fbpx
ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ: ราคาที่ต้องจ่ายของการป้องกันโรคระบาด

ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ: ราคาที่ต้องจ่ายของการป้องกันโรคระบาด

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เราทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าโควิด-19 แต่บางคนอาจเท่าเทียมกว่าอีกคน

 

Larry Brilliant นักระบาดวิทยาชาวอเมริกันกล่าวว่า โควิด-19 เป็น “an equal opportunity infector” ใครๆ ก็ติดได้ทั้งนั้น เพราะโรคนี้ไม่เลือกเพศ อายุ รายได้ และชาติพันธุ์ แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ Jayant Menon อดีตนักเศรษฐศาสตร์ที่ Asian Development Bank บอกว่า แม้ทุกคนจะติดโควิด-19 ได้เหมือนกันหมด แต่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรค โอกาสเสียชีวิตเมื่อเป็นโรค และผลกระทบจากนโยบายที่รัฐบาลใช้เพื่อควบคุมโรค กลับเลวร้ายมากกว่าในกลุ่มคนจน

Jayant อธิบายว่า คนจนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือชานเมือง มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 สูงกว่าคนจนที่อาศัยในชนบท เพราะคนจนเมืองต้องหลับนอนในที่แออัดคับแคบ และมักทำงานในภาคบริการที่ต้องมีการสัมผัสทางร่างกาย เช่น การก่อสร้าง และการขนส่ง เป็นต้น ทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้ยาก ขณะที่คนจนในชนบทมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคน้อยกว่า เพราะอยู่ในที่ไม่แออัด ทำงานในท้องไร่ท้องนา การทำงานไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสหรือพูดคุยกับคนอื่นมากนัก

ในปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคนอาศัยอยู่ในสลัม ซึ่งนับรวมคนจนเมือง คนไร้บ้าน และแรงงานต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จัดหาให้โดยรัฐ กลายเป็นคนที่มองไม่เห็น (invisible) เฉกเช่นเดียวกับไวรัส

ในแง่ของการป้องกันโรค การล้างมือเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการระบาดของโรคแทบทุกโรค ไม่เพียงเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เท่านั้น UNICEF คาดการณ์ว่า ประมาณ 40% ของ deadly disease สามารถป้องกันได้โดยการล้างมือ แต่ปัญหาคือคนจนไม่มีน้ำสะอาดให้ได้ใช้ การสำรวจโดยองค์การสหประชาชาติพบว่า มีประชากรโลกเพียงแค่ 70% เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น 1 ใน 5 ของคนที่มีอายุต่ำมากกว่า 15 ปี ไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนเป็นผลให้เข้าไม่ถึงความรู้ด้านสุขอนามัยด้วย ความเสี่ยงในการติดโรคในกลุ่มคนจนจึงเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อติดโรคแล้ว คนจนยังมีโอกาสที่จะหายช้ากว่าคนอื่น (มี infection-fatality rate ที่สูง) เพราะคนจนมักประสบกับภาวะทุพโภชนาการ หรือการที่ร่างกายมีภาวะโภชนาการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน ขาดสารอาหาร แคระแกร็น ซึ่งภาวะทุพโภชนาการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้ความสามารถของร่างกายที่จะต่อสู้กับไวรัสลดลง ซึ่งจะยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปใหญ่ เมื่อคนจนไม่อาจเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข (เป็นแรงงานนอกระบบ) นอกจากนั้น โอกาสที่คนจนจะได้รับการตรวจโควิดยังมีน้อย (ทุกวันนี้ยังไม่มีตัวเลขออกมาว่า ในกลุ่มคนจนมีทั้งหมดกี่คน คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ที่ได้รับการตรวจโรค) คำถามสำคัญก็คือว่า ในเมื่อคนจนมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า ในวันนี้ คนจนได้รับการตรวจไปแล้วกี่คน

 

ต้นทุนและประโยชน์ของการควบคุมโรคระบาดแบบ ‘กันไว้ดีกว่าแก้’

 

ประเด็นสำคัญถัดมาก็คือ ทำไมประเทศยากจนที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ (low infection rate) ถึงขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ที่ผ่านมา ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดมากและมีอัตราการตายสูง อย่างอิตาลี สเปน และอิหร่าน ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อชะลอการติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขต้องแบกรับคนไข้จำนวนมากในคราวเดียว สิ่งที่สำคัญก็คือว่า เราต้องรู้ว่ามาตรการล็อกดาวน์มีไว้ทำอะไร และอะไรคือผลลัพธ์ของการพยายามชะลอการระบาด หรือที่ภาษาในทางเทคนิคเรียกว่า ‘flattening the curve’ (การทำให้กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อแบนราบ)

ในทางทฤษฎีการล็อกดาวน์ไม่ได้มีไว้เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด (total number) แต่มีจุดประสงค์เพื่อ ‘เปลี่ยนแปลง’ เส้นการติดเชื้อ (infection curve) หรือกระจายผู้ติดเชื้อออกไปให้นานขึ้น ไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากในคราวเดียวกันจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ การควบคุมไวรัสในอู่ฮั่นชี้ให้เห็นว่า มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้ออย่างได้ผล และเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ เดินตามเมื่อพบการระบาด

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการที่เข้มข้นมากจนเกินไป (excessively draconian measures) อาจจะไม่ใช่มาตรการแบบเดียวที่สามารถลดการติดเชื้อได้ ประสบการณ์ในการควบคุมการระบาดของโรคในฮ่องกงและไต้หวันบอกเราว่า มาตรการ social distancing แบบเจาะจง (targeted social distancing measures) ที่ไม่ได้ชัตดาวน์ระบบเศรษฐกิจ ก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดเช่นกัน

คำถามที่น่าคิดคือ ทำไมประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อและอัตราการตายต่ำ อย่างมาเลเซียและไทย จึงเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นค่อนข้างยาวนาน และยังขยายการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มาตรการดังกล่าวมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่แสนแพงนี้?

อาจเป็นไปได้ว่า รัฐบาล (ในกรณีขอไทย ก็คือ ศบค.) รู้ดีว่า ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์โรคได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีศักยภาพในรตรวจโรคที่จำกัด เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะมีสมมติฐานว่า ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งของผลกระทบของโควิด-19 ในขณะที่ความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการอยู่

โดยปกติ ในประเทศที่ทรัพยากรจำกัด มีแค่คนที่แสดงอาการเท่านั้นที่ได้รับการตรวจ คนที่ไม่ได้รับการตรวจแต่ติดเชื้อ และแสดงอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลย ก็กลายเป็นคนที่มองไม่เห็น ไม่ปรากฏอยู่ในสถิติ แต่คนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ ดังนั้น จึงเกิดช่องว่างระหว่างคนที่ติดเชื้อจริงๆ กับ ตัวเลขที่รายงานตามข่าว

 

กราฟความสัมพันธ์เชิงบวก ระหว่างจำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคนกับรายได้ต่อหัว

ที่มา: Morgan and Trinh (2020)

 

ภาพด้านบนแสดงความสัมพันธ์เชิงบวก ระหว่าง จำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคน กับ รายได้ต่อหัวในเอเชีย เมื่อภูมิคุ้มกันของโรคในประเทศที่ยากจนน้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวย ความแตกต่างระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อจึงอาจมาจากการที่ตรวจโรคไม่พบ เพราะว่ามีการทดสอบตรวจหาเชื้อน้อย

 

ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนผู้ได้รับการตรวจหาโรคต่อประชากร 1 ล้านคนและรายได้ต่อหัว

ที่มา: Morgan and Trinh (2020)

 

ภาพด้านบนแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนผู้ได้รับการตรวจหาโรคต่อประชากร 1 ล้านคนและรายได้ต่อหัว อัตราการตรวจโรคที่ต่ำในประเทศรายได้น้อยชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านี้ น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง

เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจึงไม่อาจปักใจเชื่อว่าสามารถควบคุมการระบาดได้ และไม่อาจใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงาน (reported infection rates) ในการตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคระบาด (รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่ใช้เพื่อควบคุมโรค) จึงอาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมยังต้องใช้มาตรการที่เข้มงวด ทั้งๆ ที่มีผู้ติดเชื้อในประเทศน้อย

เมื่อข้อมูลเชื่อถือไม่ได้ หรือมีไม่มากพอ รัฐบาลที่ไม่ค่อยชอบความเสี่ยง (risk-aversion government) ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการขยายระยะเวลาการควบคุมอย่างเข้มงวดออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีน รัฐบาลอาจได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การแก้ (การรักษาโรค) ยังไม่ถูกค้นพบ และระบบสาธารณสุขยังไม่แข็งแรงมากนัก

แล้วการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวดมีความคุ้มค่าหรือไม่? การจะตอบคำถามนี้ ต้องดูที่ต้นทุนและประโยชน์ของมาตรการควบคุมที่ใช้ ในแง่ของ ‘ประโยชน์’ การวัดมูลค่าอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อการระบาดของโรค ในขณะที่การวิเคราะห์ต้นทุนของการใช้มาตรการแบบเข้มงวดอาจจะทำได้ง่ายกว่า มีการวิเคราะห์มากมายที่แสดงผลกระทบของโควิด-19 ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีตัวเลขที่แตกต่างกันไปตามสมมติฐาน IMF คาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน ว่า เศรษฐกิจโลกจะติดลบประมาณ 3% ในมิถุนายนก็ปรับตัวเลขเป็น 4.9% งานศึกษาโดย UNU-WIDER ที่มุ่งเป้าไปที่ผลกระทบต่อคนจน บอกว่า เป้าหมายของ UNSDG ที่จะกำจัดความยากจนและความหิวโหยภายในปี ค.ศ. 2030 อาจทำไม่สำเร็จเพราะความยากจนโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด หากสมมติว่ารายได้ต่อหัวลดลง 20% จะมีคนจนกว่า 500 ล้านคนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก

แน่นอนว่า ตัวเลขที่ถูกคาดการณ์นี้ สามารถถกเถียงกันได้ เพราะขึ้นอยู่กับสมมติฐานและแบบจำลองที่ใช้ ในขณะเดียวกัน มันกำลังบอกเราว่า มาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มข้นทั้งหลาย กำลังมีผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ และความยากจน ทั้งในประเทศที่ร่ำรวยและยากจน

 

เมื่อคนอดตายอาจมากกว่าคนที่ตายจากไวรัส

 

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ หนึ่งในประเด็นที่ต้องขบคิดในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 คือ การทำความเข้าใจผลกระทบของมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวดที่มีต่อความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน

ในขณะที่ภาครัฐพยายามที่จะทำให้กราฟผู้ติดเชื้อแบนราบ กราฟอีกเส้นที่ชื่อว่า ‘misery curve’ (กราฟความทุกข์ยาก) ซึ่งวัดต้นทุนและความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากมาตรการการควบคุมการระบาด (curtailment measure) ก็จะสูงขึ้น ทั้งนี้ต้นทุนและความเสียหายที่เกิดขึ้น สะท้อนออกมาในรูปของรายได้ที่ลดลง ช่องทางทำมาหากินที่ถูกจำกัด และการสูญเสียทางชีวิต

แม้ว่า misery curve อาจแตกต่างกันไปในแต่ละครัวเรือน แต่โดยเฉลี่ยแล้วความเสียหายต่อครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น ตามความรุนแรง (severity) และระยะเวลา (time) ของการใช้มาตรการเพื่อควบคุมโรค และลดลงด้วยเงินชดเชยหรือการช่วยเหลือจากรัฐบาล ดังนั้น หากรัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการสุดโต่งอย่างการล็อกดาวน์ แม้ว่ากราฟของผู้ติดเชื้อจะแบนราบ แต่มันแลกมาด้วยการเพิ่มขึ้นของ misery curve

Jayant อธิบายว่า ผลกระทบของมาตรการที่ใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคต่อ misery curve ขึ้นอยู่กับสภาพหรือลักษณะพื้นฐานของคนจน เช่น รายได้ เงินออม สินทรัพย์สภาพคล่อง บ้านเรือน การเข้าถึงน้ำสะอาด ลักษณะพวกนี้เป็นตัวบอกว่าต้นทุนของมาตรการที่รัฐใช้จะมีมากน้อยแค่ไหน ต้นทุนเหล่านี้ยังสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามมาตรการรัฐของประชาชนด้วย กล่าวคือ เมื่อต้นทุนเหล่านี้เพิ่มขึ้น โอกาสที่ประชาชนจะแหกกฎล็อกดาวน์ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น โจทย์ที่ท้าทายในขณะนี้ จึงไม่ใช่แค่ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่คือการหาจุดสมดุลระหว่างกราฟผู้ติดเชื้อและกราฟความทุกข์ยาก

FAO พบว่า ในขณะนี้มีประชากรโลกกว่า 690 ล้านคนอยู่ในสภาวะหิวโหย และอีกกว่า 2 พันล้านคนได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางอาหาร ในทุกๆ วัน ประชากรกว่า 25,000 คนต้องตายจากความหิวโหยและความแร้นแค้น การขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด อาจทำให้คนที่ตายจากความหิวโหยเพิ่มขึ้น มากกว่าตายจากไวรัสเสียอีก

การปิดโรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่รัฐบาลมักใช้เพื่อควบคุมการระบาด แต่ผลกระทบระยะยาวของการขาดเรียนหลายเดือน รวมไปถึงการขาดการตรวจสุขภาพ การขาดอาหารที่ดี ย่อมส่งผลต่อเด็กในครอบครัวยากจน กีดขวางการพัฒนาทุนมนุษย์ ขาดความสามารถทางรายได้ในอนาคต (earning potential) ท้ายที่สุด ก็ทำให้เด็กเหล่านี้ ติดหล่มอยู่ในวัฏจักรแห่งความยากจน

ความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้ทำให้หลายประเทศใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อชะลอการระบาดของโรค แม้จะยังไม่มีวัคซีนออกมาให้ใช้ แต่ความรู้อย่างหนึ่งที่มีในมือคือ ผลกระทบของโควิด-19 มีไม่เท่ากัน ยิ่งจนมาก ก็ยิ่งกระทบมาก ในวันที่คนจนเต็มเมือง รัฐบาลน่าจะเลิกคลั่งศูนย์ และหันมาใส่ใจกับสภาพชีวิตของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ใช้ในการควบคุมโรค

คงจะไม่ฉลาดนัก หากจะร้องไชโยที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ แต่คนกลับร้องระงมเพราะความหิวโหย

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save