fbpx
รู้เท่าทันระเบียบโลกใหม่ ในยุคหลังโควิด

รู้เท่าทันระเบียบโลกใหม่ ในยุคหลังโควิด

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ดังที่เคยกล่าวถึงในบทความเรื่อง ระเบียบการค้าโลกหลัง COVID-19 ว่า ประเทศไทยคงต้องรู้เท่าทัน และปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบรุนแรง (Disruptive Technology) ซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เป็นตัวเร่ง ระเบียบโลกทางด้านการค้าและการลงทุนดูเหมือนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก คือจากที่เคยอยู่ภายใต้กฎกติกาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) มาเป็นการสร้างกลุ่มการค้าในระดับภูมิภาค (Regional Trade Agreements: RTAs เจรจาและบังคับใช้ระหว่างกลุ่มประเทศ) และข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral Trade Agreements เจรจาและบังคับใช้ระหว่างคู่ประเทศ) ซึ่งมีลักษณะทับซ้อนและบางครั้งกีดกันบางประเทศออกไปเพื่อโดดเดี่ยว และ/หรือ ปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า ในโลกที่เรายังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าในระดับนานาชาติ (Global Value Chains: GVCs) การใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) ยังคงมีความสำคัญในการสร้างแต้มต่อ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีศุลกากรและการลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำลง และเพิ่มความพึงพอใจของประชาชนหรือผู้บริโภคทุกคนที่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการจากต่างประเทศที่ราคาถูกลงและคุณภาพเหมาะสมกับราคามากยิ่งขึ้น (แน่นอนว่าสำหรับผู้ผลิต นั่นก็หมายถึงคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นด้วย) FTA ยังเพิ่มโอกาสในการลงทุนทั้ง 2 ทิศทาง คือ นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ และนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งหมายถึงโอกาสการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นสำหรับคนในประเทศ และในข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ ประเด็นด้านกฎระเบียบ กติกา สำหรับการทำการค้า การลงทุน ในลักษณะที่มีมาตรการให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม และทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถคาดการณ์ถึงผลของการบังคับใช้ (Rule-based and Predictable) ก็มักจะถูกพัฒนาร่วมกันในระหว่างการเจรจาข้อตกลงทางการค้าด้วย

ขณะที่ประเด็นสำคัญๆ ในกรอบเจรจาการค้ารูปแบบใหม่ๆ มักจะเน้นในเรื่องของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเพิ่มความโปร่งใส ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ในบางครั้ง หรือในหลายๆ ครั้ง ความพยายามในการคุ้มครองประเด็นเหล่านี้กลับกลายเป็นการกีดกันทางการค้า หรือกลายเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ในกฎกติกาเดิมของ WTO ก็มีการสร้างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว โดยมีชื่อเรียกว่า ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade-Related Aspect of Intellectual Property Rights หรือ TRIPS) ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 7 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์และสิทธิอื่นที่เกี่ยวเนื่อง (Copyrights) เครื่องหมายการค้า (Trademarks) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) แบบอุตสาหกรรม (Industrial Designs) สิทธิบัตร (Patents) การออกแบบวงจรรวม (Integrated Circuit Layout-Designs) และการคุ้มครองข้อสารสนเทศที่ไม่เปิดเผย (Undisclosed or Confidential Information) หรือบางครั้งจะมีการเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทที่ 8 เข้าไปด้วย คือ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (New Plant Varieties)

แต่ในบางกรอบการเจรจาการค้า คู่เจรจาโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจำนวนมากก็ต้องการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตนมากกว่าที่ตกลงไว้ในเวทีองค์การการค้าโลก โดยเรานิยมเรียกรูปแบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะที่มากกว่านี้ว่า TRIPS+ (TRIPS Plus) ซึ่งประเด็นสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงคือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์ แน่นอนว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ ผู้ผลิต วิจัย และคิดค้นผลิตภัณฑ์ยาได้รับการคุ้มครองยาวนานมากยิ่งขึ้น และทำให้เขาสามารถทำกำไรในลักษณะของการผูกขาดได้นานขึ้น เพราะผู้ผลิตรายอื่นๆ ไม่สามารถผลิตได้ โดยผู้ผลิตยารายอื่นๆ เหล่านี้ที่มีศักยภาพในการผลิต แต่ไม่ได้ลงทุน ลงแรง ลงสติปัญญาในการผลิตย่อมมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่ามาก เราเรียกยาที่ผู้ผลิตเหล่านี้จะไปขอดูสูตรยาแล้วผลิตออกมาขายในราคาที่ถูกกว่ามาก แต่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคพอๆ กันนี้ว่า ยาชื่อสามัญ (Generic Name)

ตัวอย่างของ TRIPS plus ที่คู่เจรจามักจะนำมาขอให้ประเทศสมาชิกนำมาบังคับใช้ คือ

  • การผูกขาดข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) โดยปกติการนำชนิดหนึ่งเข้ามาใช้ในแต่ละประเทศ ต้องมีการเปิดเผยสูตรยาให้แพทย์ เภสัชกร และหน่วยงานของรัฐได้รับรู้รับทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่ายาชนิดนั้นจะสามารถนำมาใช้รักษาโรคได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร โดยในประเทศไทย ข้อมูลหรือสูตรยาเหล่านี้ต้องนำไปให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. หรือ Food and Drug Administration: FDA) แต่นั่นกลับกลายเป็นสิ่งที่ผู้ทรงสิทธิ์หรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ลงทุน ลงแรง ลงสติปัญญา ในการพัฒนายาขึ้นมา 1 ชนิดไม่ชอบ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการหรือโรงงานผลิตยาที่ไม่ได้ทำวิจัย ไม่ได้พัฒนายา แต่มีศักยภาพในการผลิตมาขอดูสูตรยา และเตรียมพร้อมรอวันที่ยาหมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร เพื่อที่จะผลิตและวางจำหน่ายยาชื่อสามัญได้ทันที นั่นทำให้มีความพยายามในการผูกขาดข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity ขึ้น โดยกำหนดให้ยาเป็นการคุ้มครองโดยให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่ข้อมูลผลการทดลองยา ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิก (clinical trial) เพื่อขึ้นทะเบียนให้กับยาชื่อสามัญได้ แม้ว่าสิทธิบัตรยาจะหมดอายุไปแล้วหรือถูกเพิกถอนไม่ให้ใช้ยานั้นแล้วก็ตาม และการเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรยา (โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์) กับการขึ้นทะเบียนตำรับยา (โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) โดยให้ อย. ต้องแจ้งกับเจ้าของสูตรยาทุกครั้งที่มีบุคคลมาขอข้อมูลสูตรหรือข้อมูลการทดสอบยา (กระบวนการนี้เรียกว่า Patent Linkage)
  • การขยายอายุสิทธิบัตรให้มีอายุเกินกว่า 20 ปี และเพิ่มกรอบการคุ้มครองสิทธิบัตร ให้ยาที่มีสิทธิบัตรสามารถจดสิทธิบัตรใหม่เพิ่มเติมได้ กระบวนการนี้เรียกว่า Evergreening โดยเจ้าของสิทธิบัตรอาจจะปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ จากสูตรและวิธีการใช้ยาเดิม เพื่อมาขอต่ออายุสิทธิบัตรออกไปเรื่อยๆ ได้ ทำให้ยาเหล่านั้นได้รับสิทธิในการผูกขาดยาวนานขึ้น
  • การขอเพิ่มข้อจำกัดในการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ยากขึ้น เช่น ลดขอบเขตการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) การสร้างข้อกำหนดที่ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร การอาศัยกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศให้บริษัทต่างชาติสามารถดำเนินคดีกับรัฐบาลได้ หากได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านสุขภาพในประเทศนั้นๆ หรือการใช้มาตรการ ณ จุดผ่านแดน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรยึดจับยาชื่อสามัญที่นำเข้าหรือขนส่งได้ หากสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

นอกจากประเด็นในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยาแล้ว ยังมีเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่หลายๆ ฝ่ายอาจจะยังไม่มีความเข้าใจหรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนด้วย

ประเด็นด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะเป็นมาตรฐานใหม่ แน่นอนว่า หากประเทศไทยยอมรับในมาตรฐานนี้ ข้อดีคือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในแต่ละปีจะมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในอนาคต (ยังต้องต่อรองต่อไปว่าจะอีกกี่ปี) ทุกๆ การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ รถถัง เรือดำน้ำ ยารักษาโรค สร้างถนน ซื้อระบบคอมพิวเตอร์ ตำราเรียน ฯลฯ จะต้องโปร่งใส และอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้ามาประมูลงาน รับจ้าง ทำงาน และขายสินค้าให้กับภาครัฐได้ เท่ากับว่าถนนที่สร้างโดยคนใกล้ชิดกับข้าราชการหรือนักการเมืองที่สร้างแล้วก็ทรุดไม่ได้มาตรฐาน ระบบคอมพิวเตอร์ที่วางระบบแล้วใช้งานไม่ได้จริง จะถูกแข่งขันจากผู้ประกอบการที่มีต้นทุนต่ำกว่า เทคโนโลยีดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการที่เคยเป็นเจ้าประจำกับภาครัฐจะถูกแข่งขัน แต่สำหรับผู้บริโภคหรือสำหรับประชาชน เราน่าจะได้ใช้สินค้าและบริการของภาครัฐที่ดีขึ้น ประหยัดภาษี โปร่งใส และโกงกินลดลง

แต่อย่าพึ่งมองแต่ข้อดีเพียงด้านเดียว เพราะการเข้าร่วมข้อตกลงที่เกี่ยวกับ Government Procurement ก็มีด้านเสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้รัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีเงื่อนไขให้การสร้างอุตสาหกรรมที่รัฐต้องการส่งเสริม อุตสาหกรรมที่รัฐต้องการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านั้นต้องพัฒนาขึ้นและตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับข้อบทในเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้กิจการของรัฐดำเนินกิจการบนหลักการเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่า เราจะเห็นผลดีในแง่ประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการของรัฐ และเห็นการเข้ามาแข่งขันของเอกชน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจะมีข้อกังวลในมิติความมั่นคงเพิ่มขึ้นด้วย

ในมิติความมั่นคง บางครั้งความมั่นคงของชาติ (National Security) กับความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ก็อาจจะต้องหาทางออกร่วมกันภายใต้ระเบียบโลกใหม่ทางการค้าและการลงทุน เช่น ข้อตกลงทางการค้าในยุคใหม่จะกล่าวถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) ที่ให้เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง ซึ่งนั่นจะทำให้ แรงงานต่างด้าว แรงงานในภาคเอกชน และข้าราชการสามารถรวมตัวกันในรูปแบบของสหภาพแรงงานได้ ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นการส่งเสริมในมิติสิทธิและความยุติธรรมทางสังคม แต่ในอีกมิติหนึ่ง การรวมตัวของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากก็อาจสร้างความกังวลให้กับฝ่ายความมั่นคงได้

จะเห็นได้ว่า ระเบียบโลกใหม่ในมิติเศรษฐกิจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน หรือการทำมาหากินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในมิติทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง ความมั่นคง และมิติอื่นๆ อีกด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องวางยุทธศาสตร์ทั้งในการเจรจาการค้า การปรับตัวของทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน การปรับปรุงกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ และที่สำคัญที่สุดคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องรู้เท่าทันและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกฎระเบียบและมาตรฐานใหม่ๆ ในเวทีโลก

ดังนั้น เพื่อฉายภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบตารางเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่า มิติใหม่ๆ ของการเจรจาการค้าสำหรับกรอบการเจรจาการค้า ณ ปัจจุบันนี้ครอบคลุมในมิติใดบ้าง โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลของกรอบการเจรจาการค้าสมัยใหม่ ดังนี้

  • ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งประกอบไปด้วย 11 ประเทศสมาชิก ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
  • ข้อตกลงสหรัฐเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (US-Mexico-Canada Agreement: USMCA)
  • ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA)
  • ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – สิงคโปร์ (EU-Singapore Free Trade Agreement: ESFTA)
  • สมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์
  • สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union: EaEU) มีสมาชิกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย
  • ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 6 ชาติคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
  • ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน – แคนาดา (ASEAN-Canada Free Trade Agreement)

 

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save