fbpx
ตอบโจทย์สู้ความเหลื่อมล้ำ-ต้านการผูกขาด-สร้างความยั่งยืน ยุค COVID-19

ตอบโจทย์สู้ความเหลื่อมล้ำ-ต้านการผูกขาด-สร้างความยั่งยืน ยุค COVID-19

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรียบเรียง

 

 

 

หากยึดคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอย่างแรงงาน ผู้ประกอบการรายเล็ก และผู้บริโภค เป็นตัวตั้ง เราจะสู้ COVID-19 ด้วยนโยบายที่เข้าอกเข้าใจและเห็นหัวประชาชนอย่างไร และถ้าเราไม่ได้สนใจแค่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการจัดการความเหลื่อมล้ำ การต่อสู้การผูกขาด และการสร้างความยั่งยืน หน้าตาของนโยบายสู้ COVID-19 ของสังคมไทยควรจะออกมาเป็นอย่างไร

101 ชวน สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ผู้ทำงานความคิด-เขียน-แปล-วิจัย เพื่อปลูกธุรกิจยั่งยืนในสังคมไทย ตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ-การผูกขาด-ความยั่งยืนของสังคมไทยภายใต้วิกฤต COVID-19 ในรายการ 101 One-On-One Ep.143 : “ตอบโจทย์สู้ความเหลื่อมล้ำ-ต้านการผูกขาด-สร้างความยั่งยืน ยุค COVID-19”

 

นโยบายบนฐานของความเข้าอกเข้าใจประชาชน

 

เหตุที่มาเขียนเรื่องนโยบายบนฐานของความเข้าอกเข้าใจประชาชน (empathy-based policy) เริ่มมาจากท่าทีการสื่อสารของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เข้าใจประชาชนซึ่งต้องเผชิญหน้าความไม่แน่นอนจากทั้งวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ขู่’ ให้คนถอนชื่อจากการลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ว่าหากตรวจสอบแล้วไม่มีคุณสมบัติจะถูกลงโทษฐานให้ข้อมูลเท็จ หรือ ‘ขู่’ ว่าจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายหากฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ให้อำนาจรัฐล้นมือ

แม้ว่ารัฐอาจจะมีเจตนาดี แต่หากแสดงท่าทีข่มขู่ ยกตนข่มท่าน ออกนโยบายช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ยาก และสร้างความสับสนว่าใครบ้างที่มีสิทธิเข้าถึงความช่วยเหลือ ท้ายที่สุดประชาชนอาจถูกกีดกัดจากความช่วยเหลือของรัฐได้

วิกฤตสุขภาพผสานวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบให้คนหลายกลุ่มเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า ดังนั้นรัฐควรออกแบบนโยบายบนฐานของความเห็นอกเห็นใจ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ อย่างเช่นแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) บุคลากรกลุ่มนี้ทำงานหนักมากเพื่อรับมือกับ COVID-19 และดูแลประชาชน ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนการทำงานและดูแลช่วยเหลือ อาจใช้วิธีการ ‘ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว’ เช่น จ้างคนตกงานมาแบ่งเบาภาระของ อสม. ที่ต้องติดตามและสอบสวนโรคในพื้นที่ชุมชนหนักขึ้น หรือจองโรงแรมเพื่อให้ทั้งโรงแรมมีรายได้และให้บุคลาการทางการแพทย์มีสถานที่ใช้กักตัวกลุ่มเสี่ยง

2. กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน จะเห็นได้ว่าประชาชนหลายคนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เพราะการตั้งเกณฑ์โดยใช้อาชีพเป็นตัวคัดกรองผู้รับความช่วยเหลือนั้น ไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริง และลักษณะการประกอบอาชีพของคนไทยที่ไม่ได้ทำงานแค่อาชีพเดียว เช่น คนประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร แรงงานก่อสร้าง หรือผู้ใหญ่ที่เรียน กศน. เป็นต้น อีกทั้งขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์ยังเป็นอุปสรรคต่อคนจนที่เข้าไม่ถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ดังนั้นรัฐไม่ควรตั้งเกณฑ์โดยใช้อาชีพ หรือเกณฑ์ที่ประชาชนต้องพิสูจน์ความเดือดร้อน อาจเลือกออกมาตรการช่วยเหลือแบบอื่นที่สะท้อนว่ารัฐเห็นอกเห็นใจประชาชน เช่น แจกเงินถ้วนหน้าหัวละ 3,000 บาทตามข้อเสนอของคณะอาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรืออาจให้การช่วยเหลือคนที่มียอดบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถึง 500 บาท ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นคนยากจน

3. ธุรกิจที่เดือดร้อน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปัญหาหลักที่ธุรกิจ SMEs เผชิญคือปัญหาเรื่องสภาพคล่อง มีเงินหมุนไม่พอเพราะสายป่านสั้น ตอนนี้เราเห็นมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) วงเงิน 5 แสนล้านบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเติมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจเหล่านี้แล้ว แต่ก็มีข้อกังวลอยู่ว่าธนาคารหลายแห่งไม่ยอมผ่อนปรนเงื่อนไขตามเจตนารมณ์ของมาตรการเพื่อให้เจ้าของธุรกิจที่ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยง่าย กลับยังคงใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเหมือนการพิจารณาลูกหนี้ในกรณีปกติ เช่น การตรวจสถานะทางการเงิน การให้น้ำหนักกับผู้กู้ที่เป็นลูกหนี้เดิมของธนาคาร หรือมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ทั้งที่ ธปท. ประกาศว่าพร้อมจะรับผิดชอบหากเกิดหนี้เสียก็ตาม ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังปล่อยสินเชื่อออกไปช้ามาก ในเวลา 1 เดือนปล่อยได้แค่ 5 หมื่นล้านบาทจากวงเงิน 5 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ต้องมองว่าการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้นไม่เหมือนกับการปล่อยสินเชื่อในสถานการณ์ปกติที่ธนาคารมีเป้าหมายในการหารายได้จากการปล่อยกู้ แต่ครั้งนี้คือมาตรการช่วยเหลือ ‘บรรเทาทุกข์’ ต่อลมหายใจให้ธุรกิจ

ในการออกนโยบายปล่อยสินเชื่ออุ้มธุรกิจ รัฐควรมีแนวคิดว่าการอุ้มธุรกิจมีปลายทางอยู่ที่ประชาชน เป็นการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจยังคงจ้างงานต่อไปเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และอยู่รอดต่อไปได้ ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อจึงควรผูกเงื่อนไขว่าธุรกิจต้องไม่ปลดพนักงานออก ต้องมั่นใจว่าประโยชน์จะลงไปที่ประชาชนจริงๆ เช่น นำเงินกู้ไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน ไม่ใช่เอาไปเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น เช่น จ่ายเป็นเงินปันผล ในต่างประเทศเริ่มตั้งเกณฑ์เช่นนี้ในการปล่อยสินเชื่อแล้ว แต่เรายังไม่เห็นการตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ในไทย

 

ปรับโครงสร้างหนี้ บรรเทาทุกข์ลูกหนี้

 

วิกฤต COVID-19 ซ้ำเติมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ไม่สู้ดีอยู่แล้วให้หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเดิม แต่การปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยบรรเทาทุกข์ลูกหนี้ได้ ทั้งลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ SMEs อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้องมีแนวคิดว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ในภาวะปกติ การปรับโครงสร้างหนี้เป็นแค่การตกลงเฉพาะระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เท่านั้น ต้องมาเจรจากันว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไร แต่ในวิกฤต COVID-19 ทั้งธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบมหาศาลเป็นวงกว้าง ผู้คนต่างขาดเงินในมือ ดังนั้นธนาคารควรปรับโครงสร้างหนี้แบบเชิงรุก ใช้มาตรการพักชำระหนี้ (automatic stay) เป็นเวลา 3 เดือนทันทีให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน อย่างธุรกิจท่องเที่ยว มาตรการเช่นนี้เป็นมาตรการที่ค่อนข้างใหม่ แต่ต้องชื่นชม ธปท. ที่ออกมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ติดอยู่ตรงที่ ธปท. ใช้วิธีขอความร่วมมือโดยสมัครใจจากสถาบันการเงิน ไม่ได้บังคับให้ธนาคารรับมาตรการไปใช้

การพักชำระหนี้ควรพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย (payment holiday) มิเช่นนั้น ลูกหนี้ก็จะยังคงมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี เมื่อหมดช่วงพักชำระหนี้ สำหรับวิกฤตครั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องน่าดีใจที่ ธปท. เสนออย่างชัดเจนว่าควรจะพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอก เพราะก่อนหน้านี้มาตรการพักชำระหนี้นั้นหมายถึงการพักแค่เงินต้น แต่ยังคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่พักไว้ ซึ่งจะนำไปสู่หนี้พอกหางหมู ยิ่งพักชำระ ยิ่งจ่ายหนี้ไม่ไหวอย่างที่เคยเกิดกับกรณีการพักชำระหนี้เกษตรกร

ปัญหาเรื่องแนวคิดอีกอย่างหนึ่งคือ เราควรใช้แนวคิดยกหนี้บางส่วน (Hair Cut) ให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้วย ที่ผ่านมา ธนาคารอาจยอมเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อลดหนี้ให้กับธุรกิจใหญ่ เช่นกรณีการบินไทยที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูธุรกิจ แต่กลับไม่ค่อยยอมลดหนี้ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เกษตรกร คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เรื่องนี้ก็เป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่งในสังคมไทยเช่นกัน

หากนำมาตรการพักชำระหนี้มาใช้ได้รวดเร็ว ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ก็จะได้รับประโยชน์จากมาตรการ แม้ว่ารายจ่ายจะเพิ่ม รายได้จะหาย แต่อย่างน้อยลูกหนี้ก็ไม่เดือดร้อนจากการมีหนี้เพิ่ม ส่วนเจ้าหนี้เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ ผ่อนหนักเป็นเบาให้ ในระยะยาวก็มีโอกาสจะได้รับเงินคืนจากลูกหนี้เช่นกัน ดีกว่าไม่มีมาตรการช่วยเหลืออะไรเลยจนสุดท้ายหนี้ที่มีอยู่กลายเป็นหนี้เสีย เพราะหนี้ก้อนใหญ่มากเกินไปกว่าที่ลูกหนี้จะจ่ายไหว

ธนาคารควรดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในทางที่เป็นประโยชน์ลูกหนี้มากกว่าในภาวะปกติ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาของระบบการเงิน เพราะสถานะทางการเงินของธนาคารเข้มแข็งมาตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แล้ว เพราะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk-averse) มาโดยตลอด ดังนั้น ธนาคารต้องแบ่งเบาภาระ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกหนี้ เพราะการกู้หนี้เป็นทั้งความเสี่ยงของลูกหนี้และเจ้าหนี้ร่วมกัน และภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ไม่ควรกังวลว่าการพักชำระหนี้หรือการลดหนี้จะบิดเบือนพฤติกรรมของลูกหนี้ (moral hazard) เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้

 

พลิกวิกฤต สร้างโอกาสแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหนี้ครัวเรือน

 

การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวมีอยู่ 2 ส่วนสำคัญ อย่างแรกคือ เรื่องทักษะความรู้ทางการเงิน (financial literacy) เราพบว่าคำแนะนำเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลมักเป็นคำแนะนำสำหรับลูกหนี้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะมีวินัยทางการเงิน แต่เราไม่ค่อยมีคำแนะนำสำหรับเจ้าหนี้ว่าจะต้องมีบทบาทอย่างไรในการแก้ปัญหานี้ ในฐานะผู้มีความรู้ทางการเงิน เจ้าหนี้ควรหันมาให้ความรู้แก่ลูกหนี้ในด้านนี้ด้วย

อีกวิธีการให้ความรู้ทางการเงินที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคตอนขายผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างบัตรเครดิต กองทุน หรือสินเชื่อ นอกจากนี้ ธนาคารหลายแห่งในต่างประเทศก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology – FinTech) ออกแบบให้แอปพลิเคชั่นของธนาคารสามารถคำนวณรายจ่ายออกมาเป็นแผนภูมิวงกลม จัดกลุ่มว่ารายจ่ายหมวดไหนเป็นรายจ่ายประจำ ให้คำแนะนำว่าปรับลดรายจ่ายส่วนไหนได้บ้าง หรือแนะนำเป้าการออมบนฐานของรายได้ที่มี แต่อย่างไรก็ตาม วิธีเช่นนี้อาจจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลาง

หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาจึงแตกต่างไปตามลักษณะของลูกหนี้ด้วย หากเป็นกลุ่มลูกหนี้เกษตรกร เราต้องกลับไปตั้งคำถามในระดับนโยบายว่า นโยบายการเกษตรบางอย่างของรัฐบาลมีส่วนสร้างหนี้ท่วมหัวให้เกษตรกรหรือไม่ เพราะบางครั้ง รัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้เกษตรปลูกพืชบางชนิดแต่กลับไม่ได้ผลผลิต หากที่มาของหนี้มาจากนโยบายที่ล้มเหลว รัฐบาลก็ควรรับผิดชอบยกหนี้ให้

ส่วนฝ่ายที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง ธปท. ก็ได้ออกประกาศการให้บริการที่เป็นธรรม (market conduct) มาแล้วประมาณ 2-3 ปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการกำกับดูแลเพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยในประกาศมีรายละเอียดว่า ธนาคารทำอะไรได้หรือไม่ได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษอย่างไร เช่น ธนาคารต้องให้ข้อมูลอะไรบ้างกับลูกค้า หรือห้ามไม่ให้ขายผลิตภัณฑ์แบบพ่วงเข้าด้วยกัน (cross selling) อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังสามารถยกระดับการกำกับดูแลขึ้นได้ในอีกหลายมิติ อย่างเช่น การกำกับดูแลเรื่องนโยบายการจ่ายค่าตอบแทน โดยไม่ให้ธนาคารผูกยอดขายจากการขายพ่วงหรือยอดทำบัตรเครดิตเข้ากับการขึ้นโบนัสของพนักงานสาขา หรือไม่ผูกค่า KPI ไว้กับเป้าการขาย ซึ่งเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้คนเปิดบัตรเครดิตหลายใบจนเป็นหนี้เกินตัว

รัฐไทย x ทุน: ความสัมพันธ์พันลึก

 

ท่าทีของรัฐบาลต่อธุรกิจขนาดใหญ่น่าเป็นห่วงตั้งแต่ก่อนวิกฤตแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐไม่พยายามวางตัวเป็นอิสระจากกลุ่มทุนใหญ่ เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจใหญ่ในนามของการเยียวยา อย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลเชิญกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาเป็นกรรมการโครงการประชารัฐ หรือแม้กระทั่งออกมติ ครม. ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งยังอยู่ในช่วงแรกของการระบาดว่า ให้มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้สัมปทานดิวตี้ฟรี (Duty Free) ล่วงหน้าไป 2 ปีเสียด้วยซ้ำ ซึ่งคาดว่าบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะเสียประโยชน์จากมาตรการนี้ในระดับหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐจงใจอุดหนุนสินค้าและบริการของธุรกิจเกินเลยระดับ ‘เยียวยา’ เอื้อธุรกิจมากกว่าช่วยประชาชน อย่างเช่นมาตรการอุดหนุนเพิ่มความเร็วเน็ตมือถือและเน็ตบ้านของ กสทช. ที่จ่ายเงิน 100 บาทให้ค่ายมือถือ แลกกับเน็ต 10 GB ซึ่งอาจช่วยเหลือได้ไม่ตรงเป้านัก เนื่องจากแต่ละคนมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่ต่างกันออกไป บางคนอาจไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟน หรือเสียค่าแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตไปแล้ว ดังนั้น การช่วยเหลือที่ตรงจุดกว่าคือการลดค่าบริการ แต่ไม่ได้ทำ สะท้อนให้เห็นแนวคิดของรัฐบาลว่าไม่ได้ออกนโยบายบนฐานของความเห็นอกเห็นใจของประชาชน

กลุ่มทุนใหญ่ คือกลุ่มที่มีสายป่านยาวอยู่แล้ว รัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มทุนโดยตรง แต่มาตรการควรเป็นออกมาใน 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง ช่วยเหลือลูกจ้างของกลุ่มทุนใหญ่ โดยอาจออกมาตรการสร้างแรงจูงใจลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจใหญ่จ้างงานคนต่อ หรือเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ สร้างเวทีความร่วมมือโดยต้องไม่เอื้อให้ธุรกิจไหนเป็นพิเศษ รัฐอาจเปิดฐานข้อมูล (บนฐานของการเคารพความเป็นส่วนตัว) ที่เป็นประโยชน์ให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือรัฐออกแบบนโยบายในเรื่องต่างๆ ที่ธุรกิจเอกชนถนัด เช่น รัฐอาจร่วมมือกับบริการเดลิเวอรี่ส่งอาหารเพื่อส่งความช่วยเหลือให้แก่กลุ่มคนที่เปราะบางอย่างเด็กหรือผู้สูงอายุ

 

โฉมหน้าใหม่ของการผูกขาด

 

การแข่งขันในตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของรัฐในการเยียวยา และมาตรการบรรเทาทุกข์ลูกหนี้ เศรษฐกิจไทยในตอนนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจฐานกว้าง แม้ว่ามี SMEs จำนวนมากก็จริง แต่รายได้ของ SMEs ทั้งหมดรวมกันก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในระบบเศรษฐกิจ ปัญหาที่น่ากังวลคือ หาก SMEs ล้มตายไปจำนวนมากในช่วงนี้ แนวโน้มที่ธุรกิจจะถูกควบรวมก็จะเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจจะถูกผูกขาดมากขึ้น และอำนาจทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวมากขึ้นโดยปริยาย แต่ถ้าหากรัฐบาลใส่ใจกับการออกนโยบายเยียวยา โดยมุ่งเป้าไปที่ SMEs ให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้เดือนร้อนจริงๆ รวมถึงนโยบายพักชำระหนี้ดังที่ได้กล่าวมา แนวโน้มที่จะเกิดการผูกขาดก็อาจไม่มากเท่าผลที่จะตามมาหากรัฐปล่อยให้ SMEs ตาย

อีกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในไทยมานานคือ ปัจจัยอะไรที่มีส่วนสร้างอำนาจผูกขาดของธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นเพราะความสามารถในการประกอบธุรกิจ หรือการวิ่งเต้น (lobby) ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ หรือนโยบายของรัฐที่เกื้อหนุนให้ธุรกิจผูกขาดได้ ส่วนตัวเชื่อไปในทางว่าอำนาจผูกขาดไม่ได้มาจากความสามารถในการประกอบธุรกิจอย่างเดียว แต่มีส่วนจากนโยบายรัฐด้วย

บางคนมองว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (digitalization) การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน คือโอกาสของคนตัวเล็กตัวน้อย เพราะต้นทุนในการเข้าถึงต่ำและเข้าถึงได้ง่าย แต่ในความเป็นจริง ทุนใหญ่ที่มีทรัพยากรมากกว่าก็สามารถลงทุนกับเทคโนโลยีได้มากกว่า และได้รับประโยชน์จาก big data มากกว่าด้วย ท้ายที่สุดแล้วการที่มีสายป่านยาวและความได้เปรียบทางเทคโนโลยีจะยังส่งผลให้ธุรกิจใหญ่ยังครองอำนาจต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทุนใหญ่ไม่กระทบกระเทือนจากวิกฤต อย่างธุรกิจท่องเที่ยวหรือธุรกิจค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน แต่ธุรกิจเหล่านี้มีสายป่านยาว อาจมีโอกาสฟื้นคืนชีพธุรกิจกลับมาได้ง่ายกว่า จึงคิดว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ลิดรอนอำนาจตลาดของธุรกิจขนาดใหญ่มากนัก

 

โฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ

 

มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็น คือ COVID-19 เผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถูกซ่อนไว้ได้ชัดขึ้น หลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้ ก็กลับเห็นได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของคนไร้บ้าน หรือแรงงานข้ามชาติ

ถ้าถามว่า วิกฤตครั้งนี้จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงหรือไม่ นักคิดบางคนมองว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลงเมื่อเกิดวิกฤต เพราะเมื่อมีวิกฤต รัฐต้องเก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น หรือในอีกทางหนึ่ง เราอาจเห็นช่องว่างของระบบโครงข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) จนต้องแก้ไขเพื่อรองรับคนไม่ให้ร่วงหล่นได้มากขึ้น แต่คำถามอยู่ที่ว่า ประเทศไทยจะเดินไปในเส้นทางนี้ทันทีหรือไม่

โจทย์ที่ทุกคนควรหันมามองหลังจากวิกฤตครั้งนี้คือ ความเชื่อมโยงและความเกี่ยวพันของชีวิตผู้คนในสังคมที่ชัดขึ้น วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าชีวิตของทุกคนสัมพันธ์กัน ถ้าหากมีคนติดไวรัส ก็ไม่ใช่มีเพียงแค่คนติดไวรัสคนเดียวที่แบ่งรับความเสี่ยง แต่คนรอบตัวก็แบ่งรับความเสี่ยงไว้ด้วยเช่นกัน หรือว่าเรา work from home ได้เพราะมีคนที่ต้องเสี่ยงออกไปทำงานหลายประเภทที่สนับสนุนให้เราทำงานอยู่ที่บ้านได้อย่างราบรื่น ชี้ให้เห็นว่า “เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนอื่น” นั้นไม่ใช่เรื่องนามธรรมอีกต่อไป

โฉมหน้าใหม่ของความยั่งยืน

 

สำหรับผู้ที่ทำวิจัยเรื่องความยั่งยืน โรคระบาดถือเป็นความเสี่ยงสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว อย่างที่รายงานหลายฉบับหรือหลายคนออกมาเตือนไว้แล้วล่วงหน้า (เช่น บิล เกตส์) แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจริง เราเห็นได้ชัดถึงความไม่พร้อมในการรับมือ และวิกฤตนี้ยังทำให้เราเห็นชัดมากขึ้นไปอีกว่า หากยังไม่พร้อมต่อไป วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้จะไม่ใช่วิกฤตสุดท้ายที่โลกต้องเผชิญ เพราะฉะนั้น เราต้องคิดต่อว่าจะรับมือกับอนาคตต่อไปได้อย่างไร

COVID-19 ช่วยให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างแนบแน่นของประเด็นความยั่งยืนต่างๆ ในโลก อย่างการระบาดของไวรัส ส่วนหนึ่งก็เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่ปั่นป่วน ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ส่งผลให้สัตว์ป่ามีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้มนุษย์มากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดชนิดใหม่ขึ้น

นอกจากนี้ COVID-19 น่าจะยังช่วยให้ทุกคนมองเห็นความเชื่อมโยงของประเด็นความยั่งยืนกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น ถ้าเทียบกับประเด็นภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเราได้ยากกว่า มองเห็นผลกระทบได้ช้า และใช้เวลานานกว่าจะมองเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่เรากลับเห็นผลกระทบของ COVID-19 ต่อชีวิตของเราได้ชัดและรวดเร็วมาก เพราะเมื่อไวรัสระบาด เราต้องหยุดเดินทางออกนอกบ้านทันที เราอาจติดเชื้อเมื่อไรก็ได้

 

คุณค่าร่วม: ผลประโยชน์ที่ยั่งยืนระหว่างธุรกิจและสังคม

 

เราใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องผลกระทบภายนอก (externality) เป็นจุดตั้งต้นในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งที่ธุรกิจไม่ยั่งยืน หรือยั่งยืนได้ยากคือ ธุรกิจไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนจากผลกระทบภายนอกแง่ลบรวมเข้าไปในต้นทุนของธุรกิจทั้งหมด อย่างอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำลายสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้แบกรับต้นทุนแง่ลบนี้ร่วมกันสังคม

แต่ความยากอยู่ตรงที่ว่า บริษัทเอกชนไม่รู้ตัวเลขที่แน่นอนว่าต้องแบกรับต้นทุนจากผลกระทบภายนอกมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ธุรกิจต้องมีวิสัยทัศน์ เริ่มศึกษาว่าธุรกิจของตัวเองมีส่วนสร้างผลกระทบขนาดไหน การพยายามทำทุกอย่างให้เป็นตัวเลขจะช่วยให้เห็นผลกระทบภายนอกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างในไทย ช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็มีนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมพยายามคำนวณต้นทุนสุขภาพของประชาชนไทยที่เสียไปกับวิกฤตฝุ่น ซึ่งผลออกมาว่าต้นทุนนั้นตีเป็นตัวเลขเกือบหลายแสนล้านบาทที่เสียไปกับค่ารักษาพยาบาล ตรงนี้ก็จะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นต้นทุนและปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ หากธุรกิจจะสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมได้ ต้องทำให้ผู้บริโภคมองเห็นคุณค่าร่วมเดียวกันกับธุรกิจ และเข้าใจว่าธุรกิจส่งผลดีอย่างไรกับตัวเขา อย่างเช่นบริการในภาคธนาคารที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเงิน ช่วยให้ผู้ใช้บริการมีวินัยในการออมมากยิ่งขึ้น นี่คือคุณค่าร่วมระหว่างผู้ใช้บริการกับธนาคาร เพราะลูกค้าก็ได้รับความรู้ทางการเงิน ในขณะเดียวกันธนาคารก็ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้า

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save