fbpx

คนไร้รัง Nomadland

“ลักษณะเด่นของชาวอเมริกันนั้นมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การพำนักพักพิง ณ ที่ใดที่หนึ่งเพียงชั่วครู่ชั่วแล่น อยู่ไม่ติดที่ และโดดเดี่ยว ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือการจับกลุ่มและรวมตัวกันเป็นสังคม เพื่อแสวงหาการมีครอบครัว การลงหลักปักฐาน และบ้านอันเป็นที่พักใจ ทั้งสองด้านนี้ปะทะกันเสมอมาและตลอดไป ในชีวิตประจำวันของคนอเมริกัน”

ข้างต้นนั้นเป็นคำกล่าวของบรูซ สปริงทีน ในสารคดีเรื่อง Western Stars พูดถึงแนวคิดหลักเกี่ยวกับเนื้อหาของ 13 บทเพลงในอัลบั้มชื่อเดียวกันกับตัวหนัง

ผมได้ดูสารคดีเรื่องนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ดู Nomadland พบว่า ทัศนะของบรูซ สปริงทีนในย่อหน้าแรก รวมถึงแง่มุมต่างๆ ของหลายบทเพลงที่ปรากฏในอัลบั้ม Western Stars มีความสอดคล้องใกล้เคียงกันมาก จนเกือบจะเป็นการสะท้อนถึงเนื้อหาเดียวกันกับ Nomadland โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของอารมณ์ความรู้สึก

เรื่อง Western Stars สามารถดูได้ทาง Netflix ส่วน Nomadland มีให้ดูใน Disney Plus นะครับ

Nomadland ดัดแปลงจากงานเขียนเชิงสารคดีปี 2017 ของเจสสิกา บรูเดอร์ ชื่อ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century เล่าถึงปรากฏการณ์ที่ชาวอเมริกันสูงอายุจำนวนมากต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตขนานใหญ่ ออกเดินทางและพำนักอาศัยในรถบ้าน เร่ร่อนสัญจรไปตามถิ่นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหางาน ‘ชั่วคราว’ ระยะสั้นเป็นการยังชีพ เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (The Great Recession) ระหว่างปี 2007-2009 

Nomadland ฉบับภาพยนตร์ เปิดฉากเริ่มเรื่องด้วยการขึ้นข้อความว่า วันที่ 31 มกราคม 2011 เนื่องจากความต้องการชีตร็อค (วัสดุก่อสร้างที่ประกอบด้วยแผ่นยิปซัมคั่นกลางระหว่างกระดาษหนาสองชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับผนังและเพดานภายใน drywall) ลดลง US Gypsum จึงปิดโรงงานในเอ็มไพร์, เนวาดา หลังจากดำเนินกิจการมา 88 ปี เดือนกรกฏาคม รหัสไปรษณีย์ 89405 ถูกยกเลิก

เฟิร์น ตัวเอกของเรื่อง เป็นหญิงวัยราวๆ 60 ปี เธอเป็นพนักงานคนหนึ่งของ US Gypsum และได้รับผลกระทบจากการเลิกกิจการ กลายเป็นคนตกงาน แต่ที่หนักหนาไปกว่านั้นคือโบ สามีของเธอ เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคร้าย (หนังไม่ได้ระบุชัดว่า เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน-หลัง แต่พอจับความได้ว่าเป็นระยะใกล้เคียงกัน)

ความสูญเสียทั้งสองประการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเฟิร์นแบบถอนรากถอนโคน เธอขายทรัพย์สิ่งของทั้งหมดที่มีอยู่ ซื้อรถตู้มาดัดแปลงเป็นรถบ้าน จากนั้นก็เริ่มต้นออกเดินทางร่อนเร่ ทั้งหางานทำควบคู่ไปกับการพักผ่อนหย่อนใจใช้ชีวิตอิสระ

เนื้อเรื่องที่เหลือทั้งหมดถัดจากนั้น เกือบจะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากที่กล่าวมาข้างต้น ตัวละครขับรถไปบนท้องถนน หางานทำ ทำงานจนหมดวาระตามข้อตกลง ปักหลักพักผ่อนที่ใดที่หนึ่งชั่วครั้งชั่วคราว แวะเที่ยว ออกเดินทางต่อ หางานใหม่ วนเวียนเป็นกิจวัตรซ้ำเดิม ปราศจากเป้าหมายชีวิตและเร่ร่อนไปอย่างไร้ปลายทาง

ไม่มีทั้ง ‘แผนที่ชีวิต’ และ ‘แผนที่การเดินทาง’

จากเรื่องคร่าวๆ ข้างต้นที่ผมเล่ามา ดูเสมือนว่า Nomadland จะเป็นหนังที่ไม่มีพล็อตเรื่องนะครับ ถ้าวัดกันตามขนบการเล่าเรื่องที่ผู้ชมคุ้นเคยก็คล้ายว่าจะเป็นเช่นนั้น ไม่มีการปูพื้นเพความเป็นมาให้กับตัวละคร ไม่มีความต่อเนื่องของเหตุการณ์ ไม่มีจุดพลิกผัน ไม่มีไคลแมกซ์ ไม่มีองค์ประกอบพื้นฐานในโครงสร้างการเล่าเรื่องตามมาตรฐานปกติทั่วไป หลายช่วงหลายตอนบอกเล่าโดยไม่อธิบายหรือแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลาและสถานการณ์ในเรื่องเสียด้วยซ้ำ (แต่ผู้ชมสามารถรู้ได้จากสภาพอากาศ ภูมิประเทศ ผู้คนที่เฟิร์นพบเจอ รวมถึงการเปลี่ยนงานของตัวละคร)

นี่ยังไม่นับรวมถึงการใช้นักแสดงอาชีพเพียงแค่ 2 คน คือ ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ในบทเฟิร์น และเดวิด สตราแทร์น ในบทเดฟ คนอื่นๆ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นบรรดาผู้สัญจรจริงๆ

ระหว่างดู ผมไม่ทราบข้อมูลข้างต้นหรอกนะครับ เข้าใจว่าเป็นการ casting นักแสดงตามปกติ (และยังนึกชมอยู่ในใจว่าช่างเลือกคนที่หน้าตาไม่คุ้นมาได้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งยังเล่นดีเป็นธรรมชาติโดยทั่วหน้า) จนเครดิตขึ้นหลังหนังจบ จึงค่อยทราบว่าใครต่อใครที่มีบทบาทสำคัญในเรื่อง ล้วนเป็น ‘ตัวจริง’ ซึ่งก็ชวนให้นึกสงสัยไปอีกว่า บทสนทนาในเรื่องพูดตามบทที่เขียนไว้หรือคิดขึ้นสดๆ (ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นดีมากๆ)

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าและเนื้อเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องติดอยู่ในกรอบตายตัวที่ต้องมี ต้น กลาง ปลาย มีเหตุการณ์เรียงลำดับ 1,2,3 เสมอไป

พูดอีกแบบคือ Nomadland มีพล็อต (ในแบบที่ผู้ชมคุ้นเคย) เพียงแค่กว้างๆ หลวมๆ และมุ่งไปที่การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่รายวันของตัวละครในลักษณะเน้นความสมจริงเสียมากกว่า แต่ตัวหนังก็ห่างไกลจากการเป็นไดอารีบันทึกชีวิตประจำวันอยู่เยอะ และไม่ได้กระเดียดเฉียดใกล้ไปทางงานในหมวดหมู่สารคดีเลย ยังมีลักษณะเป็นหนังดรามาและกลิ่นอายแบบเรื่องแต่งอยู่เต็มเปี่ยม เพียงแต่เป็นเรื่องแต่งที่เต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือ และมีการเร้าอารมณ์แต่เพียงน้อย

สิ่งสำคัญคือตลอดการดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ หนังมีการออกแบบอย่างประณีตบรรจงว่าจะ ‘เลือก’ บอกเล่าสิ่งใด รวมทั้งร้อยเรียงลำดับความได้อย่างแนบเนียนสละสลวย

ตามความเห็นส่วนตัวของผม Nomadland ไม่ใช่หนังที่มุ่งเล่าเหตุการณ์ แต่ใช้สถานการณ์คร่าวๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าประเด็นในแง่มุมต่างๆ มากกว่า

เริ่มจากสภาพทั่วๆ ไปของเฟิร์นเมื่อเลือกเป็น ‘คนไร้รัง’ ตั้งแต่การกิน อยู่ หลับนอน การเดินทาง การสมัครทำงานชั่วคราวที่ Amazon ช่วงฤดูหนาว (ด้วยเหตุผลว่าใกล้คริสต์มาส จึงทำให้ระยะดังกล่าวมีงานชุกมากกว่าปกติ จำเป็นต้องรับพนักงานเพิ่ม) จากนั้นก็เปลี่ยนย้ายไปเล่าถึงงานชุมนุมพบปะของชาวโนแมด (คำเรียกขานตนเองของนักเดินทางใช้ชีวิตในรถบ้าน) บอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นอีกโลกหนึ่ง อีกสังคมหนึ่ง แตกต่างจากวิถีชีวิตครอบครัวแบบตั้งรกรากถาวรตามปกติไกลลิบลับ

ถัดเนื่องต่อมา ประเด็นของหนังเริ่มเจาะลึกลงรายละเอียด เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเฟิร์นกับบรรดาผองเพื่อนที่พบเจอ (แล้วแยกย้ายจากกัน แล้วพบกันอีก) การแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างกันถึงประสบการณ์ความเป็นไปในชีวิตแต่ละฝ่าย ทุกข์สุขของกันและกัน และในบางครั้งก็ปรากฏเสี้ยวมุมของเหตุผลที่ขับเคลื่อนให้แต่ละคนเลือกใช้ชีวิตแบบไม่หยั่งรากลงเนื้อดินใด (ซึ่งมีสารพัดเหตุผล ตั้งแต่เรื่องของวัยและสุขภาพ นิสัยรักอิสระและชีวิตผจญภัย การตอบสนองความใฝ่ฝันบางอย่าง รวมไปถึงปัจจัยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ)

2 แง่มุมสุดท้าย อย่างแรกหนังพาไปสู่เงื่อนไขที่เฟิร์นพบทางเลือกและโอกาสในการใช้ชีวิต ตั้งแต่ข้อเสนอของพี่สาว (หรือน้องสาว อันนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจนะครับ) ซึ่งชักชวนให้เฟิร์นพักอาศัยถาวรกับครอบครัวของเธอ และอีกครั้งเมื่อเดฟ เพื่อนที่พบเจอบนท้องถนนจนคุ้นเคยสนิทสนมกัน ซึ่งต่อมาได้เลิกพเนจร เนื่องจากลูกชายมาตามพร้อมทั้งขอร้องให้กลับไปใช้ชีวิตร่วมกับลูกหลาน เดฟยื่นข้อเสนอและชักชวนเฟิร์นในทำนองเดียวกัน (และมีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าเดฟน่าจะชอบเฟิร์นในแบบคนรัก)

แง่มุมนี้เชื่อมโยงไปยัง ‘ความแปลกแยก’ หรือพื้นเพนิสัยดั้งเดิมของเฟิร์น (หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้น) ซึ่งทำให้เธอไม่สามารถใช้ชีวิตแบบ ‘ทอดสมอ’ หยุดนิ่งเป็นการถาวร และเลือกที่จะไปข้างหน้าและไปเรื่อยๆ มากกว่า

แง่มุมต่อมาคือการขยายความสิ่งที่เกริ่นไว้ในตอนต้นเกี่ยวกับการสูญเสียสามีของเฟิร์น ในฉากสำคัญตอนท้าย เฟิร์นนั่งคุยกับบ็อบ เวลส์ (ผู้เป็นทั้งนักใช้ชีวิตแบบที่เรียกกันว่า vanlife, youtuber และนักเขียน ได้รับการยกย่องว่าเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมายที่เลือกเดินบนวิถีชีวิตเร่ร่อนอันเรียบง่าย และเป็นผู้ก่อตั้งงานชุมนุมประจำปีชื่อ Rubber Tramp Rendezvous ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังช่วงต้นเรื่อง และ Homes on Wheels Alliance ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่อุทิศให้กับผองชน vanlife)

ฉากดังกล่าวอาจถือเป็นไคลแมกซ์ของหนัง ในแง่ของอารมณ์แล้ว แทบไม่ต่างจากส่วนอื่นๆ ตลอดเรื่อง แต่เป็นจุดสุดยอดในแง่ของ ‘เรื่องที่เล่า’ ซึ่งอาจนับเนื่องได้ว่าเป็นความลับ เป็นแง่มุมส่วนตัว และเป็นเงื่อนปมในใจ กระทั่งว่าเป็นบาดแผลของตัวละคร

ในฉากดังกล่าว เฟิร์นพูดถึงสามีผู้ล่วงลับ แต่พูดถึงอย่างไร เป็นสิ่งที่ญาติโยมต้องไปติดตามดูหนังกันเอาเอง และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือคำตอบ (หรือคำปลอบโยน) ของบ็อบ

อันที่จริงฉากสนทนาระหว่างเฟิร์นกับบ็อบมีให้เห็นไปแล้วในช่วงต้นเรื่อง (Nomadland ใช้ฉากทำนองเดียวกันซ้ำสองอยู่หลายครั้งหลายครา ในช่วงต้นมักจะเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานกับผู้ชม และในตอนท้าย ฉากลักษณะใกล้เคียงกันหรือซ้ำเดิม มักนำเสนอให้เห็นถึงการคลี่คลายของตัวละคร)

ทั้งหมดนี้คือแง่มุมเนื้อหาของ Nomadland ในภาคที่เป็นภาพระยะใกล้ แนบชิดผูกพันกับเฟิร์นผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง ส่วนในภาพกว้างโดยรวม หนังสะท้อนถึงโลกและวิถีชีวิตของนักสัญจรไว้ชัดเจนเช่นกัน ซึ่งโยงไปถึงสิ่งที่บรูซ สปริงทีนกล่าวไว้ในย่อหน้าแรกสุดของบทความชิ้นนี้ นั่นคือการปะทะขัดแย้งกันระหว่างวิถีชีวิตโดดเดี่ยวเป็นอิสระกับวิถีชีวิตที่ปลอดภัยมั่นคง (แต่ต้องอยู่ท่ามกลางกรอบข้อจำกัดและพันธะผูกมัดมากมาย)

ข้อดีของ Nomadland ก็คือการไม่เชิดชูฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และไม่ตัดสินหรือโจมตีว่าชีวิตแบบไหนดีงามเหมาะควรกว่ากันจนเกินควร (กล่าวคือยังพอมีอยู่บ้าง แต่ก็ค่อนไปทางระบายความน้อยเนื้อต่ำใจ ด้วยความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่ถูกสังคมส่วนใหญ่ทิ้งขว้างเสียมากกว่า) แต่มุ่งพรรณนาอธิบายถึงชีวิตอีกแบบที่อยู่นอกกรอบความคุ้นเคยของคนส่วนใหญ่อย่างกระจ่างชัดและถี่ถ้วน จนเกิดภาพเปรียบเทียบเคียงให้ผู้ชมนำไปพิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเอง

เท่าที่ผมเห็นในหนัง ทั้งชีวิตปักหลักตั้งรกรากมีบ้านและครอบครัวเพียบพร้อม และชีวิตแบบเร่ร่อนสุ่มเสี่ยง ล้วนมีทั้งข้อดีข้อเสีย

ชีวิตอย่างแรกนั้นปลอดภัย อบอุ่น แต่ก็เป็นสูตรตายตัวจนเกิดคำถามว่าการใช้ชีวิตที่แท้จริงคืออะไร? เติบโต เล่าเรียน ทำงาน แต่งงาน สร้างครอบครัว แล้วก็แก่ชราโดยละทิ้งและปราศจากโอกาสทดลองชีวิตหลายสิ่งหลายอย่างที่ฝันไว้

ส่วนชีวิตเยี่ยงนักสัญจร ด้านดีคือได้ท่องโลก เผชิญสิ่งแปลกใหม่ชวนตื่นเต้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นอิสระ ได้พบได้เห็นโลกกว้าง ใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นชีวิตปลอดมลภาวะโดยแท้ ได้เป็นฝ่ายรับและหยิบยื่นน้ำใจเกื้อกูลกันระหว่างคนแปลกหน้า แบบที่ชีวิตครรลองปกติยากจะบังเกิด สร้างสังคมและชุมชนแบบใหม่ที่ต่างจากเดิมขึ้นมาชั่วคราว เต็มไปด้วยมิตรภาพความผูกพันในแบบไม่ผูกมัดที่สวยงาม แต่รายจ่ายที่ต้องตอบแทนก็มีราคาแพง ทั้งความเสี่ยงภัยอันตราย ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาไม่มีใครเคียงข้าง ฝืนขัดต่อธรรมชาติที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ผู้คนมากมายที่วนเวียนไปมาในสภาพ ‘พบแล้วพราก จากแล้วเจอ’ อยู่ตลอดเวลา นี่ยังไม่นับรวมการดูแลพึ่งพาตนเองในยามทุกข์หรือป่วยไข้ตามลำพัง

Nomadland สะท้อนถึงแง่มุมเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมากนะครับ และเป็นจุดสำคัญอันทำให้งานที่มีพล็อตบางๆ มีเนื้อเรื่องเหตุการณ์ให้จับต้องยึดเกาะไม่มากนัก กลายเป็นหนังที่มีชีวิตชีวาและชวนติดตามตลอดทุกชั่วขณะ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าหนังจะนำพาผู้ชมไปพบเจอสิ่งใด และแต่ละสิ่งแต่ละอย่างที่บอกเล่าก็ดึงดูดความสนใจไว้ได้ตลอด

จนท้ายที่สุด หนังที่ไม่มีอะไรหวือหวาโลดโผนชวนให้นึกสนุกได้เลย ก็กลับกลายเป็นงานที่เพียบแน่นด้วยความเพลิดเพลินเป็นที่สุด

ความโดดเด่นต่อมาคือ ในความเป็นหนังที่เร้าอารมณ์อย่างน้อยนิด ปราศจากการบีบคั้น ไม่ฟูมฟาย สามารถกล่าวได้เต็มปาก ว่า Nomadland เป็นหนังที่เปี่ยมด้วยอารมณ์อยู่ทุกนาที

เป็นอารมณ์ระคนปนเปกันอย่างหลากหลาย ระหว่างความสุขกับความเศร้า ความเหงา ความเจ็บปวด อารมณ์ขัน ความรื่นรมย์ ความหม่นหมอง (และบ่อยครั้งหลายๆ อารมณ์ที่กล่าวมาก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน)

พูดอีกแบบคือเป็นหนังที่ทำให้ผู้ชมรู้สึก และรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ต้นจนจบ

นอกจากรู้สึกด้วยบท การถ่ายทอดรายละเอียดที่ดีเยี่ยม รวมถึงการแสดงสุดวิเศษของฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ (และบรรดาตัวจริงมากมายที่มา ‘เล่นเป็นตัวเอง’ แล้ว) มีอีก 2 องค์ประกอบสำคัญที่เสริมส่งให้ Nomadland เป็นหนังร่ำรวยอารมณ์ความรู้สึก

อย่างแรกคือดนตรีประกอบ ฝีมือของลูโควิโน ไอโนด์ ศิลปินชาวอิตาเลียน เป็นเพลงบรรเลงด้วยเปียโนที่ไพเราะจับใจ ทั้งอ่อนหวานและเศร้าสร้อย

อย่างต่อมาได้แก่ งานกำกับภาพของโจชัว เจมส์ ริชาร์ดส์ ความโดดเด่นแรกสุดคือเป็นหนังที่ถ่ายภาพสวยทุกฉากทุกตอน ทั้งการถ่ายทอดความงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ ภูมิประเทศเปลี่ยวร้างเวิ้งว้าง สภาพดินฟ้าอากาศหลากหลายฤดูกาล หิมะตกหนัก แดดแผดจ้า ฝนโปรยปรายหม่นทึม

และทีเด็ดไม้ตายที่เฉียบขาดมากคือความงามของแสงเงา เกือบจะเรียกได้ว่า ภาพโดยรวมส่วนใหญ่ เลือกเวลาถ่ายทำในช่วงที่เรียกว่า magic hour (ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและตก ช่วงเช้าตรู่และพลบค่ำก่อนมืด) ซึ่งเป็นโมงยามเหมาะแก่การถ่ายภาพให้ออกมาดูนุ่มนวล อ่อนโยน สวยงาม

ผมเป็นพวกชอบดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก รวมถึงท้องฟ้ายามเย็น ทุกครั้งที่ได้ดูได้เห็น ผมจะเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งอยู่เสมอ คือสุขและเศร้าในคราวเดียวกันอย่างแรงกล้า มีความตรึงใจมากเป็นพิเศษ

ทั้งภาพและตัวหนัง Nomadland ทั้งเรื่องก็เป็นเช่นเดียวกัน คือก่อให้เกิดอารมณ์ประมาณนี้น่ะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save