fbpx

เรื่องอื้อฉาวของอาจารย์สอนกฎหมายระดับโลก

แชตไลน์กลุ่มอาจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร่วมอยู่ด้วยนั้นกลายเป็นความบันเทิงระดับประเทศภายในไม่กี่ชั่วโมงที่เผยแพร่ออกมา

ในฐานะคนวิชาชีพเดียวกัน สิ่งเดียวที่พูดออกสื่อสาธารณะได้คงเป็นว่า อาจารย์กฎหมายก็คนเหมือนกัน

ส่วนอะไรที่มากกว่านั้น อาจจะต้องรอแชตไลน์หลุดของผู้เขียนเอง

นอกจากการรำพึงว่าอาจารย์สอนกฎหมายก็คนแล้ว ก็อยากจะรำพันต่อไปด้วยว่า ทุกโรงเรียนกฎหมายก็คงมีอาจารย์ที่ทำเรื่องวายป่วงเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะระดับโลก หรือระดับชาติอะไรก็แล้วแต่

แม้แต่โรงเรียนกฎหมายอันดับต้นๆ ของโลกอย่างโรงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale Law School) ก็ไม่พ้นเรื่องอื้อฉาวจนได้ ดังที่จะมาเล่าสู่กันฟัง

ในบรรดาคณาจารย์ที่เยลนั้น หลายคนเป็นคู่สมรสกัน โดยส่วนตัวผู้เขียนเองก็เป็นลูกศิษย์ของ Professor Susan Rose-Ackerman ซึ่งสามีคือ Bruce Ackerman เป็นอาจารย์ใหญ่วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ คู่แบบนี้สำนวนฝรั่งเรียกว่า power couple คือ ใหญ่ต่อใหญ่ ทั้งคู่เก่ง มีผลงานตีพิมพ์มากมาย เป็นที่รักใคร่ของลูกศิษย์ เป็นคู่ทรงอิทธิพล

ในบรรดาคู่ทรงอิทธิพลที่มีอิทธิพลที่สุดเห็นจะไม่พ้นคู่ของ Jed Rubenfeld กับ Amy Chua

Jed Rubenfeld เป็นยิว และ Chua เป็นจีน ตรงนี้ต้องอธิบายก่อนว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น สองชาตินี้เป็นชาติที่ถูกมองว่าฉลาดหัวดี นอกจากนั้น ยังมีเส้นสายเครือข่ายในอุตสาหกรรมต่างๆ ลึกซึ้งอีกด้วย ในแวดวงอาจารย์กฎหมายที่เยล อาจารย์หลายคนก็เป็นยิว Rubenfeld สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นวิชาแม่ของนิติศาสตร์ ส่วน Chua สอนกฎหมายสัญญา ดังนั้น ถ้าเรียกประสาหนังฮ่องกง คู่ Rubenfeld-Chua ต้องจัดเป็นคู่ใหญ่ฟัดใหญ่

แต่ Amy Chua ไม่ได้มีชื่อเสียงเพราะผลงานวิชาการด้านกฎหมาย พูดกันตามตรง นักเรียนหลายคนนินทากันอย่างกว้างขวางว่า Amy Chua ได้เป็นอาจารย์เพราะบารมีสามี อันนี้จริงเท็จไม่ทราบ ผู้เขียนก็ไม่เคยเห็นงานวิชาการของเธอเช่นกัน แต่ Chua มีชื่อเสียงเพราะเขียนหนังสือ Battle Hymn of Tiger Mothers เล่าประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกของเธอ ซึ่งสวนทางกับแนวทางที่อเมริกันชนเชื่อพอสมควร เธอเชื่อว่าความเข้มงวดแบบพ่อแม่ชาวเอเชียอารมณ์คล้ายๆ The Joy Luck Club ที่เธอเรียกว่าแม่เสือ (tiger mom) นี้เองทำให้ลูกสาวสองคนของเธอได้ดิบได้ดี หนังสือนี้ขายดีและอื้อฉาวมากเพราะคนแบ่งเป็นสองฝ่ายเถียงกันวุ่นวายไปหมด คนเห็นด้วยก็ต้องซื้อไปอ่านอยู่แล้ว คนไม่เห็นด้วยก็ต้องซื้อไปอ่านเหมือนกันจะได้เถียงกับฝ่ายเห็นด้วยถูก

นอกจากการเป็นแม่เสือแล้ว Chua ยังจัดว่ามีอิทธิพลในหมู่นักเรียนเพราะเธอดำรงตำแหน่งกรรมการที่ดูแลเรื่องฝึกงานของนักเรียนกฎหมายอีกด้วย ระบบของสหรัฐอเมริกานั้นเรียนกฎหมายสามปี แต่การฝึกงานหน้าร้อนแรกนั้นชี้เป็นชี้ตาย หากได้ที่ฝึกงานดีก็มักจะได้งานที่ดีต่อไปด้วย โดยเฉพาะหากได้ทำงาน (clerkship) กับผู้พิพากษาใหญ่ๆ ในเขตที่มีชื่อเสียง งานตำแหน่งนี้ไม่ใช่แค่เก่ง แต่ส่วนใหญ่ต้องมี ‘ตัวช่วย’ ด้วย ซึ่ง Chua มีชื่อเสียงด้านช่วยเหลือให้นักเรียนหลายคนได้ฝึกงานกับว่าที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ใหญ่โต หรือแม้แต่ศาลฎีกา

Chua ยังพยายามเสนอภาพตัวเองเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือนักเรียนที่มาจากเอเชียอีกด้วย โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นคนแรกของตระกูลที่ได้เรียนกฎหมาย ตอนที่เรียนอยู่ จำได้ว่า Chua เชิญนักเรียนชาวเอเชียทั้งหมดไปกินเลี้ยงพบปะสังสรรค์กันที่บ้านของเธอ เธอเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งมักจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนกฎหมายได้ลำบากกว่านักเรียนคนขาว หรือพวกลูกหลานศิษย์เก่า ที่เรียกกันว่า legacy

น่าเสียดาย อันเนื่องมาจากชื่ออันยาวเหยียดของผู้เขียนเองทำให้ผู้ช่วยของ Amy Chua พิมพ์อีเมล์ผิด ก็เลยไม่เคยได้ไปเจอแม่เสือของเด็กๆ ด้วยตัวเอง

แต่โชคคนเรามีขึ้นก็มีลง ช่วงปี 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาคนใหม่ คือ Brett Kavanaugh คุณ Brett นี่ก็ศิษย์เก่าเยล แต่คณาจารย์และนักเรียนทั้งเก่าและปัจจุบันของเยลล่าชื่อกันหลายพันชื่อคัดค้านการเสนอชื่อ ตรงนี้ขอให้สังเกตว่า เขาไม่ได้รีบยินดีที่โรงเรียนจะได้ชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเพียงเพราะศิษย์เก่าจะได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง ในทางกลับกัน คนทั้งหลายกลับกล้าจะไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า Kavanaugh มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง ตั้งเข้าไปจะเสียชื่อโรงเรียนมากกว่าสร้างชื่อ

แทบจะคนเดียวที่ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกสนับสนุน Kavanaugh คือ Amy Chua ซึ่ง Kavanaugh รู้จักกับ Chua ดีแน่ๆ เพราะ Kavanaugh รับนักเรียนของ Chua หลายคนไปฝึกงาน หนึ่งในนั้นคือลูกสาวของ Amy Chua เอง แต่ในขณะที่ Chua รับรองว่า Kavanaugh เป็นผู้พิพากษาที่มีความประพฤติดีน่าไว้วางใจ Kavanaugh ก็ถูกร้องเรียนเรื่องที่เคยพยายามจะข่มขืนเพื่อนร่วมชั้นเมื่อตอนสมัยวัยรุ่นขึ้นมาทันที

ภาษาปัจจุบันต้องเรียกว่า จังหวะนรก

ผลสืบเนื่องจากการสนับสนุน Kavanaugh คือ Chua ถูกนักเรียนร้องเรียนว่า เธอเคยแนะนำให้นักเรียนที่จะไปฝึกงานแต่งตัวให้สวยๆ เพราะ Kavanaugh ชอบคนสวย ตรงนี้กลายเป็นเรื่อง He said she said เพราะ Chua สู้ว่า เธอแค่บอกนักเรียนของเธอว่า Kavanaugh ดูจะมีเด็กฝึกงานสวยๆ หลายคน แต่เธอเตือนนักเรียนของเธอว่า Kavanaugh เป็นอนุรักษนิยม ขอให้แต่งตัวให้เรียบร้อย

เรื่องนี้ไม่มีใครพิสูจน์ได้เพราะเป็นเรื่องที่เธอคุยกับนักเรียนในที่ปรึกษาของเธอในขณะที่ไปสังสรรค์กลุ่มเล็กกัน ไม่มีใครจำได้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ นักเรียนที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าจนออกจะเอียงใส่ความครูก็มีอยู่จริง แต่ Chua เองก็มีภาพลักษณ์เป็นแม่ชาวเอเชียที่จะทำทุกทางให้ลูกๆ ของเธอชนะด้วย ถ้าเธอพูดเช่นนั้นจริงคนก็ไม่แปลกใจ

ในขณะเดียวกัน สามีของเธอก็ถูกร้องเรียนว่าล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนหลายกรณี กรณีของ Rubenfeld นี่เป็นข่าวลือกันในหมู่นักเรียนมาหลายปีแล้ว จนวันที่เกิดกระแส me too ขึ้นถึงเป็นเรื่องใหญ่

หนึ่งในนักข่าวที่สืบสวนเรื่องของเจ้าพ่อวงการภาพยนตร์ Harvey Weinstein ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแส me too นั้น เป็นลูกศิษย์ของ Chua เอง

ผลการไต่สวนของทั้งคู่ก็ปรากฏว่า ในส่วนของสามีเธอนั้นถูกพักงานสองปี Chua เองยินยอมที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับการฝึกงาน เลิกสังสรรค์กับนักเรียนที่บ้านของเธอ และไม่ดื่มแอลกอฮอลล์กับนักเรียนอีก นอกจากนี้ เธอยังงดสอนวิชาพื้นฐานเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

ปกติ การดื่มแอลกอฮอลล์นั้นเป็นเรื่องยอมรับได้ ตราบที่ไม่ใช่การเมาหัวราน้ำ แต่เนื่องจากแม่เสือถูกร้องเรียนเรื่องความประพฤติไม่เหมาะสม นักเรียนบางคนร้องเรียนว่า ถ้าเป็นนักเรียนของเธอ ก็ต้องยอมเธอแบบเดียวกับที่ลูกเธอแท้ๆ ต้องยอมให้แม่เข้ามาควบคุม มีการใช้คำพูดคำจาที่ดูถูกหรือด้อยค่านักเรียน นอกจากนี้ การดื่มเหล้าที่บ้านซึ่งมีสามีผู้ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศอยู่ด้วยนั้น ไม่เหมาะสมแน่ๆ

สองคดีนี้เป็นเรื่องอื้อฉาวใหญ่โต หนังสือพิมพ์นักเรียนของเยลก็ลงข่าว หนังสือพิมพ์ระดับชาติก็ลงข่าว บรรดานักเรียนเก่า เวลาพบปะเจอกันก็ต้องพูดถึง

แต่ชีวิตของ Amy Chua ก็ยังไม่พ้นวิบาก เมื่อต้นปีนี้เองปรากฏข่าวว่า เมื่อช่วงธันวาคมปีก่อนนั้น เธอได้เชิญนักเรียนสองหรือสามคนไป ‘กินข้าวเย็น’ ที่บ้านและ ‘น่าจะ’ มีการดื่มไวน์กัน เท่ากับว่าเธอละเมิดทัณฑ์บนโดยตรง นอกจากนี้ยังอาจจะละเมิดนโยบายของมหาวิทยาลัยเรื่องห้ามสังสรรค์ในช่วงโควิดอีกด้วย

Chua สู้เรื่องนี้ว่า นักเรียนกลุ่มนี้กำลังเจอมรสุมชีวิตเนื่องจากการเรียนในช่วงโควิด และไม่มีที่เหมาะสมจึงเชิญมาพบที่บ้านของเธอ แต่ยืนยันว่าไม่มีการดื่มเหล้า ไม่มีข้าวเย็น และไม่มีสามีเธออยู่ตรงนั้นด้วย คดีนี้กลายเป็นเรื่องที่ว่าที่นักกฎหมายตีความถกเถียงกันวุ่นวาย อะไรคือข้าวเย็น คุกกี้สองสามชิ้นถือเป็นข้าวเย็นหรือไม่ ใครไปบ้าง อะไรคือเงื่อนไขทัณฑ์บน

จนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่กระจ่างว่าแท้จริงแล้ว Amy Chua เป็นคนอย่างไรกันแน่ เป็นแม่เสือที่เข้มงวดและหวังดีจนเกินเลยมาตรฐานสังคมอเมริกัน หรือว่าเป็นนักฉวยโอกาสที่บ้าคลั่งเรื่องการควบคุมและใช้ประโยชน์คนรอบตัว เธอเห็นว่า เรื่องทั้งหมดนี้เกิดจากการที่เธอใช้เสรีภาพของเธอยืนยันสนับสนุนผู้พิพากษาที่ฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัยไม่ชอบ เธอจึงถูกเล่นงาน ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่า ความหยิ่งยโสของเธอ ทำให้เธอชอบกระทำการคาบลูกคาบดอกโดยอ้างความหวังดี เรื่องอื้อฉาวนี้เป็นเพียงระเบิดเวลาที่รอเวลาจะระเบิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วเท่านั้นเอง   

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ไม่เคยมีนักเรียนคนไหนรู้เรื่องข้อตกลงทัณฑ์บนของ Amy Chua มาก่อน ข้อตกลงนี้เป็นความลับ ทางโรงเรียนเองก็ไม่ได้พูดถึง หลายคนจึงอดโมโหไม่ได้เพราะเห็นว่าโรงเรียนเองพยายามปกป้องชื่อเสียงของตัวเองและอาจารย์มากกว่าความปลอดภัยของนักเรียนใหม่ที่มาไม่ทันเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้

ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีคติสอนใจอะไร หรือบทเรียนจะถอดมาใช้กับมหาวิทยาลัยของไทยได้ แต่ก็หวังว่าจะเป็นความบันเทิงสำหรับผู้อ่านพอสมควร ว่าบ้านเขาก็มี และแน่นอน มหาวิทยาลัยของเขาก็ทำตัวลับๆ ล่อๆ ในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save