fbpx
จากวิกฤตโรคระบาด สู่วิกฤตเศรษฐกิจ (1) : ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

จากวิกฤตโรคระบาด สู่วิกฤตเศรษฐกิจ (1) : ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ[1] เรื่อง

 

จากวิกฤตสาธารณสุขและวิกฤตเศรษฐกิจโลก

 

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 ทีมแพทย์ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ค้นพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารับการรักษาด้วยอาการที่คล้ายคลึงกับ SARS[2] จึงได้ทำการศึกษาโดยละเอียด ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 นายแพทย์ หลี่ เหวินเหลียง (Li Wenliang) ได้ส่งข้อความไปถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพให้เตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งภายหลังเรียกกันโดยย่อว่า COVID-19

สามเดือนต่อมา ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อและตรวจพบ COVID-19 ใน 119 ประเทศ มากกว่า 700,000 ราย ในจำนวนนี้ราว 95% จะมีความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง และ 5% มีความรุนแรงสูง ปัจจุบันยอดผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลกมีมากกว่า 33,000 ราย[3] และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในบางประเทศที่ระบบสาธารณสุขมีขีดความสามารถจำกัด เมื่อยอดผู้ป่วยสูงถึงระดับหนึ่ง อัตราการตายก็จะสูงกว่ากว่าค่าเฉลี่ยไปมาก กล่าวได้ว่า COVID-19 ได้กลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขในระดับโลก ภายในระยะเวลาอันสั้น

ด้วยความรุนแรงของ COVID-19 ส่งผลให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในโลก ใช้มาตรการสกัดกั้นอย่างเข้มงวด เช่น การปิดเมืองสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนหยุดชะงักอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายคนหดตัวอย่างรุนแรง เช่น เฉพาะในเดือนมีนาคมมีสายการบินในอเมริกาและสหราชอาณาจักรอย่างน้อย 3 สายการบินเข้าสู่ภาวะล้มละลาย[4] ร้านอาหาร OpenTable Network ในอเมริกา แคนาดา เยอรมนี มียอดเข้ารับประทานอาหารที่ร้านลดลง 100% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน[5] เป็นต้น

การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ส่งผลต่อการคาดการณ์แง่ลบในตลาดทุนทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างเดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนมีนาคม ดัชนี S&P500 (USA) ลดลงมากกว่า 20%, ดัชนี FTSC (UK) ลดลงมากกว่า 30% และ ดัชนี FTSC (Italy) ลดลงเกือบ 40% ของดัชนีช่วงต้นปี[6] ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 คริสตาลินา กอร์เกียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่สภาวะถดถอยในระดับที่ไม่น้อยไปกว่าวิกฤต ปี 2552 (ค.ศ. 2009) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว[7]

 

…สู่การถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

 

ประเทศไทยนั้นเชื่อมต่อกับวิกฤตแฝด ทั้งในแง่วิกฤตสาธารณสุขและวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ในแง่สาธารณสุข เราพบผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 และพบผู้ติดเชื้อชาวไทยคนแรกในอีกหนึ่งอาทิตย์ถัดมา[8] หลังจากนั้น ผู้ติดเชื้อก็ขยายตัวเป็นลำดับ จนกระทั่งวันที่ 29 มีนาคม ไทยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,388 ราย กระจายตัวอยู่ใน 59 จังหวัด และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 7 ราย[9] การขยายตัวของผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นในระยะหลัง อาทิ การจำกัดการเคลื่อนย้ายประชากร การปิดกั้นนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และบังคับปิดสถานที่ ประชาชนเองก็ตื่นตัวและลดการปฏิสัมพันธ์ในที่สาธารณะลง

มาตรการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างกะทันหัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวหดตัวอย่างรุนแรง การบริโภคครัวเรือนคาดว่าจะหดตัว -1.5% และการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าหดตัว -4.3% นอกจากนี้ คู่ค้าสำคัญของประเทศไทย อาทิ จีน อเมริกา ญี่ปุ่น และ เยอรมนี (ราว 45.2% ของมูลค่าการส่งออก)[10] ล้วนเป็นชาติที่ประสบวิกฤตจาก COVID-19 ทั้งสิ้น จึงคาดว่าการส่งออกจะหดตัว -16.4% จากปัจจัยลบเหล่านี้ วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ธปท. จึงแถลงปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลงจากขยายตัว +2.8% มาอยู่ที่หดตัว -5.3% เข้าสู่สาวะถดถอยในปี 2563[11]

การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในแง่ลบของประชาชน ยังส่งผลให้ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในไทย เกิดการเทขายและลดมูลค่าลงอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET index) ปรับตัวจากราว 1,600 จุดในวันที่ 17 มกราคม 2563 ลงมาอยู่ที่ราว 1,082 จุดในวันที่ 30 มีนาคม หรือมีการลดลงกว่า 32.4% ในเวลาไม่ถึงสามเดือน[12] และเพียงระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ระหว่าง วันที่ 12-23 มีนาคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องประกาศพักการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว (circuit breaker) ถึงสามครั้ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นถี่เท่านี้มาก่อน

ในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงมีการเทขายหน่วยลงทุนออกมาเป็นมูลค่าสูงมาก ในระหว่าง 12-20 มีนาคม ในระยะเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ มีมูลค่าเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนตราสารหนี้ (นับเฉพาะ 5 อันดับที่มีการไหลออกมาที่สุด) สูงถึง 87,000 ล้านบาท[13] การไถ่ถอนหน่วยลงทุนอย่างฉับพลันเหล่านี้บีบให้กองทุนต้องขายตราสารหนี้ที่มีสภาพดีไปในราคาต่ำกว่าปกติ จนเป็นเหตุให้วันที่ 22 มีนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ต้องเข้าแทรกแซง และมีนโยบายเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหยุดภาวะตื่นตระหนก[14]

ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเผชิญความผันผวนและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจถดถอยลง คำถามที่เกิดขึ้นในใจของหลายๆ คนคือ การถดถอยทางเศรษฐกิจในครั้งนี้จะก่อตัวกลายเป็นวิกฤตได้หรือไม่?

 

ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย 4 ประการ

 

เพื่อที่จะเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อวิกฤต ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของประเทศไทยในสี่ด้านด้วยกัน

ประการแรก เศรษฐกิจของไทยอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจมีความผันผวน และมีค่าการเติบโตเฉลี่ยต่ำ โดยมีการชะลอตัวเด่นชัดในระหว่างสามปีหลัง การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงจากราว 4.12% ในปี 2561 มาเหลือเพียง 2.4% ในปี 2562 โดยในไตรมาตรสุดท้ายขยายตัวเพียง 1.6% เท่านั้น เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการขยายตัวที่เกิดขึ้นจะพบว่า สิ่งที่พยุงเศรษฐกิจไทยเอาไว้ในปี 2562 คือการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน ภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงคือ โรงแรม อาหาร การค้า และการขนส่ง (ส่วนที่หดตัว คือ เกษตร อุตสาหกรรม และก่อสร้าง)[15] [16] จะเห็นว่า COVID-19 ได้เข้ามากระทบภาคเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของไทยพอดี

ประการที่สอง ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนระดับสูงอยู่ก่อนเกิดเหตุการณ์ COVID-19 รายงานของ ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ระหว่างปี 2552 ถึง 2562 หนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นจาก 53.5% มาอยู่ที่ 78.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), ปริมาณหนี้สินต่อหัวสูงขึ้น และมีระยะเวลาเป็นหนี้ยาวนานขึ้น[17] ในบรรดาหนี้เหล่านี้ มียอดหนี้คงค้างไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นับเฉพาะเพื่อการบริโภค อยู่ราวๆ 127,000 ล้านบาท โดยราว 32% เกิดจากหนี้สินผ่อนรถยนต์ และ 12.5% มาจากหนี้สินบัตรเครดิต[18] กล่าวได้ว่า ครัวเรือนไทยจำนวนมากหมุนเงินหนักอยู่แล้ว และวงจรหมุนเงินนี้จะหยุดลงหากเกิดกการว่างงานกะทันหัน

ประการที่สาม ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ราว 55-70% ของกำลังแรงงาน[19] แรงงานเหล่านี้ราวครึ่งหนึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย ถึงแม้ว่า 80% ของเขาเหล่านี้ทำงานหนักมากกว่า 50 ชม. ต่อสัปดาห์ แต่ราว 64% ก็ยังคงมีหนี้สินคงค้างที่ต้องหมุนเงินจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง แรงงานนอกระบบเหล่านี้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสถูกเลิกจ้าง เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีสัญญาจ้างแน่นอน (นายจ้างมีต้นทุนต่ำในการเลิกจ้าง) ทำให้เป็นไปได้ที่จะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ ราว 10% มีอาการเจ็บป่วยแต่ไม่ได้เข้ารับการรักษาทางการแพทย์ เพราะ ‘ไม่มีเงิน-ไม่สะดวก-ไม่มีเวลา’ แรงงานนอกระบบจึงเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากต่อวิกฤตสาธารณสุขที่ดำเนินอยู่ และวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวขึ้น

ประการที่สี่ เรื่องภัยแล้ง กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญภาวะฝนแล้งยาวนานจนถึงกลางปี โดยมีความรุนแรงสูงเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปีนับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา[20] ระดับน้ำในเขื่อนปัจจุบันทุกเขื่อนในภาคกลาง, 5 ใน 6 เขื่อนของภาคตะวันออก และอีก 10 เขื่อนในภาคอื่นๆ มีระดับน้ำน้อยถึงขั้นวิกฤต[21] เรื่องนี้มีความสำคัญต่อการส่งผ่านวิกฤตในสองด้าน ด้านหนึ่ง ถึงแม้อาหารจะยังเป็นสินค้าจำเป็น และการจับจ่ายไม่ได้หยุดลงอย่างกะทันหันแบบภาคธุรกิจอื่น ทว่า เกษตรกรก็จะมีรายรับลดลงกะทันหัน (income shock) จากภัยแล้ง ด้านที่สอง เมื่อภาคเกษตรประสบกับปัญหา จึงมีความสามารถน้อยลง ในการรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ

จากความเปราะบางทั้ง 4 ประการกล่าวมา เราจะเห็นว่า วิกฤต COVID-19 ไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายที่ตกลงบนหลังลาจนทำให้ลาหลังหัก หากแต่คือ ‘กองฟางไหม้ไฟที่ตกลงบนหลังลาซึ่งป่วยอยู่ก่อนแล้ว’

ในตอนที่สอง ผู้เขียนจะโยงให้เห็นว่า ความเปราะบางทั้ง 4 ประการนี้ เข้ามามีผลอย่างไรต่อการก่อตัวและส่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้

 

 


[1] Ph.D. Candidate, National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Tokyo, Japan

[2] โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือ Severe Acute Respiratory Syndrome (SARS) ซึ่งแพร่ระบาดในช่วงปี 2546

[3] Worldometers. 2020. COVID-19 CORONAVIRUS PANDEMIC. April 1. Accessed April 2, 2020.

[4] Slotnick, David. 2020. Many of the world’s airlines could be bankrupt by May because of the COVID-19 crisis, according to an aviation consultancy. These airlines have already collapsed because of the pandemic. March 29. Accessed March 31, 2020.

[5] OpenTable. 2020. The state of the restaurant industry. March 31. Accessed March 31, 2020.

[6] Surico, Paolo, and Andrea Galeotti. 2020. “The Economics of a Pandemic: the case of Covid-19.” March 23. Accessed April 1, 2020.

[7] International Monetary Fund. 2020. Opening Remarks at a Press Briefing by Kristalina Georgieva following a Conference Call of the International Monetary and Financial Committee (IMFC). March 27. Accessed March 31, 2020.

[8] ThaiPBS. 2563. เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อCOVID-19 ในไทย เคส 1 – 47. มีนาคม 6. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[9] Matichon Online. 2563. ยอดผู้ป่วย ‘โควิด’ เพิ่มอีก 143 ราย ตาย 1 ราย ติดเชื้อสะสม 1,388 ราย. มีนาคม 29. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[10] The Observatory of Economic Complexity. n.d. Thailand. Accessed March 31, 2020.

[11] กรุงเทพธุรกิจ. 2563. แบงก์ชาติ ประเมินโควิดกระทบเศรษฐกิจรุนแรง ประกาศหั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 5.3%. มีนาคม 25. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[12] The Wall Street Journal. 2020. Thailand SET Index. March 31. Accessed March 31, 2020.

[13] กรุงเทพธุรกิจ. 2563. เปิด 5 กองทุนถูกขาย ‘ทีเอ็มบีอุลตร้า’ สูงสุด 3.5 หมื่นล้าน. มีนาคม 23. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[14] ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2563. งานแถลงข่าวร่วมเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน. มีนาคม 22. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[15] Techsauce. 2563. สภาพัฒน์สรุปภาพรวมเศรษฐกิจ Q4 ปี 62 โต 1.6% คาดปี 63 GDP โตไม่เกิน 2.5% ชี้ 6 ประเด็นแก้ไขภาวะชะลอตัว. กุมภาพันธ์ 17. Accessed กุมภาพันธ์ 31, 2563.

[16] ตัวแปรที่น่าสนใจ ซึ่งสะท้อนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2562 เช่น อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม (capacity utilization rate) ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดจากราว 70% ในเดือนเมษายน 2562 มาอยู่ที่ 64% ของกำลังการผลิตเต็มที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจ ลดลงจาก 50 คะแนนในเดือนมีนาคม 2562 มาอยู่ที่ 42.6 คะแนนในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  ดู https://tradingeconomics.com; ยอดปิดโรงงานจาก 1,441 แห่งในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 1,603 แห่งในปี 2561 และ 1,989 แห่งในปี 2562 (ถึงเดือนต.ค.) ส่งผลกระทบต่อแรงงานเป็นจำนวนมาก ดู ชุตินันท์, สงวนประสิทธิ์. 2562. เปิดสถิติรอบ 12 ปี โรงงานในไทยปิดกิจการไปเท่าไร? พฤศจิกายน 12. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[17] BBC Thai. 2562. หนี้ครัวเรือนไทย ปัจจัยเสี่ยงกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน. สิงหาคม 23. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[18] ณัฏฐ์, บุณยสิริยานนท์. 2562. คนไทย “หนี้” พุ่ง เฉลี่ย 195,000 บาท ต่อหัว. กันยายน 2. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[19] ขึ้นอยู่กับนิยาม เทคนิคการคำนวณ และช่วงเวลาการคำนวณ

[20] BBC Thai. 2563. ภัยแล้ง : ปี 2563 ประเทศไทยจะแล้งรุนแรงและยาวนานถึงกลางปี. มกราคม 6. Accessed มีนาคม 31, 2563.

[21] สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน). 2563. รายงานสถานภาพน้ำเขื่อนต่างๆ วันที่ 1 เมษายน 2563. มีนาคม 31. Accessed มีนาคม 31, 2563.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save