fbpx
โลกดิจิทัล โลกนอกระบบ และโลกร้อน: สัญญาทางเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19

โลกดิจิทัล โลกนอกระบบ และโลกร้อน: สัญญาทางเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19

ตฤณ ไอยะรา[1] เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

บทนำ: โรคระบาด วิกฤตทางเศรษฐกิจ และการแตกสลายทางสังคม

 

ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษที่ 2 และ 3 ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 โลกได้เผชิญกับภาวะวิกฤตใหญ่หลายประการ เช่น การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การระบาดของไข้หวัดสเปน และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันยิ่งใหญ่ที่เป็นผลจากการล่มสลายของตลาดหุ้นวอลล์ สตรีท ปี 1929

Karl Polanyi (1944) เสนอว่า วิกฤตเหล่านี้ โดยเฉพาะสงครามและความตกต่ำทางเศรษฐกิจทำให้เกิด ‘การพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่’ (the great transformation) ของระบบเศรษฐกิจในโลกตะวันตก[2] การพลิกผันเกิดขึ้นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างระบบเศรษฐกิจและการเมืองกับสังคม กล่าวคือนับตั้งแต่ช่วงเวลารุ่งอรุณของการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ระบบเศรษฐกิจเป็นอิสระจากการควบคุมของการเมืองและสังคม (disembedded economy) แต่หลังจากวิกฤตปะทุขึ้น กลุ่มพลังทางการเมืองและสังคมเข้าไปจัดการระบบเศรษฐกิจให้กลับมาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมอีกครั้ง (embedded economy)

ความพลิกผันในความสัมพันธ์ระหว่างระบบทางเศรษฐกิจและปริมณฑลทางการเมืองและสังคมสามารถเห็นได้จากการสถาปนาระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐควบคุมการจัดสรรทรัพยากรในสหภาพโซเวียต หรือระบอบนาซีในเยอรมนีที่รัฐผนวกเอาบรรษัทเอกชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งทางการทหารและเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ความพลิกผันยังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลได้จัดการเสนอสัญญาใหม่ (new deal) เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนให้รอดพ้นจากวิกฤต

จากข้อเสนอของ Polanyi ความพลิกผันเหล่านี้เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของกลุ่มพลังทางสังคมในการต่อสู้กับความผันผวนที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดที่ปรับตัวได้เอง (self-regulating market) เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของตนเอง เพราะในหลายครั้ง เสรีภาพที่มาพร้อมกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้ชีวิตพวกเขาเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งในท้ายที่สุดไปบั่นทอนทั้งเสรีภาพและความมั่นคงของพวกเขาเอง

การแพร่กระจายไปทั่วโลกของโควิด-19 คงกระตุ้นให้หลายท่านต้องคิดถึงสัญญาใหม่ในการจัดการระบบเศรษฐกิจ เพราะโควิด-19 ในฐานะโรคระบาดได้เผยความเปราะบางในชีวิตทางเศรษฐกิจของมนุษย์ให้ได้เห็นอย่างชัดเจนขึ้น โควิด-19 จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางสุขภาพเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจรอบใหม่ที่อาจมีความรุนแรงกว่าวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008 เสียด้วยซ้ำ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตอนนี้แสดงให้เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 ทำลายการถักทอทางสังคม (social fabric) และความไว้เนื้อเชื่อใจ อันเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่ผู้ต้องสงสัยว่าติดโควิด-19 ออกจากชุมชน หรือการขยายตัวของการเหยียดผิวชาวเอเชียตะวันออกในโลกตะวันตก

บทความชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอใหม่ว่าสัญญาเศรษฐกิจควรครอบคลุมถึงสามเงื่อนไขต่อไปนี้ คือ 1.โลกดิจิทัลหรือการกระจายและเข้าถึงทรัพยากรดิจิทัล 2.โลกนอกระบบหรือผู้คนและกิจกรรมที่อยู่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ และ 3.โลกร้อนหรือภาวะความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นอกเหนือไปจากข้อเสนอแบบมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการรองรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้

โลกดิจิทัล

 

มีมหลายชิ้นในโซเซียลมีเดียเล่นตลกอย่างแดกดันว่า การระบาดของโควิด-19 คือปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ปรับตัวไปทำงานออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วเสียยิ่งกว่าคำสั่งการของผู้บริหารองค์กรระดับสูงหรือการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ โควิด-19 ได้เปลี่ยนพื้นที่ทำงานให้กลายเป็นเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการแพร่กระจายไวรัส การทำงานออนไลน์จึงไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีโอกาสเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นได้

ข้อพิสูจน์ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการทำงานออนไลน์ที่ชัดเจนที่สุดประการหนึ่ง คือ การพุ่งทะยานของราคาหุ้นในบางบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานจากที่พักอาศัยของตนเอง เช่น Zoom บริษัทที่ให้บริการการจัดการประชุมทางไกลผ่านทางวีดีโอ ซึ่งมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 145 ในไตรมาสแรกของปีนี้  ยิ่งกว่านั้น เทคโนโลยีสารสนเทศยังเอื้อต่อการสร้างตลาดเสมือนในโลกออนไลน์ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถใช้กระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการ การสอนและเรียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งการใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง ได้อย่างเป็นปกติภายใต้ภาวะพิเศษ

ถึงแม้เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของโลกดิจิทัลได้ลดโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่ผู้คนลง เพราะเทคโนโลยีสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจเคลื่อนตัวต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแบบต่อหน้า สัญญาทางเศรษฐกิจใหม่ควรมีข้อพิจารณาถึงการจัดการพื้นที่โลกดิจิทัล

ข้อพิจารณาประการแรก คือ ผู้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงเงื่อนไขที่จำเป็นและสำคัญต่อการทำงานจากที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมที่สร้างช่องทางในการติดต่อกับผู้คนออนไลน์ เครื่องมือที่ใช้การติดต่อกับผู้คนในโลกดิจิทัล หรือสัญญาอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรและขนาดใหญ่พอที่เอื้อให้ผู้คนหมู่มากสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ในเวลาเดียวกัน ดังที่เราเห็นจากข่าวของปัจเจก[3] บางรายที่ไม่ได้ลงทะเบียนขอเงินช่วยเหลือจากรัฐได้ เพราะไม่มีสมาร์ทโฟน หรือนักศึกษาในบางมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้าร่วมการเรียนการสอนในชั้นเรียนออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณไวไฟที่มีคุณภาพได้  สภาวะข้างต้นไม่ได้นำไปสู่การกีดกันผู้คนบางกลุ่มในการเข้าไปมีส่วนร่วมในพื้นที่ดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังได้ปฏิเสธโอกาส รายได้ ข้อมูลข่าวสาร และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่พวกเขาพึงได้รับด้วย

สัญญาทางเศรษฐกิจใหม่จึงควรคิดถึงการเข้าถึงโลกดิจิทัลผ่านการครอบครองหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ใช่สินค้าที่ถูกกำหนดด้วยกลไกตลาดเป็นหลัก เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยแต่คือความจำเป็นของพื้นฐานที่เอื้อให้มนุษย์แปลงแรงงานของตนเองเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้

ข้อพิจารณาประการที่สอง คือ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการพักผ่อนพร่าเลือนขึ้นไปอีก เพราะเรามีความยืดหยุ่นในการเลือกเวลาปฏิบัติงานและสถานที่ทำงานได้มากขึ้น ตราบเท่าที่เรายังเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสาร แต่ราคาที่ต้องจ่ายให้กับความยืดหยุ่นข้างต้นคือ ความเป็นส่วนตัว (privacy) ที่สูญเสียไปจากการเข้าไปใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลในระดับที่เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของการรักษาความปลอดภัยในแอปพลิเคชัน หรือสภาพการทำงานที่ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่และเวลาส่วนตัวมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นโลกดิจิทัลยังเปิดโอกาสให้รัฐเข้าไปยุ่งย่ามกับปริมณฑลส่วนตัวของปัจเจกในระดับที่น่ากังวลขึ้นไปอีก อาทิ การเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเดินทางในโลกออนไลน์ ถ้าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้สถาปนาและรักษาไว้ซึ่งสถาบันอย่างกรรมสิทธิ์เอกชน (private property) เพื่อปกป้องผลกรรมที่มนุษย์ได้ลงแรงไป สัญญาเศรษฐกิจใหม่ควรคำนึงถึงสถาบันที่เอื้อต่อการขีดเส้นแบ่งและจัดการพื้นที่ส่วนตัวในโลกดิจิทัล เพื่อให้โลกดิจิทัลเป็นเงื่อนไขที่มนุษย์ใช้เพิ่มเสรีภาพและโอกาสของตนเองได้อย่างปราศจากความกังวลจากการคุกคาม

โลกนอกระบบ (เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ)

 

นอกเหนือจากการขยายตัวของโลกดิจิทัลในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ยังเผยให้เห็นถึงความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงของโลกนอกระบบ (เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ) อย่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะชีวิตของผู้คนที่ฝากไว้กับรายได้จากการขายแรงงานรายวันหรือค่าตอบแทนรายครั้ง เช่น อาชีพแบบคนรับจ้างให้บริการขนส่ง หรือแรงงานก่อสร้าง ในห้วงยามที่บ้านเมืองและเศรษฐกิจยังดี แรงงานเหล่านี้สามารถจัดสรรเวลาและกำลังของตนในการแสวงหารายได้ที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ผ่านการจัดสรรกำลังและเวลาในการปฏิบัติงานหลายอย่างพร้อมกัน แต่ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 ที่เศรษฐกิจได้ชะงักลง แรงงานเหล่าจึงขาดรายได้ไปในสัดส่วนที่สูงจนกระทบการใช้ชีวิตของพวกเขา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น แรงงานกลุ่มนี้ยังไม่มีหลักประกัน (safety nets) เช่น กระแสรายรับที่แน่นอน (ที่แม้ลดลงไปบ้างตามนโยบายของหน่วยงานแต่ละแห่ง) การเข้าถึงสวัสดิการบางประการของรัฐที่อิงอยู่กับการเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในระบบ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้สำหรับประทังชีวิตในช่วงโรคระบาด รวมไปถึงเงินออมที่เป็นทรัพยากรในการจัดหาสินค้าจำเป็นในยามที่รายได้ลดลงหรือขาดช่วง

วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกกลุ่มอย่างไม่ต้องสงสัย แต่แรงงานนอกระบบเหล่านี้คือผู้เผชิญกับภาวะความไร้ความมั่นคงสูงที่สุด

ความท้าทายในการจัดการหลักประกันให้แก่ชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ในประเทศกำลังพัฒนายิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีก เพราะแรงงานกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนของกำลังแรงงานในประเทศในระดับที่สูงมิใช่น้อย จากรายงานของ ILO (International Labour Organization) แรงงานจำนวนสองพันล้านคนในโลก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา มีรายได้จากการขายกำลังแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ[4] ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานกลุ่มนี้ยังทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการช่วยให้สังคมดำเนินไปอย่างปกติมากขึ้น เช่น ผู้รับจ้างขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารหรือสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ ถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้แล้ว เราคงไม่สามารถแปลงอุปสงค์หรือคำสั่งซื้อในโลกดิจิทัลที่ส่งให้แก่ผู้ผลิตไปเป็นอุปทานหรือสินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคที่กักตัวในที่พำนักได้ หรือกระทั่งคนเก็บขยะที่ช่วยรักษาปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการบริโภคได้ ดังนั้นแล้ว ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ สัญญาทางเศรษฐกิจใหม่ควรคิดถึงเรื่องการสร้างความมั่นคงให้แก่แรงงานที่อยู่ในโลกนอกระบบที่เป็นทางการด้วย

ด้วยความรู้และความรับรู้ที่จำกัดของผู้เขียน บทความนี้จึงไม่ได้มีข้อเสนอในการร่างสัญญาฯ อย่างละเอียด นอกจากเสนอหลักการอย่างตื้นเขินด้วยกันสองประการ

1. สัญญาฉบับใหม่นี้ควรคิดถึงการใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นในช่วงหลังในการออกแบบระบบสวัสดิการและโครงการช่วยเหลือที่ครอบคลุมต่อแรงงานนอกระบบ ในขณะเดียวกัน ระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้นใหม่ควรมีความยืดหยุ่นพอในการตอบสนองต่อความจำเป็นที่หลากหลายของแรงงานนอกระบบที่แตกต่างกันไปเฉพาะกลุ่ม แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ต้องจัดการความสมดุลระหว่างการเข้าไปแทรกแซงพื้นที่ส่วนตัวและการจัดสรรสวัสดิการอย่างเข้าถึงและเข้าใจให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ด้วย

2. สัญญาฉบับนี้ควรคำนึงถึงการสร้างสถาบันที่เกื้อหนุนให้แรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่แตกต่างกันได้ช่วยเหลือระหว่างกลุ่มได้ง่ายขึ้น เพราะความแตกต่างกันทางทักษะและทรัพยากรของแรงงานนอกระบบที่มีหลายกลุ่มสามารถพยุงให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ หากแก้ปัญหาความล้มเหลวของการประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเห็นได้จากกรณีที่องค์กรเอกชนแห่งหนึ่งช่วยประสานให้กลุ่มชาวประมงไทใหม่ที่อาศัยในบริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดภูเก็ตแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า (barter trade) กับชาวกระเหรี่ยงที่มีถิ่นฐานตามภูเขา[5]  องค์กรเอกชนดำเนินโครงการให้ชาวไทยใหม่นำปลาเค็มและปลาแห้งไปแลกกับข้าวที่ปลูกโดยชาวกระเหรี่ยง โครงการนี้ช่วยให้ชาวกระเหรี่ยงเข้าถึงแหล่งโปรตีนจากทะเลและช่วยให้ชาวไทใหม่มีข้าวสารในการบริโภคประจำวัน ในสภาวะที่พวกเขาไม่สามารถหารายได้จากการขายปลาที่พวกเขาจับมาได้แก่นักท่องเที่ยวที่ลดลงจากการระบาดของโควิด-19

โลกร้อน

 

กระแสหนึ่งที่มาแรงในโลกโซเซียลช่วงที่ผ่านมา คือการพูดถึงว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกสะอาดขึ้น เพราะการหายไปของมนุษย์จำนวนมหาศาลในพื้นที่นอกแหล่งพำนักพักพิง ทำให้ธรรมชาติได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง  ถึงแม้ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกระแสนี้หลายอย่างเป็นข่าวปลอม หรือแสดงถึงการละเลยมิติอีกหลายด้านในวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนและถกเถียงเรื่องปัญหาสภาพแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมาและละเอียดรอบคอบได้ โดยเฉพาะปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือภาวะโลกร้อน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจมีความเกี่ยวข้องกับความเร็วในการแพร่กระจายของโควิด-19 บทความของ James Kingsland ในเว็บไซต์ Medical News Today ได้เสนอข้อถกเถียงว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่ออัตราการกระจายตัวของไวรัส โดยอ้างอิงกับข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของความรุนแรงในการระบาดของไวรัสต่างชนิดกันในช่วงเวลาที่สภาพอากาศต่างกัน[6] เช่น การระบาดของไข้เหลืองเกือบทั้งหมด (7 ครั้งจาก 9 ครั้ง) ในช่วง 1793-1905 เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

Kingsland ยังได้เสนอเพิ่มเติมว่า อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยังทำให้ภูมิต้านทานของมนุษย์อ่อนแอลงอีกด้วย เหมือนกับการระบาดของหวัดในฤดูหนาวที่เป็นผลจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ผันแปรอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูใบไม้ร่วง

ถึงแม้ในขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายของโควิด-19 กับสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงออกมา แต่กรณีศึกษาในประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ความผันผวนของอุณหภูมิมีศักยภาพในการทำให้ปัญหาการแพร่กระจายของโควิด-19 เลวร้ายลงไปได้อีก

สัญญาทางเศรษฐกิจฉบับใหม่จึงจำเป็นต้องผนวกวาระของการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลายวาระเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การเสนอแผนการพัฒนาใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (green new deal) ที่จัดวางให้รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันนโยบายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรือการส่งเสริมกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในการใช้พลังงานทดแทนที่สะอาดและใช้ซ้ำได้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการรักษาความเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน[7] หรือการสร้างสถาบันให้แรงงานที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจนอกระบบรับมือกับสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ เพราะโดยเปรียบเทียบแล้ว แรงงานกลุ่มนี้มีความเปราะบางในการเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มอื่นในสังคม

 

บทสรุป: โลกาภิวัตน์หรือโลกาวินาศ

 

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักวิชาการโดยเฉพาะสายเศรษฐศาสตร์หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักตั้งคำถามว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกเผชิญกับความเสื่อมถอยของกระบวนการโลกาภิวัตน์หรือไม่ แม้ว่าผู้เขียนเห็นว่าคำถามข้างต้นสำคัญ เพราะโลกาภิวัตน์คือหนึ่งสภาพความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าคำถามที่สำคัญกว่าคือ หลังจากสิ้นสุดของการระบาดของโควิด-19 โลกเผชิญกับภาวะโลกาวินาศในปริมณฑลทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะการระบาดของไวรัสชนิดนี้ได้บั่นทอนความเชื่อใจของมนุษย์ที่มีต่อกัน พร้อมกับสร้างเงื่อนไขที่ทำให้มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันอย่างระวังและระแวงมากขึ้น

การถักทอทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่ถูกการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ฉีกขาดไป จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมด้วยการเสนอสัญญาทางเศรษฐกิจใหม่ที่จำเป็นต้องรับประกันถึงสิทธิในการเข้าถึงและความเป็นส่วนตัวในโลกดิจิทัล การปกป้องผู้คนที่มีชีวิตทางเศรษฐกิจอันเปราะบางจากความผันผวนของกลไกตลาด และการรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน

 


อ้างอิง

[1] หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

[2] Polanyi, Karl. 1944. The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Time. Boston, M.A.: Beacon Press. ฉบับแปลไทยสามารถอ่านได้จาก คาร์ล โปลานยี. 2559. เมื่อโลกพลิกผัน: การปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน. แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน

[3] ผู้เขียนจงใจใช้คำว่า ‘ปัจเจก’ แทน ‘พลเมือง’ เพราะคำหลังมีแนวโน้มสื่อในทางที่ผู้คนต้องรับใช้รัฐ ในขณะที่คำแรกมีนัยยะถึงเสรีภาพและสิทธิของผู้คนมากกว่า

[4] “More than 60 percent of the world’s employed population are in the informal economy.” 2018. International Labour Organization. April 30, 2018. Accessed April 24, 2020.

[5] “นักวิชาการหนุนโครงการข้าวกะเหรี่ยงแลกปลาชาวเล ชี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์-ความเข้าใจ ชาวราไวย์เตรียมส่งปลาแห้งล็อตแรก 500 กก.” 2563. สำนักข่าวชายขอบ. 14 เมษายน พ.ศ. 2563. เข้าถึง 25 เมษายน พ.ศ. 2563.

[6] Kingsland, James. 2020. “How Might Climate Change Affect the Spread of Viruses?” Medical News Today. April 3, 2020. Accessed April 25, 2020.

[7] ตัวอย่างหนึ่งของงานวิชาการที่กล่าวถึงประเด็นนี้คือ Pollin, Robert. 2018. “De-Growth VS A Green New Deal.” New Left Review. 112 (July-August 2018): 5-25.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save