fbpx

คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ นิทานชวนหัวร่อ และคำขวัญสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเขียนต้นฉบับบทความตอนสุดท้ายของซีรีส์ อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่านฐานันดรที่สามคืออะไร’ อยู่นี้ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเรื่องหนึ่ง นั่นคือการอ่านคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญว่าการชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมและพวกในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองตาม ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือไม่ เป็นที่น่าสนใจว่าคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการชี้ว่าในทางกฎหมายแล้วการชุมนุมดังกล่าวเป็นการ ‘ล้มล้างการปกครอง’ ได้อย่างไรมากเท่ากับที่พยายามจะสถาปนาแนวคิดทางกฎหมายภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมอย่างแข็งขัน และนำมันมาใช้ปฏิเสธข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยอย่างสันติในยุคหลัง ‘ฉันทามติภูมิพล’

แม้ว่าการสถาปนาแนวคิดทางกฎหมายเหล่านั้นจะเป็นไปอย่างลวกๆ และชวนสับสน มีการอ้างแนวคิดทางการเมืองและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แบบผิดๆ ถูกๆ อย่างไม่น่าให้อภัยหลายแห่ง แต่ด้วยอำนาจในมือตามทำนอง ‘ปากกาอยู่ที่มัน’ ผู้เขียนเชื่อว่านิทานชวนหัวร่อของคณะตลกแห่งศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะแปรเปลี่ยนเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ของรัฐไทยไปในท้ายที่สุด

ถึงจะมีหลายจุดในคำพิพากษาที่น่าขัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกประหลาดเป็นอย่างมากก็คือการอ้างคำขวัญ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ (Liberté, Égalité, Fraternité) ของ ‘สาธารณรัฐฝรั่งเศส’ ว่าเป็น ‘หลักการประชาธิปไตย’ และนำใช้มาโจมตีขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของไทยว่าพวกเขารู้จักใช้แต่เสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงภราดรภาพ – ใครฟังแล้วไม่หัวร่อก็คงต้องบ้าไปแล้ว

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนซึ่งมีความสนใจในเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสอยู่เป็นทุนและในเวลาปัจจุบันก็ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบ… เอ้ย เงาของสาธารณรัฐฝรั่งเศส จึงอดรนทนไม่ได้ต้องอนุญาต ‘ออกนอกเรื่อง’ ในเดือนนี้ และสัญญาว่าจะกลับไปเขียนต้นฉบับบทความ ‘อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่านฐานันดรที่สามคืออะไร’ ตอนสุดท้ายจนจบ

อันที่จริงแล้วคำขวัญทั้งสามข้อนี้ไม่ใช่ ‘หลักการประชาธิปไตย’ ตามที่อ้างในคำพิพากษา แต่มันคือคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่อิงอยู่กับ ‘หลักการแบบสาธารณรัฐนิยม’ (republican values) ใครที่คิดจะอ้างคำขวัญแบบสาธารณรัฐนิยมเพื่อมาปกป้องระบอบกษัตริย์เหนือรัฐธรรมนูญได้นั้น ถ้าไม่ใช่เพราะกำลังเล่านิทานชวนหัวร่ออยู่ก็ต้องใช้ความกล้าหาญมหาศาล แต่ก็อย่างที่ใครสักคนเคยบอกว่า ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะที่นี่คือประเทศไทย’

ก่อนอื่นเราพึงระลึกว่า คำทั้ง 3 ในคำขวัญ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ไม่น่าจะถูกจัดวางอย่างสุ่มๆ แต่สะท้อนลำดับความสำคัญของแต่ละคำไม่มากก็น้อย

หัวใจสำคัญของสาธารณรัฐ คือการที่ชุมชนทางการเมืองนั้นมี ‘เสรีภาพ’ (Liberté) เหนือการกดขี่และการปกครองภายใต้อำนาจเด็ดขาดของทรราช (despot) รัฐบุรุษโรมันอย่างซิเซโร (Cicero) เคยอภิปรายว่าในสังคมที่ปกครองด้วยกษัตริย์ย่อมบกพร่องซึ่งเสรีภาพ เพราะสังคมที่มีเสรีภาพ คือสังคมที่ดำรงอยู่เพื่อประโยชน์แห่งชุมชนสาธารณะ (Res Publica หรือ The Commonwealth หรือ La Chose Publique) ไม่ใช่ดำรงอยู่เพื่อรับใช้เจ้านายคนใดคนหนึ่ง[1] คำว่า ‘เสรีภาพ’ ในคำขวัญสาธารณรัฐฝรั่งเศสก็มีความหมายเช่นนี้ คือไม่ใช่ ‘เสรีภาพส่วนบุคคล’ (individual freedom/liberty) ตามความหมายสมัยใหม่ แต่เป็น ‘เสรีภาพ’ ของชุมชนที่ไม่ตกเป็นทาสใคร และเสรีภาพประเภทนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ช่วยป้องกันไม่ให้ชุมชนทางการเมืองนั้นตกเป็นเครื่องมือรับใช้ทรราช ด้วยเหตุนี้การมีเสรีภาพจึงมาเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อไม่มีเสรีภาพ ย่อมไม่มีสาธารณรัฐ

แต่ทำไมเสรีภาพจึงมาก่อนความเสมอภาค?

ในเรื่องนี้ เราอาจจะพิจารณาได้สองส่วน ส่วนแรกคือในแง่ของความเสมอภาคทางการเมือง ถ้าสมาชิกของชุมชนทางการเมืองนั้นไม่มีเสรีภาพ ความเสมอภาคทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะทรราชและพวกพ้องย่อมมีอำนาจทางการเมืองมากกว่าสมาชิกชุมชนคนอื่นๆ  เสรีภาพจึงเป็นเครื่องมือการันตีให้ความเสมอภาคทางการเมืองเกิดขึ้นได้

ส่วนที่สองคือในแง่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราอาจพิจารณาถึงบริบทการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสที่ให้กำเนิดคำขวัญสาธารณรัฐนี้ว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดแบบกระฎุมพี (bourgeoisie) ให้ความสำคัญกับการปกป้องแนวคิดทรัพย์สินส่วนบุคคล ดังนั้น ‘เสรีภาพ’ ในที่นี้จึงอาจหมายรวมถึง ‘เสรีภาพในทรัพย์สินส่วนบุคคล’ อีกด้วย เอ็มมานูเอล-โยเซฟ ซิเยส (Emmanuel-Joseph Sieyès) ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดในช่วงต้นของการปฏิวัติเองก็ถือว่า ‘เสรีภาพ’ (ในทรัพย์สินส่วนบุคคล) มีความสำคัญมาก สำหรับซิเยสแล้ว เสรีภาพเป็นเครื่องการันตีให้ความเสมอภาคสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ความเสมอภาคไม่สามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการทำให้เกิดเสรีภาพได้ ในทางตรงกันข้าม ความเสมอภาคบางประการ เช่นความเสมอภาคทางเศรษฐกิจก็อาจได้มาจากการละเมิดเสรีภาพเหนือทรัพย์สินส่วนบุคคล (เช่น แนวคิดการยึดทรัพย์สินส่วนบุคคลมาเป็นของชาติ หรือ nationalization)[2]

และท้ายที่สุดคือคำว่า ‘ภราดรภาพ’ ซึ่งคณะตลก.ศาลรัฐธรรมนูญเอามาใช้โจมตีขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของไทย แม้คำว่า ‘ภราดรภาพ’ จะมีปรากฏมาตั้งแต่สมัยการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส[3] แต่ก็เป็นคำที่ลงหลักปักฐานช้าที่สุด เพิ่งจะชัดเจนในยุคสาธารณรัฐที่ 3 (ค.ศ. 1870 – 1940) นี่เอง ที่คำว่าภราดรภาพได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการโดยปรากฎอยู่ตามอาคารของส่วนราชการและในเหรียญกษาปณ์

บุคคลที่ถือว่าเป็นผู้คิดค้นคำขวัญ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ก็คือ ‘มักซิมิลง โรแบสเปียร์’ (Maximilien Robespierre)[4] ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมของไทยเองก็คงหวาดกลัวจนอาจนอนฝันร้ายเหมือนกับช่วงท้ายชีวิตของซิเยส (มีเรื่องเล่าว่าเมื่อมีคนมาหา ซิเยสในวัยชราจะบอกกับคนรับใช้ของตนว่า โรแบสเปียร์มาหาหรือเปล่า ถ้าใช่ให้ไปบอกเขาว่าตนเองไม่อยู่ ถึงแม้ว่าโรแบสเปียร์จะเสียชีวิตไปนานแล้ว) ก็น่าแปลกที่คณะตลก.ศาลรัฐธรรมนูญกลับเลือกหยิบยกคำขวัญที่โรแบสเปียร์เป็นผู้คิดขึ้นมา

ความหมายของ ‘ภราดรภาพ’ นั้นคลุมเครือ แม้แต่ในช่วงที่มีคนขนานนามกันว่าเป็น ‘ยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว’ (La Terreur) คำว่า ‘ภราดรภาพ’ ก็ปรากฏอยู่ในคำขวัญ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย’ (Liberté, Egalité, Fraternité ou la mort) การตีความคำว่า ‘ภราดรภาพ’ ว่าหมายถึง ‘คนทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันท์พี่น้อง มีความสามัคคีกัน’ ตามคำพิพากษาของคณะตลก.ศาลรัฐธรรมนูญก็ดูจะเป็นแค่การอ่านข้อความตามตัวหนังสือเท่านั้นเอง จริงอยู่ในสังคมฝรั่งเศสปัจจุบัน คำว่า ภราดรภาพ (Fraternité) อาจจะมีนัยยะถึงการ ‘ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันท์พี่น้อง’ แต่ ‘ภราดรภาพ’ ตามความหมายดั้งเดิมนั้นควรหมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันฉันท์พี่น้องของฝ่ายปฏิวัติเสียมากกว่า ด้วยเหตุที่คำว่า ‘ภราดรภาพ’ ในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสมักปรากฎเคียงคู่กับวลี ‘หรือความตาย’ อีกทั้งยังยึดโยงกับฝ่ายเรดิคัลของการปฏิวัติ เมื่อเกิดการรัฐประหารเดือนแตร์มิดอร์ (Réaction thermidorienne) โค่นล้มโรแบสเปียร์และพวกลงไป คำว่า ‘ภราดรภาพ’ ก็หายไปจากพื้นที่สาธารณะ

คำว่า ‘ภราดรภาพ’ ในบริบทดั้งเดิมจึงเสมือนเป็นคำถามให้คนฝรั่งเศสต้องเลือกเอาว่าจะสมาทานคุณค่า เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ หรือจะตายไปเสีย! และถึงแม้จะยึดเอาการตีความตามตัวอักษร ‘ภราดรภาพ’ ก็ไม่ใช่ความสามัคคีแบบไทยๆ ที่ประชาชนจะต้องเชื่อฟังรัฐราวกับเป็นวัวควายเชื่องๆ ไม่กล้าแตกแถว หรือไปให้ความสำคัญกับความภราดรภาพไว้เหนือกว่าเสรีภาพและความเสมอภาค

หากไม่เห็นด้วย ผู้เขียนก็อยากขอให้ลองพิจารณาสลับตำแหน่งคำในคำขวัญนี้ แล้วลองจินตนาการตามดูว่าสังคมที่สร้างขึ้นตามหลักการเช่นนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร บางทีผู้อ่านก็อาจจะค้บพบคำขวัญสำหรับระบอบกษัตริย์เหนือรัฐธรรมนูญ(unconstitutional monarchy) ของไทย

แต่ถ้าจะให้ผู้เขียนนึกดู ก็น่าจะเป็น ‘จงเชื่อฟัง จงเชื่อฟัง และจงเชื่อฟัง’



[1]  “…To be sure a nation ruled by a king is deprived of many things, and particularly of liberty, which does not consist in serving a just master, but in serving no master at all… Therefore, wherever a tyrant rules, we ought not to say that we have a bad form of commonwealth (res publica), as I said yesterday, but, as logic now demonstrates, that we really have no commonwealth at all…” – Balmaceda, C. Libertas and Res Publica in the Roman Republic. Brill. 2020. หน้า 3-4.

[2] “…« que la liberté gagne de plus en plus dans l’état social, et que toutes ces lumières, tous les progrès sont au profit de la liberté. Mais cette vérité serait anéantie si tous n’étaient pas égaux en droits ». Alors il souligne d’une part que « les besoins réciproques ne sont cause de sociabilité qu’entre égaux ». D’autre part, l’égalité ne doit pas restreindre la liberté, ajoute-t-il : « L’égalité qu’il nous faut ne blesse point la liberté » …”- Tyrsenko, A. L’ordre politique chez Sieyès en l’an III. Annales historiques de la Révolution française 2000. หน้า 6

[3] « Article XVI. Elles porteront sur leur poitrine ces mots gravés : LE PEUPLE FRANÇAIS, et au-dessous : LIBERTÉ, ÉGALITÉ, FRATERNITÉ. Les mêmes mots seront inscrits sur leurs drapeaux, qui porteront les trois couleurs de la nation.» ดู Le Discours sur l’organisation des gardes nationales อ้างใน Société des études Robespierristes. Oeuvres complètes. 1910. หน้า 643

[4] อันที่จริงแล้วคำทั้ง 3 อาจมีอยู่แล้วก่อนหน้ารายงานเรื่องกองกำลังแห่งชาติของโรแบสเปียร์ แต่เขาเป็นบุคคลแรกที่เสนอให้ใช้มันในลักษณะคำขวัญ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save