fbpx

ทำความเข้าใจ ‘สายมูยุคดิจิทัล’ ด้วย มานุษยวิทยาการพยากรณ์

ในสถานการณ์ที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต หรือต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่ตนไม่สามารถควบคุมได้ ตลอดจนปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างจนทำให้เกิดวิกฤตการณ์ที่กระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างที่ไม่สามารถหาทางออกได้ หลายต่อหลายครั้ง ‘พวกเรา’ (ผู้เขียนและผู้อ่าน) อาจตัดสินใจขอคำปรึกษากับ ‘คนแปลกหน้าที่เราไว้ใจที่สุด’ – บุคคลซึ่งเราอาจไม่เคยพบเจอหรือรู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ก็กล้าพอที่จะระบายความคับข้องใจ ความกังวลใจ ความวิตกหรือความล้มเหลวในชีวิตให้คนแปลกหน้าคนนั้นฟัง

มาถึงจุดนี้ ผู้อ่านอาจนึกออกทันทีว่า คนแปลกหน้าผู้นั้นคือ ‘หมอดู’

หากว่ากันตามสถิติอย่างเคร่งครัด คงไม่มีใครฟันธงว่า ‘หมอดู’ มองเห็นอนาคตได้อย่างแม่นยำ แต่ต่อให้แม่นหรือไม่แม่น หมอดูจะเฟื่องฟูไม่น้อยในแทบทุกสังคมและแทบทุกยุคสมัย และอาจเป็นตลกร้ายไม่น้อยที่ในยุคดิจิทัล หมอดูกลับยังคงเฟื่องฟู แถมยังเป็นหนึ่งในอาชีพที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) ได้อย่างไม่เคอะเขิน ดังจะเห็นว่า หมอดู นักพยากรณ์ และลูกค้าต่างย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกันเป็นจำนวนมาก

คำถามที่น่าขบคิดคือ การคงอยู่ของหมอดู (และความเฟื่องฟูในบางช่วงขณะ) บอกอะไรกับเรา ทำไม ‘มนุษย์’ ต้องพึ่งพาหมอดูกันมากมายขนาดนี้แม้ว่าเราจะเข้าสู่โลกดิจิทัลแล้วก็ตาม

หมอดู นักพยากรณ์ นักโหราศาสตร์ และซินแส 

หลายคนรู้จักและเรียกขานหมอดูด้วยคำศัพท์ที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ นักพยากรณ์ นักโหราศาสตร์ ผู้หยั่งรู้ ซินแส คำเรียกขานเหล่านี้มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับทักษะและความเชี่ยวชาญของแต่ละคนในการทำนายดวงชะตา

‘หมอดู’ และ ‘นักพยากรณ์’ มักเป็นคำสรรพนามที่ใช้เรียกหมอดูหรือนักพยากรณ์ดวงชะตาโดยทั่วๆ ไป โดยไม่ได้มีการเจาะจงถึงเทคนิคการพยากรณ์

‘นักโหราศาสตร์’ ส่วนใหญ่จะหมายถึงผู้ที่สามารถดูดวงหรือพยากรณ์ดวงชะตา โดยอาศัยวิชาทางโหราศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ

‘ซินแส’ มักจะได้รับความนิยมหรือเป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีน ใช้เรียกหมอดูหรือนักพยากรณ์ดวงชะตาที่มีทักษะและองค์ความรู้ในศาสตร์ฮวงจุ้ย ซึ่งมีรากฐานและพัฒนาการมาจากความเชื่อในลัทธิขงจื่อ

การหวนกลับมาของการต้องมนตราในคนรุ่นใหม่

เมื่อสังคมก้าวสู่ความทันสมัย หลายคนเข้าใจว่า ค่านิยมและศีลธรรมทางศาสนา รวมถึงคติความเชื่อดั้งเดิมที่สะท้อนเรื่องราวอภินิหารของพลังเหนือธรรมชาติดูเหมือน่าจะเสื่อมคลายความนิยม และถูกแทนที่ด้วยคุณค่าของวัตถุ ยิ่งกระแสโลกาภิวัตน์ที่สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้คนจากทุกมุมโลกสามารถติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้เราอาจเข้าใจและอนุมานได้ว่า ผู้คนในสังคมสมัยใหม่คงสนใจแสวงหาคำตอบให้แก่ชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยหลักตรรกะเหตุและผลเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี เรากลับพบกับปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนักเรียน นักศึกษาและกลุ่มคนมีชื่อเสียงในแวดวงสังคมในเมืองไทยมักจะเล่าถึงเคล็ดลับของความสำเร็จในชีวิต เช่น ความสมปรารถนาในทรัพย์สินเงินทอง โชคลาภและชื่อเสียง รวมถึงโอกาสทองที่ได้รับมาในชีวิตโดยไม่คาดฝันจากพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยตรรกะเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

ในขณะที่กลุ่มยาวชนและวัยทำงานที่เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล หลายคนนิยามตนเองว่าเป็น ‘สายมู’ หรือ ‘มูเตลู’ คือมีความเชื่อและความศรัทธาในโหราศาสตร์และการพยากรณ์ รวมถึงความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ การนับถือบูชาผี และพลังอำนาจเหนือธรรมชาติจากไสยศาสตร์และเครื่องรางของขลัง

คงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่า การที่เหล่าคนดังหลายคนตัดสินใจเลือกดำเนินชีวิตตามคำแนะนำของนักพยากรณ์หรือหมอดูไม่ใช่เรื่องที่แปลกนัก

ควรกล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์นี้พบได้ในหลายสังคม นักวิชาการหลายคน (อานันต์ 2562; Jackson, P. 1999; Jackson, P. & de la Perriere, B.2020; Pattana K. 2012; Hefner, R. 2010; Taylor, P. 2007, 2004) ให้ความสนใจศึกษาปรากฏการณ์ ‘การหวนกลับมาของความต้องมนตรา’ หรือ ‘การหวนกลับมาของความหลงใหลในศาสนาในสังคมสมัยใหม่’ (Modernity’s Re-enchantment of Religion) กล่าวคือ ความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะลัทธิพิธีและการพยากรณ์ไม่ได้เลือนหายไป ในทางตรงกันข้าม กลับทวีความนิยมและมีการขยายรูปแบบทางศาสนาในหลากหลายรูปแบบ เกิดกระแสความนิยมในการพยากรณ์และความเชื่อเรื่องโชครางและไสยศาสตร์ในหลายกลุ่มวัฒนธรรมและทุกกลุ่มช่วงอายุ

หนึ่งในคำอธิบายหลักของการหันมาพึ่งพิงการดูดวง และการเป็น ‘สายมู’ ของคุณรุ่นใหม่ คือเหตุผลด้านจิตวิทยา เช่น บทความที่นำเสนอโดย ‘Lido Connect’ (26 มิถุนายน 2564) ได้นำเสนอว่า การดูดวงชะตาช่วยสะท้อนความเป็นตัวเอง หรือสะท้อนถึงความเข้าใจของตนเองของ ‘ลูกค้า’ ที่เข้ามาดูหมอดู ในแง่นี้ การดูดวงคือช่องทางหนึ่งในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ นอกจากนั้น การดูดวงยังช่วยแนะทางเดินหรือหนทางการแก้ไขปัญหาในชีวิต และที่สำคัญคือ เป็นกลไกทางจิตในการควบคุมอนาคต

อย่างไรก็ดี มุมมองทางจิตวิทยาอาจยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจความสำคัญ บทบาทหน้าที่ และการเพิ่มกระแสความนิยมของการพยากรณ์ที่มีมากขึ้นในทุกสังคม ในฐานะนักมานุษยวิทยา ผู้เขียนเสนอว่าแนวคิดเรื่อง ‘มานุษยวิทยาการพยากรณ์’ สามารถช่วยอธิบายกระแสความนิยมในการพยากรณ์หรือการดูดวงชะตาของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ในสังคมไทยได้อย่างมีพลังและน่าสนใจ

การพยากรณ์คือรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารระหว่างปัจเจกและสังคม

Victor Turner (1975) คือนักมานุษยวิทยาที่อธิบายความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการพยากรณ์ในสังคมชนเผ่า Ndembu ในทวีปแอฟริกา เขาให้ความสำคัญในการอธิบายความหมายเชิงสัญลักษณ์ในกระบวนการประกอบพิธีพยากรณ์ ซึ่งสะท้อนกระบวนการทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารระหว่างนักพยากรณ์และลูกค้าผู้รับบริการพยากรณ์ การสื่อสารดังกล่าวสะท้อนความสนใจทางศีลธรรมและความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนเผ่า ด้วยเหตุนี้ Turner จึงอภิปรายว่า นักพยากรณ์มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้งและการฟื้นฟูกฎทางศีลธรรมระหว่างผู้คนผู้สืบเชื้อสายเดียวกันในสังคมชนเผ่า Ndembu  

การพยากรณ์เป็นช่องทางหนึ่งที่ปัจเจกสามารถแสดงออกถึงจินตภาพของสังคมอุดมคติ และช่วยสื่อสารความต้องการและความรู้สึกคับข้องใจของปัจเจก ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพูดคุยและสัมภาษณ์กลุ่มลูกค้าที่เลือกใช้บริการดูดวงชะตาในเทคนิคต่างๆ ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้ามักจะแสดงออกถึงความรู้สึกวิตกกังวลในชีวิต ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยแสดงออกผ่านอากัปกิริยาทางสีหน้าและแววตา บางคนแสดงถึงความรู้สึกทุกข์ระทมและกังวลใจต่อการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ทั้งในการเรียน การทำงานและความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและเพื่อน

ลูกค้าหลายคน ทั้งหญิงและชายมักจะเริ่มต้นแชร์ประสบการณ์ในชีวิตหรือเล่าถึงปัญหาของตน โดยเริ่มจากการเล่าเรื่องย้อนอดีตหรือสะท้อนความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่แต่ละคนสงสัย และต้องการขอคำชี้แนะจากหมอดู หลายคนถึงกับร้องไห้และแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อเล่าถึงเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับความสูญเสียหรือความล้มเหลวในชีวิต

ลูกค้าบางคนมีภูมิลำเนามาจากต่างถิ่นและย้ายถิ่นฐานอพยพมาอยู่ในเมืองหลวง พวกเขาประสบกับปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในสังคมเมือง รวมถึงความรู้สึกยากลำบากในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในสังคมเมือง ลูกค้าหลายคนมีความคับข้องใจหรือมีความกังวลว่าตนเองจะได้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนปรารถนาหรือไม่ ส่วนกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษาที่อพยพย้ายถิ่นมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาศึกษาต่อและหางานทำในเมืองหลวง พวกเขาต่างแชร์ประสบการณ์ชีวิตที่ยากลำบากเพราะต้องเผชิญกับเงื่อนไขที่ควบคุมได้ยาก พวกเขาจึงมองหาคนให้คำปรึกษา และหมอดูก็ได้เข้ามามีบทบาทรับรู้และรับฟังปัญหาของกลุ่มนักศึกษา พร้อมชี้แนะแนวทางแก้ไข ในงานวิจัยนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่านักศึกษาส่วนใหญ่สนใจดูหมอในรูปแบบที่หลากหลาย

ในกรุงพนมเปญ นักศึกษามหาวิทยาลัยชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด พวกเขาอพยพย้ายถิ่นฐานมาพนมเปญเพื่อแสวงโชคในเมืองหลวง สำหรับพวกเขา พนมเปญคือเมืองที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญ ความทันสมัยและความมั่งคั่ง สิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ต้องการคือความมั่นคงและความมั่นใจในการดำรงชีวิต รวมถึงการได้รับการยอมรับทางสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ นักศึกษากลุ่มหนึ่งสะท้อนความรู้สึกและมุมมองที่มีต่อชีวิตตนเอง ครอบครัวและสังคม สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจที่มีต่อชีวิตใน ‘ปัจจุบัน’ และ ‘อนาคต’ เนื่องด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณีและค่านิยมดั้งเดิมของสังคมกัมพูชากลายเป็นอดีตที่คอยหลอกหลอนการใช้ชีวิตของนักศึกษา การตัดสินใจเลือกระหว่างทางเดินชีวิตตามความฝันตัวเองอย่างอิสระกับทางเดินชีวิตแบบที่ครอบครัวและสังคมคาดหวังจึงกลายเป็นปมขัดแย้งและแรงกดดันทำให้นักศึกษาตัดสินใจขอคำปรึกษาจากหมอดู

ดังเช่นชีวิตของนิตา (Nita) นักศึกษามหาวิทยาลัยที่อพยพมาจากจังหวัดพระตะบองมาเรียนต่อที่กรุงพนมเปญ ชีวิตเธอกำลังเผชิญกับแรงบีบคั้นและความคาดหวังของครอบครัว เธอต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการเดินตามความฝันที่จะได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศไทยกับการทำงานเป็นพนักงานในบริษัทชั้นนำในพนมเปญ ในขณะที่เม่ย-เม่ย (Mei-Mei) นักศึกษาเชื้อสายกัมพูชา-จีนจากจังหวัดกัมปอต (Kampot) มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เธอตัดสินใจเรียนภาคค่ำเพื่อให้มีเวลาดูแลธุรกิจขายเครื่องสำอาง และเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอมของตัวเองและน้องสาว และเพื่อดูแลครอบครัว ความมุ่งหวังของเม่ยเม่ย คือการมีฐานะมั่งคั่งและร่ำรวย

แม้ว่าความหวัง ความฝันและแรงปรารถนาในชีวิตของนักศึกษาชาวกัมพูชาทั้งสองคนจะมีความแตกต่างในหลายแง่มุม แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองมีคล้ายกันคือ การสะท้อนถึงความรู้สึกไม่มั่นคงและมีความลังเลในการตัดสินใจ รวมถึงความรู้สึกคับข้องใจที่ตนเองไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในการเลือกหนทางเดินในชีวิตของตนเองอย่างอิสระ ด้วยกรอบของจารีต ขนบธรรมเนียมและประเพณีของสังคมกัมพูชาที่ให้คุณค่าต่อบทบาท ‘ผู้หญิงที่ดี’ ที่ควรดำรงตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงามของสังคม เป็นแม่บ้านแม่เรือน ทำงานบ้าน คอยปรนนิบัติสามีและลูก และโดยเฉพาะบทบาทของ ‘ลูกสาว’ ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ในการดูแลความเป็นอยู่และเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู

ด้วยภาระผูกพันทางศีลธรรมรวมถึงบทบาทและความรับผิดชอบที่สังคมคาดหวัง ทำให้นักศึกษาชาวกัมพูชาทั้งสองไม่สามารถเลือกทางเดินตามความฝันของตนเองที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ พวกเธอจึงตัดสินใจเลือกขอคำปรึกษาจากหมอดู โดยนิต้าตัดสินใจไปปรึกษากับหมอดูไพ่ป๊อก เพื่อนบ้านในห้องเช่าที่เล็กๆ ในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งใจกลางกรุงพนมเปญ ในขณะที่ เม่ยเม่ย ตัดสินใจไปปรึกษาหมอดูไพ่ป๊อกที่ตลาดกลาง (Psar Tmey-Central Market) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางความเจริญทางธุรกิจ

การใช้บริการขอคำปรึกษาจากหมอดูช่วยเปิดโอกาสให้นักศึกษาชาวกัมพูชาทั้งสองคนได้เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและความทุกข์ต่างๆ ที่พบเจอ การเปิดไพ่แต่ละใบเหมือนเปิดโอกาสให้พวกเธอได้เปิดเผยความรู้สึก เปิดเผยเรื่องราวทุกข์ใจที่ไม่อาจเล่าให้ใครฟังได้ ในขณะที่กระบวนการทำนายดวงชะตาดำเนินไป หมอดูได้ให้กำลังใจและคำปลอบประโลมจิตใจให้แก่นักศึกษา และแม้ว่าการเลือกไพ่แต่ละใบจะเป็นการเลือกแบบสุ่ม แต่ขณะเดียวกัน การอธิบายความหมายในไพ่แต่ละใบของหมอดูก็สามารถเชื่อมโยงไปถึงตัวตน อุปนิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ความชำนาญในการประกอบอาชีพ โอกาสในการสร้างความสำเร็จให้แก่ชีวิต รวมถึงการเลือกคู่ครอง การสร้างครอบครัว ปัญหาสุขภาพและปัญหาความขัดแย้งของปัจเจกกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อร่วมงาน

มากไปกว่านั้น หมอดูได้เสนอความเป็นไปได้และทางเลือกที่หลากหลายให้แก่นักศึกษาชาวกัมพูชาทั้งสองคนในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยอาศัยการประนีประนอมและต่อรองกันระหว่างแรงปรารถนา ความฝันและความหวังของปัจเจกกับความคาดหวังและบรรทัดฐานของสังคม

การพยากรณ์คือความพยายามของมนุษย์ในการ ‘make sense’ ชีวิตท่ามกลางความสิ้นหวังในสังคม?

การพยากรณ์ช่วยนำเสนอชุดคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจต้นสายปลายเหตุของปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไข รับมือกับวิกฤตการณ์ ปัญหา ภาวะคุกคาม ภัยพิบัติที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน หมอดูหลายคนนำเอาหลักกฎแห่งกรรมในศาสนาพุทธมาใช้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาและคาดการณ์ถึงแนวทางการแก้ไขและผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

E. E. Evans-Pritchard (1937) ได้พยายามทำความเข้าใจเรื่องของเวทมนตร์คาถา (Witchcraft) และความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทายหรือการทำนายดวงชะตา (Oracle Belief) ของชาว Azande ในประเทศคองโก ทวีปแอฟริกาว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้เหตุผลของชาวพื้นเมือง และยังแสดงถึงความพยายามในการอธิบายของปัจเจกเมื่อเผชิญหน้ากับ ‘ความโชคร้าย’ ด้วยมุมมองของเหตุและผล

ข้อเสนอของ Evans-Pritchard ช่วยให้เข้าใจการพยากรณ์ในสังคมไทยมากขึ้น เทคนิคสำคัญของโหราศาสต์ไทยคือ การพยากรณ์ที่ถูกวางอยู่บนพื้นฐานของหลักเหตุและผล ซึ่งเป็นเทคนิคที่อาศัยการอธิบายถึงความโชคร้าย เคราะห์กรรม รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยอ้างอิงได้จากการคำนวณเลข 7 ตัว 9 ฐาน

ในกระบวนการพยากรณ์ หมอดูจะอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากจากวัน-เดือน-ปีเกิดของลูกค้า เมื่อคำนวณละวางลงบนลัคนาของพื้นดวงแล้ว จะทำให้หมอดูหรือนักพยากรณ์สามารถวิเคราะห์และตีความหมายของพื้นดวงชะตาของลูกค้าในแต่ละด้าน โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจเรือน ‘อัตตะ’ หรือ ‘ตัวเอง’ ซึ่งอธิบายถึงตัวตนของผู้มาขอรับบริการทำนายดวงชะตา หาก ‘อัตตะ’ ไปสัมพันธ์กับ ‘สุภะ’ อาจตีความได้ถึงโชคลาภและความสำเร็จในชีวิต และหาก ‘อัตต’” ไปสัมพันธ์กับ ‘มรณะ’ อาจหมายถึงสภาวะความผิดปรกติในร่างกายหรือความเจ็บป่วย นอกจากจะพิเคราะห์จากตัวเองแล้ว เนื้อหาการอ่านดวงชะตาของโหราศาสตร์ไทยยังให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว นับตั้งแต่บิดา-มารดา บุตร รวมถึงบริวาร แม้กระทั่งแนวทางการพิเคราะห์คุณลักษณะหรือรูปร่างหน้าตาของศัตรู หรือ ‘อริ’  อันหมายรวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่เจ้าตัวอาจพานพบในบางวาระโอกาสของชีวิตอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน Radcliffe-Brown (1948; 1979) อภิปรายว่า ความเชื่อและแนวปฏิบัติทางด้านไสยศาสตร์และเวทมนตร์ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกลไกทางสังคมที่ช่วยรักษาไว้ซึ่งคุณค่าพื้นฐานของทั้งสังคม ในแง่นี้ ศาสนาและการพยากรณ์จึงมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับความหมายและคุณค่าของชีวิตทางสังคม ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะตัวในชุมชนนั้นๆ

นอกจากการศึกษาและทำความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของการพยากรณ์ เช่น การอธิบายสาเหตุของความโชคร้าย ความโชคดีในชีวิตด้วยกฎแห่งกรรมตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ หมอดูหลายคนพยายาม ‘ถอดรหัสกรรม’ โดยใช้เทคนิคการพยากรณ์ที่หลากหลาย เพื่อชี้แจงเหตุของเคราะห์กรรมที่ลูกค้าแต่ละคนประสบพบเจอเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า มูลเหตุแห่งกรรมคือส่วนหนึ่งของความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตของมนุษย์ เช่น คำอธิบายของหมอดูหลายคน อาทิเช่น ลักษณ์ เรขานิเทศ หรือ ‘หมอดูฟันธง’ อธิบายว่าทุกคนที่ประสบกับเคราะห์กรรมในชีวิต ได้เคยกระทำกรรมทางกาย ทางคำพูดและทางความคิด ทั้งกระทำต่อหน้าและลับหลัง ทำด้วยเจตนา ด้วยหน้าที่ ด้วยความรับผิดชอบ ความกตัญญู ความจงรักภักดี หรือทำไปด้วยความรัก โลภ โกรธ หลง เป็นผลให้ผู้อื่นหรือสัตว์ชนิดใดๆ มีความทุกข์ ทรมานหรือถึงแก่ความตาย และด้วยเหตุแห่งการกระทำนั้นๆ ทำให้ผู้กระทำประสบกับเคราะห์กรรมและความทุกข์ทนในชีวิตในรูปแบบต่างๆ พร้อมอธิบายแนวทางการขอขมากรรมและการสะเดาะเคราะห์ เช่น การทำบุญ ถวายสังฆทาน ปล่อยปลา สวดมนต์ นั่งสมาธิหรือประกอบพิธีกรรมรูปแบบที่หลากหลายแล้วแต่กรณีของปัจเจกแต่ละคน    

ในขณะที่นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ Malinowski (1979: 36) ประยุกต์ใช้แนวคิด ‘หน้าที่นิยม’ (Functionalism) อธิบายว่าหน้าที่สำคัญของการพยากรณ์ เป็นไปเพื่อตอบสนองความความต้องการภายในจิตใจของปัจเจกแต่ละคน เช่น เมื่อปัจเจกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความทุกข์ ความกังวลใจที่อาจมีผลต่อความสงบสุขของสังคมในภาพรวม ดังนั้น ในสังคมบุพกาล (Primitive Society) จึงมีผู้คนที่ให้ความสนใจและยังคงใช้เวทมนตร์คาถาและไสยศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถธำรงไว้ซึ่งสภาพการณ์ที่พึงประสงค์และเพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือความโชคร้ายที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต

การพยากรณ์ในยุคดิจิทัล: แพลตฟอร์มเปลี่ยน แต่บทบาทของการพยากรณไม่เคยเปลี่ยน

ในยุคดิจิทัล ผู้คนมีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดในทุกมิติ เด็กที่เกิดและเติบโตมาในยุคนี้ต้องปรับตัวได้รวดเร็ว มีศักยภาพและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และสามารถเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ที่มีความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของคนรุ่นใหม่ให้เท่าทันเทคโนโลยี ในด้านกลับย่อมหมายถึงการปรับตัวในเรื่องของศาสนา ความเชื่อและศีลธรรม ซึ่งรวมถึงการพยากรณ์หรือการดูดวงด้วย

ในบทความ มานุษยวิทยาการพยากรณ์: ประสบการณ์ในการพยากรณ์ดวงชะตาบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของชาวดิจิทัลไทย ผู้เขียนค้นพบว่าในปัจจุบัน การทำนายโชคชะตาราศีได้ถูกนำเสนอบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกมากขึ้นและสามารถกระทำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน คนในยุคดิจิทัลบางส่วนแม้จะได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตที่ทันสมัย ปฏิเสธขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมในบางเรื่อง แต่กลับสะท้อน มีมุมมองและคำอธิบายต่อโลกและสภาพแวดล้อมรอบตัวที่สัมพันธ์กับพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ พวกเขาตัดสินใจเลือกไขข้อสงสัยและวางแผนรับมือกับอนาคตในอนาคตของตนผ่านการพยากรณ์บนแพลตฟอร์มดิจิทัลก็ตาม

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์สะท้อนว่า นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรดิจิทัลรุ่นใหม่ทั้งในสังคมเมืองหลวงและในสังคมเมืองรองให้ความนิยมในการพยากรณ์และไสยศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และผลจากการเก็บข้อมูลโดยการสำรวจความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ของทั้งสองพื้นที่เคยมีประสบการณ์ในการพยากรณ์ทั้งแบบเผชิญหน้าโดยตรงกับนักพยากรณ์และแบบออนไลน์ แม้ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยจะได้รับการศึกษาที่ทันสมัยและพยายามทำความเข้าใจความเชื่อและพฤติกรรมการพยากรณ์ของตนผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้หลักเหตุผล แต่พวกเขายังยอมรับว่าตนเองมีความเชื่อในไสยศาสตร์ถึงแม้ว่าพวกเขาจะตั้งคำถามและไม่ได้เคร่งครัดหรือให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของศาสนากระแสหลัก

ดังนั้น จากการลงพื้นที่วิจัยเพื่อเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณา (ethnographic research) ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาที่นับเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของมานุษยวิทยา รวมถึงการที่ผู้เขียนได้เข้าไปสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participant observation) สังเกตการณ์พฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างหมอดูและลูกค้า ทำให้เราเข้าใจว่าการพยากรณ์ไม่ใด้เป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของ ‘การสื่อสาร’ ระหว่างหมอดูหรือนักพยากรณ์และลูกค้าเพียงเท่านั้น หากแต่การพยากรณ์ยังช่วย ‘ทบทวนอดีต’ กล่าวคือการพยากรณ์เปิดโอกาสให้ปัจเจกสามารถสะท้อนเรื่องราวในอดีตของตน รวมถึงการทบทวนและอธิบายถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นบทเรียนของชีวิต หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ การทบทวนอดีตและรื้อฟื้นความทรงจำนำไปสู่ ‘ข้อควรระวัง’ เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความสุขและความพึงปรารถนา การทบทวนเรื่องราวในอดีตอาจถูกใช้เป็นตัวอย่างของ ‘เคล็ดลับความสำเร็จ’ ของชีวิตได้

ในขณะเดียวกัน การพยากรณ์คือการสะท้อน ‘ปัจจุบัน’ ผ่านมุมมองและความเข้าใจของปัจเจกที่มีต่อสภาพสังคมในปัจจุบัน ในประเด็นนี้จึงไม่น่าแปลกใจ หากเราจะพบว่าลูกค้าแต่ละคนไปพบกับหมอดูเพื่อขอคำปรึกษาเรื่องที่ตนกำลังกังวลใจ หรือเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่ เช่น ลูกค้าที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัว มีข้อสงสัยว่าตนเองจะเรียนจบหรือไม่ จะสอบผ่านหรือไม่ จะมีงานทำหรือไม่ ในขณะที่ความกังวลใจของผู้ที่กำลังจะสร้างครอบครัวคือ ความมั่นคง ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความสำเร็จของบุตร รวมถึงความพยายามของปัจเจกที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ สถานภาพที่ตนกำลังดำรงชีวิตอยู่ นำไปสู่คำถามที่บ่งบอกถึงความทะเยอทะยานและแรงปรารถนาของปัจเจกที่ต้องการจะเลื่อนขั้นไปสู่สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม เช่น คำถามที่ว่า “เมื่อไรจะรวย” “เมื่อไรชีวิตจะสบาย” “เมื่อไรจะปลดหนี้ได้” จะเห็นได้ว่าชุดคำถามเหล่านี้คือความพยายามของปัจเจกในการ ‘มองปัจจุบัน’ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

มากไปกว่านั้นหมอดูและลูกค้าต่างสะท้อนมุมมองที่มีต่อ ‘อนาคต’ เช่น การที่ลูกค้าตั้งคำถามหรือแสดงออกถึงความกังวลใจว่าการตัดสินใจใดๆ ในปัจจุบันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง ความสุขและความสำเร็จในอนาคตหรือไม่ ในขณะเดียวกันหมอดูก็มีการประยุกต์ใช้เทคนิคการดูหมอประเภทต่างๆ ในการอธิบายถึงแนวทางในการจัดการกับอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความหมายของการพยากรณ์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและสามารถอธิบายมากกว่าไทม์ไลน์ของเส้นแบ่งกาลเวลา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ปัจเจกสามารถประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตนได้ กล่าวคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในระหว่างการทำนายดวงชะตา ได้เปิดโอกาสให้สะท้อนมุมมองและความเข้าใจของตนที่มีต่อครอบครัวและสังคม ทั้งนี้ ปัจเจกหรือลูกค้าแต่ละคนสะท้อนมุมมองความเข้าใจในตัวเอง โดยการอธิบายถึงอุปนิสัยใจคอ ความชอบไม่ชอบในสิ่งใด รวมถึงการถ่ายทอดและเรียบเรียงประสบการณ์และเรื่องราวที่พบเจอมาในชีวิต อีกทั้งมุมมองและความเข้าใจของตนที่มีต่อผู้อื่นในครอบครัวและสังคมรอบข้าง

เมื่อการพยากรณ์หรือการทำนายดวงชะตาไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยประมวลวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของลูกค้า น่าสนใจศึกษาต่อไปว่า ปัจเจกจะมีรูปแบบการสะท้อนมุมมองของตนที่มีต่อสังคมอย่างไร เมื่อปฏิสัมพันธ์ทางตรงระหว่างหมอดูและลูกค้าอาจถูกลดบทบาทลงหรือถูกมองว่าไม่สำคัญอีกต่อไป บทบาทและความสำคัญของหมอดู ในฐานะผู้ที่คอยรับฟังปัญหาพร้อมแนะนำแนวทางการจัดการกับปัญหาเหล่านั้น รวมถึงช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้และเสนอแนะกลยุทธ์ในการทำให้ความคาดหวัง ความฝันและแรงปรารถนาของลูกค้าเป็นความจริง อีกทั้งประเด็นเรื่องความแม่นยำของการพยากรณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ น่าจะยังเป็นที่กังขาสำหรับบรรดาลูกค้าสายมูที่กำลังเสาะแสวงหาที่พึ่งทางจิตใจ ผู้แนะนำทางสติปัญญาและผู้เยียวยาทางจิตวิญญาณอยู่ในขณะนี้

ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงและเจริญก้าวหน้าไปเช่นไร เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการพยากรณ์ทำนายดวงชะตายังคงมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อผู้คนในทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมที่เต็มไปด้วยคำถามและความกังวลใจของผู้คนเกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ความรู้สึกไม่มั่นใจในการตัดสินใจของปัจเจกส่วนหนึ่งเกิดจากปมขัดแย้งระหว่างขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมกับค่านิยมในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ รอยต่อระหว่างอดีตและปัจจุบันทำให้การมองภาพแห่งอนาคตดูเลือนลาง

ความพยายามแสวงหาคำตอบของนักศึกษามหาวิทยาลัยในฐานะตัวแทนคนยุคดิจิทัล คงไม่ต่างไปจากประสบการณ์ชีวิตของประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่ค้นพบว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะชีวิตของแรงงานกลุ่มอื่นๆ ในหลายประเทศที่เดินทางไกลรอนแรมมาจากชนบทด้วยความฝันและความหวังที่จะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ และสามารถดำรงบทบาทของตนเพื่อให้สอดคล้องกับบรรทัดฐาน ค่านิยามและความคาดหวังของสังคม และดูเหมือนว่าเทคนิคการพยากรณ์ดวงชะตาซึ่งมีให้เลือกหลากหลายชนิด กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของปัจเจกในการไขปริศนาและหาคำตอบให้แก่ชีวิต อย่างน้อยที่สุด บทสนทนาระหว่างหมอดูและลูกค้าที่ดำเนินไปอยู่ทุกวัน ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ คงช่วยทำให้เกิดบทสนทนาระหว่างปัจเจกและนำไปสู่การสะท้อนมุมมองที่ปัจเจกมีต่อสังคม ดังนั้น การดูหมอ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘เรื่องความเชื่อ’ หรือ ‘เรื่องงมงาย’ หากแต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้เรียนรู้จากอดีต ได้ทบทวนและทำความเข้าใจตนเองในปัจจุบัน พร้อมทั้งประเมินศักยภาพตนเองในอนาคต

เอกสารอ้างอิง


จุลนี เทียนไทยและคณะ. (2563). การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะและทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย  (รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์). สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา.(2564). มานุษยวิทยาการพยากรณ์: ประสบการณ์ในการพยากรณ์ดวงชะตาบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของชาวดิจิทัลไทย. มนุษยศาสตร์สาร, 22 (2). คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา.(2564). มานุษยวิทยาการพยากรณ์: ประสบการณ์ในการพยากรณ์ดวงชะตาบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของชาวดิจิทัลไทย. มนุษยศาสตร์สาร, 22 (2). คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อัครกิตติ์ สินธุวงศ์ศรี. (2560). พฤติกรรมการดูดวงของคนเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร(ออนไลน์). วารสารวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อานันต์ กาญจนพันธุ์. (2562). ก้าวข้ามกับดับความเชื่อคู่ตรงข้ามในสังคมไทย. ปรับปรุงจากการอภิปรายเรื่อง “ความเชื่อในสังคมไทยกับวิทยาศาสตร์” สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 22 พฤษภาคม 2562.

ณัฐชัย อยู่ยืนนาน. (2559). พฤติกรรมการใช้พยากรณ์โชคชะตาของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร. มหาวิทยาลัยศิลปากร

Azucena, Aaron Arthur G. Balaba, Bienvenido III S. Paez, Eduardo Jr. L. Psychology of Astrology (The relationship between zodiac signs and the personality of an individual) (Online). Trinity University of Asia

Bhaesajsanguan, S. (2017). A Study of the influence of online fortune teller

reviews and ratings amongst Gen-Y female (Online). Thammasat University.

Campagnola, C. (2010). Astrology in the field of psychology A study of Jung’s typology and four astrologycal alements (Online).

Hefner, R. (2010). “Religious Resurgence in Contemporary Asia: Southeast Asian Perspectives on Capitalism, the State, and the New Piety.” The Journal of Asian Studies, 69(4). 1031-1047. doi: 10.1017/S002191181000291. 

Jackson, P. (1999). The Enchanting Spirit of Thai Capitalism: The Cult of Luang Phor Khoon and the Postmodernisation of Thai Buddhism. Southeast Asia Research, 7(1). 5–60. https://doi.org/10.1177/0967828X9900700102.

Jackson, P. & de la Perriere, B.(2020). A World Ever More Enchanted, Efflorescing Spirit Cults in Buddhist Southeast Asia. Copenhagen: Nias Press.

Malinowski, B. (1979[1948]). Magic, science and religion and other essays. Boston: Beacon Press.

Lido Connect. (2564). เมื่อ Gen Z หันมาพึ่งการดูดวง สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตและความเชื่อมั่นทางสังคม.  (2) Lido Connect | Facebook.

Pattana K. (2012). Mediums, Monks, and Amulets: Thai Popular Buddhism Today. Chiang Mai: Silkworm Books.

Pérez-Escoda, A., Castro-Zubizarreta, A., & Fandos-Igado, M. (2016). Digital skills in the Z generation: Key questions for a curricular introduction in Primary School. [La competencia digital de la Generación Z: Claves para su introducción curricular en la Educación Primaria]. Comunicar, 49, 71-79. https://doi.org/10.3916/C49-2016-07

Poonnatree J. (2018).  Khmer Ways of Seeing, Migration and Divinatory Improvisation in Phnom Penh (Doctoral Dissertation). The Australian National University. Canberra

Saini, E. (2018). Stranger Diviners and Their Stranger Clients: Popular Cosmology-Making and Its Kingly Power in Buddhist Thailand. South East Asia Research, 26(4). 416-431.doi: 10.1177/0967828X18816145

Radcliffe-Brown, A.R. (1922). The Andaman Islanders. N.P. The University Press.

Suttithum, T. (2015). Commercial Application of Astrology for business (Online). Thammasat University.

Taylor, P. (2007). Cham Muslims of the Mekong Delta: Place and   mobility in the cosmopolitan periphery. Singapore: NIAS Press.

Taylor, P. (2004). Goddess on the Rise: Pilgrimage and Popular Religion in Vietnam. Hawaii: University of Hawaii Press.

Turner, V. (1975). Revelation and divination in Ndembu ritual. Ithaca: Cornell University Press.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save