fbpx
หากจะมี 'New Normal' เราต้องเป็น 'Green New Normal'

หากจะมี ‘New Normal’ เราต้องเป็น ‘Green New Normal’

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ เรื่อง

ณัฐพล อุปฮาด ภาพประกอบ

 

ภาวะ ‘ได้อย่าง เสียอย่าง’ ระหว่างเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา

 

‘ได้อย่าง เสียอย่าง’ คือสมมติฐานสำคัญที่ผมใช้ในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เศรษฐกิจ’ และ ‘นิเวศวิทยา’ กล่าวคือ ถ้าเศรษฐกิจเติบโต ระบบนิเวศวิทยาจะเสื่อมโทรมลง หรือพูดอีกแบบก็ได้ว่า ทั้งสองตัวแปรนี้มีความสัมพันธ์ที่ ‘ตึงเครียด’ (stressed relationship) ต่อกัน

ที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับเรื่องราวของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกมาด้วยความทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานที่สูงขึ้นนำไปสู่มลพิษทั้งหลาย การใช้วัสดุต่างๆ ที่มากกว่าเดิมจนนำไปสู่ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ พูดให้ถึงที่สุด เมื่อคุณภาพชีวิตของเรายกระดับขึ้นเมื่อไหร่ ผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมก็แทบจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างการนั่งเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศ (เพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) หรือการหันมาทานเนื้อวัวมากขึ้น (การถางป่าเพื่อปลูกพืชธัญญาหารสำหรับการเลี้ยงสัตว์)

พูดอีกแบบคือ มนุษย์ต้องแลก ‘เศรษฐกิจ’ กับ ‘ระบบนิเวศ’ มาตลอด และดูเหมือนเราจะเลือกอย่างแรกมากกว่าอย่างหลังอย่างเห็นได้ชัด

แต่วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้รูปแบบของ ‘stressed relationship’ ระหว่าง ‘เศรษฐกิจ’ กับ ‘ระบบนิเวศ’ เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่เราไม่คุ้ยเคย นั่นคือ การที่มิติสิ่งแวดล้อมได้ขึ้นนำมิติเศรษฐกิจ ข้อมูลชี้ว่าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา ปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก ได้ลดลง 18% และค่าฝุ่นขนาดเล็ก (PM) ลดลง 35% ขณะเดียวกันก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในอเมริกา ยุโรปและจีนก็ลดลง 60% ตัวเลขเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในสภาวะปกติแน่นอน

นอกเหนือจากตัวเลขเหล่านี้แล้วยังมีหลายเหตุการณ์ที่คงปรากฏได้ยากในโลกปกติ เช่นการที่สัตว์ป่าสงวนโผล่มาจากธรรมชาติหรือการพบฉลามวาฬบริเวณเกาะเต่า เราคงไม่แปลกใจว่าทำไมช่วงโควิด-19 ประเด็นสิ่งแวดล้อมถึงถูกมองในเชิงบวกเหลือเกินไม่เหมือนกับเรื่องอื่นที่มีแต่แนวลบ ต้องยอมรับว่าที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเราอยู่ดีๆ หันมาทำด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษแต่เพราะเศรษฐกิจเราอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดนั้นเอง

คำถามคือ ในโลกหลังโควิด-19 เราควรตั้งหลักเรื่องนี้อย่างไร?

 

สองอนาคตของสิ่งแวดล้อม

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโจทย์ใหญ่ของทุกประเทศในโลกในหลังโควิด-19 คือ การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับความเสียหายจากนโยบายล็อกดาวน์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การปรับตัวไปสู่ ‘new normal’ หรือความ ‘ปกติใหม่’ อย่างไรเสียก็ตั้งอยู่บนความจริงข้อนี้ การคาดหวังให้ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บริโภคน้อยลง เพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น จึงเป็นความหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโอกาสในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่เลย โจทย์ท้าทายของเราคือทำยังไงให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนเมื่อก่อน วันที่เศรษฐกิจกำลังกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่และถูกกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวมากมาย นี่คือโอกาสใหญ่ที่เราจะเพิ่มมิติของการพัฒนาแบบยั่งยืนและการคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเข้าไป

สำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม โลกหลังโควิด-19 จะสามารถออกมาได้เป็นสองสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

1. business as usual (BAU) – กลับมาเหมือนเมื่อก่อน เศรษฐกิจเหนือสิ่งแวดล้อม

ในสถานการณ์นี้เศรษฐกิจจะอยู่เหนือทุกอย่างเหมือนก่อน โดยที่เราสนใจเพียงแค่การทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับคืนสภาพอย่างรวดเร็ว ส่วนเรื่องอื่นๆ (เช่น สิ่งแวดล้อม) ค่อยมาแก้กันทีหลัง ในวันที่ธุรกิจต่างๆ ฟื้นฟูและเร่งกลับเข้าสู่สภาพเดิม คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มลพิษจะกลับมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งหมดนี้จะทำให้ผลเชิงบวกของสิ่งแวดล้อมในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นหายไปในพริบตา เหมือนมันไม่เคยได้เกิดขึ้น

ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือที่หลายคนได้คาดว่าปริมาณมลพิษหลังโควิด-19 จะไม่เพียงแค่กลับไปสู่จุดเดิมก่อนวิกฤต แต่จะพุ่งเกินไปกว่านั้นอีก เพราะธุรกิจต่างๆ ก็ต้องรีบเร่งการผลิตของตัวเองเพื่อชดเชยสำหรับช่วงวิกฤตที่ผ่านมาที่กิจการโดนกระทบ ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีชื่อว่า ‘revenge pollution’ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศจีนช่วงปี 2008-2013

เพื่อการกระตุ้นและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในปี 2008 รัฐบาลจีนได้ทุ่มเงินจำนวน 5 แสนล้านดอลลาร์มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยหลังจากนั้นไม่กี่ปีอุตสาหกรรมในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ผลร้ายที่ตามมาคือค่าการปล่อยมลพิษในประเทศสูงขึ้นอย่างน่ากังวล และส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษที่กรุงปักกิ่งและหัวเมืองต่างๆ ในช่วงหน้าหนาวปี 2012-2013 ที่รู้จักกันในนามว่า ‘air-pocalypse’

2. green new normal – ความปกติใหม่ของทุกๆ ด้านรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม

การเกิด ‘revenge pollution’ ในประเทศจีนเป็นบทเรียนสำคัญที่เราต้องเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก นักคิดด้านสิ่งแวดล้อมจึงเห็นว่า การแก้ไขวิกฤตและออกแบบเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19 ควรต้องเอาวาระสีเขียว (green agenda) เข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่ด้วย พูดอีกแบบคือ หากจะมี ‘new normal’ เราก็ควรผลักดันให้เป็น ‘green new normal’

หัวใจสำคัญของ ‘green new normal’ คือการที่เรามุ่งเป้าเข้าสู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่มองถึงผลกระทบต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อม และมากไปกว่านั้นคือการมองถึงโอกาสที่สิ่งแวดล้อมจะมาช่วยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นตัวถ่วง วิธีคิดเช่นนี้คือ การเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและระบบนิเวศจากเดิมที่เป็นความสัมพันธ์แบบ ‘stressed relationship’ ให้เป็น ‘complimentary relationship’ หรือ ความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 

บนเส้นทางสู่ ‘green new normal’

 

การจะนำไปสู่  ‘green new normal’ ได้ต้องประกอบไปด้วยหลักการ 3A ได้แก่ ascension (ก้าวกระโดด) assimilation (ร่วมมือ) และ acceleration (เร่งมือ)

ascension (ก้าวกระโดด) – กระแสของเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) กำลังจะแพร่หลายในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจึงต้องก้าวกระโดดไปเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านเศรษฐกิจสีเขียว เราจะต้องกล้าเสี่ยงในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เรามีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการประเมินอุตสาหกรรมเป้าหมายคือการมีทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างของประเทศที่สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งใน 10 ปีที่ผ่านมา คือ สหรัฐอเมริกา หลังจากที่ได้ขุดค้นพบ shale oil และ shale gas จำนวนมหาศาล อเมริกาสามารถรีบปรับตัวเองจากผู้นำเข้า (net importer) เป็นผู้ส่งออก (net exporter) ได้อย่างรวดเร็วและสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก

สำหรับประเทศไทยอุตสาหกรรมที่ตรงกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของเราคือเศรษฐกิจชีวภาพ (bio-economy) ที่ประกอบด้วย พลังงานชีวภาพ (bioenergy), ชีวเคมี (biochemical) และ ยาชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) โดยเหตุหลักคือจากการที่เราครอบครองวัตถุดิบการผลิตที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาล์มที่เราเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก น้ำตาลที่เราเป็นทั้งผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 และผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก และมันสำปะหลังที่เราผลิตเกินครึ่งหนึ่งของอุปทานโลก

แม้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) ได้มีการสร้างแรงจูงใจร่วมแล้ว เช่นการเว้นการเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีนำเข้า รวมถึงมาตรการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) สิ่งที่เราควรจะทำต่อคือการสนับสนุนการแข่งขันและการดึงดูดของตลาดให้มีผู้เล่นมากขึ้น

เราควรสร้างแรงจูงในให้ผู้ผลิต โดยมีตัวอย่างเช่นผลักดันพลังงานก๊าซชีวภาพผ่านการเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟฟ้า (feed-in tariff rate) ซึ่งตอนนี้ราคาอยู่ที่ 5.35 บาท/กิโลวัตต์ และน้อยกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ (6.85 บาท/กิโลวัตต์) และ พลังงานลม (6.06 บาท/กิโลวัตต์) นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนพลาสติกย่อยสลายให้สู้กับราคากับโพลีเมอร์ดั้งเดิมได้ หรือส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high-value added products) เช่น การผลิตวัสดุ phase change material หรือเรียกสั้นๆ ว่า PCM ซึ่งผลิตจากน้ำมันปาล์มและสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการก่อสร้างได้

assimilation (ร่วมมือ) – เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมและต่างหน่วยงานจะต้องมีความรับผิดชอบของตน ยกตัวอย่างในระดับกระทรวง วันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นใหญ่เกินที่จะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวและควรเป็นการสามัคคีและร่วมงานของทุกกระทรวง มาตรการที่สามารถดึงทุกกระทรวงเข้ามามีส่วนร่วมคือ ‘green budgeting’ หรือการคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการพิจารณางบประมาณกระทรวง โดยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมจะคำนวณได้จากปริมาณมลพิษที่นโยบายต่างๆ สามารถช่วยลด ง่ายๆ คือนโยบายของแต่ละกระทรวงช่วยลดมลพิษได้เท่าไหร่ก็จะได้งบประมาณมากขึ้นเท่านั้นตามสัดส่วน

accelerate (เร่งมือ) – ในภาพรวมของการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ของเรา โดยเฉพาะด้านพลังงาน อุตสาหกรรมหนัก และขนส่งที่มีความเกี่ยวข้องเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ถ้ายึดกับหลัก ‘carrot and stick’ เราจะเห็นว่านโยบายของเราส่วนมากจะเป็น ‘carrot’ ซึ่งคือการเน้นเพิ่มแรงจูงใจให้คนทำสิ่งที่ดี (เช่นสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด) ไม่ใช่ ‘stick’ ที่เป็นการลงโทษคนเมื่อทำสิ่งที่ไม่ดี (เช่นการใช้พลังงานฟอสซิล) ถ้าเราจะครัดเคร่งเรื่องนี้จริงเราจะต้องใช้ทั้งสองมาตรการ ‘carrot’ คือการเอื้ออำนวยแต่ ‘stick’ คือเครื่องเร่งมือให้เราไปสู่เป้าหมาย ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้

หนึ่งแนวทางของ ‘stick’ ที่เป็นประเด็นถกเถียงแต่จำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังคือภาษีคาร์บอน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตมลพิษไม่เคยถูกคิดคำนวณหรือต้องจ่ายต้นทุนทางสังคมจากมลพิษ ผิดกับหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือ ‘polluter pays principal’ ซึ่งเป็นหลักที่ได้การยอมรับระดับนานาชาติ หลายประเทศทั่วโลกได้มีการใช้ภาษีคาร์บอนแล้วและได้เห็นถึงตัวเลขของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่นใน 25 ปีที่ประเทศสวีเดนได้ออกมาตรการภาษีคาร์บอน ปริมาณคาร์บอนในประเทศลดลง 23% แถมในช่วงเดียวกันนั้นเศรษฐกิจของประเทศโตขึ้น 55% ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่ามาตรการนี้ไม่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจเหมือนที่หลายๆ คนคิด

 

พูดให้ถึงที่สุด ‘green new normal’ คือการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาดีกว่าก่อนช่วงโควิด-19 โดยเรื่องดีๆ ที่ผ่านมาเช่น การที่สัตว์ป่าสงวนโผล่มาจากธรรมชาติ หรือฉลามวาฬถูกพบบริเวณเกาะเต่าไม่หายไป แต่การจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องใช้นโยบายและอุตสาหกรรมที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นฟูครั้งนี้

จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดคือ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลและเอกชน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการมองความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและระบบนิเวศจาก ‘stressed relationship’ ให้เป็น ‘complimentary relationship’ และต้องร่วมมือกันคิดและทํานโยบายที่มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ที่จะช่วยส่งเสริมให้มิติเศรษฐกิจและมิติสิ่งแวดล้อมสามารถเติบโตเคียงข้างกันได้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save