fbpx
ระเบียบการค้าโลกหลัง COVID-19

ระเบียบการค้าโลกหลัง COVID-19

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัย Economic Disruptive ที่ทั้งก่อกวนและทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักงัน แน่นอนว่าหลังจากการแพร่ระบาด ระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศจะปรับตัวเข้าสู่รูปแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่แรงงานไปจนถึงเจ้าของกิจการ ตั้งแต่ผู้ผลิตไปยันผู้บริโภค ตั้งแต่ SMEs ไปจนบริษัทข้ามชาติ แม้แต่ภาคประชาสังคมและภาครัฐก็คงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานเช่นกัน

หลังการแพร่ระบาด โลกจะเดินหน้าเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการผลิตจากการกระจายตัวการผลิตยุคที่ 2 (The 2nd Unbundling) สู่ยุคที่ 3 (The 3rd Unbundling) ในอัตราเร่ง

เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในยุคที่ 2 ที่กระบวนการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานสามารถกระจายตัวให้การผลิตแต่ละขั้นตอนไปตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของประเทศนั้นๆ โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) เนื่องจากความได้เปรียบด้านทรัพยากร จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นความได้เปรียบด้วยแรงงานราคาถูก ปัจจุบัน เราอยู่ในห่วงโซ่นี้ได้ด้วยทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน นั่นทำให้ไทยสะสมความมั่งคั่งของชาติมาได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา (ทศวรรษ 1970-2020)  แน่นอนว่า COVID-19 ที่ทำให้บางเมือง บางประเทศต้องปิดสายพานการผลิต ทำให้ห่วงโซ่เหล่านี้หยุดชะงัก และไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบมาผลิต และเมื่อผลิตเสร็จก็ไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ทำให้หลายๆ ภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาการผูกพันตนเองและพึ่งพาห่วงโซ่ในต่างประเทศมากจนเกินไป

การกระจายตัวของการผลิตเข้าสู่ยุคที่ 3 (The Third Unbundling) ที่งานหลายอย่างสามารถกระจายการผลิตข้ามประเทศ (Task Divided) ได้โดยที่ไม่ต้องการที่ตั้งและภาคการผลิตในทางกายภาพ (Physical) อาทิ งานผลิตภาพยนตร์ ที่สามารถตั้งกองถ่ายภาพยนตร์ได้ทุกที่ทั่วโลก และกระบวนการหลังการถ่ายทำ (Post-Production) ก็สามารถกระจายงานออกไปทำได้ในทุกๆ ที่ทั่วโลกเช่นกัน เช่น อาจจะทำคอมพิวเตอร์กราฟิกในประเทศหนึ่ง ลงเสียงพากย์ในอีกประเทศหนึ่ง ดนตรีประกอบในอีกประเทศหนึ่ง และตัดต่อภาพยนตร์ในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องทำในสตูดิโอขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวอีกต่อไป เช่นเดียวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การออกแบบงานสถาปัตยกรรม การทำงานวิจัย การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ที่สามารถแยกงานเป็นส่วนๆ แล้วกระจายให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญที่อยู่ในแต่ละมุมโลกสามารถทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม โดยที่ทุกฝ่ายไม่จำเป็นต้องพบเจอกันในทางกายภาพเลย Disruptive Technology จุดประกายทำให้การผลิตในรูปแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่ COVID-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากต้องทำงานจากต่างสถานที่ โดยที่ไม่ได้พบเจอกัน กลายเป็นตัวเร่งให้รูปแบบการผลิตดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

การกระจายตัวของการผลิตในยุคที่ 3 นี้เอง ที่อาจจะทำให้ภาคการผลิตบางภาคสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันไป การเข้าสู่ The Third Unbundling มาแน่ และมาเร็วกว่าที่คิดแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเร่ง คำถามที่สำคัญคำถามสุดท้ายคือ ประเทศไทยและอาเซียนที่เคยปรับตัวอย่างแรงโดยเฉพาะตลอดทศวรรษ 1980-1990 ทำให้เราตามทัน 2nd Unbundling แล้วเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกจนสร้างความมั่งคั่งมาตลอด นาทีนี้ ประเทศไทยพร้อมหรือไม่ที่จะเข้าสู่ The 3rd Unbundling ภาคการผลิตในประเทศไทยยังเป็นข้อของห่วงโซ่ที่ยังมีความจำเป็นและได้ไปต่อ หรือเราจะเป็นข้อของห่วงโซ่ที่ถูกตัดทิ้งได้

หลังการระบาดของ COVID-19 ระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปพร้อมกับรูปแบบของภาคการผลิต จะทำให้อุตสาหกรรมที่ยังอยู่รอดปลอดภัย และสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 1 ใน 2  ประการดังนี้

  • ยึดโยงกับแหล่งวัตถุดิบหลักซึ่งอยู่ในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริการเสริมสร้างสุขภาพ (Wellness Industry) และบริการทางการแพทย์ ฯลฯ โดยถ้าภาคการผลิตเหล่านี้ปรับตัว ก็ยังจะสามารถดำรงอยู่และแข่งขันในรูปแบบ The 2nd Unbundling ต่อไปได้

และ/หรือ

  • เป็นภาคการผลิตที่ภาระงานสามารถแยกย่อยออกเป็นส่วนๆ (Task Divided) และประเทศมีทรัพยากรบุคคลที่สามารถทำงานในขั้นตอนนั้นๆ ได้ อาทิ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานออกแบบทางสถาปัตยกรรม งานวิศวกรรม ที่หนึ่งโครงการใหญ่สามารถแยกย่อยเป็นส่วนงานย่อยๆ และสามารถกระจายงานย่อยๆ เหล่านี้ ไปให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทำภาระงานในส่วนย่อยๆ ข้ามประเทศได้ผ่านระบบโทรคมนาคมสมัยใหม่ นี่คือภาคการผลิตที่จะก้าวไกลในยุค The 3rd Unbundling ซึ่งข้อดีของการผลิตในรูปแบบนี้ก็คือ ทุกประเทศต้องเริ่มต้นเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) พร้อมๆ กัน ไม่ได้มีใครเริ่มต้นก่อนและไม่ได้มีใครได้เปรียบ เนื่องจากเป็นผู้เข้าสู่ตลาดก่อนผู้ผลิตรายอื่นๆ ทุกๆ คนเริ่มต้น ลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กัน พัฒนาฝีมือ และเชื่อมโยงเข้าสู่ GVCs ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกันมากนัก

และนอกจากคุณสมบัติทั้ง 1) และ/หรือ 2) ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การเชื่อมโยงเข้าเป็นประชาคมนานาชาติทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับพหุภาคี ผ่านการเจรจาการค้าเพื่อบูรณาการเศรษฐกิจในระดับต่างๆ ที่จะเอื้อให้เกิดสิทธิประโยชน์อันเป็นแต้มต่อทางการค้าและการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าเพื่อเปิดเสรีในกรอบต่างๆ ย่อมนำมาซึ่งต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงด้วย อาทิ ต้นทุนในการปรับตัวเพื่อให้การผลิตของตนมีมาตรฐานที่สูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ต้นทุนที่มาจากกฎระเบียบที่อาจจะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น การผลิตหรือการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่อาจจะไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง นั่นคือ กติกาของโลกหรือระเบียบโลกใหม่ทางด้านการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับประเทศไทย กรอบการเจรจาการค้า 2 กรอบที่สำคัญที่สุด ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งศึกษาหาความรู้ ปรับตัว และยอมรับในกฎกติกาใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนคือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)  และ ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งทั้ง 2 ความตกลงคือความตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่ครอบคลุมประเทศสมาชิกเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมมูลค่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และจำนวนประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีพลวัตสูง มีกำลังซื้อสูง เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่มีกรอบกติกาทางการค้าและการลงทุนใหม่ๆ ในหลายๆ มิติ ที่ประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้บริโภคชาวไทยอาจไม่คุ้นชิน และมีต้นทุนในการปรับตัว

ในกรณีของ RCEP ประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันมาตั้งแต่ต้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคม ทำงานร่วมกันอย่างหนัก จนสามารถหาข้อสรุปได้ในระดับที่น่าพอใจ และจะนำไปสู่การลงนามในไม่ช้า

แต่ในทางตรงกันข้าม อีกกรอบหนึ่งคือ CPTPP ซึ่งพัฒนาต่อยอด ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมาจาก TPP เดิม โดยที่ไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิก คือ กรอบการเจรจาการค้าที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในเวลานั้น ต้นทุนการเข้าสู่ TPP เดิม โดยเฉพาะต้นทุนทางสังคมมีสูงจนเกินไป

แต่สำหรับ CPTPP 11 ประเทศที่เป็นสมาชิก เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น (ซึ่งมีบทบาทนำในการเจรจา) เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ชิลี และเปรู (7 ประเทศแรกให้สัตยาบันแล้ว ในขณะที่อีก 4 ประเทศลงนามแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน)

การที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปย่อมทำให้กฎ กติกา และตัวบทข้อตกลงต่างๆ ของ CPTPP มีความแตกต่างจาก TPP เดิม และเนื่องจากไทยเราไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาตั้งแต่ต้น ทำให้การที่จะเข้าสู่ CPTPP มีต้นทุนในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก (เช่น ประเทศสมาชิกเดิมอาจมีข้อเรียกร้องจากไทยในรูปแบบทวิภาคี เพื่อที่จะยอมรับรองให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP แต่ในขณะเดียวกัน การที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกก็ยิ่งทำให้สมาชิกเดิมมีโอกาสทางการค้า การลงทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นบางประเทศสมาชิกเดิมอาจสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกด้วยความอนุเคราะห์ยิ่ง)

เมื่อเทียบกับโอกาสทางการค้า การลงทุน ที่ภาคธุรกิจจะได้เข้าถึงตลาดและเป็นส่วนร่วมในห่วงโซ่ GVCs รวมถึงโอกาสที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม การเข้าสู่ CPTPP จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับไทยอย่างยิ่ง กฎ กติกา ของ CPTPP และ RCEP จะเป็นหนึ่งในมาตรฐานใหม่ทางการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคตหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

แน่นอนว่า ไทยก็คงต้องเข้าร่วมกรอบข้อตกลงดังกล่าว แต่การเข้าร่วมในภายหลังย่อมมีต้นทุน และต้องยอมรับกฎ กติกา ที่สมาชิกผู้ก่อตั้งได้วางแผนร่วมกันไปแล้ว โดยประเด็นที่ถือเป็นข้อควรระวังและต้องทำความเข้าใจอย่างดี รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้องให้กับประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ได้แก่ ประเด็นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคของการผลิตแบบ the 3rd Unbundling และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต คือเรื่องสิทธิบัตรยา โดยเฉพาะประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลในสมัยยังเป็น TPP ได้แก่ การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL); การคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่มีวิธีการใช้ใหม่ (Evergreening) ที่อาจจะคุ้มครองสิทธิบัตรได้ตลอดไป; การนำเข้า การส่งผ่าน และการส่งออก ผลิตภัณฑ์ยา ที่อาจจะพบปัญหาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา; ประเด็นการขอจดสิทธิบัตรในจุลชีพ ทรัพยากรพันธุกรรม และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น; ประเด็นการคุ้มครองพันธุ์พืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น UPOV-1991;  ประเด็นด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและพันธุ์พืชที่มีผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs); ประเด็นการนำเข้า-ส่งออกขยะ กากสารเคมี  และสินค้าใช้แล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม; ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ; การฟ้องร้องดำเนินคดีหากเกิดข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐ และประเด็นเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

สิ่งเหล่านี้คือกฎ กติกา ข้อตกลง จาก TPP สู่ CPTPP ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วในหลายเรื่อง หลายมิติ ซึ่งคงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐ โดยเฉพาะกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในการเผยแพร่องค์ความรู้ ทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับและรับฟังภาคประชาสังคม ซึ่งพวกเขาก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันแสดงออก หาเหตุผล หาข้อมูลมาสนับสนุน เพื่อให้ภาคส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจรจาการค้าระมัดระวังในประเด็นพึงกังวลเหล่านี้

แต่ไม่ว่าจะเข้าร่วม หรือไม่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบการเจรจาการค้าเหล่านี้ ระเบียบโลกใหม่ทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และประเทศไทย ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐ คงต้องเรียนรู้ ปรับตัว ให้สามารถแข่งขันภายใต้กรอบกติกาใหม่ๆ เหล่านี้ให้ได้ การที่จะคอยเอาแต่ปฏิเสธ ไม่ยอมที่จะรับฟังข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ ไม่พยายามปรับตัว ไม่ยอมรับกติกาและมาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น หมายถึงเรากำลังถดถอยและจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นห่วงโซ่ที่ถูกตัดทิ้งออกจากห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกไปตลอดกาล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save