fbpx

มนุษยสมัย (Anthropocene) เมื่อมนุษย์ผันผวนโลก

1

กรุงเทพฯ ในบางคืนที่เงียบพอ เราอาจโชคดีได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องหลังฝนตก ทาบทับไปกับฉากเมืองใหญ่ที่มีคอนกรีตมากกว่าต้นไม้ หากมองจากระเบียงคอนโดฯ เรารับรู้ว่ามีมนุษย์อยู่ด้วยการเห็นรถยนต์ขับเคลื่อนบนท้องถนน ไม่ใช่ด้วยการเห็นมนุษย์จริงๆ แสงไฟกะพริบถี่หน้าบ้านสักหลังทำให้เราเผลอคิดไปว่าเขาอยู่ตรงนี้มาแล้วกี่ปี แต่แล้วเสียงจิ้งหรีดก็ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า เราอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่เรา – มนุษย์

ในปี 2000 พอล ครุตเซน (Paul J. Crutzen) กับยูจีน สตอร์เมอร์ (Eugene F. Stoermer) เสนอศัพท์ใหม่ขึ้นมาในวงวิชาการ ตอนนั้นโลกกำลังพุ่งทะยานด้วยเทคโนโลยีและการบริโภค ขณะเดียวกันธรรมชาติเองก็ดูเหมือนจะปรับสมดุลไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดเช่นนี้ พวกเขาทั้งคู่จึงเขียนบทความชื่อ ‘The Anthropocene’ และเสนอศัพท์ Anthropocene ที่หมายถึงยุคสมัยที่กิจกรรมของมนุษย์ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และส่งผลกระทบย้อนกลับมาสู่การดำรงชีพของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อชวนให้มนุษย์ตระหนักถึงยุคสมัยที่การบริโภคล้นเกินทำให้โลกเสียสมดุลเช่นนี้

แม้ Anthropocene หรือมนุษยสมัย จะเป็นศัพท์ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่มากมาย เช่น มนุษยสมัยคืออะไร มนุษยสมัยเกิดขึ้นเมื่อไหร่แน่ เราจะนับจากเส้นประวัติศาสตร์ตรงไหน และวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะมีทิศทางแนวโน้มอย่างไรในมนุษยสมัย

หนังสือ Anthropocene ที่จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พยายามจะตอบคำถามนี้ โดยนักวิชาการ 7 คนที่เลือกหยิบจิกซอว์คนละชิ้น มาปะติดปะต่อเพื่อให้เห็นภาพองค์รวมแห่งมนุษยสมัย แม้ไม่ได้ตอบคำถามได้ชัดเจนทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจภาพมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือนี่เป็นบทความจาก 7 นักวิชาการที่มาจากหลากหลายสาขา ตั้งแต่นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักภูมิศาสตร์ นักวรรณคดีวิจารณ์ นักทฤษฎีการเมือง และผู้สนใจทฤษฎีมาร์กซิสต์ ที่หยิบบริบทสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมไทยมาช่วยอธิบายด้วย ทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้นอกจากจะทำให้เข้าใจภาพรวมใหญ่ของโลกแล้ว ยังทำให้เข้าใจภาพสังคมที่เรากำลังอาศัยอยู่ ผ่านแว่นตาที่หลากหลาย ช่วยให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ ต่อประเด็นเดียวกันได้อย่างแหลมคม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เขียนไว้ในบทบรรณาธิการว่า หนังสือเล่มนี้มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ หนึ่ง แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับ ‘มนุษยสมัย’ ในฐานะที่เป็นมโนทัศน์ใหม่ๆ ในปัจจุบัน และสอง ชี้ให้เห็นข้อถกเถียงทางทฤษฎีและการนำมโนทัศน์นี้ไปใช้ในประเด็นต่างๆ ในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

โดยหนังสือแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ

(1) อดีต ในฐานะที่เป็นรากฐานของการทำความเข้าใจปัญหาว่าด้วยมนุษยสมัย โดยเฉพาะในแง่ของการแบ่งยุคสมัยและวิวาทะว่าด้วยมโนทัศน์มนุษยสมัย

(2) ปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวพันกับการทำความเข้าใจมนุษยสมัยในประเด็นใหญ่ๆ สามประเด็น คือ ภูมิอากาศ การอนุรักษ์ธรรมชาติ และการจัดการป่าไม้

และ (3) อนาคต ซึ่งเป็นส่วนที่จะชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้หรือจินตนาการถึงทางออกจากวิกฤตของมนุษยสมัยผ่านการพิจารณาประเด็นว่าด้วยความยุติธรรมและประชาธิปไตย

หนังสือเล่มนี้พาเราท่องตั้งแต่เริ่มกำเนิดโลกในช่วงบรมยุคเฮเดียนในวันที่โลกยังไร้สิ่งมีชีวิต มาจนถึงวันที่เราตั้งคำถามต่อความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของคำว่าประชาธิปไตย

2

Anthropocene: สมัยมนุษย์ผันผวนโลก ของ ตรงใจ หุตางกูร บทแรกของหนังสือพาเราย้อนไปในอดีต แนะนำสิ่งที่เรียกว่า ‘มนุษยสมัย’ ในฐานะที่เป็นยุคสมัยทางธรณีวิทยาอันใหม่

ตรงใจเขียนอธิบายแนวคิดของครุตเซนและสตอร์เมอร์ไว้ว่า “…ในยุคมนุษยสมัย มนุษย์คือตัวการทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงจากที่ควรเป็นตามธรรมชาติ โดยเขาได้ยกหลักฐานที่ถือว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ความผันผวนของโลก อันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic activities) ว่าในช่วง 300 ปีที่ผ่านมา ประชากรมนุษย์ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 10 เท่า หรือ 6,000 ล้านคน พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากรปศุสัตว์ 1,400 ล้านตัว ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการบริโภคตามสัดส่วนของประชากรมนุษย์ การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์อย่างก้าวกระโดดทำให้อัตราการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติโดยมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งของเสียที่เกิดจากการบริโภคเหล่านั้นก็ถูกปลดปล่อยกลับสู่ระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ผลกระทบดังกล่าวเป็นเหตุให้สภาพแวดล้อมที่เคยเกื้อกูลต่อมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีธรรมชาติและกำลังกลับมาทำร้ายมนุษย์กันเอง”

มนุษย์เปลี่ยนแปลงท้องฟ้าด้วยการปล่อยก๊าซพิษ เปลี่ยนแปลงแผ่นดินด้วยการสำรวจและบุกเบิกพื้นที่ผิวดินของผืนโลก และเปลี่ยนแปลงผืนน้ำด้วยการเข้าถึงแหล่งน้ำจืดมากกว่าครึ่งที่มีตามธรรมชาติ ทั้งปล่อยของเสียขยะสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ ฯลฯ

ด้วยหลักฐานเช่นนี้ ครุตเซนและสตอเมอร์จึงเสนอว่า “กิจกรรมที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดล้วนทิ้งร่องรอยไว้ในกระบวนการทับถมทางธรณีวิทยา จนเกิดเป็นชั้นทับถมตามธรรมชาติที่มีร่องรอยที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในชั้นดินหรือชั้นน้ำแข็งที่ขั้วโลก ดังนั้น ในทางธรณีวิทยาแล้ว ชั้นทับถมดังกล่าวจึงควรถูกแยกออกมาจากชั้นทับถมทางธรณีวิทยาสมัยปัจจุบันที่มนุษย์กำลังอาศัยอยู่ชื่อว่า สมัยโฮโลซีน (Holocene)”

ต้องกล่าวตรงนี้ด้วยว่า ชั้นทับถมทางธรณีวิทยาสมัยปัจจุบันที่มนุษย์กำลังอาศัยอยู่มีชื่อว่าสมัยโฮโลซีน (Holocene) ซึ่งเป็นสมัยที่ฟอสซิลหอยทั้งหมดเหมือนหอยในปัจจุบัน โดยครุตเซนและสตอเมอร์พยายามสื่อสารว่ามนุษยชาติต้องร่วมมือกันวางแผนยับยั้งผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ครุตเซนและสตอเมอร์ต้องการบัญญัติให้ Anthropocene มีสถานะเป็นสมัยลำดับที่แปด ต่อเนื่องจากสมัยโฮโลซีนในมหายุคซีโนโซอิก แต่ “ความหมายตามรูปศัพท์ของแอนโธรพอซีนกลับไม่สอดคล้องเชิงความหมายเชิงธรณีวิทยากับชื่อสมัยอื่นในกลุ่ม เนื่องจากคำแรกของชื่ออื่นเป็นคำคุณศัพท์แสดงระดับความสมบูรณ์มากน้อย แค่คำแรกของชื่อนี้เป็นคำนามที่ถูกทำให้เป็นคุณศัพท์หมายถึง เกี่ยวกับมนุษย์” (Anthropocene มีรากคำมาจากภาษากรีกโบราณ คือ Anthropo- แปลว่า มนุษย์ กับ -cene แปลว่า ล่าสุดหรือปัจจุบัน) และที่ประชุมคณะกรรมการลำดับชั้นหินนานาชาติหรือไอซีเอส (The International Commission on Stratigraphy or ICS) ก็ยังไม่ยอมรับข้อเสนอของครุตเซนและสตอร์เมอร์

ทั้งนี้ อีกหนึ่งคำถามที่เป็นประเด็นสำคัญของการศึกษาเรื่องนี้คือ มนุษยสมัยเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด? ในประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงหลายครั้งในหนังสือเล่มนี้ ตรงใจเขียนอธิบายว่าครุตเซนและสตอร์เมอร์เสนอกรอบแนวคิดเบื้องต้นว่า “มนุษยสมัยเริ่มต้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 (ค.ศ. 1751-1800) เพราะข้อมูลจากการวิเคราะห์แกนแท่งน้ำแข็ง (glacial ice cores) ทำให้ทราบว่า น้ำแข็งที่มีอายุในช่วงเวลาดังกล่าว มีร่องรอยของการเริ่มสะสมและการขยายตัวของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับก๊าซมีเทน ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่เจมส์ วัตต์ (James Watt) ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำเมื่อปี 1784”

ขณะที่ก็ยังมีข้อถกเถียงว่าเส้นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยาวไกลกว่านั้น และมนุษย์ก็ดำรงชีวิตจนส่งผลกระทบต่อโลกมานานกว่านั้นมากแล้ว

ตรงใจพาย้อนไปรู้จักโลกตั้งแต่วันที่ยังไม่มีมนุษย์ มาจนถึงวันที่โฮโมเซเปียนส์กระจายไปทั่วโลก พัฒนาเครื่องมือหากิน ปรับตัวตามสภาพอากาศ และเปลี่ยนรูปแบบสังคมมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเอาประวัติศาสตร์มากางตรงหน้าก็ชวนให้เราย้อนคิดว่า แท้จริงแล้วเราสามารถบัญญัติว่ายุคนี้เป็นยุคสมัยของมนุษย์ได้หรือไม่ หากมนุษย์เป็นหนึ่งในระบบนิเวศของโลกนี้ที่ดำรงมาพร้อมสิ่งอื่นมาเนิ่นนานแล้ว

ต่อประเด็นนี้ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ช่วยต่อจิกซอว์ในบทความต่อมา ยุคสมัยแห่งทุน : ข้อถกเถียงว่าด้วยมนุษยสมัยในโลกวิชาการมาร์กซิสต์ ที่ใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์และกระแสการศึกษาภววิทยามาช่วยมองให้เห็นข้อจำกัดและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการกำหนดช่วงยุค โดยเก่งกิจเล่าถึงการวิวาทะในหมู่นักวิชาการสายมาร์กซิสต์ ระหว่างฝ่ายสังคมนิยมแนวนิเวศที่มีข้อวินิจฉัยสอดคล้องไปกับมนุษยสมัย กับเจสัน ดับเบิลยู. มัวร์ ที่เห็นว่า ที่มาของวิกฤตของระบบนิเวศในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากมนุษย์ในความหมายที่ครอบคลุมถึงมนุษย์ทุกคน แต่คือผลผลิตของพัฒนาการของระบบทุนนิยมที่มีอายุประมาณห้าศตวรรษเท่านั้น โดยมัวร์เลือกที่จะเรียกว่าเป็น ‘ยุคสมัยแห่งทุน’ (Capitalocene) ซึ่งการตั้งคำถามของเขาท้าทายโดยตรงกับข้อเสนอเรื่องมนุษยสมัย

“เขา (มัวร์) เสนอว่า ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติและโลกธรรมชาติเองก็ดำรงอยู่และทำงานผ่านการใช้ชีวิตของมนุษย์ หรือที่มัวร์เรียกว่า ‘สภาวะที่สิ่งหนึ่งอยู่ในอีกสิ่งหนึ่งแบบเชิงซ้อน’ (double internality) ซึ่งมนุษย์เองก็อยู่และอาศัยการดำรงชีวิตในโลกธรรมชาติ ธรรมชาติคือพื้นที่และทรัพยากรของการดำรงชีวิตที่ช่วยผลิตและผลิตซ้ำความเป็นมนุษย์และแรงงานของมนุษย์ ในแง่นี้ การควบคุมและขูดรีดแรงงานของมนุษย์โดยระบบทุนนิยมเองก็ไม่สามารถแยกขาดจากการขูดรีดสิ่งที่เป็นธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน”

เก่งกิจย้อนไปถึงที่มาทางประวัติศาสตร์ของวิกฤตระบบนิเวศ ที่มัวร์ชี้ว่ามนุษยสมัยนั้นเป็นวิธีคิดที่สำคัญ แต่ในตัวมันเองแล้ว “ไม่ได้มีความชัดเจน สร้างภาพลวงผิดๆ คลุมเครือ”

มัวร์เสนอว่าจุดเริ่มต้นของการยึดครองและทำลายล้างระบบนิเวศนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 แล้ว โดยเป็นผลโดยตรงมาจากการปฏิวัติหรือการพลิกผันสามประการ คือ (1) การปฏิวัติเกษตรกรรม (2) การปฏิวัติทางปรัชญา และ (3) การแผ่ขยายของจักรวรรดิยุโรปไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลก

“มัวร์ชี้ว่ากระบวนการดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ระบบทุนนิยมกลายมาเป็นนิเวศโลกอันใหม่ที่ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งโลก โดยมันได้เข้าไปจัดการ ยึดครอง และจัดสรรให้ส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งรวมทั้งแรงงานของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างมูลค่าและการสะสมความมั่งคั่งด้วย” 

หากบทแรกคือการมองมนุษยสมัยด้วยแว่นตาโบราณคดีและธรณีวิทยา ในบทความของเก่งกิจก็เป็นการชวนมองด้วยแว่นตามาร์กซิสต์ ซึ่งยังมีรายละเอียดการโต้แย้งที่น่าสนใจและชวนให้ใคร่ครวญต่อคำถามสำคัญหลายประการ ก่อนหนังสือจะพาเรามาทำความเข้าใจปัจจุบันและอนาคตในบทถัดๆ มา

3

ในช่วงถัดจากสองบทแรก หนังสือพาขยับไปแต่ละประเด็นเฉพาะมากขึ้น ซึ่งหลากหลายตั้งแต่เรื่องสภาพภูมิอากาศ การจัดการป่าไม้ วรรณกรรม ไปจนถึงความเป็นไปได้ใหม่ของประชาธิปไตย

มีการนำเอาการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Studies ห่รือ STS) เข้ามาช่วยทำความเข้าใจวิกฤตของสภาพภูมิอากาศ ในบท ว่าด้วยชีวิตทางสังคม ชีวิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และชีวิตทางการเมืองของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ชยา วรรธนภูติ ที่เขียนถึงอากาศเชื่อมโยงกับมิติความเป็นมนุษย์ได้อย่างละเอียดลออ โดยยกข้อเสนอว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมิใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อม แต่เป็นผลผลิตของการประกอบสร้างทางสังคม ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทางการเมืองด้วย” และยังเป็น “เครื่องมือในการสะท้อนและทบทวนถึงหลักจริยธรรม รวมถึงการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้นำพาโลกใบนี้มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งนี้”

ทั้งยังพาย้อนไปสู่จุดกำเนิดแรกเริ่มของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ “ที่ซึ่ง ‘ลมฟ้าอากาศ’ และ ‘ภูมิอากาศ’ เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ ความรู้สึก วิถีชีวิตและโลกทัศน์ พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม เพื่อให้คนในแต่ละสังคมเข้าใจและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอากาศที่เปลี่ยนตลอดเวลา” และยังมีส่วนที่ว่าด้วยชีวิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการเมือง และการเข้าใจและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอากาศในมนุษยสมัย

ในบทถัดมา การอนุรักษ์ธรรมชาติในสมัยของทุน : สังเขปประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์วรรณนาของ ‘พื้นที่คุ้มครอง’ ของ ณภัค เสรีรักษ์ ชวนให้เราตั้งคำถามถึงมโนทัศน์ว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่มักจะแยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติออกจากกันอย่างสุดขั้ว และกรอบคิดแบบนี้อาจจะเป็นกับดักที่ทำให้เราไม่สามารถเผชิญกับปัญหาได้

โดยณภัคเขียนอธิบายแนวคิดของบทความไว้ว่า “บทความนี้มุ่งเสนอแนวการทำความเข้าใจเงื่อนไขเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองของกรอบคิดและข้อถกเถียงว่าด้วย ‘การอนุรักษ์’ และ ‘พื้นที่คุ้มครอง’ โดยจัดวางการทำความเข้าใจลงบนข้อถกเถียงว่าด้วยการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของยุคสมัยปัจจุบัน”

เนื้อหาส่วนแรก ทบทวนข้อวิพากษ์คำและกรอบคิด ‘มนุษยสมัย’

ส่วนที่สอง นำเสนอข้อถกเถียงว่าด้วยการอนุรักษ์ในสมัยของทุน

ส่วนที่สาม นำเสนอประวัติศาสตร์วิธีคิดของ ‘พื้นที่คุ้มครอง’ ทั้งในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม นิเวศวิทยา และประวัติศาสตร์

และส่วนที่สี่ พิจารณาผลกระทบของ ‘การอนุรักษ์’ และ ‘พื้นที่คุ้มครอง’ ด้วยกรอบการทำความเข้าใจเชิงเปรียบเทียบข้ามสังคมวัฒนธรรมผ่านการทบทวนงานชาติพันธุ์วรรณาที่เกี่ยวข้อง

ในประเด็นใกล้เคียงกัน บทความ ผู้กระทำการ อำนาจ และความเป็นประวัติศาสตร์ในมนุษยสมัย : กรณีศึกษาเรื่องป่าไม้ในสมัยพัฒนาการ (พ.. 2502-2516) ของ ชนกพร ชูติกมลธรรม ชวนกลับมาทบทวนและปรับมโนทัศน์ในเรื่องผู้กระทำการ โดยตั้งคำถามต่อความเป็นผู้กระทำการของมนุษย์ ที่ถูกสถาปนาขึ้นสู่ความเป็นองค์ประธานในยุคสมัยใหม่ และยังตั้งความต่อการแบ่งแยกสังคมมนุษย์ออกจากโลกธรรมชาติ ซึ่งมนุษยสมัยชี้ให้เห็นว่าสังคมมนุษย์และโลกธรรมชาติไม่ได้แยกออกจากกัน

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ชนกพรเสนอว่า แม้ว่ามนุษยสมัยมองว่าการกระทำของมนุษย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการกระทำของมนุษย์ทุกกลุ่มจะส่งผลต่อธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน โดยบทความนี้ยกกรณีศึกษาเรื่องป่าไม้และวิกฤตสิ่งแวดล้อมประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2502-2516 มาเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพดังกล่าว  

เมื่อทำความเข้าใจปัจจุบันแล้ว เราจึงค่อยขยับไปคิดถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งสองบทความท้ายของเล่ม เล่าถึงอนาคตในมิติที่แตกต่างกันไป ชิ้นแรก คือ ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในวรรณกรรมอีสานของพีระ สุธรรม โดย ชัยยนต์ ทองสุขแก้ง ที่นำเอาตัวบทวรรณกรรมสองชิ้นของพีระ สุธรรม คือ Tales of Thailand และ The Force of Karma เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงปัญหา ซึ่งงานของพีระสนใจบทบาทของนายทุนหรือระบบทุนนิยมที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศในภาคอีสานอันเป็นผลมาจากการพัฒนา ทั้งนี้งานวรรณกรรมอีสานให้ความสำคัญกับปัญหาระบบนิเวศมาอย่างยาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่คนอีสานลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ธรรมชาติตามกรอบของระบบทุนนิยมอยู่แล้วด้วย

และบทความสุดท้ายชื่อว่า ก้าวข้าม ‘ธรรมชาติ VS อารยธรรม’ : ประชาธิปไตย ทางเลือกที่สามในฐานะศิลปะเพื่อการดำรงชีวิต ของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย ที่พาเราก้าวไปสู่จินตนาการและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ชวนคิดว่ามนุษยสมัยอาจพาเรากระโดดไปสู่การสร้างข้อเสนอเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ข้ามพ้นคู่ขั้วตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับอารยธรรมได้ จะเป็นอย่างไรถ้าเราขยายมโนทัศน์ประชาธิปไตยไปให้ไกลขึ้นกว่าแค่การเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบการปกครองของมนุษย์

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เรากลับมาทำความเข้าใจมนุษย์ เข้าใจโลกที่เราอยู่ และสิ่งที่พ้นไปจากมนุษย์ ทั้งยังช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มนุษยชาติจะก้าวไปถึง

การปูพื้นมาตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น ไปจนถึงโลกอนาคตที่เราอาจจินตนาการได้ไม่ชัดเจนนัก ช่วยทำให้การตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของ ‘มนุษยสมัย’ หรือ ‘สมัยของมนุษย์’ นั้น แหลมคมและรอบด้านมากกว่าการส่องกระจกแค่ด้านหน้าตัวเองเท่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save