ค่าแรงขั้นต่ำ ทำไมถึงต้องสูง?

ค่าแรงขั้นต่ำ ทำไมถึงต้องสูง?

เมื่อไม่กี่วันก่อน ขณะนั่งรถกลับจากที่ทำงานผู้เขียนก็ได้ยินประโยคที่น่าตื่นตระหนกตกใจว่า รัฐเตรียมเดินหน้าผนึกกำลังช่วยเหลือประชาชนโดยจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จผ่านร้านธงฟ้าในราคาจานละไม่เกิน 40 บาท!

บางคนอาจสงสัยว่าผมจะตกใจทำไมในเมื่อราคาอาหารร้านริมทางตอนนี้ก็พุ่งพรวดพราดจากปัญหาราคาน้ำมันและพืชผักแพง แต่อย่าลืมว่าร้านธงฟ้าที่เคยเป็นเครื่องหมายการันตีของสินค้าราคาช่วยเหลือประชาชน ตอนนี้สามารถขายข้าวหนึ่งจานในราคาสูงถึง 40 บาท นั่นหมายความว่าเหล่าแรงงานจะต้องเสียค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเศษๆ เป็นสัดส่วนเกือบครึ่ง เพื่อเป็นค่าอาหารสามมื้อในร้านที่รัฐบอกว่า ‘ราคาประหยัด’

นี่แหละครับคือสาเหตุที่ทุกประเทศควรจะมีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ด้วยแนวคิดพื้นฐานที่ว่ามนุษย์หนึ่งคนที่ทำงานหนึ่งวันเต็มๆ ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างที่คนๆ หนึ่งพึงมี ไม่ใช่ทำงานหนักแล้วยังต้องกระเสือกกระสนกู้หนี้ยืมสิน ผัดผ่อนค่าเช่าบ้าน หรือต้องควบสองกะเพื่อให้มีเงินพอใช้แบบเดือนชนเดือน

ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นโยบายหนึ่งที่ทำให้แรงงานใจพองฟูคือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2555-2556 เป็น 300 บาทถ้วนตามนโยบายที่หาเสียงไว้ โดยบางจังหวัดที่ค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างพะเยา ก็มีค่าแรงก้าวกระโดดจาก 159 บาทเป็น 300 บาทหรือเกือบ 2 เท่าตัว

กราฟแสดงค่าแรงขั้นต่ำพื้นที่กรุงเทพมหานครระหว่าง พ.ศ. 2544 ถึง 2564 ข้อมูลจากกรมแรงงาน

นับตั้งแต่ปีนั้นจวบจนปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จากฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่หาเสียงว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400–425 บาทต่อวัน แต่จนถึงวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุดในไทยคือ 336 บาทที่จังหวัดภูเก็ตและชลบุรี กระดิกเพิ่มขึ้นมาเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่น่าจะเพิ่มขึ้นและค่าครองชีพที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ผู้เขียนเลยถือโอกาสชวนมาพูดคุยเรื่องค่าแรงขั้นต่ำกันอีกสักครั้ง พร้อมทั้งทวงคำสัญญาค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันที่หวังว่า ‘อีกไม่นาน’ จะเป็นความจริง

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ

การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเกิดขึ้นตอนสมัยผมยังเรียนมหาวิทยาลัย ผมยังจำได้ดีถึงกระแสตีกลับของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายต่อหลายคนว่าการขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะทำให้แรงงานจะตกงานมหาศาล หลายธุรกิจต้องปิดตัว เงินเฟ้อหนัก และเศรษฐกิจพังพินาศแบบไม่อาจกู้คืนกลับมาได้

คำอธิบายฉากทัศน์ข้างต้นเกิดขึ้นจากแบบจำลองง่ายๆ ที่นักเรียนมัธยมปลายก็คงคุ้นเคยกันดีนั่นคือกราฟอุปสงค์และอุปทาน หากมองแรงงานคือสินค้าประเภทหนึ่ง เมื่อราคาค่าจ้างขึ้นก็ย่อมทำให้ความต้องการซื้อลดลงหรือก็คือนายจ้างไม่ต้องการแรงงานหรือถึงขั้นปลดพนักงานออกเพราะ ‘แพงเกินไป’ หากจินตนาการเสริมเติมแต่งเรื่องเข้าไปสักหน่อย เราก็คงเห็นภาพหายนะทางเศรษฐกิจลางๆ ไม่ต่างจากย่อหน้าข้างต้น

แต่ทุกคนคงทราบดีว่าคำทำนายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง เศรษฐกิจไทยก็ยังไปได้ดี แถมงานวิจัยที่ศึกษาปรากฎการณ์ครั้งนี้ยังพบว่าอัตราการว่างงานก่อนและหลังนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนั้นแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่านายจ้างไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าวสักเท่าไหร่

หากเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้แบบหัวชนฝานั้นไม่ได้เกลียดชังรัฐบาลอย่างเข้ากระดูกดำ ก็คงไม่ได้อ่านงานวิจัยเชิงประจักษ์ชิ้นเอกซึ่งเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2535 ของเดวิด คาร์ด (David Card) หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุด และอลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) คู่หูนักเศรษฐศาสตร์ชั้นครูผู้ล่วงลับไปไม่นาน ทั้งสองคนศึกษาพื้นที่สองรัฐซึ่งมีขอบเขตติดกันแต่มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำต่างกัน หนึ่งคือรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่ตัดสินใจเดินหน้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากชั่วโมงละ 4.25 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 5.05 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐเพนซิลเวเนียซึ่งอยู่ข้างกันยังคงค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดิมไว้ โดยผลลัพธ์ที่ทั้งคู่พบคือไม่พบผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการจ้างงานของทั้งสองรัฐ

ความสนุกของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์เกินคาดหากเทียบกับแบบจำลองอย่างง่ายที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่เป็นการหาคำอธิบายว่าทำไมผลลัพธ์ในโลกแห่งความเป็นจริงถึงแตกต่างจากโลกของแบบจำลองขนาดนี้?

ปัญหาของตลาดแรงงาน

คำตอบแบบสั้นๆ กำปั้นทุบดินคือ ‘สมมติฐาน’ ของแบบจำลองที่ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงแม้แต่น้อย การที่ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการกำหนดนโยบายของรัฐจะนำมาซึ่งความพังพินาศทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ ตลาดแรงงานต้องเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ กล่าวคือแรงงานและนายจ้างพูดคุยต่อรองจนได้ค่าแรงที่ทุกฝ่ายพึงพอใจโดยที่ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการจ้างงานของธุรกิจจะถูกแบ่งครึ่งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างเท่าเทียม

แน่นอนครับว่าตลาดแรงงานไทยคงไม่เข้าข่ายดังกล่าว ในทางกลับกันอำนาจต่อรองที่ล้นเหลือของนายจ้างไทยอาจทำให้ตลาดเอนเอียงไปทางตลาดที่ถูกผูกขาดโดยผู้ซื้อ (monopsony) เสียด้วยซ้ำ

หลายคนอาจคุ้นชินกับคำว่าตลาดผูกขาด (monopoly) ซึ่งหมายถึงตลาดที่ผู้ขายครองทรัพยากรทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวโดยไร้ผู้แข่งขัน ทำให้อำนาจในการกำหนดราคาขายสินค้าดังกล่าวอยู่ในมือผู้ขายเพียงลำพังโดยที่ความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้อยู่ในสายตา เช่น การผูกขาดน้ำมันหรือการผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้าโดยรัฐในบางประเทศ

ตลาดที่ถูกผูกขาดโดยผู้ซื้อก็คือเหรียญอีกด้านของตลาดผูกขาด แต่คราวนี้ผู้มีอำนาจกำหนดราคาไม่ใช่ผู้ขายแต่กลับเป็นผู้ซื้อ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็เช่นเมืองบางเมืองที่เศรษฐกิจทั้งระบบขับเคลื่อนด้วยบริษัทเหมืองแร่เพียงแห่งเดียว ส่งผลให้อำนาจต่อรองแทบทั้งหมดในการกำหนดค่าแรงอยู่ในมือนายจ้างเพียงลำพัง

ผู้ว่าจ้างที่มีอำนาจต่อรองอยู่เต็มมือย่อมฉกฉวยโอกาสที่จะ ‘ขูดรีด’ มูลค่าเพิ่มที่แรงงานผลิตให้กับธุรกิจแล้วนำมาใส่กระเป๋าตนเองอย่างไม่เป็นธรรม การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐจึงเปรียบเสมือนการจับยักษ์มาชนกับยักษ์เพราะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับลูกจ้างและบังคับถ่ายโอนรายได้ส่วนที่ควรจะเป็นของแรงงานให้มาอยู่ในที่ที่ถูกควร

ภายใต้โครงสร้างตลาดดังกล่าว การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจึงไม่ได้ทำให้นายจ้างขาดทุนถึงขั้นต้องปิดกิจการ เพียงแต่ทำกำไรได้น้อยลงเพราะต้องแบ่งสรรปันส่วนให้กับลูกจ้างเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง มีการศึกษาพบว่ารัฐบาลสามารถเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงมัธยฐานโดยส่งผลกระทบต่อการจ้างงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้หรือ?

แม้ว่าในปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีปัญหากับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ แต่นโยบายดังกล่าวก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีโดยมีงานวิจัยพบว่าการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้โครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป เช่น การปรับลดสวัสดิการพนักงานโดยนายจ้าง การลดเวลาทำงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานจากธุรกิจขนาดเล็กหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือกระทั่งการผลักภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นบางส่วนให้กับผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาสินค้า

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะมีทางสายกลางที่ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างสามารถร่วมกำหนดค่าแรงที่สมน้ำสมเนื้อโดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามาใช้กฎหมายบิดเบือนกลไกราคาในตลาดดังกล่าวได้หรือเปล่า?

คำตอบคือมีครับ แถมประเทศที่ใช้แนวทางดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่าแรงรายชั่วโมงสูงอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วยนั่นคือเดนมาร์กซึ่งค่าแรงของแรงงานคอปกน้ำเงินอยู่ที่ 22 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงหรือราว 700 บาท พร้อมกับสวัสดิการคือวันหยุดพักผ่อนปีละ 6 สัปดาห์

ระบบค่าแรงของเดนมาร์กมีชื่อว่าเฟล็กซีเคียวริตี้ (Flexicurity) ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างคำว่ายืดหยุ่น (flexible) และความมั่นคง (security) ความโดดเด่นของระบบดังกล่าวคือนายจ้างและลูกจ้างพูดคุยเพื่อตกลงค่าแรงโดยที่รัฐไม่ได้เข้าไปยุ่มย่าม อีกทั้งการไล่พนักงานออกโดยนายจ้างยังไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ส่วนหน้าที่ของรัฐคือดูแลผู้ตกงานที่มีประกันการว่างงานยาวนานถึง 2 ปี พร้อมทั้งดูแลเรื่องการศึกษา ฝึกอาชีพ และให้คำปรึกษาเพื่อให้คนที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้โดยเร็วที่สุด

แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ สมาคมนายจ้างและสหภาพลูกจ้างก็มีการพูดคุยถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปทั้งในเรื่องค่าแรงและสภาพแวดล้อมในการทำงานยาวนานนับศตวรรษ จนเกิดเป็นข้อตกลงที่ผ่านการต่อรองร่วมกันซึ่งทุกฝ่ายได้ประโยชน์คือนายจ้างได้พนักงานที่ทำงานอย่างเต็มใจ ในขณะที่ลูกจ้างก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยม

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การต่อรองระหว่างนายจ้างและลูกจ้างประสบความสำเร็จคือสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง โดยลูกจ้างในเดนมาร์กราว 67 เปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน

หันกลับมาที่ประเทศไทย ปัจจุบันเรามีซูเปอร์บอร์ดกำหนดค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศที่ชื่อว่าคณะกรรมการค่าจ้าง ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 5 คน และฝ่ายลูกจ้าง 5 คน โดยมีการออกประกาศเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เพื่อปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น “ในอัตรา 5 หรือ 6 บาท”

แม้ว่าโครงสร้างดังกล่าวจะดูเหมือนเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง แต่หลังจากผู้เขียนได้อ่านคำชี้แจงประกอบการปรับเพิ่มค่าแรงดังกล่าว กลับพบแต่ภาษาเศรษฐศาสตร์มหภาคว่าด้วยตัวชี้วัดค่าครองชีพ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ แต่น่าแปลกใจที่แทบไม่กล่าวถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานแม้แต่นิดเดียว ชวนให้สงสัยว่าลูกจ้างในคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจต่อรองเท่าเทียมกับนายจ้างอย่างที่เราเข้าใจจริงหรือไม่

ยิ่งมาดูสถานการณ์สหภาพแรงงานไทยก็ยิ่งน่าหดหู่ เนื่องจากจำนวนสมาชิกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องโดยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นอำนาจต่อรองที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินและความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามากำกับดูแลตลาดแรงงานไม่ให้นายจ้างขูดรีดแรงงานมากเกินควร

แทนที่จะใช้ศัพท์แสงวิชาการให้ดูยุ่งยาก ผู้เขียนชวนตั้งคำถามง่ายๆ ว่าค่าแรง 336 บาทต่อวันในยุคสมัยที่การทานอาหารนอกบ้านเริ่มต้นที่จานละ 40 บาทฟังดูสมเหตุสมผลหรือไม่ เขาหรือเธอที่ทำงานรับค่าจ้างขั้นต่ำถือว่ามีชีวิตที่ไม่อัตคัดขัดสนหรือเปล่า

ถ้าคำตอบของคุณคือ ‘ไม่’ ก็คงได้เวลาที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมแล้วล่ะครับ


เอกสารประกอบการเขียน

What harm do minimum wages do?

What would a $15 minimum wage mean for America’s economy?

Research: When a Higher Minimum Wage Leads to Lower Compensation

Danes don’t have a minimum wage. We have something even better.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save