fbpx
COVID-19 : super spreader วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

COVID-19 : super spreader วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่โหดร้ายมากสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากที่ COVID-19 มีความเสี่ยงจะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นภาวะโรคระบาดระดับโลก หรือ global pandemic มากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้หลายคนหวังว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในจีนที่เริ่มลดลง โอกาสที่โรคนี้จะ “พีค” น่าจะมีเพิ่มขึ้น

แต่แล้วเราก็ได้ยินกรณี super spreader อย่างคุณป้ามหาภัยที่เกาหลี กรณีเรือสำราญที่ญี่ปุ่น หรือกรณีคุณปู่ที่ดอนเมือง ทำให้ในหลายประเทศมีความกังวลว่านี่ไม่ใช่โรคที่คนจีนนำไปติดคนอื่นเท่านั้น แต่มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะระบาดในประเทศแบบคุมกันไม่อยู่

และแม้จำนวนผู้ป่วยในจีนเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง แต่ผู้ป่วยนอกประเทศจีน เช่น เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ญี่ปุ่น กลับเพิ่มขึ้นเร็วมาก โดยเกิดการแพร่กระจายไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และเริ่มลามไปประเทศแปลกๆ ที่เรามีข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และยุโรป

 

จำนวนผู้ป่วยในจีนและประเทศต่างๆ
จำนวนผู้ป่วยในจีนและประเทศต่างๆ

 

แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้จะไม่สูงมากนัก แค่ประมาณ 2-3% มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบสามพันคน (บางคนบอกว่ามีผู้เสียชีวิตต่อปีจากไข้หวัดใหญ่ โรคอ้วน และอุบัติเหตุ มากกว่านี้หลายเท่า) โดยที่ความเสี่ยงต่อผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวอื่นๆ อาจจะมีมากกว่านั้น

แต่ความกังวลต่อการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ความเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาที่ได้ผลดี รวมทั้งภาระและข้อจำกัดด้านระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

การเดินทางและการท่องเที่ยวแทบจะยกเลิกกันหมด ประเทศจีนปิดเมืองไปหลายเมือง ทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้าน supply และ demand ไปทั่วโลก การขนส่งและการผลิตได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ที่มีการระบาด การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างถูกยกเลิกไปตามๆ กัน

ญี่ปุ่นประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศ มีความเสี่ยงที่กีฬาโอลิมปิกอาจจะถูกยกเลิก อิตาลีปิดเมือง ยกเลิกงานที่มีคนมาร่วมมากๆ จนมีความกังวลว่าถ้าโรคลามไปถึงอังกฤษ ลิเวอร์พูลอาจจะอดแห่ถ้วยที่รอคอยมาสามสิบปี! (อันนี้ผลอาจจะรุนแรงกว่าเศรษฐกิจหลายเท่า)

ถ้าจะใช้คำของ Franklin D. Roosevelt ก็ต้องบอกว่า “The only thing we have to fear is fear itself.” คือความกังวลเรื่องโรคกำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าตัวโรคเองเสียอีก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลเกี่ยวกับ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างมหาศาล เมื่อการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศ ที่เคยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายทศวรรษที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นจุดอ่อน และจุดส่งผ่านความเสี่ยงไปเรื่อยๆ

แม้หลายฝ่ายคาดว่าการระบาดนี้น่าจะเป็นภาวะชั่วคราว แต่หลายบริษัทเริ่มออกมายอมรับว่าจะมีผลต่อยอดขายและเป้าหมายกำไรกันอย่างมีนัยสำคัญ และถ้าการระบาดลามออกไปจนเกิดภาวะ “ปิดเมือง” ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก และเป็นเวลานาน ผลกระทบคงมีมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน

 

หุ้นตกทั่วโลกแบบไม่ธรรมดา

 

สัปดาห์ที่แล้ว เราเห็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างรุนแรงเลือดสาดเกือบทั้งสัปดาห์ ดัชนี S&P 500 ลดลง 12% ในสัปดาห์เดียว เป็นการเข้าสู่ภาวะตลาดปรับฐาน (correction) หรือตลาดปรับลดลง 10% จากจุดสูงสุดเดิม (ดอย) ที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

ถ้าดูการปรับตัวในแต่ละวันต้องเรียกว่าไม่ธรรมดา มีการปรับตัวลดลงในแต่ละวันมากกว่า 3% ถึงสามวันเกือบจะติดกัน

 

ดัชนี S&P 500
ดัชนี S&P 500

 

ผมขอชวนผู้อ่านรื้อฟื้นความรู้ทางสถิติกันหน่อย เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันไม่ธรรมดายังไง ลองคิดตามแบบฝึกหัดข้างล่างนี้กันเล่นๆ นะครับ

ถ้าเราสมมติให้ (1) ผลตอบแทนของตลาดกระจายตัวแบบ normal distribution (2) การกระจายในแต่ละวันเป็น i.i.d. หรือวันนี้หุ้นจะขึ้นหรือลงไม่เกี่ยวกับเมื่อวาน (ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่) และ (3) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ standard deviation ของผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 15% ต่อปี เราพอจะอนุมานได้ว่าโอกาสที่เราจะได้เห็นตลาดหุ้นปรับตัวมากกว่า 3% ต่อวัน (3 s.d. event) มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 0.135% หรือไม่ควรเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งวันในทุกๆ สามปี แต่นี่เราเจอถึงสามครั้งในรอบหนึ่งสัปดาห์

ถ้าคิดต่อไปอีกนิด โอกาสที่เราจะเห็นตลาดขยับเกิน 4% ต่อวัน มีเพียงหนึ่งครั้งใน 125 ปี!

และโอกาสที่เราจะเห็นตลาดขยับ 12% ในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งถือเป็น 5.7 s.d. event มีเพียงหนึ่งในสามล้านปี! เรียกว่าแทงหวยทุกงวดยังอาจมีโอกาสถูกหวยมากกว่าได้เห็นแบบนี้สักครั้งในชีวิตอีก!

แบบฝึกหัดนี้อาจจะแค่บอกว่าการตั้งสมมติฐานว่าผลตอบแทนของตลาดเป็น normal distribution อาจจะไม่สมเหตุสมผลก็ได้ แต่ก็ยังน่าตื่นเต้นอยู่ดีนะครับ (หรือถ้า risk model ของใครใช้ normal distribution คงแตกกระจายไปแล้ว)

ส่วนตลาดหุ้นไทยก็ไม่น้อยหน้า แม้จะไหลและให้ผลตอบแทนแพ้ตลาดอื่นๆ มาสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีปัญหาค่อนข้างมาก แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เจอวันหนักๆ ไม่น้อยหน้าตลาดโลกเลย และในหนึ่งสัปดาห์ก็ปรับลดลงไปกว่า 11% เช่นกัน

 

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรอบนี้ดูใหญ่หลวงนัก และเกิดขึ้นในภาวะที่เราไม่มีภาคเศรษฐกิจที่จะคอยเป็นกันชน ภาคอุตสาหกรรมเจอปัญหาใหญ่จากประเด็นสงครามการค้าเมื่อปีก่อน จนการส่งออกลดลง และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลงตลอดปีที่ผ่านมา ภาคเกษตรเจอปัญหาใหญ่จากทั้งราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนแอ และปัญหาภัยแล้ง ภาคก่อสร้างก็เริ่มอ่อนแอจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงและการลงทุนเอกชนที่หายไปนาน ส่วนภาคบริการที่เคยเป็นที่พึ่งพิงยามภาคเศรษฐกิจใหญ่ๆ มีปัญหา ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการท่องเที่ยวที่หายไป

แม้เราคาดว่า COVID-19 จะเป็นปัญหาชั่วคราว แต่ถ้าลากยาวไปเรื่อยๆ ธุรกิจที่สายป่านสั้นและคนทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คงหาทางออกกันได้ลำบาก เราเริ่มได้ยินธุรกิจทั้งใหญ่เล็ก สายการบิน และโรงแรม เริ่มปลดคนงาน หรือให้ลาโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และผู้ค้ารายย่อยเริ่มประสบปัญหา มีการเจรจาขอลดค่าเช่า ในไม่ช้าผลกระทบคงไปถึงภาคธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่อง supply disruption ก็อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ได้ ถ้าประเทศที่เกิดปัญหามากอย่างจีนและเกาหลีใต้ ไม่สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ การผลิตของไทยพึ่งพาชิ้นส่วนต่างๆ จากประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมาก และการส่งออกของไทยก็ประสบปัญหาที่กระบวนการขนส่งยังกลับมาไม่เต็มที่ แม้หลายอย่างจะเป็นปัญหาชั่วคราว (เดี๋ยวปัญหาจบก็สั่งเพิ่มได้) แต่หลายเรื่องก็เป็นปัญหาถาวรได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่สามารถเก็บได้ เช่น สินค้าเกษตร

ความเสี่ยงสุดท้ายคือถ้ามีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศ คนจำนวนมากคงระมัดระวังมากขึ้นในการออกจากบ้าน และทำกิจกรรมอื่นๆ (ทุกวันนี้ก็เริ่มเห็นถนนโล่งขึ้น คนเดินห้างน้อยลงแล้ว) การบริโภคในประเทศ และภาคการค้าคงถูกผลกระทบขนาดหนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ความหวังอยู่ที่ยารักษา

 

ถ้าดูอัตราการแพร่กระจายของโรคในปัจจุบัน โอกาสที่จะควบคุมการระบาดดูริบหรี่มาก เพราะมันได้แพร่กระจายไปหลายส่วนของโลกที่เราอาจควบคุมได้ยากมาก (แต่ก็ต้องพยายามกันเต็มที่ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ)

ได้แต่หวังว่าพัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันจะนำไปสู่การพัฒนายารักษาที่มีประสิทธิภาพ หรือวัคซีนที่ช่วยป้องกันการระบาดได้

เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ยังระบาดอยู่ทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า COVID-19 หลายเท่าในแต่ละปี แต่คนส่วนใหญ่เลิกกังวลไปแล้ว เพราะรู้ว่าถ้าป่วยและได้กินยาอย่าง tamiflu ก็มีโอกาสหายค่อนข้างแน่นอน

หวังอย่างยิ่งว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ออกมารับมือ shock ในครั้งนี้ที่มีผลกระทบรุนแรงเหลือเกินต่อทั้งฝั่ง demand และ supply

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save