัวให้ ‘ไต้หวัน’ เป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในโลก

ท่าทีของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการส่งจดหมายเชิญผู้นำประเทศร่วมประชุมสุดยอดค่ายประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่ปรากฏรายนามประเทศพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นในย่านอินโด-แปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งไต้หวันก็ยังปรากฏอยู่ในรายนามการเชิญชวนจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามท่าทีของสหรัฐฯ ที่กลับมารุกคืบในเวทีการเมืองโลกก็สร้างความหวาดวิตกให้กับจีนไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นไต้หวัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการสนทนาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนถึงกับพูดตรงๆ แก่ไบเดน ว่า “อย่าเล่นกับไฟ”[1]

สถานการณ์โลกและบทบาทท่าทีของประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่แสดงให้เห็นถึงการหยั่งเชิงทางภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศที่ไต้หวันยังคงเป็นหนึ่งไพ่ต่อรองสำคัญของสหรัฐฯ ท่าทีของทั้งสองประเทศและการพาดหัวข่าวของดิอิโคโนมิสต์นำไปสู่ข้อถกเถียงในพื้นที่สาธารณะและการรับลูกไปเล่นข่าวต่อของสื่อหลายสำนักทั้งในและนอกไต้หวัน

สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ไต้หวันเป็นแดนประจันหน้าระหว่างพันธมิตรสหรัฐฯ กับจีน แต่อย่าลืมว่าชาวไต้หวันต้องอยู่ในสภาวะลูกล่อลูกชนของมหาอำนาจมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งอาจพูดได้ว่ามรดกตกทอดจากยุคสงครามเย็นยังคงแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ในดินแดนไต้หวันแห่งนี้

ชาวไต้หวันอาจมองว่าชีวิตประจำวันของพวกเขาไม่ได้แตกต่างจากเดิมนัก แม้ว่าจีนจะส่งเครื่องบินรบรุกน่านฟ้าทดสอบศักยภาพทัพฟ้าไต้หวันและหยั่งท่าทีประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ในละแวกนี้เป็นประจำ หรือการแล่นผ่านของเรือรบสหรัฐฯ ในบริเวณช่องแคบไต้หวัน จนทำให้จีนขุ่นเคืองก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

การแสดงแสนยานุภาพทางทหารเป็นเพียงแค่ฉากละครหนึ่งในเวทีโลกเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการแสดงแสนยานุภาพและการกระทบกระทั่งกันระหว่างมหาอำนาจ ทั้งยังแสดงถึงภัยอันตรายใกล้ตัวคนไต้หวันมากกว่าการบินรุกล้ำน่านฟ้าจากจีน คือการส่งสายลับหรือนักจารกรรมแทรกซึมเข้าไปในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวชาวไต้หวันและคาดการณ์ยากกว่าการแสดงแสนยานุภาพทางทหาร

สายลับเหล่านี้ไม่ได้แต่งตัวใส่สูทผูกไทเหมือนเจมส์ บอนด์ 007 หรือมีพฤติกรรมแสนรู้ หยิ่งผยองเหมือนเจ้าหน้าที่ซีไอเอในภาพยนตร์ และไม่ได้ส่งตรงมาจากหน่วยข่าวกรอง แต่นักจารกรรมเหล่านี้แฝงตัวอยู่กับลูกหลานที่เข้าเรียนสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง สายลับเหล่านั้นมีชื่อเรียกว่า ‘นักเรียนมืออาชีพ’ (職業學生, จื๋อเย่ว์เสวียเซิน, professional student)

เรื่องสายลับอาจจะเป็นพล็อตเรื่องที่เห็นได้อย่างดาษดื่นในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับช่วงสงครามเย็น แต่ไต้หวันคือหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นทั้งผู้รับและส่งออกสายลับนับตั้งแต่พรรคจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง ล่าถอยมาบนเกาะแห่งนี้หลังเพลี่ยงพล้ำให้กับจีนคอมมิวนิสต์ในปี 1949 แม้ว่าในปัจจุบันไต้หวันได้ลดละการส่งเจ้าหน้าที่พิเศษในการจารกรรมข้อมูล แต่ไต้หวันก็ยังตกเป็นเป้าหมายหลักในการจารกรรมข้อมูลจากจีนแผ่นดินใหญ่

‘สายลับ’ ศัตรูของชาติ

การถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับในไต้หวัน หากย้อนกลับไปในยุคความสะพรึงสีขาว (White Terror, 白色恐怖, ไบ๋เซ่อก๋งบู่) ซึ่งอยู่ในช่วงปี 1947-1987[2] หรือช่วงยุคสงครามเย็น หลังรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้คอมมิวนิสต์จีนจนต้องถอยร่นมายังเกาะไต้หวัน และใช้กฎอัยการศึกในการปกครองเพื่อป้องกันศัตรู พร้อมกับการปราบปรามแบบโหดเหี้ยมกับผู้ที่กระด้างกระเดื่องต่ออำนาจรัฐ ทำให้เกิดเหยื่ออธรรมหลายคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นสายลับคอมมิวนิสต์ก่อนที่จะถูกรัฐลงโทษอย่างแสนสาหัส

ตามหน้าประวัติศาสตร์เดิมทีไต้หวันเป็นเกาะที่มีรากฐานมาจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งล้วนได้รับกรรมสิทธิ์ทำเกษตรก่อนช่วงราชวงศ์ชิง จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ในปี 1895 การเข้ามาปกครองของญี่ปุ่นได้สร้างความรับรู้ให้กับชาวไต้หวันที่แตกต่างไปจากแผ่นดินใหญ่ โดยที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาพัฒนาวางรากฐานสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในไต้หวันไม่ว่าจะเป็นการตั้งมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันจากเดิมชื่อ มหาวิทยาลัยจักรพรรดิไทโฮกุ รวมไปถึงการวางทางรถไฟเพื่อขนทรัพยากรจากเกาะไต้หวันป้อนญี่ปุ่น

แต่แล้วในปี 1943 ไต้หวันก็กลับไปสู่มือของจีนอีกครั้ง แต่เป็นภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐจีน และกลายเป็นปราการสุดท้ายของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง หลังเสียเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายให้กับคอมมิวนิสต์จีนจากแผ่นดินใหญ่ โดยไต้หวันกลายเป็นป้อมปราการกลางทะเลให้กับรัฐบาลจีนคณะชาติ ทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ญี่ปุ่นเริ่มวางไว้ตั้งแต่ 1895 กระแสคอมมิวนิสต์ยังไม่หยั่งลึกถึงประชาชนที่อยู่บนเกาะ และที่สำคัญกองทัพแดงคอมมิวนิสต์ไม่มีกองทัพเรือ ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลจีนคณะชาติที่นำโดย นายพลเจียง จงเจิ้น (蔣中正) หรือเจียง ไคเชก สามารถล่าถอยเพื่อมาตั้งหลักพร้อมกับความหวังที่จะได้กลับไปสู่แผ่นดินใหญ่อีกครั้ง

รัฐบาลจีนคณะชาติได้วางรากฐานใหม่ให้กับไต้หวัน โดยนำเอาความแนวคิดชาตินิยมจีนเข้ามาสู่เกาะไต้หวัน พร้อมกับพยายามทำลายมรดกทางอัตลักษณ์ของชาวเกาะไต้หวันที่ญี่ปุ่นทิ้งไว้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดที่สุดคือการเผาหนังสือภาษาญี่ปุ่น และการสอดแทรกบทเรียนส่งเสริมความเป็นจีน ความรักชาติ และการต่อต้านคอมมิวนิสต์[3]  นอกจากนี้ยังสร้างวาทกรรมการรักชาติผ่านบทเพลง อย่างการใส่เพลงสู้เพื่อกลับสู่แผ่นดินใหญ่ (反攻大陸去, ฟั่นกงต้าลู่ชวู่, Go and Reclaim the Mainland) เพลงดอกพลัม[4] (梅花, เหมยฮวา) หรือเพลงไต้หวันเลิศ (臺灣好, ไถหวันห่าว, Taiwan is good) เข้าไปในแบบเรียนของนักเรียนประถมและมัธยม

การสร้างชาติแบบเข้มข้นเร่งรัดบนเกาะไต้หวันในยุคสะพรึงสีขาวผ่านการใช้กฎอัยการศึกและหลักสูตรการศึกษานำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างจีนคอมมิวนิสต์และจีนคณะชาติ การแสดงความเห็นต่างกลายเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งยวด ผู้เห็นต่างอาจถูกสายลับรัฐบาลอุ้มได้ทุกเมื่อ และอาจถูกป้ายให้เป็นความผิดร้ายแรงขั้นกบฏ

รัฐบาลจีนคณะชาติต้องเจอกับสายลับจากแผ่นดินใหญ่จำนวนมากที่เข้ามาจารกรรมข้อมูลในไต้หวัน ทำให้รัฐบาลจีนคณะชาติไม่ไว้ใจใครหน้าไหนทั้งนั้น ใครที่มีท่าทีต่อต้านรัฐก็ถูกเหมารวมเป็นพวกฝ่ายซ้ายเสียทั้งหมด มากกว่านั้นยังมีการเรียกสายลับจากแผ่นดินใหญ่ว่าสายลับจอมโจร (匪諜, เฝ่ยเตี๋ย)

การกระทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงพื้นบ้านจีน หรือการแสดงความคิดเห็นเอียงซ้ายอาจนำไปสู่การสูญสิ้นอิสรภาพ ที่มากกว่านั้นคือไต้หวันในยุคสะพรึงสีขาวอ้างว่าชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาเรียนในไต้หวันทุกคนล้วนเป็นพลเมืองของสาธารณรัฐจีนทั้งสิ้นไม่ว่านักเรียนเหล่านั้นจะเป็น จีน-มาเลย์[5] หรือจีนที่ถือสัญชาติอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีชาวจีนโพ้นทะเลอีกหลายคนที่ถูกทางการสาธารณรัฐจีนบังคับให้สละสัญชาติจากประเทศที่มา รวมไปถึงห้ามไม่ให้กลับไปยังประเทศบ้านเกิด หรือสถานการณ์ที่โหดร้ายที่สุดคือถูกจับส่งไปยังเกาะกรีน (Green Island) ซึ่งเป็นเกาะห่างไกลทางทิศตะวันออกของไต้หวันและเป็นสถานที่กักขังผู้เห็นต่าง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมคุกอีกหลายแห่งที่มีการซ้อมและทรมานผู้ต้องขัง รวมไปถึงการทำหน้าที่สอดส่องความกระด้างกระเดื่องจากทั้งตำรวจลับ บรรดาครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา หรือกระทั่งคนใกล้ชิด

ตัวอย่างหนึ่งคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ เฉิน ชิน เซิง[6] (陳欽生, Chen Qin Sheng) เขาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในไต้หวันและอดีตนักเรียนชาวจีน-มาเลย์ที่จากเมืองอิโปห์ รัฐเประอันเป็นบ้านเกิดในมาเลเซียมาเรียนที่เมืองไถหนาน ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ในปี 1971 เฉินตกเป็นแพะรับบาปหลังตำรวจลับเกิดความเข้าใจผิด หน่วยงานรัฐกลัวความอับอายขายหน้าจึงกักขังหน่วงเหนี่ยวเฉินไว้ มากไปกว่านั้นรัฐยังซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้เฉินสารภาพว่าตนเป็นคนวางระเบิดห้องสมุดของหน่วยงานสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เฉินมักจะใช้เวลาอ่านหนังสือหรือเขียนงาน โดยกรณีของเฉินถือว่ายังโชคดีที่รัฐเปลี่ยนใจจากประหารชีวิตเป็นจำคุก 20 ปีหลังจากนานาชาติกดดันไต้หวันอย่างหนัก

‘นักเรียนมืออาชีพ’ การสอดแนมยุคใหม่

สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจเหนือช่องแคบไต้หวันทำให้อดไม่ได้ที่จะคิดถึงการแบ่งแยกเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตกในยุคสงครามเย็น แต่ในกรณีของไต้หวันอาจจะแตกต่างออกไปทั้งในเชิงรูปแบบของภูมิศาสตร์และภัยคุกคามที่ไม่มาในรูปแบบกำลังทหารเฉกเช่นในยุคสงครามเย็น แต่ในยุคปัจจุบันจะไปเป็นไปในทิศทางการสะสมข้อมูลเพื่อใช้ในสงครามที่อาจจะเกิดขึ้น นักเรียนมืออาชีพเป็นอีกหนึ่งกลเม็ดที่มีความเชื่อว่าจีนแผ่นดินใหญ่ใช้สำหรับการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด การเรียนการสอน หรือกิจกรรมการเคลื่อนไหวจากทั้งนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ตกเป็นเป้าของการสอดแนม  

อาจารย์ชาวไต้หวันท่านหนึ่ง นามสมมติ A[7] บอกผู้เขียนว่า บทบาทของนักเรียนมืออาชีพจะเป็นการเก็บข้อมูล โต้เถียงหรือโต้แย้งหากมีการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งผิดแปลกไปจากสิ่งที่นักเรียนมืออาชีพถูกฝึกมา ยกตัวอย่างเช่น ถกเถียงเรื่องการเป็นประเทศของไต้หวัน ซึ่งนักเรียนมืออาชีพจะโต้เถียงโดยใช้ตรรกะที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก นอกจากนี้อาจารย์ท่านดังกล่าวยังเตือนผู้เขียนถึงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ในมหาวิทยาลัยว่า ให้ระวังนักเรียนในคลาสที่อาจจะเข้าข่ายนักเรียนมืออาชีพไว้ด้วย

จากคำบอกเล่าของอาจารย์ A ทำให้ผู้เขียนนึกถึงช่วงที่มีข่าวการจับนักเรียนสายลับจีนในสหรัฐฯ อย่างที่เกิดขึ้นในชิคาโก[8] ซึ่งสายลับจีนในคราบนักเรียนที่สหรัฐฯ มีเป้าประสงค์ชัดเจนในการขโมยข้อมูลและส่งกลับไปให้รัฐบาลจีน แต่ตามหน้าสื่อที่ออกมาส่วนใหญ่แล้ว มักจะเกิดขึ้นกับการเรียนการสอนในสายวิทยาศาสตร์มากกว่าสายสังคมศาสตร์ จึงนำไปสู่คำถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า แล้วเหตุใดบรรดานักเรียนมืออาชีพในไต้หวันจึงปรากฏตัวอยู่ในคลาสของวิชาแนวสังคมศาสตร์

ถ้อยคำจากอาจารย์ A บอกด้วยว่านักเรียนมืออาชีพในคลาสต่างๆ ไม่เพียงแค่ปกป้องแนวคิดที่ผลิตจากรัฐบาลจีนเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่บันทึกข้อมูลแนวคิดของนักเรียนในคลาสเพื่อรายงานกลับไปยังแผ่นดินใหญ่อีกด้วย สอดคล้องกับการพูดคุยระหว่างผู้เขียนกับอาจารย์ B ว่านักเรียนมืออาชีพเหล่านี้จะทำการบันทึกข้อมูลการเรียนการสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลให้กับจีนแผ่นดินใหญ่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในอนาคต แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือนักเรียนสายลับเหล่านี้มักจะเรียนอยู่ในคณะบริหารธุรกิจและใช้เวลาเรียนนานกว่าเพื่อนร่วมชั้นหลายๆ คน

สิ่งที่อาจารย์ชาวไต้หวันทั้งสองท่านกล่าวมาสอดคล้องกับข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ที่ทางการไต้หวันจำคุกนักเรียนมืออาชีพที่ชื่อว่า โจว หง ซวี่[9] อดีตนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจจาก มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน (National Chengchi University) เป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากสืบพบว่านักเรียนคนดังกล่าวพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไต้หวันให้เปิดเผยข้อมูลลับ อีกทั้งยังมีการสืบค้นและพบว่าโจวพยายามขยายเครือข่ายทำความรู้จักกับบรรดาข้าราชการในหน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ และกระทรวงต่างประเทศ

สายลับในคราบนักเรียนอาจจะดูโบราณ หากเทียบกับการจารกรรมระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ที่มักจะทำผ่านโลกไซเบอร์มากกว่าจะใช้คนตัวเป็นๆ มาล้วงข้อมูลสำคัญ แต่ในความรู้สึกนึกคิดของบุคลากรทางการศึกษาหรือกระทั่งนักศึกษาที่ไต้หวันก็ยังตระหนักถึงการมีอยู่ของนักเรียนมืออาชีพเหล่านี้

ประชาธิปไตยและการหายไปของสายลับ

บทเรียนจากประวัติศาสตร์ในหลายพื้นที่ทั่วโลกทำให้เห็นว่า การใช้ความกลัวในการปกครองมักมีจุดจบที่ไม่ค่อยสวยนักสำหรับชนชั้นปกครอง เมื่อประวัติศาสตร์กลับมาไล่ล่าพวกเขาเหล่านั้นที่ทำต่อประชาชนอย่างไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ และก่อนจะไปถึงจุดสิ้นสุดอำนาจของบรรดาชนชั้นนำที่พยายามใช้ความกลัวปกครองดินแดนหรือประเทศนั้นๆ ในประวัติศาสตร์มักจะเห็นการโต้กลับหรือความพยายามใช้ความรุนแรงตอบโต้รัฐ

เช่นเดียวกัน ในอดีตที่ไต้หวันใช้ความกลัวในการปกครองบ้านเมืองซึ่งเป็นรูปแบบที่ปิดกั้นการเจรจาพูดคุยกันระหว่างประชาชนตาดำๆ และชนชั้นผู้ปกครอง จึงเกิดความพยายามโต้ตอบ และทำให้มีการส่งสายลับจากสาธารณรัฐจีนไปยังต่างประเทศในช่วงสะพรึงสีขาว ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่จีนแผ่นดินใหญ่ทำ

เหตุการณ์พยายามลอบสังหารประธานาธิบดี เจียง จิง-กั๋ว (蔣經國) ในปี 1970 เกิดขึ้นโดย หวัง เหวินสง (黃文雄) หรือ ปีเตอร์ หวง นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชไต้หวัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นประธานาธิบดีไต้หวันเดินทางไปยังนครนิวยอร์ก แม้ว่าการลอบสังหารจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลไต้หวันขณะนั้นก็ตกใจเป็นอย่างมาก ถึงกับส่งสายลับพิเศษไปจับตาสอดส่องความคิดความอ่านและเก็บบันทึกสุนทรพจน์ รวมถึงการเคลื่อนไหวของบรรดานักเรียนไต้หวันในต่างประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มนักศึกษาขบถต่อรัฐ[10]  

อย่างไรก็ตามไต้หวันมีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นหลายทศวรรษแล้ว สายลับนักเรียนจากไต้หวันมีแนวโน้มว่าจะไม่มีอีกต่อไป เนื่องจากระบอบการปกครองที่ให้สิทธิเสรีภาพทางความคิดตามครรลองของสังคมประชาธิปไตย ปัจจุบันโทษทางกฎหมายของการเป็นสายลับไม่ได้หนักหนาสาหัสเท่าช่วงสงครามเย็น และไม่ใช่เพียงโทษทางกฎหมายเท่านั้นที่ลดลง พื้นที่ทางสาธารณะก็มีการเปิดกว้างขึ้น รัฐบาลไต้หวันสนับสนุนให้มีการชำระประวัติศาสตร์หาความจริงในความผิดพลาดจากรัฐที่ก่อขึ้นอย่างไร้มนุษยธรรมในช่วงสะพรึงสีขาว ต่างกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รัฐเป็นผู้ขยายความหวาดกลัวผ่านการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายปิดปากบรรดานักเคลื่อนไหว หรือกระทั่งรัฐใช้อำนาจของตัวเองในการสร้างความรุนแรงขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกัน

เมื่อย้อนกลับมามองสังคมไทยเองก็พบว่ามีความพยายามจากภาครัฐในการควบคุม ขัดเกลา หรือสอดส่องบรรดานักเรียนไทยในต่างแดนเช่นกัน เช่น การส่งตัวแทนรัฐบาลบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทยกับนักเรียนไทย หรือการที่สถานทูตพยายามสอดส่องการทำกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาไทยในต่างประเทศ

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่านเรื่องสายลับนักเรียนคือ ขณะที่ไต้หวันใช้ประชาธิปไตยในการก้าวข้ามมรดกทางประวัติศาสตร์ แต่หลายประเทศกลับเลือกติดอยู่ในประวัติศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา และบางส่วน (โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ) ไม่คำนึงถึงลูกหลานของตัวเองว่าจะมีสภาพเช่นไรในอนาคตแห่งสากลโลกโดยกลุ่มคนเหล่านั้นยินดีปรีดาที่จะจมปลักอยู่ในประวัติศาสตร์อันหม่นหมองที่กลุ่มของตนเองเขียนขึ้นเท่านั้น


[1] BBC (2021). Biden-Xi talks: China warns US about ‘playing with fire’ on Taiwan.

[2] White Terror exhibit unveils part of the truth

[3] Chen, Ketty W. (2008). Disciplining Taiwan: The Kuomintang’s Methods of Control during the White Terror Era (1947-1987). Taiwan International Studies Quarterly. Vol. 4, No. 4, pp. 185-210

[4] สัญลักษณ์ประจำชาติของไต้หวัน หรือสาธารณรัฐจีน

[5] นำมาจากข้อความบางส่วนของ Toh Jin Xuan  บรรณาธิการ และนักเขียนชาวจีน-มาเลย์ที่เข้ามาเรียนในช่วงความน่าสะพรึงสีขาวก่อนที่ลงหลักปักฐานอยู่ในไต้หวัน The News lens (June, 2020). The Forgotten Victims of the White Terror.

[6] The News Lens. (February, 2021). ‘Facing the Calamity’: The Story of a Malaysian Taiwanese Under KMT Rule

[7] ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ชาวไต้หวันหลายท่านเกี่ยวกับเรื่องนักเรียนมืออาชีพ แต่จะใช้นามสมมติในการอ้างถึงเพื่อความปลอดภัยของอาจารย์ท่านนั้นๆ

[8] Chicago Tribune. (September, 2019) How a Chicago college student ended up in the middle of an FBI investigation into Chinese spying.

[9] Taiwan News. (2018). Chinese student spy released from jail, barred from leaving Taiwan

[10] CUP. (2019). 陶傑:中國「職業學生」(นักเรียนมืออาชีพในจีน)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save