วิมุต วานิชเจริญธรรม เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
-1-
นับเป็นเวลาร่วมสองเดือนนับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการประกาศสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ทั้งที่ภาคปลายของปีการศึกษา 2562 ยังไม่สิ้นสุดลง ดังนั้นการเรียนการสอนจึงต้องดำเนินต่อไป แต่ต้องปรับรูปแบบจากที่เคยถ่ายทอดวิชากันในห้องเรียน มาเป็นการเรียนทางไกลผ่านระบบออนไลน์
สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนหนังสือในห้องเรียนมาตลอดชีวิตอย่างผม มีความเคยชินกับการประเมินความเข้าใจในเนื้อหาที่บรรยายแบบเรียลไทม์ผ่านการสังเกตสีหน้าและแววตาของนิสิตนักศึกษาในห้องเรียน เมื่อต้องมานั่งบรรยายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอย่างเดียวดาย ก็คาดเดาไม่ได้เลยว่าที่พูดไปร่วมสามชั่วโมงนั้น คนฟังจะเข้าใจมากน้อยเพียงใด
เพื่อนฝูงในสาขาอาชีพอื่นที่ต้องผันตัวเองมา work from home ต่างแชร์ประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันผ่านทางโซเชียลมีเดีย แทบทุกคนแปลงโต๊ะที่บ้านให้เป็นออฟฟิศชั่วคราว ในยามเข้าประชุมงานผ่าน Zoom หรือแอปพลิเคชันสำหรับการประชุมทางไกลอื่นๆ
สำหรับเราๆ ท่านๆ ที่มีความพร้อมในการปรับการทำงานให้สอดรับกับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมของ ศบค. การทำงานที่บ้านไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรเลย ตรงกันข้าม กลับเป็นชีวิตตามวิถีปกติใหม่หรือ new normal ที่น่าอภิรมย์ด้วยซ้ำ
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ คล้ายกับการพรีวิวชีวิตวัยหลังเกษียณของมนุษย์เงินเดือน เพราะตื่นเช้ามาไม่ต้องเครียดกับจราจรในเมืองกรุง เมื่อได้เวลาคุยงาน ก็นั่งประชุมทางไกลอยู่ที่บ้าน พอถึงเวลาเที่ยงก็สั่งของอร่อยผ่านแอปฯ บริการส่งอาหาร บางรายเข้าครัวฝึกทำเมนูใหม่ๆ ตกเย็นเล่นโยคะ วิ่งออกกำลัง… ชีวิตดี๊ดี
น่าเสียดายที่มีแรงงานจำนวนไม่มากนักที่สามารถเสพสุขกับชีวิตการทำงานในวิถีใหม่แบบนี้ได้
-2-
ผมลองหาข้อมูลจากชุดสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่จำแนกจำนวนแรงงานตามประเภทอุตสาหกรรม แล้วลองประเมินคร่าวๆ ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมใดบ้างที่ต้องประสบความลำบากจากมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ หลังจากวิเคราะห์แบบเร็วๆ ผมคิดว่ามีอุตสาหกรรม 8 ประเภทด้วยกันที่น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ 1) การผลิต 2) การขายส่งและขายปลีกฯ 3) การขนส่งฯ 4) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 5) การศึกษา 6) กิจกรรมด้านสุขภาพฯ 7) ศิลปะความบันเทิงฯ และ 8) กิจกรรมบริการอื่นๆ
จากข้อมูลสำรวจจำนวนแรงงานที่มีงานทำในเดือนธันวาคม 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิดนั้น 8 อุตสาหกรรมข้างต้นมีการจ้างแรงงานคิดเป็นร้อยละ 51 ของการจ้างงานทั้งหมดในเศรษฐกิจไทย หรือกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำทั้งหมด ตัวเลข ‘51%’ นี้บ่งบอกเพียงขนาดของกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบเท่านั้น ส่วนเรื่องความเดือดร้อนที่แรงงานแต่ละรายได้รับย่อมมีระดับของความรุนแรงที่แตกต่างกันไป บางรายอาจเพียงแค่เปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็นการทำงานที่บ้าน บางรายอาจจะต้องพักการทำงานไปชั่วคราว และบางรายอาจถึงขั้นถูกเลิกจ้างไปเลย
ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมานั้น แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมีเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และมาตรการที่รัฐประกาศเพื่อระงับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ยิ่งจะทำให้มีจำนวนคนว่างงานมากยิ่งขึ้น
-3-
แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการว่างงานไม่ถึงร้อยละ 1 อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 เป็นต้นมา อัตราการว่างงานของไทยเริ่มปักหลักอยู่ในระดับร้อยละ 1 ติดต่อกันทุกเดือน และโมเมนตัมของอัตราว่างงานที่ร้อยละ 1 ยังยืนระยะต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ (ซึ่งอัตราว่างงานในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ เท่ากับร้อยละ 1.1 ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ และเท่ากับร้อยละ 1 ในเดือนมีนาคม)
เมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้ว่างงาน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่า จำนวนคนว่างงานในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอย่างมากทีเดียว (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) ตัวเลขที่ปรากฏนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะปกติใหม่ในตลาดแรงงานไทย ที่จำนวนคนว่างงานเริ่มเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องหันมาเอาใจใส่ดูแลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
นอกจากนี้ การสำรวจภาวะการทำงานในเดือนมีนาคม 2563 ยังพบว่า แรงงานที่ต้องว่างงานลงด้วยเหตุที่นายจ้างเลิกหรือหยุด/ปิดกิจการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มีจำนวนสูงขึ้นกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าอีกด้วย ตัวเลขที่เพิ่มสูงติดต่อกันนี้น่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะสะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบทั้งฝ่ายของนายจ้างพร้อมๆ กันกับฝ่ายลูกจ้าง ที่สั่งสมมาตั้งแต่ก่อนเดือนมีนาคมแล้ว เมื่อมีการประกาศใช้มาตรการคุมเข้มในช่วงปลายเดือนมีนาคม เชื่อได้ว่าจะทำให้สถานการณ์ในตลาดแรงงานยิ่งย่ำแย่ลงกว่าที่ปรากฏในรายงานภาวะการทำงานเดือนมีนาคมอีกเป็นแน่
สิ่งที่ผมคาดเดาไว้นั้นยังไม่มีตัวเลขใดๆ มาสนับสนุน เพราะในขณะนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติยังไม่มีรายงานการสำรวจภาวะการทำงานในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคมออกมา ดังนั้นจึงยังไม่มีข้อมูลของตลาดแรงงานเพื่อใช้ประเมินผลกระทบของมาตรการการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประกาศใช้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมได้
-4-
ในช่วงวันที่ 9-12 เมษายน 2563 คณะนักวิจัยใน ‘โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ได้ทำการสำรวจผลกระทบต่อคนจนเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ รวม 18 จังหวัด และได้สรุปผลการสำรวจนี้ออกเป็นรายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะ
รายงานการสำรวจนี้ช่วยให้เราได้เห็นภาพความยากลำบากของแรงงานในระดับฐานล่างของการกระจายรายได้ ซึ่งผมจะขอหยิบยกข้อค้นพบบางส่วนมาถ่ายทอดต่อ ดังนี้
- แม้ว่าจะเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างเร่งด่วน แต่คณะผู้วิจัยก็สามารถรวบรวมแบบสอบถามได้ถึง 507 ชุด
- ร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสำรวจนี้ มีอาชีพรับจ้างรายเดือนแต่ไม่มีประกันสังคม ในขณะที่ร้อยละ 24 เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้างรายวัน และส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มของ แม่ค้า หาบเร่ แผงลอยและอาชีพอิสระอื่นๆ
- ผลการสำรวจพบว่าเมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการดังกล่าว แรงงานจำนวนมากไม่สามารถประกอบอาชีพและหารายได้ดังเช่นที่เคย บางรายนายจ้างให้หยุดงานโดยสิ้นเชิง บางรายต้องลดเวลาทำงานลงซึ่งส่งผลให้รายได้หดหายตามไปด้วย กลุ่มของผู้มีอาชีพค้าขาย หาบเร่ แผงลอย ประสบปัญหาขาดรายได้เพราะพื้นที่ที่เคยค้าขายประจำถูกปิดกั้น ไม่สามารถทำการค้าได้ตามปกติ
- ผลกระทบดังกล่าวทำให้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24 สูญรายได้ไปเกือบทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.2 ระบุว่ามีรายได้ลดลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยได้รับ
- มีเพียงกลุ่มคนจนเมืองที่มีเงินเดือนประจำที่ยังคงมีรายได้เท่าเดิม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างนี้มีเพียงร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม
- ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 79 ตอบว่าอาชีพของตนนั้นไม่สามารถปรับให้มาทำแทนที่บ้านได้
- กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นคนจนเมืองมีค่าเฉลี่ยของรายได้ในช่วงก่อนการระบาดเท่ากับ 13,397 บาทต่อเดือน
-5-
การระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ได้สะท้อนปัญหาของความเหลื่อมล้ำของรายได้และโอกาสในสังคมให้ปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น มนุษย์เงินเดือนที่มีอาชีพการงานมั่นคง มีความพร้อมทั้งด้านความรู้และทรัพยากรที่จะปรับตัวเข้าสู่วิถีปกติใหม่ สามารถใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตโควิดได้อย่างไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก แม้ว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำให้บางกิจกรรมหรือบางธุรกิจต้องหยุดลงยาวนานเพียงใด รายได้ของคนกลุ่มนี้ก็แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ตรงกันข้ามกับผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสในสังคมซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ประสบกับความยากลำบากขั้นรุนแรงในการรักษามาตรความเป็นอยู่ช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ดังนั้นยิ่งเลื่อนเวลาคลายล็อคออกไปนานเท่าไหร่ ความเดือดร้อนของคนกลุ่มนี้ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องรายได้ที่หดหายหรือเรื่องการถูกปลดจากงาน
เราได้เห็นจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงาน ว่าแนวโน้มของการปิดกิจการและการเลิกจ้างนั้นเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี หากรัฐบาลยังไม่สามารถนำภาวการณ์ปกติกลับสู่เศรษฐกิจไทยได้ในเร็ววัน รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผันเงินสู่กระเป๋าของแรงงานที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ในตลาดแรงงานขณะนี้ ชี้ชัดว่าแรงงานที่ว่างงานอยู่นั้นต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะหางานใหม่ที่ให้รายได้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูครอบครัวได้