fbpx
5 กำแพงที่ต้องทลายเพื่ออนาคตดิจิทัลของไทย

5 กำแพงที่ต้องทลายเพื่ออนาคตดิจิทัลของไทย

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

โควิด-19 เปิดแผลหลายแห่งที่เรามีอยู่แต่เดิมให้เห็นชัดขึ้น

เมื่อเทรนด์โลกดิจิทัลที่มาแรงอยู่แล้วถูกเร่งให้มาถึงเร็วขึ้นอีก ยิ่งทำให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างคนที่เข้าถึงและคนที่เข้าไม่ถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Divide) ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

เมื่อไวรัสเปลี่ยนอนาคตอย่างถาวร เทคโนโลยีแปลงสภาพจาก ‘อาหารเสริม’ ที่คนและธุรกิจใช้เสริมกำลังตัวเองเมื่อต้องการ กลายเป็นเสมือน ‘น้ำดื่ม’ หรือสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้

แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยยังเสมือนมี ‘กำแพงสูง’ กั้นคนและธุรกิจจำนวนมากให้เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ 

การศึกษาของ Sea ร่วมกับ World Economic Forum ชี้ให้เห็นถึง ‘5 กำแพงใหญ่’ ที่เราต้องทลายลง

 

กำแพงที่ 1 การเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต 

 

แม้ตัวเลขระดับประเทศจะบอกว่าคนไทยกว่า 75% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นว่า เพียงแค่การเข้าถึงนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตคุณภาพดีในราคาไม่แพงสำหรับการใช้อย่างต่อเนื่องด้วย

จากแบบสำรวจของ Sea-WEF 36% ของกลุ่มสำรวจมองว่า คุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งในการทำงานและเรียนในช่วงโควิด-19 ส่วนคนในกลุ่มสำรวจอีก 28% ตอบว่า ปัญหาคือค่าอินเทอร์เน็ตแพงเกินไป

ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตพบบ่อยมากที่สุดในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่จังหวัดนอกกรุงเทพ และคนในวงการการศึกษา ทั้งนักเรียนและครูที่อาจต้องปรับตัวไปใช้การเรียนผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเข้มข้นขึ้น 

ในวันที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของชีวิตคนในทุกๆ มิติ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอาจกลายเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรมี และควรเป็นจุดโฟกัสสำคัญของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

 

กำแพงที่ 2 กฎหมายและระเบียบกติกาที่ไม่เอื้อ

 

กฎกติกาที่รกรุงรังและล้าสมัยเปรียบเสมือนเป็นสายไฟพันกันระโยงระยาง สะสมมาเป็นนานปี หากไฟไม่เดิน เราอาจจะรู้ว่าปัญหามาจากสายไฟ แต่ไม่รู้ว่ามาจากเส้นไหนกันบ้าง ซ่อมสายหนึ่งปรากฎไปติดอยู่ที่อีกสาย ตัดผิดสายก็อาจดับทั้งระบบ!

ปัญหานี้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ฉุดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับประชุมออนไลน์ แต่อาจมีกฎกติกากำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้ประชุมออนไลน์ 100% ต้องมีคนอยู่ในห้องเดียวกันครบสัดส่วนหนึ่ง หรือห้ามมีคนอยู่ต่างประเทศ (ซึ่งกรณีนี้ ต้องชมรัฐบาลไทยที่รีบปลดล็อกตั้งแต่ไตรมาสสอง)

เราอาจมีเอกสารต่างๆ เป็นไฟล์ดิจิทัลแล้ว แต่กฎหมายยังกำหนดให้ต้องไปจัดการเอกสารที่หน่วยงานรัฐด้วยตนเอง ยังต้องเซ็นเอกสารบนกระดาษ ไม่ยอมรับลายเซ็นแบบ E-signature

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแค่ตัวอย่างของกฎหมายและกติกาที่เคยมีความจำเป็น แต่กลับกลายมาเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่โลกดิจิทัล

จากการศึกษาของ Sea-WEF พบว่า คนที่มองกฎกติกาภาครัฐเป็นอุปสรรคในการทำงานมีสัดส่วนไม่สูงนัก แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน คนไทยที่บ่นเรื่องนี้ในสัดส่วนที่สูงที่สุด และที่สำคัญ กลุ่มคนที่พูดถึงปัญหานี้มากที่สุดคือคนที่ทำงานในภาครัฐ! 

การแก้กฎเรื่องการประชุมออนไลน์ โครงการดิจิทัลไอดีแห่งชาติ หรือการสร้างมาตรฐาน e-invoice ล้วนเป็นทิศทางที่ดี แต่เราควรใช้วิกฤตปัจจุบันมาเป็นแรงผลักดันการปฏิรูป เร่งเครื่องการทำ Regulatory Guillotine หรือสังคายนากฎหมายแบบยกเครื่องอีกครั้ง

ผลประโยชน์ที่ได้รับอาจไม่แพ้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เลยทีเดียว จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า กฎหมายและระเบียบการขออนุญาตต่างๆ สร้างต้นทุนประชาชนประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี และหากมีการตัดโละกฎหมายที่ไม่จำเป็น ภาคเอกชนจะสามารถประหยัดต้นทุนลงได้ราว 1.3 แสนล้านต่อปี หรือเทียบเท่าร้อยละ 0.8 ของ GDP ปี 2561

 

กำแพงที่ 3 การขาดทักษะดิจิทัล

 

แม้จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่หากขาดทักษะในการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ก็ย่อมเกิดปัญหาเช่นกัน จากการศึกษาต่อเนื่องมาหลายปี พบว่าทักษะโลกดิจิทัลที่จำเป็นมีอยู่ 2 ระดับ

ระดับแรกคือ ทักษะดิจิทัลพื้นฐานที่ทุกคนควรมี เสมือนเทควันโด้สายขาว มีทั้งเชิง ‘รุก’ อย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทำงาน บริหารการเงิน ทำธุรกิจ เรียนรู้ออนไลน์ และเชิง ‘รับ’ เช่น ความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือการรู้ทันข่าวปลอม ฯลฯ

ในการศึกษาของ Sea-WEF พบว่า คนที่ขาดทักษะดิจิทัลพื้นฐานจะประสบปัญหาในการทำงาน-เรียนช่วงโควิด-19 มากกว่าคนกลุ่มอื่นอย่างมีนัยนะสำคัญ แม้จะมีการศึกษาเท่ากัน มาจากจังหวัดเดียวกันก็ตาม

นอกจากนี้ยังพบว่าคน Gen Z ซึ่งมีอายุ 16-25 ปี อาจไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประกอบอาชีพมากกว่าคน Gen Y เสมอไป แม้กลุ่มแรกจะเกิดมากับเทคโนโลยีดิจิทัลก็ตาม ดังนั้น การอบรมสร้างทักษะดิจิทัลพื้นฐานต้องทำกับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กับเพียงแค่คน ‘รุ่นใหญ่’ เท่านั้น

ระดับที่สองคือ ทักษะดิจิทัลขั้นสูง เสมือนเทควันโด้สายที่มีสีต่างๆ ไล่ขึ้นถึงขั้นสายดำ คือทักษะที่สามารถดีไซน์ ปรับ หรือสร้างเทคโนโลยีดิจิทัลได้ เช่น Coding วิเคราะห์ Big Data ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ 

หัวใจของการแข่งขันในโลกดิจิทัลไม่ใช่แค่มีข้อมูลเท่านั้น แต่ต้องมีคนที่มีความสามารถขั้นสายดำในการเปลี่ยน ‘ข้อมูล’ เป็น ‘องค์ความรู้’ และปัญญาที่แก้ปัญหาต่างๆ ในโลกได้ คนเหล่านี้คือสินทรัพย์ที่แท้จริงของบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ตอัปที่ประเทศไทยต้องทั้งสร้างและดึงดูด หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย

 

กำแพงที่ 4 การขาด Entrepreneurial Mindset 

 

คนที่หันมาใช้เทคโนโลยีแล้วประสบความสำเร็จ มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า Entrepreneurial mindset หรือ ‘ทัศนคติผู้ประกอบการ’ เพราะเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักมีทักษะเหล่านี้ แต่ขอย้ำว่าทุกคนก็มีได้ ไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเจ้าของธุรกิจเท่านั้น 

ทัศนคติผู้ประกอบการ ประกอบด้วยส่วนผสม 4 ส่วน คือการรู้จัก ‘ล้ม-ลุก เรียนรู้ สร้างสรรค์ ร่วมฝัน’

ส่วนผสมแรก คือ Resilience (ล้ม-ลุก) หมายถึงความสามารถในการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ ไม่ว่าจะโดนคลื่นซัดเข้ามาแบบไหน ก็ปรับตัวจนอยู่รอดได้ 

ส่วนผสมที่สอง คือ Growth mindset (เรียนรู้) หรือทัศนคติและความสามารถในการเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง คิดเสมอว่าพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ได้อย่างไร แค่เพียง ‘อยู่รอด’ จากการโดนคลื่นซัดจึงไม่พอ แต่ต้องใช้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ให้แกร่งยิ่งกว่าเดิม

ส่วนผสมที่สาม คือ Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ เพราะแม้พยายามจะเก่งขึ้นทุกวัน แต่หากใช้วิธีเดิมๆ ไม่ลองคิดนอกกรอบ แน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัด เสมือนเมื่อโดนคลื่นซัด บางคนอาจพยายามว่ายน้ำ แต่บางคนอาจหากระดานโต้คลื่นแล้วฝึกใช้จนเป็น ช่วยให้ขี่คลื่นไปข้างหน้าได้ไกลยิ่งกว่าเดิม

ส่วนผสมที่สี่ คือ Leadership หรือความเป็นผู้นำที่ดึงคนให้มาร่วมฝันและใช้ความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิด Collective Intelligence (ปัญญารวมหมู่) ในการแก้ปัญหา เพราะความสามารถของคนเพียงแค่คนเดียวไม่มีทางที่จะทำทุกอย่างเองได้ มีกระดานโต้คลื่นอย่างเดียวจึงไม่พอ ต้องสามารถชวนคนอื่นขึ้นมาได้ด้วย เสมือนมีเรือลำเดียวกันและฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกันได้

จากรายงาน Sea-WEF ชี้ให้เห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งพอมีทักษะเหล่านี้ แม้อาจไม่ครบทุกข้อ แต่โดยประมาณ 63% ของกลุ่มคนเหล่านี้ตอบว่าใช้เวลาช่วงโควิด-19 ไปกับการปรับตัวให้พร้อมรับมือความเสี่ยงใหม่ เรียนรู้ทักษะใหม่ หรือพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ 

แต่คำถามสำคัญคือ เราจะสร้างและปลูกฝัง Entrepreneurial mindset ให้กับคนจำนวนมากกว่านี้ได้อย่างไร 

 

กำแพงที่ 5 การเข้าไม่ถึงแหล่งการเงิน

 

แม้จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และมีทักษะต่างๆ แห่งยุคดิจิทัล แต่หลายคนไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะปัญหาด้านการเงิน 

เมื่อต้องทำงานหาเช้ากินค่ำเพื่อให้อยู่รอดจ่ายหนี้ได้ในแต่ละวัน ก็ไม่มีเวลามาเรียนรู้หาทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับอนาคต 

แม้มีไอเดียทำธุรกิจใหม่ก็ทำไม่ได้ เพราะขาดทุนที่จะใช้เริ่มต้นธุรกิจ เช่น การซื้อวัตถุดิบ 

หรือสตาร์ตอัปมีโซลูชันด้านดิจิทัลดีๆ แต่ขาดเงินทุนก็ไปต่อไม่ได้

การศึกษาของ Sea-WEF ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มคนที่ทำงานรับจ้างผ่านแพลตฟอร์ม (Gig economy) และกลุ่มสตาร์ตอัปที่ล้วนไม่มีรายได้ประจำมักประสบปัญหาด้านการเงินมากเป็นพิเศษ 

จากการสำรวจยังพบด้วยว่า กลุ่มคนที่สายป่านสั้นอาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคาร โดยมีเพียง 25% ของคนกลุ่มที่มีปัญหาด้านการเงินที่บอกว่าพึ่งพาธนาคารในช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดสินทรัพย์ที่จะใช้เป็นหลักประกัน หรือขาดเอกสารสำคัญ เช่น สลิปเงินเดือน ประวัติการเงิน ฯลฯ ในขณะเดียวกันสัดส่วนคนที่ตอบว่าพึ่งเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสูงกว่าจากธนาคารเสียอีก

ในอนาคต เราอาจสามารถใช้โอกาสจากการที่คนอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น มีรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprints) มากขึ้นมาช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งการเงิน (financial inclusion) ให้กับคนกลุ่มนี้ 

ส่วนภาครัฐควรเอาข้อมูลเหล่านี้มาสร้างตาข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) ให้แม่นยำขึ้น โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่นอกประกันสังคม ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งการเงินด้วยเพื่อซื้อเวลาให้คนมีโอกาสปรับตัว 

ส่วนภาคเอกชนควรผลักดันนวัตกรรมทางการเงิน อย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามเปิดให้มีการพัฒนาทำสินเชื่อและแฟคเตอร์ริงดิจิทัลเมื่อไม่นานมานี้ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลจากรอยเท้าดิจิทัลมาช่วยประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ลดการพึ่งพาหลักประกันและประวัติการเงินได้ 

 

แม้ 5 กำแพงนี้จะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่โควิด-19 ทำให้เรา ‘สัมผัส’ ได้ว่ามันใหญ่ สูงและหนาแค่ไหน อย่างไรก็ดี การรับรู้ถึงการมีอยู่ของกำแพงเหล่านี้ คือก้าวแรกของการทลายมันลงด้วย ‘ฆ้อน’ ที่สร้างจากการยอมรับ เปิดใจและมุ่งมั่นจากทั้งฝ่ายรัฐบาล เอกชน วิชาการ และภาคสังคม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save