fbpx

Alice In Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.1 ความสกปรกที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งความสะอาด

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.2 ซากอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติกับผังเมืองที่หายไป

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.3 เรื่อง ‘กากๆ’

ผืนดินที่เราอาศัยอยู่ในวันนี้เป็นอย่างไร ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุสารอาหาร สามารถเพาะปลูกสร้างแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงผู้คนได้เป็นอย่างดี ใช่หรือไม่?

แผ่นฟ้า ที่อยู่ของอากาศบริสุทธิ์ที่เราถูกบังคับให้ต้องหายใจเข้าไปเพื่อมีชีวิตอยู่ ยังคงคำว่าบริสุทธิ์ให้เราใช้หายใจอยู่ได้ ใช่หรือไม่?

สายน้ำ ที่เราใช้กินดื่ม ใช้ชำระล้างความสกปรกต่างๆ ยังคงความสะอาดมากพอที่จะใช้ชำระล้างได้ ใช่หรือไม่?

ถ้าคุณตอบว่าใช่… แสดงว่าคุณยังไม่เคยหลุดผ่านโพรงกระต่ายเข้าไปสู่ดินแดนสุดอัศจรรย์ ที่ชื่อว่า ‘Dirtyland’ ดินแดนที่ผืนดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป อากาศเน่าเหม็นจนแสบจมูก สายน้ำที่อุดมไปด้วยสารโลหะหนักนานาชนิดจนเหล่าสัตว์น้ำใกล้จะกลายพันธุ์เป็นอสูรกาย

แต่นั่นเป็นดินแดนที่ ‘ของเสียอันตราย’ มีค่าราวกับอัญมณีล้ำค่า ดินแดนที่ผู้คนจำนวนหนึ่งอาจกลายเป็นมหาเศรษฐีบนเศษซากความเสียหายของดิน น้ำ อากาศ และพืชพันธุ์

ดินแดนของ ‘โรงงานรีไซเคิล’

นั่นเป็นดินแดนที่ผมเคยผ่านเข้าไปแล้วหลายครั้ง เราเดินทางผ่านโพรงกระต่ายนี้ได้ด้วยรถยนต์สุดแสนธรรมดา และเมื่อเราสืบค้นเข้าไปมากขึ้น เราก็อาจพบว่า นี่เป็นดินแดนที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราเคยรู้

เดินทางไปด้วยกัน


2557 การเดินทางครั้งแรกสู่โพรงกระต่าย

เหตุเพลิงไหม้ที่บ่อขยะแพรกษา ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

ท่ามกลางกลุ่มควันหนาทึบที่แผ่ปกคลุมไปในรัศมีหลายกิโลเมตร รถของเราวิ่งตรงเข้าไปในชุมชนที่ผู้คนกำลังวุ่นวายกับการอพยพออกไปหาอากาศหายใจ ภาพที่เราถ่ายออกมาได้ดูคล้ายเมืองในภาพยนตร์หลายเรื่องที่กำลังเผชิญเหตุไฟป่าหรือภูเขาไฟระเบิด หมอกหนาที่ปกคลุมไปทั่วลอยต่ำลงมาจนมีระยะการมองเห็นด้วยตาเปล่าไม่กี่เมตรเท่านั้น แต่ที่นี่ไม่ได้กำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติ สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่คือกลุ่มควันพิษที่มาจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะขนาดกว่า 150 ไร่ ที่ถูกยืนยันว่าเป็น ‘บ่อขยะชุมชน’ ซึ่งหมายถึง เป็นขยะที่มาจากการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น

บ่อขยะแพรกษาตั้งอยู่ที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557 ประชาชน 1,480 ครัวเรือน ในรัศมีประมาณ 2 กิโลเมตร ถูกสั่งให้ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน บ้างไปรวมตัวกันที่วัดซึ่งอยู่เหนือลม บ้างไปรวมตัวกันในสถานที่อื่นที่ถูกสถาปนาเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องมาดูแลตรวจสุขภาพเพราะประชาชนที่อพยพออกมาอาจได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันพิษ ผลการตรวจคุณภาพอากาศพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กและพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่าค่ามาตรฐานถึง 30 เท่า

เราเข้าไปถึงที่เกิดเหตุ สิ่งที่เห็นคือภูเขากองขยะกว้างสุดลูกหูลูกตา กำลังถูกเพลิงลุกโหมส่งควันสีดำทะมึนลอยฟุ้งขึ้นไปบนอากาศไม่ขาดสาย เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถแบคโฮเข้าไปช่วยเกลี่ยกองขยะ ขณะที่นักดับเพลิงก็เข้าไปทำงานอย่างยากเย็น เพราะมีความเสี่ยงที่จะหลุดจมลงไปในกองขยะได้ทุกเมื่อ ด้านบนมีเฮลิคอปเตอร์บินว่อนเพื่อตักน้ำลงมาราดลงบนกองไฟเป็นความหวังเล็กๆ ช่วยทุเลาสถานการณ์อันเลวร้าย

ผมเดินเข้าไปตรงจุดที่ยังไม่เกิดเพลิงไหม้ สายตาสาดส่องไปที่กองขยะเพื่อหาอะไรบางอย่างที่จะเป็นหลักฐานมายืนยันสมมติฐานของผม และในที่สุดก็พบ ‘พวกมัน’

แผ่นยางหลายๆ ชั้นที่ถูกตัดออกเป็นรูปร่างเหมือนๆ กันทุกแผ่น รอยตัด เรียบ เนียน คล้ายถูกตัดด้วยเครื่องจักร วัตถุคล้ายโฟมที่ร่องรอยการถูกตัดเรียบเนียนสวยงามเช่นกัน ยังมีแผ่นป้ายแสดงคุณสมบัติของวัตถุที่ควรอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ในนี้ นั่นทำให้ผมพอจะมั่นใจได้ว่า สมมติฐานของผม คือ ‘มีการนำขยะอุตสาหกรรมเข้ามาลักลอบทิ้งที่บ่อขยะแพรกษา’ มีโอกาสที่จะเป็นไปได้

และในอีกหลายวันต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็ช่วยเข้ามายืนยันสมมติฐานนี้ เมื่อตรวจสอบพบว่า มีขยะอุตสาหกรรมจำนวนมากถูกนำมาทิ้งไว้ที่นี่ด้วย ทั้งที่ไม่ใช่สถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทิ้งของเสียจากภาคอุตสาหกรรม

สาเหตุที่ผมตั้งสมมติฐานเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะสัมผัสได้ถึงพิษร้ายจากควันที่ปกคลุมแพรกษา แต่เป็นเพราะผมเคยเดินทางเข้าไปในโพรงกระต่าย เข้าไปสู่ Dirtyland มาก่อนหน้านั้น

เหตุเพลิงไหม้ที่บ่อขยะแพรกษา ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

เข้าสู่ ‘แดนลักลอบทิ้ง’

บ่อขยะพิษ ต.มาบไผ่ ภาพโดย สมนึก จงมีวศิน

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุที่แพรกษา ผมถูกนำเข้าสู่ Dirtyland เป็นครั้งแรก ระหว่างไปถ่ายทำสารคดีพิเศษรายการ ‘สมการโกง’ เรื่อง ขยะพิษ เราไปที่ ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป้าหมายของเราคล้ายเป็นแปลงที่ดินรกร้างแห่งหนึ่ง มีหลุมขนาดใหญ่สภาพคล้ายบ่อน้ำที่ถูกขุดไว้ใช้ มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมบ่อ แต่แทบจะทันทีทันใดที่เราเปิดประตูรถออก ผมก็มั่นใจได้ทันทีว่าในบ้านหลังนั้น ‘ไม่มีคนอยู่’

เพราะนี่ไม่ใช่สถานที่ที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้

ขอสารภาพว่าผมไม่สามารถสรรหาคำ หรือวลี หรือประโยคใดๆ มาบรรยายเพื่อให้รับรู้ได้ว่ากลิ่นเหม็นที่เราประสบพบเจอที่นั่น เหม็นขนาดไหน บอกได้เพียงว่ามันเป็นกลิ่นที่ทำให้สมองของเราสั่งการให้ต้องปิดจมูกทันทีโดยอัตโนมัติ มันพุ่งเข้าไปในจมูก ปะปนเข้าไปในลมหายใจ กระแทกไปในลำคอ ลงไปสู่ปอดคล้ายกับเวลาที่เรายกเหล้าขาวดีกรีแรงๆ สาดลงคอ จากนั้นกลิ่นเหม็นสุดบรรยายนี้ก็วิ่งขึ้นไปถึงสมอง ทำให้เวียนหัวจนคลื่นไส้ ผมแทบไม่อยากอยู่ที่นั่นต่อไปอีกแม้แต่วินาทีเดียว แต่ก็ต้องอยู่โดยอาศัยหน้ากากอนามัยคุณภาพดี

ในบ่อน้ำ เต็มไปด้วยเศษซากจากอุตสาหกรรม มีทั้งซากทีวีซึ่งหน้าจอฉาบด้วยสารปรอท ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ซากเบาะ ไส้กรอง และเครื่องยนต์ที่ปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันต่างๆ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนโฟมที่ใช้ในการผลิตตู้เย็น และของเสียอันตรายอีกหลายชนิด ถูกทิ้งอยู่ในบ่อที่ไม่มีการปกคลุมด้วยวัสดุใดๆ เลย จึงเห็นได้ชัดว่าน้ำฝนส่งผลให้ซากอุตสาหกรรมเจือปนลงไปในดิน แถมยังเป็นซากอุตสาหกรรมที่ผ่านการถูกเผาไหม้มาแล้วด้วย แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่เป็นแหล่ง ‘ลักลอบทิ้ง’ ของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถูกตรวจพบมาตั้งแต่ต้นปี 2556 และถูกทิ้งร้างไว้เป็น ‘ของกลาง’ ในระหว่างดำเนินคดี โดยไม่ถูกนำไปบำบัด

ของเสียอุตสาหกรรมที่เป็น ‘ของแข็ง’ เป็นชิ้นส่วน นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เรามองเห็นได้ แต่เราไม่เห็นของเสียอีกจำนวนมากที่เป็นของเหลว หรือสารเคมีที่เจือปนอยู่ในซากวัสดุเหล่านั้น

ความสนใจของผมต่อเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่นั้น มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางต่อไปใน Dirtyland ดินแดนสกปรก เพื่อแก้โจทย์ปัญหาที่ตัวผมเองตั้งไว้ ซึ่งผมอยากรู้ว่าระหว่าง ‘ขยะอันตราย’ กับ ‘วงการขยะอันตราย’ อะไรอันตรายกว่ากัน และอะไร ‘สกปรกกว่ากัน’

  1. แน่นอนว่า เจ้าของที่ดินบ่อขยะที่มาบไผ่ ถูกดำเนินคดีในฐานมีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นเพราะเขายอมให้โรงงานนำซากอุตสาหกรรมเหล่านี้มาทิ้งในที่ดินของเขาเพื่อแลกกับ ‘ค่าทิ้ง’ แต่เมื่อถามหาต่อไปว่า สามารถตรวจสอบหาแหล่งที่มาหรือเจ้าของตัวจริงของขยะอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ไหม กลับได้รับคำตอบว่าเป็นไปได้ยาก ทั้งที่เห็นชัดๆ ว่าเป็นซากอุปกรณ์น่าจะมาจากโรงงานไหนได้บ้าง แถมบางชิ้นยังมีป้ายฉลากติดอยู่ด้วย
  2. สาเหตุที่ต้องปล่อยให้ ‘ของเสียอันตราย’ ที่มีค่าสารพิษเกินกว่าที่ผู้คนธรรมดาจะอาศัยอยู่ด้วยได้ กองทิ้งไว้เหมือนเดิมแบบนั้น ปล่อยสารพิษไหลเจือปนลงสู่ชั้นดิน ไปปะปนในแหล่งน้ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกนำไปบำบัดอย่างถูกต้อง ก็เพราะในเมื่อยังหาแหล่งที่มาไม่ได้ ก็ไม่มีผู้รับผิดชอบในการส่งไปกำจัด หากหน่วยงานรัฐจะกำจัดเอง ก็ต้องนำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงินหลวงมากำจัด เปรียบเหมือน ‘รัฐ’ ต้องช่วยรับผิดแทน ‘ผู้ก่อมลพิษ’
  3. การลักลอบนำของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาทิ้งเช่นนี้ ย่อมต้องมีเหตุผล ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นความพยายามที่จะ ‘ลดต้นทุน’ ค่ากำจัดของเสียของโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ผลกำไรมากขึ้น จากการผลิตและจำหน่ายสินค้าในปริมาณเท่าเดิม และดูเหมือนว่า ‘ค่ากำจัด’ จะเป็นต้นทุนที่มีราคาแพงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นต้นทุนที่สามารถหาวิธีการลดลงได้ง่ายที่สุด นั่นก็คือ ‘ไม่ต้องกำจัด’ ดังนั้น ‘ต้นทุนในการกำจัดของเสียอันตราย’ จึงเป็นปัจจัยที่ต้องค้นหา
  4. สัดส่วนของความสมดุลระหว่างการเปิดโรงงงานเพื่อผลิต กับพื้นที่และความสามารถในการกำจัดของเสียจากการผลิตเป็นอย่างไร ในเมื่อประเทศไทยอนุญาตให้เปิดโรงงานขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยน่าตั้งคำถามว่ามีการพิจารณาถึงพื้นที่และวิธีการกำจัดของเสียที่ต้องมีการรองรับอย่างเหมาะสมกันด้วยหรือไม่
  5. ‘ใครบ้าง’ ที่ร่ำรวยอยู่บนเศษซากปรักหักพังของสิ่งแวดล้อม

เมื่อพิจารณาแล้ว การลักลอบทิ้งในหลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมไม่ใช่เพียงปัญหาความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการบางแห่ง แต่มันอาจจะหมายถึง ‘ขบวนการ’ ที่มีผลประโยชน์มหาศาลแฝงอยู่ในกองขยะ

บ่อขยะพิษ ต.มาบไผ่ ภาพโดย สมนึก จงมีวศิน

แดนอัศจรรย์ ‘พนมสารคาม’ สวรรค์ของคนทิ้ง นรกของคนอยู่

ในช่วงปี 2556-2557 อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เปรียบได้กับ ‘เหมืองทองของขยะอุตสาหกรรม’

ภาคตะวันออก มีท่าเรือน้ำลึกที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้า มีแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าถ่านหิน มีทรัพยากรพร้อมสรรพ และอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง จึงถูกพัฒนาในผังเมืองให้เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมทุกระดับ ส่วน อ.พนมสารคาม แม้จะเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่อยู่ใกล้ที่ตั้งของโรงงาน เป็นพื้นที่ที่ถูกขุดหน้าดินไปขายเป็นจำนวนมาก เกิดบ่อดินขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ กลายเป็นแหล่งที่เหมะสมในการนำของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมมาลักลอบทิ้ง โดยแลกกับผลประโยชน์เล็กน้อยให้กับเจ้าของที่ดิน ซึ่งเทียบไม่ได้เลย กับ ‘ต้นทุนค่ากำจัดของเสียอันตราย’ ที่ถูกลดลงในบัญชีรายจ่าย

หากย้อนกลับไปทบทวนถึงกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและถูกทำร้ายจนเสียชีวิตในยุคก่อนหน้านั้น เรามักจะพบชื่อของนักต่อสู้กับโครงการต่างๆ ที่ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนในการพัฒนา เช่น แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แกนนำต่อต้านโรงโม่หิน แกนนำที่ต่อสู้เรื่องป่าไม้ที่ดิน

แต่ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 มีนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกคนต้องจบชีวิตลง คือนายประจบ เนาวโอภาส ผู้ใหญ่บ้าน ม.14 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากที่เขาแสดงตัวเป็นแกนนำเคลื่อนไหวเปิดโปงการลักลอบทิ้งน้ำเสียในพื้นที่ และบทสรุปก็เหมือนคดีฆ่าแกนนำคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้  ‘ไม่พบตัวผู้บงการฆ่า’ (ศาลพิพากษายกฟ้อง)

‘เมื่อมีคนถูกฆ่าตาย แต่ไม่มีคนสั่งฆ่า’ ย่อมตีความได้ว่า กระบวนการยุติธรรมและกลไกการตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดไม่เกิดขึ้น ราวกับมีกำแพงสูงเสียดฟ้าและหนาทึบปกป้องอยู่ การแสวงหาผลประโยชน์จากของเสียอันตราย ได้ถูกสถาปนาเป็นหนึ่งในอาณาจักรอิทธิพลไปแล้ว แม้จะเป็นอาณาจักรที่คนภายนอกไม่ค่อยสนใจมากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดอาณาจักรนี้ แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง

“สวรรค์ของคนทิ้ง นรกของคนอยู่”

ที่หนองแหน ผมไปพบกับชายที่ชื่อมนัส สวัสดี เขาเป็นเจ้าของสวนมะลิ 5,000 กว่าต้น ที่อยู่ๆ ก็มาพบว่า ต้นมะลิทั้งสวนตายหมด เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2555

ต้นมะลิกว่า 5,000 ต้น ถูกปลูกอยู่ในที่ดินส่วนบุคคล รดน้ำโดยใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของตัวเอง เมื่อล้มตายหมด เขาจึงไปสังเกตน้ำในบ่อ นำไม้ลงไปกวนในแหล่งน้ำ จึงเห็นเป็นคราบสีดำเป็นก้อนลอยขึ้นมา เมื่อโยนก่อนหินลงไปในน้ำ จะเกิดฟองอากาศผุดขึ้นมาบนผิวน้ำคล้ายน้ำเดือด เขาไปเชิญหน่วยงานรัฐมาช่วยตรวจสอบ จึงพบว่ามีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก ถูกลับลอบทิ้งอยู่ในบ่อน้ำแห่งนี้

“ผมก็ไปบอกทางอุตสาหกรรม ว่าน่าจะมีโรงงานแอบนำสารเคมีมาทิ้งที่บ่อน้ำของผมนะ เขาก็มาตรวจ และแนะนำให้เราไปแจ้งความกับตำรวจ แต่เขาก็บอกด้วยนะว่าเราก็มีความผิดด้วย เพราะของเสียมันอยู่ในที่ดินของเรา เราก็มีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต” มนัสเล่าเหตุการณ์เมื่อเขาไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่

ท้ายที่สุด มนัสยังโชคดี เพราะตำรวจในพื้นที่ไม่ส่งฟ้องดำเนินคดีกับเขาในข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย แต่ก็ไม่สามารถสืบหาตัวคนทิ้งได้ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ

“สวรรค์ของคนทิ้ง นรกของคนอยู่”

ของเสียในน้ำที่ ต.หนองแหน พนมสารคาม ภาพโดย สมนึก จงมีวศิน

“หมูที่ฟาร์มออกลูกมาแล้ว ตายยกครอก” นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม

ผมไปพบเจ้าของฟาร์มหมูรายหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเช่นเดียวกับอีกหลายฟาร์มในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ข้อมูลว่า แหล่งน้ำและบ่อน้ำตื้น (บ่อขุดน้ำบาดาล) ที่นำมาใช้เลี้ยงหมูถูกปนเปื้อนไปด้วยสารโลหะหนักหลายชนิดที่มาพร้อมกับการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในพื้นที่ ในอากาศก็มีกลิ่นเหม็นของสารเคมีลอยมาอยู่เรื่อยๆ เมื่อไปตรวจเลือดก็พบว่า ทั้งคน ทั้งหมู มีค่าสารฟีนอลอยู่ในร่างกาย แม้จะไม่เกินมาตรฐาน แต่ก็มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ให้ความเห็นว่าสารฟีนอลเป็นสารโลหะหนักที่หากถูกสะสมในร่างกาย อาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิต ‘แท้งลูก’ ได้

บ่อน้ำใช้ไม่ได้อีกต่อไป คนที่นี่ต้องซื้อน้ำจืดมาใช้และกินแทน ทั้งที่อาศัยอยู่ติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยใช้การได้ดี กิจการฟาร์มหมูที่ทำมากว่า 10 ปี ปิดตัวลงไปในช่วงเวลานั้น โดยไม่มีผู้กระทำความผิด

มีของเสียอันตรายถูกลับลอบทิ้งหลายจุด ในบ่อดิน ในแหล่งน้ำ ในที่ดินส่วนบุคคล มีแกนนำที่ออกมาเคลื่อนไหวถูกฆ่าตาย มีคนสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะพืชผลเสียหาย มีคนสูญเสียกิจการที่ทำมานาน มีสารโลหะหนักแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของชุมชน แต่ไม่มีผู้กระทำความผิด

“สวรรค์ของคนทิ้ง นรกของคนอยู่”

ภาพกองขยะที่ ต.หนองแหน พนมสารคาม ภาพโดย สมนึก จงมีวศิน

ลักลอบทิ้ง เพียงปลายทางในดินแดนรีไซเคิล

ระหว่างทางก่อนที่จะไปถึงปราสาทพระราชวังอันร่ำรวยใน Dirtyland เราจึงได้พบเหล่าอัศวินผู้กล้าที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับพิษร้ายหลายต่อหลายคนต่างบาดเจ็บล้มตายอยู่ข้างทาง ประเด็นสำคัญที่ผมพบก็คือ ความพ่ายแพ้ของเหล่าผู้กล้า ไม่ใช่เพราะพวกเขาไร้ความสามารถในการต่อสู้ แต่เป็นเพราะผู้ควบคุมกติกาในการต่อสู้ เลือกที่จะไปยืนอยู่เคียงข้างฝ่ายตรงข้ามต่างหาก

เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับคำว่า ‘โรงงานรีไซเคิล’

สำหรับท่านที่ร่วมเดินทางมาในดินแดนสกปรกด้วยกันจนถึงตอนนี้ อาจสงสัยว่าการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายและผลกระทบที่เล่ามาทั้งหมด เกี่ยวข้องอะไรกับโรงงานรีไซเคิล ที่เกริ่นไว้ในตอนต้น  

คำตอบก็คือ หากทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย หากผู้ควบคุมกติกาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้องเป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะปลายทางที่ของเสียอันตรายเหล่านี้ควรจะต้องถูกส่งไป ก็คือกลุ่มโรงงานรีไซเคิล หรือโรงงานลำดับที่ 106 และบางส่วนอาจรวมถึงกลุ่มโรงงานคัดแยกขยะ ลำดับที่ 105 ด้วย

ดังนั้น ของเสียอันตรายที่ถูกนำมาลักลอบทิ้ง ถูกส่งออกมาจากโรงงานที่ก่อให้เกิดของเสียอย่างถูกต้องตามระบบ หรืออย่างน้อยก็บอกได้ว่า เรามีระบบเพื่อควบคุมการขนส่งของเสียอันตรายออกไปกำจัด เพื่อไม่ให้ถูกนำมาลักลอบทิ้งอย่างอุกอาจได้เช่นนี้ นอกเสียจากว่าผู้ควบคุมกติกาในระบบจะออกแบบให้กติกาถูกบิดพลิ้วออกไปได้

ช่วงเวลาที่ผมยกขึ้นมากล่าวถึง คือช่วงตั้งแต่ปี 2555 – 2557 เป็นช่วงเวลาที่โรงงานทั้ง 2 ประเภท มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่า เมื่ออยู่ในอาณาจักรที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์ การที่กองกำลังต่างๆ จะถูกจัดตั้งขึ้นมาพร้อมได้รับประทับตราอนุญาตได้ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าเมืองผู้ปกครอง ในดินแดนสกปรกแห่งนี้ก็ไม่ต่างกัน

จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วงเวลานั้น มีโรงงานในกลุ่มคัดแยกขยะลำดับที่ 105 ได้รับใบอนุญาตอยู่ถึง 1,225 แห่ง ส่วนกลุ่มโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 ก็มีถึง 446 แห่ง

คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผม คือในเมื่อมีโรงงานคัดแยกขยะและโรงงานรีไซเคิล รวมกันเกือบ 1,700 โรงงาน ยังไม่รวมกับโรงงานในกลุ่มรับกำจัดของเสียอันตราย ลำดับที่ 101 ซึ่งมีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะต้องเกิดเหตุการณ์ลักลอบทิ้งขึ้นใช่หรือไม่

คำตอบของคำถามนี้ คือ นิยามของคำว่า Dirtyland ดินแดนสกปรก ที่ผมเป็นผู้ให้คำนิยาม

‘คัดแยก’ และ ‘รีไซเคิล’ วาทกรรมสวยหรูในแดนสกปรก

ก็ในเมื่อสิ่งที่เคยถูกเรียกว่า ‘ของเสีย’ กลับถูกมองใหม่ ให้คำนิยามเสียใหม่ว่า ยังมีบางสิ่งที่ ‘มีคุณค่า’ สามารถแยกออกมาขายสร้างมูลค่าได้ สามารถใช้กระบวนการรีไซเคิลสกัดบางอย่างในนั้นเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่ถูกส่งออกจากโรงงานต้นทางที่กำเนิดของเสีย จึงไม่ใช่ของเสียทั้งหมดอีกต่อไป จากที่เคยถูกส่งไปยังโรงงานรับกำจัดของเสียทั้งอันตรายและไม่อันตรายโดยตรง ก็ถูกเปลี่ยนเป้าหมายส่งไปยังกลุ่มโรงงานคัดแยก และกลุ่มโรงงานรีไซเคิลแทน

โดยมีสิ่งจูงใจคือ ‘ราคาค่ารับกำจัด’ ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว โดยมีสิ่งหนึ่งที่แทบไม่เคยถูกพูดถึงในระบบเลย ก็คือ ‘กากสุดท้าย’ หรือ ของเสียอันตรายขั้นสุดท้ายที่ไม่สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกแล้ว ‘หายไปไหน’

แม้แต่ตัวเลขจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเองในปี 2556 ก็ยืนยันว่า ของเสียอันตราย หายไปจากระบบอย่างชัดเจน

ในปี 2556 กรมโรงงานอุตสาหกรรม คำนวณว่าในปีนั้นจะต้องมี ‘ของเสียอันตราย’ ที่เกิดขึ้นในระบบจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดประมาณ 3.9 ล้านตัน แต่เมื่อไล่ไปตรวจสอบปริมาณการรับกำจัดของเสียอันตราย จากโรงงานที่มีความสามารถรับกำจัดของเสียอันตรายโดยตรง (101) กลับพบว่า มีของเสียอันตรายถูกส่งมากำจัดเข้าสู่ระบบทั้งหมดเพียง 1.1 ล้านตัน

หายไป 2.8 ล้านตันในปีเดียว

ผมคิดเอาเองว่า ของที่หายไป ส่วนหนึ่งไปอยู่ที่มาบไผ่ พนมสารคาม แพรกษา และ… บางที่อาจไม่ปรากฏเป็นข่าว เพราะเรื่องราวมีส่วนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายากจะหาข้อมูลมายืนยันได้ นั่นก็เป็นเพราะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เคยทำหน้าที่สอบสวนหาที่มาของ ‘ของเสีย’ ที่ถูกนำมาลักลอบทิ้งอย่างจริงจัง

เว้นแต่บางส่วนที่เจอแบบตำตา คือถูกร้องเรียนว่าโรงงานกลุ่ม 105 หรือ 106 ส่งกลิ่นเหม็นไปรบกวนชาวบ้านจนกลายเป็นข่าว และไปตรวจพบการลักลอบทิ้งหรือขุดหลุมฝังกลบ ‘กากสุดท้าย’ ไว้ในอาณาบริเวณของโรงงานเอง ซึ่งก็เป็นรูปแบบที่ถูกพบไม่น้อยในช่วงเวลานั้น เพราะโรงงานในกลุ่มคัดแยกและกลุ่มรีไซเคิล ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจำนวนหนึ่ง ไม่มีเครื่องจักรหรือเครื่องมือที่จะประกอบกิจการได้จริงด้วยซ้ำ และไม่เคยถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตว่า โรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ มีศักยภาพที่จะทำงานได้จริงหรือไม่

โรงงานกลุ่มนี้ จึงใช้เพียงใบอนุญาตไปรับซื้อของเสียอันตรายมาจากโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย โดยเสนอราคารับกำจัดได้ในราคาที่ถูกแสนถูก เพราะแท้จริงแล้วพวกเขานำของเหล่านั้นไปลักลอบทิ้งเลย มีเพียงต้นทุนค่าขนส่ง ไม่ต้องกำจัด ไม่ได้นำไปคัดแยก หรือรีไซเคิลด้วยซ้ำ

เพื่อให้สมมติฐานนี้หนักแน่น ผมและทีมงานรายการ สมการโกง นำสมมติฐานเรื่อง ‘การตัดราคา ค่ากำจัดหรือบำบัดของเสียอันตราย’ ไปขอคำยืนยันจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงเวลานั้นด้วย และได้คำตอบที่หนักแน่นว่า สมมติฐานของเรา ‘ถูกต้อง’

“ในช่วงปี 2556 โรงงานที่เรียกว่า โรงงานรับบำบัดมีเป็นจำนวนมาก ทั้งโรงงานรีไซเคิล (106) มีกว่า 400 แห่ง โรงงานคัดแยก (105) มีอีกกว่า 1,000 แห่ง และโรงงานพวกนี้มักจะไปเสนอตัวให้กับโรงงานที่ก่อกำเนิดของเสีย เพื่ออาสาเป็นผู้รับบำบัดให้ โดยอ้างว่า ถ้าส่งของเสียอันตรายไปบำบัดหรือกำจัดกับโรงงานที่รับกำจัดโดยตรงแบบเดิมจะมีราคาแพง เพราะโรงงานที่รับกำจัดอย่างถูกต้องจะมีราคาค่ากำจัดตั้งแต่ 3,000 ถึง 10,000 บาท ตามชนิดและความยากง่ายในการกำจัดของเสีย จึงเสนอว่า จะนำกากของเสียเหล่านี้ไปรีไซเคิล หรือมีวิธีที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก่อน ทำให้สามารถเสนอราคาค่าบำบัดที่ต่ำกว่ามาก หรืออาจเรียกได้ว่า ‘ตัดราคา’ พร้อมยืนยันว่าสามารถออกเอกสารต่างๆ ถูกต้องตามกฎหมายได้

แต่ก็พบปัญหาที่ตามมา คือ บางแห่งไม่ได้นำของเสียอันตรายที่รับมาไปรีไซเคิลได้จริง และบางแห่งรับมารีไซเคิลก็จริง แต่การรีไซเคิลก็ยังจะเหลือของเสียที่รีไซเคิลไม่ได้อยู่ดี เช่น ของเสียที่รับไปปริมาณ 1 ตัน อาจมีส่วนที่นำมารีไซเคิลได้เพียง 100 กิโลกรัม แล้วที่เหลือไปไหน” ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (มีนาคม 2556-กรกฎาคม 2557) ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ในรายการสมการโกง (ออกอากาศ 3 ตุลาคม 2557) ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS

เมื่อกองกำลังใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผ่านการอนุญาตของผู้ควบคุมศูนย์อำนาจในอาณาจักร ย่อมไปส่งผลกระทบกับผู้ทำหน้าที่รับกำจัดของเสียอันตรายเดิมโดยตรง ที่เคยเป็นผู้รับเหมางานเหล่านี้เพียงไม่กี่เจ้า ตามข้อมูลที่บอกไปแล้วว่า ของเสียอันตราย 3.9 ล้านตัน มาถึงโรงงานที่มีศักยภาพรับกำจัดจริงๆ เพียง 1.1 ล้านตัน หนึ่งในนั้นบอกกับเราว่า ราคาค่ากำจัดของเสียอันตราย ที่ถูกเสนอโดยกลุ่มโรงงาน 105 และ 106 เป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนค่ากำจัดจริงเสียอีก ดังนั้นจึงตั้งคำถามกลับไปยังผู้ควบคุมกติกา ถึงเหตุผลที่ปล่อยให้เกิดขบวนการเช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

“กลุ่มโรงงานรีไซเคิล (106) และโรงงานคัดแยกขยะ (105) เสนอราคาค่าบำบัดให้กับโรงงานที่ก่อกำเนิดของเสียอันตราย ในราคาที่ถูกกว่าราคาที่เคยรับกำจัดจริงถึงหนึ่งเท่าตัว เช่น ของเสียอันตรายบางชนิด มีราคาค่ากำจัดอยู่ที่ตันละ 5,000 บาท แต่โรงงาน 105 และ 106 เสนอราคาเพียงตันละ 2,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนค่ากำจัดจริงที่ GENCO ทำอยู่เสียอีก ซึ่งก็ต้องไปถามผู้ควบคุมมาตรฐานว่าโรงงาน 105 และ 106 เหล่านี้ สามารถรับของเสียอันตรายไปบำบัดหรือกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการได้อย่างไร หากเสนอราคาต่ำกว่าต้นทุน

และเมื่อมีข่าวการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายถูกเผยแพร่ออกมา เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ควรจะทราบว่ามาจากไหน แต่ที่อันตรายกว่านั้นก็คือ ของเสียอันตรายที่ถูกลักลอบนำไปทิ้งตามข่าวที่เผยแพร่ออกมา ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเพียง 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของกากที่ถูกส่งออกมาเท่านั้น” ผศ.(พิเศษ) รณชัย ตันตระกูล จาก บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO) ให้สัมภาษณ์ในรายการสมการโกง (ออกอากาศ 3 ตุลาคม 2557) ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS

การลักลอบทิ้งที่ผ่านการไตร่ตรองไว้ก่อน ความผิดที่ไม่ต้องรับโทษในแดนสกปรก

‘ไตร่ตรองไว้ก่อน’ หากใช้ในบริบทในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำความผิดในการก่ออาชญากรรม นี่ย่อมเป็นข้อหาที่รุนแรง มีโทษสูงสุดตามรูปแบบความผิดที่ก่อขึ้น เพราะกฎหมายเชื่อว่าผู้ก่อเหตุมีเจตนาทำผิด ผ่านการคิดไว้ล่วงหน้า วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการก่อเหตุ รวมถึงเตรียมแผนการเพื่ออำพรางซ่อนเร้นความผิดไว้ด้วย แต่คำนิยามนี้ แทบไม่มีผลอะไรใน Dirtyland

ในแดนสกปรก มีเพียงความผิดซึ่งหน้า ถูกจับได้คาหนังคาเขาเท่านั้นที่จะถูกลงโทษ ดังนั้นเราจึงพบแต่ผู้กระทำความผิดที่ลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในอาณาบริเวณของตัวเองจึงจะถูกลงโทษ เพราะไม่มีหนทางอื่นที่จะหลบเลี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโทษปรับและสั่งปิดเพื่อให้เวลาไปปรับปรุงแก้ไข

แต่เมื่อเรามาดูรูปแบบการก่อความผิด ‘ทิ้งของเสียอันตราย’ ในสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2555 – 2557 เราก็จะพบว่า นี่ล้วนเป็นการก่อเหตุที่ผ่านการไตร่ตรองไว้ก่อน สรุปได้เป็น 4 รูปแบบ คือ

  1. โรงงานที่รับบำบัดของเสียอันตราย ซื้อที่ดินว่างเปล่าในราคาถูกจากการขุดหน้าดินขายเพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงงาน นำของเสียอันตรายฝังกลบในที่ดินของโรงงาน
  2. โรงงานที่รับบำบัดของเสียอันตราย ซื้อที่ดินว่างเปล่าในราคาถูกจากการขุดหน้าดินขาย เพื่อใช้เป็นที่ลักลอบทิ้งและฝังกลบของเสียอันตราย
  3. โรงงานที่รับบำบัดของเสียอันตราย เช่าซื้อที่ดินเพื่อทำเป็นหลุมฝังกลบ
  4. โรงงานที่รับบำบัดของเสียอันตราย ลักลอบทิ้งในที่ดินของประชาชนและที่สาธารณะ

มีเพียงรูปแบบที่ 1 เท่านั้น ที่โรงงานจะถูกลงโทษ แต่หากกลุ่มโรงงานคัดแยกหรือกลุ่มโรงงานรีไซเคิล นำของเสียอันตรายที่รับมาด้วยการ ‘ตัดราคา’ ไปทิ้งในรูปแบบที่ 2 -4 ไม่เพียงแค่ไม่ถูกจับกุม แต่แทบจะไม่เคยมีการสอบสวนหาที่มาด้วยซ้ำ

เมื่อเราร่วมเดินทางใน Dirtyland ด้วยกันมาถึงตรงนี้แล้ว เราคงต่างมองเห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนของเหล่าตัวละครในดินแดนแห่งนี้

ใครคือราชินีโพธิ์แดง ผู้มีอำนาจควบคุมทุกอย่างในอาณาจักร ตั้งแต่อนุญาต ตรวจสอบ ไปจนถึงการลงโทษ

ใครคือแม่ทัพของกองทหารไพ่

ใครคือเหล่ากองกำลังต่างๆ ของทหารไพ่

ใครคือคนขายหมวกและมิตรสหายที่ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างสิ้นหวัง

และดูเหมือนจะยังขาดตัวละครที่สำคัญที่สุดไปคนหนึ่ง นั่นก็คือ ‘อลิซ’ ผู้พิชิตและเปลี่ยนแปลงดินแดนแห่งนี้

ซึ่งผมเฝ้ารอมาจนถึงปีนี้ ปี 2564 อลิซก็ยังไม่เคยปรากฏตัว


จริงๆ แล้วเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในช่วงเวลาปี 2555 -2557 ยังมีมิติที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือ กระบวนการขนส่งของเสียอันตรายตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งถูกออกแบบไว้เป็นอย่างดีไม่ให้เกิดการลักลอบทิ้งเกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังเกิดขึ้นได้ แต่ผมจะขอยกเรื่องนี้ไปเขียนไว้ในตอนต่อๆ ไป เพราะมีเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ เหมาะสมที่จะใช้บรรยายให้เห็นขั้นตอนนี้ได้เป็นอย่างดี

อยากให้ติดตาม Alice in Dirtyland EP.2 ผมกลับเข้าไปในโพรงกระต่ายอีกครั้งในช่วงที่รัฐบาลบริหารประเทศภายใต้อำนาจ คสช. ซึ่งมีนโยบายที่ทำให้มีตัวละครหน้าใหม่จากต่างถิ่น สามารถเข้ามาเปิดกิจการในดินแดนรีไซเคิลกันได้อย่างแพร่หลาย พร้อมกับการอ้าแขนเปิดรับ ‘นำเข้าขยะ’ จาก Dirtyland อื่นๆ

ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ และงานเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save