fbpx

เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2019 : ปีแห่งความยากลำบาก

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

2019 : ปีแห่งความยากลำบาก

 

ในบทความย้อนมอง ‘เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2018’ เมื่อปลายปีก่อน 101 สรุปสถานการณ์รวบยอดว่า “เราอาจผ่านจุดที่ดีที่สุดมาแล้ว” ในห้วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจของหลายประเทศชะลอตัวพร้อมกัน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘syncronized slowdown’ จนสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม และยังถูกซ้ำเติมด้วยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แล้ว 2019 จะให้ประเมินอย่างไร หากไม่ใช่ ‘ปีแห่งความยากลำบาก’

กล่าวอย่างรวบยอด ตลอดปี 2019 ไม่มีอะไรที่ดีขึ้นกว่า 2018 เลย แถมยังแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2019 เติบโตเพียงแค่ 3% เท่านั้น ต่ำกว่าปี 2018 ที่เติบโตเฉลี่ย 3.7% นับว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี หรือตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008

ในบทสรุปมองย้อนเศรษฐกิจโลกปี 2019 IMF ล้วนแต่เลือกชุดคำที่สะท้อนถึงสถานการณ์ย่ำแย่ทั้งสิ้น อาทิ Weaker and Weaker, Low and Lower, Tight Wallets หรือ At a Standstill เป็นต้น โดยสถานการณ์เด่นที่ IMF หยิบยกมาไฮไลท์ ได้แก่ สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ขยายตัวลุกลามจนทำให้การค้าและการลงทุนโลกหดตัว ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน วิกฤตการณ์การเงินในอาร์เจนตินา รวมไปถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา เยเมน และลิเบีย ส่วนยุโรปและสหราชอาณาจักร แม้รายงานฉบับย่อชิ้นนี้ IMF จะไม่เอ่ยถึง แต่ก็ไม่เกินจินตนาการนัก ถ้าจะบอกว่าความไม่แน่นอนและความวุ่นวายทางการเมืองจากกรณี ‘Brexit’ ย่อมไม่เป็นคุณใดๆ กับเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economies) อย่างอินเดีย รัสเซีย บราซิล และเม็กซิโก ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ก็ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่คิด

สำหรับประเทศไทย ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2017 ถึงครึ่งปีแรกของ 2018 หนึ่งในปริศนาทางเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากสงสัยคือ ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ทำไมคนทั่วไปไม่ค่อยรู้สึก? แต่ถ้านับจากกลางปี 2018 เป็นต้นมา ความรู้สึกของผู้คนกับตัวเลขทางเศรษฐกิจน่าจะตรงกันมากขึ้น จนถึงตอนนี้ น้อยคนนักที่จะกล้าพูดว่า “เศรษฐกิจไทยยังดีอยู่”

อันที่จริงตั้งแต่ต้นปี 2019 นักวิเคราะห์หลายสถาบันได้ทำนายไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 3 % ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ทว่าเศรษฐกิจจริงของไทยนั้นกลับแย่เกินกว่าการคาดการณ์เสียอีก ตลอดทั้งปีสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนต่างออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหลายครั้ง ล่าสุดทุกสถาบันเห็นตรงกันว่าในปี 2019 เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงแค่ 2.4-2.6 % เท่านั้น

อาการป่วยไข้ของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยสบาย ในบทความเรื่อง 1 ปีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ร้าวลึกลงรากหญ้าไทย ปิติ ศรีแสงนาม วิเคราะห์ว่า เมื่อการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็เผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตาม โดยปรากฏการณ์นี้เริ่มเห็นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2018 ที่การส่งออกติดลบ จนทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้เพียงร้อยละ 4 ในปี 2018 (จากที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 5 ในช่วงต้นปี) แม้ในช่วงที่บทความชิ้นนี้เผยแพร่ ข้อมูลการส่งออกของไทยยังอัพเดตถึงแค่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 เท่านั้น แต่บทวิเคราะห์ของปิติก็สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกตลอดปีที่มีการคาดการณ์ว่าน่าจะติดลบ 2.5-3%

สำหรับปิติแล้ว ข้อน่ากังวลเมื่อการส่งออกติดลบและเศรษฐกิจเติบโตช้าคือ ผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานรากหญ้า เพราะหากต้องถูกปลดจากงานโอกาสในการหางานใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและในตลาดโลกชะลอตัวคงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ต้องพูดถึงว่า คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังเข้ามามีบทบาทในการผลิตมากขึ้น หากสงครามการค้ายืดเยื้อยาวนานจนเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับโครงสร้างการผลิตขนานใหญ่เพื่อลดต้นทุน โอกาสในการหางานของแรงงานรากหญ้าก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก

ภายใต้สถานการณ์ที่โลกไม่เป็นใจ สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยคือ ทำทุกวิถีทางเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้พ้นจากช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเสียก่อน และหวังว่า หากสงครามการค้าจบลงและเศรษฐกิจโลกดีขึ้นเมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้ ไม่ว่าจะเป็น ‘ชิม ช็อป ใช้’ หรือ ‘บ้านดีมีดาวน์’ ก็มีเบื้องหลังวิธีคิดเช่นนี้

ว่ากันตามตำรา หากอาการป่วยของเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องระยะสั้น การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปแต่อย่างใด ประเด็นถกเถียงควรไปอยู่ที่ว่า นโยบายที่ออกมามีประสิทธิภาพและถูกออกแบบมาดีแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหามีอยู่ว่า โลกอาจจะไม่ได้ป่วยระยะสั้น หรือจริงๆ แล้ว ไม่ได้ป่วยเลยด้วยซ้ำ

 

เศรษฐกิจโลก 2019 : โฉมหน้าของโลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนไป

ในบทสัมภาษณ์เรื่อง “เราอยู่ในโลกที่เรียกร้องการคิดใหม่ทั้งหมด” Justin Wood หัวหน้าฝ่ายวาระภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคณะกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก (Head of Regional Agenda – Asia Pacific, World Economic Forum) ชี้ให้เห็นว่า มี 2 เทรนด์ใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด (critical) ในการกำหนดว่าโลกที่เราอยู่เป็นแบบไหน

เทรนด์แรกคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีในทุกๆ ด้านก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและหลอมรวมเข้าด้วยกัน ภายใต้เทรนด์นี้ เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง จนทำให้ทุกวันนี้แทบไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบอบการปกครอง ระบบอภิบาล (governance) ระบบธุรกิจ ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม หรือกระทั่งวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล

เทรนด์ใหญ่ที่สองคือ ระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ซับซ้อน แต่ไม่เป็นมิตรกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อสถาบันและกรอบคิดเกี่ยวกับระเบียบโลก อาทิ สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก กำลังเผชิญหน้าความท้าทายอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเห็นว่า ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมและกลไกต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโลกมาตลอด 70 กว่าปี ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดังเดิมแล้ว ภายใต้โลกแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือความไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้

เมื่อสองเทรนด์นี้ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ประหลาดและย้อนแย้ง ในด้านหนึ่ง เทคโนโลยีทำให้คนเชื่อมต่อกันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การเชื่อมต่อที่เข้มข้นจะทำให้ข้อมูลข่าวสาร ความคิด และผู้คน เกิดการแลกเปลี่ยนไหลเวียนได้ เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘digital globalisation’ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดเศรษฐกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ระเบียบโลกแบบอเสรีนิยมกลับทำให้การค้า การลงทุน และความร่วมมือระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น

ในบทสัมภาษณ์เรื่อง “สำรวจระเบียบเศรษฐกิจใหม่ในโลกที่ไม่คล้ายเดิม” Michael Heise หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอลิอันซ์ เอสอี (Chief Economist, Allianz SE) เรียกโลกแบบนี้ว่าเป็น ยุคหลังเสรีนิยม (post-liberalism) ซึ่งหมายถึง โลกที่การค้าเสรีจะไม่ใช่มิติหลักเพียงมิติเดียวของระเบียบเศรษฐกิจโลก แต่มิติอื่นๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (digital transformation) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติจะพบว่า โลกกำลังเดินเข้าสู่ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ รายงานของสมาคมโอเปอเรเตอร์และผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่าย (GSMA) ระบุว่า ในปี 2018 มีคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัทพ์มือถือกว่า 3,540 ล้านคน หรือคิดเป็น 47% ของประชากรโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านคนในปี 2025 ในขณะที่ Mckinsey วิเคราะห์ว่า กว่ารอบทศวรรษที่ผ่านมา การไหลเวียนที่เติบโตเร็วที่สุดในระบบโลกคือ การไหลเวียนของข้อมูล โดยเพิ่มขึ้นกว่า 64 เท่า และมีส่วนสำคัญในการทำให้จีดีพีโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

ในส่วนของการชะลอตัวของการค้าและการลงทุน นิตยสาร The Economist ได้ออกบทวิเคราะห์อันแหลมคมชวนคิดว่า นับตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ยุค ‘Slowbolisation’ หรือ ภาวการณ์ที่อัตราการหลอมรวม (integration) ของเศรษฐกิจทั่วโลกช้าลงในหลายมิติ (แม้จะไม่ใช่ทุกมิติก็ตาม) อาทิ

  • การค้าโลกหดตัวจาก 61% ของจีดีพีโลกในปี 2008 เหลือ 58% ในปี 2018
  • การนำเข้าสินค้าขั้นกลาง (intermediate imports) ลดลงจาก 19% ของจีดีพีโลกในปี 2008 เหลือ 17% ในปี 2018
  • เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลงจาก 3.5% ของจีดีพีโลกในปี 2008 เหลือ 1.3% ในปี 2018
  • อัตรากำไรของบริษัทข้ามชาติรวมลดลงจาก 33% ของจีดีพีโลกในปี 2008 เหลือ 31% ในปี 2018
  • การกู้เงินข้ามชาติระหว่างธนาคารลดลงจาก 60% ของจีดีพีโลกในปี 2006 เหลือ 36% ในปี 2018 ทั้งนี้ ถ้าไม่รวมการกู้ของธนาคารที่อ่อนแอในยุโรป (rickety bank) อัตราดังกล่าวจะเหลือแค่ 17%
  • การไหลเวียนของเงินทุน (gross capital flow) ลดลง จาก 7% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในปี 2007 เหลือ 1.5% ในปี 2018

นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในยุคเฟื่องฟูของโลกาภิวัตน์ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มักจะประสบความสำเร็จในการไล่กวดทางเศรษฐกิจ (catching up) ประเทศพัฒนาแล้วได้ดี แต่อัตราส่วนของการไล่กวดทางเศรษฐกิจกลับลดลงจาก 88% เหลือเพียงแค่ 50% ในปี 2018

The Economist มองว่า สาเหตุที่โลกาภิวัตน์เดินช้าลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกสามประการ

ประการแรก วิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 ได้สร้าง ‘ช็อค’ ใหญ่กับภาคการเงินโลก กล่าวคือ โลกหลังปี 2008 เป็นโลกที่บรรยากาศการลงทุนและสถานการณ์การลงทุนผิดปกติจากที่เคยเป็นมา ซึ่งย่อมส่งผลโดยอ้อมต่อโครงสร้างการค้าและการลงทุนของบริษัทข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่สองคือ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 – 2010 การค้าโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะมีการลดกำแพงภาษีขนานใหญ่ทั่วโลก ประเทศเศรษฐกิจหลักที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตโลก (global supupply chain) ส่วนใหญ่ต่างเดินตามแนวทาง ‘การค้าเสรี’ กันมาหมดแล้ว ดังนั้น ในช่วงทศวรรษหลัง การค้าโลกจึงไม่ได้ได้อานิสงส์จากการค้าเสรีสักเท่าไหร่

แต่ประเด็นที่ The Economist เห็นว่าสำคัญกว่าและเป็นเหตุผลเบื้องลึกที่สุดของ Slowbolisation คือ ภาคบริการในเศรษฐกิจโลกกำลังมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้การค้าโลกมีความสำคัญลดลงโดยเปรียบเทียบ เพราะโดยธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนในภาคบริการมักจะทำได้ยากกว่าภาคการผลิตอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่า การเปิดเสรีบริการมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และมีความเป็นไปได้น้อยกว่าในการเปิดเสรีการค้ามาก สมมติฐานสำคัญของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้คือ ต่อให้ไม่มีสงครามการค้า การค้าโลกก็อาจไม่ได้ขยายตัวอย่างที่เป็นมา เพราะการค้าโลกอาจกำลังมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว (saturation)

โจทย์ที่ชวนคิดต่อจากนี้คือ หาก digital globalisation กลายมาเป็นพลังหลักของโลกาภิวัตน์แบบดั้งเดิมมากขึ้น การค้าโลกจะสำคัญน้อยลงอีกหรือไม่ เพราะถึงที่สุดแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลก็มีลักษณะของภาคบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรม และหากการค้าโลกมีนัยสำคัญน้อยลง ผลต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักจะได้รับผลกระทบแค่ไหน

และสูตรสำเร็จที่เคยใช้กันมาก่อนหน้านี้ จะได้ผลหรือไม่กับโจทย์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน

 

โจทย์ใหม่ของไทยในโลก 4.0 : การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

จากปลายปี 2018 ต่อเนื่องถึง 2019  101 ได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำซีรีส์ความรู้ชุด Futurising Thailand: สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก เพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่า แก่นของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่คืออะไร และถ้าจะยกระดับประเทศไทยให้ทันโลกและพร้อมรับมือกับอนาคต ต้องทำอย่างไร

ภายใต้โครงการนี้ มี 3 ประเด็นสำคัญที่ควรหยิบยกมาไฮไลท์อีกครั้ง

 

ประเด็นที่ 1 : ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลายด้าน

ในการปาฐกถาเรื่อง ‘Futurising Thailand’ โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ : ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0′ Justin Wood ได้สรุปความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงชั่วคราว แต่กลายเป็นความจริงใหม่ที่ทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยต้องเจอ 5 ด้าน ได้แก่

1) โลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงมากขึ้น

หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ ประชาชนโลกกำลังเพิ่มขึ้นและปฏิสัมพันธ์มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จัสตินชี้ให้เห็นว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 1945 ซึ่งเป็นช่วงที่ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังก่อตัว โลกมีประชากรเพียงแค่ 2.5 พันล้านคน แต่วันนี้เรามีประชากรมากกว่า 7.5 พันล้านคน โดย 1 พันล้านคนในจำนวนนี้ เพิ่งเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

การมีคนมากขึ้น หมายความว่าเรามีเรื่องที่ต้องจัดการร่วมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุน ความคิด และผู้คน ดังนั้น การเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของโลกจึงมีความลึกซึ้งมากขึ้นและกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว

2) โลกหลายขั้วอำนาจ หลายขั้วความคิด

ตอนนี้เรากำลังก้าวไปสู่ระเบียบโลกใหม่ และหลักการภูมิรัฐศาสตร์รูปแบบใหม่ในการบริหารโลก ภายใต้ 2 แนวคิดหลักๆ คือ การก้าวไปสู่โลกที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว (Multipolar) จากในอดีตที่เรามีโลกมหาอำนาจสองขั้ว หรือโลกมหาอำนาจขั้วเดียว แต่ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่การกระจายและการแพร่หลายอำนาจที่กว้างขึ้น ตั้งแต่อำนาจทหาร อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจวัฒนธรรม และอื่นๆ

นอกจากนี้ โลกก็มีหลายแนวคิดปะทะกัน (Multiconceptual) กล่าวคือ ณ ปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นว่าทุกคนทุกประเทศจะต้องมีค่านิยมทางสังคม การปกครอง หรือหลักเศรษฐกิจเหมือนกันเสมอไป แต่ละประเทศสามารถมีแนวคิดต่างกันในการบริหารกิจการระหว่างประเทศ

3) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

เป็นสถานการณ์ที่ชุดเทคโนโลยีทั้งหมดแสดงออกมาพร้อมๆ กัน จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความเร็วที่เหลือเชื่อ ในขณะที่การหลอมรวมของเทคโนโลยีจะทำให้เส้นแบ่งทางกายภาพ (physical) ดิจิทัล (digital) และชีวภาพ (biological) พร่าเลือนไป ทุกกิจกรรมของมนุษย์จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความมั่นคง ธุรกิจ การบริหารราชการ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความเป็นส่วนตัว ชีวิตคู่ ฯลฯ

ถึงที่สุดแล้ว เทคโนโลยีจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ว่า ‘เราทำอะไร’ แต่เปลี่ยนถึงขนาดว่า ‘เราคือใคร’

4) ความเหลื่อมล้ำ

ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำขยายตัวทั่วโลก ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเห็นว่า ในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว แต่พวกเขากลับไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร ในอนาคตสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยเทคโนโลยี และถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข วิกฤตทางการเมืองก็จะตามมา ดังที่ได้เริ่มปรากฏในหลายที่ทั่วโลกแล้ว

5) การพังทลายของสิ่งแวดล้อม

ปัญหาโลกร้อนคือรูปธรรมที่สำคัญสุดของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภาพ รูปแบบการเติบโตในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำให้การเติบโตเป็นธรรมมากขึ้น แต่เป็นเรื่องของความยั่งยืนด้วย

แม้งานปาฐกถาของจัสติน จะเกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระ และต่างบริบท กับผลงานที่ถูกนำมาสังเคราะห์เพื่อเข้าใจ ‘โฉมหน้าโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป’ แต่ข้อสรุปของเขาก็มีความสอดคล้องและช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ดังที่กล่าวไปข้างต้นอยู่เช่นกัน

ประเด็นที่ 2 : ภายใต้โลกใหม่ เราต้องการวิธีคิดและเครื่องมือทางนโยบายแบบใหม่

เมื่อโลกเปลี่ยน โจทย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยน ดัชนีที่ใช้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันก็ยิ่งต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์และความท้าทายในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ

ปลายปี 2018 สภาเศรษฐกิจโลกได้จัดทำตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ที่เรียกว่า Global Competitiveness Index 4.0 หรือ GCI 4.0 เพื่อเป็น ‘เข็มทิศใหม่’ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ควรกล่าวด้วยว่า แม้ GCI 4.0 จะถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือกับความท้าทายใหญ่หลายด้าน แต่หากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงแล้ว ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ คือความท้าทายที่สำคัญที่สุด สภาเศรษฐกิจโลกมองว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและผลกระทบจะเกิดขึ้นแบบเอ็กโพเนนเชียล ไม่ใช่แบบเส้นตรง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ คำถามที่ใหม่ ยาก และท้าทายจำนวนมาก ที่มนุษย์ต้องขบคิดและถกเถียงร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของการเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อรับมือกับ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ คือ ความเร่งด่วน

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 มนุษย์มีเวลากว่าศตวรรษในการรับมือความเปลี่ยนแปลง และมีเวลาหลายสิบปีสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในขณะที่มีเวลาราว 10-20 ปีเพื่อรับมือกับผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 แต่สำหรับครั้งที่ 4 นี้ มนุษย์มีเวลาปรับตัวน้อยมาก ทั้งที่ผลกระทบรุนแรงมหาศาล

จัสตินได้ขยายความเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ว่า เราจำเป็นต้องอยู่บนคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้น โลกจะหนีห่างจากเราไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถตามทันได้เลย

แล้วอะไรคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่?

รายงานเรื่อง Global Competitiveness Index 4.0 : เข็มทิศเศรษฐกิจใหม่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้ชี้ให้เห็นว่า การสร้างความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่ ต้องการวิธีคิดแบบใหม่ที่ครอบคลุมตัวแปรใหม่ๆ อาทิ ทุนมนุษย์ ทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ความยืดหยุ่น และความคล่องตัว รวมไปถึงนวัตกรรม ขณะเดียวกันตัวชี้วัดใหม่นี้ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยดั้งเดิมอย่าง โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ระบบกฎหมาย สถาบัน การศึกษา เป็นต้น โดยทุกปัจจัยมีความสำคัญเท่าๆ กัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทั้งหมด แต่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาพร้อมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญเร่งด่วนและข้อจำกัดด้านทรัพยากร

หากมองดูตัวชี้วัดใหม่ทั้งหมดแล้ว GCI 4.0 ให้ความสำคัญกับ ‘กระบวนการปรับตัว’ มากกว่าที่จะบอกว่าอะไรคือ ‘สูตรสำเร็จ’ ของการพัฒนา กล่าวคือ GCI 4.0 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแบบใดแบบหนึ่งเลย และมองว่าการเลือกเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมเป็นทางเลือกของแต่ละประเทศ สิ่งที่ GCI 4.0 ให้ความสำคัญมากกว่าคือ ประเทศหนึ่งๆ จะสามารถออกแบบนโยบายที่รองรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่มีใครรู้ได้อย่างไร

กล่าวอย่างรวบยอด เศรษฐกิจที่จะประสบความสำเร็จในยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะต้องตอบโจทย์ดังต่อไปนี้

1) มีความยืดหยุ่น (be resilient) – มีการออกแบบกลไกทางเศรษฐกิจที่สามารถป้องกันวิกฤตการณ์การเงิน เศรษฐกิจตกต่ำ และ ‘ช็อก’ จากภายนอกได้

2) มีความปราดเปรียว (be agile) – เปิดรับความเปลี่ยนแปลงมากกว่าฝืนตัวต่อต้าน ภาครัฐ ภาคเอกชน และแรงงาน สามารถปรับตัวและเก็บเกี่ยวดอกผลจากโอกาสใหม่ในวิธีการใหม่ได้เร็ว

3) มีการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (build an innovation ecosystem) – ระบบนิเวศนวัตกรรมที่ดีจะต้องสร้างแรงจูงใจให้คนในระบบมีส่วนทำให้ความคิดใหม่เกิดขึ้น และแปลงความคิดนั้นให้เป็นนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมได้

4) ใช้การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (adopt a human-centric approach to economic development) – ตระหนักว่าทุนมนุษย์จำเป็นต่อการสร้างความมั่งคั่งและความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ และมองเห็นว่านโยบายใดที่บั่นทอน ‘มนุษย์’ ย่อมส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ผู้กำหนดนโยบายต้องมั่นใจว่า นโยบายและการปรับใช้เทคโนโลยีมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

จะเห็นว่า การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาทางวัตถุ แต่เป็นเครื่องมือที่สะท้อนการพัฒนาในมิติเชิงสังคมด้วย เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การธำงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 3 : ข้อจำกัดของ GCI 4.0

แม้จะเป็นชุดเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ชุดความรู้และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของสภาเศรษฐกิจโลก เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งท่ามกลางโลกความรู้อันหลากหลาย

ที่ผ่านมา สภาเศรษฐกิจโลกก็ถูกวิจารณ์ว่า มีความเป็น ‘ชนชั้นนำโลก’ (global elites) สูง และจงใจที่จะลด ‘ความเป็นการเมือง’ ในกระบวนการกำหนดนโยบายเพื่อประนีประนอมกับความขัดแย้งมากเกินไป

งานหลายชิ้นใน The101.world ช่วยทำให้เรามองเห็นข้อถกเถียงและโมเดลการพัฒนาแบบอื่นๆ ได้อย่างน่าสนใจ เช่น บทความเรื่อง ผ่าโซ่การผลิต หน่วยคิดเศรษฐกิจใหม่ ของวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่เล่าตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน (ซึ่งเป็นประเทศใหญ่) และคอสตาริกา (ซึ่งเป็นประเทศเล็ก) ที่ปรับใช้หน่วยคิด ‘ห่วงโซ่การผลิต’ เป็นฐานสำคัญในการทำนโยบายระดับประเทศได้อย่างมีพลัง พร้อมทั้งเปิดประเด็นให้เห็นถึง ‘เศรษฐศาสตร์การเมือง’ หรือ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่อุปทาน

หรือบทความเรื่อง โลกาภิวัตน์เก่า+ชาตินิยมใหม่ คือทางแก้ไขโลกปั่นป่วน? ก็เปิดให้เห็นข้อถกเถียงใหม่ๆ ว่าด้วยการช่วงชิงความหมายของคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ และ ‘ชาตินิยม’ ระหว่างพลังการเมืองกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะมีผลสำคัญต่อกระบวนการกำหนดระเบียบเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โดยกลุ่มการเมืองที่สามารถสร้างนิยามใหม่ให้มีพลังเพียงพอ และสถานการณ์อำนวย ก็จะสามารถขับเคลื่อนสังคมไปสู่สมดุลอำนาจเศรษฐกิจ-การเมืองใหม่ได้ (ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา สภาเศรษฐกิจโลกเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการนิยามคำว่า  ‘โลกาภิวัตน์’ คืออะไร และควรมีหน้าตาแบบไหน แม้กระทั่งในปัจจุบัน สภาเศรษฐกิจโลกก็ยังเข้าไปมีส่วนช่วงชิงนิยามใหม่ของคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ โดยใช้คำว่า ‘โลกาภิวัตน์ที่ฉลาด’ หรือ ‘Smart Globalisation’ เป็นคำหลักในการรณรงค์เชิงนโยบายเพื่อให้ประเทศต่างๆ ยอมรับ GCI 4.0)

ในขณะที่งานเขียนเรื่อง สามยุทธศาสตร์ Catch-Up : ตลาดเสรี ฝูงห่านบิน และเสือกระโดด ก็ช่วยให้เห็นพัฒนาการและความหลากหลายขององค์ความรู้ใหม่ว่าด้วยกระบวนการพัฒนาไล่กวดทางเศรษฐกิจ (catching up process) ของประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างน่าตื่นตาตาใจ ควรกล่าวด้วยว่า องค์ความรู้ใหม่ในแนวทางดังกล่าว เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะอ่านเพื่อให้เห็นโลกที่ต่างออกไปจากโมเดลการพัฒนาภายใต้ GCI 4.0 ซึ่งมีสมมติฐานเบื้องหลังว่า โมเดลการพัฒนาแบบไล่กวดทางเศรษฐกิจไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจในโลกใหม่อีกต่อไปแล้ว

 

โจทย์เก่าที่ยากยิ่งกว่าเดิม : ความเหลื่อมล้ำและความยากจน

 

ปี 2019 เป็นปีที่ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘ความยากจน’ กลายเป็นไฮไลท์สำคัญในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ และผู้กำหนดนโยบายทั้งในโลกและในไทยอีกครั้ง เมื่ออภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) เอสเธอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) และไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer) สามนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาที่ทำงานด้านความยากจนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 2019

คุณูปการสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสาม (โดยเฉพาะแบนเนอร์จีกับดูโฟล) คือ การลบล้างมายาคติเกี่ยวกับความจน คนจน และวิธีปราบจน ในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเหมารวมลักษณะทั่วไปของคนจน อย่างการมองคนจนในแง่ร้ายว่าจะ ‘ขี้เกียจ’ ถ้าหากได้รับเงินหรืออะไรฟรีๆ ซึ่งมักนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ผิดผลาด

จุดเด่นสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้คือ การบุกเบิกการนำระเบียบวิธีวิจัยที่เรียกว่า การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trials: RCTs) ซึ่งเป็นการวิจัยโดยใช้การทำการทดลองในพื้นที่จริงเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ กล่าวอย่างง่าย ระเบียบวิธีวิจัยนี้เป็นการทดลองใช้นโยบายที่ต่างกัน กับกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาเหมือนกัน  แล้วดูว่าผลลัพธ์ของนโยบายที่เกิดขึ้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ในซีรีส์ความรู้ชุด ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว’ ธร ปีติดล เคยอธิบายให้เห็นว่า ในโลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์พัฒนา “วิธีการวิจัยแบบ RCTs ได้ขยับกระบวนการผลิตความรู้ของเศรษฐศาสตร์ จากเดิมที่นั่งดูตัวเลขสถิติและทำวิจัยในห้องสมุด ออกไปเจอความจริงจากพื้นที่มากขึ้น … จุดเด่นของวิธีการนี้คือการได้องค์ความรู้จากพื้นที่ ทำให้เศรษฐศาสตร์เข้าใกล้กับความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนของมนุษย์มากขึ้น จากเดิมที่มองมนุษย์ด้วยสมมติฐานแบบแข็งๆ ก่อน เช่น มองว่ามนุษย์สมเหตุสมผล เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ก็เปลี่ยนมาทำความเข้าใจมนุษย์จากการตัดสินใจในความเป็นจริงของเขาก่อน ว่าเขาเลือกอะไร เพราะอะไร บนข้อจำกัดแบบไหน”

“โจทย์ที่ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” คือคำนิยามที่ 101 มองประเด็นความเหลื่อมล้ำ เมื่อปลายปี 2018 และเดาได้ไม่อยากว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยก็ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิม มิหนำซ้ำ โจทย์ยังยากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาหลายปีแล้ว แต่การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนคือความจริงที่ฟ้องว่า สังคมไทยยังมีปัญหาใหญ่เรื่องการพัฒนา โดยในเชิงตัวเลข ข้อมูลล่าสุด (ปี 2018) พบว่า ประเทศไทยยังมีจำนวนคนจนกว่า 6,600,000 คน หรือคิดเป็นกว่า 9.5% ของประชากรทั้งประเทศ ไม่ต้องพูดถึงว่า ยังมีอีกคนอีกหลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่อย่างเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็น ‘คนจน’ ได้เสมอ

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยกำลังแหลมคมอย่างยิ่ง ในรายการสนทนา 101 one on one ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชี้ว่าสำหรับประเทศไทย ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไม่ดีจะมีคนจนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจดี โตสัก 3-4% คนจนมักจะลดลง กระนั้น สิ่งที่พบในช่วง 2-3 ปีหลังคือ คนจนเพิ่มขึ้นทั้งที่เศรษฐกิจโต โดยในปี 2018 เศรษฐกิจโต 4.1% ซึ่งถือว่าค่อนข้างดี แต่คนจนกลับเพิ่มขึ้น พูดอีกแบบคือประเทศไทยเริ่มมีกลุ่มคนกระเปาะหนึ่งที่ติดพื้นข้างล่างแล้ว ต่อให้เศรษฐกิจดียังไงก็จะมาไม่ถึงคนกลุ่มนี้

สมชัยมองว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะตลอดกว่า 50 ปีของการพัฒนาที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า คนกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าไหร่ แต่คาดการณ์ว่าในอนาคตคนกลุ่มนี้จะมีมากขึ้น ข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดของสมชัยพบว่า ในคนไทยทั้งหมด 60 กว่าล้านคน มีคนที่อายุเกิน 40 ปี แล้วมีการศึกษาไม่เกิน ป.6 คิดเป็น 40% ของประชากรไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเกษตรกร ในอนาคตคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เปราะมากที่สุด และจะกลายเป็น ‘ระเบิดเวลา’ ลูกใหญ่ของสังคมไทย

ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบเชิงสังคมอย่างกว้างขวาง ธนสักก์ เจนมานะ มองว่าความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย เป็นหนึ่งในคำอธิบายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กัดกินสังคมไทยมากว่าทศวรรษเลยด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับที่รายงานเรื่อง เมื่อความเหลื่อมล้ำคือความอยุติธรรมที่ประจักษ์ชัดที่สุด ก็ฉายภาพความเหลื่อมล้ำที่กัดกิดหลักนิติรัฐ (Rule of Laws) และความยุติธรรมในสังคมได้อย่างน่าสนใจ

พูดให้ถึงที่สุด ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงยิ่งอย่างสังคมไทย ไม่ว่าจะหยิบจับปัญหาอะไร เราจะพบความเหลื่อมล้ำในนั้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โรคซึมเศร้า การเมืองของการเกณฑ์ทหาร การปฏิรูปการศึกษา ระบบกฎหมายที่ดูดายคนจน การพัฒนาเด็กปฐมวัย การเมืองเรื่องเพศในระบบรัฐสภา ฯลฯ

ตลอดปีที่ผ่านมา 101 เกาะติดประเด็นความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้เราอยากชวนให้ผู้อ่านลองค้นหาคำว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในเว็บไซต์ The101.world อ่านกันดู แม้เราแอบหวังอยากให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในโลกและไทยดีขึ้นในปีหน้าและปีต่อๆ ไป จนไม่ต้องเขียนถึงเรื่องเหล่านี้อีก แต่ดูทรงแล้วเราคงได้เขียนอ่านเรื่องนี้กันไปอีกยาว อาจจะถี่กว่าเดิมด้วยซ้ำไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save