fbpx

ความเกลียดกลัวเพศหลากหลายจาก ‘ตุลาการชาย’ ยุคเบบี้บูม

ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน ดูราวกับว่าการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นจะมีเป้าหลายหลักอยู่ที่ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อย่างไรก็ตาม พึงต้องตระหนักว่าคำวินิจฉัยในกรณีนี้ได้เกิดขึ้นด้วยความเห็นอันเป็นเอกฉันท์ ในเอกสารที่เผยแพร่สู่สาธารณะไม่มีตุลาการคนใดมีความเห็นแตกต่างออกไป ฉะนั้น จึงต้องถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ล้วนต้องมีส่วนรับผิดชอบในคำวินิจฉัยนี้อย่างเท่าเทียม

เมื่อเป็นคำวินิจฉัยอันเป็นที่เห็นพ้องจึงย่อมแสดงให้เห็นว่าการตัดสินครั้งนี้มาจากความเห็นที่ร่วมกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจคุณลักษณะของตุลาการในเชิงภาพรวมก็อาจช่วยทำให้สามารถเข้าใจได้ถึงเงื่อนปัจจัยที่ส่งผลอย่างสำคัญต่อคำวินิจฉัยในคดีนี้

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำแนกตามปีเกิด การศึกษา และอาชีพสุดท้าย

ในเบื้องต้นจะพบว่าบรรดาบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งตุลาการในชุดปัจจุบันล้วนแต่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีผลการเรียนในระดับดีจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของสังคมไทย โดยจบมาจากธรรมศาสตร์ 5 คน จุฬาลงกรณ์ฯ 2 คน และจากรามคำแหง 2 คน ในทั้งหมดนี้มากกว่าครึ่งหนึ่ง (5 คน) สำเร็จการศึกษาด้วยผลการเรียนในระดับเกียรตินิยม มากไปกว่านั้น มีถึง 4 คน ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยเป็นปริญญาเอกจากต่างประเทศอย่างน้อย 3 คน (มีอยู่ 1 คน ที่มีข้อกังขาว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย ‘ห้องแถว’ ในต่างประเทศหรือไม่ แต่ในประวัติการศึกษาก็ได้มีระบุว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ)

เมื่อพิจารณาจากประวัติการศึกษาของตุลาการทั้งหมด ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบุคคลเหล่านี้คือกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาและสติปัญญาพอสมควร บุคคลที่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่ผู้ที่มีฐานะยากจน แต่เป็นคนในระดับชนชั้นกลางถึงชนชั้นสูงของสังคม ทรรศนะที่ร่วมกันในคำพิพากษาย่อมสะท้อนให้เห็นความเข้าใจที่ร่วมกันต่อการให้ความหมายและความสำคัญเกี่ยวกับเพศ ระบบครอบครัว ของคนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนกว้างขวางอยู่ไม่น้อย

เมื่อพิจารณาถึงอายุและยุคสมัยของบุคคลเหล่านี้ ทั้งหมดเป็น ‘ผู้ชาย’ ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2500 (ยกเว้นนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แม้จะเกิด พ.ศ. 2501 แต่ยังถือได้ว่าเป็นคนที่อยู่ในรุ่นเดียวกันได้ และมี 1 คน ที่ไม่ทราบแน่ชัดถึงปีที่เกิด) อายุเฉลี่ยประมาณของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือ 68 ปี หากจำแนกตามยุคสมัย บุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) อันหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2489-2507 ในปัจจุบันคนรุ่นนี้จะมีอายุระหว่าง 57 ถึง 75 ปี

(คำถามประการหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ เพราะเหตุใดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสังคมไทยจึงอุดมไปด้วยบุคคลที่เป็น ‘ชาย’ นับจากการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จวบจนกระทั่งปัจจุบันมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นหญิงเพียง 1 คน เท่านั้น คือ เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2546 หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏผู้หญิงดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก แต่การดำรงตำแหน่งของผู้หญิงจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในมุมมองและการให้เหตุผลในคำวินิจฉัยต่อข้อพิพาทต่างๆ หรือไม่ นับเป็นอีกประเด็นที่ต้องแยกต่างหากออกไป)  

ลักษณะร่วมกันของคนรุ่นนี้คือ เกิดภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นช่วงเวลาที่จำนวนคนในโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ในแง่มุมทางการเมือง คนเหล่านี้เติบโตมาในช่วงเวลาของสงครามเย็นที่เป็นการต่อสู้ระหว่างสองค่ายความคิดที่มีสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำของแต่ละฝ่าย มีการโฆษณาชวนเชื่อ การปลูกฝังอุดมการณ์อย่างเข้มข้น

ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ คนรุ่นนี้จำนวนไม่น้อยสามารถสะสมทุนและแสวงหาความก้าวหน้า เนื่องจากสามารถเข้าถึงและได้ประโยชน์จากสังคมในห้วงเวลาดังกล่าว ทำให้มีความโน้มเอียงที่คนรุ่นนี้จะกลายเป็นกลุ่ม ‘อนุรักษนิยม’ ในห้วงเวลาปัจจุบัน

ในสังคมไทย คนกลุ่มนี้เป็นหนุ่มสาวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จากเหตุการณ์นี้มีกระแสการเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างชายหญิงกระทั่งนำไปสู่การเขียนบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 รวมถึงการปรับแก้กฎหมายครอบครัวที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้นระหว่างชายหญิง อย่างไรก็ตาม กระแสการเคลื่อนไหวก็ยังคงเป็นประเด็นระหว่างสองเพศคือ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ พวกเขาที่อยู่ร่วมยุคสมัยจึงย่อมรับรู้และตระหนักถึงประเด็นของสิทธิสตรีอยู่บ้างอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เรื่องบุคคลเพศหลากหลายยังอาจเป็นสิ่งที่ไกลจากการรับรู้ในห้วงเวลาดังกล่าว

สำหรับประเด็นของบุคคลเพศหลากหลายในสังคมไทยได้ถูกผลักดันและเผยแพร่ให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางภายหลังทศวรรษ 2540 ก่อนที่กระแสการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในทศวรรษ 2550 และสืบเนื่องต่อมากระทั่งในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งในความพยายามที่จะเรียกร้องให้ประเด็นของบุคคลเพศหลากหลายกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย การเรียกร้องให้มีการรับรองการสมรสของบุคคลสองคนโดยไม่สนใจเรื่องเพศ คือส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวนี้

การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของบุคคลเพศหลากหลายได้มาเกิดขึ้นในขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าในอาชีพของตน รวมถึงเริ่มอยู่ในวัยของ ‘คนแก่’ ต้องไม่ลืมว่าบุคคลกลุ่มนี้ทั้งหมดคือผู้ที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 2 ใน 3 หรือ 6 คนคือผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงของฝ่ายตุลาการ เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายว่าในแวดวงตุลาการของไทยถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมและความเชื่อแบบอนุรักษนิยมอย่างมาก ความรู้ความสามารถในแวดวงนิติศาสตร์ไทยก็คือการธำรงความรู้และระบบความเชื่อแบบดั้งเดิม

โดยไม่ต้องกล่าวถึงแนวความคิดเรื่องเพศหลากหลาย แม้กระทั่งปัจจุบันแนวความคิดเรื่องสตรีนิยมก็ยังแทบไม่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรการศึกษาด้านกฎหมาย แนวความคิดเรื่องเพศและระบบครอบครัวจึงยังคงวางอยู่บนฐานะความคิดของเพศกำเนิดและการสมรสแบบต่างเพศ (heterosexual marriage) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันคือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการปกป้องแนวความคิดในยุคสมัยหนึ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว

การยืนยันว่าบุคคลมีสองเพศตามธรรมชาติและครอบครัวคือการสืบสานเผ่าพันธุ์ สิ่งอื่นใดที่แตกต่างไปจากนี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่ธรรมชาติและไม่สอดคล้องกับจารีตประเพณี เป็นทรรศนะที่มีปัญหาอย่างมากในตัวมันเอง  

เมื่อคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นคนที่อยู่ใน ‘วัยเกษียณ’ ความเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ยังสามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ในหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะในองค์กรอิสระได้กลายเป็นฐานที่มั่นของคนเบบี้บูมเมอร์ที่ต่างพากันตบเท้าเข้าไปยึดครองอย่างเหนียวแน่น พร้อมกับการแสดงบทบาทที่สะท้อนให้เห็นการปกป้องอุดมการณ์หรือแนวคิดแบบดั้งเดิมที่ครอบงำสังคมไทยมาในยุคสมัยของตนเอง

ในปลายศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาถึงศตวรรษที่ 21 ศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกจัดตั้งขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตยใหม่ หรือประเทศที่ระบบประชาธิปไตยยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง ศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกจัดวางให้ทำหน้าที่ในการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ และการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการล่วงละเมิดของอำนาจรัฐ และศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจในการปกป้องสิทธิเสรีภาพนี้รับรองรวมถึงขยายขอบเขตสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีความผันเปลี่ยนไปอย่างมาก

แต่สำหรับสังคมไทย บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญกลับมีความแตกต่างออกไป ดูราวกับว่าบทบาทหลักที่ปรากฏให้เห็นกลับกลายการปกปักษ์รักษาอุดมการณ์และความเชื่อแบบดั้งเดิมมากกว่า

คำถามสำคัญที่ต้องร่วมกันขบคิดก็คือ บทบาทหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสังคมไทยในห้วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางใช่หรือไม่ และถ้าคำตอบคือไม่ใช่ จะมีหนทางใดในการประกอบสร้างศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เช่นนี้

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save