พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง
ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการส่งออกแล้ว การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในบางปีการเติบโตของการท่องเที่ยวนับเป็นครึ่งหนึ่งของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเลยทีเดียว แต่ก็มีข้อสงสัยกันว่า ในขณะที่การท่องเที่ยวบูม แต่ทำไมคนจำนวนมากของประเทศไม่ได้รู้สึกอะไรเท่าไร
ลองมาดูข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและประเด็นที่น่าคิดกันครับ
จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่จังหวัด เช่น กทม. ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และกระบี่ นอกจากนั้นแล้ว จังหวัดอื่นได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวน้อยมาก
รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรายจังหวัด ปี 2560 (ล้านบาท)
นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวรวมที่เกิดขึ้นใน กทม. และภูเก็ต นับเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้จากนักท่องเที่ยวรวม (นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ) ในขณะที่แนวโน้มในจังหวัดอื่นๆ ไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดนัก
รายได้จากนักท่องเที่ยวรวม (ไทยและต่างชาติ) รายจังหวัด ปี 2560
ในปัจจุบัน การ “บริโภค” โดยคนต่างชาติ นับเป็นสัดส่วนสำคัญของการบริโภครวมภายในประเทศ คิดเป็นเกือบ 12% ของ GDP และเป็นองค์ประกอบที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นี่ยังไม่นับรายได้จากการท่องเที่ยวที่รวมอยู่ในการบริโภค เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ หรือการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
สัดส่วนการบริโภคของคนต่างชาติ ต่อ GDP
แน่นอนว่ารายได้จากต่างประเทศในรูปการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลข GDP ของไทยโตขึ้นมาก และนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศเป็นปริมาณมหาศาลในแต่ละปี
แต่ก็มีประเด็นที่น่าชวนคิดกันอยู่หลายประเด็น
หนึ่ง เราควรทำอย่างไรให้ประโยชน์จากรายได้จากการท่องเที่ยวเหล่านี้ ส่งผลถึงคนทั่วไปของประเทศมากขึ้น ถ้ารายได้ยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ความแตกต่างของการพัฒนาเมืองคงห่างออกไปเรื่อยๆ และคนส่วนใหญ่ของประเทศอาจจะไม่ได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเท่าที่ควร
การสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรอง (อย่างมาตรการทางภาษีที่เพิ่งประกาศกันมา แต่ไม่ค่อยมีคนรู้) การสร้างและวางแผนการท่องเที่ยวอย่างมีระบบ การสร้าง “story” และ “brand” ของการท่องเที่ยว และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมที่เหมาะสม อาจจะเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดอย่างจริงจัง และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดรองที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวไม่มากนัก
ลองคิดดูว่าเวลาคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น ยังไปเสาะแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวในตรอกซอกซอยเล็กๆ ในเมืองแปลกๆ ทั้งที่ไม่น่าจะไปกัน ยังไปกันได้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวลักษณะเดียวกันก็น่าจะเกิดได้ในเมืองไทย
หรือควรไปไกลกว่านั้น เช่น ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาจนเต็มศักยภาพของพื้นที่ เราควรเก็บภาษีเพิ่มจากการท่องเที่ยวเพื่อนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือกระจายรายได้หรือไม่
สอง ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างยั่งยืน
สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวที่ใหญ่มากอาจกลายเป็นดาบสองคม ถ้าเราพึ่งพาฐานนักท่องเที่ยวประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป แล้วเกิดอะไรขึ้นกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนั้น หรือแหล่งท่องเที่ยวของไทย
หรือถ้าวันหนึ่งเราเจอข้อจำกัดในการรับนักท่องเที่ยว การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะชะลอลงเพราะฐานที่สูงมากก็ได้ หรืออาจมีปัญหาจาก “supply” ของธุรกิจที่มีมากในหลายภาคส่วน ถ้าเราพึ่งพาการโตจาก “จำนวน” นักท่องเที่ยวมากจนเกินไป
นอกจากนี้ เราจะดูแลให้ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร
อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมากกลายเป็นภาระต่อแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม การบริหารจัดการการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประโยชน์ที่ได้รับจากการท่องเที่ยวมีความยั่งยืน
สาม การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวอาจดึงเอาทรัพยากรออกจากภาคส่วนอื่นๆ จนอาจทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ได้รับผลกระทบได้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจเห็นการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกิดขึ้นมาก และทรัพยากรทั้งแรงงานและทุนถูกดึงออกจากภาคเศรษฐกิจอื่นๆ แรงงานจำนวนมากออกจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพื่อเข้าสู่ภาคบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงและมีการแข่งขันสูง ไปสู่ภาคที่อาจจะมีการแข่งขันน้อย และอาจจะมีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจต่ำกว่า ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวปริมาณมหาศาล ทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปริมาณมาก (ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 10% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมาก) และสร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน จนอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมได้
สองอาการนี้คล้ายๆ กับ Dutch disease ที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการค้นพบรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้การจัดสรรทรัพยากรบิดเบี้ยว และค่าเงินแข็งค่าขึ้น สุดท้ายอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ
ในบางประเทศ เขาแก้ไขปัญหานี้โดยการไม่นำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการขายทรัพยากรต่างประเทศเข้าสู่ประเทศ แต่นำไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าเงิน และเก็บเงินลงทุนนั้นไว้เป็นเงินออมของคนรุ่นต่อไป แต่วิธีนี้อาจจะนำมาใช้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้ลำบาก
อยากชวนคิดกันครับว่าเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร