fbpx
เศรษฐกิจไทยในมหาวิกฤต: สมชัย จิตสุชน

เศรษฐกิจไทยในมหาวิกฤต: สมชัย จิตสุชน

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

เป็นที่ชัดเจนว่า หลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 โจทย์ใหญ่ที่โลกและไทยยังต้องเจอคือวิกฤตเศรษฐกิจ

วันที่ 28 มีนาคม 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยและสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่สามวันก่อนหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไว้ที่ -5.3%  ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปีเท่านั้น หากแต่เป็นตัวเลขในระดับที่ทำให้หลายคนนึกถึง ‘วิกฤตเศรษฐกิจ 2540’ ซึ่งเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยใหม่

อันที่จริง ตัวเลขและถ้อยคำทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้มีความหมายเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับความทุกข์ร้อนของผู้คนและความโกลาหลที่เห็นอยู่ตำตา

กระนั้น การครุ่นคิดถึงปัจจุบันและมองไปยังอนาคตผ่านสายตานักเศรษฐศาสตร์ผู้ช่ำชองก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด

101 ชวน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในห้วงเวลาแห่งความท้าทายเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหน วิกฤตรอบนี้เป็นอย่างไร มาตรการรัฐเพียงพอหรือไม่ และอะไรคือโจทย์ใหญ่ที่รออยู่ในอนาคต

 

 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศแถลงข่าวประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตติดลบ 5.3%  แต่หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่า ตัวเลขข้างต้นนี้แย่แค่ไหน อยากให้ช่วยขยายความหน่อยว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร

ถ้าคนที่มีอายุมากหน่อยและมีประสบการณ์ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หรือ ‘ต้มยำกุ้ง’ จะนึกภาพออก วิกฤตในครั้งนั้นเป็นวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัยใหม่ของไทย ในปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่หนักที่สุด เศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบประมาณ 9-10% ตัวเลขนี้ถือว่าสาหัสมากๆ ขณะที่ในปี 2008 (พ.ศ. 2551) โลกเกิดวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นจุดศูนย์กลาง ทำให้เศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก ในตอนนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบ 2% ก็เดือดร้อนกันมากแล้ว

ดังนั้นตัวเลขของแบงก์ชาติรอบนี้ที่ติดลบ 5.3% ถือว่า ค่อนข้างหนักทีเดียว แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความไม่แน่นอนยังสูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล

 

หลายคนมักเปรียบเทียบสถานการณ์ในตอนนี้กับวิกฤตร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในอดีต ถ้าเป็นตะวันตกเปรียบเทียบวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในปี 2008 ส่วนในประเทศไทย หลายคนนึกถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จริงๆ แล้ว วิกฤตรอบนี้เหมือนหรือต่างจากวิกฤตที่ผ่านมาอย่างไร

ต้นตอของวิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 เริ่มต้นที่ภาคการเงินในสหรัฐอเมริกาก่อนแล้วลามไปยุโรป เมื่อสถาบันการเงินมีปัญหาก็ทำให้ภาคการผลิตถดถอย ในตอนนั้นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักคือประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) รวมถึงประเทศไทยได้รับผลกระทบไม่มาก ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเพราะกำลังซื้อในตลาดโลกหดตัว ในขณะที่วิกฤตการเงินไม่ได้ลามมา

ส่วนวิกฤต 2540 นั้นเริ่มต้นที่ประเทศไทยเลย เขาเลยตั้งชื่อเล่นว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ วิกฤตนี้คล้ายกันกับวิกฤตในปี 2008 คือ วิกฤตเริ่มต้นในภาคการเงินแล้วลามไปยังภาคเศรษฐกิจจริง ในแง่ภูมิศาสตร์ก็ค่อยๆ ลามจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ประเทศในตะวันตกไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่

แต่วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก และเกิดขึ้นจากภาคเศรษฐกิจจริงก่อน เราเริ่มเห็นข่าวแล้วว่า เศรษฐกิจกำลังถดถอยทั้งโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย ประเทศเหล่านี้คือแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกทั้งนั้น ล่าสุด จีนเพิ่งประกาศว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5% ผมยังไม่แน่ใจเลยว่าเป็นไปได้ไหม อันที่จริงต้องบอกว่า วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในทุกที่ที่โรคระบาดไปถึง และประเทศไทยก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

ในแง่ต้นตอ วิกฤตรอบนี้จะหนัก เพราะเรากำลังเจอวิกฤตในประเทศเหมือน ‘ต้มยำกุ้ง’ ขณะที่โลกก็เจอวิกฤตเหมือนตอนเกิดวิกฤตซับไพรม์ ส่วนด้านที่ต่างจากวิกฤตที่ผ่านๆ มาอย่างชัดเจนคือ วิกฤตรอบนี้เริ่มจากภาคการผลิตก่อน โรคระบาดทำให้การเดินทางหยุดชะงัก มีการปิดห้าง ปิดตลาด คนตกงานเป็นจำนวนมาก คนที่ยังพอมีเงินก็ไม่กล้าออกไปจับจ่ายใช้สอยกัน เพราะฉะนั้นภาคการผลิตกระทบก่อน และถ้าวิกฤตหนักมากก็อาจลามไปถึงภาคการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู จากข่าวที่ออกมาเข้าใจว่าแบงก์ชาติก็กังวลเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

 

ที่บอกว่าต้องจับตาดูภาคการเงิน ควรต้องดูอะไร

สมัยต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจทรุดหนัก เป็นเพราะสถาบันการเงินล้มเป็นจำนวนมาก แต่รอบนี้สถาบันการเงินหลักไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ล้มแน่ แต่มีที่หวาดเสียวอยู่คือกลุ่ม non-bank เช่น กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ล่าสุดก็มีข่าวว่าคนแห่ไปถอนเงินที่สหกรณ์บางแห่งแล้ว

 

 

อะไรคือลักษณะพิเศษของวิกฤตที่เรามองเห็นในรอบนี้

ประเด็นหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การระบาดของวิกฤต (contagion effect) กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นทำให้วิกฤตแพร่ไปเร็วมาก ประจวบกับการที่ปัญหารอบนี้เป็นเรื่องโรคระบาด ผลเลยยิ่งแรง ถ้าลองไล่ไทม์ไลน์ดูจะเห็นเลยว่า ตั้งแต่เริ่มเป็นข่าวมาใช้เวลา 2-3 เดือนเท่านั้น ลามไปหมดเลยทั้งตัวโรคและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ถ้าย้อนไปดูวิกฤตต้มยำกุ้งกับซับไพรม์ใช้เวลานานกว่าเยอะ

การขยายตัวและลุกลามที่รวดเร็วนี่แหละที่ทำให้รอบนี้กลายเป็นมหาวิกฤต แต่อย่างน้อยก็ต้องลองดูอีกซักสองเดือนว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ประเด็นที่คนตั้งข้อสังเกตคือ เดิมประเทศไทยมีภาคเกษตรที่คอยดูดซับวิกฤตอยู่ คนตกงานไม่มีงานทำก็กลับบ้านไปทำเกษตร แต่ทุกวันนี้ภาคเกษตรไทยไม่ได้แข็งแรงและยืดหยุ่นพอที่จะดูดซับวิกฤตได้

ประเด็นนี้สำคัญมาก วิกฤตต้มยำกุ้งและซับไพรม์ไม่ได้กระทบไปทุกหย่อมหญ้า ยังพอมีส่วนที่หายใจได้อยู่บ้าง ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งไม่ใช่ว่าภาคเกษตรหรือภาคชนบทไม่ได้รับผลกระทบเลย กระทบพอสมควร เพียงแต่ไม่ได้กระทบทันที วิกฤตรอบนี้ภาคเกษตรไปก่อนด้วยซ้ำ เพราะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำมาหลายปี ที่สำคัญคือภัยแล้ง ซึ่งมาก่อนโควิดเสียอีก

ก่อนที่ปัญหาโควิดจะรุนแรงบานปลาย ในภาคเกษตรเริ่มพูดกันแล้วว่าภัยแล้งปีนี้จะหนักมากถึงขั้นปลูกข้าวนาปีไม่ได้ อันนี้ซีเรียสมาก อันที่จริงเราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตนะ แต่วิกฤตโควิดมีขนาดใหญ่กว่ามากจนบังวิกฤตภัยแล้ง ดังนั้น คนรากหญ้านี่น่าเห็นใจมาก สายป่านของพวกเขาสั้นมาก ไม่ต้องพูดถึงว่าในรอบหลายปีมานี้ราคาพืชผลไม่ดีมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคายางหรือราคาข้าว

พูดอีกแบบคือ ภาพเศรษฐกิจแบบ ‘แข็งบน อ่อนล่าง’ ที่พูดกัน เกิดขึ้นก่อนโควิดแล้ว เศรษฐกิจซบเซากระจุกอยู่ในฐานล่างของเศรษฐกิจ เงินหมดกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ตอนที่กรุงเทพฯ ประกาศปิดเมืองแล้วคนกลับต่างจังหวัด ผมเห็นใจเลยและเข้าใจว่า เขาอยู่ไม่ได้ เขาไม่มีงานทำ แต่คนจำนวนหนึ่งกลับไปต่อว่าเขาว่าเอาเชื้อไปต่างจังหวัด ทั้งที่ในความเป็นจริง รัฐไม่ได้มีมาตรการรองรับการปิดเมืองสำหรับคนเปราะบางอย่างเพียงพอ

 

 

ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์พัฒนา วิกฤตรอบนี้เปลือยให้เราเห็นอะไรในสังคมไทย

ภาครัฐและระบบราชการไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับมือวิกฤตได้ จริงๆ เรื่องนี้เริ่มเห็นมาตั้งแต่ตอนน้ำท่วมปี 2554 แล้ว อันนี้ไม่ได้หมายถึงตัวผู้นำเลย ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นคุณยิ่งลักษณ์ หรือพลเอกประยุทธ์ แต่หมายถึงตัวระบบและเครื่องมือในการบริหารจัดการของรัฐไทยซึ่งไร้ประสิทธิภาพมาก และถูกพิสูจน์อีกครั้งว่าไม่สามารถฟังก์ชั่นได้เลย

ในภาวะวิกฤตการบริหารจัดการต้องมีทิศทางเดียวกัน ซึ่งต้องการอำนาจรวมศูนย์และมีประสิทธิภาพ ตอนน้ำท่วม เห็นชัดเลยว่า ภาครัฐสั่งการไม่ได้ บางพื้นที่ผลักดันน้ำจากตัวเองไปที่อื่น วุ่นวายไปหมด กรณีโควิดก็คล้ายกัน ภาครัฐไม่มีเอกภาพ ทำงานสะเปะสะปะ ขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด ผมเพิ่งเขียนเล่นๆ ลงเฟซบุ๊กว่า นี่คือผู้นำที่มาจากทหาร ซึ่งถูกเทรนให้รับมือกับภาวะสงครามและวิกฤต นี่เป็นธรรมชาติของทหารเลยและเป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะได้เห็นในภาวะฉุกเฉิน แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น แน่นอน ผมไม่เถียงว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องบุคคล แต่เหตุผลใหญ่เป็นเรื่องระบบ โควิดเปลือยประสิทธิภาพของภาครัฐออกมาหมด ซึ่งตรงนี้น่ากังวลมาก เพราะภาวะฉุกเฉินแบบนี้จะมาเรื่อยๆ

โครงสร้างที่สองที่ถูกเปลือยออกมาคือ ความเหลื่อมล้ำและปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นต่างๆ ถ้าจำได้ ตอนวิกฤตเริ่มต้นใหม่ๆ  รัฐบาลออกนโยบายแจกเงินมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่กลับได้รับการต่อต้านจากชนชั้นกลางจนต้องยกเลิกนโยบายไป ที่น่าสนใจคือ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนก็ออกมาคัดค้านทันที ขณะที่มีการเชียร์ให้ออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างด้วยหวังว่าจะไม่ให้เลิกจ้างคนงาน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าคิดมาก อย่าลืมว่า นโยบายช่วยเหลือนายจ้างสะท้อนว่า หนึ่ง คุณช่วยนายจ้างอยู่ ไม่ได้ช่วยลูกจ้าง สอง คุณมองเห็นแต่ลูกจ้างที่มีนายจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานในระบบ แต่คนนอกระบบหรือคนที่ไม่มีนายจ้างไม่ถูกนับรวมเลย

โดยส่วนตัวผมสนับสนุนนโยบายแจกเงินมาโดยตลอด เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยแรงงานนอกระบบ และวิธีการนี้ทำให้เงินไปถึงคนได้เร็วและตรงที่สุด

 

อาจารย์มองว่าการเถียงกันอยู่บนฐานของอคติมากกว่าฐานความรู้?

ต้องว่าเป็นกรณีไป ต้องไปดูวิธีให้เหตุผล มีอยู่บ้างที่เห็นต่างกันบนฐานทฤษฎีและวิธีคิด แต่ความเห็นต่างส่วนใหญ่ผมเห็นว่า เป็นฐานอคติมากกว่าฐานความรู้ หรือไม่ก็อยู่บนฐานความรู้ที่ไม่แม่นยำ ในฐานะที่ผมศึกษาเรื่องคนยากจน แรงงานนอกระบบมาตลอด ผมผิดหวังและเศร้าใจเวลาที่นักวิชาการหลายคนโกรธเป็นฟืนไปไฟ เมื่อเห็นคนต่างจังหวัดกลับบ้าน แล้วไปด่าเขาว่า ไม่รักชาติ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม

หรือตอนกรณี ‘ผีน้อย’ ผมก็หงุดหงิดใจ ในด้านหนึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้ามีคนไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเอง กลับมาแล้วไม่กักตัว ไม่ได้ทำอย่างที่ควรจะทำร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่น่าโกรธกว่าคือ การที่ภาครัฐไม่มีระบบจัดการที่ดีพอในการรองรับคนกลุ่มนี้ ไม่ต้องพูดไปถึงว่า คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนที่ถูกกระทำจากระบบ เขาไม่สามารถสร้างชีวิตตามความฝันของเขาได้ในเมืองไทย เขาเลยต้องไป

 

รัฐบาลเพิ่งออกนโยบายมาชุดใหญ่เพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 เป็นเวลาสามเดือนกับแรงงานนอกระบบ และลูกจ้างชั่วคราว รวมไปถึงมาตรการด้านสินเชื่อ ในฐานะที่อาจารย์สนับสนุนนโยบายแจกเงินมาตลอด ประเมินนโยบายนี้อย่างไร เพียงพอไหม และทำได้ดีแค่ไหน

อย่างแรกเลยคือ ไม่พอ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้แรงมากเป็นระดับน้องๆ ของวิกฤต 2540 ในแง่ตัวเลข รัฐบาลแจกเงินเดือนละ 5,000 บาท สามเดือน ตกคนละ 15,000 บาท แต่จำกัดไว้ที่ 3 ล้านคน ตัวเลขรวมคือ 45,000 ล้านบาท ว่ากันตามตรงคือไม่ใช่เงินก้อนใหญ่มาก

ก่อนหน้านี้สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอมาตรการ ซึ่งผมมีส่วนในการช่วยผลักดันคือ เราเสนอให้มีการแจกเงินช่วยเหลือ แต่ต้องไม่จำกัดสิทธิอยู่ที่ 3 ล้านคน และให้คนจนมีสิทธิก่อน ตัดคนรวยออกไปเลย ที่เหลืออาจจะมีคนชั้นกลางที่ได้ด้วย ที่เสนอแบบนี้เพราะไม่อยากให้มีการตกหล่นคนจนไปเลยแม้แต่คนเดียว ข้อเสนอของรัฐที่จำกัดคนไว้ที่ 3 ล้านคน มีโอกาสตกหล่นคนจนอย่างมากเลย นี่เป็นปัญหาเดียวกันกับบัตรสวัสดิการของรัฐ มีการให้คนจนมาลงทะเบียน ซึ่งข้อมูลภายหลังชี้ว่ามีคนจนตกหล่นไปกว่า 64% โดยเฉพาะคนที่เปราะบางจริงๆ และคนที่อยู่ไกลปืนเที่ยงก็ยิ่งมีโอกาสตกหล่นมาก

ผมประเมินว่า คนที่ลำบากและเดือดร้อนอาจมีมากถึง 6-7 ล้านคน หรืออาจจะใกล้ๆ 10 ล้านคนด้วยซ้ำ ถ้าจำกัดไว้ที่ 3 ล้านคน จะมีคนตกหล่นเป็นจำนวนมาก และคนที่ตกหล่นมักต้องการความช่วยเหลือมากกว่า ในขณะที่ 3 ล้านคนแรกที่ไวกว่า เข้าใจระบบกว่า อาจจะไม่ได้เดือดร้อนมากเท่าไหร่

ในส่วนของมาตรการอื่นๆ เช่น สินเชื่อวงเงิน 40,000 ล้านบาท ในแง่หนึ่งก็เห็นอยู่ว่า มีการพยายามออกแบบให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงได้ เพราะไม่ได้กำหนดหลักประกันในการกู้เลย แต่ปัญหาก็จะคล้ายๆ กับการแจกเงิน ถ้าลองนึกถึงกระบวนการที่จะต้องเข้ามาคุยกับธนาคารเพื่อทำเรื่องขอกู้ ก็จะต้องมีคนที่คล่องกว่า คนที่เชี่ยวชาญและคุ้นเคยจะเข้ามาก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่จนที่สุด สุดท้ายคนที่จนที่สุดมักจะเข้ามาไม่ทันแล้วก็ตกขบวนไป

โดยสรุป นโยบายที่เหมาะกับวิกฤตต้องใหญ่พอ เร็ว และเข้าถึงง่าย ซึ่งดูจากนโยบายที่ออกมารอบนี้ยังเล็กไป ช้า และเข้าถึงไม่ง่าย และการไม่ง่ายนี่แหละ ซีเรียสมาก

 

 

จริงอยู่ว่าคนรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่รอบนี้คนชั้นกลางก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเลย หลายคนถูกลดเงินเดือน บ้างถูกขอความร่วมมือให้พักงานโดยไม่จ่ายเงิน ในวิกฤตแบบนี้คนชั้นกลางก็กลายเป็นคนเปราะบางด้วยเหมือนกันหรือเปล่า

แน่นอนว่า คนชั้นกลางก็เปราะบางในวิฤตระดับนี้ แต่ระดับความเปราะบางไม่เท่ากัน พูดแบบหยาบๆ คนชั้นกลางอาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีทรัพย์สินและกลุ่มที่มีหนี้ กลุ่มที่มีทรัพย์สินไม่น่าห่วงสักเท่าไหร่ คุณภาพชีวิตอาจลดลงบ้าง แต่ยังมีเงินในกระเป๋าพอที่จะผ่านวิกฤตไปได้ เมื่อการล็อกดาวน์แบบแรงๆ ผ่านไป การระบาดผ่อนคลายลง เศรษฐกิจกลับมาขยับอีกครั้ง คนกลุ่มนี้จะกลับมาได้เร็ว

แต่กลุ่มที่มีปัญหาคือ กลุ่มที่มีหนี้ โดยเฉพาะหนี้สินแบบเกินตัว ในกลุ่มนี้นโยบายของแบงก์ชาติก็ออกมาช่วยเหลืออยู่พอสมควร เช่น การประวิงเวลาในการชำระค่างวดและดอกเบี้ยต่างๆ และแบงก์ชาติไม่ได้กำหนดลิมิตไว้ด้วย นอกจากนี้ ผมยังหวังว่าคนกลุ่มนี้จะมีครอบครัวช่วยรองรับอยู่อีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเจนวายที่ก่อหนี้มาก

ในภาพรวม นโยบายแบงก์ชาติที่ออกมาน่าจะประคับประคองสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง คนที่น่าห่วงกว่าจริงๆ ยังคงเป็นคนชั้นรากหญ้าที่รายได้น้อย

 

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามักได้ยินข่าวตลอดว่า ภาครัฐถังแตกแล้ว เงินไม่พอใช้จ่ายต้องมาขูดรีดภาษีจากประชาชน เอาเข้าจริงแล้ว ภาครัฐไทยยังมีกระสุนเหลือพอที่จะใช้มาตรการทางการคลังขนาดใหญ่อยู่ไหม

กระสุนที่ว่าดูได้สองระดับ ในระดับแรก กระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้หลายปีแล้วว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ควรเกิน 60% ปัจจุบันของเราอยู่ที่ประมาณ 41% จากการประมาณการล่าสุด ถ้าต้องงัดมาตรการใหญ่ๆ ออกมาอีก ซึ่งน่าจะต้องใหญ่กว่ามาตรการที่เพิ่งประกาศออกมา เป็นไปได้ว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะของไทยอาจจะอยู่ที่ใกล้ๆ 60% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าหวาดเสียว อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 60% เป็นเหมือนหลักที่นักเศรษฐศาสตร์ยึดกันเป็นเกณฑ์ขั้นต้นเสียมากกว่า ไม่ได้หมายความว่าขยับไม่ได้เลย

ในระดับที่สอง การใช้กระสุนทางการคลังหมายความว่า เรากำลังนำเงินในอนาคตมาใช้ อย่างไรประเทศไทยจะยังต้องใช้มาตรการทางการคลังอีกเยอะมาก เพราะเราเข้าสู่สังคมคนแก่ ซึ่งมีภาระงบประมาณมากขึ้น หนี้ต่อ GDP ของไทยยังไงก็น่าจะต้องเกิน 60% ต่อให้ไม่ใช้วันนี้ก็ตาม เป็นเรื่องโชคร้ายเหมือนกันที่เราต้องนำเงินที่เคยหวังว่าจะไปใช้จ่ายเพื่อดูแลสวัสดิการผู้สูงวัยในอนาคตมาใช้จ่ายเพื่อสู้โรคระบาด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แต่ในเมื่อไฟไหม้หน้าบ้านแล้ว คุณมีน้ำอยู่ก็ต้องเอามาสาดดับไฟไปก่อน

 

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โครงสร้างเศรษฐกิจมักจะเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น หลังวิกฤต 2540 ประเทศไทยลอยตัวค่าเงินบาททำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราเปลี่ยน จนนำไปสู่การพึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยวมากขึ้น วิกฤตรอบนี้มีโอกาสทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งไหม

คำถามน่าสนใจมาก แต่ต้องออกตัวว่ายังไม่ได้คิดประเด็นนี้จริงจัง อันนี้ถือว่าเป็นการชวนคิดละกัน

ถ้าสมมติการควบคุมโรคระบาดสามารถทำได้เร็วและเราเอาอยู่ในปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่โรคจะกลับมาใหม่ในปีหน้า เพราะการจบเร็วหมายความว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ถ้ากลับมาอีกสักสองรอบ วิธีคิดและวิธีการทำงานต้องเปลี่ยนไปอย่างถาวรเลย การทำงานแบบ social distancing จะกลายเป็นค่านิยมแบบใหม่ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อภาคการผลิตพอสมควร ในระดับโลกก็มีการพูดกันว่าโลกาภิวัตน์อาจจะลดความเข้มข้นลง ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกอาจเปลี่ยนโฉมไป ซึ่งจริงๆ ก็มีกระแสอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งการขึ้นมาของทรัมป์ หรือ Brexit แต่โควิดมาซ้ำเติมเข้าไปอีก หลังวิกฤตผ่านพ้นไป คนอาจจะหันมาคิดเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

ในส่วนของภาคการเงิน จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นเหตุที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ รอบนี้อาจมีบทเรียนว่าหุ้นกู้คุณภาพด้อยอาจจะทำได้ยากขึ้น การกำกับดูแลเข้มงวดขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ส่วนภาครัฐ ถ้ามีการถอดบทเรียนมาปรับปรุงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่จากประสบการณ์ตอนน้ำท่วม ตอนนั้นเราก็พูดกันเยอะมากว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ผมจึงไม่หวังอะไรมาก

 

 

แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า วิกฤตรอบนี้จะกินเวลายาวแค่ไหนด้วยไหม ถ้าเดือนหน้าค้นพบวัคซีนแล้วประกาศชัยชนะต่อไวรัสได้ การเปลี่ยนแปลงคงไม่เยอะ

คงเป็นอย่างนั้น ต่อให้ยังชนะไวรัสไม่เด็ดขาด แต่ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น พอเปิดประเทศ เปิดเขตแดน ผู้คนและสินค้าจะยังต้องเคลื่อนอยู่ดี ปริมาณอาจจะน้อยลง เพราะระมัดระวังมากขึ้น แต่ซักพักน่าจะกลับมาคล้ายของเดิมเสียมากกว่า

 

ตอนวิกฤต 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบสองปีคือ ปี 2540-2541 โดยที่ปี 2541 หนักกว่า 2540 เป็นไปได้ไหมที่เศรษฐกิจปี 2564 จะแย่กว่าปี 2563

โอกาสที่เศรษฐกิจปีหน้าจะติดลบมากกว่าปีนี้ค่อนข้างน้อย เพราะปีนี้ถือว่าหนักมากแล้ว วิกฤตที่กำลังเจออยู่ค่อนข้างลึก ความน่ากังวลเป็นเรื่องของระยะเวลามากกว่า ถ้าสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นเร็ว ก็น่ากังวลน้อย ถ้าปีหน้าจะแย่จริงๆ ก็ในกรณีที่ปีนี้ควบคุมโรคได้เร็ว แต่ปีหน้ากลับมาระบาดใหม่แบบหนักกว่าเก่า ซึ่งไม่ใช่ไม่มีโอกาสเลย อย่าลืมว่าตอนนี้ที่จีนมีแค่อู่ฮั่นและเมืองรอบๆ เท่านั้นที่มีภูมิคุ้มกัน ถ้าปีหน้าโรคกลับมาระบาดใหม่ แต่ศูนย์กลางย้ายมาที่ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ แถมยังระบาดทั่วโลกแบบที่เป็นอยู่ก็คงหนักน่าดู

 

อะไรคือสิ่งที่อาจารย์กังวลมากที่สุดเวลานี้

เฉพาะหน้า ผมห่วงนโยบายการควบคุมโรคของรัฐบาล ซึ่งเราเห็นแล้วว่าไม่ได้มีการคิดละเอียดอย่างเพียงพอ และทำให้ผลลัพธ์ออกมาแย่ เช่น นโยบายปิดกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจออกมาเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้คน แต่กลับทำให้เกิดการแห่กลับต่างจังหวัดของแรงงาน

ในระยะยาว คงเป็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คุยกันไปแล้ว แต่มีประเด็นหนึ่งที่อยากเสริม ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยผูกขาดมาก และอาจจะผูกขาดมากขึ้นจากวิกฤตรอบนี้ เพราะวิกฤตทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยตายหมด ผู้ประกอบการระดับกลางก็ไม่ได้แข็งแรงมาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ธุรกิจหมื่นล้านจะเข้ามาฆ่าธุรกิจร้อยล้าน เพราะมีช่องว่างในตลาดเกิดขึ้นแล้วทุนใหญ่มีสายป่านยาวกว่า ประเด็นนี้อยากฝากไปยังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้คอยจับตาดู

 

อาจารย์ทำวิจัยเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่มาต่อเนื่องหลายปี วิกฤตรอบนี้มีโอกาสทำให้โมเดลเศรษฐกิจใหม่เกิดได้ไหม

โมเดลเศรษฐกิจใหม่มีหลายแง่มุม เป็นไปได้ว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการจัดการใหม่ๆ หรือนวัตกรรมทางการแพทย์แบบใหม่ ตอนนี้ที่พอจะเห็นคือ การปรับไปทำงานออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโต แต่ถ้าพูดในแง่ของโมเดลเศรษฐกิจใหม่เลย ตอนนี้ยังไม่เห็น

คำถามนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องที่กังวลได้เพิ่มอีกหนึ่งประเด็น (หัวเราะ) เวลาพูดถึงโมเดลเศรฐกิจใหม่ เราต้องการแรงงานที่มีทักษะดีด้วย แต่ทุกครั้งวิกฤตจะมีส่วนในการทำลายทุนมนุษย์ (human capital) เสมอ ถ้าคนจำนวนมากตกงาน ย่อมหมายถึงคุณภาพในการเรียนของลูกหลานเขาที่ย่ำแย่ไปด้วย หรือใครที่เตรียมเงินไว้สำหรับการพัฒนาทักษะ ก็อาจต้องพักไว้ก่อนแล้วเอาเงินมาใช้ในยามฉุกเฉิน ในแง่นี้ วิกฤตมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าที่คิด เพราะทำให้เราเข้าถึงโมเดลใหม่ๆ ได้ช้า

 

คุยกับอาจารย์มาตั้งแต่ต้น ใช้คำว่า ‘วิกฤต’ มาตลอดเลย ทั้งที่เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นได้สองสามเดือน เอาเข้าจริง เราเรียกสถานการณ์ที่เป็นอยู่ว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ได้หรือยัง

แน่นอน ที่จริงจะเรียกว่า ‘มหาวิกฤต’ ก็ยังได้นะ (หัวเราะ)

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save