fbpx

เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2020: เราไม่อาจหวนกลับสู่โลกแบบเดิมได้อีก

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง
ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เศรษฐกิจโลกติดโรคร้าย

 

ปลายปี 2019 กองบรรณาธิการ 101 สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ในชื่อบทความว่า ‘ปีแห่งความยากลำบาก’ แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2020 เพียงไม่กี่เดือน คนทั่วโลกก็ได้เห็นกันแล้วว่าปีก่อนหน้าเป็นแค่การ ‘เผาหลอก’

หากเปรียบเศรษฐกิจโลกเป็นคนป่วย เมื่อปี 2019 คนป่วยคนนี้ก็ป่วยเป็นแค่หวัดธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังไม่หายป่วยดี กลับต้องมาติดไวรัสชนิดรุนแรงเพิ่มเข้าไปจนสภาพร่างกายทรุดหนักลงไปอีก

โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปเกือบทุกประเทศทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว นอกจากจะจู่โจมประชากรทั่วโลกจนติดเชื้อไปแล้วเกินกว่า 70 ล้านคน ยังเล่นงานเศรษฐกิจโลกจนพังพาบ ถึงขนาดที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าวิกฤตการแพร่ระบาดนี้จะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยหนักที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930s

ในเดือนมีนาคม 2019 หลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์รอบแรกได้หนึ่งสัปดาห์ สมชัย จิตสุชน ให้สัมภาษณ์กับ 101 โดยให้นิยามวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ว่า ‘มหาวิกฤต’ เพราะวิกฤตรอบนี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก และเกิดขึ้นจากภาคเศรษฐกิจจริงก่อน โดยวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในทุกที่ที่โรคระบาดไปถึง รวมไปถึงประเทศที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ ยุโรป จีน และอินเดีย สมชัยยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วิกฤตครั้งนี้ยังขยายตัวและลุกลามอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 และวิกฤตการเงินปี 2008 ด้วยสาเหตุหลักจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้น ประกอบกับการที่ปัญหารอบนี้เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายเร็ว

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เขียนในบทความ ‘คนรอดหรือเศรษฐกิจรอด? : เมื่อโลกเผชิญหน้าวิกฤตเศรษฐกิจจำเป็น’ เรียกภาวะที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็น ‘ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เคยเจอมาก่อน’ โดยมีความน่าสนใจและความแตกต่างจากปัญหาครั้งอื่นๆ ในหลายมิติ ข้อแรกคือ การถดถอยที่เกิดพร้อมกันทั่วโลก และมีที่มาจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เกิดขึ้นแค่ไม่กี่ประเทศ และส่วนใหญ่เกิดจากการส่งผ่านทางการเงินและการค้า ข้อสองคือ ปัญหาครั้งนี้เกิดรวดเร็วและรุนแรงแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีคนได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และข้อสามคือการถดถอยครั้งนี้เกิดจากการ ‘ถูกบังคับแบบกึ่งเต็มใจ’ โดยการใช้มาตรการปิดเมือง การหยุดชะงักกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ social distancing

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ถูกหลายสำนักคาดการณ์ตรงกันว่าจะอยู่ในแดนลบ IMF คาดว่า GDP จะโตติดลบร้อยละ 4.4 ขณะที่องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนา (OECD) คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 4.2

แน่นอนว่าเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศต่างป่วยไข้ และต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเหมือนกันหมด และไทยเองที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับระบบโลกสูงก็หนีไม่พ้นต้องติดเชื้อร้ายนี้มาด้วย

 

เศรษฐกิจไทยหนีไม่พ้นเงื้อมมือไวรัส

 

กระทรวงการคลังคาดการณ์ GDP ของไทยปี 2020 ว่าจะติดลบร้อยละ 7.7 ส่วน IMF คาดไว้ที่ติดลบร้อยละ 7.1 ไม่ว่าจะอ้างอิงตัวเลขจากสำนักไหนก็ตาม เราปฏิเสธความจริงไม่ได้เลยว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยหนัก

ต่อให้ไม่เห็นตัวเลขเหล่านี้ ทุกคนก็คงจะประจักษ์ถึงวิกฤตได้ด้วยสายตาตัวเองไม่ยาก เมื่อภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่ซึมเซา ร้านรวงและโรงงานที่ทยอยปิดหรือขายทอดกิจการ แรงงานที่กอดคอร่ำลากันเพราะถูกเลิกจ้าง และคนฆ่าตัวตายเพราะสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวตลอดเกือบทั้งปี

อันที่จริง เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ก่อนแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับวิกฤตสุขภาพรอบนี้ จึงมีความซับซ้อนสูง และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง บทความ ‘COVID-19 : Super Spreader วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก’ ของพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย วิเคราะห์ว่า “ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรอบนี้ดูใหญ่หลวงนัก และเกิดขึ้นในภาวะที่เราไม่มีภาคเศรษฐกิจที่จะคอยเป็นกันชน” ทุกภาคเศรษฐกิจไทยล้วนกำลังย่ำแย่ก่อนที่จะเจอโควิด-19 อยู่แล้ว เช่น ภาคอุตสาหกรรมเจอผลกระทบจากสงครามการค้าจนการผลิตและการส่งออกลดลง ภาคเกษตรเจอภัยแล้งและราคาสินค้าตกต่ำ ภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเจอกำลังซื้อที่ชะลอลงและการลงทุนเอกชนที่หายไปนาน ในขณะที่ ภาคบริการที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย แม้ก่อนโควิด-19 จะไปได้ดี แต่กลับรับผลกระทบเต็มๆ เมื่อโรคมาถึง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ปัญหาเรื่องการชะงักของห่วงโซ่อุปทานก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ เพราะไทยพึ่งพาชิ้นส่วนต่างๆ จากต่างประเทศอย่างจีนและเกาหลีใต้ที่ไม่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มที่ และกระบวนการขนส่งก็หยุดชะงัก การผลิตและการส่งออกของไทยจึงได้รับผลกระทบ

ในทำนองเดียวกัน แบ๊งค์ งามอรุณโชติ เขียนในบทความ ‘จากวิกฤตโรคระบาด สู่วิกฤตเศรษฐกิจ (1) : ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย’ อธิบายถึงความเปราะบาง 4 ประการของเศรษฐกิจไทยในห้วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เสี่ยงเข้าสู่ภาวะวิกฤต ประการแรก เศรษฐกิจไทยอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว โดยชะลอตัวอย่างเด่นชัดตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประการที่สอง ไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ประการที่สาม ไทยมีแรงงานนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ซึ่งแรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง จนอาจทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นฉับพลัน และประการสุดท้ายคือปัญหาภัยแล้งยาวนาน กระทบเกษตรกรจำนวนมาก

ในบทความ ‘จากวิกฤตโรคระบาด สู่วิกฤตเศรษฐกิจ (2): ข้อเปรียบเทียบต่อวิกฤตต้มยำกุ้ง’ แบ็งค์พูดถึงกลไกการก่อตัวและช่องทางที่จะนำไปสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในห้วงสถานการณ์โควิด-19 ช่องทางแรกเกิดขึ้นจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งก็คือการลดลงของการบริโภคและการลงทุนในประเทศอย่างรวดเร็วจากมาตรการปิดประเทศและการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเข้าไปซ้ำเติมความเปราะบาง 4 ประการของเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งทำให้การปิดกิจการเพิ่มขึ้น แรงงานว่างงานสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนพุ่ง รายได้ภาคเกษตรลด และปัญหาที่เกิดขึ้นในช่องทางแรกนี้ก็อาจส่งผ่านไปสู่วิกฤตในช่องทางที่สองซึ่งเป็นภาคการเงิน โดยการหดตัวของภาคเศรษฐกิจแท้จริง นำไปสู่การพุ่งขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) กระทบกับการลงทุน

การถดถอยครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ชวนให้คนไทยย้อนนึกถึงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ที่สร้างความเสียหายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไทยอย่างใหญ่หลวง แต่วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ถูกมองว่าอาจย่ำแย่และหาทางออกยากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในตอนนั้นมาก

แบ็งค์ และสมชัย ชี้ให้เห็นคล้ายกันว่า วิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้มีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้างอย่างสำคัญ โดยวิกฤตต้มยำกุ้งเริ่มจากภาคการเงินเข้ามาสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงผ่านการล้มละลายของบริษัทต่างๆ จนเกิดการว่างงาน แต่วิกฤตรอบนี้สวนทางกัน คือเริ่มจากการลดลงอย่างฉับพลันของการบริโภค การผลิต และการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งครอบคลุมกว้างขวางกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งมาก และหากควบคุมไม่ดี ก็อาจส่งผ่านไปสู่ภาคการเงินได้ นอกจากนี้การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังอาจไม่เร็วนัก เพราะธุรกิจที่ปิดกิจการแล้วจะไม่สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้ไวนัก การว่างงานก็จะยังไม่ลดลงไปโดยง่าย และปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วในวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างการส่งออกก็ช่วยไม่ได้แล้ว เพราะประเทศเป้าหมายหลักของสินค้าไทยก็กำลังทรุดหนักกันหมด

แนววิเคราะห์ข้างต้นสอดคล้องกับบทความ ‘วิกฤต COVID-19 Vs วิกฤตต้มยำกุ้ง 97 : อะไรเหมือน อะไรต่าง’ ของปิติ ศรีแสงนาม ที่มองว่าวิกฤตครั้งนี้มาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง จึงส่งผลกระทบในวงกว้างและหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มจากภาคการเงิน ปิติมองเน้นไปยังกลุ่ม SME โดยในช่วงต้มยำกุ้งนั้น ธุรกิจรายใหญ่เจ๊ง แต่ SME เข้มแข็งและเป็นกลไกพยุงไม่ให้เศรษฐกิจล่มสลาย เพราะตอนนั้นวิกฤตเริ่มจากภาคการเงิน บริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าถึงระบบการเงินมากจึงเจ็บหนัก ต่างจาก SME ที่ยังไม่เข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือการเงินมากนัก จึงไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่ แต่วิกฤตครั้งนี้เกิดจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ทั้งปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทานที่ชะงัก พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และกฎระเบียบด้านสุขอนามัยต่างๆ ในช่วงการระบาดที่ทำให้ธุรกิจมีรายรับลดลงและต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ SME เองก็สภาพคล่องกำลังน้อย สายป่านสั้นอยู่แล้ว จึงมีโอกาสม้วนเสื่อง่ายกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่พร้อมรับมือวิกฤตนี้มากกว่าเพราะเรียนรู้จากต้มยำกุ้งแล้ว

นอกจากนี้ ปิติยังชี้ว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งยังมีภาคการเกษตรช่วยรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ชนชั้นกลางและล่างในเมืองที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและการบริการสามารถเดินทางกลับชนบทไปทำกินในภาคเกษตรได้ แต่วิกฤตครั้งนี้ต่างออกไป เพราะไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น คนหนุ่มสาวเข้าไปทำงานในเมือง ชนบทขาดแคลนแรงงาน แทบไม่มีคนทำไร่ทำนามากเหมือนแต่ก่อน ที่ไร่ที่นาถูกขาย ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตครั้งนี้ คนที่เดินทางจากเมืองกลับบ้านเกิดก็อาจไม่ได้มีงานทำเหมือนเดิม

นอกจากปัญหาในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว สมชัยชี้ให้เห็นด้วยว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่ภาคเกษตรไม่สามารถดูดซับความเสียหายจากวิกฤตได้ เพราะภาคเกษตรไทยประสบปัญหาภัยแล้งและราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำมาหลายปีก่อนที่จะเผชิญกับโรคระบาดด้วยซ้ำ โรคระบาดจึงเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตสำหรับเกษตรกรไทย

 

โควิด-19 เปิดแผลความเหลื่อมล้ำ
ซ้ำเติมความยากจน

 

รายงาน ‘Poverty and Shared Prosperity 2020: Reversals of Fortune’ ที่จัดทำโดยธนาคารโลกได้เปิดเผยข้อมูลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกกำลังจะมีประชากรที่ตกอยู่ภายใต้ความยากจนอย่างรุนแรง (Extreme Poverty) ในปี 2020 เพิ่มขึ้นอีกถึงราว 88 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนคนจน (Poverty Rate) ทั่วโลกในปี 2020 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 9.1 สูงขึ้นจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.4 การเพิ่มขึ้นครั้งนี้นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 1997-1998 นอกจากนี้ยังส่งผลให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง หลังจากที่ค่อยๆ ดีขึ้นมาหลายปี

ช่วงหนึ่งของรายงานเล่มนี้ยังระบุด้วยว่า “ประชากรจากทุกประเทศทั่วโลกและทุกระดับรายได้ล้วนได้รับผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่แสดงว่าประชากรยากจนและอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อย สินทรัพย์น้อย มีหน้าที่การงานที่ไม่มั่นคง และแรงงานทักษะต่ำ มักได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่นๆ”

การมาของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้บาดแผลที่ชื่อว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบร่างกายของแต่ละประเทศมานานแล้ว ถูกฉีกให้กว้างขึ้น แถมยังถูกเปิดเผยออกมานอกเสื้อผ้าให้เห็นกระจ่างขึ้นไปอีก

ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆ อย่างไทย ผลกระทบของโรคระบาดต่อความเหลื่อมล้ำยิ่งน่ากังวล รายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า การระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงมากกว่าวิกฤตในอดีต จำนวนคนยากจนมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่เสี่ยงจะตกไปเป็นครัวเรือนยากจนถึงประมาณ 1.14 ล้านครัวเรือนตลอดปี 2020 และกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนอยู่แล้วก็จะลำบากหนักยิ่งขึ้นไปอีก

“เราทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าโควิด-19 แต่บางคนอาจเท่าเทียมกว่าอีกคน” คือประโยคเปิดของบทความ ‘ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ: ราคาที่ต้องจ่ายของการป้องกันโรคระบาด’ โดยวรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ บทความได้อ้างอิงถึงงานวิจัยของ Jayant Menon ในหัวข้อ ‘Covid-19 and the Poor’ ซึ่งบอกว่า แม้ทุกคนจะติดโควิด-19 ได้เหมือนกันหมด แต่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคและโอกาสเสียชีวิตเมื่อเป็นโรค กลับเลวร้ายมากกว่าในกลุ่มคนจน เพราะมักอยู่อาศัยกันอย่างแออัด เข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง และมีภาวะทุพโภชนาการเป็นทุนเดิม นอกจากนี้นโยบายที่รัฐบาลใช้เพื่อคุมโรคก็มักส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนจนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย

วรรณพงษ์ชี้ไปที่ปัญหาของศักยภาพในการตรวจโรคที่มีจำกัดในบางประเทศ ซึ่งทำให้ตรวจคนได้จำนวนไม่มาก จนพบอัตราการติดเชื้อต่ำเกินความเป็นจริง และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ก็รู้ดีว่าข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง จึงเลือกที่จะใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นและยาวนานเพื่อเป็นการ “กันไว้ดีกว่าแก้” แต่การใช้มาตรการแบบนี้กลับสร้างต้นทุนมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง รายได้ประชาชนที่ต่ำลง รวมถึงความยากจนที่พุ่งสูงขึ้น โดยคนที่ได้รับผลกระทบมากสุดก็คือกลุ่มคนจน

วิมุต วานิชเจริญธรรม เขียนบทความ ‘2020 ปีแห่งวิบากกรรมของแรงงานไทย’ ชี้ให้เห็นว่า แรงงานแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ไม่เท่ากัน โดยมนุษย์เงินเดือนที่มีอาชีพการงานมั่นคง มีความพร้อมทั้งด้านความรู้และทรัพยากรที่จะปรับตัวเข้าสู่วิถีปกติใหม่ สามารถใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตโควิดได้อย่างไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก แม้ว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำให้บางกิจกรรมหรือบางธุรกิจต้องหยุดลงยาวนานเพียงใด รายได้ของคนกลุ่มนี้ก็แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ตรงกันข้ามกับแรงงานรายได้น้อยและขาดโอกาสในสังคมที่ประสบความลำบากขั้นรุนแรง พวกเขาไม่สามารถเสพสุขกับชีวิตการทำงานในวิถีใหม่อย่างการทำงานแบบ work from fome และยิ่งล็อกดาวน์นานเท่าไหร่ ความเดือดร้อนของคนกลุ่มนี้ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น

บทสรุปของวิมุต สอดคล้องกับ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, ศุภนิจ ปิยะพรมดี, พรพจ ปรปักษ์ขาม และนฎา วะสี ที่ได้ร่วมกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำช่วงโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานไทย และได้มีบทความสั้นๆ ในชื่อ ‘ความเหลื่อมล้ำหลายเสี่ยง เมื่อโควิดปิดเมือง: ผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย’ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อวัดผลกระทบต่อตลาดแรงงาน พบว่าแรงงานที่อยู่ในกลุ่มรายได้ระดับกลางค่อนไปด้านล่าง และแรงงานในระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญา เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ในรายละเอียด การศึกษายังชี้ด้วยว่า แรงงานในกลุ่มงานที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านและเว้นระยะห่างได้ยาก จะได้รับผลกระทบหนักสุด เช่น มัคคุเทศก์ พนักงานงานร้านอาหาร พนักงานทำความสะอาด สัตวแพทย์ และทันตแพทย์ และเมื่อมองลึกแยกลงไปตามคุณลักษณะของบุคคล ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ก็มักมีความพร้อมในการปรับสถานที่ทำงานน้อยกว่าคนที่จบสูงกว่านั้น เพราะงานที่ทำอาจไม่ได้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงอาจได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์มากกว่า

 

บาซูก้าการคลัง ความหวังชุบชีวิตเศรษฐกิจ

 

ในยามที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวโดนไวรัสเล่นงานจนนอนพะงาบกันหมด ความหวังสุดท้ายที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจเอาไว้ได้ในตอนนี้ก็คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศได้ตัดสินใจยิงบาซูก้าการคลังขนาดมหึมาที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ออกมาต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เช่น สหรัฐฯ ได้ทุ่มงบไปแล้วกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 90 ล้านล้านบาท คิดเป็นราวร้อยละ 14 ของ GDP และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 หลังจากเพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการออกกฎหมายจัดงบประมาณเยียวยาเพิ่มเติมอีกเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่ญี่ปุ่นก็ยอมกัดฟันทุ่มงบหนักเกินกว่าร้อยละ 40 ของ GDP มาพยุงเศรษฐกิจเช่นกัน

ด้วยขนาดของมาตรการที่รัฐบาลทั่วโลกใช้ นโยบายการคลังเพื่อกู้วิกฤตรอบนี้นี้จึงถูกนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘บาซูก้าการคลัง

ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นต้องจัดหาบาซูก้าการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน จนถึงตอนนี้ รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดออกมาแล้วหลายชุด รวมคิดเป็นราวร้อยละ 15 ของ GDP โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับในวงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท

มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่โดดเด่นคือการให้เงินอุดหนุนเพื่อประคองในยามวิกฤตอย่าง ‘เราไม่ทิ้งกัน’ และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมาให้เห็นกันแทบไม่ขาดสาย อย่าง ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ และ ’คนละครึ่ง’ และ ‘ช็อปดี มีคืน’ แม้ว่าอันที่จริง รัฐบาลไทยเคยออกนโยบายแจกเงินประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้วหลายนโยบายมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด-19 เช่น ชิมช้อปใช้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เมื่อเกิดวิกฤตที่ไม่คาดฝันเช่นนี้มาซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดหนักลงไปอีก มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาจึงหลากหลายและเข้มข้นขึ้นยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนออกมาตั้งคำถามว่า บาซูก้าการคลังที่รัฐบาลไทยยิงออกมานี้จะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจได้จริงและยั่งยืนหรือเปล่า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ได้ออกมาวิเคราะห์ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลกันไปหลายทิศทาง หลายคนได้เสนอแนะแนวทางที่จะออกแบบมาตรการให้ดีขึ้นด้วย

ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 บรรดานักเศรษฐศาสตร์ออกมาเสนอความคิดว่าการออกแบบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องยึดหลัก 3T ได้แก่ Targeted (ถูกเป้า), Timely (ถูกเวลา) และ Temporary (ใช้ชั่วคราว) ขณะที่สันติธารเสนอให้เติมเข้าไปอีก 2T คือ Titanic (ขนาดใหญ่พอ) และ Transparent (โปร่งใส) ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่เหมือนเป็นสงครามใหญ่ รวมกันเป็น 5T ซึ่งสามารถนำมาชี้วัดคุณภาพ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในตอนนี้ได้

 

Targeted

มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยช่วงโควิด-19 โดยส่วนมาก เจาะจงกลุ่มเป้าหมายของผู้รับความช่วยเหลือชัดเจน เช่น  โครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นการแจกเงินเดือนละ 5,000 บาทนาน 3 เดือน โดยกำหนดเกณฑ์ผู้มีสิทธิรับเงินไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์เรื่องอาชีพ และระดับรายได้ แต่การเยียวยารูปแบบนี้ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาว่ารัฐบาลควรเลือกที่จะแจกเงินให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงมากกว่าหรือไม่ เพราะทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม วิมุต วานิชเจริญธรรม เขียนในบทความ ‘จากต้มยำกุ้งถึง COVID-19 : รัฐบาลพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่หรือยัง’ ว่าตอนนี้ภาครัฐไม่ควรจะใช้วิธีหว่านเม็ดเงิน เพราะช่องทางที่เม็ดเงินจะหมุนวนให้เกิดการจับจ่ายเป็นทวีคูณในระบบเศรษฐกิจ ได้ถูกตัดตอนลงด้วยการสร้างระยะห่างทางสังคม และการปิดพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในเศรษฐกิจ ดังนั้นประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินจึงลดลงจากเดิมมาก รัฐควรเก็บกระสุนไว้เพื่อใช้กับมาตรการที่กำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ของมาตรการได้ชัดเจนกว่าคือ การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัว

ขณะที่ในบทความ ‘ตีโจทย์มาตรการแจกเงินรับมือ COVID-19: บทเรียนจากงานวิจัยเศรษฐศาสตร์’ อธิภัทร มุทิตาเจริญ ก็มองว่า เรายังไม่รู้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะนานขนาดไหนหรือมาเป็นระลอกๆ อีกเมื่อไหร่ ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยงการแจกเงินแบบเหวี่ยงแห และเก็บกระสุนการคลังไว้ใช้ในอนาคต อธิภัทรบอกว่ากุญแจสำคัญต่อประสิทธิผลของมาตรการเยียวยาก็คือการคัดกรองผู้ที่ควรจะมีสิทธิได้รับเงิน โดยที่รัฐจะต้องจัดสร้างเครือข่ายฐานข้อมูลที่ทำให้รัฐรู้ว่าใครเป็นผู้มีความเปราะบางทางการเงินจริง โดยดูจากทั้งข้อมูลรายได้และสินทรัพย์ ไม่ใช่เพียงรายได้อย่างเดียว เพราะไทยมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่ค่อนข้างใหญ่

อย่างไรก็ตาม การคัดกรองที่อธิภัทรบอกว่าเป็นกุญแจสำคัญ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของมาตรการเยียวยาของรัฐบาลไทย เราได้เห็นข่าวของความไม่ราบรื่นหลายอย่างที่เกิดขึ้นในกระบวนการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดเกณฑ์ที่ค่อนข้างสับสนคลุมเครือ และผลการคัดกรองที่ปรากฏว่าคนที่ไม่ควรผ่านเกณฑ์กลับได้รับสิทธิ แต่คนที่ควรผ่านเกณฑ์กลับไม่ได้รับสิทธิ ประเด็นนี้ได้กลายเป็นข่าวใหญ่โตในช่วงเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ซึ่งเราได้เห็นภาพของคนจำนวนมากที่เดินทางไปประท้วงถึงหน้ากระทรวงการคลัง

สฤณี อาชวานันทกุล เคยให้สัมภาษณ์ทางรายการ 101 One-on-One ว่าปัญหานี้มีส่วนมาจากท่าทีการสื่อสารของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เข้าใจประชาชนซึ่งต้องเผชิญหน้าความไม่แน่นอนจากทั้งวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งการข่มขู่ให้คนถอนชื่อจากการลงทะเบียนขอรับเงิน ว่าหากตรวจสอบแล้วไม่มีคุณสมบัติจะถูกลงโทษฐานให้ข้อมูลเท็จ ท่าทีข่มขู่ลักษณะนี้ รวมถึงการออกนโยบายช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ยาก และสร้างความสับสนว่าใครบ้างที่มีสิทธิเข้าถึงความช่วยเหลือ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนถูกกีดกันจากความช่วยเหลือของรัฐ นอกจากนี้การตั้งเกณฑ์อาชีพเป็นตัวคัดกรองยังไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เพราะคนไทยมักไม่ได้ทำงานแค่อาชีพเดียว อีกทั้งขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์ก็ยังเป็นอุปสรรคต่อคนจนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี สฤณีเสนอให้รัฐต้องออกแบบนโยบายบน ‘ฐานของความเห็นอกเห็นใจประชาชน’ มากกว่านี้

หลังจากที่ไทยผ่านพ้นการแพร่ระบาดและการล็อคดาวน์ในรอบแรกไปแล้ว สันติธารบอกว่า เราอาจจะเรียกไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในภาวะปกติใหม่ (New Normal) เสียทีเดียว เพราะสงครามกับโควิด-19 ยังไม่จบและมีทีท่าจะยืดเยื้อ แต่ควรเรียกว่าเป็น ‘ภาวะไม่ปกติใหม่’ (New Abnormal)’ มากกว่า

ในภาวะแบบนี้ สันติธารเสนอว่าเราต้องปรับยุทธศาสตร์ของการใช้มาตรการเศรษฐกิจต่างๆ โดยจะต้องให้น้ำหนักกับตัว T-Targeted ยิ่งกว่าเฟสก่อนหน้า เพราะตอนนี้กระสุนการคลังเราก็เริ่มลดน้อยลงไป และเห็นได้ชัดว่ามีคนบางกลุ่มที่เดือดร้อนกว่าคนกลุ่มอื่นอยู่ รวมทั้งยังต้องเริ่มคำนึงถึงผลข้างเคียงระยะยาวจากมาตรการเหล่านี้ด้วย เช่น การยืดมาตรการพักหนี้ที่อาจทำให้วินัยการเงินลดลง ดังนั้นเราจึงต้องปรับเปลี่ยนจาก ‘บาซูก้า’ สู่ ‘สมาร์ตบอมบ์’ ซึ่งก็คือระเบิดขนาดเล็กที่ใช้เฉพาะจุด เฉพาะเวลาอย่างแม่นยำ เพื่อประหยัดกระสุนและลดผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการ

นโยบายทั้งการเงินและการคลังจะต้องเปลี่ยนมาใช้เฉพาะจุดมากขึ้น อย่างในด้านนโยบายการเงิน อาจเปลี่ยนจากนโยบายลดดอกเบี้ยไปเป็นนโยบายที่เน้นเฉพาะกลุ่ม เช่น ผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือ SME และกลุ่มคนที่อาจเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคาร ส่วนมาตรการการคลังก็มุ่งไปที่กลุ่มที่เดือดร้อนมากขึ้น เช่น ภาคการท่องเที่ยว โดยอาจพิจารณาใช้เครื่องมือรูปแบบใหม่ๆ เช่น ตั้งกองทุนรัฐร่วมกับเอกชน ลงทุนในหุ้นของกิจการโรงแรมที่คุณภาพดีแต่โดนพิษโควิด-19 นอกจากนโยบายการเงิน-การคลัง สันติธารยังพูดถึงเครื่องมือทางนโยบายเศรษฐกิจอีกชิ้นคือนโยบายเปิดเมือง โดยการเปลี่ยนจากปิดหรือเปิดเมืองแบบเดียวกันทั่วประเทศ มาเป็นนโยบายเฉพาะพื้นที่ (Area-based policy) รวมไปถึงอาจทำ Travel Bubble แบบเฉพาะพื้นที่ เพราะบางจังหวัดต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมาก

 

Timely

ในช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังเจอภาวะวิกฤตอย่างนี้ ยิ่งได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีที่สุด ความรวดเร็วจึงถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของมาตรการเยียวยา

อธิภัทรบอกไว้ว่า “ความรวดเร็วของการกระตุ้นการบริโภคขึ้นอยู่กับการสื่อสารและความชัดเจน” เพราะคนที่รู้ตัวว่าจะได้รับเงินอุดหนุนมักจะเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่รัฐประกาศนโยบาย ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารมาตรการนี้ ระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่าใครบ้างที่จะเป็นผู้ได้รับเงินอุดหนุน วิธีการตรวจสอบสิทธิ์เป็นอย่างไร ปริมาณเงินที่จะได้รับ รวมไปถึงช่วงเวลาที่แน่นอนของการได้รับเงิน และยังต้องคำนึงถึงกลุ่มคนอย่างผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่ทันเทคโนโลยี และผู้ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ที่จะเจอปัญหาในการลงทะเบียนรับสิทธิและการยืนยันตน ภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับคนกลุ่มเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังที่อธิภัทรได้เขียนไว้นี้ได้เกิดขึ้นจริงทั้งหมด ส่งผลให้ผู้เดือดร้อนหลายคนได้รับความช่วยเหลือช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ปัญหาทางเทคนิค อย่างเช่น เว็บไซต์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตล่ม ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในหลายโครงการ ทำให้หลายคนเข้าถึงสิทธิได้ล่าช้าหรือพลาดสิทธิไปโดยปริยาย ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นข้อบกพร่องใหญ่ที่รัฐจะต้องนำไปขบคิด

 

Temporary

ภาครัฐต้องตระหนักว่ามาตรการเยียวยานี้ควรใช้เพียงชั่วคราวในช่วงวิกฤตเท่านั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาระยะยาว และไม่ควรใช้บ่อยเกินไป ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะเกิดภาระทางการคลังอย่างหนี้สาธารณะก้อนโตขึ้นมา

ประเทศไทยหนีไม่พ้นที่จะต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ ล่าสุดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยได้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 48 จากที่แกว่งอยู่ระดับร้อยละ 40 ต้นๆ ต่อเนื่องกันมาหลายปี ซึ่งก็ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งเริ่มหวาดเกรงถึงภาระหนี้ที่กำลังจะท่วมหัวจนอาจนำไปสู่หายนะ

วิมุต วานิชเจริญธรรม นำเสนอบทความเรื่อง ‘ความยั่งยืนของหนี้สาธารณะและทางเลือกของรัฐบาล’ โดยบอกว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อาจขึ้นไปถึงร้อยละ 50 ได้นี้ ถึงแม้จะเป็นระดับที่ยังสามารถรับได้ ต่ำกว่าอีกหลายประเทศในโลก และยังไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 แต่ยังมีข้อกังวลสำหรับรัฐบาลไทยอยู่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความสามารถในการผลิตของประเทศที่ชะลอตัวลงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลถึงศักยภาพการเติบโตของ GDP ที่ลดลง กระเทือนถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่จะลดน้อยลงไปด้วย และ 2) การสร้างหนี้ในตอนนี้มากก็หมายถึงพื้นที่ในการใช้มาตรการการคลังเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนาคตจะลดน้อยลง รัฐจำเป็นต้องตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อลดภาระหนี้และรักษากระสุนการคลังไว้ใช้ในวันข้างหน้า

 

Titanic

ด้วยความที่วิกฤตครั้งนี้สร้างความเสียหายในวงกว้างและยังไม่รู้ด้วยว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเตรียมกระสุนการคลังไว้มากกว่าที่คิด เหมือนอย่างที่สันติธารพูดไว้ในบทความ ‘“บาซูก้า” การคลัง – สิงคโปร์ยิงแล้ว ไทยเอายังไง?’ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมว่าต่อให้รัฐบาลไทยจะทำทั้งหมด ทั้งโยกงบและออก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่ม ซึ่งจะคิดเป็น 4-4.5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ถึงแม้จะมาก แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ทุ่มกันเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

ตั้งแต่เกิดวิกฤต รัฐบาลไทยได้ทุ่มงบไปแล้วเกินกว่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นราวร้อยละ 15 ของ GDP ในตอนนี้อาจจะยังให้คำตอบไม่ได้ชัดเจนว่ากระสุนขนาดนี้ใหญ่เพียงพอหรือไม่ และแน่นอนว่ารัฐบาลยังต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการทุ่มเงินขนาดใหญ่ขึ้นกับหนี้สาธารณะที่จะก่อตัวเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งต้องคำนึงถึงคุณภาพของบาซูก้าเหมือนกัน

 

Transparent

เม็ดเงินมหาศาลที่รัฐบาลไทยอนุมัติมาประคับประคองเศรษฐกิจ ไม่พ้นทำให้ประชาชนระแวงว่าเงินหลักล้านล้านบาทนี้จะไม่ได้ไหลมาถึงมือประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อาจไปรั่วไหลอยู่ที่บางคนหรือบางกลุ่มโดยที่เรามองไม่เห็น ประชาชนบางส่วนได้ออกมาตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการออกมาตรการของรัฐอยู่หลายครั้ง เช่น การที่รัฐบาลอนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ โดยที่ยังแทบไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่าจะกู้ไปทำอะไรบ้าง เสี่ยงที่จะเป็นการตีเช็คเปล่าไปเอื้อพวกพ้องและนายทุน ขณะเดียวกันก็เกิดการตั้งข้อสงสัยว่าระบบกลไกของรัฐที่ติดภาพลบมาตลอดจะมีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำงบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงและถึงมือประชาชนหรือไม่

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เขียนในบทความ ‘อย่าอัดเงินเพื่ออดีต ต้องอัดฉีดอนาคต : สามจุดอันตรายและสามทางออกเศรษฐกิจไทยหลังโควิด’ ว่าหนึ่งในอันตรายที่เราต้องระวังคือลักษณะของรัฐรวมศูนย์แตกกระจายในกลไกราชการที่เห็นชัดขึ้นในการจัดการโควิด-19 อย่างการยึดกรมกองของตนเป็นที่ตั้ง โบ้ยความรับผิด ยึดติดกับเอกสาร และบกพร่องในการประสานงานระหว่างองค์กร จนทำให้การจัดการต่างๆ และการช่วยเหลือประชาชนขาดประสิทธิภาพ รัฐราชการไทยอาจเปลี่ยนบาซูก้าการคลังให้กลายเป็น ‘กามิกาเซ่’ โดยนำงบประมาณมหาศาลมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

อันตรายต่อมาคือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนและพื้นที่ เพราะโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกับทุกคนทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม รัฐควรจะถือโอกาสกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนแต่ละท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชนแต่ละกลุ่มมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจว่าจะจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแต่ละกลุ่มอย่างไร แทนที่จะกำหนดจากส่วนกลาง หรือเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนบาซูก้าเป็นบั้งไฟ ที่แต่ละท้องถิ่นมีดีไซน์เฉพาะตัว

และอีกหนึ่งอันตรายก็คือ “บาซูก้าอาจกลายเป็นบาซูก้าประชารัฐ” โดยที่รัฐไปจับมือกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทำให้นายทุนเข้ามามีบทบาทกำหนดทิศทางมาตรการเศรษฐกิจ ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการจัดสรรงบประมาณมหาศาลให้แต่ละธุรกิจจะเป็นไปอย่างโปร่งใสเท่าเทียมได้เพียงใด และเป็นไปได้สูงว่างบประมาณอาจติดอยู่ในบัญชีที่ไม่มีใครมองเห็น

 

เศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร
?

‘The Great Reset’ คือข้อความหนึ่งจากการประชุมผู้นำเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งต้องการจะสื่อสารให้คนทั่วโลกรู้ว่ามหาวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนี้ทำให้โลกจะต้องมาตั้งต้นกันใหม่ครั้งยิ่งใหญ่

ถึงโควิด-19 จะเป็นไวรัสตัวเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็น แต่กลับทรงพลานุภาพ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตคนทั่วโลกโดยสิ้นเชิง คำว่า New Normal ได้กลายเป็นคำติดปากติดหูของผู้คน และถูกใช้เป็นคำต่อท้ายให้กับแทบทุกกิจกรรมของมนุษย์ในตอนนี้ อานุภาพของโควิด-19 ไม่ได้เพียงทำให้ชีวิตเราต้องเข้าสู่ภาวะปกติใหม่เฉพาะในช่วงที่ไวรัสตัวนี้ระบาดเท่านั้น เพราะต่อให้การระบาดจะสิ้นสุดลง ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เชื่อว่าชีวิตพวกเราจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้อีก

ตลอดปี 2020 ผู้คนหลากหลายวงการจากทั่วทุกมุมโลกต่างพยายามหาคำตอบว่าหลังการแพร่ระบาด สิ้นสุดลง โลกจะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ในส่วนของ 101 ได้นำเสนอผลงานในชุด ‘Covid-19 โรค เปลี่ยน โลก’ ที่พูดคุยกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ ถึงหน้าตาของโลกที่จะพลิกโฉมไปในหลากหลายประเด็น รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ พร้อมกับขบคิดว่า แล้วเราจะอยู่อย่างไรในโลกหลังโควิด-19 ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบเศรษฐกิจในโลกหลังโควิด-19 มีอยู่ 4 ประเด็นใหญ่ที่เราต้องติดตาม ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตและระเบียบการค้าโลก การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล โฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ และโฉมหน้าใหม่ของความยั่งยืน

 

การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตและระเบียบการค้าโลก

ก่อนเกิดโควิด-19 โลกก็ได้เจอกับความปั่นป่วนของรูปแบบห่วงโซ่การผลิตและระเบียบการค้าโลกมาอยู่แล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ที่โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีนโยบายดึงฐานการผลิตกลับสู่ประเทศ และยังประกาศสงครามการค้าโดยเฉพาะกับจีน ส่งผลกระเทือนให้โลกเดินไปสู่ช่วงเวลาแห่งการกีดกันทางการค้าและชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

การมาของโควิด-19 ได้พัดโหมกระแสความปั่นป่วนนี้ขึ้นไปอีก จากเหตุการณ์ที่ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศต้องชะงักงันเพราะการแพร่ระบาด โดยเฉพาะการระบาดที่จีนซึ่งมีห่วงโซ่ที่ยึดโยงหลายประเทศทั่วโลก เมื่อประกอบกับกระแสชาตินิยมเศรษฐกิจที่เกิดก่อนหน้า ห่วงโซ่การผลิตโลกจึงมีแนวโน้มสูงที่จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ และแต่ละประเทศจะพยายามลดการพึ่งพาห่วงโซ่นี้ลง เป็นสัญญาณของจุดสิ้นสุดยุคโลกาภิวัตน์แบบที่เราเคยรู้จัก

ใน ‘โลกที่ไม่เหมือนเดิมหลัง COVID-19’ ปิติ ศรีแสงนามมองว่าโลกมีแนวโน้มแตกห่วงโซ่อุปทานออกเป็น 2 ขั้วคือขั้วของเอเชียกับขั้วของทวีปอเมริกา ทำให้เราจะต้องพิจารณาการแบ่งแยกการผลิต ที่แต่เดิมเน้นเฉพาะแนวดิ่ง ที่เน้นการกระจายขั้นตอนการผลิตในแต่ละระดับไปในหลายๆ ประเทศหรือภูมิภาค เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจากแต่ละพื้นที่ ไปให้ความสนใจในการตั้งโรงงานที่เป็นขั้นตอนการผลิตเดียวกันในหลายๆ พื้นที่ลักษณะแนวขนานมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถดึงเอาผลผลิตขั้นต้นและขั้นกลางจากโรงงานที่เหมือนกันในพื้นที่อื่นๆ มาใช้ทำการผลิตไปได้ หากขั้นตอนการผลิตขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งต้องถูกปิดตัวลงอีกในอนาคต อย่างไทยที่ยังคงต้องอยู่ในห่วงโซ่การผลิตฝั่งเอเชีย ก็อาจกระจายความเสี่ยงไปที่เอเชียใต้ แทนที่จะพึ่งพาจีนเป็นหลัก

บทความอีกชิ้นของปิติในชื่อ ‘ระเบียบการค้าโลกหลัง COVID-19’ มองว่าหลังการแพร่ระบาด โลกจะเดินหน้าเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการผลิตจากการกระจายตัวการผลิตยุคที่ 2 (The 2nd  Unbundling) ที่กระจายตัวการผลิตแต่ละขั้นตอนไปตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ สู่ยุคที่ 3 (The 3rd Unbundling) ที่งานหลายอย่างสามารถกระจายการผลิตข้ามประเทศได้โดยที่ไม่ต้องการที่ตั้งและภาคการผลิตในทางกายภาพ เช่น งานผลิตภาพยนตร์ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สามารถแยกงานเป็นส่วนๆ แล้วกระจายให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญที่อยู่ในแต่ละมุมโลกสามารถทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนแต่ละประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันไม่ได้ ได้เร่งการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการผลิตนี้ให้เกิดขึ้น

บทความชิ้นดังกล่าวยังต่อเนื่องไปถึงบทความอีกชิ้นของปิติ ‘รู้เท่าทันระเบียบโลกใหม่ ในยุคหลังโควิด’ โดยพูดถึงระเบียบโลกด้านการค้าที่เปลี่ยนไปมาก จากที่เคยอยู่ภายใต้กฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) มาเป็นการสร้างกลุ่มการค้าในระดับภูมิภาค (Regional Trade Agreements) และข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral Trade Agreements) นอกจากนี้กรอบเจรจาการค้ารูปแบบใหม่ๆ ยังเน้นเรื่องของการเพิ่มความโปร่งใส ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และโดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทยจะต้องรู้เท่าทันและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกฎระเบียบและมาตรฐานใหม่ๆ ในเวทีโลกเหล่านี้ มิเช่นนั้นไทยอาจถูกตัดทิ้งออกจากห่วงโซ่ระดับโลกได้

 

การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

โควิด-19 ได้แสดงพลานุภาพตัดขาดปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพระหว่างผู้คน จนบีบบังคับให้พวกเราต้องเข้าสู่โลกออนไลน์กันมากขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก แม้ว่าอันที่จริงเทคโนโลยีดิจิทัลค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแทรกซึมวิถีชีวิตพวกเรามาได้พักใหญ่แล้ว แต่พอเกิดโควิด-19 ขึ้น การเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลก็ถูกติดเทอร์โบเร่งเครื่องแบบสุดแรง บทความในนิตยสาร The Economist ชี้ว่า โควิด-19 ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเร็วขึ้นโดยเฉลี่ยราว 3 ปี และในบางภาคเศรษฐกิจอาจเร็วขึ้นถึง 10 ปีเลยทีเดียว

ในช่วงเวลาของการล็อคดาวน์ หลายคนได้สัมผัสประสบการณ์การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการทำงาน การเรียน ช้อปปิ้ง ทำธุรกรรมการเงิน ดูภาพยนตร์ ออกกำลังกาย หรือกระทั่งรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เป็นครั้งแรก บางคนที่เคยใช้บ่อยๆ อยู่แล้วก็ได้ใช้บ่อยขึ้นอีกในช่วงเวลานี้ ขณะที่ภาคธุรกิจก็หันมาใช้เครื่องมือออนไลน์เข้าถึงผู้บริโภคกันมากขึ้นเช่นกัน แต่บางคนก็เกิดคำถามว่า ในอนาคตที่การแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลง กระแสดิจิทัลจะหมดไป แล้วคนจะหันกลับไปออฟไลน์เหมือนเดิมกันหรือไม่

ในบทความ ‘ดิจิทัลเอย เจ้ามาแรงชั่วคราวหรืออยู่ยาวถาวร? อ่านอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลหลังโควิด-19’ สันติธารชี้ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเส้นตรง ทว่าแต่ละแพลตฟอร์มต่างมีแนวโน้มเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน โดยแพลตฟอร์มที่ฮิตมากอย่างในกลุ่มโซเชียลมีเดีย ซื้อของออนไลน์ ดูหนัง-ซีรี่ส์ออนไลน์ มีแนวโน้มที่จะมีผู้คนใช้ต่อเพราะเริ่มมีความเคยชินและเห็นถึงความสะดวกสบาย ขณะที่แพลตฟอร์มที่ใช้ในการทำงาน อย่างแอพลิเคชันประชุมออนไลน์ อาจจะยังมีคนที่ต้องการใช้ต่อไม่มากเท่า เพราะการทำงานออนไลน์ยังมีความไม่สะดวกหลายอย่าง อนาคตโลกการทำงานจึงน่าจะเป็นในแบบไฮบริด ส่วนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลระดับองค์กรมีแนวโน้มมาแรงแม้จะสิ้นสุดการแพร่ระบาดแล้ว เพราะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ และอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยรวมแล้ว กระแสการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะยังอยู่ไปอีกนานแม้โควิดจะหมดไป

ถึงแม้การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะนำมาซึ่งความสะดวกในการทำกิจกรรมอะไรหลายอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่ก็มีเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อย เพราะอาจมีคนหรือธุรกิจจำนวนหนึ่งที่จะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้จนถูกทิ้งไว้ข้างหลังในที่สุด สันติธารชี้ให้เห็นถึง ‘5 กำแพงที่ต้องทลายเพื่ออนาคตดิจิทัลของไทย’ ได้แก่การเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต กฎหมายและระเบียบกติกาที่ไม่เอื้อ การขาดทักษะดิจิทัล การขาดทัศนคติผู้ประกอบการ และการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องแก้กันแบบเร่งด่วน

ขณะที่ในบทความ ‘โลกดิจิทัล โลกนอกระบบ และโลกร้อน: สัญญาทางเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19’ ตฤณ ไอยะรา ก็พูดถึงความน่ากังวลเกี่ยวกับการที่คนบางกลุ่มอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะเข้าถึงดิจิทัลไม่ได้เหมือนกัน ตามด้วยอีกความน่ากังวลหนึ่ง คือการเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศจะทำให้พื้นที่ส่วนตัวของผู้คนลดลง โดยเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามายุ่งย่ามมากขึ้น และยังหมายรวมไปถึงการทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการพักผ่อนพร่าเลือนขึ้น เพราะเมื่อเรามีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารอยู่กับตัว ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือในเวลาไหนก็ตามแต่ เราจะปลีกออกจากโลกการทำงานได้ยากกว่าเดิม

 

โฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำที่ถูกฉายชัดและถ่างกว้างอาจไม่ได้เป็นปัญหาเพียงแค่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่หลังวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว เรายังอาจได้เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมที่หนักข้อขึ้น และมีรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก

ตฤณแสดงความกังวลถึงกลุ่มคนที่อยู่ในโลกนอกระบบ ซึ่งก็คือแรงงานที่รับจ้างเป็นรายวันหรือรายครั้ง การเกิดโควิด-19 ทำให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ขาดหลักประกัน ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือความช่วยเหลือบางอย่างของรัฐได้เหมือนคนในระบบ ทั้งที่กลุ่มคนที่อยู่นอกระบบนี้ก็มีจำนวนสูงมาก ตฤณเสนอให้มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการออกแบบระบบสวัสดิการและโครงการช่วยเหลือที่ครอบคลุมต่อแรงงานนอกระบบ และมีความยืดหยุ่นพอในการตอบสนองต่อความจำเป็นที่หลากหลายของแรงงานนอกระบบที่แตกต่างกันไปเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ยังต้องสร้างสถาบันที่เกื้อหนุนให้แรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่แตกต่างกันได้ช่วยเหลือระหว่างกลุ่มง่ายขึ้น เพราะความแตกต่างกันทางทักษะและทรัพยากรของแรงงานนอกระบบที่มีหลายกลุ่มสามารถพยุงให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้

ความเหลื่อมล้ำที่หนักข้อขึ้นจะไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนเท่านั้น แต่รวมถึงระหว่างธุรกิจด้วย สฤณีชี้ไปถึงสาเหตุที่ว่า SME ทยอยล้มหายไปมากช่วงโควิด-19 จนอาจนำไปสู่การควบรวมโดยทุนใหญ่ จนกระทั่งเกิดการผูกขาดในที่สุด สฤณีเสนอให้รัฐบาลใส่ใจกับการออกนโยบายเยียวยา โดยมุ่งเป้าไปที่ SME ให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้เดือดร้อนจริง แนวโน้มที่จะเกิดการผูกขาดก็อาจน้อยลง

 

โฉมหน้าใหม่ของความยั่งยืน

สฤณีให้สัมภาษณ์ไว้ว่า โควิด-19 ช่วยให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างแนบแน่นของประเด็นความยั่งยืนต่างๆ ในโลก อย่างการระบาดของไวรัส ส่วนหนึ่งก็เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่ปั่นป่วน ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ส่งผลให้สัตว์ป่ามีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้มนุษย์มากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดชนิดใหม่ขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ทุกคนมองเห็นความเชื่อมโยงของประเด็นความยั่งยืนกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น เพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเราทุกคนได้ชัดและรวดเร็วมาก ต่างกับปัญหาอื่นๆ อย่างเช่น ภาวะโลกร้อนที่เรามองเห็นผลกระทบได้ยากกว่า สฤณีมองว่าในอนาคต ภาคธุรกิจจะต้องคำนึงถึงต้นทุนจากผลกระทบภายนอกแง่ลบรวมเข้าไปในต้นทุนของธุรกิจทั้งหมด

ตฤณให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน โดยมองว่าในอนาคต วาระการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องผนวกรวมวาระของการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เช่น การเสนอแผนการพัฒนาใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Green New Deal) ที่จัดวางให้รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันนโยบายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรือการส่งเสริมกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ เสนอว่า “หากจะมี ‘New Normal’ เราต้องเป็น ‘Green New Normal’” โจทย์ท้าทายของเราคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนเมื่อก่อน วันที่เศรษฐกิจกำลังกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่และถูกกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวมากมาย นี่คือโอกาสใหญ่ที่เราจะเพิ่มมิติของการพัฒนาแบบยั่งยืนและการคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเข้าไป และมากไปกว่านั้นคือการมองถึงโอกาสที่สิ่งแวดล้อมจะมาช่วยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นตัวถ่วง

 

ขึ้นสู่ปี 2021 เศรษฐกิจก็ยังไม่หายไข้

 

บรรยากาศการเฉลิมฉลองในคืนนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ที่ผ่านมาเงียบเหงาลงไปจากปีก่อนๆ ถนัดตา แลนด์มาร์กเคาท์ดาวน์หลายจุดทั่วโลกเหลือไว้เพียงการแสดงแสงสีดอกไม้ไฟเท่านั้น โดยไม่เปิดให้มวลมหาชนเข้าไปร่วมนับถอยหลัง เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อขนาดใหญ่ นี่เป็นภาพที่บ่งบอกว่าแม้ปี 2020 จะผ่านพ้นไป แต่โควิด-19 ก็ยังคงไม่หายไปไหน และเศรษฐกิจโลกก็ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากพิษไข้ร้ายแรงนี้อยู่เหมือนเดิม

IMF คาดการณ์การเติบโตของจีดีพีโลกในปี 2021 ว่ามีสัญญาณของการฟื้นตัวบางส่วน และจะดีดกลับมาโตอยู่ในแดนบวกที่ร้อยละ 5.2 ขณะที่ OECD คาดว่าจะโตที่ร้อยละ 4.2 เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาการการแพทย์ การพัฒนาประสิทธิภาพของมาตรการติดตามตัวและกักตัว รวมไปถึงแนวโน้มที่มาตรการจำกัดการเดินทางของผู้คนจะเริ่มทยอยถูกผ่อนคลายและยกเลิกไป นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีดตัวกลับมาได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตามตราบใดที่โควิด-19 ยังไม่หมดไป เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง หลายประเทศยังคงไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ส่วนบางประเทศก็เจอการระบาดระลอกใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นระยะ หลายประเทศจึงอาจจะต้องอยู่กับภาวะล็อกดาวน์แบบเดี๋ยวหนักเดี๋ยวคลายไปอีกพักใหญ่ ตัวเลขการเติบโตที่ถูกคาดว่าเป็นบวก ก็อาจไม่แน่นอนเสมอไป

สำหรับประเทศไทย กระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีปีหน้าจะดีดกลับมาโตที่ร้อยละ 4.5 แต่ตัวเลขคาดการณ์นี้มีขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมซึ่งไทยปลอดการระบาดมาติดต่อกันหลายเดือน ล่าสุดเศรษฐกิจไทยก็หายใจไม่ทั่วท้องอีกครั้ง เพราะได้เข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งมีทีท่ารุนแรงไม่แพ้รอบที่แล้ว การปิดเมือง ปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง จนต้องมาจับตาดูกันว่าวิกฤตรอบนี้จะลากยาวถึงเมื่อไหร่ และผลกระทบทางเศรษฐกิจจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน

ในบทความ ‘‘อาฟเตอร์ช็อก’ – สอบใหญ่จริงของเศรษฐกิจไทย’ สันติธารบอกให้เราจับตาอาฟเตอร์ช็อก 2 ลูกที่อาจเกิดขึ้นหลังพ้นการระบาดรอบแรกไป ช็อกแรกคือการระบาดระลอกใหม่ซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้น แม้จะไม่ได้เกิดจากการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแบบไม่กักตัวอย่างที่สันติธารบอก และอีกช็อกหนึ่งที่สำคัญมากก็คือช็อกในภาคการเงิน จากปัญหาหนี้รายย่อยพุ่งสูง จนอาจนำผู้คนและธุรกิจจำนวนมากไปสู่การล้มละลาย เดือดร้อนถึงเจ้าหนี้ไปด้วย ก่อให้เกิด ‘แผลเป็นทางเศรษฐกิจ’ ที่ทำให้เราฟื้นตัวได้ช้า นี่ก็เป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่าจะเกิดขึ้นในปี 2021 นี้หรือไม่

ความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้จุดประกายความหวังให้กับมวลมนุษยชาติว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้ วัคซีนได้เริ่มถูกจำหน่ายไปแล้วในบางประเทศ และเริ่มถูกฉีดให้กับคนกลุ่มเสี่ยงบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามกว่าที่วัคซีนจะถูกแจกจ่ายไปทั่วถึงทุกคนทุกประเทศ ก็อาจต้องใช้เวลาอีกนาน อาจจะเลยสิ้นปี 2021 ไปด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นเราคงต้องทำใจว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องทนสู้พิษไข้โควิด-19 กันไปอีกปีหนึ่ง และต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมในการเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save