fbpx
การตีพิมพ์ผลงานวิชาการกับแรงจูงใจที่อาจนำไปสู่การทำผิดจริยธรรม

การตีพิมพ์ผลงานวิชาการกับแรงจูงใจที่อาจนำไปสู่การทำผิดจริยธรรม

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมามีประเด็นที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางในแวดวงคนวิชาการ ว่าด้วยศาสตราจารย์ท่านหนึ่งในไทยทุบสถิติตีพิมพ์ผลงานวิชาการมากกว่า 400 ชิ้นในระยะเวลาเพียง 3 ปี หากคิดง่ายๆ ศาสตราจารย์ท่านนั้นจะต้องทำงานวิจัยและนำไปตีพิมพ์อย่างน้อย 3 วันต่อชิ้น ถ้าไม่ใช่ยอดมนุษย์ ก็คงต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ยิ่งขุดค้นก็ยิ่งน่าสงสัย อย่างแรกคือผลงานวิชาการของเขาครอบคลุมตั้งแต่เศรษฐศาสตร์ การเงิน รัฐศาสตร์ ไปจนถึงเคมี ฟิสิกส์ และวัสดุศาสตร์ แถมผลงานแต่ละชิ้นยังถือว่ามีคุณภาพสูงลิ่ว เนื่องจากได้รับการอ้างอิงไปกว่า 2,500 ครั้ง

หากมองเผินๆ เขาคงเป็นนักวิชาการตัวเต็งที่จะได้รับรางวัลโนเบลในเร็ววัน ถ้าไม่ติดที่ว่างานวิจัยหลายชิ้นถูกถอนออกไปแล้ว แถมการอ้างอิงส่วนใหญ่ก็เป็นการอ้างกันเองไปมาแต่ไม่ปรากฏในเนื้อหา อีกทั้งวารสารบางฉบับที่ตีพิมพ์ผลงานยังถูกลบชื่อออกจากฐานข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถืออย่าง SCOPUS คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าสถิติผลงานอันโดดเด่นนี้เป็นเพียงภาพลวงตา

นี่คือผลพวงของแรงจูงใจให้คนทำผิด (perverse incentive) ในแวดวงวิชาการ ที่ใช้จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ประกอบกับดัชนีชี้วัดการอ้างอิงผลงานเป็นเครื่องมือบ่งบอกความสำเร็จ ความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน รวมทั้งการยอมรับนับถือของสาธารณะ แต่สุดท้ายก็เป็นไปตามกฎของกู๊ดฮาร์ท (Goodhart’s Law) ที่มีใจความว่า “เมื่อตัวชี้วัดกลายเป็นเป้าหมาย มันก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีอีกต่อไป” เนื่องจากทุกคนมีแรงจูงใจที่จะเอาชนะด้วยสารพัดกลโกง

ว่าด้วยธุรกิจวารสารวิชาการ

ในอดีต เมื่อนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยตั้งคำถาม ออกแบบการทดลอง เก็บข้อมูล สรุปผล แล้วนำมาร้อยเรียงเป็นบทความทางวิชาการ ผลงานดังกล่าวจะถูกส่งไปยังวารสารวิชาการเพื่อตีพิมพ์ โดยอาจเสียค่าใช้จ่ายบ้างเพียงเล็กน้อย ทีมบรรณาธิการและอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวจะทำหน้าที่สอบทานพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงต้นฉบับ ก่อนที่บทความจะได้รับการตีพิมพ์และกระจายไปยังห้องสมุดต่างๆ ทั่วโลก เป็นวิทยาทานแก่นักศึกษาและนักวิจัยเพื่อให้นำผลลัพธ์ไปต่อยอด

รายได้หลักของวารสารวิชาการแบบดั้งเดิมมาจากค่าสมาชิกของสถาบันทางวิชาการและมหาวิทยาลัย นี่คือความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมาระหว่างสำนักพิมพ์ที่ต้องคัดสรรผลงานคุณภาพสูงเพื่อให้สมาชิกพึงพอใจและยินดีที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี หากวารสารไหนคุณภาพตกต่ำ ผลพวงที่ตามมาก็คือรายได้ที่หดหาย และสุดท้ายก็จะตายไปจากตลาด

แต่อินเทอร์เน็ตทำให้ธุรกิจวารสารวิชาการต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อเกิดแนวคิดใหม่ว่าด้วยวารสารวิชาการที่ทุกคนเข้าถึงได้ (open access) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายคนที่ต้องการให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงความรู้อย่างเสรีโดยไม่มีกำแพงกั้น แต่เหล่าบรรณาธิการก็ต้องกินต้องใช้ วารสารวิชาการที่ทุกคนเข้าถึงได้จึงเก็บเงินจากนักวิจัยเพื่อทดแทนค่าธรรมเนียมสมาชิกที่หายไป

แน่นอนครับว่าวารสารวิชาการที่ทุกคนเข้าถึงได้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่วนนักวิจัยเองก็ได้ประโยชน์ทางอ้อมเนื่องจากมีคนอ่านผลงานจำนวนมากกว่า และมีโอกาสที่บทความจะถูกนำไปอ้างอิงสูงกว่าวารสารที่ต้องสมัครสมาชิกเพื่อเข้าถึง แต่รูปแบบการหารายได้นี้เองที่ทำให้เกิด ‘ปรสิตแห่งวงการวิชาการ’ นั่นคือ ‘วารสารนักเชือด’ (predatory journal) ที่มาพร้อมสโลแกน “จ่ายครบจบที่ตีพิมพ์”

แผนภาพแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัย วารสาร และผู้อ่าน โดยแบ่งออกเป็นวารสารที่ต้องสมัครสมาชิก (subscription-based journal) วารสารที่ทุกคนเข้าถึงได้ (open access journal) และวารสารนักเชือด (predatory journal) จะเห็นว่านักวิจัยจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดพิมพ์ (article processing charge หรือ APC) ให้แก่วารสารที่ทุกคนเข้าถึงได้ และวารสารนักเชือด แต่บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนักเชือดจะไม่ได้ผ่านกระบวนการสอบทานโดยผู้เชี่ยวชาญนำไปสู่การเผยแพร่บทความวิชาการคุณภาพต่ำ
ที่มาแผนภาพ: Problems and challenges of predatory journals

ปัญหาจากวารสารนักเชือด

วารสารนักเชือดมักเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับพิจารณาบทความในอัตราสูงลิ่ว โดยลูกค้าส่วนใหญ่คือเหล่านักศึกษาปริญญาเอกไร้เดียงสาที่ต้องกระเสือกกระสนตีพิมพ์ผลงานวิชาการตามเงื่อนไขการเรียนจบ นักวิชาการฉ้อฉลที่หวังใช้เงินเป็นทางลัดเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน หรือกระทั่งเหล่าผู้ปฏิเสธเรื่องโลกร้อนและกลุ่มต่อต้านวัคซีนที่ต้องการให้สิ่งที่ตนเชื่อได้รับ ‘ตราประทับ’ ว่าผ่านการสอบทานโดยผู้เชี่ยวชาญ

การศึกษาที่เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2558 พบว่าตลาดของวารสารนักเชือดมีมูลค่าราว 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตีพิมพ์ผลงานวิชาการลวงโลกประมาณ 420,000 บทความต่อปี แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวอาจเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว

ปัญหาจากวารสารนักเชือดไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวนของเหล่านักวิชาการลวงโลกนะครับ แต่บทความวิทยาศาสตร์จอมปลอมยังเปรียบเสมือนมลภาวะในแวดวงวิทยาศาสตร์ สร้างความเข้าใจผิดแก่นักวิจัยมือใหม่ที่อาจนำข้อมูลมั่วซั่วในบทความไปใช้อ้างอิง หรือกระทั่งถูกนำไปใช้สำหรับสร้างข่าวปลอมที่ดูน่าเชื่อถือหรือแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง

สำหรับผู้อ่านอย่างเราๆ ท่านๆ การแยกแยะระหว่างวารสารวิชาการของจริงกับของปลอมนับว่ายากอย่างยิ่ง เพราะวารสารนักเชือดมักจะตั้งชื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการเข้าใจยาก เรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ปลอมที่ดูสมจริง แม้หลายชิ้นอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง ผมขอลองให้ทายเล่นๆ นะครับว่าวารสารหัวใดต่อไปนี้เข้าข่ายว่าเป็นวารสารนักเชือด (อ่านเฉลยที่ท้ายบทความ)

            (1) Journal of Economics, Business and Management

            (2) Journal of Economics, Finance and Management Studies

            (3) International Journal of Advances in Management and Economics

ถ้าเดาไม่ออกก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ เพราะมีการสำรวจพบว่านักวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของสหภาพยุโรปหลายคนก็ยังเคย ‘พลาด’ ไปตีพิมพ์ในวารสารนักเชือดหลายฉบับ ซึ่งมันเกิดจากความผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ใจ เพราะไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของวารสารดังกล่าวก่อนส่งไปตีพิมพ์

แน่นอนครับว่าแวดวงวิชาการไม่ได้นิ่งเฉยและพยายามจัดการกับปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมรายชื่อวารสารนักล่า เช่น Beall’s List of Potential Predatory Journals and Publishers โดยเจฟรีย์ เบลล์ (Jeffrey Beall) บรรณารักษ์ชาวอเมริกัน หรือการคัดกรองวารสารวิชาการโดยฐานข้อมูลงานวิจัยอย่าง SCOPUS และอีกสารพัดเว็บไซต์จัดทำดัชนีการอ้างอิงผลงานวิชาการ

แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งการแพร่ระบาดของวารสารลวงโลกได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากยังมีคนบางกลุ่มที่ต้องการใช้บริการดังกล่าว ประกอบกับการจัดทำวารสารนักเชือดฉบับใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพียงแค่มีทักษะในการทำเว็บไซต์และรวบรวมอีเมล์นักวิชาการที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นประจำ แล้วส่งอีเมลสแปมเชิญชวนให้มาร่วมตีพิมพ์ผลงานในวารสารหน้าใหม่พร้อมกับวงเล็บว่ามีค่าใช้จ่าย (ราคาแพง) ก่อนกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่

‘วารสารนักเชือด’ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง

การจงใจจ่ายเงินเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารนักเชือดเพื่อหวังสร้างชื่อเสียงหรือใช้เป็นผลงานเพื่อขอรับตำแหน่งทางวิชาการย่อมเป็นเรื่องผิดจริยธรรม แต่นั่นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาในวงการวิชาการเกี่ยวกับงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งเผชิญกับ ‘อคติในการตีพิมพ์’ (publication bias) มาอย่างยาวนาน

อคติที่ว่าคือความโน้มเอียงของวารสารวิชาการในการตีพิมพ์ผลลัพธ์งานวิจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (statistically significant) ซึ่งมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงกันคือค่าความน่าจะเป็นน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ (p < 0.05) หรือแปลเป็นภาษามนุษย์ได้ว่ามีโอกาสน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ที่ผลลัพธ์ของงานวิจัยเกิดขึ้นจากความบังเอิญ โดยมีการศึกษาพบว่าผลวิจัยที่นัยสำคัญทางสถิติจะมีโอกาสได้รับการตีพิมพ์มากกว่าถึง 40 เปอร์เซ็นต์

เมื่อการตีพิมพ์ผลงานคือตัวชี้วัดของนักวิชาการ เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงมีแรงจูงใจที่บิดเบี้ยวในการทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผลลัพธ์มีนัยสำคัญทางสถิติ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวชวนให้ถูกตั้งคำถามในแง่จริยธรรมก็ตาม

การปรับแต่งค่าความน่าจะเป็นไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อผลลัพธ์ครั้งแรกออกมาว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ บางรายอาจใช้วิธีเก็บกลุ่มตัวอย่างเพิ่มไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามต้องการ บางรายปรับเปลี่ยนกลุ่มตัวอย่าง เช่น จากเดิมที่จะวิเคราะห์ทั้งชายและหญิง แต่เมื่อทดสอบในกลุ่มย่อยพบว่าผลลัพธ์มีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะกลุ่มผู้ชาย ก็อาจปรับแก้เนื้อหาทั้งหมดให้เสมือนหนึ่งว่าออกแบบมาเพื่อเก็บตัวอย่างเฉพาะผู้ชายมาตั้งแต่แรกเริ่ม บางคนอาจรื้อสมมติฐานใหม่ทั้งหมด แล้วขุดหาความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติจากข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ฯลฯ

การปรับแก้เหล่านี้คือเรื่อง ‘หลังบ้าน’ ซึ่งเราในฐานะผู้อ่านไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการตั้งสมมติฐาน การกำหนดกลุ่มตัวอย่าง และอีกสารพัดรายละเอียดปลีกย่อยที่ปรากฏในบทความวิชาการเป็นแบบนี้จริงๆ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการหรือปรับแก้มาเรื่อยๆ เพื่อตามหาผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ

อ่านถึงตรงนี้ ความน่าเชื่อถือต่อสถาบันวิทยาศาสตร์ของใครหลายคนอาจเริ่มสั่นคลอน พร้อมกับความกังวลว่าในอนาคตแวดวงวิชาการอาจถึงคราวล่มสลายเพราะมลภาวะผลงานวิชาการคุณภาพต่ำกำลังจะล้นตลาด

อย่าเพิ่งมองโลกในแง่ร้ายเกินไปนะครับ เพราะความแข็งแกร่งของแวดวงวิทยาศาสตร์คือกลไกหักล้างความผิดพลาดแบบอัตโนมัติ เมื่อผลงานชิ้นหนึ่งถูกตีพิมพ์ เหล่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวก็อาจหยิบเอาสมมติฐานเดิมไปทดสอบอีกครั้ง หรือนำวิธีการทดลองไปต่อยอด เมื่อหลายคนลองทำซ้ำแล้วไม่ได้ผลลัพธ์เหมือนกับที่กล่าวอ้าง หลักฐานชิ้นใหม่ก็จะหักล้างคำกล่าวอ้างที่ผิดๆ แล้วสร้างความเข้าใจร่วมกันว่างานชิ้นดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้แวดวงวิชาการก้าวหน้าคือความคิดที่ว่าทุกอย่างสามารถถูกตั้งคำถามและหักล้างได้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง บทความในวารสารวิชาการเกรดเอ หรือผลงานของศาสตราจารย์ตีพิมพ์งานวิจัย 400 ชิ้นในระยะเวลาเพียง 3 ปี

อย่าลืมนะครับว่านักวิชาการก็เป็นปุถุชนเหมือนเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ พวกเขาและเธอมีโอกาสทำงานผิดพลาดได้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ต้องเจอกับอคติไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป แถมยังมีแรงจูงใจที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดจริยธรรม ดังนั้นอย่าปักใจเชื่อทุกอย่างที่นักวิทยาศาสตร์พูดทันที แต่เผื่อพื้นที่สำหรับตั้งคำถามในเรื่องที่ฟังดูไม่สมเหตุสมผลด้วยนะครับ

เฉลย: วารสารที่เข้าข่ายว่าเป็นวารสารนักเชือดตาม Beall’s List คือข้อ (1) และ (3)


เอกสารประกอบการเขียน

Problems and challenges of predatory journals

Predatory journals: no definition, no defence

8 questions and answers about predatory journals: Protecting your research, reputation, and funding from theft and fraud

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save